HIGHLIGHT
|
บริษัทวิจัยด้านการตลาดระดับโลกอย่าง Mintel ระบุว่าคนไทย 8 ใน 10 คนมีปัญหาสุขภาพจิต แบ่งเป็นปัญหาด้านความเครียด 46% นอนไม่หลับ 32% และวิตกกังวล 28% โดยเป็นผลโดยตรงจากความยืดเยื้อของสถานการณ์โควิด-19 ที่่ทำให้เกิดความหงุดหงิด หมองหม่น ท้อแท้ สวนทางกับการให้ความรู้และบริการด้านสุขภาพจิตที่ยังคงไม่เพียงพอต่อความต้องการในปัจจุบัน ดังนั้นการทำความเข้าใจบริบทเบื้องต้นด้วยตัวเองจึงเป็นรากฐานที่เป็นไปได้ที่สุดหากองค์กรต้องการดูแลพนักงานในสังกัดให้มีความสุขและพร้อมทำงานอย่างเต็มประสิทธิภาพต่อไป
High Functioning Depression ส่งผลกับการทำงานอย่างไร หาคำตอบได้ที่นี่
Contents
High Functioning Depression คืออะไร ส่งผลกับการทำงานอย่างไร
High Functioning Depression หมายถึงคนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต แต่ยังสามารถทำงานที่ได้รับมอบหมายได้ดีเหมือนเดิม หรืออาจดีกว่าเดิมด้วยซ้ำ ส่วนหนึ่งเพราะต้องการปกปิดปัญหาจากผู้อื่น ไม่ต้องการให้คนเป็นห่วง รวมถึงเป็นการบอกตัวเองทางอ้อมว่าเราสามารถรับมือกับสถานการณ์นั้นได้ทั้งที่ความจริงก็ยังเจ็บปวดอยู่ดี
คุณจาเมกา วูดดี้ คูเปอร์ (Jameca Woody Cooper) นักจิตวิทยาจาก Webster University สหรัฐอเมริกา กล่าวว่าโรคนี้สามารถเกิดขึ้นได้กับคนทุกประเภท ทั้งครูในโรงเรียน, แพทย์ พยาบาล, พนักงานก่อสร้าง หรือใครก็ตามที่ต้องทำงาน คนเหล่านี้จะมีภาวะของความรับผิดชอบ (Accountability) ที่ยิ่่งรู้สึกว่าตัวเองซึมเศร้าแค่ไหน ก็ยิ่งต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการแสดงออกว่า “สบายดี” ดังนั้นสิ่งแรกที่สังคมต้องเข้าใจก็คือ “คนที่ป่วยซึมเศร้า” ไม่จำเป็นต้องดูหมองหม่น, ร้องไห้, หมดอาลัยตายอยาก หรือมีแต่พลังลบตามภาพแสดงที่เราเห็นตามสื่อร่วมสมัยแต่อย่างใด
เธอย้ำอีกว่าความเข้าใจเรื่อง High Functioning Depression เป็นประโยชน์มาก เพราะแท้จริง “โรคซึมเศร้าก็คือโรคซึมเศร้า” ไม่ว่าคนที่อยู่กับมันจะแสดงออกในแง่บวกหรือลบ ปัญหาด้านในก็ยังคงกัดกินหัวใจของพวกเขา ดังนั้นหากหัวหน้าทีมไม่เข้าใจ และคิดอย่างเรียบง่ายว่าพนักงานคนนั้นจู่ ๆ ก็ทำงานเก่งขึ้นและสั่งงานมากขึ้นอีกโดยไม่ตั้งคำถามว่าความเปลี่ยนแปลงนั้นมีสาเหตุจากอะไร ก็อาจนำไปสู่ภาวะซึมเศร้าที่รุนแรงขึ้นจนอันตรายถึงชีวิต ความรู้ในเรื่องนี้จึงช่วยให้เราช่างสังเกตและมองเห็นความผิดปกติในความปกติธรรมดา ซึ่งถือเป็นกลไกสำคัญในการรับมือกับสภาวะนี้
รายงานจากประเทศอังกฤษระบุว่าคนเข้าไปหาข้อมูลเรื่องสุขภาพจิตบน Google มากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ กล่าวคือ
- มีการค้นหาคำว่า “ความยากลำบากจากการทำงานในสภาวะซึมเศร้า” สูงขึ้น 250%
- มีการค้นหาคำว่า “สัญญาณเตือนว่าคุณกำลังเป็น Functioning Depression” สูงขึ้น 200%
- มีการค้นหาคำว่า “High Functioning Depression” สูงขึ้น 50%
จากสถิติข้างต้น ผู้เชี่ยวชาญมองว่าสาเหตุสำคัญอย่างหนึ่งก็คือการเกิดโควิด-19 ที่มนุษย์ต้องหันมาทำงานแบบไฮบริด ซึ่งการทำงานแบบนี้มักปราศจากความเป็นระบบ หรือหากมี ก็เป็นระบบที่ยังไม่แข็งแรงเท่ากับการทำงานแบบเผชิญหน้าที่สามารถสังเกต, บริหาร และสั่งการได้โดยตรง โดยสาเหตุหลักก็คือการที่หัวหน้างานไม่รู้ว่าพนักงานทำงานอย่างไร ใช้วิธีไหนการทำงาน (Execute) ที่สำคัญคือไม่รู้ว่างานที่สั่งไปมากเกินไปหรือไม่ จึงมีหลายครั้งที่คนพูดว่าการทำงานอยู่บ้านสะดวกสบายขึ้นก็จริง แต่กลับมีงานที่ต้องรับผิดชอบมากขึ้นกว่าเดิมโดยไม่รู้ตัว
High Functioning Depression มักถูกมองเป็นปัญหาสุขภาพจิตระดับล่างที่สามารถแก้ไขได้ ตรงข้ามกับปัญหาสุขภาพจิตที่ผู้คนเริ่มทำร้ายตัวเองและเสี่ยงต่อสถานการณ์ที่เลวร้ายมากกว่า อย่างไรก็ตามหากปล่อยให้ High Functioning Depression อยู่กับเราไปนาน ๆ ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นเชิงลบที่สามารถพัฒนาไปเป็นโรคซึมเศร้าได้อยู่ดี ดังนั้นองค์กรจึงควรเน้นย้ำกับทุกฝ่ายให้สนใจประเด็นอื่น ๆ นอกเหนือจากผลลัพธ์ของงานดูบ้าง เพราะบางทีผู้ป่วยก็ไม่กล้าทิ้งงานที่ตนรับผิดชอบเพราะมองว่าจะเกิดปัญหากับทีม ด้งนั้นถ้าทีมพิสูจน์ให้เห็นว่ามีความกลมเกลียว ทุกคนพร้อมช่วยเหลือกัน ผู้ป่วยก็จะกล้าแสดงความรู้สึกออกมามากกว่าเดิม เรียกว่าวิธีแก้ปัญหาที่ง่ายที่สุดก็คือการสร้างความแข็งแรงภายในทีมนั่นเอง
รู้จัก High Functioning Anxiety จุดเริ่มต้นก่อนเป็นโรคซึมเศร้าเพราะงาน
High Functioning Anxiety เป็นประเภทของโรควิตกกังวลที่ไม่ได้จัดอยู่ในหมวดหมู่ทั่วไปทางการแพทย์ แต่เป็นศัพท์ที่สร้างขึ้นมาเพื่ออธิบายถึงพฤติกรรมที่คนยังสามารถทำงานได้ดีหรืออาจดีกว่าเดิม ในลักษณะเดียวกับ High Functioning Depression ทั้งสองอย่างมีความเกี่ยวข้องกัน กล่าวคือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะสามารถพัฒนาเป็นโรควิตกกังวล ขณะที่คนวิตกกังวลก็สามารถพัฒนาเป็นคนซึมเศร้าได้เช่นกันกัน
คุณซาช่า ฮัมดานี่ (Sasha Hamdani) นักจิตวิทยาการแพทย์จาก Psychiatry Associates of Kansas City เล่าว่าคนที่เป็นโรคนี้จะยังทำงานได้อย่างเต็มที่ แต่ก็มีความวิตกกังวลควบคู่ไปด้วยเสมอ โดยสามารถอธิบายอาการเบื้องต้นได้ดังนี้
- วิตกกังวลกับเรื่องต่าง ๆ มากเป็นพิเศษ ต่อเนื่องนานกว่า 6 เดือน
- รู้สึกไม่อยากพักผ่อน
- ไม่สามารถจดจ่ออยู่กับเรื่องต่าง ๆ ได้เลย
- เหนื่อย และหงุดหงิดง่ายเป็นพิเศษ
- มีปัญหาเรื่องการนอน และกล้ามเนื้อหดเกร็ง
High Functioning Anxiety เกิดขึ้นได้กับคนที่ครอบครัวมีประวัติเป็นโรควิตกกังวล, ดื่มแอลกอฮอล์มากไป หรือแม้แต่คนที่เคยเจอเหตุการณ์กระทบใจมาก่อน และที่น่าสนใจก็คือปัญหานี้มักเกิดขึ้นกับคนที่ “คิดว่าตัวเองยังพยายามไม่มากพอ” เช่นเมื่อได้รับคำชมเกี่ยวกับงาน แต่ก็คิดว่าตนยังไม่ได้ลงแรงมากขนาดนั้น, คนที่ได้เลื่อนตำแหน่งอย่างรวดเร็วแต่รู้สึกว่าตนไม่ได้เหนื่อยมากไปกว่าคนอื่น ฯลฯ ความไม่มั่นใจตรงนี้จะนำไปสู่ความวิตกกังวลที่อันตรายมากขึ้นได้ในอนาคต
ผลวิจัยจาก The Sequenced Treatment Alternatives to Relieve Depression (STAR*D) ระบุว่าคนที่เป็นโรคซึมเศร้า 53% มีอาการวิตกกังวลรวมอยู่ด้วย และคนส่วนใหญ่ก็จะเริ่มพบแพทย์เมื่อมันพัฒนาจนเป็นโรคซึมเศร้าไปแล้ว ดังนั้นหากเรามองเห็นความวิตกกังวลของคนรอบตัวตั้งแต่เนิ่น ๆ ก็จะช่วยแก้ไขได้ก่อนที่มันจะพัฒนาไปจนเกิดอันตราย
สัญญาณเตือนว่าพนักงานกำลังเป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (High Functioning Depression) คืออะไร
อาการที่แสดงออกถึง High Functioning Depression ของแต่ละคนแตกต่างกัน แต่ก็มีจุดร่วมที่ใกล้เคียงกันอยู่ ได้แก่การไม่กล้าตัดสินใจในเรื่องที่เคยทำได้ดี, ประสิทธิภาพการทำงานตกต่ำลง และที่น่ากลัวที่สุดก็คือการเป็นคนที่โทษตัวเองอยู่ตลอดเวลา
คุณรีเบ็คก้า เบร็นเดล (Rebecca Brendel) จาก The American Psychiatric Association กล่าวว่าเราอาจจับสัญญาณเตือนเกี่ยวกับคนเป็นโรคนี้ได้ยาก เพราะยิ่งพวกเขามีอาการมากเท่าไหร่ ก็จะยิ่งพยายามปกปิดมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นเราต้องสังเกตจากการดูความเปลี่ยนของแต่ละคนอย่างละเอียดที่สุดไม่ว่าจะเป็นจุดใหญ่ ๆ ที่สังเกตเห็นได้ง่าย หรือจุดเล็ก ๆ ที่ต้องเฝ้าดูเป็นพิเศษ เช่นความเปลี่ยนแปลงของอารมณ์ว่ามีความสุขง่ายเกินไปหรืออารมณ์เสียง่ายไปหรือไม่, มีปัญหาเกี่ยวกับการนอนหลับหรือไม่, ต่อว่าตัวเองบ่อยขึ้นหรือไม่ หากความเปลี่ยนแปลงเหล่านี้คงอยู่มากกว่า 2 สัปดาห์ขึ้นไป ให้ถือว่ามีแนวโน้มต่อความผิดปกติ เข้าไปพูดคุยสอบถามตามสมควรได้เลย
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่า High Functioning Depression เป็นส่วนหนึ่งของโรคซึมเศร้าเรื้องรัง (Persistent Depressive Disorder – PDD) ที่ผู้ป่วยได้สร้างกลไกป้องกันตัวขึ้นมาปิดกั้นความอ่อนแอของตนเอาไว้ ดังนั้นผู้ที่ต้องการเข้าไปช่วยต้องรู้จักใช้คำพูดให้ถูกต้อง ไม่จี้ไปที่ปัญหาโดยตรงเพราะจะไปเพิ่มความกดดันจนทำให้อีกฝ่ายเปิดใจยากกว่าเดิม เช่นใช้การพูดแบบอ้อม ๆ ว่า “ตอนที่เราไปกินข้าวด้วยกันคราวก่อนนายดูเงียบกว่าเดิมนะ มีปัญหาอะไรรึเปล่า” โดยไม่ต้องคำนึงว่าอีกฝ่ายจะให้คำตอบออกมาหรือไม่ เพราะถือว่าเราได้แสดงถึงความห่วงใยไปแล้ว ทั้งนี้ยังสามารถเล่าประสบการณ์อื่น ๆ ควบคู่ไปด้วยเพื่อให้เห็นว่าเราอาจมีทัศนคติบางอย่างตรงกันซึ่งพอถึงเวลาที่เหมาะสมก็จะช่วยให้เกิดการสนทนาที่มีคุณภาพขึ้นเอง
HR หรือผู้นำจะช่วยพนักงานที่เป็นโรคซึมเศร้าเรื้อรัง (High Functioning Depression) ได้อย่างไร
สิ่งแรกที่ผู้นำต้องทำคือการตั้งคำถามว่าทีมของเรามีวัฒนธรรมการทำงานอย่างไร (Team’s Culture) ทุกคนให้ความสำคัญกับเรื่องงานและจัดสมดุลชีวิตได้ดีแล้วหรือไม่, ลำบากใจไหมหากต้องส่งอีเมลนอกเวลางาน เป็นต้น เพราะบางครั้งเราสร้างทีมโดยใช้ทัศนคติว่า “งานเป็นใหญ่” จนทำให้ทุกคนต้องอยู่ในสภาวะเตรียมพร้อมตลอดเวลา ซึ่งหากทีมของเรามีแนวทางทำงานแบบนี้ ผู้นำต้องรีบปรับปรุงเพื่อเป็นตัวอย่างให้ลูกทีมเห็นว่าเราพร้อมสำหรับการเปลี่ยนแปลงแล้วจริง ๆ อนึ่งแนวคิด Work Life Balance ถือเป็นรากฐานของทุกอย่าง ทั้งด้านการมีส่วนร่วม (Employees Engagement), การรักษาพนักงาน (Employees Retention) และการหมดไฟ (Burnout) ของคนในองค์กร
หลังจากแก้ปัญหาข้างต้นเสร็จแล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อมาก็คือการสื่อสาร (Communication) อย่างระมัดระวังที่สุด โดยใช้แนวทางดังต่อไปนี้
1. ผู้นำต้องคำนึงถึงความเหมาะสมก่อนเริ่มสื่อสารเสมอ : ให้ตรวจสอบก่อนว่าคนที่เราจะคุยด้วยมีรูปแบบการใช้ชีวิตแบบไหน เราต้องเลือกวิธีการให้เหมาะสมกับลักษณะนิสัยนั้น ๆ เช่น บางคนเหมาะกับการพูดคุยแบบสบาย ๆ ที่ร้านกาแฟ หรือบางคนเหมาะกับการพูดคุยอย่างจริงจังในห้องประชุมแบบตัวต่อตัว
2. ผู้นำต้องเคารพการตัดสินใจของลูกทีมเสมอ : ผู้นำต้องคำนึงว่าการพูดคุยนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อช่วยเหลือลูกทีมให้สภาพจิตใจดีขึ้น อย่าคุยด้วยมุมมองว่า “ฉันยอมมาคุยด้วยตัวเองแล้ว เธอต้องเล่าให้ฉันฟังแล้วล่ะ !” เด็ดขาด หากการพูดคุยครั้งแรกไม่เกิดประโยชน์อะไร ก็ให้ทดลองใหม่ในภายหลัง
3. ผู้นำต้องหาจังหวะที่เหมาะสมเพื่อพูดถึงความกังวลใจให้เร็วที่สุด : หากมีจังหวะที่เหมาะสม ผู้นำต้องแสดงให้เห็นทันทีว่าการประชุมครั้งนี้เต็มไปด้วยความจริงใจและอยากช่วยแก้ปัญหาจริง ๆ หากลูกทีมเริ่มเปิดใจ ผู้นำต้องอธิบายว่าองค์กรพร้อมสนับสนุนอย่างไร และตัวทีมเองมีความห่วงใยต่อกันมากเพียงใด ก่อนทิ้งท้ายว่าเราอยากแก้ปัญหานี้ให้เร็วก่อนที่สภาพจิตใจจะย่ำแย่ลงไปอีก
4. ผู้นำต้องใช้คำง่าย ๆ จริงใจ และตรงประเด็น : ความเกรงใจมักนำให้เราเลือกใช้คำอ้อม ๆ เพื่อวนเข้าประเด็นในภายหลัง แต่สำหรับการพูดคุยกับผู้ที่มีอาการ High Functioning Depression ผู้นำต้องพูดตรงประเด็นไปเลย เพราะในมุมหนึ่งตัวผู้ป่วยเองก็อยากทำงานให้ดี การแตะเรื่องผลงานในจุดที่พอรับได้จะทำให้เขาคิดว่าตนต้องเข้ารับการรักษาโดยเร็ว อนึ่งขั้นตอนนี้ต้องมาควบคู่กับวัฒนธรรมองค์กร (Company Cultures) ที่ทุกฝ่ายกล้าออกความเห็นอย่างสบายใจ เพราะหากภาพแสดงที่ผ่านมาเต็มไปด้วยความเผด็จการ (Dictatorship) และจู้จี้จุกจิกจากหัวหน้า (Micromanagement) ก็เป็นไปไม่ได้เลยที่คนจะกล้าพูดความอ่อนแอของตนออกมาโดยไม่กังวลว่าจะส่งผลกระทบกับงาน ให้คิดว่าการช่วยเหลือกันเป็นหน้าที่ของทุกคนในทีม ไม่ใช่แค่หัวหน้ากับตัวผู้ป่วยโดยตรงเท่านั้น
5. ผู้นำต้องให้เวลาสำหรับเยียวยาจิตใจ : การเร่งเอาคำตอบ หรือตั้งคำถามว่าทำไมถึงไม่หายเสียที คือความกดดันที่ยิ่งทำให้มีกำแพงระหว่างกันมากขึ้น และอาจทำให้ผู้ป่วยแจ้งข้อมูลปลอม ๆ เพื่อตัดปัญหาแทน
6. ผู้นำต้องมีความอ่อนโยน และเข้าอกเข้าใจ : นิสัยใจคอของมนุษย์ล้วนต่างกัน ผู้นำต้องไม่ใช้ประโยคจำพวก “ฉันเคยผ่านมาก่อน” … “เพื่อนฉันเคยเป็นแบบนี้นะ เขาทำแบบนั้นแล้วหายนะ” ฯลฯ ประโยคเหล่านี้จะยิ่งสร้างความกดดันมาก ดังนั้นหากผู้ป่วยมีอาการอ่อนไหวมากเป็นพิเศษ ผู้นำต้องให้เวลาสำหรับระบายความรู้สึก อย่างน้อยก็เพื่อให้เห็นว่ามีคนพร้อมอยู่ในเวลาที่อ่อนแอไปด้วยกัน
7. ผู้นำต้องมองเห็นภาพรวมของเรื่องราว : เมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว ผู้นำต้องนำสถานการณ์ทั้งหมดไปพิจารณาว่าจะช่วยเหลือพนักงานได้อย่างไร มีส่วนใดที่ต้องขอความร่วมมือจากฝ่ายอื่น ๆ ในองค์กรหรือไม่ อย่าเริ่มคิดด้วยคำว่ามีสิ่งใดถูกหรือผิด แต่ให้คิดว่ามีส่วนใดที่พอจะทำให้ดีขึ้นได้บนพื้นฐานของความเป็นจริง หากไม่สามารถปรับปรุงได้จริง ๆ ก็ให้สื่อสารกันอย่างจริงใจ หรือแนะนำให้ไปพบแพทย์ เพราะการพาผู้ป่วยไปหาผู้เชี่ยวชาญคือขั้นตอนสำคัญที่สุดในการแก้ไขปัญหานี้อย่างเป็นรูปธรรม
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: เรามีวิธีเลือกพนักงานที่จิตใจดีอย่างไร ?
องค์กรกำลังเปิดรับพนักงานใหม่ในตำแหน่งฝ่ายขาย จึงอยากได้พนักงานที่มีจิตใจดี รักบริการ มี Soft Skills ที่ดี คำถามคือเรื่องพวกนี้วัดค่อนข้างยาก การสัมภาษณ์หรือคัดกรองแบบปกติอาจจะใช้ไม่ได้ผล จึงอยากได้แนวทางที่มีประสิทธิภาพที่สุดค่ะ
A: การวัดระดับจิตใจจากการสัมภาษณ์เป็นเรื่องยาก แต่ก็ยังพอทำได้ครับ
องค์กรสามารถใช้เครื่องมือพื้นฐานเพื่อตรวจสอบเบื้องต้นก่อน เพราะไม่มีทางที่เราจะเข้าใจคนได้แบบ 100% ตั้งแต่ขั้นตอนสัมภาษณ์งาน โดย HR Recruiter สามารถพิจารณาผู้สมัครที่มีใบประกาศเกียรติคุณด้านคุณธรรม จริยธรรม หรือการทำงานสังคม, ตรวจสอบสื่อออนไลน์ (ตามหลัก PDPA ที่เจ้าตัวยินดีเผยแพร่เท่านั้น), เลือกพนักงานที่ถูกแนะนำ (Referal) จากคนที่ไว้ใจได้ เป็นต้น
,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)
บทสรุป
การเปลี่ยนแปลง (Transformation) ในปัจจุบันไม่ได้จำกัดอยู่แค่การเปลี่ยนแปลงในด้านบวกอย่างเช่นการเกิดนวัตกรรมหรือธุรกิจแบบใหม่เท่านั้น แต่ยังรวมถึงความเปลี่ยนแปลงในแง่ลบที่มนุษย์ต้องพบเจอกับปัญหากระทบใจมากกว่าที่เคย ดังนั้นหากเราอยากเปลี่ยนตัวเองให้พร้อมรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ เราก็ต้องกลายเป็นคนที่พร้อมดูแลตัวเองตัวเองและคนรอบตัวให้มากขึ้นด้วย
High Functioning Depression จะกลายเป็นประเด็นที่เกิดมากขึ้นเรื่อย ๆ ในสังคมตราบใดที่ “ความอ่อนแอ” ยังไม่ถูกทำให้ดูปกติธรรมดา ซึ่งทัศนคตินี้สามารถเริ่มต้นขึ้นได้ง่าย ๆ ที่ตัวคุณเอง หากเราเปลี่ยนองค์กรให้มีพื้นที่สำหรับความเห็นอกเห็นใจ ช่วงเวลาในที่ทำงานก็จะเกิดประโยชน์ทั้งในแง่ของการพัฒนาตัวเอง ตลอดจนการเป็นความสบายใจให้ทุกฝ่ายเติบโตขึ้นได้อย่างสมบูรณ์