Search
Close this search box.

ออฟฟิศนี้ไม่มีโจร ! HR ควรรับมือกับปัญหาขโมยในที่ทำงานอย่างไร ?

HIGHLIGHT

  • ปัญหาเรื่องขโมยในออฟฟิศถูกพูดถึงมากขึ้นในปัจจุบัน โดยมีสาเหตุหลักจากสภาพเศรษฐกิจที่เสื่อมถอยลง หลังการระบาดของโรคโควิด-19
  • สถิติระบุว่าองค์กรทั่วโลกต้องเสียเงินให้กับการขโมยในที่ทำงานรวมกันกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และพนักงานทุก ๆ 75 คนจะมี 1 คนที่เคยขโมยทรัพย์สินของบริษัทหรือเพื่อนร่วมงานมาแล้ว
  • การขโมยในที่ทำงานไม่ได้มีเพียงเรื่องของทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังรวมถึงการโจรกรรมข้อมูลหรือความลับองค์กร ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่กว่าการขโมยสิ่งของด้วยซ้ำ
  • การสอบสวนพนักงานที่ต้องสงสัย ต้องทำอย่างให้เกียรติ เพราะหากเราตัดสินใจโดยปราศจากหลักฐาน และผลออกมาว่าพนักงานไม่ได้ทำผิด ก็จะกระทบต่อความเชื่อมั่นทั้งของพนักงานและเพื่อนร่วมทีมโดยตรง
  • ก่อนที่จะมองว่าพนักงานมีปัญหา องค์กรสามารถเริ่มปรับปรุงที่ตัวเองก่อน โดยการตรวจสอบว่าสวัสดิการที่องค์กรมอบให้มีความเหมาะสมดีแล้วหรือไม่ เพราะหากพนักงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดี ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่จะต้องเสี่ยงขโมยของซึ่งถือเป็นอาชญากรรม

รู้ทันคนอื่นด้วยการอ่านภาษากาย และการใช้ Nonverbal Communication

เคยคิดไหมว่าอะไรที่ทำให้พนักงานออฟฟิศทั่วไปต้องกลายเป็นขโมย ? คำตอบของเรื่องนี้อาจไม่ใช่เรื่องของจริยธรรมเพียงอย่างเดียว แต่อาจเป็นภาพสะท้อนที่แสดงให้เห็นว่าองค์กรของเรากำลังมีปัญหา

เราอาจดูแลพวกเขาได้ไม่ดีพอ ให้สวัสดิการไม่ตรงกับสถานการณ์โลก หรือไม่ ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับศีลธรรมมากพอ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็แล้วแต่ พฤติกรรมนี้ถือเป็นอาชญากรรมที่ต้องรีบจัดการและปล่อยผ่านไม่ได้อยู่ดี

ในบทความนี้ HREX.asia จะอธิบายให้เข้าใจว่าคุณควรทำอย่างไร หากพบว่าสิ่งของในที่ทำงานหายอยู่บ่อยครั้ง หรือเกิดข้อสงสัยว่าพนักงานของคุณกำลังกลายเป็นหัวขโมย !

ทำไมเราถึงต้องให้ความสำคัญกับการจับโจรในที่ทำงาน

ขโมยในที่ทำงาน ? ฟังแล้วอาจดูเป็นเรื่องไกลตัว แต่รู้ไหมว่าจริง ๆ แล้วนี่คือปัญหาสำคัญที่องค์กรทั่วโลกกำลังหาทางแก้ไข เพราะประเด็นนี้มีองค์ประกอบหลายส่วนที่เกี่ยวข้อง ทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพเศรษฐกิจหลังเกิดโควิด-19 อ ตลอดจนการตั้งคำถามกับสวัสดิการขององค์กร ว่าสามารถตอบสนองความต้องการของบุคลากรได้ดีพอแล้วหรือไม่ ? หาก HR ไม่สามารถตอบคำถามข้อนี้ได้อย่างชัดเจน ก็จะทำให้เกิดปัญหาในการบริหารคน ซึ่งการขโมยในออฟฟิศก็เป็นอีกผลลัพธ์หนึ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานในบริษัทของเราไม่ได้กินดีอยู่ดีจนต้องหันมาขโมยสิ่งของเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อลดค่าใช้จ่าย ทำให้เราก็ต้องเสียทั้งภาพลักษณ์และทรัพยากรโดยไม่จำเป็น

จากสถิติพบว่าการขโมยของในออฟฟิศเกิดขึ้นเป็นประจำ โดยแต่ละปีธุรกิจต้องเสียเงินให้กับการขโมยไม่ว่าจะแง่มุมไหนก็ตามสูงถึง 5 หมื่นล้านดอลลาร์ แถมในพนักงานทุก ๆ 75 คน จะต้องมี 1 คนที่เคยขโมยของในออฟฟิศมาแล้ว ดังนั้นจะเป็นอย่างไรหากวันหนึ่งคอมพิวเตอร์ของคุณถูกขโมย, ความลับบริษัทถูกนำไปขายต่อให้บริษัทคู่แข่ง ฯลฯ การปล่อยผ่านเรื่องนี้จึงส่งผลเสียมากกว่าที่คิด

ยังไม่รวมถึงสถานการณ์ด้านการพนันออนไลน์ที่เข้ามามีบทบาทและได้รับความนิยมอย่างสูงในปัจจุบัน หลังจากที่มนุษย์ต้องใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่บนโลกออนไลน์ในช่วง Work From Home  การใช้อุปกรณ์ไอทีของบริษัทเพื่อเข้าไปใช้บริการแพลตฟอร์มการพนัน ถือเป็นอีกสาเหตุที่ทำให้มิจฉาชีพเข้าถึงข้อมูลขององค์กรง่ายขึ้น จนเปรียบได้ว่าออฟฟิศทุกแห่งในโลกกำลังมีโจรรายล้อม และจ้องจะเล่นคุณอยู่

ประเภทของขโมยในที่ทำงาน

โจรในที่ทำงานไม่ได้มีเพียงเรื่องเล็ก ๆ อย่างการขโมยปากกา หรือของในตู้เย็นเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้วโจรสามารถขโมยสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า ซึ่งอาจเป็นความลับของบริษัท และส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อความมั่นคง รวมถึงกระทบต่อศักยภาพในการแข่งขันทางธุรกิจ

ประเด็นนี้ทำให้ฝ่ายบุคคลต้องหาทางรับมือและแก้ไขให้เร็วที่สุด ก่อนที่จะบานปลาย จนไม่สามารถทำอะไรได้อีกต่อไป โดยเราได้แบ่งประเภทของการขโมยในออฟฟิศออกมาดังนี้

1. การขโมยผลิตภัณฑ์ (Inventory)

การขโมยประเภทนี้ หมายถึงการขโมยผลิตภัณฑ์ขององค์กร หรือแม้แต่ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวัน จำพวกปากกา, ที่เย็บกระดาษ หรือแม้แต่ของใช้ส่วนตัวอย่างทิชชูในห้องน้ำ  ไม่ว่าจะต้องการนำสิ่งของเหล่านี้ไปใช้เอง ใช้กับครอบครัวหรือนำไปขายก็ตาม 

ประเด็นนี้อาจเกิดจากความไม่ตั้งใจก็ได้ เช่น พนักงานรู้สึกว่าของในออฟฟิศเล็ก ๆ น้อย ๆ สามารถหยิบใช้ได้อย่างไม่จำกัด จึงนำกลับไปใช้ที่บ้านเพื่อหวังลดค่าใช้จ่ายของตนเอง หากเป็นในลักษณะนี้ แปลว่าองค์กรให้การอบรมเรื่องจริยธรรมและทักษะเคารพส่วนรวมแก่พนักงานไม่เพียงพอ หรืออีกกรณีหนึ่งคือองค์กรไม่สามารถให้ค่าจ้างที่เหมาะสมกับความต้องการของพนักงาน จนทำให้พนักงานต้องขโมยข้าวของเพื่อความอยู่รอด

จุดที่น่ากังวลที่สุดก็คือสินค้าบางตัวอาจเป็นเพียงสินค้าตัวอย่าง ซึ่งจำเป็นต้องปิดเป็นความลับ หรือยังไม่สามารถใช้งานอย่างสมบูรณ์ การหยิบไปโดยไม่บอกกล่าวนอกจากจะทำให้บริษัทต้องสูญเสียทรัพยากรโดยไม่จำเป็นแล้ว ยังอาจนำไปสู่อันตรายได้อีกด้วย

2. การขโมยบริการ (Services)

ปกติแล้วออฟฟิศจะมีสวัสดิการที่เหมาะสมให้กับพนักงาน ซึ่งสวัสดิการบางส่วนอาจเป็นสิทธิ์ที่เปิดโอกาสให้พนักงานสามารถใช้บริการของบริษัทได้ฟรีในจำนวนจำกัด อย่างไรก็ตามอาจมีประเด็นที่พนักงานสังเกตว่าระบบบันทึกข้อมูลขององค์กรมีข้อผิดพลาด และตั้ง ใจใช้ประโยชน์จากจุดนั้นเพื่อให้ตัวเองสามารถใช้บริการได้มากยิ่งขึ้น เกินกว่าสิทธิ์ที่ควรจะได้รับ กรณีนี้จะทำให้องค์กรต้องเสียงบประมาณ แถมยังทำให้พนักงานบางส่วนต้องปฏิบัติหน้าทีเกินความจำเป็นเพื่อตอบสนองการใช้สิทธิ์ที่เกินจากแผนที่วางไว้

3. การขโมยข้อมูล (Data)

การขโมยประเภทนี้คือสิ่งที่ส่งผลเสียต่อการทำงานมาก และสามารถมีมูลค่าความเสียหายสูงเป็นประวัติการณ์ แถมยังทำให้ความเชื่อมั่นของคู่ค้าและทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลดลง

ประเภทของการโจรกรรมข้อมูลประกอบด้วย

  • ขโมยสิ่งที่เป็นความลับทางธุรกิจ (Trade Secret) เช่น สูตรน้ำจิ้มสุกี้เจ้าดัง, ส่วนผสมเครื่องดื่มน้ำดำระดับโลก หรือสูตรทอดไก่ในตำนาน เป็นต้น ข้อมูลเหง่านี้หากหลุดออกไป อาจทำให้เกิดการลอกเลียนแบบทางธุรกิจ จนทำให้คู่แข่งแข็งแรงขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัว
  • ขโมยข้อมูลส่วนตัว (Personal Data) คงไม่มีใครชอบเมื่อต้องรับสายโทรศัพท์จากคนที่ไม่รู้จักเพื่อเสนอขายบริการ ปัญหาของเรื่องนี้คือมีการนำข้อมูลส่วนตัวของลูกค้าไปขาย หรือถูกขโมยไปโดยปราศจากความยินยอม

วิธีแก้ปัญหานี้คือการนำระบบป้องกันข้อมูล (Data Security) มาใช้ หรือเพิ่มมาตรการตรวจสอบและรักษาความปลอดภัยตามสมควร โดยคำนึงถึงความสบายใจของทุกฝ่ายเป็นหลัก ไม่ใช้สนแต่ผลประโยชน์ขององค์กรเพียงอย่างเดียว

4. การขโมยเงิน (Money)

การขโมยในส่วนนี้เกิดขึ้นได้มากในกลุ่มธุรกิจที่ต้องเกี่ยวข้องกับเม็ดเงินโดยตรง เช่น ธุรกิจค้าขายสินค้า หรือคนที่ทำหน้าทีเกี่ยวข้องกับบัญชี โดยสามารถยกตัวอย่างได้ดังนี้

  • การขโมยเงินในสัดส่วนที่ใหญ่ เช่น จากตู้เซฟ จากห้องเก็บของ หรือจากตู้แคชเชียร์
  • การขโมยเงินด้วยการกินส่วนต่าง เช่น การคิดเงินลูกค้าแพงขึ้น และเก็บเงินทอนเอาไว้กับตัว
  • การรับเงินแต่ไม่ลงข้อมูลเอาไว้ในระบบ และเอาเงินส่วนนั้นไปเป็นของตัวเอง

วิธีนี้สามารถแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยการแจ้งบทลงโทษให้ชัดเจน ทั้งในแง่กฎขององค์กร และกฎหมายในสังคม อย่างน้อยก็เพื่อตอกย้ำให้เห็นว่าพฤติกรรมดังกล่าวเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง และองค์กร “เอาจริง”

5. การขโมยเวลา (Time)

หากฟังดูในเบื้องต้น อาจรู้สึกว่าเป็นเรื่องนามธรรม แต่หากเรามองในสายตาของธุรกิจแล้ว เวลาทุกวินาทีมีความหมาย แปลเปลี่ยนเป็นทั้งเงินและผลประโยชน์ที่องค์กรควรจะได้รับ การขโมยเวลาสามารถอธิบายได้สองประเภทคือ

  • การจงใจ กดเวลาเข้างานในระบบออนไลน์แบบหลอก ๆ ให้ HR เห็นว่าตนทำงานเกินเวลาเพื่อรับเงินโอที ทั้งที่ความจริงไม่ได้ทำงานนานขนาดนั้น
  • การใช้เวลาพักกลางวันนานเกินไป เพื่อให้เวลาผ่านไปโดยเปล่าประโยชน์ แต่รับเงินเท่ากับคนที่ทำงานหนักเพื่อองค์กร

จากที่ฟังมาทั้งหมดจะเห็นว่าปัญหาส่วนใหญ่เกิดจากการที่องค์กรมีระบบไม่แข็งแรงพอ เมื่อควบคู่กับพนักงานที่จริยธรรมน้อยแล้ว ก็กลายเป็นโอกาสสำคัญที่ทำให้คนใช้ประโยชน์จากจุดนี้ ดังนั้นก่อนที่จะโฟกัสในส่วนของพนักงาน องค์กรสามารถพิจารณาถึงวิธีแก้ไขในงานบริหารได้เลย รับรองว่าจะช่วยให้สถานการณ์ขโมยในออฟฟิศดีขึ้นแน่นอน

HR ควรทำอย่างไรเมื่อสงสัยว่ามีขโมยในที่ทำงาน ?

เมื่อเราเจอพนักงานที่ต้องสงสัยว่าขโมยสิ่งของในที่ทำงาน เราไม่สามารถเข้าไปสอบถามโดยปราศจากศิลปะในการพูด เพราะจะทำให้สูญเสียความเชื่อมั่นและสร้างบรรยากาศในแง่ลบ หากผลสรุปในตอนสุดท้ายปรากฏว่าเขาไม่ได้เป็นผู้ทุจริตอย่างที่ถูกตั้งแง่ในตอนต้น

ดังนั้นเพื่อให้สถานการณ์ทุกอย่างเป็นไปในแง่บวก และสามารถค้นหาผู้ร้ายที่แท้จริงได้ เราขอแนะนำให้ใช้กลยุทธ์เหล่านี้

หาหลักฐานให้ได้มากที่สุด

ไม่ว่าคุณจะต้องการให้เรื่องถึงตำรวจหรือไม่ แต่การหาหลักฐานให้ได้มากที่สุดจะทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย HR สามารถทำแบบสอบถามออนไลน์แบบไม่ระบุตัวตน เพื่อให้พนักงานสามารถแสดงความเห็นและชี้แจงประเด็นได้อย่างเป็นความลับ ไม่ต้องกลัวว่าข้อมูลที่ให้จะส่งผลกระทบกับการใช้ชีวิตในภายหลัง

 การหาหลักฐานยังเป็นการแสดงความเป็นธรรมต่อผู้ที่ถูกตั้งข้อสงสัย เพราะอย่าลืมว่าทุกคนถือเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะมีหลักฐานที่มัดตัว และได้รับการตัดสินอย่างเป็นทางการ ในที่นี้ให้หลีกเลี่ยงการกล่าวโทษ โดยปราศจากหลักฐานในทุกกรณี

การสอบสวนพนักงานต้องคำนึงถึงประเด็นดังต่อไปนี้

  • พนักงานที่ถูกสงสัยจะต้องได้รับการเชิญอย่างให้เกียรติ สุภาพ ไม่ใช้อารมณ์
  • พนักงานที่ถูกสงสัยจะต้องได้รับการแจ้งล่วงหน้าอย่างน้อย 24 ชั่วโมงก่อนการสอบสวน
  • พนักงานที่ถูกสงสัยสามารถพาผู้ที่เกี่ยวข้องมาร่วมการสอบสวนได้  หากคิดว่าจะสร้างความเป็นธรรมกับเจ้าตัวได้มากขึ้น

HR สามารถพักงานพนักงานได้ตามสมควร

นี่คือคำถามที่หลายคนสงสัย ว่าหากมีพนักงานต้องสงสัยว่าเป็นโจรหรือขโมยของในออฟฟิศ เราสามารถสั่งพักงานได้หรือไม่ ? ในที่นี้ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าเราควรพิจารณาเป็นกรณี เช่น หากการต้องสงสัยทำให้เกิดบรรยากาศในแง่ลบแ ละเป็นที่ไม่ไว้วางใจของเพื่อนร่วมงาน ส่งผลกระทบต่อประสิทธิภาพของธุรกิจในภาพรวม การสั่งพักงานจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า

กลับกันถ้าเพื่อนร่วมงานหรือคนในทีมรู้สึกว่าข้อสงสัยนี้เป็นเรื่องผิดพลาด และต้องการให้กำลังใจ การปล่อยให้ทำงานตามปกติขณะที่มีการสอบสวนก็ถือเป็นเรื่องที่ทำได้เช่นกัน  ทั้งนี้ไม่ว่าผลจะเป็นอย่างไร องค์กรต้องจ่ายเงินเดือนตามปกติ และทำให้แน่ใจว่าพนักงานยังคงได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมในฐานะลูกจ้างของบริษัทต่อไป จนกว่ากระบวนการจะเสร็จสิ้น

HR ต้องเป็นมืออาชีพ ไม่ใช้อารมณ์ตัดสินใจเด็ดขาด

Isaac Chan ผู้เชี่ยวชาญด้านการบริหารงานบุคคลกล่าวว่า เมื่อผลการสอบสวนออกมาว่าพนักงานที่ต้องสงสัยมีความผิดจริง HR ต้องรีบมองข้ามเรื่องความโกรธแค้นไปก่อน และให้ความสำคัญกับการนำทรัพย์สินของบริษัทกลับคืนมา ในที่นี้ให้พูดคุยอย่างเป็นมืออาชีพ สอบถามว่าทรัพย์สินดังกล่าวอยู่ที่ใด และหากไม่สามารถนำมาคืนได้ เช่น กรณีที่ได้ใช้เงินซึ่งขโมยมาทั้งหมดแล้ว พนักงานจะสามารถนำเงินจำนวนเท่ากันมาคืนได้เมื่อใด ? ซึ่งหากพนักงานไม่สามารถนำมาคืน เราสามารถดำเนินการทางกฎหมายตามสิทธิ์ได้เลย โดยคิดเสมอว่าองค์กรที่เป็นผู้เสียเปรียบไม่ควรอยู่ในสถานะของผู้ร้ายเด็ดขาด ต้องพูดคุยโดยมีจริยธรรมของฝ่ายบุคคลเป็นที่ตั้ง ให้คิดถึงภาพลักษณ์ขององค์กรในระยะยาว

HR สามารถป้องกันขโมยและในที่ทำงานได้อย่างไร

คงไม่มีวิธีการใดที่สามารถจัดการปัญหาขโมยในออฟฟิศได้อย่างเด็ดขาดสมบูรณ์แบบ  แต่ก็คงดีกว่าหากเราแสดงให้พนักงานคนอื่นเห็นว่าองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่อง ความปลอดภัยของพนักงานเป็นพิเศษ เพราะถือเป็นสิทธิ์ที่ทุกคนควรได้รับ ในฐานะที่ต้องอยู่ในออฟฟิศมากกว่าครึ่งหนึ่งของชีวิต

HR สามารถรับมือกับปัญหาขโมยในออฟฟิศด้วยกลยุทธ์เหล่านี้

1. คัดเลือกพนักงานด้วยความระมัดระวัง มีข้อมูลรอบด้าน (Hire Carefully)

HR ต้องตรวจสอบพื้นเพของพนักงานให้ละเอียด ว่าเป็นคนที่มีประวัติอาชญากรรมหรือไม่  อย่าเชื่อเพียงแค่เรซูเม่ห รือภาพแสดงที่เกิดขึ้นในวันสัมภาษณ์งานเด็ดขาด ในที่นี้แม้จะเคยมีประวัติอาชญากรรมมาก่อน แต่หากองค์กร เห็นว่ามีทักษะที่จำเป็นกับแผนงาน ก็สามารถว่าจ้างได้โดยมีมาตรการดูแลอย่างเหมาะสมไ ม่อคติและทำให้พนักงานรู้สึกว่าตนมีปมติดตัวแม้จะไม่ได้ทำการทุจริตอะไรเลยก็ตาม

2. ให้สวัสดิการที่ดีกว่าเดิม

การที่พนักงานต้องขโมยอาจมีสาเหตุมาจากองค์กรของเราดูแลเขาได้ไม่ดีพอ เช่นมีเงินเดือนไม่สอดคล้องกับสภาวะเงินเฟ้อ, มีสวัสดิการไม่ครอบคลุมการใช้ชีวิตนอกที่ทำงานโดยเฉพาะในปัจจุบันที่องค์กรทั่วโลกไม่ได้จำกัดสวัสดิการอยู่แค่พนักงานเท่านั้นแต่ยังหมายรวมไปถึงความเป็นอยู่ของครอบครัวอีกด้วยดังนั้นหากเราอยู่ปรับปรุงตรงส่วนนี้ก็อาจทำให้พนักงานมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นไม่จำเป็นต้องมาหยิบสิ่งของภายในออฟฟิศกลับไปที่บ้านเพราะบางคนอาจหยิบไปด้วยความจำเป็นไม่ได้ตั้งใจจะขโมยด้วยซ้ำ

Feedback

3. ยกระดับมาตรการความปลอดภัยและ ประสิทธิภาพการทำงาน

ต้องยอมรับว่าปัญหาหลักอย่างหนึ่งที่ทำให้การขโมยเกิดขึ้น ก็คือผู้ขโมยพบว่ากระบวนการทำงานขององค์กรมีช่องโหว่ และเปิดโอกาสให้ขโมยได้โดยไม่ถูกตรวจสอบ  ดังนั้นเราควรให้ความสำคัญกับการเป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น  ต้องจัดอบรมพนักงานให้เข้าใจว่าความละหลวมของตนส่งผลเสียต่อองค์กรอย่างไร  ขณะที่องค์กรเองก็ต้องยกระดับเทคโนโลยีด้านความปลอดภัย ตลอดจนอุปกรณ์พื้นฐานให้ครอบคลุมจุดเสี่ยง เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับพนักงาน ตลอดจนวางรากฐานที่ดีให้กับองค์กรในระยะยาว เมื่อทำแบนี้ ทุกคนก็สามารถโฟกัสกับหน้าที่ของตนได้โดยปราศจากความกังวล

4. ตั้งกฎและมีบทลงโทษที่ชัดเจน

องค์กรบางแห่งอาจคิดว่าการตั้งกฎแบบยิบย่อยจะทำให้องค์กรดูไม่มืออาชีพ ดูคิดมากเกินกว่าเหตุ เหมือนจับผิดพนักงานอยู่ตลอดเวลา แต่ความจริงหากองค์กรของคุณมีความเสี่ยงต่อการขโมย หรือเกิดเหตุการณ์ในลักษณะนี้เข้าแล้ว การทำให้พนักงานทุกคนเห็นว่าองค์กรมีกฎอย่างไรและมีบทลงโทษที่รุนแรงขึ้นแค่ไหน จะเป็นการข่มขู่ขโมยไปในตัว  เราอาจใช้วิธีจัดประชุมทาวน์ฮอลล์ขนาดใหญ่, การติดบอร์ด, การส่งอีเมล หรือช่องทางสื่อสารแบบไหนก็ได้ ให้เข้าถึงบุคลากรในองค์กรมากที่สุด ไม่ให้ใครสามารถพูดได้ว่าเขาไม่รู้กดข้อบังคับเหล่านี้ขององค์กร อย่าคิดว่ารายละเอียดบางอย่างเป็นเรื่องที่พนักงานต้องรู้อยู่แกใจ เพราะสามารถถูกนำมาอ้างได้ทันที

ในที่นี้หากสังเกตพบว่าวัสดุอุปกรณ์สำหรับงานชิ้นใดหายบ่อยเป็นพิเศษ องค์กรอาจใช้วิธีแจกสิ่งของเหล่านั้นให้เป็นรูปธรรมเลยก็ได้ แล้วค่อยสังเกตดูว่าอัตราการขโมยลดน้อยลงหรือไม่

HR ต้องชี้ให้เห็นว่าการขโมยไม่ใช่ปัญหาภายในองค์กรเท่านั้น แต่เป็นอาชญากรรมที่ผิดกฎหมายของประเทศเช่นกัน

5.จัดอบรมจริยธรรมในองค์กร

วิธีนี้อาจดูอุดมคติไปเสียหน่อย แต่เป็นวิธีที่ได้ผลจริง โดยเฉพาะในองค์กรขนาดใหญ่ที่มีลำดับขั้นของพนักงานหลากหลาย ลองนึกดูว่าการขโมยบางอย่างอาจเกิดจากความไม่รู้จริง ๆ ว่าเป็นสิ่งที่ทำไม่ได้ หรือไม่รู้สึกว่าการขโมยของเพียงเล็กน้อยจะทำให้องค์กรประสบปัญหาได้อย่างไร ?

การจัดอบรมในเรื่องนี้ คือการเพิ่มความรู้ให้คนเห็นว่าการอยู่ร่วมกันจำเป็นต้องมีทักษะใดบ้าง และหลีกเลี่ยงพฤติกรรมแบบใดบ้าง เพราะการขโมยเพียงเล็กน้อยคือจุดเริ่มต้นของความทุจริตจนนำไปสู่การขโมยในสิ่งที่ยิ่งใหญ่กว่า การตัดไฟแต่ต้นลมจึงสำคัญ และสามารถทำได้โดยการจัดอบรมอย่างจริงใจ  พร้อมประเมินผลว่าพนักงานมีความเข้าใจดีแล้วหรือไม่

กลยุทธ์นี้จะทำให้องค์กรได้รับฟังความคิดเห็นของพนักงานกลับมา และสามารถนำไปประยุกต์กลายเป็นนโยบายหรือสวัสดิการใหม่ ๆ ให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุขกว่าเดิม

ยกระดับการสัมมนาเพิ่มทักษะพนักงาน เปลี่ยนทุกคนให้เป็นมืออาชีพยิ่งขึ้น

การเกิดขโมยในที่ทำงานมีสาเหตุจากหลายปัจจัย  ไม่ใช่แค่ปัญหาของพนักงานเพียงอย่างเดียว ทุกคนในองค์กรต้องเรียนรู้ร่วมกัน เพราะหากทุกฝ่ายมีความใกล้ชิดสนิทสนม มีความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ความรู้สึกผิดเมื่อต้องทำร้ายกันจะเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

หมายความว่านอกจากการอบรมเรื่องจริยธรรมพนักงานแล้ว เรายังต้องอบรมเรื่องวิธีการสื่อสาร (Communication Tools), ภาวะผู้นำ ตลอดจนแนวทางการออกนโยบายและยกเลิกบางอย่าง เช่น ระบบการรับของขวัญในองค์กร ซึ่งถูกมองเป็นต้นตอหนึ่งที่ทำให้เกิดปัญหาทุจริตในองค์กร เป็นต้น เหตุนี้การเลือกหัวข้ออบรมให้เหมาะสม จึงเป็นแนวทางที่สามารถแก้ปัญหานี้ได้ ซึ่งหากคุณไม่รู้ว่าจะหาข้อมูลที่ไหนเราขอแนะนำบริการ HR Products & Services จาก HREX.asia แพลตฟอร์มที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการ HR ไว้มากที่สุดในเมืองไทย

บทสรุป

การขโมยในออฟฟิศไม่ใช่เรื่องดี เพราะหากปัญหานี้แพร่กระจายออกไป คงเป็นเรื่องยากที่ลูกค้าจะกล้าฝากข้อมูลส่วนตัวเอาไว้  หรือทำให้ลูกค้าเชื่อใจเมื่อต้องแชร์ความลับทางธุรกิจกับเรา นี่คือประเด็นที่ทุกองค์กรต้องให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความผันผวนทางเศรษฐกิจและสภาพสังคมสูงกว่าที่เคย 

สิ่งสำคัญที่สุดคือการนึกถึงใจเขาใจเรา ไม่ทำในสิ่งที่เราไม่อยากได้รับจากอีกฝ่าย และหมั่นสื่อสารกันภายในทีมอยู่เรื่อย ๆ เพราะหากคุณต้องการเป็นองค์กรที่เติบโตอย่างแข็งแรง นี่คือหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ต้องจัดการให้ได้ หากไม่ต้องการมีปมที่คอยฉุดรั้งพัฒนาการตลอดไป ซึ่งบอกเลยว่าไม่ยากอย่างที่คิด

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง