Search
Close this search box.

Manager Burnout ถ้าผู้นำหมดไฟแล้วใครจะดูแลองค์กร

HIGHLIGHT

  • ปัญหาเรื่องการหมดไฟสามารถเกิดขึ้นได้กับคนในทุกระดับ แต่ในช่วงที่เกิดโควิด-19 อัตราการหมดไฟในกลุ่มผู้นำมีอัตราสูงขึ้นมากจน Google รายงานว่ายอดค้นหาเกี่ยวกับแนวโน้มการเป็นโรคเครียดพุ่งสูงขึ้นถึง 500%
  • ปัญหาในกลุ่มผู้นำเริ่มเห็นชัดขึ้นในกลุ่มคนยุคมิลเลนเนียลที่ถือเป็นกลุ่มที่เริ่มเป็นผู้นำครั้งแรก (First Time Manager) ผู้เชี่ยวชาญมองว่าปัญหานี้คืออันตรายในระยะยาวที่จะต่อยอดไปถึงคน Gen Z ที่จะก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำในอนาคตอันใกล้
  • การทำงานแบบไฮบริดเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้นำหมดไฟ เพราะปราศจากการพูดคุยต่อหน้า ไม่มีคนคอยสอนงานและช่วยแก้ปัญหา ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่าคนที่ทำงานเก่งจนถูกเลื่อนระดับขึ้นมาไม่ได้มีความสามารถในการบริหารคนเสมอไป
  • ผู้เชี่ยวชาญย้ำว่าสิ่งที่ผู้นำเข้าใจผิดก็คือการพยายามให้ความสำคัญกับลูกทีมมากขึ้นเมื่อตนเป็นฝ่ายหมดไฟในการทำงาน เพราะกลัวว่าความอ่อนแอของตนจะส่งผลเสียต่อผู้อื่น แต่จริง ๆ แล้ววิธีที่ถูกต้องคือการถอยไปก้าวหนึ่งทันทีเพื่อเยียวยาจิตใจจนหายดีแล้วค่อยกลับมา เพราะการพยายามหนักในวันที่ไม่พร้อมมีแต่จะทำลายบรรยากาศของทีมในภาพรวม
  • การแก้ไขปัญหาเรื่องการหมดไฟไม่จำเป็นต้องทำแค่ในวันที่เกิดปัญหาขึ้นแล้ว แต่ผู้นำสามารถสร้างบรรยากาศให้ลูกทีมเชื่อมั่นได้ตลอดเวลา เพื่อที่วันหนึ่งหากผู้นำหรือแม้แต่พนักงานบางส่วนรู้สึกหมดไฟ คนอื่น ๆ จะได้มีตัวอย่างมาอ้างอิงว่ารูปแบบที่ถูกต้องในการทำงานเป็นอย่างไร การทำให้ดูเป็นตัวอย่าง (Leading by Example) จะช่วยให้ทุกคนกลับมาสู่สภาวะปกติได้ง่ายขึ้น

Manager Burnout ถ้าผู้นำหมดไฟแล้วใครจะดูแลองค์กร

เราพูดเสมอว่าปัญหาเรื่องการหมดไฟ (Burnout) เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นเสมอในกลุ่มคนที่ทำงานหนักหรือบริหารจัดการชีวิตไม่ดี และวิธีการแก้ไขที่เรามักอ่านเจอก็คือการปรึกษากับหัวหน้างานเพื่อหาทางออกที่เหมาะสมที่สุด แต่เราเคยคิดไหมว่าควรทำอย่างไรหากตัวผู้นำก็เป็นอีกคนที่หมดไฟเสียเอง? หากเป็นแบบนี้ทั้งทีมก็จะผลงานตกลงและพาองค์กรดิ่งลงเหวหรือไม่โดยเฉพาะในโลกปัจจุบันที่ผู้นำมีแนวโน้มเป็นโรคเครียดสูงขึ้นถึง 500% 

Manager Burnout จึงเป็นอีกหัวข้อหนี่งที่บริษัททั่วโลกหันมาให้ความสำคัญ และ HR ต้องหาแนวทางแก้ไขโดยเร็วที่สุด ส่วนจะทำอย่างไรนั้น หาคำตอบได้ในบทความนี้

คนที่เป็นผู้นำ มีวิธีสังเกตว่าตนกำลังหมดไฟ  (Burnout) อย่างไร

ปฏิเสธไม่ได้ว่าเมื่อถึงวัยหนึ่ง ชีวิตการทำงานจะต้องพาเราไปเป็นผู้นำไม่ช้าก็เร็ว แต่ไม่ใช่ทุกคนที่จะพร้อมรับมือกับภาระหน้าที่อันยิ่งใหญ่นี้ อย่างไรก็ตามคุณดาวิด บัลลาร์ด (David Ballard) จาก American Psychological Association ได้ระบุว่าปัญหาที่ส่งผลเสียต่อคนที่เป็นผู้นำก็คือการคิดว่าความเครียดคือสิ่งที่ต้องอดทนตามหน้าที่ เพราะแม้มันจะแสดงถึงความจริงจังในการทำงาน แต่ก็ไม่มีงานใดหรอกที่ทุกคนควรทุ่มเทจนเสียสุขภาพจิต โดยเฉพาะคนที่มีหน้าที่ควบคุมและบริหารภาพรวมของทีม

หากท่านกำลังอยู่ในตำแหน่งผู้นำและไม่แน่ใจว่าตนมีภาวะหมดไฟรวมถึงทำงานหนักเกินไปหรือไม่ สามารถตรวจสอบได้ด้วย 7 วิธีดังต่อไปนี้

1. คุณมีอาการฉุนเฉียวง่ายขึ้น : การเป็นผู้นำที่ดีจะต้องมีวุฒิภาวะทางอารมณ์ที่มากเป็นพิเศษ แต่หากเราทำงานหนักเกินไป เราจะรู้สึกเบื่อหน่าย หงุดหงิด อารมณ์เสีย และสนใจคนรอบตัวน้อยลง ทั้งนี้คุณเจสัน ลอว์ริทเซน (Jason Lauritsen) จากบริษัท Quantum Workplace กล่าวว่าการทำงานขณะที่หมดไฟก็เปรียบเสมือนการดาวน์โหลดแอปพลิเคชั่นใส่โทรศัพท์ที่ความจำเต็มไปเรียบร้อย ทางเดียวที่จะแก้ได้คือลบข้อมูลที่ไม่จำเป็นบางส่วนออกไปเท่านั้น

2. คุณหลงลืมเรื่องต่าง ๆ ง่ายขึ้น : เมื่อเราคิดหลาย ๆ อย่างพร้อมกันแล้ว สิ่งที่ตามมาก็คือเราไม่มีเวลาไปโฟกัสกับเรื่องยิบย่อยเท่าที่ควรจนค่อย ๆ หลงลืมรายละเอียดสำคัญไปทีละนิด ดร.จูลีย์ แอนเดอร์สัน จาก Oregon Health & Science University กล่าวว่าเมื่อเราทำงานมากเกินไปจนหมดไฟ ร่างกายจะสะสมความเครียดที่ทำให้เราปฏิเสธสิ่งรอบตัว ส่งผลโดยตรงต่อศักยภาพในการจำ ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่าเริ่มลืมในสิ่งที่เป็นพื้นฐานของการทำงาน ก็อาจเป็นสัญญาณเตือนว่าเราทำบางอย่างมากเกินไปแล้ว

การบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในทีม

3. คุณเริ่มมาสายหรือส่งงานช้ากว่ากำหนด : หน้าที่สำคัญของผู้นำคือการทำงานให้เสร็จทันเดดไลน์ และแน่นอนว่าคนที่ก้าวขึ้นมาเป็นผู้นำก็ต้องรู้เรื่องนี้ดีไม่น้อยไปกว่าใคร ดังนั้นการที่จู่ ๆ เกิดเหตุการณ์นี้ขึ้นก็แปลว่าผู้นำอาจอยู่ในภาวะกดดันจนไม่สามารถบริหารจัดการเวลาได้ดีเท่าเดิม

4. เมื่อคุณสร้างกำลังใจให้ตัวเองด้วยสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น : ผู้นำหลายคนเมื่อเจอปัญหามักบอกกับตัวเองแบบปลอบใจว่าเมื่อลูกน้องเข้าใจงานมากขึ้นปัญหาก็คงจะคลี่คลายลง, เมื่อบริษัททำโครงการนั้น ๆ จบ ความเครียดก็คงหายไป หรือเมื่อพนักงานที่ไม่ชอบย้ายตำแหน่งไป บริษัทก็คงกลับมาสงบสุขอีกครั้ง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเราไม่สามารถรับมือกับสถานการณ์จริงตรงหน้าได้อีกต่อไปจึงต้องหาบางอย่างมายึดเหนี่ยว ซึ่งเป็นวิธีที่ผิด เพราะหากสิ่งที่รออยู่ไม่เกิดขึ้น ความเครียดก็จะยิ่งเพิ่มมากขึ้นเป็นทวีคูณ

5. เมื่อคุณรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา : ให้จำไว้ว่าไม่มีงานใดที่เราควรรู้สึกเหนื่อยตลอดเวลา เป็นธรรมดาที่งานหนักจะทำให้อยากพักผ่อน แต่งานที่ดีจะมีแง่มุมให้เราได้พักใจหรือสนุกไปกับมันในอัตราที่เหมาะสม ดังนั้นหากเราเครียดตลอดเวลาและรู้สึกว่านอนเท่าไหร่ก็ไม่พอ จนไม่อยากตื่นไปทำงาน ก็แปลว่าเราทำงานนี้มากจนจิตใต้สำนึกเริ่มต่อต้านมันเข้าแล้ว

6. คุณป่วยบ่อยกว่าที่เคย : เมื่อเราเครียด เราก็จะโฟกัสไปที่การแก้ปัญหาหรือหนีปัญหาเป็นหลักโดยลืมสนใจองค์ประกอบที่สำคัญรอบตัวเช่นการดูแลตัวเอง ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าภาวะหมดไฟจะทำให้ร่างกายมีศักยภาพในการดึงตัวเองกลับมาสู่ครรลองที่เหมาะสมยากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นหากเรารู้ตัวว่าหมดไฟแต่ไม่รู้จะแก้ไขอย่างไร ก็ควรเริ่มปัจจัยที่ควบคุมได้ เช่น เปลี่ยนมากินอาหารเพื่อสุขภาพ หรือรับการตรวจร่างกายอย่างจริงจังเป็นระยะ

7. เมื่อคุณรู้สึกไม่รักงานนี้อีกแล้ว : เรื่องน่าเศร้าก็คือในวันนั้นงานของคุณอาจสำเร็จตามเป้าหมาย หรืออยู่ในจุดที่ใคร ๆ ก็บอกว่าบริษัทของคุณน่าอิจฉา แต่สิ่งที่เกิดขึ้นจริงก็คือใจของคุณกลับรู้สึกหมดไฟไปเรียบร้อย ซึ่งท้ายสุดแล้วหากไม่รีบแก้ไข ผลงานของเราก็จะตกต่ำลง ส่งผลเสียต่อทั้งองค์กรและหน้าที่การงานในภาพรวม

ภาวะหมดไฟในกลุ่มผู้นำมีอัตราเพิ่มมากขึ้นหลังเกิดโควิด-19

Gallup ได้ทำการสำรวจในปี ค.ศ.2020 เรื่อยมาจนถึงปัจจุบันและพบว่าอัตราการหมดไฟของคนในตำแหน่งผู้นำยังคงพุ่งสูงขึ้นเรื่อย ๆ โดยมีหัวหน้าแผนก และ Project Manager จำนวนมากที่ระบุว่าตนตกอยู่ในความเครียดบ่อยครั้ง หรือแทบจะตลอดเวลา

อธิบายให้เห็นภาพรวมก่อนว่าปัจจุบันเป็นช่วงต่อยอดมาจากกระแส The Great Resignation อย่างในสหรัฐอเมริกาที่มีสถิติรายงานว่าพนักงานถึง 48% พร้อมมองหางานใหม่ที่ตอบโจทย์ชีวิตมากขึ้น นั่นหมายความว่าการมีผู้นำหมดไฟถือเป็นอันตรายและองค์กรต้องให้ความสำคัญมากกว่าที่เคยเพราะส่งผลต่อเสถียรภาพขององค์กรโดยตรง สวัสดิการและนโยบายที่ดีคือโจทย์สำคัญที่ผู้บริหารและ HR ต้องช่วยกันคิดเพื่อดึงดูดพนักงานใหม่ตลอดจนรักษาพนักงานเดิมให้คงอยู่กับองค์กรต่อไป

ความพึงพอใจของพนักงาน (Employee Satisfaction) สำคัญต่อองค์กรขนาดไหน  

สุขภาพจิตของผู้นำสำคัญอย่างไร? มันคือรากฐานสำคัญที่จะส่งต่อพลังงานไปสู่ลูกทีม หากผู้นำไม่พร้อมในการรับมือความกดดันไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม โอกาสที่ทีมจะพังเป็นก้อนใหญ่ ๆ ก็มีมากขึ้น โดยเราสามารถแยกสาเหตุที่ทำให้ผู้นำหมดไฟอ้างอิงจากสถิติในปี ค.ศ.2021 ได้ดังนี้

– อัตราความเครียดและโรควิตกกังวลของคนที่เป็นผู้จัดการยังเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ อย่างมีนัยสำคัญ

– อัตราการเกิดโรคซึมเศร้าของผู้จัดการและ Project Manager ยังคงอยู่ในอัตราที่น่าเป็นห่วง

– มีผู้นำเพียง 1 ใน 4 เท่านั้นที่รู้สึกว่าตนสามารถทำงานได้อย่างราบรื่นโดยไม่เจอผลกระทบด้านสุขภาพจิต

คนที่เป็นผู้นำครั้งแรก (First Time Manager) คือกลุ่มผู้นำที่มีภาวะหมดไฟ (Burnout) มากที่สุด

ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่เราสามารถมองข้ามได้อีกต่อไป โดยเฉพาะในกลุ่มมิลเลนเนียลซึ่งกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านทางอาชีพจากพนักงานทั่วไปกลายเป็นผู้นำ โดย Harvard Business Review สำรวจประชากรกว่า 20,000 คนจาก 10 ประเทศและพบว่ามีกว่า 61% ที่กังวลอย่างยิ่งว่าตัวเองจะมีทรัพย์สินหรือหน้าที่การงานที่มั่นคงพอหรือไม่ ทั้งนี้ Google Trends ได้เผยสถิติว่ามีคนค้นหาคำว่า “อาการของการหมดไฟ” มากขึ้นกว่าเดิมถึง 500% ในระหว่างเดือนกันยายน ค.ศ.2020 – เดือนมกราคม ค.ศ.2020 หรือเพียงไม่ถึง 2 ปีเท่านั้น ซึ่งสถิติเหล่านี้กำลังค่อย ๆ กระจายไปสู่ Gen Z ที่กำลังจะเป็นผู้นำในรุ่นต่อไป

เพื่อให้ได้ข้อมูลที่ครอบคลุมมากขึ้น Harvard Business Review ได้สำรวจเจาะไปที่กลุ่มคนที่เป็นผู้นำครั้งแรก (First Time Manager) โดยตรงกว่า 1,000 คน จาก 76 องค์กรใน 50 ประเทศทั่วโลกเพื่อหาคำตอบว่าภาวะหมดไฟส่งผลอย่างไรต่อการทำงานของพวกเขา และได้ข้อสรุปว่าสถานการณ์โลกในปัจจุบันเป็นสิ่งที่ส่งผลเสียต่อการเป็นผู้นำมากที่สุด เพราะแม้การทำงานอยู่บ้าน (Hybrid Working) จะมีข้อดีหลาย ๆ ด้าน แต่การที่คนต้องเปลี่ยนจากผู้ตามมาเป็นผู้นำในสภาพสังคมที่เส้นแบ่งระหว่างเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวหายไปเป็นสิ่งที่เพิ่มความกดดันและภาระรับผิดชอบมากกว่าเดิม

91% ที่ถูกสำรวจระบุว่าพวกเขารู้สึกว่าการเกิดโควิด-19 ยิ่งทำให้คนที่เป็นผู้นำรู้สึกโดดเดี่ยวมากขึ้น ขณะที่ 88% มองว่ารูปแบบการทำงานที่ไม่ได้เห็นหน้ากันอย่างเคยนำไปสู่ความยากลำบากที่พัฒนาไปสู่การหมดไฟ เพราะการเจอหน้ากันนอกเหนือจากจะช่วยให้ปัญหาต่าง ๆ ถูกแก้ได้อย่างรวดเร็วแล้ว ยังช่วยสอนงานให้ผู้นำรุ่นใหม่ปรับตัวได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ดังนั้นเมื่อองค์ประกอบที่เคยเป็นพื้นฐานของการสร้างผู้นำหายไป ก็ไม่แปลกที่ผู้นำรุ่นใหม่บางส่วนจะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงจนรู้สึกว่างานหรือตำแหน่งที่ทำอยู่ไม่ใช่ความท้าทายหรือเป็นพื้นที่อันน่าภาคภูมิใจอีกต่อไป

วิธีแก้อาการหมดไฟ (Burnout) ของคนที่เป็นผู้นำครั้งแรก

1. หาที่ยึดเหนี่ยวจิตใจ : การหาที่ยึดเหนี่ยวในทุกแง่มุมจะทำให้เราผ่านสถานการณ์ต่าง ๆ ไปได้ด้วยความเข้าใจ หากเรามีที่ยึดเหนี่ยวในองค์กร เราก็จะมีแหล่งข้อมูลไว้สอบถามหรือหาคำตอบว่าเนื้อหาที่แท้จริงของงานเป็นอย่างไร และเราจะเติบโตจากงานดังกล่าวไปได้แค่ไหน และในส่วนของที่ยึดเหนี่ยวภายนอก ก็จะช่วยให้เรามาความสุขมากขึ้นในเวลาที่ยากลำบาก อีกทั้งยังทำให้เรารู้สึกเป็นส่วนหนึ่ง (Belonging) ของโลกใบนี้ เพราะการที่เราต้องพยายามคนเดียวโดยไม่รู้ว่ามีสิ่งใดในโลกที่เหมาะสมกลมกลืน (Common) กับเราจะนำไปสู่การโดดเดี่ยว (Isolate) ดังนั้นหัวข้อนี้เป็นสิ่งแรกที่ผู้นำรุ่นใหม่ทุกคนต้องทำ

2. หาทางเพิ่มเวลาพักผ่อนให้ได้ : คติที่ผู้นำรุ่นใหม่หรือแม้แต่วัยทำงานทุกคนต้องมีก็คือหากคุณทำงานหนักได้ ก็ต้องหาเวลาพักผ่อนให้ได้ด้วย ดังนั้นถ้าเรารู้ตัวว่าเป็นคนบ้างานและไม่ยอมปล่อยให้ตัวเองพักผ่อน เราก็ควรวางแผนตารางชีวิตโดยระบุช่วงเวลาที่บังคับตัวเองให้ออกห่างจากชิ้นงานทันทีโดยไม่มีข้อแม้ วิธีนี้จะช่วยให้เราฟื้นฟูพลังใจ, เพิ่มไฟในการทำงาน เป็นต้น นอกจากนี้ก็ควรฝึกการแบ่งเวลาทำงานกับเวลาส่วนตัวให้ได้เช่น พยายามเลิกงานให้ตรงเวลา, ไม่ตอบอีเมลในตอนค่ำ รวมถึงถ่ายทอดทัศนคตินี้ไปสู่ลูกทีมที่ต้องทำงานร่วมกัน

Culture and Hiring

3. หลีกเลี่ยงการบริหารจัดการในระดับย่อย (Micro-Management) : แน่นอนว่าผู้นำรุ่นใหม่ต้องไม่อยากให้การทำงานมีข้อผิดพลาดและอยากทำหน้าที่ให้ดีที่สุดจึงพยายามเข้าไปควบคุมในทุกขั้นตอนอย่างละเอียด แต่ผลสำรวจได้เผยว่าการจัดการในระดับย่อยทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการหมดไฟทั้งของผู้นำและตัวพนักงานเอง ส่วนวิธีการแก้ก็ทำได้ง่าย ๆ ด้วยการลดจำนวนประชุมลงให้เหลือเพียงแค่เวลาที่สำคัญเท่านั้น นอกจากนี้ยังควรให้อิสระในการทำงานเท่าที่ทำได้แล้วค่อยดูแลอยู่ห่าง ๆ หรืออาจกล่าวในภาพกว้างได้ว่าผู้นำต้องไว้ใจลูกทีมและพร้อมช่วยแก้สถานการณ์ แต่ก็ต้องปล่อยให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองเช่นกัน

4. ยอมรับว่าเราไม่สามารถทำได้ทุกอย่าง : ผู้นำต้องยอมรับก่อนว่าเราเป็นเพียงมนุษย์ธรรมดาคนหนึ่งและไม่สามารถทำทุกอย่างได้ด้วยตนเองแม้จะพยายามมากแค่ไหน เราต้องรู้จักถามข้อมูลจากผู้รู้เช่นคนที่อยู่ในตำแหน่งสูงกว่า, พนักงานจากแผนกอื่น ๆ หรือแม้แต่ลูกทีมของเรา เพราะปัจจุบันความรู้ไม่ได้มาจากชั้นเรียนอีกต่อไป และความรู้ที่เกิดจากประสบการณ์ส่วนตัวของคนอื่นก็สามารถกลายเป็นพลังสำคัญที่สามารถขับเคลื่อนองค์กรได้เช่นกัน การสอบถามคนรอบตัวยังสะท้อนให้เห็นว่าเราเป็นผู้นำที่พร้อมรับฟังความเห็น กลายเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ร่วมงานไปในตัว

ผู้นำที่หมดไฟ (Burnout) จะช่วยแก้ปัญหาหมดไฟของลูกทีมได้อย่างไร

ความยากลำบากของคนที่เป็นผู้นำก็คือพวกเขายังคงต้องทำหน้าที่ดูแลลูกทีมอยู่ดีแม้ตัวเองจะเจอความเครียดมากแค่ไหน ซึ่งหากมองในเชิงทฤษฎีแล้วก็ดูเป็นแนวทางที่เหมาะสม แต่ในโลกแห่งความเป็นจริง มีหลายครั้งที่ตัวผู้นำเองกลับเป็นหนึ่งในคนที่หมดไฟเสียเองทำให้บรรยากาศของทีมค่อย ๆ ย่ำแย่จนลดทอนประสิทธิภาพในการทำงานลง

คุณซูซาน เดวิด (Susan David) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง Emotional Agility กล่าวว่า การหมดไฟจะทำให้เรามองข้ามทุกอย่างในชีวิต เปรียบเสมือนคนที่ไม่ได้พักเหนื่อย แต่ก็ไม่ได้แข็งแรงมากพอจะรับมัน เราจะเริ่มไม่กินข้าว นอนไม่หลับ มีปัญหาด้านความสัมพันธ์ ฯลฯ ที่สำคัญความเครียดตรงนี้จะส่งต่อไปที่คนรอบตัว ทำให้ทุกอย่างแย่ลง ดังนั้นเพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานได้อย่างสบายใจ ผู้นำต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้ตัวเองกลับมาจัดการทีมได้อย่างเป็นระบบที่สุด ส่วนจะทำอย่างไรนั้น หาคำตอบได้ที่นี่

1. ให้ความสำคัญกับตัวเองเป็นลำดับแรก : สิ่งที่ผู้นำส่วนใหญ่ทำพลาดเวลารู้สึกว่าตนมีความเครียดก็คือการพยายามให้ความสำคัญกับลูกทีมมากขึ้นเป็นพิเศษ แต่ความจริงวิธีนี้ไม่เกิดประโยชน์เลย เพราะการดูแลคนในขณะที่ตัวเองมีแต่พลังลบจะปราศจากการวางแผนงานที่ถูกต้อง ดังนั้นสิ่งแรกที่ควรทำคือการหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตตัวเองมากกว่า เช่น การนั่งสมาธิ หรือหยุดพักสักระยะเท่าที่โอกาสจะอำนวยได้ แล้วค่อยกลับไปทำงานเมื่อตัวเองพร้อมจริง ๆ

2. เปลี่ยนวิธีรับมือความเครียดให้เป็นเรื่องของทุกคนในทีมไปเลย : การจัดการเรื่องความเครียดไม่จำเป็นต้องทำในวันที่เรารู้สึกหมดไฟหรือรับไม่ไหวอีกแล้วเท่านั้น กลับกันมันสามารถทำได้ในวันที่เรารู้สึกถึงแนวโน้มของปัญหาที่จะเกิดขึ้น โดยผู้นำสามารถประสานงานกับ HR เพื่อจัดอบรมให้รู้จักรับมือกับความเครียดเบื้องต้นทั้งในแง่ของการดูแลตัวเองและการดูแลเพื่อนร่วมทีม หากเราฝึกฝนเรื่องนี้เป็นประจำ ทุกคนก็จะมีระบบตอบสนองอัตโนมัติที่ช่วยให้ปัญหาคลี่คลายได้ง่ายขึ้นนั่นเอง

3. อย่าซ้ำเติมกันและกันเด็ดขาด : ภาวะหมดไฟมักถูกมองเป็นเรื่องร้ายในอารมณ์ว่าตัวเองทำให้อีกฝ่ายผิดหวังจนทำให้พนักงานบางท่านตัดสินใจโทษตัวเอง อย่างไรก็ตามเราต้องเข้าใจในเชิงบริบทก่อนว่ามนุษย์ทุกคนไม่ได้ถูกสร้างมาสมบูรณ์แบบ ทุกคนมีปัญหาที่ต้องค่อย ๆ แก้เสมอ ดังนั้นเราต้องทำใจให้สบายตราบใดที่เราตอบตัวเองได้ว่าทำเต็มที่มากที่สุดด้วยสิ่งที่มีไปแล้ว

ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าวิธีฝึกทีมที่ดีที่สุดคือการพูดกระตุ้นเมื่อทีมอยู่ในสถานการณ์ที่ยากลำบากด้วยประโยคที่แสดงความเชื่อมั่น เช่น “ไม่ต้องกังวล เราทำงานเป็นทีม ตราบใดที่เราร่วมมือกัน ปัญหานี้จะผ่านไปได้แน่ ๆ” ซึ่งหากทุกคนในทีมมีความเชื่อมั่นตรงนี้ วันที่ผู้นำหมดไฟเองจริง ๆ ก็จะยังมีคนอื่นคอยผลักดันให้สถานการณ์ผ่านไปด้วยดี

4. ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี : การวางรากฐานที่ดีที่สุดคือการทำตัวอย่างให้ดู (Role Model) ยกตัวอย่าง หากเราเป็นผู้นำที่ทำงานเป็นบ้าเป็นหลัง แทบไม่พักผ่อน และมักมาถึงออฟฟิศด้วยท่าทีที่หมดสภาพเสมอ สิ่งเหล่านี้จะไม่เกิดประโยชน์เลยในวันที่เราไม่มีไฟในการบริหารทีม เพราะคนอื่นก็จะไม่เห็นว่าเราสามารถพาทีมไปสู่ด้านบวกอย่างไรได้บ้าง ดังนั้นวิธีที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำเรียกว่าการ “นำความเป็นมนุษย์กลับคืนสู่องค์กร” ผู้นำต้องเป็นคนแรกที่แสดงให้ทีมเห็นว่าชีวิตที่ดี มี Work Life Balance เป็นอย่างไร

5. หาคำตอบว่าการหมดไฟเกิดขึ้นเพราะอะไร : สาเหตุที่ทำให้คนมีอาการหมดไฟคือความรู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่ากับทีมอีกต่อไป ซึ่งความรู้สึกนี้จะทำให้คนในทีมรู้สึกไม่สบายใจว่าความประพฤติของตนได้ทำให้อีกฝ่ายรู้สึกแย่หรือไม่ ดังนั้นในฐานะผู้นำแล้วอย่างน้อยก็ต้องตอบให้ได้ว่าปัญหาที่ทำให้หมดไฟนั้นคืออะไร จากนั้นให้กระตุ้นทีมโดยมองเป้าหมายเป็นสำคัญ

บทสรุป

การทำงานทุกอย่างนั้นแม้จำเป็นต้องมีเป้าหมาย แต่การให้เป้าหมายเป็นจุดสำคัญโดยละเลยบริบทอื่น ๆ ถือเป็นเรื่องผิดพลาด เพราะแท้จริงมนุษย์ล้วนประกอบร่างมาจากปัจจัยอื่น ๆ ที่เกื้อหนุนกันจนสามารถผ่านอุปสรรคไปได้ดั่งใจ เหตุนี้ไม่ว่าเราจะเป็นผู้นำ, ผู้จัดการ, ผู้บริหาร หรือแม้แต่พนักงานทั่วไป การทุ่มเททุกอย่างเพื่อองค์กรอาจทำให้เราไม่ทันได้ดูแลตัวเองจนวันหนึ่งก็หมดไฟ ไม่อยากสู้แม้จะอยู่ในจุดที่ใกล้ความสำเร็จที่สุดในชีวิตแล้วก็ตาม

ยิ่งเราเห็นว่าอัตราความเครียดและหมดไฟ (Burnout) มีอัตราสูงขึ้นอย่างก้าวกระโดดในช่วงที่เกิดโรคโควิด-19 และมนุษย์ต้องหันมาทำงานอย่างโดดเดี่ยว สิ่งนี้สะท้อนได้ชัดเจนว่ามนุษย์เป็นสัตว์สังคม และการสนับสนุนจากคนรอบตัวนี่ล่ะที่จะเป็นพลังบวกอันสำคัญที่จะนำพาทุกคนออกจากเวลาอันยากลำบากนี้ไปพร้อม ๆ กัน และ HR ที่ดีก็เป็นอีกกลไกหนึ่งในการดูแลภาพรวมเหล่านี้ 

หากท่านต้องการที่ปรึกษาเพื่อหาแนวทางพัฒนาองค์กรให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์แต่ไม่รู้ว่าจะเริ่มต้นอย่างไร เราขอแนะนำให้ใช้บริการ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR เอาไว้มากที่สุดในเมืองไทย ไม่ว่าคุณจะเป็นบริษัทเล็กหรือใหญ่ก็จัดการได้แบบคลิกเดียวจบ เข้าใช้งานได้ที่นี่

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง