HIGHLIGHT
|
เพราะมนุษย์ทุกคนต้องการเป็นคนสำคัญในชีวิตใครคนหนึ่งเสมอ ไม่ต่างอะไรกับโลกการทำงานที่พนักงานล้วนปรารถนาเป็นคนสำคัญขององค์กรเช่นกัน
ความรู้สึกอยากเป็นคนสำคัญนี้จึงเป็นจิตวิทยาองค์กรอันล้ำค่าในการรักษาและสร้างแรงจูงใจให้กับพนักงานเสมอ ก่อเกิดเป็นกระบวนการ Employee Recognition หรือการให้ความสำคัญพนักงาน ที่ผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือแม้กระทั่งฝ่ายทรัพยากรบุคคลควรสื่อสารและแสดงออกมาอยู่เสมอ
วันนี้ HREX จึงจะมาทำความรู้จัก Employee Recognition ให้มากขึ้นว่าคืออะไร มีความสำคัญอย่างไร และสามารถใช้ประโยชน์อะไรได้บ้างในการบริการคน เพราะนี่คือศิลปะแห่งการบริหารทรัพยากรบุคคลที่ทุกคนควรรู้
Contents
Employee Recognition คืออะไร
Employee Recognition คือการให้ความสำคัญกับพนักงาน เป็นการแสดงออกว่าถึงการรับรู้ถึงความสำเร็จรวมไปถึงการชื่นชมผลลัพธ์การประสบความสำเร็จนั้น ๆ ด้วย กล่าวคือเป็นการแสดงความขอบคุณสำหรับความพยายามเป็นพิเศษ โดยเฉพาะความสำเร็จที่เกิดขึ้น หลาย ๆ องค์กรมักจัดทำเป็นโปรแกรมชัดเจน หรือ Employee Recognition Program เพื่อยกย่อง ชื่นชม และให้รางวัลพนักงานสำหรับการทำงานหนัก มีความทุ่มเท และประสบความสำเร็จนั่นเอง
เนื่องจากบางครั้งมีการให้รางวัลด้วย ทำให้มีการเรียกรวมว่า Rewards and Recognition โดยเป็นรูปแบบที่แตกต่างกันได้ตามแต่ละองค์กร เช่น โปรแกรมยกย่องพนักงาน โปรแกรมพนักงานดีเด่นประจำเดือน โปรแกรมขอบคุณพนักงาน เป็นต้น
ความแตกต่างระหว่าง Employee Reward กับ Employee Recognition
Rewards and Recognition เป็นสิ่งที่คู่กันเสมอ แต่ทั้งสองมีความแตกต่างกันเพียงเล็กน้อย นั่นคือ Employee Reward คือการให้รางวัลหรือของขวัญอย่างเดียว แต่ Employee Recognition จะเป็นรับรู้ถึงความสำเร็จพร้อมยกย่องหรือประกาศความสำเร็จนั้น ๆ ด้วย โดยจำเป็นต้องมีรางวัลมาเกี่ยวข้อง หลายองค์กรจึงใช้ทั้งสองอย่างควบคู่กันเสมอ ในฐานะองค์ประกอบสำคัญที่เอื้อต่อการรักษาพนักงานและสร้างการมีส่วนรวมให้มีมากขึ้น
ตัวอย่าง Employee Reward | ตัวอย่าง Employee Recognition |
เงินโบนัส | การแสดงความยินดีระหว่างการประชุม |
วันหยุดพิเศษ | อีเมลหรือโน้ตชื่นชมประจำเดือน |
ทริปท่องเที่ยว | การใส่ข้อความชื่นชมบนบอร์ดประกาศ |
5 ความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ Employee Recognition
- เงินเป็นแรงจูงใจที่ดีที่สุด – ไม่จริง! เพราะการเพิ่มเงินเดือนหรือการให้โบนัสไม่ใช่แรงจูงใจที่ดี แถมเงินก็ไม่สามารถรั้งใครได้เสมอ มีการสำรวจว่าคนกว่า 80% ไม่ได้ลาออกเพราะเงิน แต่ลาออกเพราะรู้สึกว่าไม่มีความสำคัญต่างหาก
- โปรแกรมการให้ความสำคัญใช้เวลานาน– ไม่จริง! เพราะการให้ความสำคัญที่ง่ายที่สุเคือการกล่าวขอบคุณ ซึ่งใช้เวลาพูดเพียงไม่กี่วินาทีเท่านั้น
- โปรแกรมการให้ความสำคัญมีราคาแพง – ไม่จริง! เพราะการให้ความสำคัญไม่ได้มีค่าใช้จ่ายเสมอไป เช่น การแสดงความยินดีระหว่างประชุม ซึ่งส่งผลต่อจิตใจพนักงานแบบประเมินค่าไม่ได้ด้วยซ้ำ
- ควรให้ความสำคัญเฉพาะคนที่มีผลงานดีที่สุด – ไม่จริง! เพราะพนักงานทุกคนควรได้การชื่นชมและยอมรับในความพยายาม ซึ่งจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้
- ควรให้ความสำคัญเฉพาะคนที่ไม่ได้รับโบนัส – ไม่จริง! เพราะองค์กรควรให้ความสำคัญกับพนักงานทุกคน ไม่ควรแบ่งว่าใครควรได้หรือไม่ เพื่อที่จะสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกให้กับองค์กรตัวเอง
ความสำคัญของ Employee Recognition
มีสถิติมากมายที่บ่งบอกถึงความสำคัญของ Employee Recognition เพราะเมื่อพนักงานรับรู้ได้ถึงคุณค่า พวกเขาก็จะมีส่วนร่วม มีแรงจูงใจ และมีแนวโน้มทุ่มเทการทำงานให้กับบริษัทมากขึ้น การให้ความสำคัญแก่พนักงานจึงมีประโยชน์ต่อความสำเร็จของพนักงาน ทีมงาน รวมไปถึงธุรกิจในองค์กร โดยมีความสำคัญดังนี้
1. Employee Recognition เพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน
เมื่อพนักงานได้รับการชื่นชมผลงาน พวกเขาจะมีแรงจูงใจและแรงขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายมากขึ้น เหมือนที่สถิติจาก Deloitte บอกว่า “การให้ความสำคัญกับพนักงานจะเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานและประสิทธิภาพการทำงาน องค์กรที่ยกย่องพนักงานจะมีความผูกพัน ประสิทธิผล และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงานสูงขึ้น 14% เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้ใส่ใจ”
2. Employee Recognition ดึงดูดผู้สมัครที่มีศักยภาพเข้ามาร่วมงาน
การให้ความสำคัญพนักงานไม่ได้มีผลเฉพาะพนักงานที่อยู่เท่านั้น แต่ยังสะท้อนถึงทัศนคติและวัฒนธรรมเชิงบวกขององค์กรอีกด้วย เมื่อพนักงานที่มีอยู่มีความสุข สภาพแวดล้อมการทำงานก็จะดีตามไปด้วย แถมยังดึงดูดผู้คนจากภายนอกให้สนใจมาร่วมงานในองค์กร เหมือนที่การสำรวจของ SHRM พบว่า “56% ของ HR กล่าวว่า โปรแกรมการให้ความสำคัญช่วยในการสรรหาผู้สมัครใหม่ได้”
3. Employee Recognition รักษาพนักงานเก่าให้คงอยู่
แน่นอนว่าการตระหนักถึงความสำคัญหรือการชื่นชมผลสำเร็จของพนักงาน ย่อมสร้างสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรแก่ทุกคน ซึ่งเป็นการสร้างขวัญกำลังใจที่ดีแก่พนักงานที่มีอยู่ โปรแกรมการให้ความสำคัญที่ดีจะได้ผลลัพธ์ยอดเยี่ยมขึ้นเมื่อทำงานควบคู่กับกลยุทธ์การรักษาพนักงานที่ทำงานดีในองค์กรด้วย ซึ่งจะช่วยลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาพนักงานใหม่
4. Employee Recognition เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงาน
การได้รับความชื่นชมนับเป็นการชุบชูจิตใจพนักงานได้ดีทีเดียว ไม่ต้องเพิ่งงานวิจัยก็สังเกตเองได้ว่า พนักงานที่ได้รับการชื่นชมจะมีส่วนร่วมกับองค์กรมากขึ้นอย่างเห็นได้ชัด มากไปกว่านั้นพวกเขายังเชื่อมั่นในองค์กรหรือผู้นำมากขึ้น สอดคล้องกับงานวิจัยเรื่องการมีส่วนร่วมว่า “พนักงาน 58% กล่าวว่า ผู้นำสามารถเพิ่มการมีส่วนร่วมมากขึ้นด้วยการให้ความสำคัญกับพนักงานได้”
5. Employee Recognition เพิ่มความสุขให้กับพนักงาน
อย่างที่รู้กันว่าการทำงานต้องใช้พลังมาก ทำให้พนักงานหมดแรงและทำให้สุขภาพไม่ดี บางคนอาจรู้สึกท้อแท้และอาจประสบกับสภาวะซึมเศร้าได้ แต่โปรแกรมการให้ความสำคัญกับพนักงานจะช่วยรักษาสุขภาพของพนักงาน (ทั้งร่างกายและจิตใจ) และป้องกันความเสี่ยงทางสุขภาพอื่นใดที่จะตามมา
6. Employee Recognition ส่งเสริมวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
เมื่อพนักงานได้รับการชื่นชมในความสำเร็จ นั่นเป็นการบ่งบอกว่าสถานที่ทำงานต้องการความสามารถของพวกเขา ส่งผลให้เกิดรับรู้ว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร และเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้องค์กรขับเคลื่อนได้ นำมาซึ่งสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความสุข กระทั่งพัฒนาเป็นวัฒนธรรมองค์กรต่อไป และเมื่อพนักงานรับรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ดี พวกเขาก็จะเต็มใจทุ่มเทกับการทำงาน ไม่ใช่เพื่อเงิน แต่เพื่อความสุขในการทำงานอย่างแท้จริง
เว็บ prakal.com ได้ระบุถึงงานวิจัยของ Maritz ไว้ว่า เมื่อพนักงานได้รับ Recognition จากการทำงานจะส่งผลดังนี้
|
วิธีการสร้าง Employee Recognition ในองค์กร
1. กำหนดและสื่อสารเป้าหมายของ Employee Recognition
ขั้นตอนแรกคือการกำหนดอย่างชัดเจนว่าองค์กรจะให้ความสำคัญกับพนักงานเพื่ออะไร เช่น เพื่อเพิ่มการส่วนร่วมของพนักงาน เพิ่มความพึงพอใจของลูกค้า ไปจนถึงการจูงใจพนักงาน โดยจะต้องแน่ใจว่าเป้าหมายนั้น ๆ สอดคล้องกับค่านิยมของบริษัท มิฉะนั้นการแสดงความชื่นชมแบบไม่มีที่มาที่ไปจะเป็นเพียงการชื่นชมธรรมดาปกติ ทางที่ดีควรให้ผู้บริหารทุกคนในทุกระดับมีส่วนร่วมในการพิจารณาเกณฑ์สำคัญก่อน และเกณฑ์ดังกล่าวควรสื่อสารไปยังพนักงานทุกคนด้วย
2. ตั้งคณะกรรมการในการประเมินเกณฑ์ Employee Recognition
เป็นการแต่งตั้งบุคคล 2-3 สามคนในระดับผู้บริหารเพื่อจัดการโปรแกรมการชื่นชม โดยคณะกรรมการจะระบุเกณฑ์ พัฒนา และใช้โปรแกรมดังกล่าวในการระเมินผู้ได้รับการเสนอชื่อตาม ทั้งนี้คณะกรรมการควรมีคุณลักษณะดังนี้
- เกี่ยวข้องกับโปรแกรมการให้ความสำคัญ
- มีทักษะความเป็นผู้นำ
- มีความรู้เกี่ยวกับประโยชน์ของโปรแกรม
- มีผลงานเชิงบวกที่ผ่านมา
3. กำหนด KPIs ของ Employee Recognition
เพื่อสร้างมาตรฐานของโปรแกรมการให้ความสำคัญพนักงาน ยุติธรรม และไร้ซึ่งอคติใด ๆ จึงควรกำหนดปัจจัยความสำเร็จที่ต้องการชื่นชมอย่างชัดเจน เช่น
- พนักงานทุกคนรวมอยู่ในโปรแกรมหรือไม่?
- บุคคลนั้นควรทำงานมาแล้วอย่างน้อยหนึ่งปีเพื่อให้มีสิทธิ์หรือไม่?
- พนักงานสามารถได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงสองรางวัลได้หรือไม่?
- กรรมการจะเหมาะสมด้วยหรือไม่?
- ใครจะเป็นคนตัดสินใจเรื่องนี้?
4. กำหนดประเภทรางวัลของ Employee Recognition
เพราะโปรแกรมการชื่นชมพนักงานไม่ได้มีแค่รางวัล แต่จะแปรผันไปตามตำแหน่ง แผนก หรือเกณฑ์ใด ๆ ที่กำหนดไว้ รางวัลหรือการชื่นชมก็เช่นกันก็ต้องสอดคล้องกับวัตถุประสงค์เชิงกลยุทธ์ของบริษัท ไม่ว่าจะเป็นในทางจิตใจ เงินตรา หรือการให้ถ้วยรางวัลและประกาศณียบัตร เป็นต้น
5. ผู้นำระดับอาวุโสควรมีส่วนร่วมกับ Employee Recognition
การเชิญให้ผู้นำ/ผู้บริหารระดับอาวุโสให้มีส่วนร่วมกับการชื่นชมพนักงานมีความสำคัญมาก นับเป็นการแสดงออกถึงการให้ความสำคัญที่ทรงพลังที่สุด HR สามารถโน้มน้าวให้พวกเขาลงมากล่าวชื่นชมพนักงานได้โดยแสดงให้เห็นถึงประโยชน์ต่อพนักงาน ซึ่งจะนำไปสู่การเพิ่มประสิทธิภาพองค์กรต่อไป
6. ลองประยุกต์ตามตัวอย่าง Employee Recognition
ไม่มีอะไรดีกว่าการมีตัวอย่างโปรแกรมการให้ความสำคัญแก้พนักงานในอุตสาหกรรมที่คุณทำงานอยู่ การวางแผนที่ดีจะต้องคำนึงถึงมาตรฐานที่คนในอุตสาหกรรมนั้น ๆ ยอมรับ ยกตัวอย่างสิ่งที่พนักงานให้ความสำคัญ เช่น
- ควรให้โอกาสที่เท่าเทียมแก่พนักงานทุกคนในการได้รับการชื่นชม
- กำหนดสิ่งที่ชัดเจนว่าการบรรลุผลอะไรจะได้รางวัลอะไร
- ตระหนักถึงความสำเร็จของพนักงานและชื่นชมพวกเขาบ่อย ๆ จะเพิ่มแรงจูงใจได้
- เลือกใช้ช่องทางสาธารณะในการชื่นชม เพื่อที่ว่าเพื่อนร่วมงานหรือหัวหน้าจะรับทราบถึงความสำเร็จของพนักงาน
ตัวอย่าง Employee Recognition จากองค์กรระดับโลก
- ตัวอย่าง Employee Recognition Apple – บริษัทเทคโนโลยีชื่อดังมีการให้วันหยุดยาวพิเศษช่วงวันขอบคุณพระเจ้าของอเมริกันจาก 1 วันเป็นทั้งอาทิตย์ แถมยังจ่ายเงินในวันหยุดที่ควรได้รับเพียงวันเดียวเป็น 3 วัน โดยจะปรับแต่งรางวัลอย่างรอบคอบตามตำแหน่งและบทบาทของพนักงาน ซึ่งนโยบายนี้ยังสานต่อไปยังประเทศอื่น ๆ ให้มีวันหยุดยาวพิเศษตามวันสำคัญของประเทศนั้น ๆ ด้วย
- ตัวอย่าง Employee Recognition Siemens – บริษัทเทคโนโลยีข้ามชาติจากเยอรมัน ใช้โปรแกรทการให้รางวัลพนักงานที่ประสบความสำเร็จผ่านการโหวตของเพื่อนร่วมงาน วิธีนี้มีประสิทธิภาพอย่างมากเพราะช่วยให้เพื่อนร่วมงานจากส่วนต่าง ๆ มีปฏิสัมพันธ์และมีส่วนร่วมซึ่งกันและกัน และเมื่อพนักงานสะสมคะแนนได้เพียงพอแล้วก็สามารถแลกเป็นของขวัญได้ตามต้องการ
- ตัวอย่าง Employee Recognition Disney – บริษัทเอ็นเตอร์เมนท์ชื่อดังมีการให้รางวัล Spirit of Fred Award สำหรับพนักงานที่อยู่ในองค์กรมานานและสร้างเกียรติคุณแห่งความสำเร็จ
- ตัวอย่าง Employee Recognition Airbnb – บริษัทการแบ่งปันที่พัก มีการให้เงินพนักงาน 2,000 ดอลลาร์ เพื่อท่องเที่ยวและพักในที่พักของ Airbnb ที่ใดก็ได้ในโลก
ข้อดีและข้อเสียของ Employee Recognition
ข้อดีของ Employee Recognition
- ช่วยให้พนักงานทราบถึงผลสำเร็จของการทำงานหนักในองค์กรที่ผ่านมา
- เป็นการเพิ่มขวัญกำลังใจพนักงาน
- เมื่อพนักงานมีความสุขมากขึ้น ประสิทธิภาพการทำงานก็เพิ่มขึ้น
- หากโปรแกรมการให้ความสำคัญกับพนักงานสอดคล้องกับพันธกิจองค์กร ก็จะบรรลุแผนธุรกิจเร็วขึ้น
- พนักงานมีปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน นำไปสู่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดี
- ทำให้ผู้บริหารระดับสูงตระหนักถึงศักยภาพของพนักงานที่มีอยู่
ข้อเสียของ Employee Recognition
- การชื่นชมหรือการให้รางวัลที่ผิดวิธี การทำให้คุณค่าที่พวกเขาได้รับนั้นสูญเปล่า
- อาจเกิดการเล่นพรรคเล่นพวก และมอบความสำเร็จกับคนกันเองหรือคนที่เส้นสาย
- หากเกณฑ์รางวัลไม่ยุติธรรม อาจทำให้เกิดความไม่พอใจจนนำไปสู่การแตกแยก
บทสรุป
จะว่าไปแล้ว Employee Recognition หรือการให้ความสำคัญพนักงาน ดูเหมือนจะเป็นเรื่องเล็ก ๆ อย่างการกล่าวขอบคุณ ไปจนถึงเรื่องใหญ่อย่างการประกาศรางวัล แต่สิ่งหนึ่งที่ให้ผลลัพธ์เหมือนกันก็คือ มันได้สร้างแรงจูงใจในการทำงานครั้งยิ่งใหญ่ให้กับพนักงาน
หลายองค์กรเลือกที่จะมองข้าม Employee Recognition ไป ส่วนบางองค์กรก็มีวัฒนธรรม Employee Recognition ที่แข็งแรง สิ่งนี้คงแสดงออกมาเป็นภาพลักษณ์องค์กรที่คนทำงานจะเข้าใจ และเห็นกันอยู่ชัด ๆ ว่า องค์กรที่มี Employee Recognition จริงจัง ก็ประสบปัญหาเรื่องคนน้อยกว่า เพราะทุกคนต่างขับเคลื่อนองค์กรไปข้างหน้าได้อย่างพร้อมเพรียงกัน
อย่าลืมว่า การตระหนักถึงคุณค่าพนักงานทำไม่จำเป็นต้องใช้รางวัลที่เป็นรูปตัวเงินเพียงอย่างเดียว เคล็ดลับก็คือการทำอย่างต่อเนื่อง ยุติธรรม และจริงใจ สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลดีต่อประสิทธิภาพพนักงาน และประสิทธิผลขององค์กรนั่นเอง