HIGHLIGHT
|
เมื่อไม่กี่ปีมานี้มีองค์ความรู้ใหม่อย่างหนึ่งที่เกี่ยวกับหลักการบริหารองค์กรที่โด่งดังไปทั่วโลกอย่างไม่คาดคิดมาก่อน หลักการที่ว่านี้ก็คือ “องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization)” ที่มีการแบ่งลักษณะองค์กรออกเป็น 5 สี ซึ่งมีพัฒนาการที่แตกต่างกันอันเป็นลักษณะขององค์กรที่เห็นได้ชัดเจน
แล้วเมื่อปี ค.ศ.2018 ที่ผ่านมานี้หลักการ “องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization)” ก็เพิ่งจะถูกเผยแพร่ในญี่ปุ่นผ่านการตีพิมพ์หนังสือ Reinventing Organization เวอร์ชั่นภาษาญี่ปุ่น จะทำให้หลักการบริหารนี้กลายเป็นประเด็นฮ็อตที่ถูกพูดถึงในญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก องค์กรของคนรุ่นใหม่ก็นำไปใช้ปฎิบัติตาม รวมถึงองค์กรรุ่นเก่าก็นำมาเปรียบเทียบรวมถึงปรับองค์กรของตนเองให้มีความเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น ส่วนในเมืองไทยเองถึงแม้ว่าองค์ความรู้นี้จะยังใหม่มากสำหรับบ้านเรา แต่ก็เริ่มมีการพูดถึง “องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization)” กันมากขึ้นเรื่อยๆ โดยเฉพาะในหมู่คนยุคใหม่ที่เริ่มปฎิวัติตนเองให้มีระบบการบริหารที่เป็นรูปแบบเฉพาะตัวของตนมากขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน เรามาลองดูกันดีกว่าว่า “องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization)” นั้นจะมีความน่าสนใจอย่างไรกันบ้าง
องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) คืออะไร
องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) เป็นชื่อที่ใช้อธิบายถึงหลักการ 5 ลำดับขั้นของความตระหนักรู้ในมนุษย์ (Human Consciousness) และตำแหน่งขององค์กรที่อยู่ในชั้นต่างๆ ซึ่งจะมีการพัฒนาองค์กรไปในลำดับต่างๆ ตามสีต่างๆ ได้เช่นกัน การนำสีเหล่านี้มาอธิบายนั้นอ้างอิงมาจากชาร์ตสีของ Ken Wilber นักจิตวิทยาชื่อดังนั่นเอง ซึ่งลำดับขั้นและสีต่างๆ รวมถึงการตีความหมายดังนี้
แหล่งข้อมูลอ้างอิง (Reference) : Tom on Leadership
https://tomonleadership.com/2016/10/18/how-to-build-an-evolved-organization/
Red (Impulsive) – สีแดง : องค์กรสุนัขป่า
องค์กรในลักษณะนี้อันที่จริงเป็นองค์กรยุคโบราณที่ถือกำเนิดมาเป็นหมื่นปีแล้ว องค์กรแบบนี้ไม่มีการแบ่งแรงงานตลอดจนการสั่งการที่ชัดเจน ใช้รางวัลและการลงโทษเป็นตัวกระตุ้นให้เกิดผลลัพธ์ต่างๆ ในทางที่ต้องการ แต่ข้อดีก็คือมันสามารถกระตุ้น หรือเร้าให้เกิดการกระทำได้ไวและได้ผลดีเยี่ยม เร่งเร้าให้เกิดปฎิบัติการได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเหมาะสำหรับการกระตุ้นเฉพาะเวลา รวมถึงมักมีผลในระยะสั้นๆ เท่านั้น จึงต้องกระตุ้นอย่างสม่ำเสมอ องค์กรลักษณะนี้บางครั้งก็กระตุ้นด้วยความหวาดกลัว หรือการวางอำนาจเหนือกว่า ไม่มีกฎตายตัวชัดเจน เป็นกฎตามอำเภอใจของผู้มีอำนาจ เป็นการปกครองให้อยู่รอดไปวันต่อวัน ไม่มีการวางแผนระยะยาว เอาตัวรอดเฉพาะหน้า
Amber (Conformist) – สีอำพัน : องค์กรแห่งนักรบ
องค์กรในลักษณะนี้เกิดขึ้นมาราว 4,000 กว่าปีก่อนเห็นจะได้ เกิดขึ้นในช่วงที่มนุษย์เปลี่ยนสู่ยุคเกษตรกรรม มีการตั้งถิ่นฐานชัดเจน เริ่มทำมาหากินเลี้ยงตัวเอง และเริ่มมีการบริหารจัดการชุมชนของตนเกิดชึ้น เริ่มมีการวางแผนในระยะยาวเกิดขึ้น มีการปกครองเพื่อให้เกิดระบบระเบียบ และให้อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขทุกคน รวมถึงปกป้องพวกพ้องจากภัย การจัดการนี้จะคล้ายกับลักษณะของกองทัพ มีกฎระเบียบและกระบวนการที่ชัดเจน เกิดตำแหน่งของการปกครองขึ้น มีหัวหน้าเผ่า และผู้ที่อยู่ใต้การปกครอง แทนการบังคับหรือขู่ให้กลัว มีการมองผลประโยขน์ในระยะยาวมากกว่าระยะสั้น มีกระบวนการต่างๆ ที่เป็นขั้นเป็นตอนชัดเจน และมักเคารพกรอบ กฎ กติกา อย่างเคร่งครัด ไม่กล้าออกนอกกรอบใดๆ เชื่อในขนบเดิมๆ ไม่ชอบการเปลี่ยนแปลง ยึดถือในสิ่งที่เคยปฎิบัติกันมา
Orange (Achievement) – สีส้ม : องค์กรแห่งจักรกล
องค์กรในลักษณะนี้เป็นองค์กรที่เกิดขึ้นมาในยุคที่มนุษย์พัฒนาสู่ยุคอุตสหากรรม ต้องการผลลัพธ์ที่ชัดเจน แน่นอน ปริมาณมาก ใส่ใจในผลลัพธ์มากกว่ากระบวนการ และยึดติดในผลสำเร็จ ใส่ใจในประสิทธิภาพของการทำงาน และผลลัพธ์ที่มีคุณภาพ ปรับตัวในเรื่องกระบวนการผลิตได้ไว รู้จักนำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดประโยชน์ เพราะหวังผลลัพธ์ที่ยอดเยี่ยม และสร้างผลกำไรที่งดงามนั่นเอง องค์กรนี้จะขับเคลื่อนด้วยยอดขาย ผลกำไร การแข่งขันทางธุรกิจ โดยมักไม่ใส่ใจในทรัพยากรมนุษย์เท่าที่ควร แต่จะมุ่งใส่ใจในผลิภัณฑ์หรือผลผลิตเป็นหลักมากกว่า องค์กรในลักษณะนี้เป็นต้นกำเนิดขององค์กรสมัยใหม่ในยุคปัจจุบัน และถือเป็นองค์กรส่วนใหญ่ที่มีอยู่มากที่สุดในโลกทุกวันนี้
Green (Pluralistic) – สีเขียว : องค์กรแบบครอบครัว
องค์กรในลักษณะนี้เป็นหนึ่งในรูปแบบขององค์กรยุคปัจจุบันที่นับวันจะเพิ่มจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ และมักปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตลอดจนพัฒนาตนเองมาจากองค์กรสีส้มเสียเป็นส่วนใหญ่ เพราะโลกในยุคปัจจุบันนั้นหันมาให้ความสำคัญกับทรัพยากรมนุษย์มากขึ้น ซึ่งนี่ถือเป็นปัจจัยและตัวแปรสำคัญที่จะทำให้องค์กรเกิดการเปลี่ยนแปลงหรือประสบความสำเร็จแบบไร้ขีดจำกัดได้ และมนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิตที่ควรส่งเสริมให้มีคุณภาพชีวิตตลอดจนสุขภาพร่างกายและจิตใจที่ดี การส่งเสริมคุณภาพที่ชีวิตที่ดีจะช่วยส่งเสริมศักยภาพในการทำงานได้ด้วย ซึ่งนั่นจะยิ่งทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เช่นกัน และนั่นก็อาจทำให้เกิดผลผลิตตลอดจนธุรกิจที่ประสบความสำเร็จได้เกินคาดอย่างไม่น่าเชื่อ ที่อาจจะได้ผลกำไรดีกว่าองค์กรแบบสีส้มเสียด้วยซ้ำ
แต่ถึงอย่างนั้นทรัพยากรมนุษย์ก็เป็นปัจจัยที่แปรผันได้ง่ายเช่นกัน และควบคุมได้ยาก ไม่มีอะไรการันตีได้ชัดเจนว่าการให้ความสำคัญในสิ่งนี้จะประสบความสำเร็จเสมอไป หรือได้ผล 100% แต่การให้ความสำคัญกับมนุษย์ด้วยกันก็เป็นสิ่งที่ควรกระทำ และเป็นการดูแลพนักงานให้อยู่ดีมีสุข ทำงานให้กับองค์กรได้ไปนานๆ ไม่มีปัญหาเรื่องแรงงาน เป็นต้น องค์กรในลักษณะนี้จะไม่ได้ยึดถือเงินเป็นพระเจ้าเสมอไป เพราะเงินไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ทุกเรื่องแล้วในยุคนี้ ฉะนั้นการใส่ใจพนักงานในองค์กรในรูปแบบต่างๆ จึงมีความจำเป็น เน้นการดูแลเอาใจใส่ และใส่ใจคุณภาพชีวิตของทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าต่อองค์กร มีการให้คุณค่า และส่งเสริมให้เกิดการพัฒนามากขึ้นเรื่อยๆ รับฟังความคิดเห็นของทุกคน มีการตั้งเป้าหมายร่วมกัน และตัดสินใจร่วมกันทั้งองค์กรโดยยึดหลักทุกคนนั้นเป็นเจ้าขององค์กรร่วมกัน แต่ก็จะมีการแบ่งตำแหน่งบริหารที่ชัดเจน เคารพหน้าที่ซึ่งกันและกัน รับผิดชอบหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด และมีการขับเคลื่อนบริหารองค์กรอย่างเป็นระบบระเบียบ แต่ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน
Teal (Evolutionary) – สีเทอร์ควอยซ์ : องค์กรแบบระบบนิเวศสมบูรณ์แบบ
องค์กรในลักษณะนี้มีลักษณะคล้ายกับยุคที่ยังไม่มีการปกครองแบบองค์กรเกิดขึ้นนั่นคือคล้ายกับหลักระบบนิเวศในธรรมชาติ คล้ายกับลักษณะองค์กรที่มีชีวิต ในขณะเดียวกันมันก็ยังถือเป็นการบริหารองค์กรรูปแบบใหม่ที่เอาข้อดีหลายๆ อย่างมาร่วมกัน เพื่อสร้างระบบการบริหารองค์กรขึ้นเป็นของตนเองไม่เหมือนใคร ไม่มีกฎระเบียบชัดเจนตายตัว แต่จะมีการสร้างกฎระเบียบของตนขึ้นมาให้เกิดความเหมาะสมให้มากที่สุด ไม่มีการปกครองโดยลำดับขึ้นหรือแบ่งตำแหน่ง แต่จะฝึกให้ทุกคนเป็นหัวหน้าตนเอง บริหารงานได้ด้วยตนเอง รวมถึงสามารถตัดสินใจได้ด้วยตนเอง โดยเคารพการตัดสินใจซึ่งกันและกันด้วย ไม่จำเป็นต้องมีผู้จัดการ ไม่จำเป็นต้องมี CEO แต่ทุกคนมีอำนาจหน้าที่เหล่านั้นอยู่ในตัวหมด ใช้ความสามารถของตนเองได้อย่างเต็มที่ มีการปรึกษาหารือ พูดคุยกันอย่างละเอียดชัดเจน จัดการได้ง่าย ปฎิบัติได้ไว ไม่ต้องรอขั้นตอนหรือการตัดสินใจต่างๆ ให้ยุ่งยาก ทำให้บุคลากรคล่องตัว บริษัทเดินไปข้างหน้าได้ไว
ทุกคนมีส่วนสำคัญกับองค์กรเช่นเดียวกันกับองค์กรสีส้ม และให้ความสำคัญกับบุคลากรเช่นเดียวกับองค์กรสีเขียว แต่จะทำงานได้คล่องตัวและไวกว่า เพราะมีการให้เกียรติและเคารพอำนาจซึ่งกันและกัน รวมถึงเปิดโอกาสให้ทำงานรูปแบบใหม่ๆ ได้ ทดลองวิธีการใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ลองผิดลองถูก หรือยอมรับความล้มเหลว นำมาปรับปรุงแก้ไข เพื่อลุกขึ้นเดินหน้าใหม่ได้อีกครั้ง องค์กรลักษณะนี้อาจจะล้มบ่อย แต่มีประสบการณ์สูง และเมื่อถึงเวลาก้าวจะก้าวหน้าได้ไวมาก และสร้างผลสำเร็จได้อย่างไม่น่าเชื่อเช่นกัน ทุกคนมีอิสระในการคิด การเสนอแนะ การปฎิบัติการ รวมถึงการแย้ง ไม่เห็นด้วย ตลอดจนแนะนำการแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด ลักษณะจึงคล้ายกับระบบนิเวศสมบูรณ์แบบที่ไม่มีใครเป็นหัวหน้าใคร ทุกคนเป็นหัวหน้าตัวเอง ทุกคนมีหน้าที่ของตัวเอง มีสิทธิ์ที่จะเติบโตได้อย่างอิสระ ไม่เอาเปรียบรังแกกัน ในขณะที่ทุกชีวิตก็เอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกันและมีส่วนช่วยทำให้ป่านี้สมบูรณ์เติบโต เหมือนกับองค์กรที่เติบโตด้วยพลังของทุกคนนั่นเอง องค์กรลักษณะนี้จะชอบการปฎิวัติสิ่งใหม่ๆ ชอบนวัตกรรม ชอบการแก้ปัญหา ชอบค้นคว้าทอดลอง ค้นพบสิ่งใหม่ๆ ชอบการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้น ชอบการพัฒนา ชอบการปรับปรุง และรักในการเป็นนักสร้างสรรค์
อย่างไรก็ดีในบางครั้งก็มีการแบ่งสีเทอร์ควอยซ์แยกจากสีเขียวหัวเป็ดอย่างชัดเจนและละเอียดขึ้นอีกครั้ง หรือบางครั้งก็มีการรวมสองสีนี้รวมกันมาเป็นสีเดียวไปเลย แต่หัวใจขององค์กรของทั้งสองสีนั้นก็คือหัวใจเดียวกัน นั่นคือหัวใจของนักปฎิวัติ นักพัฒนา นักนวัตกรรม ตลอดจนนักสร้างสรรค์ ที่รวมตัวกันอยู่ภายในบุคลากรทุกคนในองค์กรนี้ และพร้อมที่จะก้าวไปข้างหน้าสู่ความสำเร็จอย่างไม่เกรงกลัวต่ออุปสรรค์ใดๆ
ขณะเดียวกันก็มีการวิเคราะห์ไปในอีกแนวทางว่า อันที่จริงแล้วองค์กรในทุกวันนี้ต่างก็เป็นองค์กรที่อาจมีหลายสีผสมอยู่ภายในองค์กรเดียวกัน องค์กรส่วนใหญ่มักไม่แบ่งตามสีใดสีหนึ่งอย่างชัดเจน เพราะทุกองค์กรต่างก็มีการปรับตัวและพัฒนาตามยุคสมัยทั้งสิ้น เพียงแต่ว่าองค์กรนั้นจะให้ความสำคัญกับการบริหารองค์กรของตนอย่างไร มีหลักการส่วนใหญ่ยืนอยู่บนสีไหนเป็นหลัก และนำสีไหนมาเสริมให้เป็นประโยชน์ ซึ่งหากมองในแง่ดีแล้วก็คือการคัดเลือกที่สิ่งทีที่สุดของแต่ละอย่างนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กรนั่นเอง ที่สำคัญทรัพยากรมนุษย์ทุกคนบนโลกนี้ไม่มีทางเหมือนกัน แต่ละคนมีความแตกต่าง และเป็นปัจจัยที่ไม่เที่ยงตรง แปรผันได้ตลอดเวลา ดังนั้นการปรับตัวตามบุคลากรที่แต่ละองค์กรมีก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะบางอย่างอาจจะเหมาะกับการบริหารบุคลากรอีกแบบหนึ่ง แต่บางคนก็เหมาะกับการบริหารอีกรูปแบบหนึ่ง หรือการผสมผสานให้เหมาะสมกับบุคลากรขององค์กรให้มากที่สุด เพื่อประโยชน์สูงสุดที่องค์กรจะได้รับนั่นเอง
อะไรคือข้อบ่งชี้หรือแสดงจุดเปลี่ยนผ่านของแต่ละขั้น
องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) มีการแบ่งลำดับขั้นตอนเป็น 5 สีใหญ่ๆ ดังที่ได้เสนอไปแล้ว หากถามว่าอะไรคือขอบเขตของการนิยาม หรือข้อบ่งชี้คุณลักษณะของแต่ละสีที่เป็นหลักเกณฑ์อ้างอิงได้ชัดเจนที่สุด รวมถึงเป็นจุดเปลี่ยนสำหรับการขยับจากสีหนึ่งพัฒนาไปสู่อีกสีหนึ่ง ซึ่งสามารถยึดหลักเกณฑ์ได้ดังนี้
โซนสี | ข้อบ่งชีคุณลักษณะ / จุดเปลี่ยนผ่าน |
แดง
(Red) |
การแบ่งลำดับการปกครอง (Division of Labor), การใช้อำนาจควบคุมจากบนลงล่าง (Top-down authority) |
อัมพัน (Amber) | กระบวนการการทำซ้ำในรูปแบบเดิมอย่างสม่ำเสมอ (Replicable Processes), มีโครงสร้างองค์กรที่มั่งคงชัดเจน (Stable Organization Chart) |
ส้ม (Orange) | มีนวัตกรรมใหม่ๆ (Innovation), มีภาระรับผิดชอบและการตรวจสอบได้ (Accountability), มีคุณธรรมตลอดจนมนุษยธรรม (Meritocracy) |
เขียว (Green) | มีการเสริมสร้างและส่งเสริมกำลังใจ (Empowerment), ขับเคลื่อนองค์กรด้วยวัฒนธรรมองค์กรที่สร้างคุณค่าให้แก่กัน (Values-driven Culture), มีคุณค่าทางผลประโยชน์ร่วมกัน (Stakeholder Value) |
เทอร์ควอยซ์ (Teal) | มีการบริหารจัดการตนเองได้โดยไม่ต้องขึ้นตรงต่อใคร (Self-management), มีสุขภาพและคุณภาพชีวิตที่ดี (Wholeness), มีเป้าหมายในการปฎิวัติตลอดจนพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น (Evolutionary Purpose) |
แหล่งข้อมูลอ้างอิง (Reference) : Workology
เราจะสร้างองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ขึ้นได้อย่างไร
เทรนด์ขององค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ และมีหลายองค์กรยุคใหม่ต่างหันมาสร้างองค์ความรู้ในการบริหารจัดการตลอดจนสร้างสรรค์ระบบบริหารของตนเองขึ้นให้มีความเฉพาะตัว หากใครที่อยากจะสร้างองค์กรให้เป็นสีเทอร์ควอยซ์ หรืออยากผสมผสานสีนี้เข้าไปในองค์กรดั้งเดิมของคุณบ้างไม่มากก็น้อยควรจะต้องทำอย่างไรกันบ้าง
- 1. เปิดรับความคิดเห็นที่แปลกใหม่และแตกต่าง : การเปิดรับความคิดเห็นที่แตกต่างจากฐานความคิดเดิมๆ ตลอดจนเปิดยอมรับความคิดเห็นใหม่ๆ เป็นพื้นฐานสำคัญของการเป็นองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) เลยทีเดียว เพราะเรื่องบางเรื่องเราอาจจะยังไม่เคยรู้หรือเคยทดลองทำมาก่อน บางเรื่องเป็นการฉีกกฎหรือรูปแบบขององค์กรเดิมๆ ตามสีอื่นๆ หากเรากลัวที่จะเปลี่ยนแปลง ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นใหม่ๆ หรือไม่กล้าที่จะทดลองสิ่งใหม่ๆ ก็ยากที่จะปรับตัวเองให้เข้าสู่องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ได้
- 2. รักการสร้างสรรค์ ชอบการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ : คุณลักษณะเด่นขององค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ที่เราสัมผัสกันได้ชัดเจนก็คือความต้องการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ๆ อย่างจริงจังและจริงใจ หากมีความคิดแบบนี้แรงกล้าก็มักไม่กลัวการเปลี่ยนแปลงหรือพร้อมรับมือต่อสู้กับทุกอุปสรรค์และสถานการณ์ที่เข้ามา ทำให้สนุกกับการที่จะคิดสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆ ขึ้นมา อยากที่จะสร้างนวัตกรรมขึ้นมาแก้ปัญหาต่างๆ หรือเป็นนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานและโลกใบนี้
- 3. มีการจัดการตนเองได้ดี (Self-Management) : อีกหนึ่งคุณลักษณะสำคัญขององค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ก็คือการที่ทุกคนสามารถจัดการตนเองได้ ทำงานบริหารตนเองได้ ไม่จำเป็นต้องมีหัวหน้าหรือการจัดการแบบระบบอำนาจมาครอบงำ และต้องให้ความเคารพผู้อื่น ไม่เอาเปรียบผู้อื่น รวมถึงยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นได้ด้วย เมื่อทุกคนรับผิดชอบตัวเองได้ ทุกคนสามารถพัฒนาตนเองได้ และส่งเสริมการพัฒนาองค์กรร่วมกันได้ ก็จะเกิดการทำงานแบบองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ที่มีประสิทธิภาพที่สุด
- 4. ให้ความเคารพผู้อื่น : การให้ความเคารพผู้อื่นเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำงานที่ไม่มีระบบผู้จัดการหรือระบบหัวหน้ามาดูแล การให้เกียรติซึ่งกันและกันจะทำให้เกิดความเคารพซึ่งกันและกัน ซึ่งในที่นี้จะหมายถึงการเคารพในความคิดและไอเดียของคนอื่นด้วย เมื่อเราเกิดการให้เกียรติซึ่งกันและกันก็จะเกิดการทำงานที่เอื้อประโยชน์ต่อกันได้ในที่สุด
- 5. ยืดหยุดในระบบการทำงาน : องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) มักมีระบบการทำงานที่ไม่เหมือนกับองค์กรทั่วไป ตลอดจนอาจจะสร้างระบบทำงานใหม่ขึ้นมาเป็นของตัวเอง ในขณะเดียวกันองค์กรในลักษณะนี้ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงระบบทำงานใหม่ตลอดเวลาเช่นกัน พัฒนาสู่สิ่งที่ดีกว่า หรือทดลองการทำงานตลอดจนการบริหารใหม่ๆ ดู เพื่อเรียนรู้และพัฒนาองค์กรไปในตัว หรือปรับใช้ให้เหมาะสมกับการทำงานที่ปรับเปลี่ยนไปในแต่ละวันแต่ละปีให้มากที่สุด ดังนั้นคนที่จะพัฒนาตนเองสู่องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) จะต้องมีความยืดหยุ่นสูง พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนตนเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา และสนุกกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่
- 6. สร้างระบบการทำงานของตนให้แข็งแกร่ง : องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ที่ดีจะต้องมีการบริหารตนเองที่มีประสิทธิภาพด้วย เพราะจะไม่มีใครเข้ามาก้าวก่ายการทำงานหรือบริหารงานของคุณเอง หากบริหารในส่วนของตนไม่มีประสิทธิภาพ ก็อาจทำให้เกิดผลเสียองค์รวมต่อองค์กรได้ เสมือนฟันเฟืองหนึ่งที่บกพร่อง ก็ย่อมทำให้การขับเคลื่อนทั้งองค์กรมีปัญหา เพราะทุกคนต่างก็เป็นฟันเฟืองสำคัญขององค์กร
- 7. มีสันชาติญาณและทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี : องค์กรที่ต้องบริหารจัดการตนเองเป็นหลักนั้นย่อมต้องการคนที่มีสันชาติญาณตลอดจนทักษะในการแก้ปัญหาที่ดี เพราะคุณจะต้องรับผิดชอบในส่วนของตนเองให้ดีที่สุด ในขณะเดียวกันผู้ที่มีทักษะในการแก้ปัญหาที่ยอดเยี่ยมก็มักจะสามารถช่วยเหลือคนอื่นในการแก้ปัญหาได้อย่างรวดเร็ว ว่องไว ทันท่วงทีเช่นกัน ก็จะเป็นการแก้ปัญหาในองค์รวมได้อย่างมีประสิทธิภาพ
- 8. เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และมีการประสานงานที่ดี : หากบุคลากรในองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ไม่มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่คนอื่น ไม่มีความเห็นอกเห็นใจ ไม่มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และไม่มีการประสานงานกันที่ดีและเป็นระบบ องค์กรนั้นก็อาจไม่ต่างจากการแค่มานั่งทำงานร่วมกันในที่เดียวกันเฉยๆ อาจเป็น Co-Working Space มากกว่าเป็น Teal Organization ก็ได้ การที่ทุกคนรับผิดชอบต่อศักยภาพและงานของตนให้ดีที่สุดนั้นคือคุณสมบัติที่ดี แต่หากถ้าทุกคนร่วมมือกันได้ดี ก้าวไปข้างหน้าพร้อมกัน รับผิดขอบส่วนของตนให้ดีที่สุด พร้อมช่วยเหลือคนอื่นไปในตัว และร่วมแรงร่วมใจกันเพื่อบรรลุเป้าหมายเดียวกัน นั่นคือคุณสมบัติสำคัญที่จะทำให้องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) แข็งแกร่งนั่นเอง
- 9. ไม่หยุดพัฒนา ไม่ปิดกั้นการเรียนรู้ : จิตวิญญาณขององค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) คือการไม่หยุดอยู่กับที่ ต้องการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ตอลดจนนวัตกรรมที่ยอดเยี่ยมเสมอๆ ดังนั้นคนที่เหมาะกับองค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) ก็คือคนที่ชอบพัฒนาตนเองอยู่เสมอ พัฒนาสิ่งใหม่ๆ อยากเห็นอะไรดีขึ้น และไม่หยุดที่จะเรียนรู้ และอยากที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ เสมอๆ เรียนรู้สิ่งที่ไม่คุ้นเคย และนำมาใช้ประโยขน์กับตนเองให้ได้
- 10. ไม่ยึดติดกับความสำเร็จจนเกินไป และไม่จมอยู่กับความล้มเหลวจนย่ำแย่ : องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) จะรักการเรียนรู้ รักการลองผิดลองถูกอยู่เสมอ รักการเปลี่ยนแปลง รักการทดลองสิ่งใหม่ๆ ดังนั้นจะมีโอกาสพบกับความล้มเหลวหรือผิดหวังแน่นอน เพราะการทดลองในสิ่งใหม่ๆ ที่ยังไม่เคยมีใครทำ ย่อมเกิดความผิดพลาดได้ แต่หากเกิดความผิดพลาด และล้มเหลว ก็อย่าจมอยู่กับความทุกข์จนย่ำแย่ ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน และใช้ความล้มเหลวมาเป็นบทเรียนในการพัฒนาตนเองให้ดีขึ้น ลุกขึ้นสู้ใหม่ และก้าวไปสู่ความสำเร็จให้ได้ ในขณะเดียวกันก็อย่ายึดติดกับความสำเร็จมากจนเกินพอดี ซึ่งอาจทำให้เกิดอีโก้และการไม่ยอมรับคนอื่นได้ ให้ยินดีกับความสำเร็จ และก้าวหน้าต่อไป ซึ่งเราอาจจะพัฒนาสิ่งอื่นให้ดีขึ้นกว่าเดิมก็ได้ หรือหากมีคนอื่นที่พัฒนาได้ดีกว่าก็ต้องยอมรับ และพัฒนาของตนเองให้ดีขึ้นให้ได้ มีความสำเร็จในวันนี้ ก็ย่อมต้องมีความสำเร็จในวันหน้าอื่นๆ ที่รออยู่ เช่นเดียวกันกับมีความล้มเหลวในวันนี้ ก็มีความล้มเหลวอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องเผิญ และความสำเร็จกับความล้มเหลวนั้นก็ไม่ได้อยู่กับเราตลอดไป
บทสรุป
องค์กรสีเทอร์ควอยซ์ (Teal Organization) เป็นหลักการบริหารองค์กรยุคใหม่ที่กำลังเป็นเทรนด์ที่ได้รับความนิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งเกิดการปฎิวัติทางวิชาชีพ (Career Disruption) ขนานใหญ่ทั่วโลกทำให้ทุกอย่างเกิดการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงไปมากมายทั้งองค์กรขนาดใหญ่และองค์กรขนาดเล็ก การปรับเปลี่ยนรูปแบบในการบริหารองค์กรให้เหมาะสมกับการเปลี่ยนแปลงโลกตลอดจนให้เหมาะสมกับคนยุคใหม่นั้นเป็นสิ่งสำคัญ แล้วแน่นอนว่าทรัพยากรมนุษย์คือปัจจัยสำคัญที่สุดของบริษัท คือกุญแจแห่งความสำเร็จขององค์กร ที่หากมีการบริหารงานบุคคลที่ดีและเหมาะสม ปรับใช้ให้ถูกต้อง เข้ากับยุคสมัย และการพัฒนาของโลกใบนี้ ก็ย่อมสร้างความสำเร็จให้กับทุกองค์กรได้แน่นอน