HIGHLIGHT
|
“บริษัทญี่ปุ่น” เมื่อพูดถึงคำนี้แล้ว คนไทยส่วนใหญ่จะนึกถึงนวัตกรรม วัฒนธรรมองค์กร วิธีบริหารจัดการ ตลอดจนสวัสดิการที่โดดเด่นแตกต่างจากบริษัทไทย แต่รู้ไหมว่ามีบริษัทญี่ปุ่นอยู่แห่งหนึ่งที่ล้ำไปอีกขั้น และมีระบบ HR ที่แปลกแหวกแนวกว่าที่อื่น เพราะบริษัทนี้เปิดโอกาสให้พนักงานทุกคนทำหน้าที่เป็นฝ่ายทรัพยากรบุคคล เท่านั้นยังไม่พอ ยังเปิดโอกาสให้ทำหน้าที่เป็น CEO ในบางโอกาสอีกด้วย บริษัทญี่ปุ่นนี้ชื่อว่า KAYAC หรือชื่อเต็มว่า Omoshiro Hojin Kayac นั่นเอง
Contents
บริษัทญี่ปุ่น KAYAC คือบริษัทอะไร
KAYAC เป็นบริษัทญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ.1998 ทำธุรกิจด้านดิจิทัล ผลิตแอปพลิเคชัน และการจัดอีเวนท์ ภายใต้แนวคิดว่า “บริษัทสร้างสรรค์ความสนุก” ซึ่งไม่ใช่แค่เฉพาะเนื้องานที่ผลิตออกมาเท่านั้น แต่ยังรวมถึงระบบบบริหารจัดการภายในองค์กรอีกด้วย โดยวิธีการที่บริษัทญี่ปุ่นแห่งนี้แตกต่างจากที่อื่นที่สุดก็คือการกำหนดให้พนักงานทุกคนทำหน้าที่เป็น HR ตลอดอายุงาน แถมยังมีโอกาสได้ทำหน้าที่ CEO เป็นระยะอีกด้วย
KAYAC ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าพวกเขาเป็นบริษัทญี่ปุ่นรุ่นใหม่ที่เปิดรับเรื่องความเท่าเทียม แม้เป็นพนักงานที่เรียนจบมาใหม่ ๆ ก็สามารถออกความเห็นหรือปฏิเสธไอเดียของ CEO ได้ ซึ่งท้ายสุดแล้วระบบที่โดดเด่นและการให้พนักงานทุกคนมีส่วนร่วมนี่เองที่จะทำให้บริษัทสามารถคิดค้นสิ่งใหม่ ๆ ได้โดยไม่มีข้อจำกัด นำไปสู่ผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพมากกว่าบริษัทอื่น ๆ ทั่วโลกที่ยังคงใช้วิธีบริหารแบบเดิม
บริษัทญี่ปุ่น KAYAC มีระบบ HR ที่แตกต่างจากบริษัทอื่น ๆ อย่างไร
ไดสึเกะ ยานาซาวะ (Daisuke Yanasawa) ซึ่งเป็น CEO ของ KAYAC มองว่าบริษัทขนาดเล็กเรื่อยไปจนถึงระดับกลางจะไม่มีวันเติบโตได้เลยหากไม่มีความแตกต่างจากที่อื่นหรือไม่พยายามฉีกขนมเดิม ๆ ทิ้งไป โดยเขามักบอกกับพนักงานว่า “ไอเดียดี ๆ ไม่ใช่คำตอบเสมอ” ทุกคนสามารถนำเสนอไอเดียได้เลยแม้จะอยู่แค่ในช่วงเริ่มต้นตราบใดที่คิดว่าเป็นประโยชน์ต่อบริษัท เพราะการเอาแต่รอเสนอไอเดียดี ๆ อาจทำให้ไอเดียเล็ก ๆ ที่มีศักยภาพถูกมองข้ามไป อย่างไรก็ตามการที่พนักงานทุกคนจะกล้าออกความเห็นในระดับนั้น จำเป็นต้องมีระบบ HR ที่แข็งแรงคอยกำกับดูแล และนี่คือแนวทางแหวก ๆ ที่เขานำมาใช้กับ KAYAC บริษัทญี่ปุ่นที่ได้ชื่อว่ามีระบบ HR โดดเด่นที่สุดในประเทศ
1.บริษัทญี่ปุ่นที่ให้ทุกคนเป็น HR : นามบัตรของพนักงาน KAYAC ทุกคนจะถูกระบุว่าพวกเขาเป็นสมาชิกของแผนกทรัพยากรบุคคล ดังนั้นพวกเขาจะมีส่วนร่วมในการกำหนดเงินเดือน การได้โบนัส การรับพนักงานใหม่ ตลอดจนการออกความเห็นเกี่ยวกับนโยบายต่าง ๆ ที่จะช่วยให้บริษัทเติบโตไปในทิศทางที่ดียิ่งขึ้น
2.บริษัทญี่ปุ่นที่ให้ทุกคนเป็น CEO : ทุก ๆ 6 เดือน พนักงานของ KAYAC จะต้องไปเข้าค่ายพิเศษที่กำหนดให้ทุกคนเป็น CEO โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของบริษัท สามารถพูดถึงสิ่งที่อยากแก้ไขและแสดงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับแผนงานของบริษัทในอนาคตได้อย่างเต็มที่ การให้เกียรติพนักงานแบบนี้จะทำให้พวกเขามองเห็นบริษัทในองค์รวม ไม่ใช่แค่มาทำงานเพื่อตัวเองและจากไป
3.บริษัทญี่ปุ่นที่จ่ายโบนัสด้วยการทอยเต๋า : สวัสดิการของ KAYAC คือการจ่ายโบนัสทุกเดือนโดยมีวิธีการคือให้พนักงานทุกคนทอยเต๋า ผลที่ได้จะถูกคิดเป็นเปอร์เซ็นต์เพื่อเอามารวมกับฐานเงินเดือนปกติ แนวคิดนี้เกิดขึ้นเพราะบริษัทต้องการให้พนักงานรู้สึกถึงความเป็นธรรมในการจ่ายโบนัส และอยากตอบแทนความตั้งใจของทุกคนอย่างเท่าเทียม ดังนั้น KAYAC จึงตัดปัญหาด้วยการปล่อยให้มันเป็นเรื่องของโชคชะตาเสียเลย
4.บริษัทญี่ปุ่นที่ปรับเงินเดือนทุก ๆ ครึ่งปี : ทุก 6 เดือนบริษัทจะจัดให้มีการโหวตของพนักงานในแต่ละแผนก เพื่อจัดอันดับพนักงานตามผลงาน ซึ่งอัตราการปรับเงินเดือนจะเกิดขึ้นโดยอ้างอิงจากลำดับดังกล่าว นี่คืออีกหนึ่งตัวอย่างว่าพนักงานของ KAYAC ทุกคนคือ HR เพราะมีส่วนร่วมกับเรื่องเงินเดือนอย่างเป็นรูปธรรม
5.บริษัทญี่ปุ่นที่ให้ความสำคัญกับการรับเข้าและลาออกของพนักงานทุกคน : เมื่อคุณสัมภาษณ์งานกับ KAYAC ผ่านแล้ว คุณจะไม่ได้เป็นพนักงานทันที กลับกันคุณจะต้องเข้าร่วมการระดมสมอง (Brainstorming) กับคนในแผนกที่สมัครเข้ามาเพื่อหาคำตอบให้ชัดเจนว่าแนวทางการทำงานจริง ๆ ของบริษัทนั้นตรงกับ Career Path ที่วางเอาไว้หรือไม่ ผ่านการพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์จริง
รวมถึงหากมีพนักงานคนใดลาออก บริษัทก็จะจัดการระดมสมองขึ้นอีกครั้ง เพราะแม้จะไม่สามารถรั้งพนักงานคนดังกล่าวเอาไว้ แต่ประสบการณ์ของพนักงานท่านนั้นก็ย่อมเป็นประโยชน์ต่อพนักงานคนอื่น ๆ วิธีการเหล่านี้นำไปสู่คำแนะนำที่จริงจัง จริงใจ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริษัทได้อย่างเป็นรูปธรรม
6.บริษัทญี่ปุ่นที่อยากให้ทุกคนได้เที่ยว : เพราะท้ายสุดแล้ว KAYAC ก็เป็นบริษัทครีเอทีฟ ดังนั้นแนวทาง HR เหล่านี้จะไม่มีประโยชน์เลยหากผลงานของบริษัทออกมาไม่มีประสิทธิภาพ ดังนั้นพวกเขาจะทำการสำรวจความต้องการของพนักงานอยู่เสมอเพื่อให้แน่ใจว่าทุกคนอยู่ในองค์ประกอบของการทำงานที่เหมาะกับการสร้างสรรค์ไอเดียใหม่ ๆ โดยหนึ่งในเรื่องที่พนักงานเรียกร้องมากที่สุดก็คือ “การท่องเที่ยว” ดังนั้นบริษัทจึงออกนโยบายเปลี่ยนที่ทำงานเป็นระยะทันที ไล่ตั้งแต่ในประเทศญี่ปุ่นอย่างจังหวัดเซ็นได เรื่อยไปจนถึงประเทศในเอเชียอย่างเวียดนาม หรือแม้แต่ประเทศในยุโรปอย่างอิตาลี
แม้พนักงานจะต้องทำงาน 5 วันต่อสัปดาห์เหมือนเดิม แต่การได้ไปเที่ยวเปลี่ยนบรรยากาศก็น่าจะช่วยให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ ได้ง่ายกว่าการเอาแต่คิดงานอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมแน่นอน
7.บริษัทญี่ปุ่นที่อยากให้ทุกคนยิ้มให้กัน : บริษัทจะกำหนดให้พนักงานจับคู่เพื่อคอยบันทึกรอยยิ้มและความสุขระหว่างกันเอาไว้ โดยบันทึกดังกล่าวจะถูกสรุปลงไปบนสลิปเงินเดือนพร้อมระบุราคาไว้ที่ 0 เยน จุดประสงค์ของนโยบายนี้คือทาง CEO มองว่าหนึ่งในสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดความเครียดก็คือการมองไม่เห็นความสุขรอบตัว และการเขียนราคาไว้ที่ 0 เยนก็เพราะอยากให้พนักงานเห็นว่า “ความสุขสามารถส่งต่อให้กันได้แบบฟรี ๆ” นี่คือพื้นฐานของการสร้างองค์กรที่เห็นความสุขเป็นสำคัญ
8.บริษัทญี่ปุ่นที่อยากให้พนักงานเป็นเหมือนพระเอกการ์ตูน : เพราะคุณยานาซาวะ CEO ของ KAYAC ชื่นชอบการอ่านการ์ตูนเป็นพิเศษ เขาจึงนำคอนเซ็ปต์ของเหล่าพระเอกมาใช้ นั่นคือการมีทัศนคติในแง่บวก กล้าคิดกล้าทำ พร้อมลุยตลอดเวลา และเชื่อมั่นว่าทุกสิ่งสามารถเกิดขึ้นได้ แม้คอนเซ็ปต์เหล่านี้จะสุดโต่งไปบ้าง แต่หากเรานำมาประยุกต์ใช้ในบริษัทได้ ก็น่าจะเป็นมุมมองใหม่ ๆ ที่ก่อให้เกิดประโยชน์กับการทำงานจริง ๆ
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: อยากทราบว่า HR มีไอเดียอะไรใหม่ ๆ ที่จะนำเสนอสวัสดิการให้กับทางพนักงานบ้าง รบกวนมาแชร์กันค่ะ
โดยพื้นฐานของบริษัททั่วไป จะมีสวัสดิการพื้นฐาน เช่น ประกันกลุ่ม ตรวจสุขภาพประจำปี ค่าทำฟัน โบนัส ปรับเงินเดือนประจำปี เลยอยากสอบถามทางเพื่อน ๆ ในสายงานว่า มีสวัสดิการอะไร ใหม่ ๆ ที่อยากนำเสนอให้กับพนักงานงานบ้าง
A: สำหรับบริษัทที่ผมทำแล้วพนักงานรู้สึก Engage มากในอันดับต้น พอเล่าให้ฟังโดยสรุปได้ดังนี้
1. สวัสดิการข้าวมื้อกลางวันฟรี โดยข้าวเป็นข้าวเกษตรอินทรีย์ สภาพไม่ค่อยสวยแต่ไม่มีสารเคมีในการปลูก หลักการคือพนักงานตักข้าวได้ไม่จำกัด แต่ซื้อกับข้าวเองในราคาประหยัดถ้วยละ 10 บาท ไม่สามารถสั่งใส่ห่อกลับบ้านทั้งข้าวและกับข้าว บริษัทผมไม่ใช่โรงงานครับ
2. Flexible Benefit 6,000 บาท พนักงานสามารถใช้สิทธิ์ในการเรียนหนังสือ ทำฟันที่นอกเหนือจากประกันสังคม ซื้อแว่นตา ท่องเที่ยว ฟิตเนส โยคะ เป็นต้น ตาม Lifestyle ของตนเอง จ่ายเงินเดือนนี้ ทำเบิก และบริษัทจ่ายคืนให้ในเดือนหน้า
3. สวัสดิการหมอนวดตาบอดทุกวันศุกร์ของสัปดาห์ นวดคนละ 30 นาที,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)
วิธีบริหารมนุษย์ของบริษัทญี่ปุ่น KAYAC นำไปสู่ผลลัพธ์อะไร
1. บริษัทญี่ปุ่นที่ให้พนักงานใหม่เรียนรู้จาก CEO โดยตรง : บริษัทค้นพบว่าการให้พนักงานใหม่ร่วมเดินทางไปเจรจาธุรกิจพร้อมกับ CEO โดยตรงจะทำให้เข้าใจแนวทางหรือสิ่งที่บริษัทต้องการมากขึ้น นอกจากนี้ยังเกิดการแลกเปลี่ยนแนวคิดที่ช่วยให้ CEO ได้ฟังความเห็นจากคนรุ่นใหม่อยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความสบายใจระหว่างทำงาน บริษัทจะกำหนดให้ CEO เดินทางด้วยเครื่องบินชั้นประหยัดแบบเดียวกับพนักงานใหม่ และใช้ชีวิตประจำวันในรูปแบบเดียวกันตลอดทั้งทริป โดย CEO ต้องถือสัมภาระด้วยตนเอง ห้ามให้พนักงานช่วยเด็ดขาด
2. บริษัทญี่ปุ่นที่อยากให้คุณดีใจที่เกิดมา : บริษัทอนุญาตให้พนักงานลาหยุดได้ในเดือนเกิด เพราะอยากให้รู้สึกว่าการเกิดมาบนโลกนี้มีความหมาย อาจดูเป็นเรื่องเล็กน้อยแต่ก็ช่วยชุบชูจิตใจของพนักงานได้เป็นอย่างดี
3. บริษัทญี่ปุ่นที่อยากให้นามบัตรของพนักงานพิเศษกว่าใคร : นามบัตรของพนักงานที่ KAYAC ทุกคนจะถูกวาดเป็นการ์ตูนโดยศิลปินมืออาชีพ โดยใช้หน้าตาและลักษณะนิสัยของแต่ละคนเป็นแรงบันดาลใจในการวาด เพราะบริษัทต้องการให้คู่ค้ารู้สึกตื่นตาตื่นใจเมื่อได้รับ ตลอดจนสามารถนำเสนอความเป็นตัวตนของพนักงานออกไปอย่างชัดเจนโดยทันที
4. บริษัทญี่ปุ่นที่อยากดูแลคุณตลอดไป : KAYAC มีแนวคิดว่าพนักงานทุกคนไม่จำเป็นต้องทำงานที่บริษัทนี้ตลอดไป พวกเขาสามารถเปลี่ยนไปทำในสิ่งที่ตนรักได้เลย เพราะแนวคิดหลักในการก่อตั้งบริษัทก็คือการ “สร้างครีเอเตอร์หน้าใหม่ให้แก่โลก” ดังนั้นการที่พนักงานพบเจอแนวทางที่เหมาะกับตนเองมากกว่าจึงเป็นสิ่งที่บริษัทพร้อมสนับสนุนและช่วยเหลืออย่างเต็มที่แม้จะไม่ได้มีสถานะเป็นพนักงานของบริษัทแล้วก็ตาม ทั้งนี้ KAYAC ได้จัดทำหน้าเว็บไซต์ที่รวบรวมรายชื่อของพนักงานที่ลาออก โดยนำเสนอในรูปแบบของการ์ตูน สะท้อนให้เห็นถึงความสนุกสนานและความจริงใจต่อกันได้เป็นอย่างดี
5. บริษัทญี่ปุ่นที่อยากให้ทุกคนสะดวกสบายขึ้น : หากเราเข้าไปในหน้าเว็บไซต์ของบริษัท จะพบข้อความที่เขียนว่า “ทั้งเมืองคามาคุระคือที่ตั้งออฟฟิศของเรา” เพราะ KAYAC ต้องการสร้างสังคมการทำงานขนาดใหญ่ขึ้นในเมืองคามาคุระ (จังหวัดคานางาวะ) โดยหวังว่าการนำระบบใหม่ ๆ มาใช้กับการดำเนินชีวิตแบบปกติธรรมดาของการทำงานจะช่วยให้สังคมดีขึ้นได้ ในที่นี้พวกเขาได้จัดทำ “ร้านอาหารท้องถิ่น” ซึ่งเป็นเหมือนครัวกลางให้คนทำงานทั้งในและนอกบริษัทสามารถเข้ามาใช้บริการได้โดยมีส่วนลดพิเศษ ร้านอาหารจะมีตั้งแต่ระดับปกติเรื่อยไปจนถึงร้านระดับมิชลินสตาร์
เพราะคามาคุระถือเป็นเมืองท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียง ดังนั้นพนักงานบริษัทมักต้องไปแย่งพื้นที่กับนักท่องเที่ยวในเวลาอาหารกลางวัน ไอเดียนี้จึงช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ KAYAC ยังมีนโยบายช่วยค่าเช่าบ้านบางส่วนสำหรับผู้ที่ต้องการย้ายมาทำงานใกล้ ๆ ออฟฟิศ รวมถึงเพิ่มออฟฟิศเอาไว้ที่ใจกลางเมือง (อากิฮาบาระ ในกรุงโตเกียว) เพื่อรองรับคนที่ไม่สามารถมาที่คามาคุระได้จริง ๆ
ตัวอย่างบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่มีแนวทางคล้าย KAYAC
บริษัทญี่ปุ่นในไทยมีอยู่หลายรูปแบบตั้งแต่ขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ เรื่อยไปจนถึงโรงงานอุตสาหกรรมที่มีพนักงานหลักหมื่นคน แต่เมื่อพูดถึงบริษัทญี่ปุ่นในไทยที่มีแนวทางคล้าย KAYAC นั้น เรานึกถึงบริษัท Tuttle Mori Agency ซึ่งเป็นเอเจนซี่เกี่ยวกับลิขสิทธิ์หนังสือที่มีสำนักงานอยู่ในกรุงเทพฯ และมีสาขาใหญ่อยู่ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น สวัสดิการพื้นฐานที่พนักงานบริษัทในไทยจะได้รับประกอบด้วย
1.โทรศัพท์มือถือเครื่องใหม่เมื่อผ่านช่วงทดลองงาน : เพราะเนื้องานส่วนใหญ่เป็นการติดต่อสื่อสารแบบเรียลไทม์ ดังนั้นการมีโทรศัพท์มือถือที่ตอบโจทย์การใช้งานจึงเป็นสิ่งสำคัญที่มองข้ามไม่ได้ นอกจากนี้ยังเป็นการสร้างขวัญกำลังใจและแสดงความยินดีที่ผ่านช่วงทดลองงาน
2.บริษัทที่สนับสนุนทุกการออกกำลังกาย : สุขภาพที่ดีคือปัจจัยเริ่มต้นที่ช่วยให้พนักงานสร้างสรรค์งานได้อย่างต่อเนื่อง ดังนั้นนอกเหนือจากประกันสุขภาพตามสิทธิ์ทั่วไปแล้ว พนักงานสามารถไปสมัครใช้บริการฟิตเนสหรือสถานออกกำลังกายต่าง ๆ และนำใบเสร็จมาเบิกได้เลย
3.บริษัทที่มองว่าเรื่องเที่ยวเป็นเรื่องใหญ่ : ในแต่ละปีบริษัทจะต้องเดินทางไปร่วมงานแสดงสินค้าทั่วโลก ดังนั้นบริษัทจะเพิ่มวันให้เที่ยวโดยอิสระพร้อมเงินสนับสนุนให้พนักงานได้เปิดประสบการณ์ใหม่ ๆ ก่อนที่จะเดินทางกลับสู่ประเทศ นอกจากนี้ยังมีการท่องเที่ยวในประเทศทุก ๆ ไตรมาสอีกด้วย
4.บริษัทที่รับฟังทุกความเห็น โดยเฉพาะจากคนรุ่นใหม่ : เพราะวงการหนังสือมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา บริษัทจึงเน้นย้ำว่าความคิดเห็นของคนรุ่นใหม่เป็นสิ่งสำคัญที่จะมองข้ามไม่ได้เด็ดขาดหากต้องการก้าวให้ทันโลก ดังนั้นพนักงานทุกคนจะมีสิทธิ์นำเสนอหนังสือใหม่ ๆ ที่อาจไม่อยู่ในลิสต์สำหรับประชาสัมพันธ์ รวมถึงเสนอแผนธุรกิจที่น่าสนใจได้เป็นระยะหากมองว่าแนวทางที่บริษัทกำลังทำอยู่ล้าหลังเกินไป
5.บริษัทที่มีโบนัสในทุกวันสำคัญ : ทั้งวันเกิด วันสงกรานต์ วันตรุษจีน วันคริสมาสต์ ฯลฯ บริษัทจะให้เงินโบนัสเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อร่วมฉลอง เพราะการให้ความสำคัญกับวันพิเศษจะช่วยส่งเสริมให้วันธรรมดามีความหมายมากขึ้นด้วย
บทสรุป
บริษัทญี่ปุ่นแบบ KAYAC คือบริษัทที่รู้จักปรับตัวและมองว่าการลงทุนกับมนุษย์คือปัจจัยที่ส่งผลในแง่บวกกับบริษัทมากที่สุด เพราะท้ายสุดแล้ว สวัสดิการและการลงทุนเหล่านั้น ก็จะย้อนกลับมาสู่บริษัททั้งในแง่ของผลประกอบการ พลังสร้างสรรค์ของพนักงาน เป็นต้น ดังนั้นเราจึงกล่าวได้ว่าระบบ HR ที่ดีจะทำให้โครงสร้างบริษัทแข็งแรงขึ้น และสามารถสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องได้อย่างแท้จริง