Search
Close this search box.

วิกฤติค่าจ้างต่ำ: ภัย(ไม่)เงียบบ่อนทำลายเศรษฐกิจเชียงใหม่

วิกฤติค่าจ้างต่ำ: ภัย(ไม่)เงียบบ่อนทำลายเศรษฐกิจเชียงใหม่

เชียงใหม่ เป็นจังหวัดใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย มีประชากรทั้งสิ้น 1,797,707 คน (อ้างอิงจากสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) เดือนสิงหาคม 2024) มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจหลายประการ โดยเฉพาะการเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ทั้งคนไทยและชาวต่างชาติอยากมาเยือน ตลอดปี 2023 มีรายงานว่าเชียงใหม่ต้อนรับนักท่องเที่ยวมากกว่า 150,000 ราย ทำให้เงินสะพัด คิดเป็นมูลค่ากว่า 100,000 ล้านบาทเลยทีเดียว

แต่รู้หรือไม่ว่า แรงงานเชียงใหม่ได้ค่าตอบแทนค่อนข้างถูกถึงถูกมาก ไม่ว่าจะค่าตอบแทนของแรงงานรายวัน หรือแม้กระทั่งค่าจ้างของพนักงานบริษัทเองก็ตาม ในขณะที่ค่าครองชีพเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากเงินเฟ้อ และหากเป็นเช่นนี้ต่อไป อาจเกิดปัญหาว่านอกจากแรงงานจะใช้ชีวิตอยู่ไม่ได้ องค์กรต่าง ๆ ที่เป็นนายจ้างก็อาจดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนไม่ได้ด้วย

HREX จึงถือโอกาสค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับ “ค่าแรง” ของชาวเชียงใหม่ สถานการณ์ปัจจุบันเป็นอย่างไร และทางออกของปัญหานี้ควรเป็นอย่างไร มาติดตามกันได้ในบทความนี้

Contents

วิกฤติค่าจ้างต่ำ: ภัย(ไม่)เงียบบ่อนทำลายเศรษฐกิจเชียงใหม่

เงินเดือนน้อย ปัญหาที่กัดกินคนทำงานเชียงใหม่มานานเกิน 10 ปี

สำนักงานสถิติจังหวัดเชียงใหม่ เคยสำรวจภาวะการทำงานของประชากร ไตรมาสที่ 2 ระหว่างเดือนเมษายน – มิถุนายน 2566 พบว่า เชียงใหม่มีผู้อายุ 15 ปีขึ้นไป 1,523,777 คน เป็นผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน 1,041,450 คน คิดเป็นร้อยละ 68.3 และเป็นผู้ที่ไม่อยู่ในกำลังแรงงาน 482,327 คน คิดเป็นร้อยละ 31.7

หากจำแนกตามประเภทอุตสาหกรรม พบว่าส่วนใหญ่เป็นผู้มีงานทำในสาขาเกษตรกรรม การป่าไม้ ร้อยละ 35 รองลงมาคือค้าขายทั้งค้าส่งและค้าปลีก ร้อยละ 17.7 สาขาการผลิต มีร้อยละ 10.2 สาขากิจกรรมโรงแรม และอาหาร คิดเป็นร้อยละ 8.9 และส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในสาขาอื่น ๆ ซึ่งมีสัดส่วนไม่มากนัก

ทั้งนี้ หากดูรายได้ของคนเชียงใหม่จะพบว่าค่าแรงขั้นต่ำตามประกาศของเชียงใหม่อยู่ที่ 350 บาทต่อวัน ส่วนงานออฟฟิศ หากดูจากประกาศรับสมัครงานในหลาย ๆ ที่ ทั้งประกาศโดยตรงของหลายองค์กร ไปจนถึงตาม Job Board ต่าง ๆ จะพบว่าค่าเฉลี่ยในภาพรวม อาชีพพนักงานออฟฟิศของนักศึกษาจบใหม่ มีค่าตอบแทนเป็นเงินเดือนให้ตั้งแต่ 12,000 บาท บางแห่งอาจให้ 18,000 บาท แต่ต้องมีประสบการณ์การทำงานมาระดับหนึ่ง

แต่ก็มีหลายแห่งที่ให้เงินเดือนเริ่มต้นสำหรับนักศึกษาจบใหม่แค่ 9,000 บาทเท่านั้น ซึ่งหากเอามาเทียบกันแล้วยังน้อยกว่าค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำ 350 บาทต่อวัน

ข้อน่าสังเกตก็คือ หากสืบค้นข้อมูลย้อนหลังจะพบว่าในโลก Social Media มีการพูดถึงประเด็นเงินเดือนในจังหวัดเชียงใหม่ที่น้อยอยู่แล้วมานานเป็น 10 ปีหรือมากกว่านั้น บางแห่งนอกจากให้เงินเดือนน้อย ก็มีเงื่อนไขเพิ่มว่าต้องทำงาน 6 วันต่อสัปดาห์ด้วยซึ่งอาจไม่ได้ส่งเสริมให้คนทำงานมีสุขภาวะในการทำงานที่ดีเท่าที่ควร

เชียงใหม่ ตลาดที่นายจ้างมีอำนาจต่อรองกว่าลูกจ้าง

สืบเนื่องจากประเด็นนี้ HREX จึงสัมภาษณ์ ดร.เบ็ญจวรรณ บุญใจเพ็ชร HR Expert Partner ผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ประจำภาคเหนือ เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติมว่า ทำไมลูกจ้างในเชียงใหม่ถึงมีรายได้ค่อนข้างน้อย โดยได้คำตอบว่า เชียงใหม่เป็นจังหวัดใหญ่ มีประชากรเยอะมากก็จริง แต่เป็นตลาดที่นายจ้างมีอำนาจมากกว่า ไม่ใช่ตลาดที่ลูกจ้างมีอำนาจในการต่อรอง เพราะศักยภาพของแรงงานในเชียงใหม่เองยังไม่เทียบเท่าจังหวัดอื่น ๆ เช่น กรุงเทพมหานคร

อีกทั้ง เชียงใหม่เป็นเมืองที่ชูจุดเด่นด้านการท่องเที่ยว ก็ทำให้นักท่องเที่ยวจะมาเฉพาะบางฤดูกาลเท่านั้น เช่นช่วงปลายปี ไม่ใช่เขตอุตสาหกรรมที่จะมีแรงงานพลุกพล่าน คึกคักตลอดทั้งปี แตกต่างอย่างสิ้นเชิงกับแรงงานในจังหวัดลำพูนซึ่งอยู่ติดกันที่ได้ค่าจ้างสูงกว่ามาก

“ลำพูนเป็นนิคมอุตสาหกรรม มีบริษัทต่างชาติมาเปิดโรงงานการผลิตเยอะ หากบริษัทหรือโรงงานไหนมีเจ้าของเป็นคนญี่ปุ่น สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมัน ฯลฯ บางบริษัทอาจให้ค่าจ้างสูงกว่ากรุงเทพฯ ด้วยซ้ำ หากเทียบแล้วมีองค์กรแค่ประมาณ 10% ในเชียงใหม่ที่ให้เงินเดือนเยอะ ๆ ได้

“นี่จึงเป็นหนึ่งในเหตุผลสำคัญให้คนเชียงใหม่ที่มีฝีมือย้ายไปอยู่ลำพูนเยอะ เมื่อมีการแข่งขันกันเพื่อเข้าไปทำงาน จนไม่น่าแปลกใจหากเงินเดือนของลำพูนเยอะกว่า”

ทำงานบริษัทใหญ่ โอกาสย่อมดีกว่าทำงานองค์กรเล็ก 

ดร.เบ็ญจวรรณ ยังอธิบายเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อพูดถึงค่าจ้างของแรงงานภาคเหนือ ต้องแบ่งเป็น 2 แบบคือ ค่าแรงของแรงงานรายวัน และพนักงานออฟฟิศที่ได้เงินรายเดือน ซึ่งแน่นอนว่าค่าจ้างของพนักงานออฟฟิศมักจะได้เยอะกว่า

และจากการทำงานเป็นที่ปรึกษา เข้าไปดูเรื่องโครงสร้างเงินเดือนในบริษัทจำนวนมาก ก็ยังมีการแบ่งเรตอีกว่า บริษัทขนาดเล็กและกลางหรือ SMEs จะไม่สามารถให้ค่าแรงพนักงานได้เยอะ เมื่อเทียบกับบริษัทขนาดใหญ่ หรือบริษัทที่มีสำนักงานใหญ่อยู่ในกรุงเทพ เช่น Central, True, AIS, Toyota เป็นต้น

“บริษัทใหญ่เหล่านี้ให้ค่าจ้างสูงเมื่อเทียบกับบริษัทห้างร้านเล็ก ๆ เพราะเงินเดือนจะใช้เรตตามกรุงเทพ ซึ่งอาจไม่ได้เท่ากัน 100% แต่จะต่ำกว่าไม่เกิน 15-20% พิจารณาตามบริบทของท้องที่ ค่าครองชีพ กำลังซื้อของประชาชนที่อาจไม่ได้สูงเท่ากรุงเทพ หากเป็นองค์กร SMEs จะแทบไม่จ้าง HR มาทำงานเลย เจ้าของจะทำหน้าที่เป็น HR เอง หรือหากจ้าง ก็จะจ้างด้วยเงินที่ไม่สูงมาก

“เงินเดือนเริ่มต้นของ HR Admin ในเชียงใหม่อยู่ที่ 12,000 บาท ขณะที่ลำพูนเริ่มต้นที่ 15,000  บาทโดยเฉลี่ย จากที่เคยเจอมา HR Manager ในลำพูนมีทักษะดีกว่าในเชียงใหม่เยอะ นายจ้างสามารถจ้างคนระดับซีเนียร์ด้วยเงินเดือน 50,000-70,000 บาทได้ ยิ่งใครมีพื้นเพอยู่ในบริษัทใหญ่ ๆ ในกรุงเทพมาก่อน หากย้ายภูมิลำเนากลับไปสมัครงานที่เชียงใหม่ก็จะได้เงินเดือนเยอะตามไปด้วย เพราะถือว่าผ่านสนาม มีประสบการณ์จากกรุงเทพฯ มาก่อนค่ะ” HR Expert Partner ของ HREX แจกแจง 

วิกฤติค่าจ้างต่ำ: ภัย(ไม่)เงียบบ่อนทำลายเศรษฐกิจเชียงใหม่

สโลว์ไลฟ์เกินไป ทำคนเชียงใหม่ขาดความกระตือรือร้น

สืบเนื่องจากประเด็นศักยภาพของแรงงานเชียงใหม่ยังเทียบเท่ากรุงเทพ หรือแม้กระทั่งลำพูนไม่ได้ HREX ได้สอบถามชาวเชียงใหม่ท่านหนึ่ง นามสมมติว่า ชาย ผู้สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่เมื่อเรียนจบ เขาตัดสินใจไปหางานด้านการออกแบบกราฟิกในเอเจนซี่โฆษณาแห่งหนึ่งในกรุงเทพ ถึงสาเหตุที่เขาเลือกจะไปทำงานที่เมืองหลวง และมุมมองที่มีต่อการทำงานในเชียงใหม่ด้วยกัน

ชาย เล่าว่าสาเหตุที่เขาเลือกมาทำงานที่กรุงเทพ เพราะเชียงใหม่ไม่มีตำแหน่งงานที่ตรงกับความต้องการของเขา หรือหากมีก็ให้เงินเดือนน้อย โดยเรตเงินเดือนต่ำสุดในสายงานที่เคยเจอคือ 9,000 บาท 

“หากจะทำงานในเอเจนซี่โฆษณา ส่วนใหญ่งานนี้จะอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นหลัก ก็เลยต้องย้ายมาทำงานที่นี่ เมื่อสัก 10 ปีก่อนเราต้องเข้าออฟฟิศ สถานการณ์ไม่เหมือนตอนนี้ที่สามารถทำงานผ่านออนไลน์ได้ การมากรุงเทพฯ คือสิ่งที่จำเป็น” 

แต่เขายอมรับว่าการทำงานในกรุงเทพมาพร้อมความเครียด มีการแข่งขันและความกดดันสูง พอทำงานได้ 1 ปีจึงตัดสินใจย้ายกลับไปทำงานเป็นฟรีแลนซ์ที่เชียงใหม่แทน พอย้ายกลับมา สิ่งที่พบก็คือบรรยากาศการทำงานที่มีความ “สบาย ๆ” จังหวะการใช้ชีวิตช้าลง การแข่งขันไม่สูงมาก และเวลาคุยงานกับผู้ประกอบการจะไม่ได้เคี่ยวและเข้มเหมือนกรุงเทพ

“วัฒนธรรมในการทำงานของคนเชียงใหม่จะติดสบาย ช้า แต่ทำหลาย ๆ อย่างพร้อมกันไม่ค่อยได้ อาจไม่ใช่ทุกคนที่เป็นแบบนี้ แต่แตกต่างกับคนกรุงเทพฯ ต้องทำอะไรเยอะแยะพร้อมกัน แข่งขันกันสูงกันทุกวินาที คนที่ทำงานเชียงใหม่ อาจชอบสภาพการทำงานที่ไม่ต้องดิ้นรนมาก ไม่อยากเจอความวุ่นวายมากเท่าในกรุงเทพฯ”

อย่างไรก็ตาม ชายก็พบว่าพออยู่เชียงใหม่นานเกินไป ก็เริ่มรู้สึกขี้เกียจ เริ่มรู้สึก ‘สโลว์ไลฟ์’ ตามคนอื่นไปด้วย แล้วพอทำงานในเชียงใหม่ รายได้ก็อาจไม่สูง เพราะเขาก็รู้ว่านายจ้างจ่ายไม่ไหว ทำให้เขากลับมาตั้งคำถามกับตัวเองว่าจะทำงานแบบนี้ไปตลอดชีวิตจริงเหรอ จึงย้ายกลับมากรุงเทพอีกรอบ เพราะต้องการทำงานและใช้ชีวิตตามไลฟ์สไตล์กคนในเมืองใหญ่

“นายจ้างเชียงใหม่คาดหวังอยากได้มาตรฐานกรุงเทพ ภายใต้เงินเดือนเชียงใหม่ แต่ค่าครองชีพ ค่าใช้จ่ายในเชียงใหม่เทียบเท่ากรุงเทพฯ ไปแล้ว แต่ค่าจ้างยังเท่าเดิมอยู่เลย แล้วที่กรุงเทพฯ รวมสิ่งอำนวยความสะดวกไว้หมด ซึ่งเชียงใหม่มันไม่มี สุดท้ายก็เลยตัดสินใจย้ายกลับมากรุงเทพอีกครั้งจนถึงปัจจุบันครับ

“อย่าลืมว่า ชีวิตคนเราไม่ได้มีแค่การทำงาน แต่มันต้องมีไลฟ์สไตล์ มีการใช้ชีวิตด้วย” ชายทิ้งท้าย

เสียงของนายจ้างยืนยัน แรงงานเชียงใหม่ยังขาดศักยภาพ

หลังฟังเสียงของ HR และเสียงของประชาชนเชียงใหม่ในฐานะลูกจ้างไปแล้ว HREX จึงถือโอกาสนี้สัมภาษณ์คุณ ปิยะภรณ์ ธรรมปัญญา เจ้าของร้านอาหารเหนือ กิ๋นลำกิ๋นดี ที่ตั้งอยู่ในอำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ด้วย เพื่อขอมุมมองของผู้ประกอบการเรื่องการทำธุรกิจ และการจ้างพนักงานตามประเด็นที่กล่าวมา

คุณปิยะภรณ์เล่าว่าจากประสบการณ์ที่เปิดร้านมาประมาณ 6-7 ปี เธอไม่ค่อยเจอคนเชียงใหม่มาสมัครงานเป็นลูกจ้างในร้านอาหาร แต่มักจะเป็นชาวไทใหญ่เสียมากกว่า และเนื่องจากร้านของเธออาจไม่ใช่ร้าน Fine Dining ไม่ได้ขายอาหารที่ต้องอาศัยฝีมือการผลิตขั้นสูง เช่น การอบขนมปัง เลยไม่จำเป็นต้องใช้คนทักษะเยอะตั้งแต่แรก

“ที่ผ่านมาร้านจ่ายค่าจ้างสูงกว่าค่าเฉลี่ย สูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำตลอดค่ะ พนักงานจะได้เงินเดือนเริ่มต้นที่ 12,000-15,000 บาท และจะปรับเงินเดือนเพิ่มเรื่อย ๆ มีสวัสดิการคือเบี้ยขยัน ประกันสังคม วันหยุด หากเป็นพนักงานประจำหรือพนักงานพาร์ทไทม์ จะมีอาหารให้รับประทานฟรี 2 มื้อ เลือกได้เลยว่าจะกินอะไรในเมนูร้าน”

ถึงจะจ่ายเยอะกว่าค่าเฉลี่ย แต่เจ้าของร้าน กิ๋นลำกิ๋นดี ก็ยังยืนยันว่าหากจ้างแรงงานในกรุงเทพด้วยเงินเดือนที่เท่ากัน อาจจะได้คนที่มีทักษะขั้นสูงกว่า เช่น พนักงานเสิร์ฟที่สามารถพูดคุยสื่อสารภาษาอังกฤษกับลูกค้าชาวต่างชาติได้ ซึ่งปัจจุบันในเชียงใหม่แทบจะไม่มีแรงงานรายวันที่พูดภาษาอังกฤษได้เลย

แต่เธอก็พิจารณาด้วยว่า เมื่อหักลบกลบหนี้กันแล้ว ธุรกิจร้านอาหารมีรายได้ไม่สม่ำเสมอ วันไหนที่ไม่มีลูกค้า วันนั้นพนักงานก็จะว่างไปเลย และถึงไม่มีลูกค้าก็จะจ่ายค่าจ้างให้เสมอ จะช่วงที่ลูกค้าเยอะจริง ๆ แค่ประมาณ 3 เดือนเท่านั้น ทำให้เธอยิ่งต้องบริหารจัดการด้านการเงินของร้านอย่างเข้มงวด เพื่อที่ช่วง Low Season จะยังสามารถเปิดร้าน และดูแลพนักงานทุกคนได้ตลอดรอดฝั่ง

ค่าแรงขั้นต่ำบีบนายจ้าง แม้ไม่พร้อมก็ต้องยอมขึ้น

หนึ่งในประเด็นที่ผู้ประกอบการ และแรงงานต่างจับตาก็คือ การขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 400 บาททั่วประเทศ ซึ่งมีข่าวว่าจะเริ่มปรับขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2567 ที่จะถึงนี้ ถือเป็นเรื่องใหญ่ที่ผู้ประกอบการหาวิธีรับมืออย่างเร่งด่วน แม้จะยังไม่มีการออกกฎหมายอย่างเป็นทางการว่าจะขึ้นค่าแรงแน่นอนก็ตาม

ดร.เบ็ญวรรณ เล่าว่าจากการเข้าร่วมประชุมกับสภาอุตสาหกรรม และพูดคุยกับผู้ประกอบการหลายเจ้าโดยตรง แทบทุกรายยืนยันว่าไม่พร้อมขึ้นราคา เพราะสภาพเศรษฐกิจในเชียงใหม่ไม่ได้ดีอย่างที่ทุกคนคิด

“ขนาดย่านนิมมานเหมินท์เป็นย่านนักท่องเที่ยว ก็ยังเงียบ ๆ เลย ในระยะหลังนักท่องเที่ยวหายไปด้วย โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีน กำลังซื้อในภาพรวม การใช้จ่ายเมื่อเทียบกับปีก่อนโควิดถือว่าไม่ดีเลย ขนาดองค์กรใหญ่ยังบริหารเหนื่อย สิ่งไหนประหยัดได้ก็ต้องประหยัด อย่างเงินเดือนที่เป็น Fixed Cost อยู่แล้ว ก็ยิ่งไม่อยากขยับเยอะ”

คุณปิยะภรณ์ ก็กังวลเช่นกัน ตั้งแต่วันแรกที่เปิดร้านมาจนถึงวันนี้ของทุกอย่างขึ้นหมดเลย สวนทางกับรายได้ที่ทรงตัว และเธอยอมรับว่าหากต้องขึ้นค่าแรงเป็น 400 บาทต่อวันจริง ๆ ก็ต้องหาทางออกด้วยการขึ้นราคาค่าอาหาร แม้ร้านของเธออาจไม่ได้ขายแพงมากเมื่อเทียบกับร้านอาหารเหนือร้านอื่น ๆ แต่ก็ต้องพิจารณาทางเลือกนี้ด้วย

วิกฤติค่าจ้างต่ำ: ภัย(ไม่)เงียบบ่อนทำลายเศรษฐกิจเชียงใหม่

แก้ปัญหาค่าจ้างต่ำ แนวทางสร้างสรรค์เพื่อยกระดับแรงงานเชียงใหม่

จากการสัมภาษณ์แรงงาน ผู้ประกอบการ และผู้เชี่ยวชาญด้าน HR ในจังหวัดเชียงใหม่ มีแนวทางแก้ไขสำคัญที่อาจช่วยเพิ่มศักยภาพของแรงงานในเชียงใหม่ พร้อมทั้งส่งผลให้องค์กรมีรายได้สูงขึ้นจนสามารถจ้างแรงงานในราคาที่สูงขึ้นได้ HREX ประมวลผลแล้วพบว่า ทางออกของปัญหาที่น่าจะช่วยให้ทุกฝ่าย วิน-วิน มีดังต่อไปนี้

1. ลดช่องว่างระหว่างกรุงเทพและเชียงใหม่ในแง่ของวัฒนธรรมการทำงาน

การสร้างความสอดคล้องในวัฒนธรรมการทำงานระหว่างเชียงใหม่และกรุงเทพฯ เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่งสามารถทำได้โดยการนำระบบการทำงานที่คล้ายคลึงกันมาใช้ในทั้งสองเมือง เช่น พัฒนาทักษะการทำงานแบบ “Multi-Task” และการสร้างสภาพแวดล้อมที่มีการแข่งขันสูงขึ้น ซึ่งจะช่วยกระตุ้นให้แรงงานในเชียงใหม่สามารถพัฒนาตนเองได้มากขึ้น 

นอกจากนี้ การเพิ่มสิ่งอำนวยความสะดวกที่ตอบสนองต่อความต้องการของไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ เช่น การเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตความเร็วสูงในพื้นที่ต่าง ๆ การจัดตั้งพื้นที่ทำงานร่วม (co-working spaces) ก็จะทำให้การทำงานในเชียงใหม่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดการเดินทางที่อาจเป็นอุปสรรคในการทำงานข้ามจังหวัด และช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือความแออัดที่ทุกคนต้องมุ่งหน้าไปทำงานในกรุงเทพลงได้ ไม่มากก็น้อย

2. ปรับปรุงระบบการศึกษาและการผลิตบัณฑิตระดับอุดมศึกษา

ปัญหาหลักที่ส่งผลต่อศักยภาพของแรงงานในเชียงใหม่คือระบบการศึกษาที่ไม่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาดแรงงาน เชียงใหม่มีสถาบันการศึกษาในระดับอุดมศึกษาชั้นแนวหน้ามากมาย นำโดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ แต่หลักสูตรการเรียนในมหาวิทยาลัยและสถาบันการศึกษาท้องถิ่นยังไม่สามารถผลิตบัณฑิตที่มีทักษะเพียงพอที่จะรองรับงานที่มีความซับซ้อนสูงได้

ข้อสังเกตคือ แต่ละสถาบันสนับสนุนให้นักศึกษาไปฝึกงาน เพื่อเก็บประสบการณ์ในระหว่างที่ยังเรียนอยู่ แต่บ่อยครั้งจะเจอปัญหาว่าพอฝึกงานเสร็จแล้ว จะต้องกลับไปเรียนต่ออีกเทอมก่อนจะจบการศึกษา พอไม่พร้อมทำงานทันที ก็ทำให้ทั้งบริษัทและนักศึกษาต้องเสียเวลาเพิ่ม หากปรับเปลี่ยนหลักสูตร ให้พร้อมเริ่มงานได้ทันที น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้นต่อทั้งนายจ้างและนักศึกษาจบใหม่เอง

3. การปรับตัวของผู้ประกอบการในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด

การยกระดับศักยภาพของแรงงานในเชียงใหม่ ไม่ได้ขึ้นอยู่เพียงแค่การปรับปรุงวัฒนธรรมการทำงานและการศึกษา แต่ยังต้องพึ่งพาการปรับตัวของทั้งผู้ประกอบการและการสร้างแรงจูงใจในการทำงานของพนักงาน

ผู้ประกอบการในเชียงใหม่จำเป็นต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจและการแข่งขัน การลงทุนในเทคโนโลยีและการพัฒนากระบวนการทำงานจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนการดำเนินงาน ทำให้สามารถจ่ายเงินเดือนที่สูงขึ้นได้ นอกจากนี้ การขยายตลาดทั้งในและต่างประเทศก็จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับองค์กร ซึ่งจะช่วยให้นายจ้างสามารถให้เงินเดือนที่สูงขึ้นกับพนักงานที่มีศักยภาพได้​

4. การพัฒนาทักษะและการสร้างแรงจูงใจในการทำงาน

การนำระบบ HR Solution ด้านการพัฒนาและฝึกอบรมเข้ามาใช้ในองค์กรจะช่วยให้พนักงานได้รับทักษะใหม่ๆ ซึ่งสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในการทำงานและเพิ่มประสิทธิภาพได้ 

หากไม่รู้จะค้นหา HR Solution จากไหน ต้องพิจารณาเรื่องใดประกอบบ้าง สามารถมาค้นหาผ่าน HREX ได้เลย เรารวบรวม HR Solution โดยเฉพาะเครื่องมือ Training & Coaching สำหรับ Upskill-Reskill พนักงานไว้มากมายให้ค้นหาและเลือกใช้บริการไว้แล้วทางลิงก์นี้

ทั้งนี้ หลายองค์กรอาจมีความกังวลว่าบริการ Training & Coaching อาจต้องใช้เงินเยอะ จึงจะตอบโจทย์ แต่จริง ๆ แล้วการ Upskill-Reskill พนักงานนั้นมีหลายราคาให้แต่ละองค์กรค้นหา หากไม่รู้จะมองหาจากไหน สามารถมาขอคำปรึกษาจาก HREX ได้เลย ติดต่อเพื่อขอคำปรึกษาได้ทางลิงก์นี้

สรุป

ปัญหาการจ้างงานในจังหวัดเชียงใหม่ที่ค่าตอบแทนของพนักงานยังคงอยู่ในระดับต่ำ เป็นประเด็นที่ซับซ้อนและเกี่ยวข้องกับหลายปัจจัย ทั้งวัฒนธรรมการทำงานที่แตกต่าง ศักยภาพของแรงงาน ระบบการศึกษา และการปรับตัวของผู้ประกอบการ การแก้ไขปัญหานี้จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน

หากทุกฝ่ายสามารถดำเนินการตามแนวทางเหล่านี้ได้ ไม่เพียงแต่จะช่วยให้พนักงานได้รับค่าตอบแทนที่เหมาะสมขึ้น แต่ยังส่งผลให้องค์กรมีความสามารถในการแข่งขันและเติบโตได้อย่างยั่งยืน ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของประชาชนในจังหวัดเชียงใหม่ในระยะยาว

การเผชิญหน้ากับความท้าทายนี้ต้องการความร่วมมือและความเข้าใจจากทั้งแรงงาน นายจ้าง สถาบันการศึกษา และภาครัฐ เพื่อสร้างสรรค์อนาคตที่ดีกว่าสำหรับเชียงใหม่ และเป็นแบบอย่างให้กับจังหวัดอื่น ๆ ในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาด้านการจ้างงานอย่างมีประสิทธิภาพ

ผู้เขียน

Picture of Paranaphat Anui

Paranaphat Anui

Take Off Toward a Dream

บทความที่เกี่ยวข้อง