HIGHLIGHT
|
ปฎิเสธไม่ได้เลยว่าสวัสดิการคือเหตุผลหนึ่งที่ทำให้คนอยากเข้ามาทำงานกับองค์กร แล้วก็เป็นปัจจัยสำคัญหนึ่งสำหรับการตัดสินใจของพนักงานที่จะร่วมงานกับบริษัทนั้นๆ ต่อไปหรือไม่ หรือนานแค่ไหน ดังนั้นฝ่ายทรัพยากรบุคคลที่ดูแลเรื่องนี้โดยตรงจึงควรทำการสำรวจความพึงพอใจของพนักงานต่อเรื่องสวัสดิการอย่างสม่ำเสมอ เพราะบางครั้วสวัสดิการนี่ล่ะคือสาเหตุสำคัญของการลาออกยิ่งกว่าปัญหาเรื่องงานเสียอีก ในทางตรงกันข้ามหากสวัสดิการดี องค์กรดูแลสารทุกข์สุขดิบดี ก็อาจส่งเสริมกำลังใจให้พนักงานอยากอยู่ร่วมงานกับบริษัทต่อ อดทนกับปัญหาได้มากขึ้น และมีเป้าหมายในการเอาชนะอุปสรรค์ในการทำงานให้ได้เพื่อที่จะไม่เกิดปัญหาใดๆ และอยู่กับองค์กรนี้ให้ได้ต่อไป
การสำรวจความพึงพอใจของพนักงานเกี่ยวกับสวัสดิการนั้นนอกจากจะดูว่าสวัสดิการไหนโอเคกับพนักงาน สวัสดิการไหนไม่เวิร์ค หรือควรเพิ่มสวัสดิการไหนขึ้นมาบ้าง เพื่อให้เกิดความพึงพอใจสูงสุดแล้วนั้น ฝ่ายทรัพยากรบุคคลยังอาจแทรกถามเรื่องงาน เรื่องระบบงาน คน ตลอดจนเรื่องอื่นๆ ได้ เพราะการคุยเรื่องสวัสดิการจะทำให้พนักงานผ่อนคลาย กล้าพูด กล้าแสดงความคิดเห็น เกิดความเปิดใจในระดับแรกมากขึ้น ซึ่งการคุยปัญหาในเชิงลึกก็อาจจะง่ายขึ้นกว่าการมานั่งถามโดยตรง นั่นคือประโยชน์อีกส่วนของการทำประเมินผลสวัสดิการได้ด้วยนั่นเอง
การทำประเมินผลสวัสดิการ (Benefit Evaluation) ทำเพื่ออะไรได้บ้าง
การทำประเมินผลสวัสดิการนั้นสามารถทำได้หลากหลายวิธี และเพื่อหลากหลายวัตถุประสงค์ เราสามารถทำการประเมินผลโดยวิธีทำแบบสอบถาม ทำการสำรวจออนไลน์ ไปจนถึงการสัมภาษณ์ ซึ่งแต่ละกระบวนการมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไป เราอาจมาลองดูกันว่าการประเมินผลสวัสดิการนั้นสามารถที่จะทำเพื่อวัตถุประสงค์ใดได้บ้าง
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อปรับปรุงสวัสดิการที่ดีขึ้นสำหรับพนักงาน : การประเมินผลสวัสดิการนั้นวัตถุประสงค์อย่างแรกที่แท้จริงก็เพื่อสอบถามความพึงพอใจในสวัสดิการของพนักงานแต่ละคน ซึ่งการประเมินผลนี้จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าองค์กรใส่ใจดูแลสาระทุกข์สุขดิบของพนักงานอย่างแท้จริง แล้วฝ่ายบุคคลเองก็ได้เช็คด้วยว่าสวัสดิการที่จัดให้กับพนักงานนั้นแท้ที่จริงแล้วมันโอเคกับพวกเขาหรือไม่ หรือมีปัญหาอะไรที่ควรแก้ไขหรือเปล่า เพื่อทางฝ่ายบุคคลจะได้นำมาแก้ไขปรับปรุงไม่ให้เกิดปัญหา และสร้างความพึงพอใจให้ดีที่สุด
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อให้พนักงานแนะนำสวัสดิการใหม่ๆ ที่พวกเขาต้องการจริงๆ : บางครั้งการคิดเรื่องสวัสดิการจากฝ่ายบุคคลนั้นอาจจะวนอยู่กับแต่เรื่องเดิมๆ สวัสดิการเดิมๆ และอาจเป็นสวัสดิการที่พนักงานรู้สึกเบื่อและไม่ต้องการก็ได้ ดังนั้นการประเมินผลเราสามารถที่จะสอบถามพนักงานถึงสวัสดิการที่เขาอยากได้ก็ได้ ซึ่งเราอาจได้รับการแชร์ข้อมูลต่างๆ ที่อาจออกจากกรอบเดิมๆ ได้รับข้อมูลใหม่ๆ เจอกับข้อเสนอใหม่ๆ สวัสดิการใหม่ๆ ที่ฝ่ายบุคคลอาจนำมาเป็นตัวเลือกในการตัดสินใจสวัสดิการได้ดีขึ้น รวมถึงจัดสวัสดิการได้ตรงกับความต้องการได้มากที่สุดอีกด้วย
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อขอคำแนะนำจากพนักงานในรายละเอียดสวัสดิการที่มีอยู่ : การประเมินผลสามารถช่วยประโยชน์ได้อีกอย่างก็คือการปรับปรุงสวัสดิการที่มีอยู่แล้วและดีอยู่แล้ว แต่เพิ่มรายละเอียดที่ดีขึ้น เหมาะสมขึ้น และสร้างความพึงพอใจได้ยิ่งขึ้น เพื่อทำให้สวัสดิการนั้นๆ มีประสิทธิภาพที่แท้จริง อย่างเช่น สวัสิดิการด้านอาหาร อาจจะถามถึงอาหารที่อยากให้เพิ่มเมนูขึ้นมา, สวัสดิการออกกำลังกาย ในตอนนี้ที่เทรนด์การวิ่งกำลังนิยม ก็อาจให้เพิ่มโค้ชมาสอนวิ่ง เป็นต้น
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อสร้างสรรค์สวัสดิการในองค์กรขึ้นมาเอง : หลายองค์กรมีการให้พนักงานมีส่วนร่วมในการสร้างสวรรค์สวัสดิการใหม่ๆ แปลกๆ เฉพาะตัวขึ้นมาเอง หรือให้พนักงานเป็นหัวเรี่ยวหัวแรงในสวัสดิการนั้นๆ ไปจนถึงเป็นผู้นำกิจกรรมในสวัสดิการบางอย่าง อย่างเช่น ฝ่ายบุคคลอาจสอบถามเรื่องความสามารถด้านกีฬาหรือการออกกำลังกาย เพื่ออาจจัดจ้างพิเศษมาเป็นผู้สอนให้กับพนักงานคนอื่นๆ หลังจากเวลาเลิกงานแล้ว องค์กรก็ได้หารายได้พิเศษให้กับพนักงานด้วย พนักงานก็ได้แสดงศักยภาพไปในตัว หรือองค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานสร้างสรรค์สวัสดิการขึ้นมาใหม่ อย่างเช่น การสอนคอร์สงานอดิเรกต่างๆ ตามความสามารถและความสนใจของพนักงานแต่ละคน เป็นต้น
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อสร้างสรรค์สวัสดิการเพื่อบริหารงบประมาณ : สวัสดิการถือเป็นรายจ่ายหนึ่งสำหรับองค์กรเช่นกัน แล้วฝ่ายบุคคลเองก็ต้องบริหารงบประมาณให้อยู่ในงบที่ได้มาด้วย ฝ่ายบุคคลอาจสอบถามพนักงานเรื่องสวัสดิการที่เหมาะสมและสร้างความพึงพอใจให้กับพนักงานแล้วนำมาจัดลำดับตามความชอบ ผสมผสานกับการจัดลำดับการใช้งบประมาณ เพื่อที่จะนำมาเลือกให้เหมาะสมที่สุด และยังคงอยู่ในงบประมาณด้วย ก็จะได้รู้ว่าสวัสดิการไหนควรตัดออก หรือควรเก็บไว้ จะบริหารได้มีประสิทธิภาพกว่าการนั่งคิดประเมินเอง ซึ่งบางครั้งสวัสดิการที่ฝ่ายบุคคลคัดเลือกเองเพื่อให้ลงงบประมาณอาจไม่ใช่สวัสดิการที่สร้างความพึงพอใจก็ได้ อย่างนั้นก็เรียกได้ว่าบริหารจัดสรรสวัสดิการได้ไม่ดีเช่นกัน
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงาน : การสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงานนั้นเป็นหนึ่งภาระกิจสำคัญของฝ่ายบุคคลเช่นกัน สวัสดิการที่ช่วยสร้างสุขภาวะที่ดีนั้นมีหลากหลายรูปแบบ อาทิ สวัสดิการอาหาร, สวัสดิการออกกำลังกาย, สวัสดิการสันทนาการ, สวัสดิการปฎิบัติธรรม เป็นต้น ฝ่ายบุคคลสามารถที่จะสอบถามถึงผลที่ดีต่อการสร้างสุขภาวะที่ดีให้กับพนักงาน ควรเพิ่มหรือลดอะไร หรือทำอย่างไรจะช่วยเพิ่มสุขภาวะได้
- การประเมินผลสวัสดิการเพื่อส่งเสริมศักยภาพในการทำงาน : หลายสวัสดิการก็มีผลต่อการเพิ่มศักยภาพการทำงานโดยตรง ซึ่งตรงจุดนี้ฝ่ายบุคคลสามารถที่จะจัดสวัสดิการที่ช่วยส่งเสริมศักยภาพการทำงานหรือส่งเสริมศักยภาพพนักงานให้เหมาะสมได้ อย่างเช่น พนักงานที่ต้องใช้กำลังบ่อยๆ ก็เสริมด้วยสวัสดิการการออกกำลังกาย, พนักงานที่ต้องใช้ภาษาในการสื่อสารเพื่อการทำงาน ก็อาจส่งเสริมสวัสดิการด้านภาษาให้มีประสิทธิภาพ, พนักงานที่ต้องพบลูกค้าบ่อยๆ อาจมีสวัสดิการอุปกรณ์โทคโนโลยีทันสมัยให้เพื่อภาพลักษณ์บริษัทและเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เป็นต้น
วิธีการทำประเมินผลสวัสดิการ (Benefit Evaluation)
เราสามารถทำการประเมินสวัสดิการได้หลายวิธี สามารถเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งก็ได้ หรือทำรวมกันทุกวิธีก็ได้ รวมถึงความถี่ในการทำก็เช่นกัน สามารถเลือกได้ตามความเหมาะสม และตามขนาดขององค์กร ซึ่งองค์กรขนาดเล็กย่อมสะดวกและรวดเร็วกว่าในการทำในองค์กรขนาดใหญ่ ทั้งนี้สิ่งสำคัญคือความตั้งใจของฝ่ายบุคคลเองที่จะทำตามหน้าที่เท่านั้น หรือจะทำด้วยความหวังดีต่อองค์กรและพนักงานทุกคน
1.แบบสอบถาม
การประเมินความพึงพอใจสามารถทำแบบสอบถามขึ้นมาได้ ซึ่งนี่เป็นวิธีการมาตรฐานอยู่แล้ว แต่แบบสอบถามควรใส่ใจในคำถามที่ถามและควรได้ประโยชน์จากการทำที่แท้จริง การทำแบบสอบถามนั้นควรมีทั้งปลายปิด และปลายเปิด เพื่อให้บุคลากรทุกคนได้แสดงความคิดเห็นที่หลากหลายได้
- แบบสอบถามปลายปิด : ควรเป็นคำถามที่ถามถึงการประเมินความพึงพอใจ ชอบ หรือ ไม่ชอบ หรือการให้คะแนนความชอบเพื่อจะได้นำข้อมูลมาประมวลผลในการตัดสินใจได้
- แบบสอบถามปลายเปิด : ควรเป็นการเสนอแนะข้อแก้ไขปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น, สิ่งที่ควรปรับปรุง, รวมไปถึงไอเดียใหม่ๆ สำหรับสวัสดิการที่พนักงานอยากได้ด้วย ฝ่ายบุคคลสามารถนำมาเป็นข้อมูลได้ดีเช่นกัน
2.แบบสำรวจออนไลน์
การสำรวจความพึงพอใจต่อการทำงานหรือสวัสดิการนั้นหากองค์กรไหนต้องการทำอย่างสม่ำเสมอ มีความถี่ อาจเลือกการทำแบบสอบถามแบบออนไลน์ก้ได้ ทั้งนี้เพื่อความรวดเร็วและประหยัดงบประมาณมากขึ้นได้ด้วย ลักษณะการตั้งคำถามอาจเป็นแบบปลายปิดและปลายเปิดในลักษณะเดียวกันกับการทำแบบสอบถามปกติ หรืออาจนำไปใช้ประโยชน์ด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วยก็ได้เช่นกัน
- การโหวต : การโหวตหรือลงมติร่วมกันนั้นใช้ระบบออนไลน์ดูจะมีประสิทธิภาพที่สุด นอกจากจะสะดวกต่อการส่งข้อมูลแล้วยังสะดวกต่อการประมวลข้อมูลอีกด้วย ฝ่ายบุคคลอาจจะทำการสำรวจความคิดเห็นเรียบร้อยแล้ว แล้วสรุปสวัสดิการที่ต้องการให้พนักงานเลือกออกมาเป็นตัวเลือกสุดท้ายอีกครั้ง อาจะส่งแบบสำรวจออนไลน์ให้พนักงานโหวตในสวัสดิการที่ชอบที่สุด ซึ่งสิ่งนี้ยังช่วยให้เกิดประชาธิปไตยและการมีส่วนร่วม มีโอกาสได้ตัดสินใจในสวัสดิการรว่มกับบริษัท ได้ประโยชน์หลายทางอีกด้วย
3.การสัมภาษณ์
การเชิญบุคลากรมาสัมภาษณ์นั้นเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุด เพราะสามารถสอบถามข้อมูลทุกอย่างได้โดยตรง รู้การตอบรับได้โดยตรง รู้ปฎิกิริยาได้ชัดเจนกว่าเพราะเป็นการสื่อสารแบบเห็นหน้ากัน สามารถซักถามรายละเอียดได้เพิ่มเติมหากต้องการรู้ข้อมูลในเชิงลึกเพิ่ม หรือแม้แต่บุคลากรสามารถเสนอความคิดเห็นได้เต็มที่ แต่อย่างไรก็ตามวิธีการนี้ก็ถือว่าเป็นการเสียเวลาที่สุดด้วยเช่นกัน ยิ่งถ้าเป็นองค์กรใหญ่ยิ่งทำได้ยากขึ้น แต่ก็เป็นวิธีการที่ดีที่ควรทำด้วยเช่นกัน โดยอาจเลือกด้วยการสุ่ม หรือเลือกจากคนที่คิดว่าเหมาะสมที่จะให้ข้อมูลก็ได้ หรือเกิดจากการทำแบบสอบถามหรือสำรวจออนไลน์มาแล้ว ก็เรียกคนที่น่าสนใจมาสอบถามเพิ่มเติมก็ได้ การสัมภาษณ์นั้นยังให้ประโยชน์ด้านอื่นเพิ่มเติมอีกเช่นกัน สามารถที่จะสอบถามเรื่องการทำงาน และสำรวจความพึงพอใจอื่นๆ ต่อยอดไปได้เช่นกัน หรือใช้จิตวิทยาสังเกตประเด็นอื่นๆ ของพนักงานได้อีกด้วย
ประโยชน์ของการทำประเมินผลสวัสดิการ (Benefit Evaluation)
พนักงานในองค์กรหลายๆ องค์กรมักจะบ่นเสมอถึงเรื่องการที่ฝ่ายบุคคลไม่เอาใจใส่ต่อเรื่องสวัสดิการเลย หรือไม่ก็ทำไมไม่จัดสวัสดิการดีๆ ให้เหมือนกับบริษัทอื่นๆ เขาบ้าง หรือสักแต่ว่าจะจัดสวัสดิการให้โดยที่ไม่เคยติดตามประเมินผลว่ามันดีหรือเปล่า พนักงานได้รับประโยชน์หรือเปล่า หรือพนักงานได้ใช้สวัสดิการนั้นหรือเปล่า ซึ่งการทำประเมินผลสวัสดิการนั้นมีประโยชน์มากมายดังนี้
- สร้างให้พนักงานมีความพึงพอใจในสวัสดิการ : การสำรวจสวัสดิการสามารถสร้างความพึงพอใจได้ตั้งแต่ขั้นตอนสำรวจเลยทีเดียว และหากฝ่ายบุคคลนำผลสำรวจไปปฎิบัติ ปรับปรุง ตลอดจนคัดเลือกสวัสดิการที่เหมาะสม ก็จะสามารถทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจได้ รวมถึงพึงพอใจในงานและองค์กรตามมาด้วย
- ปรับปรุงแก้ไขสวัสดิการให้เหมาะสม : การทำการประเมินผลนั้นจะทำให้รู้ว่าสวัสดิการที่จัดสรรให้พนักงาน ณ ปัจจุบันนี้ดีหรือไม่ดีอย่างไร ควรแก้ไขอะไร ซึ่งสามารถปรับแก้ให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้นได้ สร้างความพึงพอใจขึ้นได้เช่นกัน
- เกิดสวัสดิการใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ : การทำการประเมินผลจะทำให้พนักงานสามารถนำเสนอแนวความคิดใหม่ๆ ได้ สามารถสร้างความพึงพอใจใหม่ๆ ได้ และคัดสรรสวัสดิการได้ตรงกับความต้องการของพนักงานมากขึ้น รวมถึงเกิดสวัสดิการใหม่ๆ ที่เป็นสิ่งสร้างสรรค์ สร้างมูลค่าให้กับองค์กร และสร้างความตื่นเต้นให้กับพนักงานได้
- ลดอัตราการลาออกได้ : สวัสดิการเป็นสาเหตุสำคัญหนึ่งของอัตราการลาออกเลยทีเดียว หากสวัสดิการที่ดีสามารถทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจต่อองค์กรได้ และมีส่วนทำให้พนักงานอยากทำงานกับองค์กรในระยะยาวขึ้น ลดอัตราการลาออกได้เช่นกัน
- ทำให้ระบบคัดสรรบุคลากรมีประสิทธิภาพมากขึ้น : การประเมินผลสวัสดิการจะทำให้องค์กรสามารถปรับปรุงเรื่องสวัสดิการได้ดี ซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์องค์กรที่ดีได้ด้วย และจูงใจให้คนมีความสามารถตลอดจนมีประสิทธิภาพอยากมาร่วมงานกับบริษัท ซึ่งจะทำให้ระบบคัดสรรบุคลากรขององค์กรมีประสิทธิภาพขึ้นได้ มีตัวเลือกของผู้สมัครที่ดีขึ้น มีคุณภาพขึ้นได้
- เพิ่มมูลค่าจากฐานเงินเดือน : หลายองค์กรไม่สามารถขึ้นฐานเงินเดือนให้พนักงานตามที่ต้องการได้ทุกคน แต่สามารถดูแลจากการจัดสรรสวัสดิการที่ดีได้ เป็นการเพิ่มมูลค่าจากฐานเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนได้ และเป็นประโยชน์นอกเหนือจากอัตราเงินเดือนที่สามารถจูงใจการทำงานได้เช่นกัน
- สร้างความจงรักภักดีต่อองค์กร : หากสวัสดิการที่ดีและมีประโยชน์ต่อพนักงานจริงๆ สิ่งนี้เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานเกิดความจงรักภักดีต่อองค์กร ทำงานให้กับองค์กรในระยะยาว
- สร้างภาพลักษณ์ที่ดีรวมถึงแบรนด์องค์กรที่ดี : ในยุคปัจจุบันสวัสดิการถือเป็นเรื่องที่ใช้สร้างภาพลักษณ์ตลอดจนแบรนด์ขององค์กรได้ สวัสดิการที่ดียังสามารถสร้างมูลค่าให้กับองค์กรได้ และใช้ดึงดูดคนที่มีความสามารถให้อยากมาร่วมงานกับองค์กรได้เช่นกัน
- บริหารงบประมาณได้คุ้มค่า : การทำการประเมินผลสวัสดิการจะทำให้เรารู้ว่าสวัสดิการไหนควรจัดสรรให้พนักงาน สวัสดิการไหนควรปรับปรุง สวัสดิการไหนไม่เวิร์คและควรตัดออก เพื่อเป็นการบริหารงบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้
- ส่งเสริมศักยภาพของพนักงาน : สวัสดิการที่ดีสามารถส่งเสริมการทำงานให้กับพนักงานได้ทั้งทางตรงและทางอ้อม บางสวัสดิการมีประโยชน์ต่อการทำงานโดยตรง บางสวัสดิการสร้างสุขภาวะที่ดีแล้วทำให้พนักงานมีความสุข สามารถทำงานได้มีประสิทธิภาพขึ้น
- เสริมประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายบุคคลให้ดียิ่งขึ้น : การประเมินผลสวัสดิการนั้นจะส่งเสริมให้ฝ่ายบุคคลทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น บริหารจัดการเรื่องสวัสดิการได้อย่างมีประโยชน์ และจัดสรรอย่างเป็นระบบขึ้น ไม่ใช่มองสวัสดิการเป็นแค่เรื่องปัจจัยพื้นฐานที่จัดการให้พอมีเท่านั้น และไม่ได้ติดตามผลใดๆ
- สร้างความมีส่วนร่วมของบุคลากรในองค์กร : การประเมินผลสวัสดิการช่วยสร้างความมีส่วนร่วมให้กับบุคลากรในองค์กรได้ดีอีกด้วย ให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็น เสนอแนะ มีสิทธิ์ในการเลือก ทำให้รู้สึกมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร
บทสรุป
สวัสดิการนั้นเป็นเรื่องความรับผิดชอบของฝ่ายบุคคลโดยตรง หากมองเป็นเรื่องพื้นฐานโดยที่ไม่ได้บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์กับบุคลากรอย่างแท้จริง ก็อาจกลายเป็นจุดด้อยหรือผลเสียที่ความความเสียหายให้กับองค์กรได้ จนอาจเป็นเหตุให้เกิดการลาออกได้เช่นกัน ในทางกลับกันหากจัดสรรสวัสดิการที่ดีมีประสิทธิภาพ และพนักงานในองค์กรได้รับประโยชน์ที่แท้จริง ก็อาจทำให้พนักงานอยากอยู่ร่วมทำงานกับองค์กรได้นานขึ้น ตลอดจนสร้างแรงจูงใจให้คนอื่นอยากมาร่วมงานได้มากขึ้น รวมถึงสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้ ดังนั้นการประเมินผลสวัสดิการจึงเป็นอีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยแก้ปัญหาต่างๆ ในเรื่องนี้ได้ดียิ่งขึ้น แก้ไขปัญหาได้ถูกจัด สร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นได้ และสร้างการมีส่วนร่วมในองค์กรได้เป็นอย่างดีทีเดียว ซึ่งสวัสดิการที่ดีและมีคุณค่าต่อพนักงานนั้นจะช่วยส่งเสริมให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพขึ้นได้ด้วย รวมถึงส่งเสริมให้บุคลากรมีสุขภาวะที่ดีไปในคราวเดียวกัน ตลอดจนเกิดประโยชน์ด้านอื่นๆ ที่จะตามมาอีกมากมาย