Search
Close this search box.

20 เคล็ดลับกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work Life Balance)

HIGHLIGHT
  • Work Life Balance หรือการแบ่งเวลาในการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดี  มีส่วนสร้างวินัยในการทำงานที่ดี และมีระบบระเบียบในการทำงานที่มีประสิทธิภาพ
  • สุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และ สุขภาพจิตใจที่ดี ทำให้เราทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ สร้างศักยภาพให้กับองค์กรได้ในระยะยาว ซึ่งสิ่งเหล่านี้มาจากการสร้างความสมดุลในการทำงานและการใช้ชีวิตที่ดีอีกด้วย
  • องค์กรสามารถช่วยส่งเสริม Work Life Balance ที่ดีได้ด้วยวิธีการต่างๆ มากมาย ซึ่งท้ายที่สุดพนักงานที่มีสมดุลชีวิตที่ดีจะสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และสร้างประโยชน์ให้กับองค์กรได้อย่างดีเยี่ยมในระยะยาวได้ด้วย

20 เคล็ดลับกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work Life Balance)

ในยุคก่อนนั้นค่านิยมยิ่งทำงานหนักยิ่งดี ทำให้ทุกคนทุ่มเทกับการทำงานแบบไม่คิดชีวิต ไม่รู้วันรู้เวลา เพื่อทำทุกอย่างให้กับองค์กรอย่างไม่ลืมหูลืมตา นั่นทำให้คนคนนั้นประสบความสำเร็จในงานก็จริง แต่ท้ายที่สุดแล้วชีวิตส่วนตัวกลับล้มเหลวและสูญหายไป ซ้ำยังสุขภาพย่ำแย่แบบที่ไม่มีใครมาดูแลแทนคุณได้ ยุคนี้จึงเริ่มมีการปรับตัวเพื่อสร้างสมดุลให้กับชีวิตกันใหม่ด้วยแนวคิด Work Life Balance ที่ทุกคนควรจะชั่งน้ำหนักแบ่งเวลาให้ดีระหว่างชีวิตส่วนตัวและการทำงานให้เกิดความสมดุลให้มากที่สุด

8 : 8 : 8

8 ชั่วโมง > สำหรับการการทำงาน

8 ชั่วโมง > สำหรับการการผ่อนคลาย-สันทนาการ

8 ชั่วโมง > สำหรับการนอนหลับ-พักผ่อน

ใน 1 วัน คนเรามีเวลา 24 ชั่วโมงเท่ากัน แต่จะทำอย่างไรให้บริหารเวลาได้คุ้มค่าที่สุด … สูตร 8 : 8 : 8 นี้ คือสูตรสร้างสมดุลให้กับชีวิตที่มีการแบ่งเวลาได้ดีและเหมาะสมที่สุดเลยก็ว่าได้ เป็นการบริหารจัดการชีวิตที่มีประสิทธิภาพทีเดียว แต่ใครจะคาดคิดว่าสูตรยอดนิยมนี้จะเป็นสูตรคลาสสิกอมตะที่เกิดขึ้นมานานนับร้อยปีแล้ว ซึ่งแนวคิดการทำงาน 8 ชั่วโมงต่อวันนี้เกิดขึ้นมาตั้งแต่สมัยปี ค.ศ.1810 โดยผู้ที่คิดค้นหลักการนี้ขึ้นมาก็คือ โรเบิร์ต โอเวน (Robert Owen) นักเศรษฐศาสตร์และนักปฏิรูปทางสังคมชาวอังกฤษ โดยเขาได้ตั้งสโลแกนในการดำเนินชีวิตที่มีคุณภาพไว้ว่า Eight hours labour, Eight hours recreation, Eight hours rest – ทำงาน 8 ชั่วโมง, สันทนาการ 8 ชั่วโมง, พักผ่อน 8 ชั่วโมง” ซึ่งมันกลายมาเป็นมาตรฐานของการสร้างสมดุลให้กับชีวิตตลอดจนการแบ่งเวลาในการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดมาจนถึงปัจจุบัน

20 เคล็ดลับกับการสร้างสมดุลให้ชีวิตและการทำงาน (Work Life Balance)

การสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงานนั้นไม่เพียงแค่มีประโยชน์ต่อองค์กรเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ต่อตัวบุคลากรเองด้วย ทั้งในด้านสุขภาพกายและสุขภาพใจ ซึ่งเมื่อพนักงานมีคุณภาพชีวิตที่ดีก็ย่อมส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพได้มากขึ้นเช่นกัน และผลดีก็จะเกิดขึ้นกับองค์กรในที่สุด เราลองมาดูเคล็ดลับในการสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงานทั้งในมุมของพนักงาน และมุมขององค์กร ที่จะร่วมสร้างแนวคิด Work Life Balance ที่ดีให้เกิดขึ้นกับองค์กรได้อย่างไร

ความคาดหวังของพนักงานยุคใหม่ในโลกที่ไม่เหมือนเดิม

เคล็ดลับสำหรับพนักงาน

  • 1. แบ่งเวลางานกับเวลาพักผ่อนให้เป็น : การแบ่งเวลาให้เป็นเป็นสิ่งสำคัญที่สุดในชีวิตเลยก็ว่าได้ เราควรรู้จักแบ่งเวลาการทำงานกับการพักผ่อนและผ่อนคลายให้เหมาะสม อย่าโหมทำงานหนักมากเกินความจำเป็น เพราะนั่นจะเป็นบ่อเกิดของสุขภาพกายที่ย่ำแย่ได้ การรู้จักแบ่งเวลาให้เป็นยังเป็นการฝึกวินัยในตนเองอีกด้วย การทำงานอย่างมีระบบระเบียบอาจมีประสิทธิภาพกว่าทำงานหนักแต่ไม่มีระเบียบวินัย ถ้าหากรู้จักแบ่งเวลาแล้วก็จะทำให้ชีวิตสมดุลมากขึ้นได้
  • 2. พักเบรกระหว่างทำงาน : การหมั่นหาเวลาพักเบรกระหว่างทำงานบ้างก็ถือว่าเป็นการช่วยเพิ่มความสมดุลในการทำงานกับการพักผ่อนได้ดีอีกวิธีหนึ่ง เพราะการนั่งแช่อยู่กับงานเป็นเวลานานๆ ไม่ไปไหนเลยนั้นจะทำให้สุขภาพร่างกายแย่ได้ เมื่อเจ็บป่วยชีวิตก็ไร้ความสุข การหมั่นพักเบรกใช้เวลาสักครู่ ไปเข้าห้องน้ำ ไปดื่มน้ำ ไปเดินเล่น ไปนั่งพักผ่อนชั่วคราว อาจทำชั่วโมงละครั้ง ครั้งละ 5 นาที ถึงแม้จะเป็นเวลาเพียงน้อยนิด แต่ก็ช่วยลดความตึงเครียดในการทำงาน หรือเปลี่ยนอิริยาบทได้บ้าง เพื่อให้ร่ายกายได้ขยับ สายตาได้พัก ทำให้สุขภาพไม่แย่ลง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพขึ้น
  • 3. พยายามไม่เอางานกลับมาทำที่บ้าน : หากไม่จำเป็นไม่ควรเอางานติดไม้ติดมือกลับไปทำที่บ้านด้วย นอกจากจะไม่ได้พักผ่อนแล้ว ยังสร้างวินัยไม่ดีให้กับชีวิต และสร้างระบบการทำงานที่ไม่ดีให้กับองค์กรในระยะยาวด้วย ช่วงเวลาที่ควรพักผ่อนก็ควรได้รับการพักผ่อนอย่างเต็มที่ ควรมีเวลาคลายเครียดจากงาน และไม่เสพติดงานจนเกินพอดี นั่นเป็นผลเสียต่อตนเองและผู้อื่น ตลอดจนองค์กรอย่างไม่รู้ตัว
  • 4. ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ : ร่างกายเป็นเครื่องมือที่สำคัญที่สุดอย่างหนึ่งสำหรับชีวิตมนุษย์ หากร่างกายย่ำแย่ก็เหมือนเครื่องจักรที่พัง ทำงานไม่ได้ การหมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอจะทำให้มีสุขภาพดี ร่างกายแข็งแรง ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งยังเป็นกิจกรรมที่มีประโยชน์ ทำให้เราใช้เวลาไปทำสิ่งอื่นที่เป็นประโยชน์ นอกเหนือจากการทำงาน
  • 5. ออกไปท่องเที่ยว : การหาเวลาไปเที่ยวทั้งในเมืองที่เราอาศัยอยู่ ในประเทศของเรา การเที่ยวต่างประเทศ หรือแม้แต่การหาร้านกาแฟดีๆ สักร้านนั่งพักผ่อน อ่านหนังสือ ก็ถือเป็นการพักผ่อนหย่อนใจที่ดี การไปเที่ยวจะทำให้เราได้เปิดประสบการณ์ใหม่ หลุดจากโลกเดิมๆ ที่เราคุ้นเคย ให้ชีวิตได้ทำสิ่งใหม่ๆ บ้าง ไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งเดิมๆ มากจนเกินไป แถมการไปเที่ยวยังช่วยฟื้นฟูร่างกายและจิตใจได้ดีมากด้วย ช่วยสร้างความกระปรี้กระเปร่าให้กับชีวิต ที่มีผลต่อการสร้างพลังในการทำงานเช่นกัน
  • 6. พบปะเพื่อฝูง-สร้างกิจกรรมกับครอบครัว : มนุษย์เป็นสัตว์สังคม มนุษย์ชอบพบปะ แลกเปลี่ยน พูดคุย พยายามหาเวลาไปพบปะเพื่อนฝูง ตลอดจนสร้างกิจกรรมให้ครอบครัวเพื่อสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน นั่นส่งผลให้สุขภาพจิตของเราดีขึ้นได้ด้วย และการอยู่ร่วมกับผู้อื่นจะทำให้เราได้ทำกิจกรรมที่หลากหลาย ไม่หมกมุ่นอยู่แต่กิจกรรมเดิมๆ หรือจมอยู่กับแต่งานจนเกินพอดี
  • 7. หมั่นตรวจสุขภาพเป็นประจำ : การตรวจสุขภาพเป็นประจำนั้นเป็นการเช็คความสมบูรณ์ของร่างกายให้พร้อมอยู่เสมอ เพื่อที่จะป้องกันหรือรักษาโรค รวมถึงดูแลความเจ็บป่วยได้ทัน ซึ่งจะทำให้เราดำเนินชีวิตได้อย่างมีความสุข ใช้ชีวิตได้ยาวนานยิ่งขึ้น และมีสุขภาพที่ดี พร้อมในการทำงาน และใช้ชีวิต
  • 8. หางานอดิเรกทำ : การหางานอดิเรกทำเป็นกิจกรรมที่ช่วยเสริมสร้างสุขภาพจิตได้ดีทีเดียว สำหรับคนที่อยู่เฉยไม่เป็น การหาอะไรที่มีความสุข ชอบทำ อะไรที่ทำแล้วไม่ต้องเครียด หรือทำแล้วผ่อนคลาย ก็จะทำให้เราได้พักผ่อนจิตใจได้เช่นกัน เสริมสร้างความสนุก เบิกบานจิตใจ ทำให้เราฟื้นฟูจากความเครียดได้ดีเยี่ยม หรืองานอดิเรกบางงานอาจฝึกสมาธิเราไปในตัวได้ด้วย เป็นผลช่วยสร้างสมาธิในการทำงานได้ดีเช่นกัน
  • 9. พักผ่อนให้เป็นและเพียงพอ : ตามหลักธรรมชาติแล้วมนุษย์ควรได้รับการพักผ่อนที่เพียงพอ การพักผ่อนที่เพียงพอจะทำให้ร่างกายได้ซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอก มนุษย์ได้ชาร์จพลังตนเองเพื่อมีกำลังวังชากลับมาทำงานหรือทำกิจกรรมอื่นๆ อีกครั้ง หากร่างกายพักผ่อนไม่เพียงพอก็ทำให้สุขภาพแย่ การทำงานก็ไม่มีประสิทธิภาพ ตามหลักการแล้วนั้นมนุษย์ควรนอนให้ได้ไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง แต่หากจะพักผ่อนให้มีประสิทธิภาพนั้นก็ต้องรู้ช่วยเวลาที่ดีในการพักผ่อนด้วย ทางการแพทย์มีการแนะนำว่าเราควรนอนตอน 4 ทุ่ม ไม่ควรเกิน 5 ทุ่ม เพื่อเตรียมตัวสู่ช่วงเวลาหลับลึก ซึ่งจะอยู่ที่เวลาประมาณเที่ยงคืนถึงราวๆ ตี 1 ครึ่ง ซึ่งช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ร่างกายได้พักผ่อนมากที่สุด และสามารถหลั่งสารที่เป็นประโยชน์ต่อร่างกายได้มากมาย หากหลับไม่ลึกเราก็จะเกิดอาการเพลียสะสม ร่างกายเสื่อมสภาพลงเรื่อยๆ สุขภาพแย่ลงในระยะยาว สมดุลชีวิตก็จะไม่ดี ดังนั้นควรพักผ่อนให้เป็นด้วย มากกว่าการพักผ่อนให้เพียงพอ ซึ่งจะทำให้ดีต่อสุขภาพได้ในที่สุด
  • 10. ศึกษาธรรมะ ปฎิบัติธรรม ฝึกสมาธิ : การศึกษาธรรมะจะช่วยให้เราเข้าใจชีวิต มีเมตตา ลดการทำบาป ลดความเครียด ทำให้การดำเนินชีวิตปกติสุข ชีวิตการทำงานดีขึ้น หรือบางทีก็อาจหาเวลาไปปฎิบัติธรรม ฝึกสมาธิ ให้เหมาะกับความชอบของแต่ละบุคคล ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เรามีสติในการทำงานตลอดจนดำรงชีวิต ใจเย็น ค่อยคิดค่อยทำ มีสมาธิในการทำงาน มีสติสัมปชัญญะในการตัดสินใจเรื่องต่างๆ อย่างรอบคอบ ลดความเครียดลงได้อย่างดี ซึ่งความเครียดเป็นบ่อเกิดของสุขภาพกายสุขภาพใจที่ย่ำแย่ได้

เคล็ดลับสำหรับองค์กร

  • 1. ยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงาน : การเข้าออกงานที่เป็นเวลานั้นบางครั้งก็สร้างความเดือดร้อนให้กับบางคนได้ หรือเป็นปัญหาต่อการบริหารเวลาชีวิต เพราะแต่ละคนก็ต่างมีเหตุผลชีวิตที่แตกต่างกัน หลายออฟฟิศแก้ปัญหานี้ด้วยการยืดหยุ่นเวลาเข้า-ออกงานให้กับพนักงาน โดยให้เลือกช่วงเวลาเข้าออกที่เหมาะสมกับตัวเอง เพื่อให้การบริหารเวลาของแต่ละคนมีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยที่ทุกคนมีชั่วโมงการทำงานที่ครบถ้วนตามเวลาที่บริษัทกำหนด หรือบางบริษัทยุคใหม่ก็ไม่เคร่งเรื่องเวลาเข้าออก หรือไม่ยึดติดกับเวลาทำงาน ขอแค่ให้สามารถทำงานให้เสร็จได้ทันเวลา ได้ผลงานที่ดี เท่านั้นพอ ให้พนักงานบริหารเวลาของตนเองให้มีประสิทธิภาพ เรื่องเหล่านี้ก็สามารถช่วยสร้างความสมดุลให้กับชีวิตและการทำงานได้ดีเช่นกัน
  • 2. Work from Home / Remote Working : กลยุทธ์ที่กำลังได้รับความนิยมอย่างมากในยุคนี้ก็คือการให้อิสระเรื่องเวลากับพนักงาน ให้พนักงานบริหารตนเอง แต่ต้องทำงานให้สำเร็จลุล่วงให้ได้ สามารถทำงานที่บ้านหรือที่ไหนก็ได้ ขอแค่ให้งานเสร็จทันเวลา และมีประสิทธิภาพ หรือบางองค์กรก็นำกลยุทธ์นี้มาผสมผสานกับการทำงานแบบปกติ (Routine Working) อย่างเช่น ให้โควต้า Work from Home ทำงานจากบ้านหรือที่ไหนก็ได้ 1 วัน / สัปดาห์ หรือไม่ก็สามารถทำงานที่ไหนก็ได้ แต่ต้องเข้าออฟฟิศอย่างน้อย อาทิตย์ละ 1-2 วัน เป็นต้น
  • 3. จัดคลาสออกกำลังกายให้เป็นสวัสดิการพนักงาน : หนึ่งในการจัดการขององค์กรที่ช่วยเรื่อง Work Life Balance ได้ดีก็คือการจัดสวัสดิการด้านการออกกำลังกายให้กับพนักงานในบริษัท อาจจัดคอร์สออกกำลังกายให้พนักงานสามารถมาเข้าร่วมได้ หรือจัดพื้นที่ตลอดจนเตรียมอุปกรณ์ออกกำลังกายให้พนักงานได้ผ่อนคลายอย่างอิสระ
  • 4. มีโซนพักผ่อนหย่อนใจ : องค์กรอาจจะจัดโซนสันทนากรหรือโซนพักผ่อนหย่อนใจเพื่อเป็นอีกหนึ่งสวัสดิการให้พนักงานได้พักผ่อนระหว่างวัน อาจจะเป็นสวนเล็กๆ หรือไม่ก็ห้องนั่งเล่น ห้องดูหนัง ห้องเล่นเกม หรือบางองค์กรก็เตรียมห้องนอนให้พนักงานได้เอนกายเลยก็มีเช่นกัน เพื่อช่วยให้คลายเครียดจากการทำงานได้
  • 5. ประชุมนอกสถานที่ : การไม่อยู่กับอะไรเดิมๆ ทำให้พนักงานได้ขยับบ้าง อาจกระตุ้นความกระปรี้กระเปร่าได้ดี องค์กรอาจส่งเสริมการประชุมนอกสนานที่บ้าง อย่างการประชุมในร้านกาแฟ (ที่กำลังเป็นเทรนด์นิยม) หรือการประชุมตาม Co-Working Space ที่สามารถเช่าห้องประชุมได้ เป็นต้น การเปลี่ยนบรรยากาศและสถานที่จะทำให้พนักงานไม่เบื่อ มีความกระปรี้กระเปร่า ได้ขยับปรับเปลี่ยน ได้เบรกจากสภาพแวดล้อมการทำงานเดิมๆ สิ่งเหล่านี้ก็ช่วยสร้างให้การทำงานกับการใช้ชีวิตผสมกลมกลืนกันได้อย่างลงตัว

Coffee & Meeting

ความสุขในการทำงาน Workplace Happiness
เทรนด์ที่กำลังมาแรงในยุคนี้ก็คือการประชุมนอกสถานที่ตามร้านกาแฟ แต่เป็นการประชุมแบบจริง ๆ จัง ๆ ที่มีสถานที่และอุปกรณ์พร้อมรองรับการปะชุม แน่นอนว่าผู้นำ ผู้สร้างเทรนด์ และเจ้าตลาดด้านนี้ก็คือ Starbucks นั่นเอง โดยหลายสาขา (โดยเฉพาะสาขาใหญ่ๆ) จะมีบริการโซนห้องประชุมไว้ให้ใช้บริการฟรีด้วย (ไม่เสียค่าเช่าห้องประชุม แต่มีการกำหนดจำนวนคนขั้นต่ำ และทุกคนจะต้องซื้อกาแฟ+อาหารของทางร้าน)
ห้องประชุมนี้จะแบ่งเป็นสัดเป็นส่วน เป็นห้องส่วนตัวมีประตูเข้าออก ใช้เสียงได้เต็มที่ โดยสามารถลงจองเวลาไว้ล่วงหน้ากับพนักงานได้ ภายในห้องจะมีโต๊ะประชุมยาว มีทีวี กระดานเขียน ปากกาเขียนกระดาน และสิ่งอำนวยความสะดวกอื่นๆ แล้วแต่มีบริการในแต่ละสาขา ไว้รองรับการประชุมนอกสถานที่นี้อย่างสะดวกสบายด้วย ซึ่งกำลังเป็นเทรนด์ที่ไม่ใช่เฉพาะบริษัทเล็ก ๆ ของคนรุ่นใหม่นิยมเท่านั้น แต่บริษัทใหญ่ๆ ก็นิยมการประชุมในรูปแบบนี้เพิ่มมากขึ้นด้วย
  • 6. Outing ประจำปี : การจัดทริปท่องเที่ยวประจำปีขององค์กรก็เป็นส่วนหนึ่งที่จะช่วยสร้าง Work Life Balance ให้กับองค์กรได้ดีเช่นกัน โดยองค์กรเป็นตัวหลักในการจัดการพักผ่อนนี้ให้เลย เพื่อที่ให้ทุกคนได้ผ่อนคลายกับความเครียดในการทำงานมาตลอดทั้งปี และได้ฟื้นฟูชีวิตไปในตัวด้วย พร้อมทั้งสร้างความสัมพันธ์ในองค์กรได้อย่างดีเยี่ยม และส่งเสริมให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น
  • 7. บริการจิตแพทย์ : ทุกวันนี้ปัญหาความเคีรยดยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งความเครียดในการทำงาน ตลอดจนความเครียดเรื่องส่วนตัว ครอบครัว การดำเนินชีวิต ความเครียดนี้ส่งผลต่อสุขภาพกายและสุขภาพใจได้อย่างไม่น่าเชื่อ รวมถึงโรคซึมเศร้าที่กำลังเป็นโรคทางกายและจิตที่คนวัยทำงานเป็นกันมากขึ้นทุกวัน ในกรณีนี้องค์กรสามารถช่วยแบ่งเบา ลดอัตราความเครียด ตลอดจนช่วยเหลือให้สุขภาพจิตของพนักงานดีขึ้นได้ด้วยการจัดบริการจิตแพทย์ปรึกษาปัญหาชีวิตตลอดจนปัญหาต่างๆ ได้ ซึ่งกำลังเป็นที่นิยมสำหรับองค์กรในเมืองใหญ่ เมืองที่เต็มไปด้วยความเครียดและความกดดันในการใช้ชีวิตและทำงาน ซึ่งเรื่องนี้ช่วยเหลือพนักงานให้มี Work Life Balance ได้ดีด้วยเช่นกัน
  • 8. บริการให้คำปรึกษาทางการเงิน : องค์กรอย่ามองว่าเรื่องนี้ไม่เกี่ยวกับเรื่องการสร้างสมดุลให้กับชีวิตและการทำงาน นี่คือปัญหาอันดับต้นๆ ของพนักงานเลยก็ว่าได้ และสร้างความเครียดให้กับคนยุคปัจจุบันได้มากที่สุดเรื่องหนึ่ง องค์กรที่ใส่ใจรอบด้านจะจัดบริการให้คำปรึกษาทางด้านการเงินให้กับพนักงาน ตั้งแต่ช่วยในเรื่องการวางแผนการเงินที่ดี ไปจนถึงช่วยหาแหล่งเงินกูสำรอง เงินกู้ฉุกเฉินไว้ช่วยในยามจำเป็น ตลอดจนปรึกษาปัญหาการเงินต่างๆ เพื่อให้ผ่อนคลายความเครียด และดำเนินชีวิตได้อย่างไม่กังวล ไม่ทุกข์ ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นได้
  • 9. กำหนดนโยบายองค์กรในเรื่อง Work Life Balance : คนส่วนใหญ่มักไม่มีวินัยในการบริหารการทำงานและการใช้ชีวิตส่วนตัวถ้าไม่ถูกบังคับ หรือไม่กล้าและเกรงใจหัวหน้างานตลอดจนผู้บริหารเพราะกลัวถูกมองว่าไม่ขยัน ทำงานไม่เต็มที่ ทำงานไม่เต็มประสิทธิภาพ ทำงานไม่ทุ่มเทให้กับองค์กร องค์กรที่มองการไกลอาจกำหนดเรื่องนี้ขึ้นมาเป็นนโยบายของบริษัทเลย เพื่อให้พนักงานได้ปฎิบัติร่วมกัน และทำอย่างไม่รู้สึกผิด เช่น หลังเวลาเลิกงานแล้วต้องไม่มีใครอยู่ที๋โต๊ะทำงานเด็ดขาด, หรือกำหนดชั่วโมงการทำงานให้เหมาะสม, ตลอดจนส่งเสริมในเรื่อง Work Life Balance ในองค์กรในเรื่องต่างๆ ด้วย
  • 10. ตัดแอร์ ปิดระบบไฟหลังเวลาเลิกงาน : วิธีหักดิบนี้อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเล่นๆ เพราะหลายองค์กรเริ่มใช้วิธีนี้มาปฎิบัติอย่างเป็นกิจลักษะ หรือแม้แต่อาคารสำนักงานใหญ่ๆ ก็เริ่มนำวิธีนี้มาใช้เพื่อร่วมกับประหยัดพลังงานไปพร้อมกันด้วย โดยเมื่อถึงเวลาเลิกงานหรือหลังจากเวลาที่กำหนด (เวลาที่นิยมคือ 18.00-19.00 น.) ออฟฟิศ/อาคารสำนักงาน จะตัดแอร์ เพื่อให้พนักงานไม่นั่งแช่ทำงานต่อ และกลับให้ไวที่สุด หากเป็นบริษัทเล็กๆ ก็อาจจะตัดระบบไฟหลังเวลาเลิกงาน เพื่อเป็นการบังคับให้กลับบ้านหรือไม่ทำงานต่อไปในตัว นอกจากนั้นก็ยังช่วยองค์กรประหยัดพลังงาน ประหยัดงบประมาณในส่วนนี้ได้ด้วย เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ดีและนิยมมากขึ้นทีเดียว

ความสมดุลสร้างศักยภาพให้องค์กรได้มากกว่าที่คุณคิด

ทำงานหนักหน่วงทำให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จได้ก็จริง แต่ระยะยาวแล้วศักยภาพจะลดลงตามประสิทธิภาพของร่างกายและจิตใจที่ย่ำแย่ลง หากสร้างสมดุลให้กับชีวิตส่วนตัวและการทำงานได้อย่างลงตัวแล้วนั้น นั่นคือวินัยในการทำงานที่ยอดเยี่ยม

  • การพักผ่อนช่วยฟื้นฟูตัวเอง : ผ่อนคลาย หรือแม้แต่เอาตัวให้ออกจากงานนั้นอันที่จริงแล้วเป็นการ Refresh ชีวิตตลอดจนฟื้นฟูร่างกายและจิตใจที่ดีที่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้งจะมีพลังและมีศักยภาพที่ดียิ่งขึ้น นั่นย่อมส่งผลดีต่อการทำงานทั้งระยะสั้นและระยะยาว
  • สุขภาพดีมีชัยให้กับองค์กรด้วย : การที่ทำงานหามรุ่งหามค่ำจนเจ็บป่วย ร่างกายย่ำแย่นั้น ย่อมส่งผลให้ประสิทธิภาพของการทำงานลดลงแน่ๆ การพักบ้าง ออกกำลังกายบ้าง ดูแลสุขภาพร่างกายให้ดี ทำให้เราพร้อมทำงานเสมอ และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ ศักยภาพของเราจะทำให้การทำงานสำเร็จไปด้วยดี องค์กรก็มีประสิทธิภาพขึ้นด้วย
  • สร้างวินัยในการทำงาน : การรู้จักแบ่งเวลาเป็นการสร้างวินัยในการทำงานที่ดีเยี่ยมที่สุดอย่างหนึ่ง ทำให้คนรู้จักการบริหารงาน การที่ทำงานแบบทุ่มเทจนเกินไป ไม่รู้วันรู้เวลา นานเข้าจะทำให้ระบบการทำงานเสีย ไม่มีวินัย กระทบต่อการทำงานได้ แม้ว่าจะทุ่มเทเพียงใดก็ตาม ระบบไม่มีวินัย องค์กรก็ไร้ระเบียบ ด้อยศักยภาพ
  • สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดี : ใครจะคาดคิดว่าการทำงานอย่างมีระบบระเบียบ เคารพกฏกติกาของการทำงาน และมีวินัยในการทำงาน จะทำให้ทุกคนรู้หน้าที่ รู้ขอบเขต ประเมินงานที่ทำเป็น ทำให้ทำงานได้อย่างมีความสุขขึ้น หากทำงานกับคนที่ไม่รู้เวลา โดยเฉพาะหัวหน้างานที่บ้างานจนเกินไป ก็ไม่มีใครอยากที่จะทำงานด้วย ไม่มีใครอยากร่วมงานด้วย หรือทำงานด้วยแล้วอึดอัด เครียด กดดัน ท้อแท้ ไม่เป็นสุข ก็ย่อมทำให้มนุษยสัมพันธ์ทั้งส่วนบุคคลและการทำงานเสียได้ในที่สุด แต่หากมีการสร้างสมดุลที่ดี มนุษยสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์กรก็จะดีไปด้วยได้
  • ประหยัดพลังงาน และ งบประมาณองค์กร : การทำงานโดยไม่มีระบบระเบียบ ไม่มีกำหนดเวลาที่ชัดเจน นั่งทำงานไปเรื่อยๆ อาจทำให้องค์กรสิ้นเปลืองพลังงงานได้ และเพิ่มงบประมาณให้กับองค์กร ทั้งในเรื่องของค่าไฟ ค่าแอร์ ตลอดจนค่าล่วงเวลาในองค์กรที่มีการให้งบประมาณในส่วนนี้

บทสรุป Work Life Balance

เมื่อระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) ยิ่งทำให้การทำงานหนักและนานขึ้น?ร่างกายมนุษย์ไม่ใช่เครื่องจักร ดังนั้นควรมีการหยุดพัก บำรุงตัวเอง ทำงานอย่างพอเหมาะเพื่อป้องกันความเสื่อมของร่างกาย และรักษาให้มีคุณภาพเพื่อการทำงานในระยะยาวได้อย่างดีมีประสิทธิภาพ การสร้างสมดุลในการทำงานและชีวิตส่วนตัวแบบ Work Life Balance นั้นเป็นสิ่งที่บุคลากรและองค์กรควรให้ความสำคัญทีเดียว

เพราะสิ่งนี้จะช่วยให้ชีวิตสมดุล ประสบความสำเร็จทั้งหน้าที่การงาน การดูแลครอบครัว สุขภาพร่างกายดี สุขภาพจิตใจยอดเยี่ยม เมื่อทุกอย่างดีแล้วก็จะทำให้ขีวิตมีความมสุข ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ องค์กรก็มีโอกาสประสบความสำเร็จได้ยิ่งขึ้น และมีพนักงานที่มีคุณภาพช่วยสร้างศักยภาพให้กับองค์กรได้ในระยะยาวอีกด้วย

CTA Employee Engagement

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง