HIGHLIGHT
|
ในอดีตหากเราได้ยินคำว่า การปรับหรือลดตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion) เราคงรู้สึกว่าพนักงานคนนั้นต้องเป็นผู้ไร้ความสามารถ หรือธุรกิจขององค์กรกำลังอยู่ในจุดที่น่าเป็นห่วง แต่เมื่อสถานการณ์โควิด-19 เกิดขึ้น การลดตำแหน่งกลับเกิดขึ้นด้วยมิติที่ต่างออกไป เช่น พนักงานบางคนที่เคยทดลองทำธุรกิจเป็นของตัวเองในช่วงที่ต้องทำงานอยู่บ้าน ก็อาจมองว่าตนสามารถหารายได้จากช่องทางอื่นได้เช่นกัน จึงไม่อยากทำงานที่ออฟฟิศแบบเต็มเวลาอีกต่อไป นำไปสู่การเป็นฝ่ายขอลดตำแหน่งเพื่อลดภาระรับผิดชอบ และเปิดโอกาสให้องค์กรได้เลือกคนที่เหมาะสมเข้ามาแทน
การปรับหรือลดตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion) จึงเป็นสิ่งที่องค์กรต้องให้ความสำคัญไม่ว่าจะเกิดขึ้นในแง่บวกหรือแง่ลบ เพราะท้ายสุดแล้วสิ่งสำคัญที่สุดก็คือการให้ความสำคัญกับจิตใจของพนักงาน เราต้องรู้จักวิธีสื่อสารและเยียวยา หากมีการลดตำแหน่งหรือปลดพนักงาน ต้องไม่ทำแบบขอไปที เพราะจะเป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่แย่จนไม่สามารถกลับมาร่วมงานกันได้อีกเลยในอนาคต ขณะเดียวกัน HR ก็ต้องมีแนวทางให้ผู้ที่ถูกลดตำแหน่งรู้ว่าควรปรับปรุงแก้ไขตัวเองอย่างไร เพื่อให้สามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้อีกครั้ง โดย HR ต้องคิดเสมอว่าองค์กรที่ดีคือองค์กรที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังเด็ดขาด
เราเรียนรู้อะไรจากเรื่องการปรับหรือลดตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion) ได้บ้าง หาคำตอบไปพร้อม ๆ กันที่ HREX.asia
การปลดหรือลดตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion) คืออะไร มีความสำคัญอย่างไร ?
การลดตำแหน่ง (Demotion) หมายถึงการที่พนักงานคนใดคนหนึ่งถูกปรับลงจากตำแหน่งที่ถูกวางเอาไว้ หรือถูกปลดจากการเป็นหัวหน้า (Leader) ของงานที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งสามารถเกิดขึ้นจากสาเหตุใดก็ได้ เช่นความผิดพลาดของพนักงานที่ไม่สามารถสร้างผลงานที่มีประสิทธิภาพได้อย่างที่ตั้งใจไว้ หรือเกิดจากความเปลี่ยนแปลงภายในองค์กรที่ไม่ต้องการดำเนินแผนดังกล่าวอีกต่อไป หรือร้ายที่สุดคือการบีบให้บุคลากรคนใดคนหนึ่งลาออกโดยสมัครใจ
อย่างไรก็ตามหากมองในแง่บวกแล้ว การถูกลดตำแหน่งอาจเกิดขึ้นเพื่อรักษาบรรยากาศในภาพรวม และเปิดโอกาสให้เรากลับมาทบทวนความสามารถ เพื่อตรวจสอบตัวเองอีกครั้งว่ามีหัวข้อใดบ้างที่ต้องปรับปรุงแก้ไข องค์กรที่ดีจะอธิบายเหตุผลเหล่านี้อย่างชัดเจน และพร้อมให้โอกาสอีกครั้งเมื่อพนักงานมีทักษะที่ระบุไว้ครบถ้วน
ตามปกติแล้วการลดตำแหน่งจะทำให้มีรายได้น้อยลง แต่ก็แลกมาด้วยเวลาพักผ่อนที่มากขึ้นและความกดดันที่น้อยลง ซึ่งเหมาะมากกับคนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต รวมถึงคนที่มีความจำเป็นบางอย่าง จนไม่สามารถรับผิดชอบกับตำแหน่งเดิมได้อย่างเต็มที่อีกต่อไป
Skynova ได้วิจัยกับองค์กรกว่า 1,000 แห่ง และพบว่ามีพนักงานถึง 18% ที่ถูกลดตำแหน่ง โดยแบ่งเป็นผู้นำระดับสูง (Senior Management) 38% ผู้นำระดับกลาง (Middle Management) 20% และผู้บริหาร (Executive) 28% ซึ่งถือเป็นอัตราที่สูงอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้ยังมีพนักงานถึง 3% ที่ถูกลดเงินเดือน แต่ต้องทำงานมากกว่าเดิม เพื่อชดเชยในส่วนของพนักงานที่ลาออกหรือถูกไล่ออกไป จึงไม่แปลกหากโลกการทำงานในปัจจุบันจะเต็มไปด้วยความเครียด ที่สามารถพัฒนาไปสู่ปัญหาที่ใหญ่ขึ้นหากไม่ถูกบริหารจัดการโดยเร็ว
สาเหตุของการปลดหรือลดตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion)
การปลดหรือลดตำแหน่งพนักงานเป็นเหมือนขั้วตรงข้ามของการเลื่อนตำแหน่ง ซึ่งมักเกิดขึ้นตอนที่องค์กรมีผลประกอบการดี หรือมีแผนขยายกิจการในอนาคต และมองเห็นว่าพนักงานคนดังกล่าวมีทักษะเหมาะสมคู่ควร สามารถพัฒนาไปเป็นผู้นำที่ดีได้ ในทางกลับกันหากผลประกอบการขององค์กรติดลบ หรือมีความจำเป็นต้องปรับโครงสร้างองค์กร การปรับลดตำแหน่งพนักงานก็เป็นเรื่องที่มักถูกนำมาพูดถึงควบคู่กันไปเสมอ
กล่าวได้ว่าการปลดหรือลดตำแหน่งพนักงานแต่ละครั้งมีรายละเอียดที่เราต้องให้ความสำคัญ อยู่มากมาย เราต้องบริหารจัดการอย่างมีสติ และทำความเข้าใจโดยไม่ใช้อารมณ์นำเด็ดขาด
สาเหตุของการปลดหรือรถตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion) มีดังนี้
1. พนักงานทำผลงานได้แย่
หากหัวหน้างานมองว่าพนักงานไม่สามารถทำผลงานได้อย่างที่ตั้งเป้าเอาไว้ ก็สามารถพิจารณาเรื่องการลดตำแหน่งหรือปรับให้ไปทำงานในส่วนอื่นแทนได้เลย โดยเฉพาะพนักงานที่มีตำแหน่งสูงและเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจในประเด็นสำคัญต่าง ๆ เพื่อไม่ให้ปัญหากระจายตัวไปในวงกว้างจนควบคุมไม่ได้
ในที่นี้นอกจากจะชี้แจงว่าพนักงานมีจุดอ่อนในการทำงานอย่างไร HR ก็ต้องสอบถามถึงปัญหาระหว่างการทำงานเพื่อความเป็นธรรมด้วย แต่หากพนักงานรู้สึกว่าตนไม่อยากอยู่ในตำแหน่งอีกต่อไป HR ก็สามารถปรับรถตำแหน่งหรือเคลื่อนย้ายตามสมควรได้เลย
2. พนักงานมีปัญหาขัดแย้งกับนโยบายของบริษัท
หากพนักงานทำผิดกฎของบริษัทอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเข้างานไม่ตรงเวลา หรือแต่งกายไม่เหมาะสมชนิดที่ HR เตือนกี่ครั้งก็ไม่ได้รับการแก้ไข องค์กรก็สามารถพิจารณาเรื่องการปรับลดตำแหน่งได้เลย เพราะหากเรามีพนักงานในตำแหน่งหัวหน้าแต่ไม่ใส่ใจเรื่องการแต่งกาย หรือไม่มีมารยาทการพูดจาในที่สาธารณะ ก็เป็นข้อพิสูจน์เบื้องต้นว่าบุคคลดังกล่าวไม่เหมาะกับการเป็นผู้นำอีกต่อไป
3. การลดงบประมาณ
องค์กรทุกแห่งมีโอกาสเจอกับการปรับงบทางการเงินทั้งสิ้น ซึ่งถือเป็นสาเหตุที่ทำทำให้ต้องปรับลดค่าใช้จ่ายของพนักงานบางคน เพื่อดำรงสถานะทางการเงินให้คงอยู่ต่อไป ทั้งนี้อาจเป็นการปรับลดตำแหน่งเพียงชั่วคราวจนกว่าองค์กรจะวางแผนงานใหม่เสร็จสิ้นก็ได้
4. HR เห็นว่าพนักงานมีทักษะไม่เพียงพอ
หาก HR พบว่าพนักงานไม่สามารถปรับตัวเข้ากับตำแหน่ง หรือมีทักษะไม่เพียงพอต่อการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัย HR ก็สามารถพูดคุยเพื่อเสนอทางเลือกให้พัฒนาตัวเอง หรือลดตำแหน่งได้เลย การอธิบายให้พนักงานเข้าใจว่าตนฝีมือไม่ถึงเป็นเรื่องยาก แต่ก็จำเป็นต้องทำโดยอาศัยกลยุทธ์การสื่อสารที่ดี
5. พนักงานอยากลดหน้าที่ตัวเอง
การลดตำแหน่งสามารถเกิดจากความยินยอมของของตัวพนักงานเองเช่นกัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องผิด หรือเป็นตัวตัดสินว่าพนักงานใจไม่สู้ ไม่เหมาะกับการเลื่อนตำแหน่งในอนาคตแต่อย่างใด ทางที่ดีคือหาก HR มีคำถามที่ค้างคาใจ ก็ควรพูดคุยกับพนักงานโดยตรงเพื่อหาสาเหตุร่วมกัน
HR มีวิธีปลดหรือลดตำแหน่งพนักงาน (Job Demotion) อย่างไร ?
การปรับหรือลดตำแหน่งพนักงานนั้นเป็นเรื่องละเอียดอ่อน แม้จะเกิดขึ้นจากความผิดพลาดของพนักงานเองก็ตาม HR จึงต้องรู้จักวิธีสื่อสารเพื่อแจ้งข่าวร้าย โดยไม่ทำร้ายความรู้สึกของผู้ฟัง เพราะสิ่งสำคัญของการปรับหรือลดตำแหน่งพนักงานก็คือการหาคนที่เหมาะสมเข้ามาโดยที่ยังรักษาพนักงานเดิมเอาไว้กับองค์กร HR จึงต้องทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนมีคุณค่าอยู่ แม้จะไม่สามารถอยู่ในตำแหน่งเดิมได้ก็ตาม
HR สามารถปลดหรือลดตำแหน่งพนักงานได้ด้วยวิธีเหล่านี้
1. แจ้งข่าวอย่างมืออาชีพ
การแจ้งข่าวเรื่องการปรับลดตำแหน่งพนักงานต้องทำอย่างมืออาชีพ ต้องรู้จักเลือกใช้ภาษาที่สร้างสรรค์และชี้แจงด้วยเหตุผล ห้ามใส่อารมณ์เด็ดขาด ที่สำคัญผู้แจ้งต้องเปิดโอกาสให้พนักงานสอบถามในประเด็นที่สงสัย เพราะการถูกปรับลดตำแหน่งส่งผลต่อการดำเนินชีวิตของพนักงานโดยตรง ในที่นี้ ต้องทำทุกอย่างด้วยความโปร่งใส (Transparent) เพื่อให้ทุกอย่างตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเข้าใจ ไม่ทำลายบรรยากาศในภาพรวม
2. ชี้แจงสาเหตุและวิธีแก้ไขเสมอ
พนักงานจำเป็นต้องรู้ว่าตนมีข้อผิดพลาดตรงไหน เพราะมีความเป็นไปได้เช่นกันที่พนักงานไม่สามารถทำตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะไม่รู้จริงๆว่าควรทำอย่างไร การปรับลดตำแหน่งลงมาจึงเป็นกลยุทธ์เพื่อช่วยให้พนักงานได้กลับมาทบทวนตัวเองอีกครั้ง เพื่อดูว่าปัญหาคืออะไร และจะพัฒนาแก้ไขให้เหมาะสมกับตำแหน่งหน้าที่ได้มากแค่ไหน ซึ่ง HR สามารถพูดอย่างตรงไปตรงมาเพื่อให้แก้ปัญหาอย่างถูกจุดได้เลย
3. เน้นย้ำว่าเราให้ความสำคัญกับการรักษาพนักงาน จึงเลือกปรับลดตำแหน่งมากกว่ายกเลิกสัญญา
นี่คือเรื่องละเอียดอ่อนมาก เพราะทุกคนย่อมกังวลเรื่องความมั่นคงในหน้าที่การงาน ดังนั้นการยืนยันว่าความเปลี่ยนแปลงทุกอย่างที่เกิดขึ้นเต็มไปด้วยความหวังดี และจะช่วยให้มีฝีมือดีขึ้นได้จริง ๆ ไม่ได้ทำเพื่อทิ้งขว้างหรือเพื่อไล่ออกในอนาคตแต่อย่างใด วิธีนี้จะช่วยสร้างความเข้าใจในสถานการณ์ที่ยากลำบาก ดีกว่าปล่อยให้ผู้ที่ถูกปรับลดตำแหน่งคิดมากไปเอง
4. ให้รายละเอียดของตำแหน่งใหม่อย่างชัดเจน
HR หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงานต้องไม่คิดว่าคนที่อยู่ในตำแหน่งใหญ่มาก่อนแต่ถูกลดภาระหน้าที่ลงมา จะต้องทำงานนั้นได้อย่างคล่องแคล่วทันที เพราะโลกธุรกิจเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็วตลอดเวลา สิ่งที่เคยทำได้ผลในอดีต ก็อาจไม่ได้ผลในปัจจุบัน ดังนั้นองค์กรมีหน้าที่ชี้แจงให้เห็นว่าความคาดหวังของตำแหน่งงานดังกล่าวเป็นอย่างไร มีเป้าหมายในระยะสั้นและยาวแบบไหน เพื่อให้พนักงานสามารถโฟกัสอย่างถูกจุด ซึ่งการประเมินผลต่าง ๆ หลังจากนั้นก็ต้องคำนึงถึงเรื่องนี้ด้วยเช่นกัน
พนักงานควรทำอย่างไรหากถูกปลดหรือลดตำแหน่ง (Job Demotion)
การถูกปลดหรือลดตำแหน่งจะทำให้เรารู้สึกแย่ในหลายแง่มุม ทั้งเรื่องของเงินเดือนที่หายไป และศักดิ์ศรีที่ถูกข้ามหน้าข้ามตา นอกจากนี้เราอาจต้องเสียใจที่คนเข้ามาแทนกลายเป็นเด็กหนุ่มที่เราเคยสอนมากับมือ หรือต้องเห็นว่าลูกค้าเลือกเด็กรุ่นใหม่เข้ามาทำหน้าที่แทนโดยไม่บอกเหตุผล ดังนั้นหากคุณกำลังสับสน และไม่รู้ว่าจะรับมือกับความเปลี่ยนแปลงอันใหญ่หลวงได้อย่างไร HREX.asia มีคำตอบมาให้คุณ ดังนี้
1. รับมือกับการปรับหรือลดตำแหน่ง (Job Demotion) อย่างสุภาพและถ่อมตน
คนที่ถูกปรับหรือลดตำแหน่งมักอยู่ในอาการตื่นตระหนก และกังวลถึงเสถียรภาพในการทำงานของตนเอง เพราะถือเป็นการยืนยันว่าตำแหน่งของเราสามารถถูกทดแทนได้โดยง่าย และองค์กรสามารถดำเนินต่อไปได้โดยไม่มีเรา
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ต้องเข้าใจก็คือคนที่ขึ้นมาแทนอาจมีความสามารถมากกว่าเราจริง ๆ จึงไม่ควรอิจฉาตาร้อน แต่ควรมาพิจารณาดูว่าสิ่งที่ตนเองขาดคืออะไร เป็นอย่างที่คนอื่นพูดหรือไม่ ซึ่งพอถึงจุดนี้แล้ว เราต้องวางอีโก้ทุกอย่างลง ต้องทำตัวเป็นผู้ฟังที่ดี ไม่ว่าความจริงที่ออกมาจากปากหัวหน้าจะเจ็บปวดแค่ไหนก็ตาม เพราะสิ่งนั้นคือมุมมองที่เราต้องแก้ไขให้ได้ หากต้องการกลับไปอยู่ในจุดที่เคยอยู่อีกครั้ง
ความถ่อมตัวของเราจะทำให้ผู้อื่นมองว่าเรายังคงถูกสอนได้ (Teachable) ซึ่งถือเป็นทักษะสำคัญของคนที่จะอยู่กับองค์กรในระยะยาว
2. รับมือกับการปรับหรือลดตำแหน่ง (Job Demotion) ด้วยการควบคุมอารมณ์ให้ได้
ความรู้สึกอยากพิสูจน์ตัวเอง มักเกิดขึ้นในสมองของคนที่ถูกปรับหรือลดตำแหน่ง แต่สิ่งที่ต้องคิดก็คือเราไม่ได้มีสิทธิ์ในการแสดงความเห็น หรือดำเนินงานต่าง ๆ เท่าเดิมแล้ว การพยายามพิสูจน์ตัวเองของเราจึงมีแต่จะทำให้บรรยากาศย่ำแย่ แถมยังแสดงถึงความเอาแต่ใจ ไม่น่าเชื่อถือ ซึ่งหากเราเผลอแสดงความฉุนเฉียวออกไปแล้ว โอกาสที่เราจะได้กลับไปอยู่ในจุดเดิมก็ยิ่งเป็นเรื่องยากขึ้น
Forbes เสนอว่าแทนที่เราจะไปโฟกัสกับความโกรธที่สูญเสียตำแหน่ง หรือรู้สึกอายที่ถูกมองข้าม เราควรแสดงให้คนอื่นเห็นไปเลยว่าเราพร้อมกลับมาพัฒนาตัวเองอีกครั้ง แสดงให้คนอื่นเห็นไปเลยว่าเรากลายเป็นคนใหม่ ไม่จำเป็นต้องฝืนทำอะไรที่ไม่ชอบ และหากทนไม่ไหวจริง ๆ ก็ต้องหาอะไรทำเพื่อเบี่ยงเบนความสนใจ และไม่ลืมหาสิ่งกระตุ้นเพื่อโน้มน้าวใจให้เราอยากทำงานอย่างเต็มที่ ให้คิดเสมอว่าการมีสติคือรากฐานของความสำเร็จจริง ๆ
3. รับมือกับการปรับหรือลดตำแหน่ง (Job Demotion) ด้วยการเป็นผู้ชมที่ดี และสังเกตว่าคนที่เข้าไปแทนเราเป็นอย่างไร
ลองเปรียบการทำงานให้เหมือนกับการเล่นกีฬา มุมมองของคนที่อยู่ในสนามจะเน้นไปที่การแข่งขันตรงหน้าเท่านั้น แต่คนที่ดูอยู่ข้างสนามหรือผ่านจอโทรทัศน์จะเห็นในภาพรวมว่าแต่ละคนเคลื่อนไหวอย่างไร คู่ต่อสู้ใช้กลยุทธ์แบบไหน หรือทีมของเราเองมีจุดอ่อนอย่างไร
การถูกปลดหรือ ลดตำแหน่งก็เช่นกัน นี่คือโอกาสที่จะทำให้เราได้ถอยออกมามองภาพรวมของงานมากขึ้น ซึ่งอาจช่วยให้เราเข้าใจว่าปัญหาของตนคืออะไร และทำไมองค์กรถึงตัดสินใจลดตำแหน่ง ความเข้าใจตรงส่วนนี้จะช่วยวางรากฐานและปรับมุมมองให้เรา ในกรณีที่ได้รับเลือกกลับไปทำตำแหน่งเดิมในอนาคต
4. รับมือกับการปรับหรือลดตำแหน่ง (Job Demotion) ด้วยการทำทุกอย่างให้เป็นปกติที่สุด
เชื่อหรือไม่ว่าพฤติกรรมของเราหลังจากถูกปรับลดตำแหน่ง จะเป็นส่วนสำคัญที่บอกว่าอนาคตในการทำงานของเราจะออกมาในรูปแบบไหน เหตุนี้คนที่ไม่อยากให้เรากลับไปอยู่ในตำแหน่งเดิม จะคอยหาโอกาสหยิบยกเอาพฤติกรรมของเราไปขยายความต่อ เพื่อลดทอนความเชื่อมั่นจากคนรอบข้างไปให้มากที่สุด
วิธีการป้องกันตัวที่ดีที่สุด คือการทำให้ทุกอย่างดำเนินไปอย่างปกติ ต้องพยายามเข้าใจให้ได้ว่าเราอยู่ในตำแหน่งไหน มีอำนาจหรือมีสิทธิ์มากน้อยแค่ไหน จากนั้นให้ยึดตัวเองอยู่กับจุดนั้นอย่างแน่วแน่ ไม่ก้าวก่ายคนอื่น และคอยให้ความช่วยเหลือคนรอบข้างเท่าที่จะทำได้
หากเรายังคงสร้างบรรยากาศในเชิงบวกได้ ก็จะทำให้เรากลายเป็นที่รักของคนรอบข้าง เรียกว่ายิ่งเราเป็นมืออาชีพมาเท่าไหร่ ก็จะไม่มีใครก้าวล่วงเราได้มากเท่านั้น
5. รับมือกับการปรับหรือลดตำแหน่ง (Job Demotion) ด้วยการหางานใหม่
แม้จะฟังแล้วดูน่าเสียดาย แต่ก็ต้องยอมรับว่าการ ปรับลดตำแหน่งไม่ได้เกิดขึ้นด้วยความเป็นธรรมเสมอไป ทั้งด้วยเรื่องเด็กเส้น คำสั่งจากลูกค้า หรืออะไรก็ได้ที่จะขัดขวางให้เราไม่สามารถกลับไปสู่จุดเดิมได้อีก แม้จะพยายามมากแค่ไหนก็ตาม ดังนั้นแทนที่เราจะพยายามพิสูจน์ตัวเองกับคนที่ไม่ได้เห็นคุณค่า เราก็ควรมองหาลู่ทางสำหรับการย้ายไปเติบโตในองค์กรใหม่ เพราะอย่าลืมว่าการทำงานถือเป็นเวลาส่วนใหญ่ของชีวิต การทำงานที่เต็มไปด้วยความเครียดมีแต่จะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพจิต ซึ่งส่งผลกระทบทั้งกับ ตนเองและคนรอบข้าง
และหากคุณมีอายุพอสมควรแล้ว ก็ควรใช้เวลาว่างที่เกิดจากการถูกปรับลดตำแหน่งไปหากิจกรรมอื่นทำดูบ้าง เพื่อเป็นการเปิดโลก ปรับมุมมอง และถือเป็นการวางแผนสำหรับการเกษียณอายุงานไปในตัว
นอกจากกลยุทธ์ 5 ข้อในข้างต้นนั้น สิ่งสำคัญที่ลืมไปไม่ได้เด็ดขาดก็คือความอดทน เราต้องเลิกความคิดแบบ What If ? หรือ “ถ้าหากตอนนั้น…” เพราะนอกจากจะทำให้เรารู้สึกผิดกับตัวเองแล้ว ยังทำให้ความอดทนของเราต่ำลง เราคิดไปเองว่ารู้วิธีแก้ปัญหาแล้ว โดยไม่ได้พิสูจน์เลยว่าสิ่งที่เราคิดนั้นถูกต้องหรือไม่ การดันทุรังของเราจึงมีแต่จะสร้างความวุ่นวายตามมา
ดังนั้นอะไรที่เกิดขึ้นแล้วก็ต้องปล่อยให้เป็นไปตามความจริง ขอแค่เราพยายามหาด้านบวกของสิ่งที่ต้องเจอื รับรองว่าจะช่วยให้เรามีกำลังใจพอในการสู้ต่อบนโลกแห่งการทำงานแน่นอน
หาการอบรมที่ใช่และเหมาะกับองค์กรได้ที่ HR Products & Services
โลกเปลี่ยนแปลงไปอย่างก้าวกระโดด ไม่มีทางที่พนักงานจะเรียนรู้ทั้งหมดได้ด้วยตนเอง ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของ HR ที่ต้องช่วยจัดสรรข้อมูล และหาความรู้ว่าพนักงานควรให้เวลากับการอบรมในเรื่องใดที่สุด เพื่อให้มีความพร้อมต่อการทำงาน และช่วยพัฒนาตัวเองให้กลายเป็นคนที่มีศักยภาพมากขึ้น โดยใช้ทรัพยากรเวลาและค่าใช้จ่ายอย่างคุ้มค่าที่สุด
การอบรมจึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้อีกต่อไป ผู้นำต้องรู้จักเครื่องมือสื่อสาร (Communication Tools) ที่คนรุ่นใหม่ใช้ ต้องรู้จักสอนพนักงานให้เข้าใจความเปลี่ยนแปลงของโลกดิจิทัล (Digital Transformation) และต้องรู้จักทำ Roadmap ให้พนักงานเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง
HR ต้องไม่หยุดหาข้อมูลใหม่ ๆ เด็ดขาด และหากคุณไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลที่ทันสมัยได้จากที่ไหน เราขอแนะนำบริการ HR Products & Services จาก HREX.asia แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ไว้มากที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าคุณกำลังมองหาอะไร ที่นี่คือคำตอบ !
บทสรุป
ประเด็นเรื่องการลดตำแหน่งพนักงานในปัจจุบัน เป็นอีกข้อสังเกตหนึ่งว่าโลกการทำงานได้เปลี่ยนไปแล้ว จากเดิมที่ HR ต้องลำบากใจกับการหาเหตุผลเพื่อบอกว่าทำไมพนักงานควรออกจากตำแหน่ง ก็อาจกลายเป็นฝ่าย HR เองที่ต้องหาเหตุผลมาอธิบายว่าทำไมพนักงานจึงควรอยู่ในตำแหน่งต่อไป ซึ่งกระแส The Great Resignation คือรากฐานสำคัญของปัญหานี้
ความเปลี่ยนแปลงของสังคมที่เกิดขึ้น ทำให้เราต้องยอมรับว่าไม่ใช่แค่พนักงานทั่วไปเท่านั้นที่จำเป็นต้องปรับตัวเองเพื่อเอาตัวรอด แต่เป็นทุกแง่มุม ทุกคนทุกฝ่ายของบริษัท ที่จำเป็นต้องเติบโตควบคู่สอดคล้องกันไป
HR ที่ปรับตัวไม่ทันจะไม่สามารถรักษาพนักงานที่มีฝีมือให้อยู่กับองค์กรต่อไปได้ ที่สำคัญ HR ที่ไม่มีฝีมือ จะไม่มีทางทำให้พนักงานเข้าใจเลยว่าการปรับลดตำแหน่งเกิดขึ้นเพราะความหวังดี ไม่ได้เกิดขึ้นเพราะความโกรธ ความผิดหวัง หรือความอยากให้พนักงานหายไปจากองค์กรแต่อย่างใด
ดังนั้นก่อนที่จะปรับหรือลดตำแหน่งพนักงาน อย่าลืมตั้งคำถามว่า HR ของบริษัทมีความสามารถในการบริหารจัดการดีพอแล้วหรือยัง ?