Search
Close this search box.

วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คืออะไร ? 6 ปัจจัยที่ช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรง

HIGHLIGHT

  • การสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) มีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการกำหนดวิถีการทำงานของคนในองค์กรให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับองค์กร
  • วัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) ที่ดี เป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาพนักงานเก่าให้อยู่กับเราไปนาน ๆ หรือสร้างเสน่ห์ดึงดูดคนเก่งจากภายนอกให้มาสนใจ เหมือนการศึกษาของ Glassdoor ที่บอกว่า คนทำงาน 77% จะประเมินวัฒนธรรมองค์กรก่อนสมัครงาน และกว่า 56% มองว่าวัฒนธรรมองค์กรสำคัญมากกว่าค่าตอบแทนด้วยซ้ำ
  • การเกิดขึ้นของวัฒนธรรมองค์กร (Organization Culture) จึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคิดร่วมกัน สร้างร่วมกัน และใช้ร่วมกันจนกลายเป็นธรรมเนียม แต่การสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว ต้องมีการวางแผนในการพัฒนาและรักษา ซึ่งหากเกิดขึ้นแล้ว เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมองค์กรได้ในระยะยาวต่อไป
  • ยกตัวอย่าง วัฒนธรรมองค์กร PPT ที่มีค่านิยมว่า ‘ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมสร้าง’ นำมาซึ่งวัฒนธรรมที่พนักงานทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ มองผลประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กรและลูกค้า มีความต้องการให้ ปตท. เป็นองค์กรแห่งนวัตกรรม และมีจิตสำนึกในการทำงานเป็นทีม
  • เพราะฉะนั้นวัฒนธรรมองค์กรที่ดีจะมีคุณค่าต่อพนักงาน และนำไปสู่ความสำเร็จตามอุดมการณ์หรือเป้าหมายขององค์กรต่อไป

ทุกวันนี้การมัดใจคนเก่งให้อยู่กับองค์กรคงไม่ใช่แค่ตำแหน่งและเงินเดือนอีกต่อไป แต่คือ วัฒนธรรมองค์กร หรือ วัฒนธรรมองค์การ (Organizational Culture) ที่จะต้องเป็นมิตรต่อจิตใจและสามารถพาเขาเติบโตไปในทิศทางที่ถูกต้อง ไม่แปลกที่คำคำนี้จึงถูกหยิบยกขึ้นมาพูดกันบ่อยครั้ง โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ที่ทุกคนทำงานอยู่บ้านจนวัฒนธรรมองค์กรเริ่มเลือนลาง หรือกระทั่งเกิดวัฒนธรรมใหม่จาก Work From Home เลยก็มี 

นี่จึงเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคล หรือ ฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resources : HR) ต้องหันมาสำรวจวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทตัวเองว่า มีวัฒนธรรมอะไรที่ควรเน้นยำ เปลี่ยนแปลง หรือสร้างขึ้นมาใหม่ ก่อนที่พนักงานคนเก่งจะโบกมือลาไปอย่างน่าเสียดาย

Contents

วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คืออะไร?

วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คืออะไร ? 6 ปัจจัยที่ช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรง

หากวัฒนธรรมทางสังคม หมายถึง พฤติกรรมหรือสิ่งที่คนสร้างขึ้นร่วมกันเพื่อนำไปสู่เจริญงอกงาม วัฒนธรรมองค์กรก็มีความหมายไม่ต่างกัน นั่นคือสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในองค์กรเพื่อนำไปสู่ความเจริญงอกงาม ความเป็นระเบียบเรียบร้อย ความกลมเกลียว และความยั่งยืนขององค์กร

กรอบดังกล่าวประกอบด้วยปัจจัยหลาย ๆ อย่าง อาทิ ทัศนคติ ค่านิยม หรือแม้กระทั่งความเชื่อ ที่จะช่วยสร้างเป้าหมายองค์กรให้ทุกคนมองเห็นเป็นภาพเดียวกัน ทั้งยังเป็นตัวกำหนดวิธีการทำงานให้เป็นไปตามกลยุทธ์ธุรกิจ 

ฉะนั้นการเกิดขึ้นของวัฒนธรรมองค์กรจึงเป็นสิ่งที่ทุกคนต้องคิดร่วมกัน สร้างร่วมกัน และใช้ร่วมกันจนกลายเป็นธรรมเนียมสำหรับองค์กรนั้น ๆ นั่นเอง

ทำไมวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ถึงสำคัญ?

ปีเตอร์ ดรักเกอร์ (Peter Drucker) กูรูด้านการบริหารระดับโลกเคยกล่าวไว้ว่า “Culture eats strategy as breakfast.” หมายถึง ต่อให้องค์กรมีกลยุทธ์ธุรกิจเจ๋งขนาดไหน ถ้าวัฒนธรรมองค์กรไปด้วยกันไม่ได้ ความสำเร็จก็ไม่มีวันเกิดขึ้น

เพราะการสร้างวัฒนธรรมองค์กรมีผลต่อประสิทธิภาพในการทำงานอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะการกำหนดวิถีการทำงานของคนในองค์กรให้เป็นไปตามทิศทางเดียวกัน เพื่อสร้างความเจริญงอกงามให้กับองค์กร

ที่สำคัญ วัฒนธรรมองค์กรที่ดียังเป็นปัจจัยสำคัญที่จะรักษาพนักงานเก่าให้อยู่กับเราไปนาน ๆ หรือสร้างเสน่ห์ดึงดูดคนเก่งจากภายนอกให้มาสนใจบริษัทเรา เหมือนดั่งการศึกษาคนวัยทำงานกว่า 5,000 คนของ Glassdoor ที่บอกว่า 77% จะประเมินวัฒนธรรมองค์กรก่อนสมัครงาน และกว่า 56% มองว่าวัฒนธรรมองค์กรสำคัญมากกว่าค่าตอบแทนด้วยซ้ำ

นี่จึงสะท้อนให้เห็นว่า ในสายตาพนักงานยุคปัจจุบันอาจให้ความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรมากกว่าเงินเดือนและตำแหน่งทางการงานเสียอีก 

6 ปัจจัยที่ส่งผลกระทบวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture)

จะว่าไปแล้วมีหลายปัจจัยที่ส่งผลต่อวัฒนธรรมองค์กร ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยภายใน/ปัจจัยภายนอก, ปัจจัยที่มองเห็น/ปัจจัยที่มองไม่เห็น ฯลฯ โดยในที่นี้เราขออ้างอิงจากบทความของ Harvard Business Review ที่กล่าวถึงปัจจัยสำหรับการสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีทั้งหมด 6 ข้อ ดังนี้

1. วิสัยทัศน์ (Vision)

วัฒนธรรมที่ดีเริ่มต้นที่วิสัยทัศน์และพันธกิจของบริษัท ซึ่งจะเป็นสิ่งที่สร้างตัวตนและจุดประสงค์ในการสร้างองค์กรนั้น ๆ ให้คนอื่นรับรู้ โดยทั่วไปแล้วองค์กรมักจะตั้งวิสัยทัศน์สั้น ๆ เพื่อง่ายต่อความเข้าใจ เช่น สมาคมรักษาโรคอัลไซเมอร์มีวิสัยทัศน์ว่า “โลกที่ปราศจากโรคอัลไซเมอร์” แบบนี้

2. ค่านิยม (Values)

ค่านิยมองค์กรจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและทัศนคติของพนักงาน ยิ่งหากทุกคนมีค่านิยมเดียวกัน ก็จะทำให้พนักงานเป็นหนึ่งเดียวกันมากขึ้น และสามารถสร้างผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ตอบโจทย์วิสัยทัศน์

3. การปฏิบัติ (Practices)

วัฒนธรรมจะไม่เกิด ถ้าไม่มีการลงมือปฏิบัติจริง และมันจะเป็นวัฒนธรรมได้ก็ต่อเมื่อทุกคนปฏิบัติร่วมกันและต่อเนื่องกันเป็นระยะเวลานานจนกลายเป็นเรื่องธรรมเนียมปกตินั่นเอ’

4. ผู้คน (People)

องค์กรไม่ใช่สถานที่ แต่คือผู้คน ซึ่งคนในที่นี้นับตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูง ไปจนถึงพนักงานทุกคน เพราะคนคือปัจจัยสำคัญที่จะสร้าง สนับสนุน หรือไม่ก็ทำลายวัฒนธรรมได้เลย

5. การเล่าเรื่อง (Narrative)

หน้าที่สำคัญของการเล่าเรื่องหรือการสื่อสาร ก็คือเป็นปัจจัยในการสืบสานวัฒนธรรมให้คงอยู่รุ่นต่อรุ่น เราจึงเห็นวัฒนธรรมที่ดีในองค์กรใหญ่ ๆ ยังคงยึดถือปฏิบัติกันต่อมาแม้ว่าจะผ่านมานานหลายสิบปีแล้วก็ตาม

6. สถานที่ (Place)

ถึงแม้องค์กรจะไม่ใช่สถานที่ แต่สถานที่เป็นอีกปัจจัยในการสร้างวัฒนธรรมองค์กรเช่นกัน เพราะสถานที่ทำงานเป็นแหล่งที่ผู้คนจะมาเจอกัน การออกแบบหรือการตกแต่งที่ทำงานจึงมีผลต่อพนักงานเช่นกัน โดยเฉพาะช่วง COVID-19 ที่ทุกคนทำงานทางไกล ก็จะเกิดวัฒนธรรมรูปแบบใหม่ขึ้นมาเช่นกัน

เทรนด์วัฒนธรรมองค์กร ประจำปี 2021 โดยสถาบันวิจัย O.C. Tanner
  • ทุกองค์กรจะเห็นความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรมากขึ้น โดยเฉพาะการทำงานทางไกล (Remote Work) ทำให้รู้ว่า วัฒนธรรมไม่ได้เกิดจากกิจกรรมในออฟฟิศอย่างเดียว องค์กรจึงต้องโฟกัสและสร้างวัฒนธรรมเชิงบวกที่สำคัญต่อองค์กรจริง ๆ เท่านั้น
  • รูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนไป ผลสำรวจกว่า 77% บอกว่าการทำงานจะไม่มีวันเหมือนเดิม ทั้งยังมองว่าการ Work From Home มีประสิทธิภาพมากกว่าการมานั่งออฟฟิศทุกวันด้วยซ้ำ หลายบริษัทจึงเริ่มออกนโยบายทำงานทางไกลถาวร ฉะนั้นวัฒนธรรมองค์กรแบบเดิมได้รับผลกระทบแน่นอน
  • สนับสนุนความหลากหลายและยอมรับความแตกต่างของพนักงานมากขึ้น ทั้งในด้านเชื้อชาติ วัฒนธรรม พื้นฐานทางเศรษฐกิจ ความบกพร่องทางร่างกาย เพศสภาพ และประสบการณ์ รวมถึงการมองเห็นคุณค่าของความแตกต่างของพนักงานภายในองค์กร
  • จะมีพนักงาน Generation Z เข้ามาในองค์กรมากขึ้น ซึ่งพวกเขาอาจยังไม่มุ่งหวังการไต่เต้าทางอาชีพ แต่ต้องการการเป็นส่วนหนึ่งขององค์กร วัฒนธรรมองค์กรใหม่จึงต้องดึงดูดให้พวกเขารู้สึกมีส่วนร่วมในการพัฒนาองค์กร
  • การเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล (Digital Transformation) เกิดขึ้นแน่นอน เพราะเทคโนโลยีทุกวันนี้เปลี่ยนแปลงเร็วยิ่งกว่าใจคน แถมมีนวัตกรรมเกิดขึ้นตลอดเวลา การเตรียมพร้อมใช้งานเครื่องมือใหม่ ๆ จึงเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก

เราจะสร้างวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ได้อย่างไร?

วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คืออะไร ? 6 ปัจจัยที่ช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรง

การสร้างวัฒนธรรมองค์กรไม่ได้เกิดขึ้นภายในวันเดียว สิ่งเหล่านี้ต้องให้เวลากับมันนานพอสมควร ที่สำคัญคือต้องมีการวางแผนในการพัฒนาให้เกิดขึ้นด้วย ซึ่งหากวัฒนธรรมองค์กรเกิดขึ้นแล้ว เราก็สามารถใช้ประโยชน์จากวัฒนธรรมองค์กรได้ในระยะยาว โดยปัจจุบันเราสามารถสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดังต่อไปนี้

1. รับรู้ถึงความสำเร็จของพนักงาน

การตระหนักรู้ถึงการมีอยู่พนักงานนับเป็นความสำคัญอย่างหนึ่ง ยิ่งถ้าหากรับรู้ถึงความสำเร็จในการทำงานของพนักงานนั้น ๆ ก็จะยิ่งส่งผลดีในวงกว้าง โดยเฉพาะผู้บริหารควรจะมีการชื่นชมพนักงานบ้าง เพราะมีผู้เชี่ยวชาญบอกว่า การชื่นชมพนักงานเป็นตัวชี้วัดต่อความผูกพัน การรักษา และการพัฒนาตัวเองของพนักงานอย่างมีนัยยะสำคัญ

2. รับฟังเสียงพนักงานอย่างแท้จริง

การรับฟังความคิดเห็นของพนักงานเป็นสิ่งที่มีความสำคัญ เพราะหากเราทำพลาดในข้อนี้ก็จะทำให้พนักงานสูญเสียกำลังใจในการทำงานได้ โดยเราสามารถรับฟังในรูปแบบแบบสอบถาม หรือการเข้าพูดคุยส่วนตัวเพื่อสังเกตอวัจนภาษาต่าง ๆ และหากเป็นการทำงานทางไกล ก็อาจเปิดกล้องเพื่อให้การท่าทางของพวกเขาได้ด้วย

3. ผู้นำต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

ความสำเร็จในการสร้างวัฒนธรรมอยู่ในมือของผู้บริหารหรือหัวหน้าทีม เพราะเราปฏิเสธไม่ได้ว่าผู้นำมีส่วนสำคัญในการเป็นตัวอย่างให้กับลูกทีม ถ้าผู้นำไม่เชื่อในวัฒนธรรมองค์กร ก็คงไม่มีใครเชื่อมั่นเช่นกัน

4. ดำเนินการตามค่านิยม

อย่างที่กล่าวไว้ข้างต้น วิสัยทัศน์เป็นตัวกำหนดภารกิจ แต่ค่านิยมจะเป็นตัวกำหนดพฤติกรรมและทัศนคติ ค่านิยมจึงเป็นรากฐานสำคัญในการสร้างวัฒนธรรม ซึ่งถ้าหากทุกคนสามารถดำเนินการตามค่านิยมได้อย่างจริงก็จะเกิดเป็นวัฒนธรรมที่ทุกคนทำได้จริง หาใช่คำพูดสวยหรูที่ไม่สามารถทำได้

5. หมั่นสร้างความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกต่างทีม

เป็นการสร้างความสัมพันธ์ให้กับพนักงานระหว่างทีมหรือระหว่างแผนก เพื่อสร้างความรู้จักกันให้มากขึ้น สายสัมพันธ์นี้จะส่งเสริมให้แต่ละฝ่ายทำงานร่วมกันได้อย่างสะดวกใจขึ้น ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพเช่นกัน 

6. เน้นการเรียนรู้และการพัฒนา

เชื่อไหมว่าวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ในองค์กร ส่งผลต่อประสิทธิภาพทางธุรกิจอย่างมีนัยยะสำคัญ มีผลการศึกษาจาก Find Courses ระบุว่า บริษัทที่พนักงานให้ความสำคัญต่อการพัฒนา Soft Skill จะมีผลประกอบการที่มากขึ้น นี่จึงเป็นเหตุผลให้องค์กรต่าง ๆ เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนในโครงการพัฒนาพนักงานนั่นเอง

7. ตระหนักถึงวัฒนธรรมทุกวัน

แรกเริ่มการรับพนักงานหลาย ๆ ที่จะมีการปฐมนิเทศวันเดียวแล้วปล่อยให้พนักงานลุยงานทันที แต่ทางที่ดีเราควรสร้างความตระหนักรู้ถึงวัฒนธรรมที่อยากสร้างให้พนักงานรับรู้บ้าง เนื่องจากจะทำให้พวกเขารักษาวัฒนธรรมนั้น ๆ ให้สดใหม่และทำตามอยู่เสมอ

8. ปรับแต่งให้เข้ากับประสบการณ์แต่ละคน

เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เหมือนกัน การยืดหยุ่นจึงเป็นทางออกที่ดีกว่าการบังคับ ฝ่ายทรัพยากรบุคคลจึงต้องสำรวจความต้องการของพนักงานอยู่เสมอว่าพวกเขาต้องการหรือไม่ต้องการวัฒนธรรมแบบไหน นับเป็นความเอาใจใส่ที่จะจูงใจให้เขาปฏิบัติตามวัฒนธรรมนั่นเอง

วิถีรักษาวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ให้อยู่ยงคงกระพัน

วัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) คืออะไร ? 6 ปัจจัยที่ช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรง

เมื่อมีการสร้างวัฒนธรรมได้แล้ว ภารกิจต่อไปก็คือการรักษาวัฒนธรรมองค์กรนั้น ๆ ให้คงอยู่ แม้ว่าจะเจออุปสรรคใด ๆ ก็ตาม ซึ่งทาง inc.com มีคำแนะนำไว้อยู่ 5 ข้อดังนี้

  1. จ้างพนักงานใหม่อย่างระมัดระวัง เป็นอีกหนึ่งวิธีที่ดีที่สุดในการรักษาวัฒนธรรมองค์กร โดยเราอาจต้องเข้มงวดมากขึ้น ตรวจสอบให้ดีว่าพวกเขาเหมาะสมกับทีมเดิมไหม เพื่อหลีกเลี่ยงอคติบางอย่างเมื่อรับเข้ามาทำงานจริง
  2. ย้ำถึงค่านิยมบ่อย ๆ เพื่อให้พนักงานทั้งเก่าและใหม่รับรู้ถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ควรจะเป็น โดยเฉพาะพูดกับพนักงานใหม่ก็จะเป็นคัดเลือกระดับหนึ่งว่าพวกเขามีความคิดเห็นอย่างไรกับวัฒนธรรมองค์กรของเรา
  3. พัฒนาและรักษาวัฒนธรรมอยู่เสมอ กล่าวคือเป็นการสานต่อวัฒนธรรมองค์กรจากรุ่นสู่รุ่นนั่นเอง
  4. ตระหนักถึงความสำเร็จและผลงานของพนักงานเป็นประจำ สิ่งเหล่านี้จะช่วยมัดใจพนักงานให้มีความรู้สึกที่ดีกับองค์กรอยู่เสมอ อาจเป็นการให้รางวัลเล็ก ๆ น้อย ๆ อย่างการชื่นชมก็เพียงพอแล้ว
  5. เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนแสดงความคิดเห็น หมั่นตรวจสอบว่าพวกเขาต้องการอะไร และรับฟังคำแนะนำนั้น ๆ เป็นประจำ

ตัวอย่างวัฒนธรรมองค์กร (Organizational Culture) ที่น่าสนใจ

มีตัวอย่างมากมายที่สร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีจนกลายเป็นบริษัทที่ใครก็อยากทำงานด้วย ซึ่งไม่เพียงมอบเงินเดือนหรือสวัสดิการดี ๆ แล้ว แต่ยังมีกฎระเบียบการทำงานที่ยืดหยุ่นไปกับยุคสมัย โดยเกิดจากการวางรากฐานที่มั่นคงทางวัฒนธรรม ในบทความนี้เราขอยกตัวอย่าง 3 บริษัทใหญ่ว่าพวกเขามีวัฒนธรรมอะไรบ้าง

วัฒนธรรมองค์กร Honda – เริ่มต้นด้วยบริษัทผลิตรถยนต์ชื่อดังจากญี่ปุ่นที่มีวัฒนธรรมองค์กรโดดเด่นมาก ๆ ซึ่งเขาได้อธิบายวัฒนธรรมองค์กรของตัวเองไว้ว่า ‘ความยินดีสามประการ’ (Three Joys) อันหมายถึง ความยินดีในการซื้อ, ความยินดีในการขาย และความยินดีในการสร้างสรรค์ นั่นจึงเป็นเหตุผลให้ฮอนด้าเห็นความสำคัญนกระบวนการผลิต กระบวนการขายและความพึงพอใจของลูกค้า เป็นอันดับต้น ๆ ของโลก

วัฒนธรรมองค์กร PPT – บริษัทมหาชนขนาดใหญ่ของไทยที่ใครหลายคนอยากทำงานด้วน เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่มีค่านิยมผ่านคำว่า ‘ร่วมใจ ร่วมพลัง ร่วมสร้าง’ นำมาซึ่งวัฒนธรรมที่พนักงานทุกคนจะรู้สึกเป็นเจ้าของธุรกิจ มองผลประโยชน์ทางธุรกิจขององค์กรและลูกค้า มีความต้องการให้ ปตท. เป็นองคก์รแห่งนวัตกรรม และมีจิตสำนึกในการทำงานเป็นทีมโดยมีเป้าหมายร่วมกันที่ชัดเจน

วัฒนธรรมองค์กร Disney – ข้ามสายมาบริษัทบันเทิงกันบ้างซึ่งพันธกิจขององค์กรนี้คือการสร้างประสบการณ์ความสุขและความสนุกที่มาจากความคิดสร้างสรรค์และนวัตกรรม ผ่านสินค้าและบริการหลายรูปแบบ ฉะนั้นวัฒนธรรมหลักของดิสนีย์ที่สืบทอดกันมาตั้งแต่สมัย วอลท์ ดิสนีย์ (Walt Disney) ยังเป็นผู้บริหารก็คือคำพูดเพียง 2 คำเท่านั้น ‘สร้างความสุข’ (Create happiness) นั่นเอง

ทั้งหมดนี้เป็นเพียงตัวอย่างเล็ก ๆ น้อย ๆ ของวัฒนธรรมองค์กรที่ยังคงสืบทอดมาถึงทุกวันนี้ แล้วองค์กรของคุณล่ะ มีวัฒนธรรมองค์กรแบบไหน เข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเพิ่มเติมได้ที่ HR Community ของเรา

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: วัฒนธรรมองค์กรในอุดมคติหน้าตาเป็นแบบไหน (แต่ละบริษัทจำเป็นต้องเหมือนกันหรือเปล่า)

เห็นว่าพักหลัง ๆ มีคนพูดเรื่องวัฒนธรรมองค์กรค่อนข้างเยอะ อยากรู้ว่ามันมีวัฒนธรรมองค์กรไหนที่ดีที่สุด หรือเหมาะที่สุดไหม แล้วถ้าคุณเลือกได้อยากจะให้วัฒนธรรมองค์กรของคุณออกมาเป็นแบบไหน

A: แน่นอนว่าวัฒนธรรมไม่มีสูตรสำเร็จครับ

อุดมคติจึงขึ้นอยู่กับ กลยุทธ์ ค่านิยม และบริบทต่าง ๆ ในแต่ละองค์กร แต่ถ้าพูดถึง”ลักษณะ”ของวัฒนธรรมองค์กรที่ดี คือวัฒนธรรมที่ทุกที่คนเห็นภาพใหญ่เดียวกัน 

บทสรุป

“Design creates culture. Culture shapes values. Values determine the future.”

นี่คือกล่าวของ โรเบิร์ต เอล. พีเตอร์ (Robert L. Peters) ที่ปรึกษาทางด้านวัฒนธรรมองค์กรที่บ่งบอกถึงความสำคัญของวัฒนธรรมองค์กรได้ดีที่สุดแล้ว ซึ่งนอกจากจะสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่ดีแล้ว เรายังต้องใส่ใจในการฝึกฝนและปฏิบัติ เพื่อพัฒนาความรู้และความสามารถของบุคลากรในองค์กรอยู่เสมอ 

เพราะฉะนั้นถึงเวลาแล้วที่ HR ทุกคนต้องหันมาใส่ใจวัฒนธรรมองค์กรให้มากขึ้น เพื่อสร้างค่านิยมที่มีคุณค่าต่อพนักงาน และนำไปสู่ความสำเร็จตามอุดมการณ์หรือเป้าหมายขององค์กรต่อไป

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง