Search
Close this search box.

HR Burnout เมื่อ HR มีปัญหาสุขภาพใจ แล้วใครจะดูแล HR ?

HR Burnout เมื่อ HR มีปัญหาสุขภาพใจ แล้วใครจะดูแล HR ?

HR หรือ Human Resources เป็นตำแหน่งที่คอยดูแลสารทุกข์สุกดิบของพนักงาน มีส่วนสำคัญในการวางและสร้างนโยบายที่เหมาะสม ช่วยให้ทุกคนรับผิดชอบหน้าที่ของตัวเองได้อย่างราบรื่น เวลามีอะไรไม่สบายใจ HR พร้อมเป็นเซฟโซน ช่วยแก้ปัญหา และให้คำแนะนำที่ดีเพื่อปลุกพลังกลับมา

แต่เมื่อ HR ที่คอยเยียวยาทุกคน หาก HR เกิดเหนื่อยกาย ไม่สบายใจเอง ใครเล่าที่จะคอยช่วยเยียวยาพวกเขาบ้าง ?

HREX จึงขอถือโอกาสนี้พาไปสำรวจกันว่า หาก HR ตกอยู่ในสถานการณ์กลืนไม่เข้า คายไม่ออก เครียด หมดไฟ หมดแรงใจจะทำงานต่อ ควรเยียวยาตัวเองอย่างไรให้สามารถกลับมาทำงานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพอีกครั้ง

สภาวะ Burnout สภาวะที่ HR เลี่ยงไม่ได้ (HR Burnout)

อาการหมดไฟในการทำงาน คือสภาวะของความเครียดเรื้อรังที่ส่งผลต่อร่างกายและจิตใจจนเกิดความเหนื่อยล้าทั้งทางกายภาพและอารมณ์ ไม่เพียงเป็นความเครียดชั่วคราวหรือช่วงเวลาที่งานหนักเท่านั้น แต่เกิดจากการเผชิญกับความเครียดในที่ทำงานอย่างต่อเนื่องจนสะสมและกลายเป็นภาวะนี้ในที่สุด

ทั้งนี้อาการที่พบได้บ่อยเวลา Burnout ได้แก่ รู้สึกหมดพลัง เหนื่อยล้า รู้สึกไม่ได้รับการเห็นคุณค่า เครียดมากจนเกินไป มองสิ่งต่าง ๆ อย่างขมขื่น (Cynical) และไร้ความกระตือรือร้นในการทำงาน รวมถึงสิ้นหวังและความหงุดหงิดอย่างรุนแรง อาการเหล่านี้อาจส่งผลกระทบต่อความรู้สึกถึงความสำเร็จในชีวิตการทำงาน และอาจปรากฏออกมาในรูปแบบของปัญหาสุขภาพ เช่น ปวดศีรษะ หรืออาการป่วยทางกายอื่น ๆ ได้เช่นกัน

และ ไม่มากไม่น้อย HR ล้วนต้องเคยมีอาการ Burnout กันทุกคน รวมถึง HR ด้วย เพราะ HR เองก็เป็นมนุษย์ธรรมดา เป็นพนักงานคนหนึ่ง ที่สำคัญ HR ต้องรับมือ “คน” ซึ่งมีความแตกต่างหลากหลาย ร้อยพ่อพันแม่ ทำให้คาดการณ์ไม่ได้เลยว่าคนที่จะเข้ามาปรึกษา หรือจะเอาปัญหามาให้ช่วยแก้นั้นจะออกมาไม้ไหน ทำให้ความเหนื่อยใจมากขึ้นไปอีกระดับ

การตระหนักถึงภาวะนี้ตั้งแต่เนิ่น ๆ และหาวิธีจัดการความเครียดอย่างเหมาะสมจึงเป็นสิ่งสำคัญเพื่อป้องกันผลกระทบต่อทั้งสุขภาพและชีวิตการทำงานของเรา

HR Burnout เมื่อ HR มีปัญหาสุขภาพใจ แล้วใครจะดูแล HR ?

5 ปีแห่งความท้าทาย กับความเครียดที่เพิ่มขึ้นของ HR (HR Burnout)

แบรด เบลล์ (Brad Bell) ศาสตราจารย์ด้านทรัพยากรบุคคลเชิงกลยุทธ์ และผู้อำนวยการ Center for Advanced Human Resource Studies แห่ง Cornell University อธิบายว่า ความเครียดและแรงกดดันในสายงาน HR มีเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงหลายด้าน เช่น

  • ช่วงการระบาดของโควิด-19 ทีม HR ต้องจัดการการเปลี่ยนผ่านการทำงานจากในออฟฟิศไปสู่ระบบออนไลน์
  • หลังจากนั้นยังต้องวางแผนและดูแลกระบวนการกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างปลอดภัย
  • ต่อมาคือการจัดการกับการทำงานแบบไฮบริด ซึ่งต้องคำนึงถึงความสมดุลระหว่างประสิทธิภาพการทำงานและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

เบลล์ยังเสริมอีกว่า การลาออกจำนวนมากในช่วง Great Resignation รวมถึงปรากฏการณ์ “Quiet Quitting” (ทำงานแบบพอผ่านไปวัน ๆ) เป็นปัจจัยที่ทำให้ทีม HR ต้องเผชิญความเครียดอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

นอกจากความกดดันในการดูแลพนักงานทั้งหมดแล้ว ทีม HR ยังต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการถูกลดทรัพยากรและบุคลากรในช่วงที่องค์กรมีการปลดพนักงานอีกด้วย ลาซโล บ็อค (Laszlo Bock) ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้ร่วมบริหาร Berkeley Transformative CHRO Academy อธิบายว่า เมื่อองค์กรต้องลดขนาดทีม หน่วยงานที่ถูกลดก่อนมักจะเป็นหน่วยงานสนับสนุน เช่น HR

ทีมที่คอยดูแลพนักงานคนอื่น ๆ มักจะเป็นทีมแรกที่ได้รับผลกระทบ การสูญเสียทรัพยากรเหล่านี้ทำให้ทีม HR ต้องทำงานหนักขึ้นกว่าเดิม และยิ่งเพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหมดไฟในสายงานนี้” บ็อคกล่าว

สถิติน่าตกใจ ผู้นำ HR หมดไฟเยอะไม่แพ้ใคร (HR Leader Burnout)

เมื่อพูดถึง HR เองก็มีปัญหาไม่ต่างกับคนอื่น คนอีกกลุ่มที่เราต้องพูดถึงด้วยก็คือ กลุ่มผู้นำ ผู้บริหาร ที่เปรียบเสมือนมันสมองขององค์กร

ที่ผ่านมา เราล้วนเคยได้ยินว่าคนในตำแหน่งผู้จัดการ (Manager) ที่ต้องเป็น Middle Management จะรับแรงกดดันจากคนที่อยู่ด้านบนและด้านล่าง จะเจอสภาวะนี้ได้ง่ายกว่าใคร แต่รู้หรือไม่ว่าผู้นำระดับสูงสุดก็เจอปัญหานี้มากไม่แพ้กันเลย

Peoplespheres เผยสถิติที่ทั้งน่าสนใจและน่าตกใจเอาไว้แล้ว มีรายละเอียดดังต่อไปนี้ 

  • 95% ของ HR Leader มองว่าการทำงาน HR เป็นงานที่หนักทีเดียว และมีความกดดันสูง เนื่องจากภาระงานมากเกินไป 
  • 84% ของผู้นำ HR ระบุว่าตัวเองมีความเครียดบ่อยครั้ง และ 81% ยอมรับเลยว่าเคยเจอสภาวะภาวะหมดไฟในการทำงาน
  • 91% ของผู้นำ HR ยอมรับว่าในช่วง 5 ปีมานี้ อาชีพ HR เจอความเปลี่ยนแปลงไปที่รวดเร็วมาก แต่กลับมีเพียง 32% เท่านั้นที่คาดการณ์และพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงไว้แต่แรก
  • 90% ของผู้นำ HR ระบุว่าหนึ่งในความท้าทายสำคัญมาก ๆ ของการทำงานนี้คือข้อจำกัดด้านงบประมาณ ขณะที่ 89% จะกังวลว่าทรัพยากรในการปฏิบัติงานไม่เพียงพอต่อการทำงานภายในทีม
  • มี HR เพียง 9% เท่านั้นที่สามารถดำเนินงานได้อย่าง ยอดเยี่ยม ทั้งในด้านประสิทธิภาพเชิงหน้าที่และความสอดคล้องกับความต้องการทางธุรกิจ
  • มี CHRO เพียง 19% ที่ระบุว่าพนักงานในองค์กรของพวกเขาสามารถปรับตัวและเปลี่ยนแปลงแนวทางการทำงานตามที่สถานการณ์ต้องการ
  • สุดท้าย มีผู้นำด้านกลยุทธ์ 28% ที่ระบุว่าองค์กรสามารถพัฒนาขีดความสามารถทางธุรกิจได้ทันตามความจำเป็น เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาดอย่างมีประสิทธิภาพ

ทั้งนี้ สาเหตุที่ผู้นำและผู้บริหารด้าน HR หมดไฟง่ายเกิดขึ้นจากหลายสาเหตุ เพราะเป็นตำแหน่งใหญ่ที่ต้องแบกรับความรับผิดชอบและแรงกดดันที่มากกว่าใคร การกังวลเรื่อง Turnover Rate สูง พนักงานที่เก่ง ๆ ลาออกเยอะ แต่พนักงานที่อาจไม่ได้เก่งมากกลับไม่ออก ไปจนถึงการปวดหัวกับเรื่องการคอนเนคชั่นใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นการปวดหัวคนละแบบกับพนักงานในระดับปฏิบัติการ

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้ 

Q&A HR Board

Q: คนเป็น HRBP หรือเป็นผู้บริหาร HR เคยรู้สึกเบิร์นเอาท์กันไหม

HR ระดับบริหาร เคยรู้สึกเบิร์นเอาท์จากการทำงานกันไหม เคยเจอสถานการณ์ที่ทำให้กลืนไม่เข้า คายไม่ออก ไม่รู้จะแก้ไขยังไงบ่อยๆ จนส่งผลต่อการทำงานไหมครับ แล้วถ้าเจอแล้ว หาวิธีดูแลตัวเอง เติมไฟในการทำงานของตัวเองกันยังไง

A: สำหรับผู้ตอบเองในฐานะของนักบริหารงานบุคคลแนะนำเป็นไอเดียที่ใช้มาตลอดดังต่อไปนี้

  1. มองการณ์ไกล – มอง นึก คิด ออกไปถึงอนาคตอันไกลว่าสิ่งที่เราตั้งใจทำงานนั้นมันส่งผลต่อตัวเราในทางบวกในอนาคต ทำวันนี้ให้ดีที่สุดจะได้ไม่เสียดายเวลาภายหลัง 
  2. หาต้นเหตุที่ทำให้เราทุกข์ – หาเจอก็แก้ทุกข์นั้น เช่นถ้าเราโดนตำหนิบ่อยๆทั้งที่ไม่ใช่ความผิดของเรา ให้เราบอกตัวเองว่า ฉันทำดีที่สุดแล้วตลอดมาฉันทำอะไรบ้างและจุดมุ่งหมายจริงๆฉันหวังให้เป็นแบบไหน แต่วันนี้มันอาจจะไปไม่ถึงไม่เป็นไร ฉันทำดีที่สุดแล้วและจะทำมันต่อไป จะปรับปรุงในส่วนที่ควรปรับปรุง จะพัฒนาตัวเอง 
  3. หาสิ่งที่ตัวเองสนใจ – หาสิ่งที่ตัวเองชอบเช่นอยากเรียนเพิ่มเติมเพื่อพัฒนาตัวเองก็ทำ อยากพักผ่อนก็เคลียร์งานที่มีวางแผนพักผ่อน แล้วดึงใจกลับมาเริ่มต้นใหม่ 
  4. หาเพื่อนปรับทุกข์ – ไม่ได้หมายถึงเราต้องไปพูดหรือบ่นเรื่องงานให้ฟัง แต่อย่างน้อยการได้ออกไปเจอผู้คน ไปนั่งคุยกันถึงเรื่องต่างๆที่สนใจร่วมกันแชร์ไอเดียในอนาคตที่ต่างคนต่างมีมันก็จุดพลังไฟให้เราได้

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

คำแนะนำจาก Ranchu Center อยากให้ HR มีสุขภาพใจดีต้องทำอย่างไร ?

ในงานเสวนา Webinar Online เรื่อง HR Wellness: Caring for Yourself to Empower Your Workplace ที่จัดขึ้นโดย HREX ดร. แทนปราง แต้ศิลปสาธิต ประธานกรรมการบริษัทและนักจิตวิทยาคลินิกจาก Ranchu Center อธิบายว่าการดูแลสุขภาพจิตของ HR เป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อยไปกว่าการดูแลสุขภาพร่างกาย เนื่องจาก HR คือผู้ที่ทำหน้าที่เชื่อมโยงระหว่างพนักงานและผู้บริหาร คอยรับฟังและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กร โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวกับสุขภาพจิตของพนักงาน 

และบางครั้งพวกเขาก็ต้องรับภาระทั้งงานที่มีความรับผิดชอบสูงและความเครียดจากการจัดการกับคนในองค์กร การไม่สามารถดูแลสุขภาพจิตของตัวเองอาจทำให้เกิดความเครียดสะสมจนเกิดปัญหาสุขภาพจิตตามมาได้ในที่สุด

ปัญหาหลักที่ HR เผชิญในการทำงานคือความเครียดจากการทำงานหนัก การบริหารจัดการคนที่มีความหลากหลายทั้งในด้านอารมณ์และพฤติกรรม รวมถึงการต้องรับมือกับความคาดหวังสูงจากทั้งผู้บริหารและพนักงาน ความเครียดเหล่านี้สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตของ HR ได้ หากไม่รู้จักวิธีดูแลตัวเองอย่างเหมาะสม 

เพื่อป้องกันและบรรเทาความเครียด HR ควรเริ่มจากการใส่ใจสุขภาพจิตของตนเอง โดยการถามตัวเองทุกวันว่า “วันนี้ฉันรู้สึกยังไง? การสังเกตสัญญาณจากร่างกายและจิตใจเป็นวิธีที่ง่ายและมีประสิทธิภาพในการช่วยให้รู้ตัวว่าเรากำลังมีปัญหาหรือไม่ การไม่รู้สึกเหนื่อยหรือเครียดเป็นสัญญาณที่อาจทำให้เกิดความเหนื่อยล้าสะสม ซึ่งสามารถนำไปสู่ปัญหาสุขภาพจิตในระยะยาวได้ การให้ความสำคัญกับการดูแลตัวเองจึงเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ

อีกวิธีในการลดความเครียดคือการฝึกหายใจเพื่อผ่อนคลาย เทคนิคการหายใจลึก ๆ ช้า ๆ จะช่วยลดความตึงเครียดในร่างกายและช่วยให้สมองทำงานได้ดีขึ้น นอกจากนี้ การฝึกการเชื่อมโยงกับตัวเองผ่านเทคนิค Grounding ซึ่งเป็นการมุ่งความสนใจไปที่สิ่งรอบตัว เช่น การมองหาสีต่าง ๆ หรือการโฟกัสแล้วสัมผัสสิ่งรอบตัว ช่วยให้ HR กลับมามีสติและลดความวิตกกังวลได้ ซึ่งเป็นสิ่งที่ HR ทั้งในระดับปฏิบัติการ และระดับผู้นำสามารถนำไปใช้งานได้อย่างเห็นผล

HR Burnout เมื่อ HR มีปัญหาสุขภาพใจ แล้วใครจะดูแล HR ?

ดูแลสุขภาพจิตง่าย ๆ ด้วย C.A.R.E. Framework

ดร.แทนปราง อธิบายอีกว่า มีเครื่องมืออีกชิ้นที่ช่วยให้ HR สามารถดูแลสุขภาพจิตของตัวเองและพนักงานได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นคือ C.A.R.E. Framework ซึ่งเป็นแนวทางที่ครอบคลุมและชัดเจนในการบริหารจัดการสุขภาพจิตในองค์กร 

การใช้กรอบแนวคิดนี้ไม่เพียงแต่ช่วยในการจัดการกับปัญหาจิตใจ แต่ยังช่วยในการเสริมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นบวกและเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนี้

Connect (การเชื่อมโยง)

การสร้างความไว้วางใจระหว่าง HR และพนักงานเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในกระบวนการดูแลสุขภาพจิต การฟังอย่างตั้งใจโดยไม่ตัดสินและการให้คำแนะนำอย่างเหมาะสมสามารถสร้างความเชื่อมั่นและเปิดโอกาสให้พนักงานรู้สึกปลอดภัยในการพูดคุยเรื่องส่วนตัว ซึ่งจะช่วยให้ HR สามารถเข้าใจปัญหาของพนักงานได้ดีขึ้น

Assess (การประเมินสถานการณ์)

การประเมินสถานการณ์ช่วยให้ HR ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในองค์กรและในทีมได้อย่างชัดเจน ซึ่งรวมถึงการประเมินระดับความเครียดหรือภาวะซึมเศร้าในพนักงาน การใช้แบบสอบถามหรือเครื่องมือทางจิตวิทยามาช่วยในการวัดระดับปัญหาจะทำให้การจัดการและตอบสนองต่อปัญหานั้นเป็นไปอย่างตรงจุด

Respond (การตอบสนอง)

เมื่อทราบถึงปัญหาของพนักงานแล้ว HR สามารถตอบสนองได้อย่างเหมาะสม เช่น การปรับเปลี่ยนวิธีการทำงาน การสลับกะการทำงานของทีม หรือการเสนอแนะวันหยุดพักผ่อน เพื่อให้พนักงานมีเวลาฟื้นฟูพลังทั้งด้านร่างกายและจิตใจ การตอบสนองที่เหมาะสมจะช่วยลดความเครียดและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานได้

Empower (การสร้างพลังให้ฟื้นตัว)

การสร้างพลังให้กับพนักงานเป็นสิ่งสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของทีม HR ควรจัดกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างพลังใจ เช่น การจัดกิจกรรมให้พนักงานได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือการมีกิจกรรมที่กระตุ้นให้พนักงานทำงานร่วมกันอย่างมีเป้าหมายเล็ก ๆ ที่นำไปสู่ความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่ การสนับสนุนพนักงานให้รู้สึกมีคุณค่าและได้รับการยอมรับจะช่วยให้พวกเขาฟื้นฟูพลังใจและกลับมามีความกระตือรือร้นในการทำงาน

การนำ CARE Framework มาใช้ในการดูแลสุขภาพจิตของ HR จะช่วยให้ไม่เพียงแต่สามารถจัดการกับปัญหาทางจิตใจของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ แต่ยังสามารถสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่สนับสนุนให้พนักงานทุกคนมีสุขภาพจิตที่ดีขึ้นด้วย ซึ่งในระยะยาวจะส่งผลดีต่อการพัฒนาองค์กรและการทำงานที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น

แต่หากใครที่นำแนวทางดังกล่าวไปใช้แล้วยังรู้สึกว่าไม่พอ อยากได้ตัวช่วยเพิ่มเติมอีก ก็สามารถค้นหา Health & Wellness Provider Solution และติดต่อขอใช้บริการผ่านแพลตฟอร์ม HR Products & Services ของ HREX ได้เลย

สรุป

สุขภาพจิตที่ดีของ HR คือรากฐานสำคัญขององค์กร เพราะเมื่อผู้ที่มีหน้าที่ดูแลและสนับสนุนพนักงานต้องเผชิญกับภาวะ Burnout หรือความเครียดสะสม ผลกระทบย่อมลามไปถึงประสิทธิภาพการทำงานและบรรยากาศขององค์กรโดยรวม 

การฝีกหายใจ การใช้ C.A.R.E. Framework ร่วมกับการขอคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา จึงเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้ HR รักษาสมดุลทางจิตใจและขับเคลื่อนองค์กรได้อย่างยั่งยืน ซึ่ง HREX หวังว่าบทความนี้จะช่วยเสริม เติมพลัง และเติมเชื้อไฟในใจ HR กลับมาได้ขึ้นบ้าง ไม่มากก็น้อย 

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง