HIGHLIGHT
|
ทุกวันนี้เราคงได้ยินเรื่องระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) กันมากขึ้น หลายองค์กรเริ่มนิยมนำมาปรับใช้ในสถานที่ทำงาน เพื่อรองรับไลฟ์สไตล์ยุคใหม่ของคนทำงานที่ไม่ต้องการระบบตอกบัตรเข้า-ออกงานตามเวลาเหมือนเดิม
ทว่ากลับมีผู้เชี่ยวชาญบางคนเริ่มตั้งข้อสังเกตว่า ความอิสระในการกำหนดเวลาทำงานด้วยตัวเองและความหวังของสังคม กลับเป็นแรงกดดันให้พนักงานทำงานหนักและนานขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะกับพนักงานเพศหญิงที่เป็นคุณแม่
ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) คืออะไร
ระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น คือระบบจ้างงานพนักงานที่มีพรสวรรค์ (Talent) เข้ามาร่วมงานกับองค์กรโดยยืดหยุ่นกระบวนการต่าง ๆ ให้เหมาะสมกับแต่ละคน เพื่อสอดรับกับพฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไป
ระบบการจ้างงานที่หลากหลายรูปแบบในยุคปัจจุบันเป็นไปได้ทั้ง
- การจ้างงานแบบสัญญาจ้างระยะสั้น (Short Term Contract)
- การจ้าง/ทำงานแบบโปรเจกต์ (Project Base Working)
- การจ้าง/ทำงานแบบงานรายชิ้นหรือรายวันหรือรายครั้ง (Job Base)
- การจ้าง/ทำงานจากที่บ้าน (Work from Home)
- การจ้าง/ทำงานจากที่ไหนก็ได้บนโลกใบนี้ (Remote Working)
- การทำงานแบบแชร์ความสามารถส่วนบุคคล (Talent Sharing)
- หรือการจ้าง/ทำงานแบบฟรีแลนซ์ (Freelance)
Flexible Working เป็นโอกาสที่จะได้คนที่มีความสามารถมาร่วมงานมากขึ้น และองค์กรก็จะมีการทำงานที่คล่องตัวขึ้น อย่างไรก็ดีระบบการจ้างงานในยุคนี้มีความหลากหลายและปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ อยู่ที่ผลประโยชน์กับทุกฝ่ายที่ตกลงร่วมกันทั้งองค์กรและพนักงานอย่างไร
ทำไมระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) ถึงทำให้พนักงานทำงานหนักและนานขึ้น
นักวิจัยทางสังคม Heejung Chung จากมหาวิทยาลัยเคนต์ (University of Kent) ผู้เขียนหนังสือ The Flexibility Paradox ตั้งข้อสังเกตไว้ว่า ผู้ที่แสวงหาความยืดหยุ่น โดยเฉพาะผู้ที่พยายามควบคุมเวลาและที่ทำงานของตัวเอง อาจกำลังทำให้ตัวเองมีปัญหาแทน
ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่า เมื่อพูดถึงการทำงานที่ยืดหยุ่น พนักงานส่วนใหญ่จะทำงานหนักและนานขึ้น แถมยังคิดเรื่องงานนอกเวลางานอีก สังเกตได้จากคนที่เลือกเวลาทำงานได้เอง จะบันทึกเวลาการทำงานเพิ่มขึ้น 4 ชั่วโมง/สัปดาห์เมื่อเทียบกับคนที่มีตารางเวลาทำงานแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคุณแม่ที่ทำงานที่บ้าน เพราะพวกเธอต้องเผชิญหญ้ากับแรงกดดันทางสังคมที่คาดหวังให้เพศหญิงต้องทำงานบ้านและดูแลลูกเพิ่มเติม ทำให้พนักงานที่เป็นคุณแม่ต้องทำงานหนักและนานขึ้นเพื่อชดเชยเวลาดังกล่าวด้วย
ฉะนั้นการทำงานทางไกล (Remote Working) และการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) จึงมักถูกมองเป็นเรื่องพิเศษในการสร้างความสมดุลของชีวิต (Work-Life Balance) แต่ความจริงแล้วอาจตรงกันข้ามกันเลยก็ได้ เพราะแรงงานในสังคมยังมีการแข่งขันกันในระดับสูง และมีความไม่มั่นคงในงานสูงมาก ประกอบกับความเชื่อทางสังคมที่ว่า ‘งานคือเงิน เงินคืองาน บันดาลสุข’ การทำงาน (เพื่อเงิน) ก็จะยิ่งเข้มข้นมากขึ้น
อนาคตระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) ยังคงอยู่
อย่างไรก็ตาม หลายคนคาดการณ์ได้ว่าระบบการทำงานที่ยืดหยุ่น (Flexible Working) ยังคงอยู่ต่อ ไม่ว่าอนาคตจะมีการแพร่ระบาดของโรคใหม่หรือไม่ก็ตาม พร้อม ๆ กับการเติบโตทางความคิดทางสังคมและความเท่าเทียมทางเพศที่เปิดกว้างมากขึ้น ซึ่งนั่นจะทำให้วิธีการทำงานเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้น เพราะเราจะเริ่มตั้งคำถามกันแล้วว่า เราทำงานเพื่ออะไรกันแน่… เพื่อเงินหรือเพื่อทำให้โลกนี้น่าอยู่ขึ้น
และด้วยความรับผิดชอบในการปฏิบัติงาน (Responsibility) และความรับผิดชอบต่อผลการปฏิบัติงาน (Accountability) จะทำให้ผู้คนโฟกัสเฉพาะสิ่งที่จำเป็นต้องทำจริง ๆ มากกว่าทำงานเพราะแรงกดดัน เมื่อนั้น Flexible Working จะยังเป็นทางเลือกที่น่าสนใจในการทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น สร้างสมดุลระหว่างชีวิตกับงาน และความเท่าเทียมทางเพศได้
อยู่ที่ว่าเราจะมีทัศนคติต่อการทำงานและบทบาททางเพศอย่างไรกันแน่