Search
Close this search box.

มีพนักงาน Deadwood ในบริษัท จัดการยังไงดี?

HIGHLIGHT

  • โดยพื้นฐานแล้ว พนักงานในบริษัทจะถูกจัดกลุ่มออกเป็น 4 ประเภท คือ ดาวเด่น (Star) ม้างาน (Work Horse) เด็กมีปัญหา (Problem Child) และพวกตายซาก (Deadwood)
  • พนักงาน Deadwood หรือพนักงานตายซาก จัดเป็นพนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีศักยภาพในอนาคตต่ำกว่าความคาดหวังของบริษัท พนักงานในกลุ่มนี้มักเป็นพนักงานที่ขาดความขยัน อดทน กระตือรือร้น ขาดการสังเกต และความคล่องแคล่วในการทำงาน อีกทั้งยังขาดจุดหมายในการพัฒนาตัวเอง
  • เห็นได้ชัดเลยว่าหากปล่อยพนักงานกลุ่ม Deadwood ไว้ภายในบริษัท ปัญหาทั้งในแง่ของการทำงาน และการเติบโตของบริษัทภายในอนาคตต้องตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้นฝ่ายบุคคลรวมถึงผู้บริหาร ควรมีวิธีและแนวทางในการจัดการพนักงานกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ

ในแต่ละองค์กรย่อมต้องพบเจอปัญหามากมายหลายหลาก แต่ปัญหาใหญ่ ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อองค์กรมากที่สุดก็คือเรื่องของคน และแน่นอนว่าหนึ่งในปัญหาที่ทุกองค์กรต้องพบเจอคือวิธีการจัดการกับพนักงาน การจัดการในที่นี้มีทั้งการจัดการแบบส่วนรวมและส่วนตัว ในบทความนี้ HREX จะมาเล่าถึงปัญหาส่วนตัวประเภทหนึ่ง นั่นก็คือ! “พนักงานแบบ Deadwood” 

การมีพนักงาน Deadwood อยู่ในองค์กรนอกจากจะกระทบกับงานโดยตรงแล้วยังสร้าง Negative Energy ให้กับพนักงานคนอื่น ๆ และสภาพแวดล้อมโดยรวมด้วย พนักงานแบบนี้คืออะไร แล้วต้องจัดการแบบไหน และถ้าไม่อยากให้เกิดสถานการณ์แบบนี้ขึ้นในองค์กร บทความนี้มีคำตอบมาให้แล้ว!

พนักงาน Deadwood คืออะไร? 

พนักงานในแต่ละองค์กรจะถูกจัดกลุ่มออกเป็น 4 ประเภทโดยพื้นฐาน ก็คือ

  • ดาวเด่น (Star)
  • ม้างาน (Work Horse)
  • เด็กมีปัญหา (Problem Child)
  • ตายซาก (Deadwood)

แต่ที่เราจะพูดถึงกันก็คือ “พนักงาน Deadwood” หรือพนักงานตายซากนั่นเอง จัดเป็นพนักงานที่มีผลการปฏิบัติงานต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐาน มีศักยภาพในอนาคตต่ำกว่าความคาดหวังของบริษัท พนักงานในกลุ่มนี้มักเป็นพนักงานที่ขาดความขยัน อดทน กระตือรือร้น ขาดการสังเกต และความคล่องแคล่วในการทำงาน อีกทั้งยังขาดจุดหมายในการพัฒนาตัวเองให้มีศักยภาพให้มากกว่าเดิมที่เป็นอยู่ นอกจากนี้ยังอาจหมายความถึงพนักงานที่มีปัญหาด้านสุขภาพ ร่างกายทำงานไม่ไหว หรืออาจเป็นพนักงานที่ไม่พอใจต่อระบบ กฎเกณฑ์ในบริษัท รวมถึงพนักงานที่มีความไม่พอใจต่อผู้บริหารอีกด้วย แล้วสาเหตุอะไรที่ทำให้พนักงานกลายเป็น Deadwood กันนะ?

สาเหตุที่ทำให้พนักงานเป็น Deadwood

ไม่ชอบงานที่ทำอยู่

หนึ่งในสาเหตุที่ทำให้พนักงานกลายเป็น Deadwood ได้คือไม่ชอบงานที่ทำอยู่ เพราะไม่ชอบ จึงไม่อยากทำ ไม่อยากคิด ไม่อยากริเริ่มสิ่งใหม่ในงานของตัวเอง หลายคนอาจสงสัยว่าแล้วมาทำงานที่ไม่ชอบทำไม? คำตอบนี้ขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยมาก ไม่ว่าจะเป็นตัวพนักงานคนนั้นที่ยังหางานใหม่ไม่ได้ หรือทำเพียงแค่ต้องการเงินเดือน หรืออาจเป็นเพราะเรียนมาทางนี้ก็เลยจำเป็นต้องทำก็เป็นได้เหมือนกัน

สังคมการทำงาน

ทุกบริษัท ทุกองค์กร ต่างก็มีสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันออกไป บางแห่งมีความกดดันจากเนื้องานมาก บางแห่งมีกฎระเบียบที่เคร่งครัด สิ่งเหล่านี้ล้วนส่งผลต่อสภาพแวดล้อมของพนักงานทุกคน เมื่อมองในภาพใหญ่ก็จะเกิดเป็นสังคมการทำงานของที่นั้น ๆ เมื่อมีพนักงานบางคนที่รับสภาพแวดล้อมแบบนี้ไม่ได้ ก็จะเกิดความห่อเหี่ยวในใจ ไม่มีไฟในการทำงานไปเสียดื้อ ๆ

ปัญหาส่วนตัว

พนักงานทุกคนล้วนมีปัญหาส่วน ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องครอบครัว สุขภาพกาย หรือสุขภาพจิต ทว่าพนักแต่ละคนต่างมีวิธีการจัดการปัญหาส่วนตัวไม่เหมือนกัน พนักงานที่ไม่สามารถจัดการปัญหาส่วนตัวของตัวเองได้ ก็จะส่งผลกระทบต่อการทำงาน ส่งผลให้การปฏิบัติงานแย่ลง ไม่เป็นไปตามเป้า

การจัดการขององค์กร

นอกจากค่าตอบแทนตามปกติแล้ว พนักงานยังต้องการสิ่งกระตุ้นเพื่อที่จะเป็นแรงผลักดันในการทำงาน ยกตัวอย่างเช่น หากมีใครทำผลงานได้เกินกว่าเป้าหมายในระดับที่กำหนดไว้ ก็จะได้ของรางวัลพิเศษ การให้รางวัลเช่นนี้ จะเกิดแรงกระตุ้นที่ดีในการทำงาน กลับกันหากไม่มีรางวัลพิเศษ พนักงานที่ปฏิบัติงานได้ดีก็จะไม่มีแรงจูงใจในการทำงาน และที่สำคัญหากเขาทำได้มากกว่าคนอื่น ก็ไม่ได้มีอะไรแตกต่างจากคนที่ทำน้อย

การเมืองขององค์กร

ยิ่งเป็นบริษัทหรือองค์กรขนาดใหญ่เท่าไหร่ ยิ่งพบเจอการเมืองได้มากเท่านั้น แถมยังมีการเมืองหลายระดับตั้งแต่ระดับพนักงานด้วยกัน จนไปถึงระดับหัวหน้างาน หรืออาจเป็นพนักงานบางคนที่กินแหนงแขลงใจต่อเพื่อนร่วมงาน ต่อหัวหน้า ต่อผู้บริหาร ดังนั้นพนักงานคนไหนที่ไม่เข้าพวกก็จะถูกเพ่งเล็ง จนไม่เป็นอันทำงานในที่สุด

HR ควรทำอย่างไรกับพนักงาน Deadwood?

เห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าหากปล่อยพนักงานกลุ่ม Deadwood ไว้ภายในบริษัท ปัญหาทั้งในแง่ของการทำงาน และการเติบโตของบริษัทภายในอนาคตต้องตามมาอย่างแน่นอน ดังนั้นฝ่ายบุคคลรวมถึงผู้บริหาร ควรมีวิธีและแนวทางในการจัดการพนักงานกลุ่มนี้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นในด้านการปฏิบัติงาน หรือปัญหาส่วนตัว ยกตัวอย่างเช่น

  • สั่งงานโดยตรงและสั่งอย่างละเอียด
  • ประเมินผลงานอย่างละเอียดและเป็นธรรม
  • มีรางวัลสำหรับพนักงานที่ปฏิบัติผลงานได้เกินมาตรฐาน
  • หัวหน้างานจะต้องรู้จักพูดคุย และสอบถามปัญหากับพนักงานในสายงานตัวเอง
  • การเกษียณก่อนกำหนด
  • กำหนดวินัย และบทลงโทษที่ชัดเจน

บทสรุป

การมีพนักงาน Deadwood อยู่ในองค์กรนั้นเป็นผลเสียมากกว่าผลดี แต่หากสามารถปรับเลเวลพนักงานประเภทนี้ให้กลายเป็นพนักงานธรรมดาได้ ก็จะช่วยให้ประสิทธิภาพการทำงานโดยรวมดีขึ้น ผลงานที่ออกมาก็มีประสิทธิผลมากขึ้นด้วย ช่วยยกระดับองค์กรไปอีกขั้น เมื่อถึงจุดนี้พนักงานก็จะมีความภาคภูมิใจในองค์กรอีกด้วย แต่ในส่วนที่สำคัญคือ ฝ่ายบุคคลของบริษัทควรใส่ใจดูแลพนักงาน ถามไถ่ปัญหา ช่วยแก้ปัญหา จะยิ่งทำให้พนักงานรักองค์กรมากขึ้นไปอีกเป็นเท่าตัว

ที่มา

Prakal

Spotify

CU Radio

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง