Search
Close this search box.

New Business Etiquette HR ควรสอนมารยาทพนักงานอย่างไรในปี 2023

HIGHLIGHT

  • มารยาท (Business Etiquette) คือสิ่งสำคัญที่พนักงานทุกคนจำเป็นต้องมีเพื่อจะได้ทำงานร่วมกับผู้อื่นอย่างราบรื่น
  • ประเด็นสำคัญของโลกการทำงานในปัจจุบันคือมารยาทและการปรับตัวของคนแต่ละรูปแบบให้มีประสิทธิภาพโดยมีสถิติที่น่าสนใจจากการสำรวจพนักงานระดับ Manager จำนวน 1,300 คนที่ระบุว่าพวกเขามีอัดตราการไล่คน Gen Z ออกจากงานสูงถึง 1 ใน 8 เพราะไม่สามารถทำงานร่วมกันได้
  • อย่างไรก็ตาม กลุ่ม Gen Z ก็ถือเป็นอนาคตของโลกธุรกิจ พวกเขาคือคนรุ่นใหม่ที่มีทักษะแห่งอนาคตมากกว่า องค์กรที่ดีจึงต้องสนับสนุนให้พวกเขามีมารยาทในการอยู่ร่วมกับบุคลากรดั้งเดิมให้ได้ ไม่ใช่ตัดพวกเขาออกไปโดยปราศจากความเข้าใจ
  • หลังเหตุการณ์โควิด-19 จบลง โลกของเรามีอัตราเร่งที่สูงเป็นประวัติการณ์ คำว่ามารยาทที่เราเคยเข้าใจ ก็มีความเปลี่ยนแปลงตามบริบทของโลกการทำงาน ทั้งเรื่องของการสื่อสาร, เครื่องแต่งกาย, ทัศนคติ หากเราตัดสินผู้อื่นด้วยแนวคิดที่ตกยุค บุคลากรของเราก็อาจไม่พอใจจนต้องออกจากงานในที่สุด
  • ในอดีต เมื่อพูดถึงคำว่ามารยาทในที่ทำงาน เราจะนึกถึงพฤติกรรมที่เกิดขึ้นในออฟฟิศ แต่ในปัจจุบันที่โลกการทำงานย้ายไปเป็นแบบไฮบริด มารยาทในที่ทำงานได้พัฒนาไปเป็นแนวคิดว่าพนักงานคือตัวแทนของบริษัท ไม่ว่าจะอยู่ในพื้นที่ใดก็แล้วแต่ พวกเขาต้องรู้จักวางตัวให้ถูกทั้งในและนอกทั้งในและนอกออฟฟิศ
  • มารยาทในที่ทำงานที่สำคัญที่สุด คือมารยาทในการพูดและฟัง ควบคู่กับความสุภาพและการรู้สึกขอบคุณเสมอ

เคยไหมที่คุณรู้สึกว่าการปรับตัวในแต่ละครั้งเต็มไปด้วยความยากลำบาก ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวเพื่อรับมือกับเทคโนโลยี, การปรับตัวเข้ากับคนรุ่นใหม่ รวมถึงการปรับตัวเข้าหากลุ่มเป้าหมายที่ต่างจากเดิม ? คำถามนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญในปี 2023 และจะทวีความสำคัญยิ่งขึ้นต่อโลกการทำงานนับจากนี้ องค์กรที่ไม่รู้จักปรับตัวจะไม่มีทางอยู่รอดได้เลย

แต่นอกเหนือจากการปรับตัวที่ดีแล้ว “การวางตัวและมีมารยาทที่ดี” ก็เป็นเรื่องสำคัญ เราไม่สามารถเป็นคนที่พุ่งเข้าหาเป้าหมายได้โดยปราศจากการใส่ใจคนรอบข้าง เพราะความสามารถในการร่วมมือก็ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะทำให้เกิดการสร้างสรรค์นวัตกรรม ยิ่งตอนนี้การระดมความคิด (Brainstorming) มีความสำคัญมาก เพราะเรากำลังอยู่ในยุคที่ทำงานโดยข้อมูล ยิ่งเราได้ความเห็นจากคนหมู่มาก เราก็จะยิ่งได้มุมมองที่เกิดประโยชน์มากขึ้น

มารยาทในที่ทำงานจึงเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข และเต็มไปด้วยความสบายใจ ซึ่งปัจจุบันรูปแบบของคำว่ามารยาทมีมุมมองที่แตกต่างจากในอดีต โดยเฉพาะการเข้ามาของ Gen Z ที่จะกลายเป็นบุคลากรส่วนใหญ่ของบริษัทในอนาคตอันใกล้  HREX.asia จึงต้องการชี้ให้เห็นว่า หากคุณจะก้าวไปเป็นองค์กรที่แข็งแรง คุณต้องมีมุมมองต่อมารยาททางธุรกิจอย่างไรบ้าง ผู้ที่สนใจสามารถหาคำตอบได้ที่นี่

มารยาทในที่ทำงาน (Business Etiquette) คืออะไร สำคัญอย่างไร ?

มารยาทสำคัญมาก โดยผู้เชี่ยวชาญจาก Entrepreneur กล่าวว่าสถานการณ์โลกในช่วงสองสามปีที่ผ่านมาทำให้คนปลีกวิเวกออกจากสังคมมากขึ้น เช่นการทำงานแบบ Hybrid Workplace หรือ Work From Home ที่ทำให้คนหันมาสนใจผลลัพธ์ มากกว่ากระบวนการทำงานแบบดั้งเดิมที่ทุกฝ่ายสามารถไปมาหาสู่กันได้ตามปกติ เมื่อนานเข้า รูปแบบการทำงานดังกล่าวก็กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ในโลกธุรกิจที่จริงจัง ถึงขนาดว่าพนักงานบางคนตัดสินใจลาออกหรือเปลี่ยนงานทันทีหากต้องกลับไปทำงานในออฟฟิศแบบเต็มเวลา

ดังนั้นเมื่อการทำงานคนเดียวเริ่มมีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ มารยาทในการเข้าสังคมของพนักงานก็เริ่มเกิดปัญหา โดยเฉพาะในองค์กรที่อยู่ระหว่างการเปลี่ยนจากการทำงานอยู่บ้าน ให้กลับมาอยู่ในออฟฟิศแบบเต็มเวลา

คุณ Mike Chappell ซึ่งเป็น CEO จากบริษัท FormsPal กล่าวกับ Resume Builder ว่า “การสอนเรื่องมารยาทในการทำงานเป็นเรื่องสำคัญมากของออฟฟิศยุคปัจจุบัน ไม่ใช่แค่กับพนักงานที่เป็นคนรุ่นใหม่เท่านั้น แต่หมายรวมถึงคนทุกเพศทุกวัยในองค์กร” เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนไปมากหลังโควิด-19 การปรับจูนทุกคนให้มีมุมมองตรงกันจะเป็นแนวทางที่ช่วยให้การสื่อสารคล่องตัวขึ้น ไม่รู้สึกอึดอัด หรือทำให้คนรู้สึกว่าการกลับมาอยู่ร่วมกันอีกครั้งก่อให้เกิดผลร้ายมากกว่าผลดี

ขณะเดียวกัน เขายังกล่าวว่าปัญหาสำคัญของคนรุ่นใหม่คือพวกเขาอยู่คนเดียวจนเคยชิน หรือบางคนแม้จะทำงานในบริษัทมานานแล้ว แต่ก็เพิ่งมีโอกาสได้มาอยู่ในออฟฟิศเป็นครั้งแรก จึงไม่รู้ว่ามารยาทที่ควรทำในพื้นที่สาธารณะเป็นอย่างไร บางคนก็พูดจาแบบไม่เป็นมิตร บางคนก็แต่งตัวตามสบายเกินไปจนดูไม่เป็นมืออาชีพ โดยเฉพาะในวันที่มีลูกค้าเข้ามาเยี่ยม ซึ่งปัญหาเหล่านี้นำไปสู่การเพิ่มภาระให้กับ HR เพราะเมื่อต่างฝ่ายต่างมีมุมมองเป็นของตัวเอง ก็จะมองว่าเพื่อนร่วมงานมีปัญหา, มีส่วนที่อยากให้ฝ่ายบุคคลช่วยแก้ไขอยู่เต็มไปหมด ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดความเครียดแล้ว ยังไปทำลายความสัมพันธ์ในองค์กรโดยไม่รู้ตัว

Resume Builder ได้สำรวจกับองค์กรในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,548 แห่ง และพบว่ามีอยู่ 45% ที่ได้จัดอบรมในลักษณะนี้ไปแล้ว และมีอีก 16% ที่วางแผนจัดอบรมลักษณะเดียวกันภายในสิ้นปี 2024 ในที่นี้ จากการสำรวจกับบริษัทที่จัดอบรมเรื่องมารยาท พบว่าองค์กร 2 ใน 3 มองว่าสามารถเห็นประโยชน์จากการอบรมได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งถือเป็นตัวเลขที่สูงมากและเป็นข้อพิสูจน์ให้เห็นว่าการจัดอบรมในลักษณะนี้เป็นเรื่องจำเป็นอย่างแท้จริง

มารยาทในที่ทำงาน (Business Etiquette) ของ HR ปี 2024 ประกอบด้วยเรื่องอะไรบ้าง ?

Reader’s Digest กล่าวว่ามารยาททางธุรกิจจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอตามลักษณะสังคมในแต่ละยุค โดยอ้างอิงคำพูดของคุณ Lisa Grotts ผู้เชี่ยวชาญด้านมารยาทในที่ทำงาน ซึ่งเธอแสดงทรรศนะอย่างน่าสนใจว่า “การเป็นคนมารยาทดีไม่มีต้นทุน แต่การเป็นคนมารยาทแย่ มีราคาที่ต้องจ่ายสูงมาก” ดังนั้นเราขอนำเสนอมารยาทในที่ทำงานซึ่ง HR ในปี 2024 ต้องรู้ ดังนี้

1. ต้องมีมารยาทในการสื่อสาร (Communication Skills) : องค์กรที่ดีต้องมีการสื่อสารที่มีคุณภาพหลีกเลี่ยงการพูดจาที่ทำร้ายจิตใจผู้อื่นหรือขัดแย้งต่อค่านิยมความเชื่อ ในที่นี้ต้องมองข้ามเรื่องของวัยวุฒิ เราต้องคิดเสมอว่าสังคมในตอนนี้เป็นยุคเปิดกว้าง พฤติกรรมและคำพูดที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้ถูกฟ้องร้อง เกิดเป็นปัญหาทั้งในแง่ปัจเจกบุคคลและในแง่ภาพรวมขององค์กร 

การสื่อสารที่ดีไม่ใช่แค่การพูดเพราะอย่างเดียว แต่เป็นการเลือกใช้น้ำเสียง ตลอดจนการใช้คำ คนทำงานที่ดีต้องมีคลังคำศัพท์อยู่ในหัวมากเป็นพิเศษ เพื่อให้รู้ว่าควรใช้คำแบบไหนในสถานการณ์แบบใด

2. มีทักษะของการเป็นผู้ฟังที่ดี (Good Listener) : ทักษะเรื่องการฟังเป็นสิ่งที่ถูกมองข้ามมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะในยุคที่เราประชุมออนไลน์กันเป็นหลัก เพราะการประชุมแบบนี้มีสิ่งที่หันเหความสนใจ (Distraction) ของคนอยู่ตลอดเวลา คนส่วนใหญ่จึงมักโฟกัสไปกับสิ่งที่ตนจะพูดในที่ประชุม มากกว่าการรับฟังคนอื่นให้ชัดเจนและมีมารยาทที่สุด

เราต้องหลีกเลี่ยงการขัดผู้อื่น (Interrupting) ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ เช่นกรณีที่รู้ว่าสัญญาณอินเตอร์เน็ตไม่ดี เราก็ต้องเอาเรื่องนี้มาเป็นปัจจัยในการคิดก่อนจะพูดออกไปด้วย เพราะจังหวะที่เสียไปในที่ประชุมมีผลต่อธุรกิจทั้งสิ้น

3. เป็นคนตรงต่อเวลา (Be Punctual) : การตรงต่อเวลาคือรากฐานสำคัญไม่ว่าคุณจะอยู่ในตำแหน่งเล็กหรือใหญ่ก็ตาม ในที่นี้ให้คิดว่าทักษะการบริหารเวลา (Time Management) คือการรู้ว่าเวลาของเราไม่ได้สำคัญที่สุดเพราะทุกคนก็มีภาระหน้าที่ในแต่ละวันไม่ต่างกัน

4. แต่งตัวให้เหมาะสม (Dress Properly) : องค์กรควรมี Dress Code Policy ที่เหมาะสมเช่น หากองค์กรของคุณยินดีให้พนักงานแต่งตัวตามสบาย องค์กรก็ต้องพิจารณาด้วยว่าควรมีข้อยกเว้นเป็นกรณีพิเศษอะไรหรือไม่ เช่นในวันที่มีลูกค้าเข้ามา พนักงานก็ควรแต่งตัวดีเป็นพิเศษ เพราะส่งผลโดยตรงต่อภาพลักษณ์รวมถึงการประชุมออนไลน์ที่องค์กรต้องระบุให้ชัดเจนว่าห้ามแต่งตัวไม่สุภาพ หรือชุดที่ไม่ให้เกียรติกับการทำงาน เช่นชุดนอน, ชุดอาบน้ำ หรือแม้แต่การเปลือยท่อนบน

ในที่นี้ให้รวมถึงกฎเกณฑ์ด้านรอยสักด้วย เพราะแม้สังคมจะเปิดกว้างในเรื่องนี้ แต่เราไม่มีทางรู้เลยว่าลูกค้าหรือคนที่มีผลกับงานจะคิดอย่างไร องค์กรต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าการสั่งห้ามในบางครั้ง ไม่ใช่การดูถูกหรือต่อว่า แต่เป็นการตัดสินใจโดยตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นมืออาชีพมากกว่า

5. รู้จักมารยาทบนโต๊ะอาหาร (Table Manner) : การรู้จักวิธีทานอาหารแบบถูกวิธี จะทำให้คนรอบข้างรู้สึกสบายใจเวลาอยู่กับเรา ในที่นี้ต้องรวมถึงมารยาทในการให้ทิปพนักงานไม่ให้มากหรือน้อยเกินไปอีกด้วย

6. ขอบคุณคนอื่นเสมอ (Send Thank You Note) : แม้เทคโนโลยีในปัจจุบันจะเติบโตอย่างก้าวกระโดด แต่ข้อความที่เป็นตัวอักษรก็ยังสำคัญเสมอ เราต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ไม่ว่าจะเป็นความสำเร็จเพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ก็ตาม เพราะนอกจากจะช่วยกระชับความสัมพันธ์แล้ว ยังทำให้พนักงานรู้สึกว่าเราใส่ใจทุกกระบวนการทำงาน

มารยาทในที่ทำงาน (Business Etiquette) สร้างประโยชน์ให้องค์กรอย่างไร ?

ถ้าหากเราเข้าไปสำรวจในโลกโซเชียลของคนยุคใหม่ เราก็จะพบว่าคนในยุคปัจจุบันให้ความสำคัญกับปัจเจกบุคคล และให้ค่ากับผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการระหว่างทาง การฝึกฝนเรื่องมารยาทในองค์กร ไม่ว่าจะด้วยตัวเองหรือผ่านการอบรม คือการเรียนรู้ทางอ้อมให้เรามีความเป็นมนุษย์ที่รู้จักปรับตัว รู้จักรับมือกับสถานการณ์ และรู้ว่าจะใช้ชีวิตในฐานะพนักงานบริษัทให้สมบูรณ์แบบที่สุดได้อย่างไร

เราสามารถสรุปประโยชน์ของการศึกษาเรื่องมารยาทในออฟฟิศได้ดังนี้

1. ช่วยให้สภาพแวดล้อมในที่ทำงานเป็นมืออาชีพมากขึ้น : หัวข้อนี้เป็นเรื่องสำคัญที่สุด อธิบายให้เห็นภาพว่าเวลาเราพูดถึงองค์กรระดับโลก เช่นองค์กรใน Silicon Valley เราจะตื่นตาตื่นใจกับสวัสดิการชั้นยอดที่พวกเขาสรรหาให้พนักงาน เช่นการแต่งตัวตามสบาย, การนำสัตว์เลี้ยงมาที่ออฟฟิศ, การดื่มแอลกอฮอล์ในที่ทำงาน, การให้สิทธิ์ลาคลอดที่นานเป็นพิเศษ เป็นต้น

สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากเขาไม่สามารถสร้างวัฒนธรรมของความเป็นมืออาชีพให้กับพนักงาน เพราะลองคิดดูสิว่าหากเราอนุญาตให้พนักงานดื่มเหล้า แต่พนักงานไม่สามารถบริหารจัดการตัวเอง เอาเหล้าไปดื่มในเวลางานจนเมา หรือสร้างความเสียหายให้กับธุรกิจ นโยบายดังกล่าวก็คงไม่โดดเด่นจนเรานำมาพูดถึงในวงกว้าง

นอกจากนี้ การทำให้ทุกคนเป็นมืออาชีพยังช่วยปรับมุมมองให้บุคลากรเข้าใจว่าเพื่อนร่วมงานแต่ละคนมีพื้นฐานที่ต่างกัน เราไม่สามารถเอาความคาดหวังของตนไปใส่ผู้อื่นได้ตราบใดที่อีกฝ่ายยังคงปฏิบัติตามครรลองของบริษัทที่วางไว้ วิธีนี้จะทำให้พนักงานตัดสินใจทุกอย่างโดยเอาภาพรวมขององค์กรเป็นที่ตั้ง ไม่คาใจหากได้ข้อสรุปที่ต่างจากมุมมองของตน นี่คือรากฐานที่ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

2. ช่วยให้เราก้าวข้ามความขัดแย้ง : อย่างที่กล่าวไปว่าการทำงานในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มนุษย์มีความเป็นปัจเจกบุคคลมากขึ้น มีความมั่นใจมากขึ้น ซึ่งปัญหานี้ทำให้เกิดการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) จนมีแรงงานเหลืออยู่ในระบบน้อยที่สุดเป็นประวัติการณ์ ดังนั้นการสอนให้พนักงานอยู่ร่วมกันได้โดยไม่รู้สึกว่าความเป็นปัจเจกของตนถูกล่วงละเมิด จึงถือเป็นกลยุทธ์สำคัญที่จะช่วยให้พนักงานอยู่ร่วมกันได้ องค์กรที่คนเกลียดกันสามารถทำงานร่วมกันได้คือองค์กรที่แข็งแรง

3. ช่วยให้การสื่อสารระหว่างคนในองค์กรแข็งแรงขึ้น  : การสื่อสารในองค์กรเป็นเรื่องสำคัญที่สุด โดยเฉพาะในยุคที่ข้อจำกัดทางอายุถูกทำลายลงไป เราได้เห็นผู้บริหารที่มีอายุน้อย และได้เห็นบุคคลในตำแหน่งล่าง ๆ เป็นผู้สูงอายุ การที่เราใส่ใจเรื่องความสามารถพิเศษแบบนี้อาจทำให้เกิดความขุ่นข้องหมองใจของคนที่คิดว่าถูกข้ามหน้าข้ามตา การสื่อสารที่ดีจึงเปรียบดั่งกระดูกสันหลัง (Backbone) ที่ช่วยให้องค์กรแข็งแรง

AZ Central กล่าวว่า “องค์กรที่ให้ความสำคัญกับเรื่องมารยาททางธุรกิจจะไม่มีปัญหาเรื่องความไม่เข้าใจกันเพราะพนักงานแต่ละฝ่ายจะสื่อสารกันอย่างมืออาชีพ ถ้าพนักงานเข้าใจว่าหัวหน้าทำทุกอย่างด้วยความหวังดี อยากให้องค์กรและบุคลากรประสบความสำเร็จ แต่หากหัวหน้าเอาแต่เล่น ไม่รู้จักเวลา พนักงานก็จะรู้สึกว่าหัวหน้าไม่มืออาชีพ รู้สึกว่าการพูดคุยในแต่ละครั้งเหมือนการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ในที่นี้การสื่อสารที่ดียังช่วยลดปัญหาการล่วงละเมิด (Harrassment) ได้อีกด้วย

4. ช่วยลดปัญหาเรื่องความแตกต่างทางวัฒนธรรม (Culture Shock) : ปัจจุบันองค์กรแต่ละแห่งไม่ได้จำกัดอยู่แค่พนักงานในประเทศนั้น ๆ แต่รวมถึงพนักงานจากต่างชาติที่ล้วนถูกว่าจ้างเข้ามาเพื่อสร้างสรรค์นวัตกรรมที่มีประสิทธิภาพที่สุด ดังนั้นการทำให้พนักงานในแต่ละเชื้อชาติสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขคือรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้น ไม่มีข้อผิดพลาดหรือรู้สึกไม่สบายใจ ทั้งนี้เพราะวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ, ความเชื่อทางศาสนา ตลอดจนกระบวนความคิด (Attitude) ล้วนมีความแตกต่างกัน หากเรารู้จักภาพรวมเหล่านี้ เราก็จะไม่คาดหวังในสิ่งที่ขัดแย้งกับลักษณะนิสัยของคนรอบตัวมากเกินไป ประเด็นนี้สำคัญมากกับพนักงานที่ต้องเดินทางไปต่างประเทศบ่อย ๆ เช่นกัน

5. สร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กร (Improve Business Image) : โดยเฉพาะธุรกิจแบบ B2B ที่ต้องเจอลูกค้าตลอดเวลา การสร้างภาพลักษณ์ที่ดีจะช่วยให้เรามี First Impression ในแง่บวก ประเด็นนี้หมายรวมถึงวิธีการกินข้าวในที่ทำงาน, วิธีการให้นามบัตร, วิธีการใช้ภาษากาย

ผู้เชี่ยวชาญจาก Chron กล่าวว่า วิธีการที่ง่ายที่สุดก็คือการทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (Lead by Example) ซึ่งเป็นหน้าที่ของคนเป็นผู้นำ หรือหากคุณเป็นผู้นำมือใหม่ ก็ควรศึกษาดูวิธีวางตัวของคนในตำแหน่งเดียวกัน เพื่อเป็นข้อมูลเอาไว้ด้วย

HR ยุคใหม่ต้องอบรมพนักงานให้ก้าวทันโลก มีมารยาท และรู้จักวิธีคิดของคนรุ่นใหม่

มีรายงานจาก New York Times ระบุว่ากลุ่ม Gen Z คือกลุ่มที่ทำงานด้วยยากที่สุดโดยมีผลวิจัยกับเมเนเจอร์จำนวน 1,300 คน ที่บอกว่าเคยไล่พนักงานช่วงอายุนี้ออก โดนมีถึง 1 ใน 8 คนที่เคยไล่ Gen Z ออก โดยปัญหาหลักคือคนกลุ่มนี้ไม่มีความสนใจในเนื้องาน (Concentrate) มากเท่าที่ควร ดังนั้น HR จึงต้องหันมาใส่ใจและรู้ว่าควรปรับตัวเข้าหาคนกลุ่มดังกล่าวอย่างไร

เพราะแม้สถิติดังกล่าวจะดูน่าเป็นห่วง แต่ Business Insider ก็บอกว่าคน Gen Z ก็ถือเป็นอนาคตขององค์กร และมีทักษะที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยเฉพาะการนำ AI มาปรับใช้ ซึ่งเป็น เรื่องที่คนยุคเก่าทำไม่ได้ สอดคล้องกับกระบวนการ Digital Transformation ที่องค์กรทั่วโลกต้องเตรียมตัว ตามที่สื่อพูดตรงกันว่าปัญญาประดิษฐ์จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรทั่วโลกแบบ 100% ภายในปี 2025

จะเห็นว่าคนทุกเพศทุกวัยมีจุดแข็งแตกต่างกัน ตามคำพูดที่เรียกว่า Stage (Not Age) ดังนั้น HR ควรจัดอบรมเรื่องมารยาททางธุรกิจเพื่อทำให้คนในองค์กรอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติสุข มีความช่วยเหลือเกื้อกูลซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะมีทัศนคติที่ขัดแย้งกันในบางเรื่องก็ตาม

เพราะตราบใดที่ทุกคนใช้ชีวิตในออฟฟิศด้วยการเอาเป้าหมายขององค์กรเป็นที่ตั้ง เราก็จะมีอำนาจในการแข่งขันมากขึ้น ซึ่งหากคุณไม่รู้ว่าจะหาการอบรมที่เหมาะสมกับองค์กรของคุณที่ไหน เราแนะนำให้หาผู้เชี่ยวชาญจากบริการ HR Products & Services โดย HREX.asia จะเป็นการอบรมแบบไหนที่นี่มีครบ !

บทสรุป

คุณ Lisa Grotts จาก The International Society of Protocol and Etiquette Professionals กล่าวว่าแก่นของมารยาทในที่ทำงานคือความสุภาพ (Polite) และความเคารพต่อผู้อื่น (Respectful)

ทั้งสองอย่างนี้จะนำไปสู่การร่วมมือร่วมใจ (Collaboration) และความเชื่อใจ (Trust) ที่มากกว่าเดิม  ซึ่งท้ายสุดแล้วสิ่งที่เราควรตระหนักตลอดเวลาก็คือไม่ว่าจะทำอะไรออกไป เราควรพิจารณาอย่างถี่ถ้วนในทุกการกระทำ อย่าตัดสินใจแบบหุนหันพลันแล่น เพราะผลเสียที่ตามมาอาจร้ายแรงเกินกว่าที่เราจะรับมือไหว

สิ่งเหล่านี้คือพื้นฐานในการใช้ชีวิตประจำวัน เป็นมารยาทที่ไม่ได้ก่อประโยชน์แค่ในที่ทำงานเท่านั้น แต่ยังช่วยให้เราเป็นส่วนหนึ่งของสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นที่รักของผู้อื่น กล่าวโดยสรุปว่ายิ่งเราฝึกฝนสิ่งเหล่านี้ เราก็จะเป็นคนดีของสังคม กลายเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

Sources

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง