ความคาดหวังของพนักงานยุคใหม่ในโลกการทำงานที่ไม่เหมือนเดิม

HIGHLIGHT
  • องค์กรควรรับฟังความคิดเห็นตลอดจนข้อเสนอแนะจากพนักงานอย่างตั้งใจ จริงใจ และใส่ใจ แล้วก็นำมาปรับปรุงแก้ไข ตอบสนองให้ทันท่วงที พัฒนาให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น ซึ่งทั้งองค์กรและพนักงานต่างก็ได้รับผลประโยชน์ที่ดีทั้งคู่
  • เงินเดือนไม่ใช่ปัจจัยสำคัญเสมอไปที่จะดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานกับองค์กร ตลอดจนซื้อใจพนักงานให้ทำงานกับองค์กรให้นานที่สุด แต่องค์กรก็ควรให้เงินเดือนที่เหมาะสมกับงาน ไม่เอาเปรียบพนักงาน เพื่อให้เกิดความพึงพอใจทั้งสองฝ่ายที่ดีที่สุด
  • การกล้าที่จะทำอะไรใหม่ๆ ส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลงสู่สิ่งที่ดีกว่าเสมอ มีความท้าทายในการทำงานมากกว่าความเบื่อหน่าย อาจเป็นสิ่งที่ดึงดูดให้คนอยากมาร่วมงานในยุคนี้มากกว่า
  • ความยืดหยุ่นก็เป็นอีกปัจจัยที่สำคัญในการทำงานในยุคนี้ องค์กรที่มีความยืดหยุ่นสามารถเจรจาข้อตกลงกับพนักงานให้เหมาะสมกับแต่ละคนได้ ทำให้องค์กรมีโอกาสได้ร่วมงานกับคนหลากหลายประเภท หลากหลายความสามารถ และองค์กรได้รับสิ่งดีๆ ในหลากหลายมิติได้ด้วย

ความคาดหวังของพนักงานยุคใหม่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

อย่าแก้ไขปัญหาเมื่อมันสายไปแล้ว … คำนี้ควรเป็นคำเตือนใจขององค์กรในการทำงานตลอดจนบริหารบุคลากรของตนเองเสมอ บางครั้งหลายองค์กรก็มองที่งานและผลประโยชน์ของตนเองเป็นหลักโดยไม่ใส่ใจเลยว่าพนักงานของตนจะทำงานอย่างไร หนักไปหรือเปล่า หรือรู้สึกไม่พอใจอะไรหรือไม่ และก็อาจทำให้เกิดการลาออกได้ในที่สุด แต่ในขณะเดียวกันหลายองค์กรก็เอาใจใส่พนักงานอย่างดีเยี่ยม รับฟังความคิดเห็น ปฎิบัติตามข้อเสนอแนะ และรักษาพนักงานของตนไว้ให้ทำงานร่วมกันให้ได้นานที่สุด เพื่อที่จะให้บุคลากรเหล่านั้นทำงานให้องค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในที่สุดด้วยเช่นกัน แล้วอะไรล่ะที่จะช่วยมัดใจพนักงานให้ทำงานอยู่ร่วมกับบริษัทได้นานขึ้น แล้วแท้ที่จริงแล้วพนักงานต้องการให้องค์กรตอบสนองอะไรกับตนเองบ้าง ลองมาดูกัน

เงินนั้นสำคัญหรือไม่?

ทำไม HR ถึงใช้เงิน Counteroffer เมื่อพนักงานลาออก

คำถามนี้จะผุดขึ้นมาบ่อยครั้งเมื่อเราพูดถึงการบริหารงานบุคคลหรือการจัดการองค์กร หลายองค์กรใช้อัตราจ้างหรือเงินเดือนเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดคนมาทำงานกับตน แน่นอนว่ามันเป็นปัจจัยสำคัญไม่แพ้เรื่องอื่นๆ แต่หากองค์กรมุ่งอยู่แค่ประเด็นนี้เป็นหลักโดยไม่สนใจเรื่องอื่น องค์กรก็อาจจะได้แต่ลูกจ้างที่หน้าเงิน เห็นเงินเป็นหลัก หากมีบริษัทไหนให้มากกว่าก็ย้ายไปได้ง่ายๆ ซึ่งนั่นอาจทำให้เขาทำงานให้กับบริษัทของคุณแบบขอไปที กินเงินเดือนเฉยๆ เพื่อรอรับข้อเสนอที่ดีกว่า ที่สำคัญมันจะทำให้การบริหารงบประมาณขององค์กรประสบปัญหาได้ เพราะคุณต้องใช้เงินมาทุ่มแก้ปัญหานี้ และจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามความต้องการซื้อพนักงานขององค์กรเอง

จะว่าไม่ใช่เรื่องสำคัญก็คงเป็นไปไม่ได้ เพราะมนุษย์เงินเดือนต้องกินต้องใช้ แล้วเงินเดือนนั้นก็ควรได้รับอยู่ในเรตที่เหมาะสม ไม่เอาเปรียบกันและกัน ที่สำคัญมนุษย์งานยุคใหม่ก็ไม่ได้ตัดสินใจทำงานในองค์กรที่ให้เงินเดือนดีแต่ไม่น่าทำงานด้วย งานไม่ท้าทาย น่าเบื่อ หรือบริหารจัดการองค์กรไม่ดีเสมอไป เด็กยุคใหม่นี้มีปัจจัยในการเลือกทำงานกับองค์กรหนึ่งๆ มากกว่าแค่เรื่องของเงินเท่านัน เขามักจะดูเรื่องของสวัสดิการที่นอกเหนือจากสวัสดิการพื้นฐาน อย่างเช่นมีห้องออกกำลังกาย, มีข้าวกลางวันบริหารฟรี, หรือแม้แต่มีการทำงานแบบ Work at Home ให้ด้วย, ตลอดจนเรื่องสภาพแวดล้อมในการทำงาน, สถานที่ทำงาน, ทำเลที่ตั้ง, ไปจนแม้กระทั่งการตกแต่งออฟฟิศ … ซึ่งแน่นอนว่าในยุคนี้เงินไม่ใช่ปัจจัยหลักในการใช้ดึงดูดใจพนักงานแน่นอน

พนักงานต้องการให้องค์กรดูแลเอาใจใส่หรือปรับปรุงเรื่องใดให้ดีขึ้นบ้าง

การสื่อสาร HR

หากองค์กรเปิดโอกาสให้พนักงานเสนอแนะในสิ่งที่องค์กรควรปรับปรุง หรือเอาใจใส่เพิ่มเติม ตลอดจนทำให้พนักงานเกิดความพึงพอใจที่เหมาะสม สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นเสียงสะท้อนความต้องการของพนักงานได้ดีทีเดียว

1.องค์กรมีเป้าหมายชัดเจน :

เรามักจะเห็นองค์กรยุคใหม่ลุกขึ้นมาแถลงเป้าหมายประจำปีอย่างชัดเจนว่าเขาจะทำอะไรอย่างไรบ้าง และนั่นกลับกลายเป็นกลยุทธ์สำคัญในการดึงดูดคนให้อยากมาร่วมงานกับองค์กรได้อย่างมีพลังทีเดียว ซึ่งเมื่อเขาเชื่อมั่นในองค์กรแล้ว ปัจจัยด้านอื่นๆ ก็แทบจะไม่สำคัญต่อการตัดสินใจเลยด้วยซ้ำ และยิ่งทำให้พนักงานอยากทุ่มเทตนเองเพื่อทำงานให้บริษัทประสบความสำเร็จยิ่งขึ้นไปอีก องค์กรที่เป็นผู้นำด้านนี้อย่างชัดเจนก็เช่น Apple, Facebook หรือแม้แต่ Samsung ที่เริ่มมีบทบาทมากขึ้น ในไทยเององค์กรที่ขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างชัดเจนและมีพลังขึ้นเรื่อยๆ ก็อย่างเช่น AIS, LINE, Kbank เป็นต้น

2.เปิดโอกาสให้แสดงความสามารถ และส่งเสริมศักยภาพที่โดดเด่น :

คนรุ่นใหม่ส่วนใหญ่มักต้องการพื้นที่แสดงความสามารถของตนเอง แสดงฝีมือ แสดงศักยภาพให้องค์กรและภายนอกได้เห็น สิ่งนี้ไม่ใช่การโอ้อวด อวดตัว หรือแม้แต่มีอีโก้แต่อย่างใด แต่องค์กรควรเปิดโอกาสให้คนเหล่านี้ได้แสดงศักยภาพของตนอย่างเต็มที่ หากเจอศักยภาพที่โดดเด่นก็ควรสนับสนันส่งเสริมให้พัฒนาต่อยอดยิ่งขึ้นไปอีก รวมถึงสนับสนุนให้ถูกทิศทางเพื่อโอกาสความสำเร็จที่ยอดเยี่ยมในอนาคตด้วย  แล้วโอกาสในการแสดงศักยภาพนั้นก็ต้องไม่คำนึงถึงปัจจัยความอาวุโสหรือประสบการณ์การทำงานเป็นหลักด้วย แต่ให้โอกาสจากความสามารถเป็นหลัก ซึ่งเป็นการสร้างความเท่าเทียมในองค์กรได้ดีกว่า และทำให้เด็กรุ่นใหม่มีโอกาสเติบโตได้เช่นกัน

3.ติชม-แนะนำ มากกว่าตำหนิ-ดุด่าว่ากล่าว :

ไม่มีใครชอบให้ใครด่าหรือพูดไม่ดีใส่ และไม่มีใครอยากให้ใช้อารมณ์นำเหตุผลในการทำงาน องค์กรที่ดีควรมีการเฝ้าดูบุคลากรในด้านนี้ โดยเฉพาะบุคลากรที่เป็นหัวหน้าหรือผู้บริหารที่มีโอกาสเครียดสูงและใส่อารมณ์แทนการให้เหตุผลหรือพูดคุยด้วยดี แน่นอนว่าพนักงานใหม่ย่อมไม่รู้อะไรเท่าคนที่อยู่มานาน มีโอกาสทำผิดพลาดได้สูงและบ่อยครั้ง ดังนั้นไม่ควรดุด่าว่ากล่าวจนเกินพอดี ใส่อารมณ์มากกว่าการอธิบายเหตุผลที่ควรจะเป็น ควรเปลี่ยนมาเป็นการแนะนำ ทำในสิ่งที่ถูกต้อง หากผิดก็ชี้ให้เห็นความผิดด้วยเหตุผล และแนะนำวิธีการแก้ปัญหาไปพร้อม เพื่อให้เกิดการเรียนรู้และพัฒนา ตามนิสัยของคนไทยส่วนใหญ่บางทีเรื่องติหรือเรื่องด่ามักใส่อารมณ์เกินเหตุ รวมถึงทำให้เป็นเรื่องใหญ่โดยใช่เหตุ แต่เรื่องดีที่ควรชมควรยกย่องกันกลับนิ่งเฉย หรือปล่อยผ่าน ทั้งๆ ที่เรื่องดีก็ควรใส่ใจและชื่นชมให้เหมาะสม เพื่อให้กำลังใจในการทำสิ่งที่ดีนั้น และต่อยอดในการทำดียิ่งขึ้น การชมก็ไม่ใช่ชมจนเหลิง หรือจะชมไปเสียทุกเรื่อง ควรชมอย่างมีเหตุมีผลด้วย ชมในการทำงานที่ดี ชมบนพื้นฐานความเป็นจริง ไม่ใช่ชมเพื่อเอาใจ หรือชมเพื่อเกิดผลประโยชน์อื่นๆ ควรชื่นชมให้เป็น ชื่นชมให้เกิดผลที่ดี

4.ไม่เบียดเบียนเวลาส่วนตัว :

คนในยุคนี้ทำงานจนไม่มีการแบ่งเวลากันเยอะ เจ้านายบางคนบ้างานจนทำงานล่วงเวลาเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่แย่ไปกว่านั้นก็คือการบังคับให้ลูกน้องอยู่ล่วงเวลาด้วย หรือไม่ก็มีกฎเหล็กกลายๆ ว่าทำงานไม่เสร็จก็ไม่กลับบ้าน ถึงแม้จะไม่ได้บังคับแต่ก็ทำให้ทุกคนต้องอยู่เลยเวลากันจนเคยชิน การทำงานล่วงเวลาโดยมากในยุคนี้มักไม่มีเงินล่วงเวลาให้ด้วย มันดูเป็นการเอาเปรียบพนักงานอยู่พอสมควร หรือแม้แต่การทำงานในวันเสาร์อาทิตย์โดยไม่มีความเกรงใจลูกน้อง นั่นก็คือการเบียดเบียนเวลาส่วนตัวมากจนเกินไป องค์กรควรเคารพสิทธิ์เรื่องเวลาทำงานในตรงนี้ด้วย

5.ทำงานเป็นเวลา มีระบบ ระเบียบชัดเจน :

ข้อนี้ขยายผลจากข้อที่แล้ว บริษัทควรมีเวลาการทำงานที่ชัดเจน ตรงตามกฎ ระเบียบ ตลอดจนข้อตกลงที่ทำกันไว้ การมีเวลาทำงานที่ชัดเจนนอกจากจะสร้างวินัยในการทำงานร่วมกันที่ดีแล้ว ยังทำให้ทุกคนสามารถบริหารเวลาตัวเองได้อิสระด้วย วางแผนในการไปทำกิจกรรมอื่นๆ ได้โดยไม่ต้องกังวล และควรเคารพเวลาซึ่งกันและกัน

6.ให้สวัสดิการที่เป็นประโยชน์ :

ทุกวันนี้หลายองค์กรมีสวัสดิการที่ให้กับพนักงานมากมาย จึงถึงกับว่าพนักงานบางคนไม่รู้เลยด้วยซ้ำว่าตนเองมีสิทธิ์หรือได้รับสวัสดิการอะไรบ้าง สำหรับยุคนี้สวัสดิการมากมายนั้นไม่สำคัญเท่าสวัสดิการที่มีประโยชน์ที่แท้จริงต่อบุคลากร องค์กรควรคัดสรรสวัสดิการที่ดีและมีประโยชน์ที่จับต้องได้ชัด เห็นผลได้จริง เพื่อให้พนักงานได้รับผลประโยชน์นั้นได้ทันที อย่างเช่น องค์กรอาจจะจัดสวัสดิการห้องสันทนาการไว้ให้ในออฟฟิศ ให้พักผ่อน ดูหนัง เล่นเกมได้ อาจจะดีกว่าการให้สวัสดิการตั๋วหนังไปดูที่โรงภาพยนตร์ หรือสวัสดิการเพิ่มประกันสุขภาพโรคออฟฟิศซินโดรมให้ แต่ไม่ได้รับคุณค่าโดยตรงทันที จับต้องได้ยาก เป็นต้น และการพักผ่อนก็ทำให้พนักงานได้ผ่อนคลาย เป็นประโยชน์ต่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ด้วย

7.มีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานและสายอาชีพ :

มนุษย์ทุกคนต้องการความก้าวหน้าในชีวิตทั้งนั้น ซึ่งงานเป็นส่วนหนึ่งของความก้าวหน้าที่มนุษย์ต้องการ องค์กรที่มีเส้นทางความก้าวหน้าของบุคลากรที่ชัดเจน มีโอกาสเติบโตที่เห็นได้ชัด มีเส้นทางการพัฒนาสาขาอาชีพที่มองเห็นอนาคตได้ ซึ่งจะสร้างความมั่นคงตลอดจนความก้าวหน้าในระยะยาวได้ องค์กรนั้นก็มีโอกาสที่คนอยากจะร่วมงานด้วยมาก ในทางกลับกันหากยังไม่มีโอกาสชัดเจน เมื่อองค์กรเห็นศักยภาพหรือความสามารถในตัวบุคลากร ก็อาจจะมอบโอกาสหยิบยื่นให้ก่อนก็ได้เช่นกัน ทั้งโอกาสความก้าวหน้าตามทิศทางเดิมของงานที่วางไว้ ตลอดจนโอกาสใหม่ๆ ที่ท้าทายและไม่เคยมีมาก่อน

8.มีการส่งเสริมพัฒนาทักษะวิชาชีพ ส่งเสริมการศึกษา ตลอดจนส่งเสริมการพัฒนาตนเอง :

ทุกคนต้องการการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ โดยเฉพาะโลกที่มีองค์ความรู้มากมายในปัจจุบัน และมีแหล่งเรียนรู้อีกนับไม่ถ้วน หากองค์กรมีการส่งเสริมพัฒนาทักษะวิชาชีพ ตลอดจนพัฒนาตนเองในด้านต่างๆ ก็จะทำให้พนักงานมีความสุขในการทำงานและได้ก้าวหน้าไปเรื่อยๆ รวมถึงด้านการศึกษา หากองค์กรมีการส่งเสริมการเรียนตลอดจนการเรียนรู้ให้กับพนักงานด้วย ก็จะเป็นการดึงดูดใจให้อยากร่วมงานได้เช่นกัน ตลอดจนรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรในระยะยาวได้ดีอีกด้วย

9.ส่งเสริมความคิดริเริ่มสร้างสรรค์หรือไอเดียใหม่ๆ :

คนยุคนี้เป็นคนที่ชอบคิดอะไรใหม่ๆ ทำอะไรที่ท้าทาย สร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เกิดขึ้นเสมอ องค์กรควรส่งเสริมให้พนักงานได้ลองเสนอไอเดียใหม่ๆ เปิดโอกาสให้ได้เสนอความคิดที่ออกจากกรอบเดิมๆ บ้าง ตั้งแต่เรื่องวิธีการทำงานไปจนถึงเรื่องผลิตภัณฑ์ที่น่าสนใจ หรือแม้แต่เรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็ได้ นอกจากจะเป็นการฝึกการคิด ฝึกการสร้างสรรค์ ฝึกทักษะการแก้ปัญหาแล้ว ก็ยังทำให้ไม่เบื่อกับงานได้ด้วย องค์กรที่มีการส่งเสริมความคิด ไอเดีย การสร้างสรรค์ มักจะมีนวัตกรรมใหม่ๆ เกิดขึ้นได้เสมอ และนั่นทำให้องค์กรเกิดการพัฒนาก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ ด้วย

10.ความยืดหยุ่น :

ในยุคนี้เป็นยุคที่ทุกองค์กรต่างมีศาสตร์ตลอดจนวิธีการบริหารเฉพาะตัวกันมากขึ้น ทำให้หลายๆ อย่างมีความยืดหยุ่นได้ ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน คนรุ่นใหม่ต้องการความยืดหยุ่นสูง หากองค์กรมองว่าเป็นความไม่มีวินัย หรือเป็นการต่อรองที่ทำให้ยุ่งยาก ก็อาจทำให้เสียโอกาสได้คนดีมีความสามารถไปได้เหมือนกัน เพราะคนเหล่านี้ต้องการความท้าทาย และรู้จักบริหารตนเอง ซึ่งการที่เขาต่อรองนั้นบางทีอาจมีการวางแผนชีวิตไว้แล้ว ไม่ได้ต่อรองเพื่อความขี้เกียจ หรือเห็นแก่ตัว องค์กรที่มีความยืดหยุ่นสูงมีโอกาสจะได้คนหลากหลายประเภทมาร่วมงานด้วย ทำให้งานมีศักยภาพมากขึ้นกว่าองค์กรที่เคร่งครัดจนเกินเหตุ ก็อาจจะได้แต่พนักงานรูปแบบเดิมๆ ที่เคยชินกับระบบ เฉื่อยชา ทำงานนอกกรอบไม่เป็น การให้ความยืดหยุ่นกับพนักงานนี้เป็นได้ตั้งแต่เรื่องเวลาการทำงาน การเข้าออกงาน การทำงานแบบฟรีแลนซ์ การทำงาน Work from Home หรือแบบผสมผสาน เป็นต้น นอกจากนี้ก็มีความยืดหยุ่นในรูปแบบต่างๆ ที่กำลังเป็นที่นิยมในยุคนี้เพิ่มขึ้นก็เช่น การให้สิทธิ์ Leave without pay หยุดระยะยาวโดยไม่รับเงินเดือน, การให้สิทธิ์ลาไปทำกิจกรรมการกุศลโดยไม่คิดวันลาและตัดเงินเดือน, การให้เลื่อนตำแหน่งตามความสามารถไม่ใช้อายุการทำงานในองค์กรหรือความอาวุโส, การให้สิทธิ์หารายได้เพิ่มเติมจากการรับงานนอกได้ (เป็นพนักงานประจำที่สามารถรับฟรีแลนซ์จากที่อื่นได้อย่างเปิดเผย) โดยที่ยังรับผิดชอบงานบริษัทได้ดีไม่มีปัญหา ไม่กินเวลาทำงานบริษัท หรือทำให้งานของบริษัทเสีย เป็นต้น

11.รับฟังความคิดเห็นพนักงาน และ Action อย่างเหมาะสม รวดเร็ว :

พนักงานของทุกองค์กรต้องการให้องค์กรรับฟังความคิดเห็นตนเสมอ ทั้งการเสนอความคิดใหม่ๆ และการ feedback เรื่องปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้น ในยุคนี้จริงอยู่ที่ว่าทุกองค์กรต่างก็บอกว่าเปิดรับฟังความคิดเห็นของพนักงานทุกคน แต่สิ่งที่ต่างกันก็คือองค์กรไหนที่จะรับฟังความคิดเห็นอย่างตั้งใจ ใส่ใจ และ Action ในสิ่งที่พนักงานสะท้อนไป แก้ไขปัญหาอย่างเหมาะสม และตอบสนองอย่างรวดเร็ว เพราะนั่นเป็นการแสดงถึงความใส่ใจขององค์กรได้เป็นอย่างดีทีเดียว ไม่ใช่รับฟังเฉยๆ ทำหูทวนลม แล้วไม่ทำอะไรเลย ไม่เกิดประโยชน์อะไร องค์กรแบบนี้พนักงานมีแต่จะเบื่อหน่าย และอยากย้ายไปทำงานที่อื่น หรือไม่ก็สร้างนิสัยให้พนักงานอยู่เฉยๆ ไม่มี feedback ใดๆ เพราะพนักงานต่างก็รู้ดีว่าถึง feedback ไปก็ไม่มีอะไรเกิดขึ้นอยู่ดี

12.กล้าที่จะลอง พร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง :

องค์กรที่มีความกล้ามักเป็นองค์กรที่ท้าทายสำหรับคนยุคใหม่เสมอ องค์กรที่พร้อมจะลองทำสิ่งใหม่ๆ ร่วมกัน พร้อมที่จะลองผิดลองถูกไปด้วยกัน ไม่กลัวความล้มเหลว ส่งเสริมให้ลองทำสิ่งใหม่ๆ ทิศทางใหม่ๆ ดู จะทำให้งานท้าทายและสนุกขึ้น ไม่น่าเบื่อ หรือล้มเหลวแล้วก็ยังมีกำลังใจหาทางใหม่ในการลุยต่อ อีกอย่างที่เป็นคุณสมบัติองค์กรที่คนยุคนี้ต้องการก็คือพร้อมที่จะเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะตัดสินใจรวดเร็ว พร้อมที่จะทำในสิ่งที่ไม่คุ้นเคย หรือพร้อมที่จะเปลี่ยนสิ่งเดิมๆ ที่ทำมานาน สู่สิ่งที่ดีกว่าที่จะทำให้องค์กรประสบความสำเร็จยิ่งขึ้น การกล้าเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแต่รอบคอบนั้นเป็นสิ่งที่องค์กรควรมี เพราะโลกเปลี่ยนแปลงไปทุกวัน แล้วก็มีคนอีกจำนวนมากเป็นพลังในการเปลี่ยนแปลงที่ดีที่องค์กรควรให้โอกาสมาร่วมงานด้วย หรือไม่ก็เปิดโอกาสให้กับคนในองค์กรที่มีศักยภาพในการเสนอการเปลี่ยนแปลงและพร้อมจะปรับปรุงให้ทันท่วงที

บทสรุป

การสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน (Employee Experience)

“องค์กรของคุณฟังเสียงพนักงานบ้างหรือเปล่า แล้วพนักงานอย่างคุณล่ะเสนอแนะสิ่งที่ดีให้กับองค์กรบ้างหรือยัง?”

หากทั้งองค์กรและพนักงานทำทั้งสองอย่างแล้ว การเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน ตลอดจนร่วมหาวิธีแก้ไขปัญหาให้ดีขึ้น ย่อมเกิดประโยชน์ต่อทั้งบุลากรและองค์กรได้อย่างดีเยี่ยม องค์กรที่ตั้งใจฟังปัญหาหรือข้อเสนอแนะต่างๆ ของพนักงาน เปิดใจรับฟังทั้งเรื่องดีและเรื่องแย่ ให้โอกาสพนักงานประเมินตลอดจน Feedback ทุกเรื่องได้อย่างยุติธรรม และนำผลประเมินนั้นมาปฎิบัติ แก้ไข ส่งเสริม ตลอดจนตอบสนองในทิศทางที่ถูกที่ควร ทิศทางที่เหมาะสมอย่างจริงจังนั้น พนักงานย่อมรู้สึกได้ถึงการเอาใจใส่ดูแลขององค์กร ตลอดจนให้คุณค่ากับตนเองด้วย และพนักงานก็จะมอบสิ่งดีๆ ให้กับองค์กรในที่สุด

การมัดใจพนักงานให้รักองค์กรตลอดจนทุ่มเทให้กับการทำงานอย่างเต็มใจและอยากร่วมงานกันในระยะยาวนั้น ปัจจัยสำคัญไม่ใช่เรื่องเงินเพียงอย่างเดียว ยังมีปัจจัยอีกมากมายที่องค์กรควรใส่ใจและใช้เป็นกลยุทธ์ในการครองใจพนักงานได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วอาจทำให้องค์กรประหยัดงบประมาณโดยรวมมากกว่าเสียด้วยซ้ำ ท้ายที่สุดแล้วพนักงานทุกคนต่างก็ต้องการการดูแลที่ดี ซึ่งการดูแลนั้นไม่ได้วัดจากมูลค่าของเงินที่ทุ่มให้ แต่เป็นมูลค่าของใจที่มอบให้ต่างหาก แล้วท้ายที่สุดก็จะเกิดการดูแลซึ่งกันและกันอย่างดีที่สุดนั่นเอง

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง