Search
Close this search box.

Car Allowance รถส่วนตัวหรือรถประจำตำแหน่ง ? การตัดสินใจที่ HR ต้องรู้

HIGHLIGHT

  • Car Allowance หมายถึงเงินหรืองบประมาณที่องค์กรจ่ายให้กับพนักงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้รถส่วนตัวเพื่อทำงานขององค์กร (Work-Related Purpose) เช่นการรับส่งเพื่อนร่วมงาน, ใช้ขนของเวลาไปทำงานนอกสถานที่ หรือการเดินทางไปต่างจังหวัด
  • Car Allowance ช่วยให้เราบริหารเงินได้ดีขึ้น เพราะปกติองค์กรจะจ่ายเงินนี้เป็นรายเดือนในอัตราคงที่  เราจึงรู้ว่าควรเตรียมงบประมาณไว้แค่ไหน ต่างจากระบบตั้งเบิกแบบเดิมอย่างชัดเจน
  • Car Allowance ควรมีข้อกำหนดที่ชัดเจน เช่นเรื่องสภาพรถ, ระยะไมล์ ตลอดจนรุ่นและยี่ห้อ  เพื่อให้เหมาะสมกับภาพลักษณ์ขององค์กร
  • Car Allowance เป็นนโยบายที่ใช้เงินน้อยกว่าการซื้อรถประจำตำแหน่ง  แต่ก็ต้องระวังเรื่องเส้นแบ่งระหว่างโลกการทำงานและโลกส่วนตัว
  • สิทธิ์ Car Allowance ต้องระบุไว้ในสัญญาอย่างชัดเจน เผื่อกรณีที่มีการสิ้นสุดสถานะพนักงาน  รถยนต์ดังกล่าวต้องไม่ใช่ข้อผูกมัดให้เกิดการเอาเปรียบกันเด็ดขาด

ในยุคสมัยที่ค่าครองชีพ พุ่งทะยานขึ้นทั่วทุกมุมโลก องค์กรจำเป็นอย่างยิ่งที่จะตรวจสอบว่าเราให้สวัสดิการและค่าตอบแทนที่เหมาะสมกับพนักงานดีแล้วหรือไม่ เพราะรายละเอียดเพียงเล็กน้อย แม้จะเคยถูกยอมรับในอดีต ก็อาจเป็นตัวแปรสำคัญที่ทำให้พนักงานตัดสินใจลาออกจากองค์กร หรือเอาไปพูดต่อว่าเราใช้งานพวกเขาอย่างไม่เป็นธรรมก็ได้

ปัญหานี้นอกจากจะทำให้เราต้องเสียทรัพยากรเพื่อหาพนักงานใหม่แล้ว ยังทำให้ภาพลักษณ์เสียหายโดยไม่ทันตั้งตัวอีกด้วย

หนึ่งในปัญหาที่เกิดขึ้น ก็คือการที่องค์กรให้พนักงานใช้รถส่วนตัวเพื่อทำงานบางอย่าง  ซึ่งโดยปกติแล้วเราอาจเคยทำได้เพราะมองเป็นเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ หรือมองว่าเป็นการช่วยเหลือกันเพื่อความเติบโตขององค์กร แต่อย่าลืมว่าแม้แต่ค่าน้ำมันในปัจจุบันกับเมื่อ 2 – 3 ปีก่อนก็แตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด  หากเราเอาแต่ขอความช่วยเหลือโดยไม่พิจารณาถึงสภาพสังคมที่แท้จริง  ก็อาจถูกมองว่าเราให้ความสำคัญกับความสำเร็จของเป้าหมาย มากกว่าชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงาน

ข้อมูลเรื่อง Car Allowance ที่ HR ต้องรู้มีอะไรบ้าง หาคำตอบได้ที่ HREX

Car Allowance นโยบายที่ HR ให้พนักงานใช้รถส่วนตัวทำงานคืออะไร ?

Car Allowance หมายถึงเงินหรืองบประมาณที่องค์กรจ่ายให้กับพนักงาน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายสำหรับการใช้รถส่วนตัวเพื่อทำงานขององค์กร (Work-Related Purpose) เช่นการรับส่งเพื่อนร่วมงาน, ใช้ขนของเวลาไปทำงานนอกสถานที่ หรือการเดินทางไปต่างจังหวัด เป็นต้น

Car Allowance ขั้นพื้นฐาน จะครอบคลุมค่าใช้จ่ายและค่าบำรุงรักษาตามสมควร  ไม่ว่าจะเป็นค่าน้ำมัน, ค่าประกันอุบัติเหตุ, ค่าช่วยเหลือหากเกิดกรณีเฉี่ยวชนเล็ก ๆ น้อย ๆ ตลอดจนค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการเสื่อมสภาพตามระยะเวลา โดยไม่จำเป็นต้องรอให้เกิดอุบัติเหตุก่อน (Wear & Tear) นี่คือเหตุผลว่าทำไมองค์กรต้องมีกระบวนการพิจารณาอย่างเหมาะสม  เพื่อให้ได้ข้อสรุปเรื่องค่าใช้จ่ายอย่างเป็นธรรม กับทั้งงบประมาณขององค์กร และความพึงพอใจของพนักงานผู้ใช้รถเอง

การกำหนด Car Allowance ควรอ้างอิงกับอะไร ?

คำตอบก็คือขึ้นอยู่กับบริบทขององค์กรแต่ละแห่ง เราไม่สามารถใช้กฎเดียวแล้วบังคับใช้กับพนักงานทุกระดับ เพราะความจำเป็นในการใช้รถของงานแต่ละแบบ ล้วนมีความจำเป็นเร่งด่วนที่แตกต่างกัน ในที่นี้ HR สามารถพิจารณาโดยให้ความสำคัญกับประเด็นดังต่อไปนี้

1. ตรวจสอบดูว่าพนักงานอยู่ไกลจากที่ทำงานหรือไม่ (Location of Employee) : หากบ้านของพนักงานกับออฟฟิศไม่ได้ห่างไกลกันมาก ค่าซ่อมบำรุงก็ไม่จำเป็นต้องแพง แต่หากบ้านของพนักงานอยู่ชานเมืองแต่ออฟฟิศอยู่ที่ใจกลางสุขุมวิท ค่าบำรุงก็ต้องแพงกว่าในอัตราที่เหมาะสม ในที่นี้ HR ควรพิจารณาถึงสวัสดิการด้านเวลาเข้างานด้วย (Flexible Hours) 

2. ตรวจสอบดูว่ารถดังกล่างจะถูกใช้ในพื้นที่ห่างไกลเป็นพิเศษหรือไม่ (Remote Area) : หากรถถูกใช้ในพื้นที่ห่างไกล ค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ก็จะสูงขึ้น เช่นค่าน้ำมันก็จะแพงกว่าในเมืองอย่างเห็นได้ชัด หรือค่าบำรุงรักษาก็จำเป็นต้องจ้างคนที่มีฝีมือจากในเมืองเข้าไปซ่อมแซม ซึ่งจะมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมตามมา

3. ตรวจสอบดูว่ารถส่วนตัวเรานั้น เหมาะสมกับภาพลักษณ์ของพนักงานในแต่ละตำแหน่งหรือไม่ (Images of Employees) : ความประทับใจและความรู้สึกในด้านบวก (First Impression) เป็นเรื่องจำเป็นมากสำหรับพนักงานขาย (Field Sales) ดังนั้นปัญหาเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการไม่ล้างรถ ก็จะส่งผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือทันที นี่คือค่าใช้จ่ายที่องค์กรต้องพิจารณาเพิ่มเติม

ในที่นี้เราต้องให้ความสำคัญกับระดับของรถ (Grade of Car) ด้วย เพราะหากผู้บริหารเกิดอยากใช้รถคันเก่าของตนที่ปราศจากการดูแล จนดูไม่เหมาะสมกับตำแหน่ง โดยเฉพาะเมื่อต้องประชุมกับบุคคลสำคัญจากที่อื่น หากเป็นแบบนี้ HR ก็ต้องลองหารถคันอื่น หรือพิจารณาเรื่องการใช้รถประจำตำแหน่ง (Company Car) แทน

ดังนั้นเวลา HR จะขอให้พนักงานเอารถส่วนตัวมาใช้ เราต้องสามารถอธิบายนโยบายและค่าตอบแทนอย่างละเอียด เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานเอาประเด็นนี้มาต่อว่าในภายหลัง

HR ต้องคิดว่าหากเราตกลงใช้รถของพนักงาน รถคันนั้นจะมีสถานะเป็นตัวแทนขององค์กรทันที บริษัทจึงมีหน้าที่รับผิดชอบให้รถคันนั้นอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ พร้อมใช้งานมากที่สุด นอกจากนี้ยังต้องคำนึงด้วยว่าหากรถคันดังกล่าวเกิดอุบัติเหตุ รถคันสำรองขององค์กรคือรถคันไหน และได้รับการดูแลปรับสภาพให้เหมาะสมมากพอแล้วหรือยัง

ข้อดีของ Car Allowance มีอะไรบ้าง ?

1. ให้ความคล่องตัวและสิทธิ์ในการเลือกของพนักงาน (Flexibility) : นโยบายนี้จะช่วยเพิ่มอิสระให้กับพนักงานในการเลือกยานพาหนะประจำตัว ซึ่งจะช่วยสร้างความมั่นใจมากขึ้น เพราะพนักงานจะได้เลือกรถส่วนตัวที่มีความคุ้นเคยมากกว่า เหมาะกับรูปแบบการใช้งานของตนมากกว่า สามารถประหยัดน้ำมันได้มากกว่า เป็นต้น

พนักงานที่ได้รับนโยบายนี้บางส่วนจะรู้สึกว่าคุ้มค่า เพราะสามารถใช้รถกับทั้งการทำงานและชีวิตประจำวันได้เลย แถมยังมีงบประมาณมาช่วยบำรุงรักษา ซึ่งถือเป็นการตอบแทนที่เหมาะสม

ในที่นี้รถขอบตัวเองจะดีกว่ารถประจำตำแหน่งตรงที่บางองค์กรจะไม่อนุญาตให้นำรถประจำตำแหน่งไปใช้ในเรื่องส่วนตัวได้เลย

2. ช่วยประหยัดค่าใช้จ่าย (Cost Coverage) : ในมุมมองของพนักงาน พวกเขาจะสามารถเลือกซื้อรถยนต์ที่เหมาะกับตัวเองในราคาที่สูงขึ้น เพราะรู้ว่าการบำรุงรักษาต่าง ๆ จะได้รับการดูแลโดยองค์กร ขณะที่ทางบริษัทเอง ค่าบำรุงรักษาย่อมถูกกว่าการซื้อรถประจำตำแหน่งสักคันอยู่แล้ว วิธีนี้เหมาะมากกับองค์กรขนาดเล็กที่ยังไม่มีงบประมาณมากพอในการซื้อรถเพิ่มขึ้นมา

3. ช่วยให้เราบริหารจัดการงบประมาณได้ง่ายขึ้น (Budget Prediction) : เมื่อเรากำหนดเรื่องเงินตอบแทนเป็นนโยบาย เราก็จะได้ค่าใช้จ่ายมาก้อนหนึ่ง ซึ่งเป็นเม็ดเงินที่พิจารณาจากองค์ประกอบทุกอย่างแบบรัดกุม

ปกติแล้วรายจ่ายในลักษณะนี้จะมีให้เป็นรายเดือน และการให้เงินรายเดือนแบบนี้ จะทำให้องค์กรรู้ว่าค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นมีอยู่เท่าไร ต้องเตรียมตัวมากน้อยแค่ไหน ต่างจากรูปแบบเดิมที่ให้พนักงานเป็นคนตั้งเบิกอย่างเห็นได้ชัด เพราะวิธีเดิมทำให้องค์กรต้องมีเงินสำรอง เพราะไม่รู้ว่าค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจะมากหรือน้อยแค่ไหน อย่างไร

4. สร้างความรู้สึกเป็นเจ้าของให้กับพนักงาน (Employee Ownership) : เราพูดเสมอว่าเป้าหมายของการทำงานทุกชนิด คือการทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนมีคุณค่า, มีความหมายกับองค์กร และได้เป็นเจ้าของสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่มีความสำคัญในกระบวนการทำงาน ซึ่งการเป็นเจ้าของรถยนต์ที่บริษัทใช้นั้น จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าสิ่งที่ตนครอบครองอยู่มีความหมายมากกว่าเดิม เพราะได้เห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกับของใช้ส่วนตัวของเขามากขึ้น แม้จะด้วยเหตุผลของการเป็นเครื่องมือในการทำงานก็ตาม

พนักงานอาจรู้สึกภูมิใจเมื่อเห็นว่ารถของต้นทุนครับเลือกนึกว่ารถหกล้อดำไงคนอื่นในที่นี้ การมีรถส่วนตัวยังช่วยให้การทำงานคล่องตัวขึ้นและถือเป็นข้อได้เปรียบอย่างหนึ่งที่หลายองค์กรให้ใช้พิจารณาเมื่อรับพนักงานใหม่เขาสู่องค์กร

5. ช่วยดึงดูดพนักงานใหม่ และรักษาพลังงานเดิม (Attraction and Retention) : องค์กรที่มีนโยบายนี้จะสะท้อนให้เห็นว่าผู้บริหารมีแนวคิดที่ให้เกียรติพนักงาน ไม่เอาเปรียบ เพราะองค์กรที่ให้พนักงานใช้รถส่วนตัวมักมาพร้อมกับการขอความช่วยเหลือ หรือคำพูดประมาณว่า ‘ให้พนักงานช่วยด้วยใจ’ ไม่มีของตอบแทนนอกจากนี้

ที่สำคัญนโยบายด้านค่าตอบแทนในการใช้รถส่วนตัว ยังถือเป็นนโยบายที่ทันสมัย และเป็นการให้เกียรติพนักงาน ซึ่งหากผู้สมัครกำลังเลือกองค์กรเพื่อร่วมงานโดยดูจากสวัสดิการของเรากับบริษัทคู่แข่งแล้ว สวัสดิการนี้จะช่วยให้การตัดสินใจง่ายขึ้นแน่นอน 

ข้อเสียของ Car Allowance มีอะไรบ้าง ?

1. ทำให้เส้นแบ่งระหว่างโลกของงานกับโลกส่วนตัวพังทลายลง (Blurry Boundary) : อย่างที่กล่าวไปว่า เมื่อรถส่วนตัวถูกนำมาใช้เป็นรถขององค์กรภายใต้นโยบาย Car Allowance แล้ว รถดังกล่าวจะต้องถูกใช้เพื่อการทำงานทันที ซึ่งไม่ได้หมายถึงงานที่ทำตามตารางปกติเท่านั้น แต่ยังหมายถึงกรณีฉุกเฉินด้วย

แปลว่าหากองค์กรมีความจำเป็นต้องใช้รถ เราอาจต้องเสียเวลาส่วนตัวกับครอบครัวไปเลยเพราะต้องเอาผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง หากบริษัทหรือ HR ไม่สามารถตกลงกับบุคลากรได้ ก็จะนำไปสู่ความขุ่นข้องหมองใจ ดังนั้สให้คิดว่านโยบายนี้ต้องมาพร้อมกับความเสียสละอันใหญ่หลวงเช่นกัน

2. พนักงานมองว่าค่าใช้จ่ายไม่เพียงพอกับการทำงาน : คำอธิบายนี้ง่ายมาก เพราะแม้การวางแผนเงินชดเชยเป็นรายเดือนจะถูกพิจารณาอย่างรัดกุมในทุกแง่มุมแล้ว แต่อย่าลืว่าตัวแปรของเรื่องนี้เป็นสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้เลย ทั้งเรื่องของราคาน้ำมัน หรือเรื่องของอุบัติเหตุที่มีความผันผวนและต้องระมัดระวังอยู่ตลอดเวลา

หากเราเป็นพนักงานที่เอารถส่วนตัวมาใช้เพียงเล็ก ๆ น้อย ๆ ปัญหานี้ก็คงไม่ได้ใหญ่อะไรมาก แต่หากเราเป็นพนักงานระดับสูงหรือเป็นฝ่ายขายที่ต้องพบปะลูกค้าตลอดเวลา องค์กรต้องถามตัวเองเสมอว่าสามารถปรับสวัสดิการให้สอดรับกับความผันผวนได้ดีแล้วหรือยัง 

HR มีวิธีคิดนโยบายเรื่อง Car Allowance อย่างไร ?

การคิดค้นนโยบายเรื่องนี้ เราต้องคำนึงถึงความเหมาะสมของการทำงานภายในองค์กรเสมอ อย่างแรกเราต้องดูว่า บริษัทจำเป็นต้องใช้รถยนต์เพื่อการทำงานจริงหรือไม่ เพราะหากเราเป็นองค์กรที่อยู่กลางใจเมือง และสามารถเดินทางไปหาลูกค้าได้สะดวกผ่านระบบขนส่งสาธารณะโดยไม่ส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ เราก็สามารถรอให้มีงบประมาณด้านนี้อย่างครอบคลุมเสียก่อน แล้วค่อยตัดสินใจใช้รถยนต์ก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเร่งหารถมาเพื่อเพิ่มรายจ่ายให้องค์กร

แต่หากคุณพิจารณาดีแล้วว่ารถยนต์มีความจำเป็นต่อการทำงาน ส่งผลดีทางธุรกิจ คุณก็สามารถออกนโยบายขึ้นมาเพื่อกำกับดูแลได้เลย โดยเน้นไปที่ประเด็นเหล่านี้

1. นโยบายที่ดีต้องมีการเกริ่นนำ เพื่อให้เห็นภาพรวมอย่างละเอียด (Introduction) : HR ต้องทำให้พนักงานเห็นโครงสร้างว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง และคาดหวังอะไรกับการใช้รถยนต์ส่วนตัวของพนักงาน รวมถึงมีรูปแบบการบริหารจัดการอย่างไรในระยะยาว

ให้คิดว่าโครงสร้างของนโยบายต้องครอบคลุมถึงรายละเอียดปลีกย่อย เพราะเรากำลังเปลี่ยนทรัพย์สินของพนักงานมาเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร เราจึงต้องปกป้องสิทธิประโยชน์ของทั้งสองฝ่ายตามสมควร

2. อธิบายให้เห็นภาพว่าใครมีสิทธิ์ตรงนี้บ้าง (Eligibility) : ต้องกล่าวก่อนว่าไม่ใช่พนักงานทุกคนที่จะได้สิทธิ์ตรงนี้ องค์กรไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเลือกพนักงานทุกคนที่มีรถมารับสิทธิ์ดังกล่าว กลับกันองค์กรต้องมีคำอธิบายว่าพนักงานตำแหน่งไหนบ้างที่จำเป็นต้องใช้รถ และรถยนต์ในลักษณะไหนบ้างที่องค์กรจะนำมาพิจารณา รถแบบไหนที่ไม่เสียภาพลักษณ์ขององค์กร

เราต้องระบุให้ชัดไปเลย เช่นรถยนต์ที่จะนำมาใช้ต้องไม่เคยผ่านการชนหนักมาก่อน ไม่เคยผ่านการจมน้ำมาก่อน และต้องมีเลขไมล์ไม่สูงนัก ในที่นี้องค์กรสามารถกำหนดขอบเขตของค่าใช้จ่ายที่จะมอบให้กับรถแต่ละระดับได้ด้วย เพื่อให้พนักงานนำไปพิจารณาว่าอยากให้รถของตนเข้าร่วมกับโครงการดังกล่าวหรือเปล่า

3. การปรับเปลี่ยนสัญญาว่าจ้าง (Change of Contract) : นี่คือประเด็นที่สำคัญที่สุดขององค์กร เพราะเราไม่สามารถปล่อยให้การใช้รถของพนักงานเป็นข้อผูกมัดที่ทำให้เราไม่สามารถไล่พนักงานออกได้ ดังนั้นหากเราตัดสินใจใช้รถของพนักงานท่านใดท่านหนึ่ง เราต้องกำหนดด้วยว่าจะมีทางออกอย่างไรหากพนักงานคนดังกล่าวลาออกหรือถูกไล่ออกจากองค์กร

เราต้องระบุลงไปในสัญญาให้ชัดเจน ห้ามตกลงกันแบบปากเปล่า หรือปล่อยให้กลายเป็นช่องทางเพื่อนำมากดดัน HR ในภายหลังเด็ดขาด

4. ระบุมาตรการความปลอดภัย และการรักษาภาพลักษณ์ (Duty of Care and Safety) : องค์กรต้องระบุขอบเขตความรับผิดชอบของผู้ใช้รถลงไปอย่างละเอียด เพื่อให้เข้าใจตรงกันว่าพนักงานมีหน้าที่ดูแลรถดังกล่าวให้มีสภาพดี สะอาดเหมาะกับการใช้งาน โดยไม่คิดว่าเรากำลังใช้รถของตนเองอยู่ เนื่องจากพอองค์กรจ่ายเงินบำรุงรักษา และมีการวางนโยบายอย่างละเอียดแล้ว รถดังกล่าวก็มีสถานะเป็นเหมือนรถประจำองค์กรทันที ต้องนึกถึงเรื่องนี้ตลอดเวลา

Car Allowance vs Company Car รถส่วนตัวกับรถประจำตำแหน่งแตกต่างกันอย่างไร

เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้ ผู้อ่านคงตั้งคำถามว่าการให้พนักงานเอารถส่วนตัวมาใช้เพื่อทำงาน จะมีข้อแตกต่างกับการใช้รถประจำตำแหน่งอย่างไร ? เราขออธิบายดังนี้

การใช้รถประจำตำแหน่งจะทำให้พนักงานภูมิใจมากขึ้น (Improve Moral) เพราะปฎิเสธไม่ได้ว่าหากเราทำงานในองค์กรและได้รับรถประจำตำแหน่ง เราจะดีใจมาก เพราะถือว่าการทำงานหนักของเราได้รับผลตอบแทนเป็นสวัสดิการสุดยิ่งใหญ่ที่ไม่ใช่ทุกคนจะทำได้

อย่างไรก็ตามเราต้องยอมรับว่าไม่ใช่องค์กรทุกแห่งที่จะมีศักยภาพในการซื้อรถประจำตำแหน่ง ดังนั้นการให้ Car Allowance จึงเป็นการตอบแทนพนักงานในระดับที่ใกล้เคียงกันและมีความเป็นธรรมมากที่สุด องค์กรต้องทำให้แน่ใจว่าสวัสดิการตรงนี้จะมีค่าเทียบเท่า และทำให้พนักงานรู้สึกภูมิใจไม่ต่างจากการให้รถประจำตำแหน่งเลย

นอกจากนี้รถประจำตำแหน่งส่วนใหญ่จะมีการระบุเจ้าของว่าเป็นรถขององค์กร ต่างจาก Car Allowance ที่เป็นรถส่วนตัวในชื่อของพนักงาน ในที่นี้หากเกิดอุบัติเหตุขึ้นมาหรือมีการทำพฤติกรรมไม่เหมาะสม การใช้รถประจำตำแหน่งจะส่งผลเสียกลับมาหาองค์กรอย่างรวดเร็ว (Backfire) ทั้งนี้บริษัทสามารถพิจารณาคามความเหมาะสมได้เลย

สวัสดิการพนักงานที่ดี ต้องปรับตัวให้ทันยุค ทันเหตุการณ์

การสำรวจผู้นำในเอเชีย-แปซิฟิกประจำปี 2023 มีข้อสรุปที่น่าสนใจว่าพนักงาน 39% กลัวว่าบริษัทของตนจะไม่สามารถอยู่รอดได้ในอีก 10 ปีข้างหน้าหากไม่มีความเปลี่ยนแปลงที่ดีพอ เพราะกระแสการลาออกครั้งใหญ่ (The Great Resignation) ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง และคนถึง 44% ใช้ชีวิตด้วยความเครียดตลอดเวลา ดังนั้นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับชีวิตความเป็นอยู่ของพนักงาน และสามารถสร้างสรรค์สวัสดิการที่เหมาะสม จะเป็นองค์กรแห่งอนาคตที่มีความยั่งยืน เป็นเป้าหมายของพนักงานทั้งปัจจุบัน และคนรุ่นใหม่ที่จะก้าวเข้ามาเป็นกำลังสำคัญขององค์กรในอนาคต

สวัสดิการที่เคยได้ผลในอดีต กำลังกายเป็นสวัสดิการที่ล้าหลัง องค์กรที่ดีต้องคอยหาสวัสดิการใหม่ ๆ เพื่อสร้างความสนุกสนาน ตื่นตาตื่นใจ และทำให้พนักงานรู้สึกว่าพวกเขาสามารถใช้เวลากว่าครึ่งชีวิตในแต่ละวัน กับองค์กรที่จะช่วยให้ชีวิตของเขาก้าวไปข้างหน้าอย่างมีความสุข ไม่ใช่เป็นองค์กรที่ให้ความสำคัญกับเป้าหมายโดยหลงลืมสิ่งรอบข้าง

การใช้รถในองค์กรก็เป็นเรื่องที่บริษัทมากมายหลงลืม และนำไปสู่ความขุ่นข้องหมองใจว่าพนักงานกำลังถูกหัวหน้าเอาเปรียบ ที่สำคัญค่าน้ำมันเพียงไม่กี่บาทก็กลายเป็นสิ่งที่พนักงานไม่กล้าทวง และองค์กรก็คิดว่าเป็นเรื่องเล็ก แต่เมื่อสะสมเป็นจำนวนที่มากเข้า ความไม่พอใจก็จะยิ่งทวีคูณ เกิดเป็นวัฏจักรที่ลดทอนศักยภาพการทำงานขององค์กรไปโดยไม่รู้ตัว

HREX ย้ำเสมอว่า HR ที่ดี คือคนที่หาความรู้อยู่ตลอดเวลา ฝ่ายบุคคลต้องรู้ว่าโลกหมุนไปอยู่ตรงไหน พนักงานต้องการอะไร และตนมีจุดอ่อนอะไรบ้าง ซึ่งหากคุณไม่รู้ว่าจะหาการอบรมดี ๆ ที่ไหน เราขอแนะนำให้ใช้บริการ HR Products & Services แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการ HR ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ไม่ว่าคุณจะเห็นจุดอ่อนของตัวเองอย่างไร ที่นี่พร้อมเปลี่ยนมันเป็นจุดแข็งให้คุณในเวลาอันรวดเร็ว คลิกเลย !

บทสรุป

Car Allowance คือนโยบายที่ต้องการตอบคำถามว่า การให้สวัสดิการที่เป็นธรรมต่อพนักงานต้องทำอย่างไร ขณะเดียวกันก็เป็นการแสดงให้เห็นว่าองค์กรมีความพร้อมในการบริหารจัดการรถยนต์ประจำตำแหน่งหรือไม่ เพราะหากองค์กรไม่สามารถบริหารจัดการสวัสดิการนี้ ก็ไม่มีทางที่จะซื้อรถประจำตำแหน่งมาให้พนักงาน ซึ่งจำเป็นต้องใช้งบประมาณและการดูแลที่ครอบคลุมกว่าได้เลย

ดังนั้นหากคุณเป็นองค์กรที่ต้องการขยับขยายไปข้างหน้า และรู้สึกว่ารถยนต์เป็นเรื่องจำเป็นสำหรับการติดต่องาน  เราอยากให้เริ่มด้วยการมีนโยบายด้าน Car Allowance ที่ดีก่อน รับรองว่าหากรากฐานตรงนี้แข็งแรง องค์กรก็จะเติบโตอย่างยั่งยืนได้แน่นอน

Sources

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง