HIGHLIGHT
|
ปัญหาอย่างหนึ่งที่ทุกองค์กรต้องเจอก็คือ เสียงบ่นของพนักงานที่คิดว่าตัวเองได้รับเงินเดือนไม่เหมาะสมกับตำแหน่งหรือความรับผิดชอบที่มี ซึ่งหนึ่งในกระบวนการทำงานของ HR ที่จะช่วยคลี่คลายปัญหานั้นได้คือ Job Evaluation หรือ การประเมินค่างาน เพื่อช่วยให้เกิดความเท่าเทียมทางรายได้ในองค์กร
ทั้งนี้ การประเมินค่างาน (Job Evaluation) เป็นกระบวนการที่ซับซ้อนแต่มีความสำคัญมาก บทความนี้จึงค่อนข้างยาว โดยจะอธิบายให้เข้าใจที่สุดถึงความหมาย ความสำคัญ วิธีการ และเหตุผลที่ต้องทำการประเมินค่างานในองค์กรอย่างเต็มรูปแบบ
Contents
- Job Evaluation การประเมินค่างาน คืออะไร
- ความแตกต่างระหว่าง Job Evaluation และ Employee Evaluation
- ทำไมการประเมินค่างาน (Job Evaluation) จึงสำคัญ
- องค์กรควรประเมินค่างาน (Job Evaluation) ตอนไหน
- วิธีประเมินค่างานแบบพื้นฐาน (Methods of Job Evaluation)
- บทสรุป
Job Evaluation การประเมินค่างาน คืออะไร
การประเมินค่างาน (Job Evaluation) คือ กระบวนการที่จัดทำขึ้นมาเพื่อตีค่างานต่าง ๆ ภายในองค์กรแล้วนำมาเปรียบเทียบกัน โดยจะมีการให้คะแนนสำหรับตำแหน่งงานต่าง ๆ ทุกตำแหน่งตามปัจจัยที่กำหนด ซึ่งเป็นกระบวนการที่ต้องทำอย่างเป็นทางการ
การกำหนดค่าของงานดังกล่าวนั้น จะกระทำโดยการพิจารณาที่วัตถุประสงค์ของการจ่ายเงินเป็นสำคัญโดยเฉพาะอย่างยิ่งพิจารณาให้สัมพันธ์กันระหว่างจำนวนการจ่ายค่าตอบแทนที่ให้กับคนงานตามขนาดที่พนักงานคนนั้นได้กระทำ ซึ่งจะมีผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพขององค์กรด้วย
ผลลัพธ์การประเมินค่างานจะสามารถนำมาเป็นแนวทางการจัดกลุ่มงานตามความสำคัญของตำแหน่ง และนำมาใช้ในการจัดทำโครงสร้างเงินเดือนต่อไป
ความแตกต่างระหว่าง Job Evaluation และ Employee Evaluation
การประเมินค่างาน (Job Evaluation) เป็นเครื่องมือของ HR ที่จะกำหนดระดับตำแหน่ง และกำหนดอัตราค่าตอบแทนที่เหมาะสมและเป็นธรรมในโครงสร้างเงินเดือน โดยการประเมินนั้นจะเปรียบเทียบว่า ตำแหน่งงานหนึ่ง ๆ กับตำแหน่งงานอื่น มีค่าเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร ผ่านปัจจัยทั้งความซับซ้อนของงาน ความยากของงาน หรือความรับผิดชอบของงาน ฯลฯ ซึ่งจะแตกต่างกันไป เช่น งานของโปรแกรมมีค่าอย่างไรเมื่อเทียบกับงานของฝ่ายเซลล์ เป็นต้น
ขณะที่ การประเมินพนักงาน (Employee Evaluation) จะเป็นระบบประเมินผลรายบุคคลที่ไม่มีการเปรียบเทียบข้ามแผนกหรือข้ามฝ่าย แต่จะประเมินผลปฏิบัติงานโดยอาศัยหลักเกณฑ์และวิธีการต่าง ๆ ที่ปราศจากอคติ เพื่อดำเนินการตัดสินใจปรับปรุง ส่งเสริม หรือพัฒนาพนักงานให้มีคุณภาพมากขึ้นต่อไป นับเป็นการเปิดโอกาสให้พนักงานเห็นช่องทางความก้าวหน้าของตัวเองด้วยเช่นกัน
ฉะนั้น Job Evaluation จะเป็นการเปรียบเทียบคุณค่างานแต่ละตำแหน่ง เพื่อหาค่าตอบแทนที่เป็นธรรมและลดอคติในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนให้ลดลง
ทำไมการประเมินค่างาน (Job Evaluation) จึงสำคัญ
เพราะองค์กรส่วนใหญ่มีการกำหนดค่าตอบแทนพนักงานตามตำแหน่งและลำดับขั้น ทว่าเป็นการกำหนดด้วยความเคยชินเป็นหลัก แต่นั่นไม่ใช่ความผิดของผู้กำหนดอัตราเงินเดือนที่จะแบ่งตามลำดับชั้น อายุงาน หรือตามความพึงพอใจ เพียงแต่ว่าพวกเขายังไม่ทราบวิธีการกำหนดที่มีเหตุผลและเป็นวิทยาศาสตร์มากกว่าใช้ความรู้สึก
สอดคล้องกับการสำรวจจาก Cordis ที่ทำ R&D ร่วมกับสหภาพยุโรปพบว่า กว่า 49% ขององค์กรเอกชนในยุโรปมีการทำ Job Evaluation เป็นประจำ ขณะที่ธุรกิจ SMEs ประเมินค่างานน้อยกว่า 3% นำมาซึ่งแนวโน้มในการจ่ายค่าตอบแทนแบบไม่มีโครงสร้าง พนักงานขาดคุณสมบัติตามพื้นฐานอาชีพ และขาดการพัฒนาทักษะ
นั่นจึงเป็นเหตุผลที่ผู้รับผิดชอบ เช่น ฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ต้องอธิบายหลักการหรือเหตุผลในการกำหนดอัตราเงินเดือน และนำวิธีการประเมินค่างานไปใช้ในองค์กร เพื่อสร้างความยุติธรรทในการจ่ายค่าตอบแทนให้เกิดขึ้นในองค์กร ตามคอนเซปต์ที่บอกว่า “Equal Pay for Work of Equal Value” นั่นเอง
ทั้งนี้ ผลที่ได้จากการประเมินค่างานจะนำมาใช้ในการออกแบบหรือปรับปรุงโครงสร้างเงินเดือนขององค์กรให้ เกิดความเสมอภาคและเป็นธรรมกับผู้คนในองค์กร ทั้งยังสามารถใช้ประโยชน์ในกระบวนการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เช่น การพิจารณาปรับเงินเดือน การพัฒนาอาชีพให้พนักงานเก่งมากกว่าเดิม (Career Development), การวางแผนผู้สืบทอดตำแหน่ง (Succession Plan), การบริหารจัดการคนเก่งในองค์กร (Talent Management) หรือแม้กระทั่ง การวาง Training Roadmap ฯลฯ
องค์กรควรประเมินค่างาน (Job Evaluation) ตอนไหน
ช่วงเวลาองค์กรจะทำการประเมินค่างานนั้น ส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ ๆ ในเชิงโครงสร้างองค์กร หรือมีการขับเคลื่อนครั้งใหม่ในองค์กร เช่น การนำเทคโนโลยีมาใช้ การเพิ่มความรับผิดชอบให้พนักงาน การเกิดตำแหน่งงานใหม่ การปรับฐานเงินเดือน การลดจำนวนพนักงาน การเลิกจ้าง การเกิดขึ้นของโครงการใหม่ กระบวนการใหม่ เป็นต้น
วิธีประเมินค่างานแบบพื้นฐาน (Methods of Job Evaluation)
วิธีการประเมินค่างานแบ่งออกได้เป็น 4 วิธีใหญ่ ๆ คือ
- วิธีการจัดลำดับ (Job Ranking Method)
- วิธีการจำแนกตำแหน่งงาน (Job Classification Method) หรือการจัดชั้นงาน (Job Grade Method)
- วิธีการเปรียบเทียบส่วนประกอบของงาน (Factor Comparison Method)
- วิธีการให้แต้มหรือค่าคะแนน (Point Method)
โดยมีวิธีการใช้และเปรียบแตกต่างกันตามปัจจัยในตารางดังนี้
เกณฑ์วิธีใช้ในการเปรียบเทียบ | ขอบเขตในการเปรียบเทียบ | |
เชิงคุณภาพ | เชิงปริมาณ | |
เปรียบเทียบ ‘งาน’ กับ ‘งาน’ | 1. วิธีการจัดลำดับ | 3. วิธีการเปรียบเทียบส่วนประกอบของงาน |
เปรียบเทียบ ‘งาน’ กับ ‘มาตรวัด’ | 2. วิธีการจำแนกตำแหน่งงาน | 4. วิธีการให้ค่าคะแนน |
1. วิธีการจัดลำดับ (Job Ranking Method)
นับเป็นการประเมินที่ง่ายและเก่าแก่ที่สุด ทว่าต้องแลกมาด้วยความละเอียดที่น้อยที่สุดเช่นกัน เป็นวิธีที่นิยมใช้ในองค์กรเล็ก ๆ เพราะไม่ได้ซับซ้อนมากนัก โดยเป็นเพียงการนำงานทุกอย่าง ทุกตำแหน่งมาจัดอันดับร่วมกันแล้วเปรียบเทียบหรือประเมินโดยพิจารณาถึงความสำคัญกับองค์กรเป็นสำคัญ วิธีการนี้จะไม่มีการแยกรายละเอียดหรือน้ำหนัก แต่ผู้ประเมินจะมีเกณฑ์หรือปัจจัยในใจเสมอ เช่น ความยากง่าย ความรับผิดชอบ ฯลฯ ดังนั้นการประเมินประเภทนี้จะสำเร็จผลมากน้อยแค่ไหน ก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์ที่ถูกต้อง ได้มาตรฐานในการพิจารณา
ตัวอย่างวิธีการจัดลำดับ (Job Ranking Method)
บริษัทมีตำแหน่งเพียง ผู้จัดการ, พนักงานพิมพ์ดีด พนักงานบัญชี, สมุห์บัญชี และพนักงานพัสดุ เมื่อจัดลำดับแบบ Job Ranking ก็จะได้ดังนี้
ตำแหน่งตามการจัดลำดับ |
1. ผู้จัดการ |
2. สมุห์บัญชี |
3. พนักงานบัญชี |
4. พนักงานพัสดุ |
5. พนักงานพิมพ์ดีด |
ข้อดี
1) เหมาะสำหรับกิจการขนาดเล็กที่มีตำแหน่งงานไม่มาก
2) ใช้สะดวกและจัดทำได้ง่ายตลอดจนเข้าใจได้ไม่ยาก
3) ประหยัดค่าใช้จ่ายและมีเอกสารไม่มาก
ข้อเสีย
1) มีข้อโต้แย้งและไม่สามารถอธิบายให้ถูกต้องในรายละเอียดได้ เช่น การลำดับงานไม่ถูกต้อง และมีอคติในตำแหน่งนั้นมากกว่าดูจากงานจริง
2) เป็นวิธีที่ใช้ไม่ได้กับกรณีที่มีตำแหน่งงานมาก ๆ
3) ไม่สามารถให้รายละเอียดของช่วงความแตกต่างระหว่างลำดับ หรือเกิดความผิดพลาดที่มองว่าแต่ลำดับสำคัญเท่ากันเสมอ
2. วิธีการจำแนกตำแหน่งงาน (Job Classification Method)
มีอีกหนึ่งชื่อเรียกการจัดชั้นงาน (Job Grade Method) เป็นวิธีการที่มีแนวความคิดว่างานหลาย ๆ งานสามารถจัดกลุ่มและจำแนกออกเป็นชั้น ๆ โดยยึดถือเกณฑ์บางอย่างเพื่อการจัดแบ่ง เช่น ความยากง่ายของงาน (ง่ายมาก – ธรรมดา – ยาก – ซับซ้อน), ปริมาณงาน (น้อย – ปานกลาง – มาก), ความรับผิดชอบ (มากน้อยตามจำนวนเงิน – จำนวนคนในบังคับบัชญา) หรือ ประสบการณ์ (ไม่มี – 10 ปี – มากกว่า 10 ปี) ฯลฯ ฉะนั้นแนวทางการจัดแบ่งชั้นจึงควรจัดแบ่งชั้นที่คลุมงานต่าง ๆ พร้อมระบุคุณสมบัติโดยละเอียด ให้ราคางานแต่ละชั้นงาน โดยจะต้องมีการจัดระบบการตรวจสอบเป็นครั้งคราวด้วย ซึ่งถึงแม้จะจัดเกณฑ์ได้หยาบ ๆ และลดความขัดแย้งลงได้ แต่ก็ยังเหมาะกับกิจการขนาดเล็กเท่านั้น
ตัวอย่างวิธีการจำแนกตำแหน่งงาน (Job Classification Method)
ระดับที่ 5 | งานระดับสูงของวิชาชีพ เป็นผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีผลงานระดับชาติ สามารถดำเนินงานในระดับการวางแผนกลยุทธ์ขององค์กรได้ |
ระดับที่ 4 | ปฏิบัติงานในฐานะผู้เชี่ยวชาญ มีบทบาทในการวางแผน ให้คำปรึกษา แก้ปัญหาในกรอบนโยบายได้ |
ระดับที่ 3 | มีความรอบรู้และชำนาญการพิเศษในสายวิชาชีพ ทำงานซับซ้อนได้ มีการวางแผน ควบคุม ติดตาม และตัดสินใจแก้ปัญหาได้ |
ระดับที่ 2 | มีประสบการณ์ในวิชาชีพ ให้คำแนะนำพนักงานระดับต้นได้ มีการแก้ปัญหา ใช้ความคิดสร้างสรรค์ตามแนวทางที่มีการกำกับ |
ระดับที่ 1 | งานระดับต้นที่ต้องการคนจบปริญญาตรี สามารถเรียนรู้และพัฒนาได้ ปฏิบัติงานอยู่ภายใต้การตรวจสอบ โดยมีคู่มือแนะแนวการปฏิบัติงานขั้นพื้นฐาน |
ข้อดี
1) ง่ายในการจัดทำและเข้าใจได้ง่าย
2) ใช้ได้ผลดีตามสมควรโดยเฉพาะสำหรับองค์การขนาดเล็ก
ข้อเสีย
1) เกณฑ์หรือปัจจัยที่ใช้แบ่งงานอาจไม่ชัดแจ้ง และไม่มีมาตรฐานแน่นอน
2) งานบางอย่างอาจถูกจัดเข้าใน 2 ชั้นได้ ซึ่งทำให้เกิดปัญหาคาบเกี่ยว
3) ตัวบุคคล เงินเดือนแ ละค่าจ้างปัจจุบันมีอิทธิพลต่อการจัดแบ่งชั้นเสมอ
4) เมื่อกิจการขยายตัวชั้นที่กำหนดเอาไว้แล้วอาจผิดจากความจริง
3. วิธีการเปรียบเทียบส่วนประกอบของงาน (Factor Comparison Method)
เป็นหนึ่งในวิธีที่ใช้งานกันแพร่หลายโดยเฉพาะบริษัทใหญ่ ๆ แต่ก็สามารถใช้เฉพาะบริษัทที่คนงานและฝ่ายจัดการเข้าใจกันได้ โดยวิธีการงานทุกอย่างจะต้องมีการนำไปเปรียบเทียบและประเมินตามปัจจัยสำคัญ (Critical factors) ที่ใช้วัด เช่น ความชำนาญ, ความรับผิดชอบ, การใช้แรงกาย หรือ การใช้ความคิด ซึ่งมักกระทำโดยอาศัยการวิเคราะห์จากงานหลัก (Key Jobs) ที่ไม่ค่อยเปลี่ยนแปลง และสามารถยึดถือเป็นบรรทัดฐานได้เสมอ เพราะเป็นงานหลักที่จะคงอยู่ในบริษัทเรื่อยไป
ตัวอย่างวิธีการเปรียบเทียบส่วนประกอบของงาน (Factor Comparison Method)
งาน | อัตราค่าจ้าง | ความชำนาญ | การใช้ความคิด | การใช้กำลัง | ความรับผิดชอบ |
นักวางแผน | 60 | 33 | 18 | 2 | 10 |
พนักงานเชื่อมโลหะ | 53 | 15 | 5 | 20 | 10 |
พนักงานพัสดุ | 46 | 25 | 3 | 23 | 6 |
*ตัวเลขเป็นเพียงการสมมติ
ข้อดี
1) แต่ละหน่วยจะมีโอกาสจัดทำแผนการประเมินงานของตนขึ้นเองได้
2) สะดวกและง่ายสำหรับการประเมินงานอื่น ๆ นอกเหนือจากงานหลัก
3) เป็นวิธีการที่ได้มีการเปรียบเทียบระหว่างงานโดยแท้จริง เพราะมีการเปรียบเทียบถึงปัจจัยต่าง ๆ โดยตรง
ข้อเสีย
1) มักมีปัญหาเมื่อมีงานหลักมากไปหรือน้อยเกินไป
2) ถ้างานหลักเปลี่ยนแปลง ปัญหาจะเกิดขึ้นทันที
3) อธิบายให้เข้าใจได้ยาก และการประเมินมีรายละเอียดที่ต้องใช้เวลา
4. วิธีการให้แต้มหรือค่าคะแนน (Point Method)
เป็นวิธีที่เข้าใจง่ายและนิยมใช้มากที่สุดในปัจจุบัน ผ่านแนวคิดที่ว่า ในบรรดางานต่าง ๆ ที่จะทำการประเมินนั้นจะมีปัจจัยที่ใช้สำหรับประเมินที่ครอบคลุมอยู่ในงานเหล่านั้น ดังนั้นถ้าหากสามารถแยกและกำหนดปัจจัยต่าง ๆ ที่จะประเมินเหล่านี้ได้ ก็จะเป็นที่ตกลงยอมรับโดยทั่วไป นอกจากนี้ปัจจัยแต่ละอย่างจะสามารถกำหนดค่าด้วยวิธีการให้แต้มเป็นคะแนน แบ่งแยกออกเป็นเกรดหรือดีกรีสำหรับใช้เป็นเครื่องวัดในการดำเนินการประเมิน เพราะฉะนั้นงานแต่ละอย่างก็จะถูกนำมาวัดกับเครื่องวัดหลาย ๆ อันที่จัดทำขึ้นโดยแยกเป็นเครื่องวัดของปัจจัยแต่ละประเภทตามแต่ละองค์กร
ตัวอย่างวิธีการให้แต้มหรือค่าคะแนน (Point Method)
ที่มาจาก edoc.
ข้อดี
1) เป็นวิธีการที่ละเอียด ใช้งานง่าย และน่าเชื่อถือ
2) เป็นวิธีแยกประเมินงานออกจากการให้ค่าเป็นเงิน ผู้ประเมินย่อมปลอดจากอิทธิพลของฝ่ายต่าง ๆ
3) คล่องตัว และเปิดโอกาสให้เลือกใช้ปัจจัยต่าง ๆ ได้ตามแต่ละองค์กร
ข้อเสีย
1) ต้องอาศัยการชำนาญ และประสบการณ์ในการประเมิน
2) ใช้เวลานาน
3) มีรายละเอียดมากและใช้เอกสารจำนวนมาก
บทสรุป
เพราะ Job Evaluation หรือการประเมินค่างาน เกิดขึ้นมาเพื่อให้มีการจ่ายค่าตอบแทนที่ยุติธรรมสำหรับงานแต่ละตำแหน่ง ซึ่งถึงแม้จะเป็นกระบวนการที่ซับซ้อน แต่นั่นก็เป็นกระบวนการที่สำคัญที่ทุกองค์กรควรให้ความสนใจ
อย่าลืมว่าการประเมินค่างานจะสำเร็จผลได้ ก็ต่อเมื่อผู้รับผิดชอบในการจัดการ เช่น HR จะต้องมีการจัดการหลักเกณฑ์ที่เชื่อถือได้สำหรับใช้ทบทวน ปรับปรุง หรือจัดทำโครงสร้างค่าตอบแทน และเป็นวิธีในการควบคุมไม่ให้มีการจ่ายค่าตอบแทนที่ผิดแปลกไป
ท้ายที่สุดเมื่อองค์กรมีโครงสร้างการจ่ายค่าตอบแทนที่ชัดเจน ก็จะสามารถตอบคำถามข้อสงสัยจากพนักงานในองค์กรได้อย่างมีหลักการ ทำให้องค์กรสามารถควบคุมค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรได้เป็นอย่างดี มีโครงสร้างเงินเดือนที่ชัดเจน และดึงดูดคนเก่ง ๆ มีความสามารถเข้ามาร่วมงานได้กับเราได้ในระยะยาวต่อไป
ที่มา |