Search
Close this search box.

MEETING OVERLOAD ประชุมมากไป หมดไฟได้เหมือนกัน !

HIGHLIGHT

  • การประชุมไม่ใช่คำตอบของการทำงานเสมอไปเพราะมีผลวิจัยระบุว่าผู้บริหารถึง 83% มองว่าการประชุมส่วนใหญ่ไม่มีประโยชน์
  • อัตราการประชุมที่เหมาะสมควรอยู่ที่ไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์หรือราว 20% ของเวลาทำงานทั้งหมด
  • อย่างไรก็ตามเวลาประชุมที่เหมาะสมขึ้นอยู่กับธุรกิจแต่ละประเภท พนักงานสามารถสังเกตได้โดยดูว่าจำนวนประชุมที่มีทำให้รู้สึกเหนื่อยล้าหรือลดทอนประสิทธิภาพการทำงานหรือไม่
  • สาเหตุหนึ่งของการจัดประชุมมากเกินไปคือความไม่มั่นใจตัวเองและกลัวว่าจะไม่เป็นส่วนหนึ่งของทีม เกิดขึ้นมากในกลุ่มผู้นำรุ่นใหม่และกลุ่มที่ได้รับตำแหน่งขณะที่คนส่วนใหญ่ทำงานจากที่บ้าน ไม่ได้อยู่ใกล้ชิดกันเหมือนเคย
  • ท้ายสุดแล้วการประชุมจำเป็นต้องใช้ทักษะของการสื่อสาร หากองค์กรให้ความสำคัญกับเรื่องนี้พนักงานก็จะสรุปเนื้อหาต่าง ๆ ง่ายขึ้น ใกล้ชิดกันมากขึ้น ไม่จำเป็นต้องจัดประชุมใหญ่เพียงเพื่อบังคับให้ทุกคนมารวมตัวโดยไม่เกิดประโยชน์อีกต่อไป

MEETING OVERLOAD ประชุมมากไป หมดไฟได้เหมือนกัน !

แม้การประชุม (Meeting) จะเป็นรากฐานของความสำเร็จ แต่รู้ไหมว่าการประชุมที่มากเกินไปมีแต่จะนำมาซึ่งผลเสียต่อองค์กร เพราะจะทำให้พนักงานไม่มีเวลาเหลือไปให้ความสำคัญกับงานที่ตนรับผิดชอบ สนใจเพียงแค่การเข้าประชุมแล้วทำตามสิ่งที่ได้รับมอบหมายไปวัน ๆ ไม่สร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ซึ่งถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้องค์กรเติบโตยิ่งขึ้น การประชุมแบบไหนถึงเรียกว่ามากเกินไป มีข้อควรระวังแบบไหนบ้างที่องค์กรต้องนำไปใช้หากไม่ต้องการให้การประชุมกลายเป็นการใช้เวลาโดยสูญเปล่า

การประชุมมากเกินไป หรือ Meeting Overload คือปัญหาที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งในโลกธุรกิจยุคปัจจุบันหลังโควิด-19 สาเหตุและวิธีรับมือของเรื่องนี้คืออะไร หาคำตอบไปพร้อมกับเราได้เลย

Contents

การประชุมมากเกินไป (Meeting Overload) คืออะไร

การบริหารความขัดแย้ง Conflict Management

การประชุมมากเกินไปคือการประชุมที่จับใจความไม่ได้ ใช้เวลานานเกินไป หรือมีความถี่มากจนทำให้พนักงานไม่สามารถโฟกัสกับการทำงานด้านอื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ ส่งผลเสียต่อสภาพร่างกายและการจัดสมดุลชีวิต ทั้งนี้มีผลวิจัยจากปี ค.ศ. 2017 ระบุว่าจากการสำรวจผู้บริหารจำนวน 182 คน มีถึง 83% ที่มองว่าการประชุมของตนไม่มีประโยชน์ เสียเวลาเปล่า

เพราะแทนที่จะได้เอาเวลาไปทำงานที่ตนรับผิดชอบ กลับต้องมานั่งฟังเรื่องที่ตนไม่เกี่ยวข้องหรือไม่มีสิทธิ์ออกความเห็นแม้แต่นิดเดียว ดังนั้นการบริหารจัดการเรื่องประชุม ถือเป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้องค์กรเติบโตได้อย่างแข็งแรง

ปัญหาจากการประชุมที่มากเกินไปเด่นชัดขึ้นอีกในยุคที่ทุกคนทำงานแบบไฮบริดจากที่บ้าน (Work From Home) เพราะทุกคนสามารถเข้าร่วมประชุมได้ด้วยปลายนิ้ว จนหลาย ๆ องค์กรเลือกจัดประชุมทันทีที่มีโอกาสเพื่อเชื่อมความสัมพันธ์ หรือแอบคิดไปเองว่าการประชุมออนไลน์มีขั้นตอนง่ายกว่าการประชุมทั่วไปจึงไม่น่ากระทบกับงานมากนัก ซึ่งถือเป็นความคิดที่ผิด

ที่สำคัญการประชุมออนไลน์ที่มากเกินจะทำให้พนักงานเริ่มทำงานแบบ Multi Tasking หมายถึงการหยิบงานที่ตนรับผิดชอบออกมาทำขณะที่ประชุมอยู่ด้วย วิธีนี้แม้จะช่วยให้งานเสร็จทัน แต่หากพนักงานมีทักษะไม่มากพอ ก็จะเป็นการทำงานแบบ “ขอไปที” แค่ให้เสร็จทันเวลา ไม่ทำให้เกิดผลงานที่มีประสิทธิภาพได้เลย

ผลกระทบของการประชุมมากเกินไป (Meeting Overload)

การทำงานที่บ้านเป็นเรื่องที่หลายองค์กรยังปรับตัวไม่ทัน  ซ้ำร้ายที่ผู้บริหารบางคนมีความกลัวว่าพนักงานจะเอาเวลาไปทำอย่างอื่นนอกเหนือจากการทำงานให้องค์กร จึงเลือกใช้การประชุมออนไลน์เป็นช่องทางหนึ่งสำหรับเช็คชื่อแบบเนียน ๆ โดยมีผลวิจัยที่ระบุว่าการประชุมในช่วงที่โควิดระบาดนั้นทำให้พนักงานต้องทำงานหนักขึ้นถึง 30% เนื่องจากต้องเอาเวลาส่วนตัวบางส่วนไปทำงานให้เสร็จตามกำหนด ไม่มีเวลาไปสังสรรค์,​ สร้างความสัมพันธ์ (Networking), หรือสื่อสารกับเพื่อนร่วมงาน (Communication) จนประสิทธิภาพการทำงานลดลงถึง 20% เลยทีเดียว

การประชุมที่มากเกินไปมีข้อเสียดังนี้

การประชุมมากเกินไป (Meeting Overload) ทำให้เกิดผลกระทบด้านการเงิน

ลองคิดดูว่าเมื่อเราจ่ายเงินจ้างพนักงานมาสักคนหนึ่ง สิ่งที่เราคาดหวังก็คือพนักงานคนนั้นจะเอาทักษะที่มีมาตอบแทนความเชื่อใจขององค์กรอย่างคุ้มค่าทุกบาททุกสตางค์ ขณะที่องค์กรก็จะมอบสวัสดิการที่เหมาะสมกับความสามารถเช่นกัน อย่างไรก็ตามถ้าพนักงานดังกล่าวต้องมาประชุมครั้งแล้วครั้งเล่า ก็เป็นดั่งการปิดโอกาสในการทำงาน องค์กรก็ต้องจ่ายเงินเดือนโดยไม่มีผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมกลับมา 

มีผลวิจัยที่ระบุว่าองค์กรขนาดใหญ่เสียเงินรวมกันกว่า 100 ล้านดอลลาร์เพราะปัญหาจากการประชุมที่ไม่มีประสิทธิภาพ  คิดเป็นเม็ดเงินที่สูญเปล่าราว 25,000 ดอลลาร์ต่อพนักงาน 1 คน และมากขึ้นเรื่อย ๆ ตามความสำคัญของตำแหน่งงาน

การประชุมมากเกินไป (Meeting Overload) ทำให้พนักงานไม่มีความสุข

มีผลวิจัยจาก Otter.ai ที่บอกว่าการประชุมส่วนใหญ่นั้นมีคนประมาณ 31% ที่อยากตอบปฏิเสธแต่ไม่กล้า เพราะการประชุมที่มากเกินไปนั้นมีแต่จะทำให้เกิดความผิดพลาด, ขุ่นข้องหมองใจ แถมไม่ได้ผลลัพธ์ที่สมเหตุสมผล ไม่สามารถนำผลการประชุมไปต่อยอดให้เกิดประโยชน์ได้จริง โดยผลวิจัยเดียวกันยังระบุว่ามีพนักงานถึง 45% ที่แค่เข้าร่วมประชุมเฉย ๆ แต่เลือกปิดกล้อง, ปิดไมค์ หรือแม้แต่ปิดเสียงแล้วหันไปทำงานอย่างอื่นแทน 

ผลวิจัยยังเผยว่าการทำงานอย่างต่อเนื่องโดยไม่ถูกขัดจังหวะจะช่วยให้งานเสร็จเร็วขึ้นถึง 86% ดังนั้นลองกลับมาถามตัวเองดูสิว่าการประชุมในองค์กรถูกจัดสรรค์เวลาอย่างเหมาะสมแล้วหรือยัง

วิธีสังเกตว่าออฟฟิศของคุณประชุมเยอะเกินไป (Meeting Overload) ไหม

การประชุมมากเกินไปอาจสังเกตได้ยากเพราะพนักงานบางส่วนอาจมีไฟในการทำงานจนรู้สึกไม่เหนื่อยอย่างที่คิด  แต่ถ้าคุณเคยมีอาการเหล่านี้ก็แปลว่าคุณเคยมีอาการหมดไฟ (Burnout) เพราะการประชุมที่มากเกินไปเรียบร้อยแล้ว 

คุณมีอารมณ์ฉุนเฉียวง่ายเป็นพิเศษ

ความหงุดหงิดเป็นผลข้างเคียงที่ชัดเจนที่สุดเมื่อคุณมีความเครียดหรือหมดความอดทน ซึ่งความรู้สึกเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าคุณกำลังถืองานอยู่ในมือมากเกินไป วิธีสังเกตว่าเรามีความเครียดอยู่หรือไม่ คือการรอจนถึงจังหวะที่เราอยู่คนเดียว ไม่ได้พูดคุยกับใคร แล้วสำรวจดูว่าความเครียดจากงานหายไปหรือไม่ หากความรู้สึกแย่ยังคงอยู่ก็แปลว่าเราควรงดเนื้องานบางอย่างลงไป หรือจัดสรรเวลาให้ดีขึ้น อนึ่งปัญหาเหล่านี้ควรได้รับการรักษาโดยเร็วก่อนที่จะพัฒนากลายเป็นปัญหาสุขภาพจิตในภายหลัง

คุณโฟกัสกับงานไม่ได้

ในวัยทำงานมนุษย์ทุกคนมีศักยภาพในการโฟกัสกับหน้าที่ที่ตนรับผิดชอบหรือสิ่งที่ตนสนใจอยู่แล้ว ดังนั้นถ้าคุณไม่สามารถโฟกัสกับงานที่เคยทำได้อย่างเต็มที่ ก็แปลว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับการทำงานของคุณ เช่น เมื่อเราต้องให้ความสำคัญกับการเขียนหนังสือให้เสร็จ แต่ใจกลับไปคิดว่ามีประชุมเหลืออีกกี่ครั้งในสัปดาห์นี้และว้าวุ่นกับการเตรียมตัวประชุมจนไม่สามารถใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สิ่งนี้จะทำให้รู้สึกว่าการประชุมที่เป็นเรื่องของคนอื่นสำคัญกว่างานที่ต้องทำตามหน้าที่ของตน

คุณพยายามปัดความรับผิดชอบ

ถ้าคุณเคยเป็นคนที่ทำงานเก่งแต่เริ่มรู้สึกว่าอยากตัดงานบางอย่างเพราะกลัวว่าจะมีการประชุมมากขึ้น ก็แปลว่ามีปัญหาบางอย่างเกิดขึ้นกับคุณแล้วล่ะ ! 

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: หัวหน้านัดประชุมวันหยุด สามารถปฏิเสธได้ไหม ?

หัวหน้านัชอบดประชุมโดยไม่บอกล่วงหน้า และเป็นวันหยุดซึ่งมีธุระอื่น ๆ อยู่แล้ว เราสามารถปฏิเสธหรือไม่ไปโดยไม่บอกล่วงหน้าได้หรือไม่ ?

A: ตามปกติแล้ว การจัดประชุมควรนัดหมายล่วงหน้า

แต่หากเป็นเรื่องเร่งด่วนซึ่งมีความจำเป็นต่องานต่อบริษัท หัวหน้าอาจเรียกประชุมได้ ถ้าติดธุระสำคัญจริง ๆ ก็ควรชี้แจงตามความเป็นจริง และองค์กรต้องพิจารณาถึงค่าจ้างสำหรับทำงานล่วงเวลาด้วยเช่นกัน

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

การประชุมมากเกินไป (Meeting Overload) เกิดจากอะไร

HR Trends 2022 สำรวจ 9 เทรนด์ทรัพยากรบุคคลที่จะเปลี่ยนไปในปี 2565

การวิจัยจาก Ascend เผยว่ากลุ่มผู้นำรุ่นใหม่มีอัตราการเรียกประชุมสูงกว่าผู้นำที่มีประสบการณ์ถึง 29% และยิ่งเพิ่มมากขึ้นเมื่อคนหันไปประชุมออนไลน์ที่สั่งการได้เพียงปลายนิ้ว ซึ่งผู้เชี่ยวชาญระบุสาเหตุได้ดังนี้

  • ขาดทักษะในการมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานโดยเฉพาะกลุ่มผู้นำที่ได้ดำรงตำแหน่งระหว่างที่เกิดโรคระบาดและไม่สามารถเจอหน้าพนักงานได้แบบตัวต่อตัว ความรู้สึกไม่เชื่อมต่อกันนี้ทำให้รู้สึกระแวงจนอยากจัดประชุมให้รู้จักกันมากกว่าเดิม โดยมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและทำให้รู้สึกมีตัวตนในทีม (FOMO – Fear of Missing Out)
  • ผู้นำหลายคนรู้สึกว่าการประชุมออนไลน์สะดวกมาก สามารถสลับจากการประชุมหนึ่งไปที่อีกการประชุมหนึ่งได้อย่างรวดเร็ว จึงสามารถจัดประชุมต่อเนื่องกันแบบไม่หยุดพักได้ แถมยังมีความสบายมากกว่าการประชุมแบบเห็นหน้าที่จำเป็นต้องรักษาบุคลิกตลอดเวลา ประเด็นนี้ทำให้พนักงานเกิดสภาวะ Zoom Fatigue ที่ทำให้เกลียดการประชุมออนไลน์ไปเลย สรุปได้ว่าการประชุมมากเกินไปไม่ส่งผลดีทั้งกับทีมและตัวพนักงาน 
  • ความเห็นแก่ตัวโดยเอาความสบายของหัวหน้าเป็นที่ตั้ง (Selfish Urgency) หมายถึงการที่ผู้นำบางคนรู้สึกดีเมื่อเห็นพนักงานต้องละทิ้งภารกิจส่วนตนเพื่อทำตามสิ่งที่ตนตั้งเป้าเอาไว้ หัวหน้าที่มีทัศนคติผิดพลาดจะสั่งให้มีการประชุมโดยไม่สนเลยว่าตารางงานของพนักงานเป็นอย่างไร หรืออาจสน แต่ก็มองว่าภารกิจของตนสำคัญกว่าโดยมักเอาความเร่งด่วนเป็นข้ออ้าง วิธีการแก้เรื่องนี้คือการพูดถึงค่าเสียโอกาส (Opportunity Cost) ที่ผู้เกี่ยวข้องควรชี้ให้เห็นว่าการจัดประชุมและใช้ทรัพยากรคนโดยไม่จำเป็นทำให้องค์กรเสียผลประโยชน์อย่างไร เพราะหากทุกคนมาทำงานเพื่อผลประกอบการของบริษัทเป็นหลัก ก็ไม่มีเหตุผลใดที่จะต้องต่อต้าน หรือไม่พยายามหาทางเลือกที่ช่วยให้ทุกคนสะดวกสบายกว่าเดิม

การประชุมที่มากเกินไปอาจเกิดจากการไม่รู้จักวางแผนจนไม่มีใครจำได้ว่าประเด็นที่อีกฝ่ายต้องการนำเสนอคืออะไร จึงต้องจัดประชุมใหม่เพื่ออธิบายอยู่เรื่อย ๆ  ดังนั้นหากกล่าวโดยสรุปแล้ว พื้นฐานของการทำงานที่ดีคือการ “เป็นมืออาชีพ” ให้มากที่สุดนั่นเอง

HR จะแก้อย่างไรถ้าออฟฟิศของคุณประชุมมากเกินไป (Meeting Overload)

คำว่าประชุมมากเกินไปไม่สามารถระบุชัดเจนเป็นจำนวนชั่วโมงได้ เพราะธุรกิจแต่ละประเภทจำเป็นต้องมีเวลาทำงานที่แตกต่างกันไป แต่หากมองในภาพรวมแล้ว ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการประชุมควรจำกัดที่ไม่เกิน 20% ต่อเวลาทำงาน หรือราว 8 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ ดังนั้นถ้าองค์กรของคุณใช้เวลาประชุมมากไปกว่านั้น ควรแก้ไขด้วยแนวทางเหล่านี้

ระบุให้ได้ว่าการประชุมแบบไหนที่ไร้ประโยชน์

จุดอ่อนของการประชุมในหลายองค์กรคือการกำหนดให้พนักงานเข้าร่วมมากเกินจำเป็นโดยที่พนักงานบางส่วนไม่เกี่ยวข้องกับเนื้อหาที่ประชุมด้วยซ้ำ ดังนั้นหากเราสามารถระบุได้ว่าการประชุมใดเหมาะกับพนักงานแบบไหนก็จะเปิดโอกาสให้พนักงานที่เหลือเอาเวลาไปโฟกัสกับงานที่ตนรับผิดชอบได้ดียิ่งขึ้น

การระบุว่าการประชุมเหมาะกับพนักงานแบบไหนจำเป็นต้องรู้ก่อนว่าพนักงานแต่ละคนถืองานแบบใดอยู่ในมือบ้าง  องค์กรที่แบ่งงานไม่ชัดเจนจะทำให้พนักงานหนึ่งคนทำงานหลายอย่าง แยกพนักงานออกจากกันยากขึ้น เพราะแต่ละคนล้วนมีส่วนเกี่ยวข้องนิด ๆ หน่อย ๆ ทำให้การตัดใครคนหนึ่งออกไปส่งผลกระทบต่องานในภาพรวม ความเข้าใจเรื่องนี้จึงเป็นการแก้ปัญหาในเชิงโครงสร้างให้องค์กรมีรากฐานที่มั่นคงแข็งแรงขึ้นในลำดับต่อไป

สื่อสารกับทีมให้มากขึ้น

พี่เลี้ยง (Mentor) HR

เมื่อรู้สึกว่าการทำงานติดขัดเพราะมีประชุมมากเกินไป สิ่งสำคัญคือต้องสื่อสารกับทีมให้รับทราบถึงปัญหานี้ เพราะปัญหาที่ไม่ถูกแก้ไขหรือสื่อสารให้ทราบจะกลายเป็นเรื่องปกติธรรมดา นำไปสู่ความเคยชินที่แก้ไขได้ยากขึ้นในภายหลัง ทั้งนี้การอธิบายกับทีมจำเป็นต้องอธิบายในหลักของเหตุผล พร้อมนำเสนอแนวทางแก้ไขที่คิดว่าเหมาะสมกับการทำงานที่สุด เพราะการประชุมยังคงเป็นขั้นตอนที่สำคัญต่อองค์กร หากตัดการประชุมทีมไปก็จะไม่เกิดการระดมสมอง (Brainstorming) ส่งผลเสียต่อการทำงานเช่นเดียวกัน

ในส่วนนี้ฝ่ายบุคคลควรให้ค่ากับวัฒนธรรมด้านการสื่อสาร (Communication Culture) พนักงานต้องรู้สึกว่าสามารถพูดคุยกับคนในทีมได้ทั้งในเรื่องบวกและลบ รวมถึงให้ความเห็นถ้าคิดว่าแนวทางที่องค์กรตั้งไว้ไม่ถูกต้อง องค์กรที่ไม่สามารถสื่อสารกันได้จะไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงที ซึ่งวัฒนธรรมนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้เราเอาชนะในโลกธุรกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งกว่าเดิม

ชี้แจงวันว่างของพนักงานแต่ละคนให้ชัดเจน

สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการประชุมมากเกินควรคือการที่ผู้ออกคำสั่งไม่รู้ว่าพนักงานมีวิธีทำงาน (Framework) อย่างไร ดังนั้นฝ่ายบุคคลสามารถออกนโยบาย ให้พนักงานกำหนดวันทำงานของตัวเองลงไปในปฏิทินออนไลน์ได้เลย โดยวันทำงานเหล่านี้สามารถอ้างอิงตามรูปแบบที่พนักงานมองว่าจะช่วยให้ทำงานที่รับผิดชอบได้ดีที่สุด จากนั้นให้ฝ่ายบุคคลระบุว่าในหนึ่งสัปดาห์จำเป็นต้องมีการประชุมกี่ครั้ง แล้วหาเวลาตรงกลางที่ทุกคนสามารถเตรียมตัวและเข้าร่วมโดยพร้อมเพรียงกัน

การประชุมไม่ใช่คำตอบของทุกอย่าง

9 สิ่งที่ HR ไม่ควรทำ เมื่อต้องเลิกจ้างพนักงานหรือไล่ออก

องค์กรต้องเข้าใจว่าการคุยงานไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นในห้องประชุมเท่านั้น เราควรหันกลับมาพิจารณาอย่างจริงจังว่าการสรุปงานบางอย่างสามารถใช้วิธีส่งอีเมล์แทนได้หรือไม่ เป็นต้น เพราะหากมองในแง่ปฏิบัติแล้ว ก็ถือเป็นขั้นตอนที่มีบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเช่นเดียวกัน การวางแผนตรงนี้ให้รัดกุมจะช่วยลดเวลาที่ไม่จำเป็นได้มาก  ทั้งนี้ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการประชุมบางอย่างสามารถสรุปจบได้ในโทรศัพท์อย่างรวดเร็ว หรือแม้แต่การเดินไปคุยที่โต๊ะของพนักงานแต่ละท่านแบบตัวต่อตัว ดังนั้นหากเรามองข้ามรูปแบบทำงานเดิม ๆ ก็อาจจะค้นพบวิธีใหม่ที่เป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่ายก็ได้

ถึงไม่มีประชุมที่มากเกินไป (Meeting Overload) แต่ทีมก็ต้องสื่อสารกัน

สิ่งที่ต้องนึกถึงเป็นอย่างแรกคือการพิจารณาว่าเพื่อนร่วมงานทุกคนสามารถสื่อสารกันได้อย่างคล่องตัวดีแล้วหรือไม่ หากคำตอบตรงนี้ยังไม่ชัดเจน องค์กรก็ควรเอาเวลาไปพัฒนาทักษะด้านการสื่อสารให้ดีขึ้น แทนที่จะเอาเวลาไปใช้กับการเพิ่มจำนวนประชุม เพราะการประชุมที่ทุกคนสื่อสารกันอย่างติดขัดไม่สามารถนำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพได้เลย

การพัฒนาทักษะสื่อสารไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปโดยเฉพาะในยุคหลังโควิด-19 ที่ HR Tech มีพัฒนาการอย่างก้าวกระโดด หนึ่งในนั้นคือการยกระดับ “เครื่องมือสื่อสารภายในองค์กร” (Communication Tools) ให้สะดวกสบายขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำจดหมายข่าว, อีเมล, วีดีโอ, พอดแคสต์, โซเชียล, Gamification ฯลฯ ทั้งนี้ HR ก็ต้องหาข้อมูลด้วยว่าองค์กรของตนเหมาะกับวิธีสื่อสารแบบใด ไม่ใช่เอาแต่เลือกเครื่องมือใหม่ ๆ โดยไม่สนใจบริบทอื่นเลย

หากคุณไม่รู้ว่าจะเลือกบริการ Communication Tools แบบใด เราแนะนำให้หาข้อมูลจาก HR Explore แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย คุณจะสบายใจได้ในคลิกเดียว !

บทสรุป

การจัดวางคนให้เหมาะกับงาน

การสื่อสารที่ดีคือรากฐานของความสำเร็จ ทั้งในแง่ของการขอคำแนะนำ ขอความช่วยเหลือหรือขอคำปรึกษา ตลอดจนการเอ่ยปากปฏิเสธว่าคำสั่งที่ได้รับมาไม่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความเป็นจริง การรู้จักปกป้องตัวเองแบบนี้สะท้อนให้เห็นถึงความเชื่อมั่นและทำให้รู้ว่าองค์กรมีวัฒนธรรมของการสื่อสารที่เป็นธรรม ซึ่งช่วยให้พนักงานทุกระดับกล้าที่จะแสดงความคิดเห็นต่อหัวหน้า

หากเราเปลี่ยนการประชุมในหัวข้อเล็ก ๆ ให้กลายเป็นบทสนทนาหรือข้อความตัวอักษรที่ทุกฝ่ายเข้าใจร่วมกัน การประชุมทีมก็อาจไม่ใช่สิ่งจำเป็นที่สุดก็ได้ หรือบางครั้งหากเราแค่พบว่าองค์กรติดการประชุมจนเป็นนิสัย แต่ไม่ได้ผลลัพธ์อย่างที่คาดการณ์เอาไว้ ก็อาจค่อย ๆ ยกเลิกประชุมไปทีละนิดจนพบอัตราส่วนที่เหมาะสม แบบที่องค์กรได้ประโยชน์และพนักงานสามารถรักษาสมดุลย์ชีวิตไปพร้อม ๆ กัน

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง