Search
Close this search box.

ศิลปะในการมอบหมายงานที่ทำให้ลูกน้องไม่ต้องทำไปเพราะนายสั่ง

หน้าที่ของผู้นำคือการทำงานให้เสร็จผ่านคนอื่น แต่การจะได้รับความช่วยเหลือและการร่วมมือที่ดีจากคนในทีมนั้นไม่ได้เกิดขึ้นง่ายๆจากการแค่สั่งงานเฉยๆ แต่มันเกิดจากความรู้สึกว่าได้รับความไว้วางใจให้ทำหน้าที่ หรือได้รับ Ownership สำหรับงานนั้นๆ ที่สำคัญรับรู้ว่าเป้าหมายของงานที่ต้องรับผิดชอบนั้นคืออะไร

เพราะหากลูกน้องทำไปเพราะเป็นคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาแต่ไม่ได้รับรู้ว่าทำไปทำไม ก็ไม่ต่างอะไรจากการทำงานด้วยแรงกายแต่ไม่ได้ใช้ศักยภาพทางปัญญา และหากเกิดความผิดพลาดขึ้นมาก็ไม่จำเป็นต้องใช้ความคิดว่าจะต้องรับผิดชอบผลลัพธ์จากสิ่งที่ทำอย่างไร นั่นเพราะเขารับรู้ว่าความรับผิดชอบตกอยู่ที่ผู้นำเพียงคนเดียว และตัวเองไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบอะไร

การทำงานให้เสร็จผ่านคนอื่นไม่ได้หมายถึงให้คนอื่นมาทำงานให้คุณ แต่มันหมายถึงการได้ทำงานที่เขาเป็นเจ้าของผลงานนั้นเอง และทุกคนทำงานไปเพื่อเป้าหมายร่วมกัน ไม่ได้ทำไปเพื่อใครคนใดคนหนึ่ง เพราะฉะนั้นทุกคนมีสิทธิรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผู้นำเพียงคนเดียว และผู้นำที่ดีต้องรู้จักศิลปะแห่งการมอบหมายงาน ที่ทำให้คนในทีมรับรู้ว่าทำไปเพื่อจุดประสงค์ใด

ให้ทุกคนมองเห็นเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจนก่อน

การแบ่งงานนั้นดี แต่บางทีก็มีปัญหา โดยปัญหาที่พบบ่อยในการแบ่งงานแล้วไม่เวิร์คก็คือการกระจายงานกันทำแต่มองไม่เห็นเป้าหมายร่วมกัน มองไม่เห็น Vision และภาพรวมขององค์กรที่ชัดเจน นั่นจึงทำให้บางครั้ง พนักงานไม่ได้รับรู้ว่าหน้าที่ที่รับผิดชอบอยู่นั้นสำคัญต่อองค์กรในระดับไหน สิ่งที่ตัวเองกำลังรับผิดชอบนั้นช่วยทำให้เข้าใกล้เป้าหมายองค์กรมากเพียงใด เพราะหากสิ่งที่กำลังทำอยู่นั้นไม่ได้สลักสำคัญอะไรและไม่ได้ช่วยขับเคลื่อนองค์กรให้ไปข้างหน้า ก็อาจจะทำให้เกิดความรู้สึกว่านี่คงอาจไม่ใช่งานสำคัญ และไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบมากมายอะไร

เริ่มต้นทีทำไม แต่ให้พนักงานเลือกเองว่าจะทำ “อย่างไร”

Start With Why คือการรู้ว่า Pain point ของบริษัทคืออะไร ? อะไรคือจุดยืนขององค์กร ? อะไรคือ Passion ขององค์กร ? นี่คือหน้าที่ของผู้นำที่ต้องถามว่า Why คืออะไร ? แต่การจะทำอย่างไร (How) นั้นขึ้นอยู่กับพนักงานหรือคนที่คุณมอบหมายงาน เพราะแต่ละคนย่อมมีวิธีคิด วิธีในการทำงานไม่เหมือนกัน การให้พื้นที่และอิสรภาพในการทำงานจะทำให้พนักงานทำงานได้เต็มที่มากกว่าการคอยจับผิดและควบคุมการทำงาน และวิธีนี้จะทำให้พนักงานคอยระมัดระวังความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นได้มากกว่า เพราะรับรู้ว่าหน้าที่นี้ตนเองเป็นผู้รับผิดชอบ หากเกิดข้อผิดพลาดขึ้นก็ต้องรับผิดชอบทั้งหมดด้วยเช่นกัน

ให้กำลังใจลูกน้องในการแก้ปัญหาด้วยตัวเอง

เมื่อเกิดปัญหาผู้นำไม่จำเป็นต้องเป็นคนเดียวที่ตัดสินว่าต้องแก้ปัญหาอย่างไร เพราะเป็นไปไม่ได้ที่ผู้นำจะตัดสินใจได้ถูกต้องทุกอย่างเสมอไป บางครั้งการช่วยกันคิดและเรียนรู้วิธีแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าก็เป็นสิ่งที่ผู้นำควรส่งเสริมให้เกิดขึ้นในทีม ผู้นำไม่จำเป็นต้องเก่งทุกอย่าง ถูกต้องทุกอย่างก็ได้ เพราะผู้นำที่เก่งจริงๆคือคนที่ฉายไฟให้ลูกน้อง และสามารถทำให้ลูกน้องเก่งกว่าตัวเองได้ ทำให้ลูกน้องรู้จักแก้ปัญหาได้ด้วยตัวเอง เพราะการเป็น “คนสร้างนาฬิกา” นั้นดีกว่าเป็น “คนบอกเวลา”

มอบหมายงานอย่างถูกต้อง

การมอบหมายงานอย่างถูกต้องไม่ใช่แค่การแบ่งงานกันทำตามหน้าที่เฉยๆ ผู้นำที่ดีควรทำให้การมอบหมายงานนั้นเคลียร์ก่อนว่า ต้องการให้พนักงานทำอะไร Make sure ว่าพนักงานเข้าใจหน้าที่และความรับผิดชอบที่ต้องทำ สามารถมีคำแนะนำที่จะ Guide พนักงานได้ว่างานที่ต้องการนั้นควรจะเป็นแบบไหน อะไรคือความคาดหวังของคุณ และสิ่งนั้นจะส่งผลต่อเป้าหมายองค์กรอย่างไร

ซึ่งตรงนี้คือหน้าที่ของผู้นำที่นอกจากจะต้องมีศิลปะในการมอบหมายงานแล้ว ก็ต้องมีศาสตร์ในการมองเห็นจุดแข็งของคนในทีมที่จะสามารถดึงเอาศักยภาพเหล่านั้นออกมาได้ และส่งเสริมให้คนในทีมพัฒนาทักษะให้ดียิ่งขึ้นไปโดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาผู้นำเพียงคนเดียว

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง