Search
Close this search box.

ดูแลสุขภาพงาน ด้วยการรักษาสุขภาพกายและใจ ห่างไกล NCDs

HIGHLIGHT

  • NCDs คือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ถือเป็นสาเหตุการเสียชีวิตของคนมากถึง 41 ล้านคนทั่วโลก จากตัวเลขนี้มีถึง 15 ล้านคนที่เสียชีวิตก่อนวัยอันควร
  • NCDs ถูกเรียกว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เช่นการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์, การทำงานหามรุ่งหามค่ำ, การอยู่ท่ามกลางฝุ่นละอองเป็นเวลานาน, การทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ สิ่งเหล่านี้มักเกิดขึ้นในกลุ่มวัยทำงานทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ องค์กรจึงมีหน้าที่สอดส่องดูแลพนักงาน และช่วยดูแลทุกคนให้มีสุขภาพดี
  • สถิติเรื่อง NCDs ในเมืองไทยจากปี 2023 ระบุว่ามีคนไทยเสียชีวิตจากโรคนี้ประมาณ 400,000 คนต่อปี คิดเป็น 76% และสร้างความเสียหายทางเศรษฐกิจ 1.6 ล้านล้านบาท หรือ 9.7% ของ GDP
  • วิจัยพบว่าองค์กรขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพของพนักงานมากกว่าองค์กรขนาดกลางและขนาดเล็กด้วยข้อจำกัดของทรัพยากร แต่ความจริงแล้ว HR สามารถช่วยวางแผนด้านนโยบายสุขภาพเพื่อป้องกัน NCDs ได้โดยไม่ต้องใช้งบประมาณเพิ่มเติมด้วยซ้ำ แต่ต้องใช้ทักษะของการจัดลำดับความสำคัญ และบริหารจัดการตามสัดส่วน ซึ่งทุกคนต้องร่วมมือกัน
  • อัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตจาก NCDs คือภาพสะท้อนว่าองค์กรจะใส่ใจเพียงสุขภาพงานอย่างเดียวไม่ได้ ต้องใส่ใจสุขภาพกายและสุขภาพใจของพนักงานควบคู่ไปด้วยเสมอหากต้องการเติบโตอย่างยั่งยืน เพราะไม่ว่าเทคโนโลยีจะก้าวไกลแค่ไหน เราก็จะไม่สามารถรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้เลยหากไม่มี “แรงงานคน” ที่แข็งแรง พร้อมปรับตัวตลอดเวลา

ดูแลสุขภาพงาน ด้วยการรักษาสุขภาพกายและใจ ห่างไกล NCDs

ความเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและโลกที่เปลี่ยนไปหลังโควิด-19 คือตัวเร่งสำคัญที่ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องแข่งขันกันอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน เราได้เห็นข่าวพนักงานล้มป่วยหรือเสียชีวิตจากการทำงานหารุ่งหามอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน ซึ่งแม้จะช่วยให้ลูกค้าในฐานะผู้บริโภครู้สึกตื่นตาตื่นใจ แต่ในมุมกลับกัน ก็ทำให้พนักงานและองค์กรในฐานะผู้ผลิตต้องเจอกับผลกระทบตามมาเช่นกัน

หนึ่งในนั้นอันตรายที่เกิดขึ้นจาก NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคเครียด, เบาหวาน, ความดัน ฯลฯ ที่เข้ามาลดทอน ความแข็งแรงทางกายใจของพนักงานโดยตรง ผู้เกี่ยวข้องต้องตระหนักได้แล้วว่า แม้โลกธุรกิจจะเข้มข้นขึ้นแค่ไหน แต่เราจะสนใจแค่สุขภาพงาน โดยละเลยสุขภาพกายและใจของพนักงานที่ร่วมหัวจมท้ายกับเราไม่ได้อีกแล้ว

NCDs คืออะไร ทำลายองค์กรได้มากแค่ไหน และ HR จะเปลี่ยนโลกการทำงานเป็นพื้นที่ปลอดภัย (Safe Zone) ได้ด้วยกลยุทธ์แบบใด อ่านทุกเรื่องที่คุณต้องรู้ได้ที่นี่

NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง คืออะไร 

NCDs มาจากคำว่า Non-Communicable Diseases หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เป็นกลุ่มโรคสำคัญที่ทำให้เกิดปัญหาสุขภาพ และเป็นสาเหตุการตายที่สำคัญทั่วโลก โรคในกลุ่ม NCDs ได้แก่โรคเบาหวาน, โรคความดันสูง, ไขมันในเลือดสูง, โรคอ้วน, ถุงลมโป่งพอง, โรคมะเร็ง รวมถึงปัญหาด้านสุขภาพจิต เป็นต้น ทั้งนี้สถิติจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ในปี 2023 ระบุว่ามีผู้เสียชีวิตจากกลุ่มโรคนี้มากถึง 41 ล้านคน โดยแบ่งเป็น 15 ล้านคนที่มีอายุ 30-69 ปี หรือเรียกว่าการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร

สถิติยังเผยว่า 77% ของคนที่เสียชีวิตมาจากประเทศกลุ่มรายได้น้อยและกำลังพัฒนา สาเหตุหลักมาจากการสูบบุหรี่, การดื่มแอลกอฮอล์อย่างหนัก, สภาพอากาศ ตลอดจนการกินอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ซึ่งประเทศไทยถือเป็นกลุ่มเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวังอย่างยิ่ง 

กลุ่มโรค NCDs เป็นโรคที่ไม่ได้เกิดจากการติดเชื้อโรค และไม่สามารถแพร่ไปสู่ผู้อื่นได้ ส่วนใหญ่แล้วโรคในกลุ่มนี้จะมีการดำเนินโรคอย่างช้า ๆ จนบางครั้งผู้ป่วยไม่รู้ตัวด้วยซ้ำหากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพเป็นประจำ จึงทำให้เกิดความเสี่ยงที่โรคจะทวีความรุนแรงขึ้นจนเข้าสู่สภาวะเรื้อรังในท้ายที่สุด

NCDs ถูกเรียกว่าเป็นโรคที่เกิดจากพฤติกรรม เราจึงรับมือกับโรคนี้ได้ด้วยการปรับวิถีชีวิต เช่นการรับประทานอาหารให้ครบ 5 หมู่, ทานอาหารที่เป็นประโยชน์ ไม่ตามใจปากเกินไป, พักผ่อนให้เพียงพอ, ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยสัปดาห์ละ 150 นาที และสำคัญที่สุดคือหากรู้สึกไม่สบายให้ปรึกษาแพทย์ ไม่ซื้อยากินเองโดยปราศจากความรู้เด็ดขาด

หากพิจารณาดูแล้วจะพบว่า “พนักงานบริษัท” เป็นกลุ่มที่เสี่ยงต่อโรคนี้มาก เพราะวิถีชีวิตในแต่ละวันต่างมีส่วนกระตุ้นให้เกิดความเจ็บป่วยได้ทั้งสิ้น ดังนั้นในยุคที่สวัสดิการพนักงานเป็นเรื่องสำคัญ HR ต้องหันมาให้ความสำคัญกับสุขภาพกายและใจของพนักงานมากกว่าเดิม

ผลวิจัยเรื่อง A Systematic Review on NCDs Among Working Women ที่ตีพิมพ์ลงวารสาร Industrial Health ของ National Institute of Occupational Safety and Health เมื่อปี 2021 กล่าวว่าการทำงานหนักกระตุ้นให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคไม่ติดต่อเรื้อรังทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการทำงานไม่เป็นเวลา, การทำงานหนักเกินไปจนเกิดความเครียด, การนั่งอยู่กับที่ใดที่หนึ่งนานเกินไป ฯลฯ 

สาเหตุเหล่านี้ทำให้องค์กรทั่วโลกต้องกลับมาทบทวนเรื่องกระบวนการทำงาน และปรับโครงสร้างองค์กรให้ดีขึ้น เพราะพนักงานที่มีกายใจอ่อนแอ จะไม่สามารถสร้างสรรค์สิ่งดี ๆ ได้ ส่งผลเสียทั้งกับตัวองค์กรและชีวิตความเป็นอยู่ของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

ภาพรวมของ NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังในประเทศไทยเป็นอย่างไร

NCDs คือหนึ่งในสาเหตุการเสียชีวิตหลักของคนไทย โดยสถิติในปี 2023 ระบุว่ามีอัตราสูงถึง 76% หรือราว 400,000 คนต่อปี คิดเป็นความสูญเสียทางเศรษฐกิจราว ปีละ 1.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 9.7% ของ GDP ประเทศ 

เหตุนี้การแก้ไขปัญหา NCDs จึงเป็นเรื่องที่องค์กรทุกแห่งต้องให้ความสำคัญ สอดคล้องกับเป้าหมายของสหประชาชาติ ที่ต้องการลดอัตราการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรจากโรคนี้ลง 1 ใน 3 ภายในปี 2030 และแนวทางของสสส. ที่อยากให้องค์กรชูเรื่อง Happy Workplace เพื่อส่งเสริมการมีสุขภาวะที่ดี เป็นมิตรกับครอบครัว (Family-Friendly Workplace) ช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืน

เมื่อโรคนี้เป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับพฤติกรรม เรามาดูพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อ NCDs ของวัยทำงานในเมืองไทยกันบ้าง สสส. กล่าวว่า การเติบโตของการสั่งอาหารเดลิเวอรี่ทำให้ปัญหานี้น่ากังวลมากขึ้น เพราะนิสัยปกติของคนทำงานที่มักจะสั่งของกินเมื่อรู้สึกเครียด โดยเฉพาะของหวานและขนมจุกจิกที่เป็นสาเหตุสำคัญของโรคเบาหวานและโรคอ้วน

ผลวิจัยจาก Mintel ระบุว่าคนไทย 77% เลือกทานขนมกรุบกรอบเพื่อให้กำลังใจตัวเอง และตัวเลขดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็น 81% ในกลุ่มคนอายุ 25 – 34 ปี นอกจากนี้คนไทย 76% ยังมีสภาวะ “กินไปเรื่อย” เรียกว่าเคี้ยวไปโดยไม่รู้ตัว ทั้งตอนทำงาน, ตอนดูหนัง, ตอนเล่นเกม หรือแม้แต่ตอนที่อยู่เฉย ๆ ไม่ได้ทำอะไร ตัวเลขเหล่านี้กระตุ้นให้เราต้องคิดว่าคนไทยขาดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ เพื่อสร้างโฟกัสระหว่างวันหรือเปล่า

ในส่วนของความเครียดนั้น การทำงานคือหัวใจสำคัญที่คอยกระตุ้นให้เรื่องนี้ โดยเฉพาะในกลุ่มวัยกลางคนที่มีความเครียดสูงขึ้นเรื่อย ๆ เพราะต้องแบกรับทั้งส่วนของบริษัทและความรับผิดชอบส่วนตัว ทั้งนี้ Cigna ได้วิจัยและพบว่าคนไทย 9 ใน 10 มีความเครียด แต่คิดว่าตนสามารถจัดการได้ด้วยตัวเอง และสาเหตุของความเครียดก็แบ่งเป็น 4 หัวข้อหลัก ได้แก่ 43% เกิดจากเรื่องการเงิน , 35% เกิดจากเรื่องการงาน, 10% เกิดจากเรื่องครอบครัว แล้ว 8% เกิดจากเรื่องสุขภาพ ผลสำรวจเดียวกันยังกล่าวว่าพนักงานไทย 82% มองว่าองค์กรที่ใส่ใจสุขภาพเป็นองค์กรที่ดีกว่า หากต้องเปรียบเทียบเพื่อเลือกร่วมงานกับอีกบริษัทที่ไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้เลย

ปิดท้ายด้วยข้อมูลของดร.นพ.เจตน์ รัตนจีนะ จากคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการศึกษาเรื่อง “บทบาทและการสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ และการป้องกันโรคไม่ติดต่อในสถานประกอบการของผู้นำองค์กรและผู้บริหารงานทรัพยากรบุคคล” พบว่า องค์กรขนาดใหญ่จะให้ความสำคัญกับสุขภาพแรงงาน เพราะมีสภาพคล่องทางการเงิน และมองว่าวิธีนี้จะทำให้เกิดการการทำงานที่คล่องตัวขึ้น โดยอยู่ในรูปแบบของสวัสดิการรักษาพยาบาล, การตรวจคัดกรองและกิจกรรมการส่งเสริมสุขภาพ โดยให้ผลตอบแทนที่ดึงดูดเพื่อกระตุ้นให้เกิดการมีส่วนร่วมมากขึ้น

ขณะที่องค์กรขนาดกลางถึงขนาดเล็กจะให้ความสำคัญกับเรื่องนี้น้อยกว่า เพราะมีข้อจำกัดด้านทรัพยากร และไม่ได้เน้นย้ำเรื่องนี้กับบุคลากรตั้งแต่แรก จึงเกิดปัญหาเวลาต้องการนำเสนอกับพนักงานอีกครั้ง

จากบริบทของสังคมไทย ทำให้เราต้องเข้าใจตรงกันว่าแรงงานคนเป็นสินทรัพย์ที่มีค่าที่สุด ทั้งกับองค์กรและการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปข้างหน้า หากเราโดดเดี่ยวคนกลุ่มนี้และให้แก้ไขปัญหาด้วยตัวเององคาพยพทางธุรกิจก็อาจหยุดชะงัก ซึ่งไม่ใช่เรื่องดีแน่ ๆ ในยุคที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแบบในปัจจุบัน

NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ส่งผลเสียกับการทำงานอย่างไร

พนักงานที่สุขภาพกายใจดี ย่อมทำงานได้ดีกว่าคนที่จิตใจว้าวุ่น โดยเราสามารถสรุปผลเสียของการมีพนักงานที่ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ดังนี้

  1. เกิดการขาดงาน (Absenteeism) : โรคในกลุ่ม NCDs อย่างเบาหวาน, โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง, ปัญหาสุขภาพจิต จะนำไปสู่การใช้วันลาป่วยที่เพิ่มขึ้นของพนักงาน ซึ่งจะทำให้กระบวนการทำงานขาดความต่อเนื่อง และหากเกิดขึ้นเป็นประจำก็จะทำให้ธุรกิจล่าช้า เพราะมีกำลังคนไม่พอ (Lack of Manpower) ซึ่งอาจไม่รีบแก้ไขโดยเร็ว ก็จะสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีต่อองค์กร ที่สำคัญคือผู้นำจะไม่กล้าฝากงานให้กับคนเหล่านี้เพราะรู้สึกถึงความไม่มั่นคง
  2. พนักงานมาทำงานจริง แต่ทำงานได้ไม่เต็มที่ (Presenteeism) : แม้ผู้ที่ป่วยเป็นโรคไม่ติดต่อเรื้อรังบางส่วนจะมาทำงานได้ แต่อาการของโรคก็จะทำให้พวกเขาใช้ศักยภาพเพื่องานได้ไม่เต็มที่ เพราะผลข้างเคียงต่าง ๆ เช่นอารมณ์ฉุนเฉียว, ทัศนคติที่ผิดพลาดจากปัญหาทางใจ, ความผิดปกติของร่างกาย ฯลฯ การทำงานโดยคนกลุ่มนี้ในบางครั้งจึงเป็นงานที่ทำเพื่อให้เสร็จตามกรอบเวลาที่กำหนดเท่านั้น ไม่ได้มีคุณภาพดีเท่าเดิม นอกจากนี้พนักงานที่ฝืนทำงานตอนร่างกายไม่สมบูรณ์ ก็อาจนำไปสู่การแพร่เชื้อจนส่งผลกระทบต่อพนักงานคนอื่นได้ กล่าวโดยสรุปคือการมีผู้ป่วยลักษณะนี้ในองค์กร คือเรื่องที่ส่งผลเสียในระยะยาวหากไม่มีมาตรการรองรับอย่างจริงจัง
  3. ลดทอนประสิทธิภาพของบุคคลากร (Reduce Efficiency) : NCDs จะทำให้พนักงานไม่สามารถจดจ่ออยู่กับงานได้อย่างเต็มที่ งานที่ควรจะเสร็จในเวลาอันสั้นก็ต้องใช้เวลามากกว่าปกติ ใช้ทรัพยากรมากกว่าปกติ และใช้พลังงานมากกว่าปกติ ซึ่งพอมีข้อผิดพลาดเกิดขึ้น แทนที่พนักงานจะเอาเวลามาคิดค้นนวัตกรรมใหม่ ๆ ก็ต้องเอาเวลามาแก้ไขปัญหามากกว่า หากเกิดกรณีนี้ขึ้นในธุรกิจที่มีการแข่งขันสูง องค์กรของเราก็จะสูญเสียความได้เปรียบในการแข่งขัน (Competitive Advabtage) โดยไม่ทันตั้งตัว
  4. ทำให้งบประมาณด้านสุขภาพขององค์กรสูงขึ้น (Increase Healthcare Cost) : สวัสดิการพนักงานยุคนี้ให้ความสำคัญกับความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นในส่วนของพนักงานหรือครอบครัวก็ตาม โดยสิ่งเหล่านี้ได้กลายเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานตัดสินใจว่าจะอยู่กับองค์กรในระยะยาวหรือไม่ตามไปด้วย ดังนั้นเมื่อสวัสดิการด้านสุขภาพเป็นสิ่งที่องค์กรหลีกเลี่ยงไม่ได้ การมีพนักงานป่วยเรื้อรังจะทำให้องค์กรต้องเสียทั้งค่ารักษา, ค่าปรึกษา, ค่าเงินประกันเพิ่มเติม ฯลฯ ซึ่งหากมีจำนวนมากขึ้น ก็จะส่งผลต่อโครงสร้างทางการเงินขององค์กร ทั้งที่เงินส่วนนี้ควรเอาไปใช้เรื่องการพัฒนาทักษะ (Learning & Development) ของพนักงานมากกว่า
  5. ทำให้เกิดบรรยากาศทำงานที่เป็นพิษ (Toxic Atmosphere) : แม้ NCDs หรือความเจ็บป่วยทุกอย่างจะเป็นเรื่องที่น่าเห็นใจ แต่หากเจอกับพนักงานคนใดคนหนึ่งในระยะยาวจนส่งผลกระทบกับงานและกลายเป็นปัญหาของคนหมู่มาก ความเจ็บป่วยจะถูกมองเป็นปัญหาที่สร้างความขุ่นข้องมองใจได้ทันที จนอาจนำไปสู่การโดดเดี่ยว (Isolating) ผู้ป่วย NCDs เหล่านั้น

HR ช่วยดูแลสุขภาพกายใจพนักงานให้ห่างไกล NCDs หรือโรคไม่ติดต่อเรื้อรังได้อย่างไร

คนวัยทำงานต้องใช้เวลาส่วนใหญ่ในแต่ละวันที่ออฟฟิศ หรืออย่างน้อยก็ต้องนั่งทำงานอยู่หน้าจอตามนโยบาย Work From Home นโยบายแต่ละอย่างขององค์กรและการทำหน้าที่ของ HR จึงส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพนักงานอยากหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นถ้าเรามีพนักงานที่ป่วยด้วยกลุ่มโรค NCDs ก่อนที่จะพิจารณาเรื่องการยุติสัญญา เราควรมองแนวทางช่วยเหลืออื่น ๆ ให้จริงจังเสียก่อน จากนั้นก็ควรเก็บข้อมูลเหล่านั้นมาเป็นองค์ความรู้เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำเดิมอีกครั้ง 

HR ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการป้องกันเรื่อง NCDs ได้ด้วยวิธีเหล่านี้

  1. เก็บรวบรวมข้อมูลที่จำเป็น (Conduct Needs Assessment) : ในโลกที่เทคโนโลยีเติบโตอย่างมาก สิ่งที่องค์กรทั่วโลกทำก็คือการรวบรวมข้อมูลให้มากที่สุด ซึ่งเราสามารถนำข้อมูลเหล่านั้นไปพิจารณาถึงแนวทางการออกแบบสวัสดิการ ตลอดจนสร้างความเข้าใจในหมู่พนักงานมากขึ้นถึงสภาพกายและใจของเพื่อนร่วมงานคนอื่น ขณะเดียวกันเราก็สามารถนำข้อมูลไปให้ AI วิเคราะห์ เพื่อให้เกิดความแม่นยำมากขึ้นหรืออาจนำไปใช้คาดเดาความน่าจะเป็นในอนาคตก็ได้ โดยวิธีการเก็บข้อมูลที่น่าสนใจก็เช่นการทำแบบสอบถามเป็นระยะ, การทำ Stay Interview หรือการตั้งทีมวิเคราะห์ผลการตรวจสุขภาพประจำปี ซึ่งไม่ว่า HR จะตัดสินใจแบบไหนก็ตาม HR ควรอ้างอิงกับข้อมูลที่เป็นรูปธรรม ไม่ตัดสินใจโดยคิดไปเองเด็ดขาด
  2. สร้างสถานที่ทำงานให้ดีต่อใจด้วย Wellness Program : WHO เน้นย้ำว่าการดูแลสุขภาพพนักงานส่งผลอย่างยิ่งต่อความต่อเนื่อง, การดึงดูดคนเก่ง (Attracting Talents) และการรักษาพนักงาน (Retention) ดังนั้นการลงทุนกับกระบวนการดูแลบุคลากร 1 ดอลลาร์ จะได้ผลตอบแทนกลับมา 4 ดอลลาร์ ถือว่าคุ้มค่ามาก เพราะจะได้ประโยขน์ทั้งด้านคุณภาพงานและคุณภาพคนไปพร้อม ๆ กัน ในที่นี้เราต้องเข้าใจก่อนว่าการสร้าง Wellness Program ไม่จำเป็นต้องใช้เงินเพิ่มก็ได้ หาก HR รู้จักจัดระเบียบความสำคัญ (Prioritized) เอาเรื่องสุขภาพพนักงานขึ้นมาเป็นที่ตั้ง ลดทอนเรื่องที่มีความสำคัญน้อยกว่าลงไป และบริหารงบประมาณภายใต้ Framework ดังกล่าว อนึ่ง Wellness Program ที่ดีครอบคลุมเรื่องการให้ความรู้ด้านสุขภาพกับพนักงาน, การสนับสนุนวิธีเดินทางมาออฟฟิศให้สะดวกสบาย, การสร้างสรรค์กิจกรรมให้พนักงานอยากออกกำลังกายโดยมีรางวัลตอบแทนมากระตุ้น, การวางตารางทำงานให้เป็นระบบยิ่งขึ้น เป็นต้น
  3. จัดเตรียมทรัพยากรด้านสุขภาพที่พนักงานต้องใช้ (Health Resources) : HR ต้องแน่ใจว่าพนักงานสามารถเข้าถึงทรัพยากรที่จำเป็นด้านสุขภาพและศูนย์ช่วยเหลืออื่น ๆ ได้อย่างเต็มที่ เช่นพื้นที่สำหรับรถเข็นในที่ทำงานสำหรับคนที่เคลื่อนไหวไม่สะดวก, พื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ ตลอดจนการเลือกอาหารที่เหมาะสมในห้องอาหารส่วนกลาง องค์กรควรมีระบบประกันสุขภาพให้พนักงานเข้าถึงการรักษาได้ง่าย, มีบัตรสมาชิกสำหรับออกกำลังกาย, มีรถรับส่งตามจุดต่าง ๆ ในกรณีที่ออฟฟิศตั้งอยู่ไกล เป็นต้น ซึ่งหากมีทรัพยากรเพียงพอ สิ่งเหล่านี้สามารถลงลึกไปถึงครอบครัวของพนักงานด้วยก็ได้ เพราะความสุขทางใจก็นำไปสู่สุขภาพที่ดีได้เช่นกัน 
  4. ออกแบบนโยบายที่มีความยืดหยุ่น (Flexible Benefits) : เราต้องตระหนักว่าความเจ็บป่วยเกิดขึ้นกับใครก็ได้ทั้งโดยตั้งใจและไม่ตั้งใจ สิ่งที่องค์กรควรทำจึงเป็นการสนับสนุนพนักงานให้มากที่สุดโดยเริ่มจากการออกนโยบายที่ยืดหยุ่น โดยเอาผลลัพธ์เป็นที่ตั้ง เช่นการอนุญาตให้ทำงานที่บ้าน, การเข้างานได้ในเวลาที่สะดวก, หรือหากคนไหนไม่สามารถทำงานได้จริง ๆ ก็สามารถลดปริมาณงานและไปโฟกัสในจุดที่ทำได้ดีที่สุดแทนก็ได้ หากคำนวณแล้วว่าคุ้มค่ากว่าการจ้างบุคลากรคนใหม่ ความยืดหยุ่นตรงนี้ยังหมายถึงการที่ HR ต้องหมั่นหาความรู้ตลอดเวลา เพื่อทำให้ความยืดหยุ่นแต่ละอย่างมีความรอบคอบมากขึ้น ตอบสนองบุคลากรและองค์กรมากขึ้น 
  5. สร้างวัฒนธรรมของการช่วยเหลือกัน (Supportive Culture) : วัฒนธรรมองค์กรคือแก่นสำคัญที่ทุกคนควรยึดเป็นแบบอย่าง และจะดีแค่ไหนหากวัฒนธรรมที่เกิดขึ้นในพื้นที่ของเราคือวัฒนธรรมที่ทุกฝ่ายพร้อมช่วยเหลือ และเต็มไปด้วยความเข้าอกอกเข้าใจ การทำแบบนี้ได้นั้น HR ต้องหากระบวนการเรียนรู้เพื่อให้ข้อมูลกับพนักงานทั้งในเรื่องของการอยู่ร่วมกับผู้ป่วย, การดูแลสุขภาพตัวเอง ซึ่งการอบรมเหล่านี้จะมีประโยชน์มากขึ้น หากองค์กรมีวัฒนธรรมด้านการแลกเปลี่ยนความเห็น (Feedback Culture) ที่ทุกฝ่ายสามารถพูดถึงความไม่สบายใจออกมา เพราะหากความเจ็บป่วยทำให้ประสิทธิภาพงานลดลง การพูดออกมาก็จะนำไปสู่วิธีแก้ไขปัญหาที่เป็นระบบมากขึ้นดี กว่าการเก็บไว้คนเดียวและระเบิดออกมา จนเป็นเพียงการกล่าวโทษฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเท่านั้น

เมื่อทำตามขั้นตอนทั้ง 5 ข้อข้างต้นเสร็จเรียบร้อยแล้ว สิ่งที่จะขาดไม่ได้เลยก็คือการวัดผลที่ถูกต้อง (Monitor and Evaluate) HR ควรเก็บข้อมูลเสมอว่าระบบสุขภาพขององค์กร ทำให้มีอัตราการเจ็บป่วยมากขึ้นหรือน้อยลงอย่างไร, มีข้อเรียกร้องเกี่ยวกับสุขภาพเกิดขึ้นจากพนักงานหรือไม่, อัตราการลาป่วยมีมากหรือน้อยแค่ไหน

และเมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้ว เราสามารถนำมาวิเคราะห์ด้วยตัวเอง หรือใช้เทคโนโลยี AI มาคำนวณว่านโยบายสุขภาพใดบ้างที่เป็นประโยชน์, วิธีการทำงานแบบใดที่นำไปสู่ความเจ็บป่วย หรือให้ลึกซึ้งไปอีกก็คือการตรวจสอบว่าผู้สมัครในลักษณะแบบไหน ที่มีความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยในอนาคต โดยใช้สถิติจากข้อมูลที่บันทึกไว้ เป็นต้น หากทำได้แบบนี้ ทุกคนก็จะมีสุขภาพกายสุขภาพใจที่ดี สามารถต่อกรกับ NCDs ได้แน่นอน

Work Life Balance ปัจจัยพื้นฐานเพื่อจัดสมดุลชีวิตพนักงานที่ทุกองค์กรต้องมี

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราขอนำเครื่องที่ถูกพูดถึงกันมาตลอดอย่าง “การจัดสมดุลชีวิต” มาเป็นอีกแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานห่างไกล NCDs มากขึ้น เพราะหากเราเปลี่ยนชีวิตประจำวันของคนให้มีคุณค่า พวกเขาก็จะอยากทำงานเพื่อองค์กร และเกิดมุมมองว่าเราควรยกระดับคุณภาพชีวิตของตัวเองให้ดีขึ้นไปด้วยกัน แต่หากเราใช้งานพนักงานจนหามรุ่งหามค่ำ การทำงานทั้งหมดก็จะอยู่ในลักษณะของการเอาตัวรอด (Survival) เท่านั้น ไม่ใช่งานที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลงในแง่บวกให้กับใครได้เลย

Forbes รายงานว่าพนักงานที่มีความสุข จะทำงานได้ดีกว่าพนักงานที่ไม่มีความสุขถึง 20% ซึ่งความสุขเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากมีความเจ็บป่วย หรือต้องอยู่ท่ามกลางบรรยากาศเชิงลบที่ไม่รู้สึกถึงการสนับสนุนใด ๆ จากองค์กร เพราะในผลสำรวจเดียวกันยังระบุด้วยว่าไม่ใช่ทุกองค์กรที่พร้อมทำเพื่อพนักงาน จึงไม่แปลกหากจะมีสถิติเผยว่าพนักงานถึง 61% กำลังรู้สึกหมดไฟ (Burnout) และสุ่มเสี่ยงต่อสภาวะซึมเศร้า (Depression), วิตกกังวล (Anxiety), หงุดหงิดง่าย (Anger) รวมถึงมีความเจ็บป่วยทางกายและใจอื่น ๆ สิ่งเหล่านี้นำไปสู่ NCDs ได้ทั้งสิ้น

สมดุลชีวิตที่ดีจะทำให้พนักงานมี Passion กับตัวเอง รู้ว่าจะเอาเวลาว่างไปใช้ประโยชน์อย่างไร ซึ่งการทำให้คนเหล่านั้นเห็นความสุขแบบอื่นนอกจากในที่ทำงานจะช่วยส่งเสริมให้เกิดความเชื่อมั่นในตัวเอง สามารถนำประสบการณ์ใหม่ ๆ มาประยุกต์ใช้กับการทำงาน และเมื่อเห็นคุณค่าของการรักตัวเองมากขึ้นแล้ว พนักงานก็จะหันมาดูแลตัวเองไม่ให้เจ็บป่วย แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ 

ขณะเดียวกัน HR ต้องหมั่นตรวจสอบว่าพนักงานมีเครื่องมือที่จำเป็นครบถ้วนดีแล้วหรือไม่ และมีกระบวนการทำงานใหม่ ๆ ที่จะช่วยลดขั้นตอนให้พนักงานหรือเปล่า HR ต้องคิดว่าการใช้เงินแลกกับสวัสดิภาพของพนักงานคือการลงทุน (Investment) ไม่ใช่รายจ่าย

นพ.นพพร ชื่นกลิ่น ผู้อำนวยการ สวรส. กล่าวว่า “…(คนวัยทำงาน) ใช้เวลากับที่ทำงานมากกว่าที่บ้าน สิ่งสำคัญจึงเป็นสภาพแวดล้อมและสังคมที่ทำให้เขามีความสุขกับการทำงาน เพราะสุดท้ายแล้วผลงานก็จะถูกสะท้อนออกมาจากคุณภาพชีวิตของคนทำงาน” สอดคล้องกับแผนการปฏิรูปประเทศปี 2564 ในประเด็นด้านสาธารณสุข ที่ได้มีการเน้นเรื่อง “นโยบายสุขภาพในที่ทำงาน” (Work Health Policy) เพื่อให้ความรู้เรื่องสุขภาพ และป้องกัน NCDs ในองค์กรผ่านมาตรการของบริษัทไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน

นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับพนักงาน, เพิ่มผลผลิตขององค์กร และสำคัญที่สุดคือช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นไม่ว่าเราจะออกนโยบายแบบใดมาก็ตาม คำถามสำคัญที่ HR ต้องนึกถึงก็คือ “คนรอบข้างของเรามีความสุขหรือไม่” หากใช่ ก็แปลว่าคุณเดินมาถูกทางแล้ว

บทสรุป

โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) เป็นปัญหาใหญ่ที่องค์กรทั่วโลกต้องเจอแบบหลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่ก็สามารถป้องกันผ่านการออกโยบายที่ดี เต็มไปด้วยความเห็นอกเห็นใจ (Empathy) ควบคู่กับการออกแบบสวัสดิการที่ให้ความสำคัญกับสุขภาพของบุคลากรอย่างเท่าเทียม

HR ต้องเข้าใจว่าการป้องกัน NCDs ไม่ใช่เรื่องของพนักงานเพียงฝ่ายเดียวเท่านั้น เพราะในเมื่อพวกเขาใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อช่วยบรรลุเป้าหมายของเรา HR ก็ควรใส่ใจพนักงานอย่างเต็มที่ ซึ่งหากองค์กรมีรูปแบบการทำงานที่ดี มีค่าตอบแทนที่เหมาะสม ส่งเสริมให้พวกเขาสามารถดูแลได้ทั้งตัวเองและคนรัก องค์กรก็จะได้สุขภาพงานที่ดี ควบคู่ไปกับสุขภาพกายและใจที่ดีของพนักงานแน่นอน

HR ที่สนใจสามารถรับข้อมูลข่าวสารเพิ่มเติมได้ที่ LINE GROUP พันธมิตรเครือข่ายศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ หรือหากสนใจความรู้เพื่อสุขภาวะที่ดี ก็ติดตามต่อบนเว็บไซต์และเพจศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ (สสส.) ได้เลย

Sources

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง