HIGHLIGHT
|
ช่วงนี้สถานการณ์โควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกก็เริ่มดีขึ้นเรื่อย ๆ มาสักพักแล้ว และดูมีวี่แววว่าจะคลี่คลายไปในทางที่ดีขึ้นไปอีก ด้วยเหตุนี้หลาย ๆ บริษัทจึงเริ่มมีการให้พนักงานกลับมาทำงานที่ออฟฟิศกันบ้าง
ถึงแม้จะยังไม่ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่ก็ทำให้หลายคนรู้สึกเครียดและเป็นกังวลไม่น้อย เพราะจะต้องเตรียมตัวเปลี่ยนวิถีชีวิตแบบใหม่ จากที่เริ่มชินกับการทำงานที่บ้านกันแล้ว แถมยังต้องมาคอยระวังตัวจากไวรัสที่ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ เรียกได้ว่าการจะกลับเข้ามาทำงานที่ออฟฟิศเหมือนเดิมก็ต้องมีการเตรียมตัวทั้งทางด้านร่างกาย จิตใจ และปัจจัยภายนอกต่าง ๆ ด้วย
และไม่เพียงแค่พนักงานเท่านั้นที่เป็นกังวล แผนก HR หรือทรัพยากรมนุษย์ยิ่งต้องเตรียมตัวหนักมากขึ้นเป็นสองเท่า เพราะต้องคอยดูแลรับมือ สร้างมาตรการต่าง ๆ ขึ้นเพื่อให้เพื่อนพนักงานปลอดภัยจากโควิด-19 และดูแลจิตใจ ผ่อนคลายความกังวลให้กับพนักงานทั้งบริษัทอีกด้วย
ใครบ้างไม่อยาก Work From Home?
หลายคนหลายความคิด นานาจิตตัง สำหรับเรื่องการกลับไปทำงานที่ออฟฟิศหรือจะทำงานที่บ้านต่อไป แบบไหนดีกว่ากัน ก็ยังเป็นประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่ เพราะบางคนก็อยาก Work From Home ร้อยเปอร์เซ็นต์ บางคนอยากทำงานแบบ Hybrid Work หรือบางคนก็อยากกลับเข้าออฟฟิศโดยสมบูรณ์เลย ซึ่งในหัวข้อนี้ HR NOTE จะพาไปดูความคิดของคนแต่ละเจเนอเรชั่น ระหว่างทำงานที่บ้านกับทำงานที่ออฟฟิศ ใครจะเลือกแบบไหน เพราะสองความคิดที่ขัดแย้งกันอยู่นี้ มีผลมาจากช่วงวัยโดยตรง
ศาสตราจารย์เจมส์ ไบลีย์ (James R. Bailey) จากมหาวิทยาลัย George Washington ได้ทำการศึกษาพฤติกรรมและความคิดเห็นของแต่ละเจเนอเรชั่นต่อการกลับเข้ามาทำงานออฟฟิศอีกครั้ง กับการ Work From Home ซึ่งกำลังเป็นที่ถกเถียงหลังสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ค่อย ๆ ดีขึ้นเรื่อย ๆ คนทำงานในสหรัฐอเมริกาสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มตามช่วงวัย ได้แก่ Baby Boomer, Gen X และ Millennial ซึ่งในประเทศไทยปัจจุบันก็เป็นเช่นนี้ จึงได้นำมาเป็นตัวอย่าง เพราะค่อยข้างมีความสอดคล้องใกล้เคียงกับสังคมไทย (และสังคมโลกด้วย)
ทีนี้เราจะมาเจาะความคิดและเหตุผลที่ลึกมากขึ้นสำหรับชาว 3 เจเนอเรชั่นที่ว่ามานี้ ว่าทำไมพวกเขาถึงคิดเช่นนั้น มีสาเหตุและปูมหลังมาจากอะไรกันแน่
Millennial
ในส่วนของชาวมิลเลนเนียลมองว่าการทำงานที่บ้านหรือที่ไหน ประสิทธิภาพของงานก็ไม่ต่างจากเดิม และพวกเขายังคิดว่าทำงานที่บ้านนั้นมีประสิทธิภาพที่ดีกว่าการทำงานในออฟฟิศด้วยซ้ำ ช่วงวัยนี้จึงไม่เห็นด้วย จนถึงกับค้านหัวชนฝาเลยก็ว่าได้ถึงการกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศ ส่วนหนึ่งคือชาวมิลเลนเนียลนั้นชอบที่จะใช้ชีวิตอย่างอิสระ จัดสรรเวลาได้ด้วยตนเอง และมีไลฟ์สไตล์ที่ค่อนข้างจะสบาย ๆ จึงพอใจกับการทำงานในที่คอมฟอร์ทโซนส่วนตัวมากกว่า ซึ่งผลจากการวิจัยก็ได้บอกไว้ว่า ชาวมิลเลนเนียลนั้นเกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยี แค่นั่งอยู่คนเดียวในห้องก็สามารถเชื่อมต่อกับโลกทั้งใบได้แล้ว การใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการทำงานก็เป็นเรื่องปกติที่พวกเขาทำกันอยู่ในทุก ๆ วันอยู่แล้ว ดังนั้นจะไปซีเรียสทำไมถ้าหากจะต้องทำงานที่บ้าน เพราะศักยภาพก็มีไม่ต่างจากเดิม ชาวมิลเลนเนียลมีความคิดว่าจะทำงานที่บ้านหรือออฟฟิศก็เหมือนกันในเรื่องของประสิทธิภาพของงาน แต่จะเข้าออฟฟิศก็จะต้องเสียเวลาเดินทาง เสียเงิน เสียทรัพยากรมากมาย และอย่างที่ได้กล่าวไปข้างบนแล้วว่า คนวัยนี้ชอบความเป็นอิสระ จัดสรรเวลาได้เอง ไม่ชอบการถูกบีบอยู่ในกรอบ จึงทำให้พวกเขาแฮปปี้กับการ Work From Home มากกว่า
Generation X
ในมุมมองของชาว Gen X นั้น มีมุมมองต่อการทำงานแบบ practical คือเน้นการใช้งานจริง การสื่อสารต่าง ๆ เช่น การใช้ body language หรือ eye contact ในการสื่อสาร การแสวงหาโอกาส และพวกเขาค่อนข้างเชื่อในเรื่องของคอนเนคชั่น ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้เจเนอเรชั่นนี้ก้าวขึ้นมาเป็นเจเนอเรชั่นที่มีตำแหน่งเป็นผู้นำมากที่สุดในโลกแห่งการทำงาน ซึ่งวิธีการทำงานที่เจเนอเรชั่นนี้เชื่อกันนั้น ไม่สามารถทำได้อย่างราบรื่นในการทำงานที่บ้านหรือทำงานแบบ Hybrid Work และทำให้พวกเขารู้สึกว่าประสิทธิภาพและศักยภาพของตัวเองลดลง
Baby Boomer
สำหรับชาวเบบี้บูมเมอร์ มองแบบกลาง ๆ ว่า จะเข้าออฟฟิศก็ได้ หรือทำงานที่บ้านก็ได้ ไม่มีข้อคิดเห็นที่ชัดเจน เนื่องจากพวกเขาคิดว่า performance ก็ระดับกลาง ๆ ไม่ได้โดดเด่นหรือแย่มาก อาจจะเป็นเพราะว่าคนวัยนี้ใกล้เกษียณแล้ว และมองว่าตัวเองทำงานหนักมาหลายสิบปีแล้ว ดังนั้นทำงานที่ไหนก็ได้ทั้งนั้น ไม่ใช่สาระสำคัญ
วิธีเตรียมใจก่อนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ
ความเปลี่ยนแปลงทำให้คนเรากังวลได้เสมอ แล้วยิ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่ต้องออกจากเซฟโซนด้วยแล้ว ยิ่งเครียดมากไปกันใหญ่ เพราะพื้นที่ในบ้านเป็นพื้นที่ที่เราสามารถควบคุมได้ ต่างกับในออฟฟิศที่เราไม่สามารถบังคับคนและสภาพแวดล้อมได้เลย ดังนั้นการที่จะต้องกลับเข้าไปทำงานในออฟฟิศก็เหมือนกับต้องออกจากเซฟโซน ซึ่งสำหรับมนุษย์แล้ว ความคุ้นเคยมักจะให้ความรู้สึกปลอดภัยกว่าเสมอ และตรงกันข้ามกัน สภาพแวดล้อมใหม่จะทำให้รู้สึกระแวดระวัง จนที่สุดเกิดเป็นอาการวิตกกังวลขึ้นมาได้
แม้ว่าการปรับตัวนี้จะเป็นความสามารถพื้นฐานของมนุษย์ แต่ขั้นตอนการปรับตัวก็สร้างความเหนื่อยใจขึ้นมาได้ และพาลให้เหนื่อยกายไปด้วย ดังนั้น การเตรียมตัวเตรียมใจก่อนกลับเข้าออฟฟิศจึงเป็นเรื่องที่ทุกคนควรเตรียมพร้อมได้แล้ว
ฝึกให้ชิน
หากเรากังวลเรื่องอะไรเป็นหลักก็ให้โฟกัสไปที่เรื่องนั้น เช่น กังวลเรื่องการเดินทาง ก็ให้ซ้อมเดินทางก่อนไปทำงานจริงสักครั้ง เพื่อให้สมองรับรู้ว่ามันก็ปกตินี่นา และเมื่อภาพเดิม ๆ ที่คุ้นตากลับเข้ามาในหัวสมองเราก็จะชินกับมันมากขึ้นจนหายกังวล
พักผ่อนให้เพียงพอ
การนอนหลับนี่แหละที่จะทำให้เราได้ชาร์จพลังอย่างเต็มที่ เตรียมพร้อมสำหรับการไปออฟฟิศ เพราะยังไงก็ต้องเหนื่อยแน่นอน เหนื่อยตื่นเช้า เหนื่อยเดินทาง เหนื่อยปั้นหน้าคุยกับคนอื่น เพราะฉะนั้นชาร์จพลังให้เต็มที่แล้วออกไปลุยกันเลย
หาสิ่งช่วยผ่อนคลาย
ทุกคนคงมีคอมฟอร์ทโซนของตัวเอง ที่เวลานึกถึงสิ่งนั้น ๆ ก็จะทำให้หายเครียดหรือกดดันน้อยลงไปไปได้ เช่น เพลงโปรด ดาราที่ชอบ หรืองานอดิเรก เวลากังวลกับอะไรก็ให้ลองนึกถึงสิ่งนั้นหรือเข้าไปอยู่กับสิ่งนั้น ๆ จะทำให้เราผ่อนคลายมากขึ้น
ปลอบใจตัวเอง
เข้าใจว่าทุกคนคงจะเครียดและกดดัน ยากที่จะทำใจให้ชินได้กับการออกจากเซฟโซนทุกรูปแบบ แต่ถ้าเราไม่ให้กำลังใจตัวเองแล้วใครจะช่วยเราได้ ดังนั้นให้มองว่าสิ่งที่เราต้องทำมันคือหน้าที่ที่เราต้องรับผิดชอบ และเดี๋ยวมันก็ผ่านไป
HR จะเตรียมตัวยังไงดี เมื่อคนทั้งออฟฟิศต้องกลับเข้ามาทำงาน
1. มาตรการด้านความปลอดภัย
ความสะอาดของออฟฟิศ
ความสะอาดในบริษัทเป็นเรื่องสำคัญมากที่สุดในยุค new normal นี้ เพราะจะช่วยลดการแพร่ระบาดจากการสัมผัสหรือพูดคุยของพนักงาน สิ่งแรกที่ HR ควรใส่ใจมากที่สุดก็คือ ความสะอาดของออฟฟิศ เช่น หมั่นทำความสะอาดพื้นบ่อย ๆ ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ การเลือกใช้อุปกรณ์สำนักงานที่สามารถทำความสะอาดได้ ล้างแอร์ให้บ่อยขึ้น และมีการจัดเตรียมอุปกรณ์ในการทำความสะอาดมือไว้ใกล้ ๆ กับบริเวณที่ต้องมีการสัมผัสบ่อย หรีอแจกส่วนตัวไว้ที่โต๊ะทำงานเลยก็ได้
ใส่ใจในสุขภาพของพนักงาน
โดยเริ่มจากการป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสก่อน เช่น การวัดอุณหภูมิก่อนเข้าออฟฟิศ การตรวจสุขภาพพนักงานก่อนเข้าทำงาน มีหน้ากากและเจลแอลกอฮอล์คอยให้บริการอย่างทั่วถึง ไปจนถึงปรับปรุงระบบระบายอากาศในอาคาร ทำให้อากาศในออฟฟิศถ่ายเท รวมถึงการหาวิธีการเพื่อลดการสัมผัส
สร้างกฎในการคัดกรอง
บริษัทควรมีกฎระเบียบด้านสุขภาพเพื่อให้พนักงานได้รับข้อมูล ลดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัส และคำนึงถึงสิ่งที่ต้องปฏิบัติในกรณีที่เจ็บป่วย รวมถึงกฎในการทำงานให้พร้อมสำหรับ Work From Home เพื่อให้พนักงานเข้าใจถึงสิ่งที่ต้องการจากองค์กรด้วย
2. มาตรการด้านจิตใจ
ให้ความสำคัญกับสุขภาพจิตเป็นหลัก
เนื่องจากโควิดส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตเป็นอย่างมาก รวมถึงความเครียดความกังวลที่ต้องออกจากเซฟโซนกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ ดังนั้นแผนก HR อาจจะมีการเพิ่มการสอบถามเรื่องสารทุกข์สุขดิบของพนักงาน รับฟังข้อกังวลใจ สอบถามเกี่ยวกับภาระงานต่าง ๆ หรือการช่วยหาทางแก้ปัญหาที่เกิดในสถานที่ทำงาน
สร้างความสัมพันธ์ในออฟฟิศ
เนื่องจากพนักงานต้องใช้เวลาทำงานจากบ้านเต็มเวลาในช่วงที่ผ่านมา ซึ่งปฏิเสธไม่ได้เลยว่าความสัมพันธ์หรือความสนิทที่เคยมีอาจเจือจางไป การกลับเข้ามาทำงานร่วมกันเป็นทีมแบบเห็นหน้ากันอีกครั้ง จึงเป็นการเปลี่ยนแปลงที่เหมือนนับหนึ่งใหม่ องค์กรจึงจำเป็นต้องคำนึงถึงความสัมพันธ์ของพนักงาน หากิจกรรมที่จะกลับมาสร้างสัมพันธ์กับพนักงานด้วยกันในทีมหลังกลับมาทำงานร่วมกันอีกครั้ง
ดูแลความสบายใจของพนักงานให้ได้มากที่สุด
เพราะเงื่อนไขชีวิตของแต่ละคนไม่เหมือนกัน HR อาจจะต้องมีการสอบถามพนักงาน เปิดใจคุยกันว่า หากเรากำลังจะเริ่มกลับเข้ามาทำงานเต็มเวลา แต่ละคนมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลืออย่างไรบ้าง เพื่อจะเอื้อให้พนักงานสามารถกลับเข้ามาทำงานได้อย่างราบรื่นและเหมาะสมกับแต่ละบุคคลมากที่สุด
แนวโน้มกระบวนการทำงานของ HR หลังโควิด-19
New Normal ไม่ได้ใช้กับแค่คนทั่วไป แต่ยังต้องใช้กับการทำงานของ HR ด้วย เพราะในยุคหลังโควิด HR จำเป็นต้องมีแนวปฏิบัติใหม่อย่างแน่นอน เพราะการทำงานของ HR เกี่ยวกับคนทั้งหมด และคนจะต้องปรับพฤติกรรมทั้งทางตรง และทางอ้อมจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ ซึ่งจะส่งผลโดยตรงต่อพฤติกรรม และการปรับตัวขององค์กรและพนักงาน และ HR ก็เป็นส่วนสำคัญที่จะต้องดูแลจัดการการเปลี่ยนแปลงตรงนี้
แนวโน้มของอนาคต HR ที่อิงจากผลการสำรวจ ของ MIT Sloan Management Review ร่วมกับ CultureX มีการสำรวจว่า ขณะนี้ HR ทั่วโลกทำอะไรกันบ้าง และทำอย่างไรเพื่อรับมือกับโควิด-19 ซึ่งผลการสำรวจนี้มาจาก CEO ผู้บริหารและ HR ทั่วโลก โดยผลสำรวจพบเบื้องต้นพบว่า สิ่งสำคัญที่สฺดสำหรับ HR ในตอนนี้ คือ “การบริหารจัดการวิกฤต” หรือ “crisis management” ในเรื่องสำคัญ ในหัวข้อเรื่องต่อไปนี้
1) โฟกัสที่ ‘คน’ ก่อน ‘เงิน’ เพราะถ้าไม่มีคน ก็ไม่มีเงิน
2) สร้าง ‘ทีมเฉพาะกิจ’ ที่ทำงานประสานกับทั้งองค์กรได้ เรื่องนี้จำเป็นมากในการจัดการวิกฤต องค์กรจึงจำเป็นต้องมีทีมที่มีอำนาจตัดสินใจ รับฟัง สื่อสาร ทีมหลักทีมเดียวเท่านั้น เพื่อไม่ให้ข้อมูลคาดเคลื่อน
3) กระจายอำนาจให้ HR ‘หน้างาน’ ตัดสินใจ เพราะในกรณีที่มีหลายโลเคชั่น หลายพื้นที่ สิ่งสำคัญที่สุดคือต้องกระจายอำนาจให้หน้างานก่อน ไม่เช่นนั้นอาจไม่ทันการเพราะต้องคอยรายงานกลับมาส่วนกลาง ก็จะยิ่งยืดเยื้อไปอีก
4) สร้างฐานข้อมูลเรียลไทม์ เพื่อให้รู้ว่า ปัญหาอยู่จุดไหน เพราะเราจำเป็นต้องมี ข้อมูลที่อัพเดทล่าสุดเพื่อใช้ในการตัดสินใจได้ถูกต้องหากเกิดวิกฤต
5) สร้างโปรแกรมในการให้ความรู้ ฝึกอบรม และให้อำนาจกับพนักงาน เพื่อให้ทำงานที่บ้านได้อย่างมีประสิทธิภาพ
6) ปรับกฎเรื่องการจ่ายเงินเดือน การลา ให้เหมาะสมกับสถานการณ์
7) ประเมินงานที่กำลังจะหมดไป และเริ่มปรับคนให้เข้ากับบทบาทใหม่อย่างรวดเร็ว
8) คิดบวกและสื่อสารเชิงบวกตลอดเวลาเพราะในสภาวะเช่นนี้ พนักงานทุกคนมีความกลัวและกังวลอยู่แล้ว ในความไม่แน่นอน ความไม่มั่นคง HR ต้องสื่อสารให้เป็น สื่อสารให้ชัดเจน สร้างแรงบันดาลใจและกำลังใจให้กับพนักงาน
สรุปง่าย ๆ คือ HR ยุคใหม่ ซึ่งเป็นยุคหลังโควิด-19 นี้ จำเป็นจะต้องมี 3 สิ่ง คือ Agility ความยืดหยุ่นไม่ยึดติดที่กรอบเดิม ๆ เน้นรวดเร็ว แก้ปัญหาได้ สองคือ Crisis Management เพราะในยุคที่อะไร ๆ ก็ไม่แน่นอนแบบในปัจจุบันนี้ สิ่งที่สำคัญกับ HR มากก็คือการจัดการวิกฤตที่อาจจะเกิดขึ้นมาตอนไหนก็ได้ และเป็นเพื่อนคู่คิดให้กับผู้บริหารได้ และสุดท้ายคือ Resiliency คือต้องสามารถฟื้นตัวขึ้นมาใหม่ได้ตลอดเวลา ต้องพร้อมที่จะ recover และพาพนักงาน recover กลับมาให้เร็ว
บทสรุป
ไม่ว่าจะยังคง Work From Home ทำงานแบบ Hybrid Work หรือกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ สิ่งที่ทุกคนในยุคนี้ควรคำนึงถึงมากที่สุดก็คือสุขภาพกายและสุขภาพจิต เราเหนื่อยกันมามากจากการดูแลป้องกันตัวเองจากโรคระบาด เหนื่อยล้าทั้งกายและใจ หากเรารู้วิธีดูแลตัวเองทั้งทางร่างกายและจิตใจ ก็จะทำให้เราแข็งแรง มีประสิทธิภาพในการทำสิ่งต่าง ๆ ศักยภาพในการทำงานก็จะดี และเราก็จะมีความสุขกับชีวิตด้วย