HIGHLIGHT
|
พวกเราชาว HR หรือการทำงานด้านการบริหารบุคคลต่าง ๆ จำเป็นอย่างมากที่จะต้องมีทักษะในด้านจิตวิทยา การเข้าใจพนักงาน รวมไปถึงความสามารถในการแนะนำพนักงานในองค์กรอยู่ตลอดเวลาในหลาย ๆ เรื่องแตกต่างกันไป เพราะในยุคนี้ เรื่องการ Coaching ถือว่าค่อนข้างจะสำคัญมากต่อการพัฒนาองค์กร HR จึงจำเป็นที่จะต้องหันมาให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ให้มากขึ้น ทว่า การรับมือและการ Coaching พนักงานในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างในปัจจุบันนี้ จำเป็นต้องมีการฝึกฝนทักษะหลาย ๆ อย่างเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ HR ก็จะต้องทำงานหนักมากขึ้นไปด้วยเพื่อศึกษาว่าเทรนด์ไหนกำลังเป็นที่ต้องการ แต่อย่าเพิ่งเป็นกังวลกันไป เพราะในบทความนี้ HREX จะมาเป็นตัวช่วยให้พวกเราชาว HR ได้รู้จักกับการ Coaching พนักงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่ยากเลย!
Coaching คืออะไร?
Coaching หรือที่เรารู้จักกันว่าเป็น “การฝึก” ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะช่วยดึงศักยภาพที่แท้จริงของพนักงานออกมา โดยฝึกให้พนักงานมีทักษะที่จำเป็นสำหรับการทำงาน รวมถึงการพัฒนาความสามารถในระยะยาว ทั้งการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า การบริหารงาน หรือภารกิจตามขอบเขตที่ได้รับมอบหมาย ซึ่งการ Coaching ไม่จำเป็นต้องผ่าน HR เท่านั้น แต่ยังถ่ายทอดผ่านผู้บริหารหรือหัวหน้างานระดับสูงได้ด้วย
ถ้าเรามองการ Coaching ในมุมของกีฬา ก็เหมือนหัวหน้าหรือ HR เป็นโค้ช ส่วนพนักงานเป็นผู้เล่น ผู้โค้ชจะมองภาพรวมและจัดวางกลยุทธ์ว่านักกีฬาคนไหนควรฝึกซ้อมแบบไหน พัฒนาตัวเองแบบไหน หรือเหมาะกับการเล่นตำแหน่งอะไร ซึ่งเมื่อเอามาเปรียบเทียบกับการทำงานแล้วก็แทบจะไม่ต่างกัน เลย หากองค์กรมีผู้โค้ชที่ดีก็ยิ่งพาให้องค์กรดีขึ้นตามไปด้วย เพราะพนักงานก็จะเก่งและทำงานอย่างเป็นระบบ
Coaching ต่างจาก Mentoring ยังไง?
“การฝึก” เพื่อดึงศักยภาพของพนักงานออกมามีหลายรูปแบบมาก ไม่ได้มีเพียงแค่การ Coaching อย่างเดียว แต่ยังมีกระบวนการที่เรียกว่า Mentoring หรือการสอนงานรวมถึงทำหน้าที่ให้การปรึกษาในระบบ “พี่เลี้ยง” ที่จะช่วยดึงศักยภาพของพนักงานออกมาเหมือนกัน ซึ่งต่างกับการ Coaching แค่วิธิคิดและการปฏิบัติ
การ Coaching จะเน้นไปที่การตั้งคำถามเพื่อให้พนักงานได้ใช้ความคิดของตัวเองและประยุกต์ใช้ความคิดนั้น ๆ เข้ากับการทำงาน หรือทำให้พนักงานมีองค์ความรู้มากกว่าผู้สอน นอกจากนี้การ Coaching จะเน้นให้พนักงานมีความตื่นตัวและพยายามหาความรู้ใหม่ ๆ อยู่ตลอดเวลาโดยการสร้างแรงบันดาลใจและความคาดหวังใหม่ ๆ
ส่วนการ Mentoring หรือระบบพี่เลี้ยงจะมุ่งไปที่ระบบงานหรือองค์ความรู้ที่มีอยู่แล้วและให้พนักงานหรือบุคลากรปฏิบัติตาม เช่น การแนะนำการทำงานจะต้องทำตามลำดับหรือวิธีที่พี่เลี้ยงนำเสนอ ซึ่งต่างกับการ Coaching ที่จะให้พนักงานสร้างสรรค์วิธีการเป็นของตัวเองมากกว่า
ทำไมองค์กรต้อง Coaching พนักงาน?
อย่างที่รู้ ๆ กันว่าในยุคโลกาภิวัตน์แบบนี้ โลกหมุนไปแต่วันเร็วมาก มีเทรนด์ใหม่ ๆ เกิดขึ้นแทบจะตลอดเวลา การพัฒนาองค์กรและการสร้างสรรค์ผลงานที่มีความแปลกใหม่และมีประสิทธิภาพยิ่งสำคัญ ซึ่งองค์กรจำเป็นต้องทำให้พนักงานมีความกระตือรือร้นและมีความคิดสร้างสรรค์อยู่ตลอดเวลา ถึงจะทำให้องค์กรสามารถปรับตัวได้ตามความเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อมและสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลก จึงทำให้การ Coaching พนักงาน ซึ่งจะเน้นให้พนักงานตั้งคำถามเพื่อค้นหาแนวคิดแปลกใหม่ที่ได้พูดถึงไปในหัวข้อที่แล้ว มีความจำเป็นต่อการเติบโตและการพัฒนาองค์กรในยุคปัจจุบันมากกว่าการ Training ในแบบอื่น ๆ นอกจากนี้การ Coaching ยังทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพมากขึ้นอย่างยั่งยืนเพราะเราได้ฝึกให้แต่ละคนมีการคิดออกแบบอะไรใหม่ ๆ ตามวิถีของตัวเองโดยยึดหลักการเดิมที่มี ก็จะยั่งยืนกว่าและสามารถต่อยอด ๆ อะไรใหม่ ๆ ออกไปได้มากขึ้น ถือเป็นการยกระดับองค์กรให้มีคุณภาพมากขึ้นตามไปด้วย
การ Coaching พนักงานแบบ 3A มีอะไรบ้าง?
จากหนังสือ A Manager’s Guide to Coaching ของแอนน์ ลัวร์ และไบรอัน เอเมอร์สัน (Anne Loehr and Brian Emerson) ได้พูดถึงกระบวนการ Coaching โดยพิจารณาตามหลัก 3A เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด
A ตัวแรก : Aptitude
หมายถึง การวิเคราะห์ความสามารถของพนักงานเพื่อให้เห็นว่าพนักงานมีความสามารถและทักษะด้านไหนและอย่างไรบ้าง ซึ่งก็จะทำให้ได้เห็นว่าพนักงานแต่ละคนยังขาดทักษะ มีข้อบกพร่อง หรือขาดองค์ความรู้ทางด้านไหนบ้างที่จำเป็นต่อการทำงาน เพื่อจะได้ทำการ Coaching ให้ถูกต้องและปรับแก้กันต่อไป
A ตัวที่สอง : Attitude
A ตัวนี้เป็นเรื่องเกี่ยวกับจิตใจและความคิดภายใน เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่า “Attitude” ซึ่งหมายถึงการวิเคราะห์และประเมินทัศนคติ อุดมการณ์ ความเชื่อ และแรงจูงใจ ของพนักงานหรือคนในองค์กร ทำให้เห็นถึงที่มาของผลการทำงานหรือวิธีการทำงานของพนักงานแต่ละคน ซึ่งก็จะมีความเกี่ยวข้องกับวิธีคิดอันเป็นปัจจัยพื้นฐานในการทำงานด้วย
A ตัวที่สาม : Available Resources
A ตัวสุดท้ายคือ “อุปกรณ์” ที่เกี่ยวข้องกับการทำงาน เป็นทั้งสิ่งที่มีชีวิตและไม่มีชีวิต เช่น เพื่อนร่วมงาน สิ่งอำนวยความสะดวกในการทำงาน หรือสิ่งแวดล้อม ฯลฯ อันมีผลอย่างมากต่อการทำงาน ยกตัวอย่างคือถ้าเรารู้ว่าพนักงานคนไหนมีสมาธิหรือรู้สึกสบายใจที่จะทำงานในสภาพแวดล้อมแบบไหนมากกว่า ก็จะทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือใครอยู่กับใครแล้วช่วยกันพัฒนางานได้ดี มีความคิดที่ส่งเสริมกันทำให้งานคืบหน้าและมีประสิทธิภาพ ก็ควรจัดให้อยู่ในทีมเดียวกัน ดังนั้น A ที่สามนี้จึงรวมอยู่ในการ Coaching ด้วย
หลักการ 3A ที่กล่าวมาข้างต้นถือเป็นส่วนประกอบของกระบวนการ Coaching พนักงานในองค์กรที่สำคัญและได้ผลดีเยี่ยม และถือเป็นเครื่องมือสำหรับชาว HR และคนที่ทำงานที่เกี่ยวข้องกับการบริหารทรัพยากรบุคคลในยุคปัจจุบันด้วย
ข้อดีและข้อเสียของ Coaching มีอะไรบ้างนะ?
ข้อดีของการ Coaching
- ใช้เพื่อพัฒนาความสามารถของพนักงาน รวมถึงองค์กรให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งในทางด้านกระบวนการทำงาน และผลลัพธ์ของงาน
- ใช้ประเมินจุดแข็งและจุดอ่อนของพนักงานแต่ละคน จะได้พัฒนาและปรับปรุงแก้ไขได้อย่างตรงจุด
- พัฒนาการทำงานเป็นทีมให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ข้อเสียของการ Coaching
- หากไม่มีการวางแผนและศึกษากระบวนการ Coaching อย่างรอบด้าน อาจทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้โค้ชกับพนักงานและทำให้มีปัญหาในการทำงานมากขึ้นได้
- ผู้โค้ชบางคนอาจไม่มีความรู้มากพอหรือไม่เข้าใจวิธีการที่ถูกต้อง ทำให้พนักงานที่ถูกโค้ชยิ่งรู้สึกท้อแท้และโดดเดี่ยว ยิ่งส่งผลเสียต่อการทำงาน อาจถึงขั้นลาออกได้ ซึ่งถ้าพนักงานคนนั้นเป็น Talent ก็จะยิ่งทำให้บริษัทืเสียโอกาสที่จะได้คนเก่ง ๆ เข้ามาทำงาน
ปัจจัยที่ทำให้การ Coaching พนักงานประสบความสำเร็จ มีอะไรบ้าง?
การ Coaching พนักงานจะประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพสูงสุดขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย นอกเหนือจากการ Coaching แบบ 3A อย่างที่พูดถึงไปแล้ว ผู้เป็นโค้ชต้องอธิบายถึงเหตุผลและสาเหตุ รวมถึงความจำเป็นของกระบวนการและการปฏิบัติเพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ถูกต้องและตรงกันของผู้โค้ชและพนักงาน ที่สำคัญคือต้องมีกระบวนการกระตุ้นความคิดของพนักงานให้เกิดความสร้างสรรค์และแปลกใหม่ เช่น การตั้งคำถามต่อผลงาน ชิ้นงาน รวมถึงผลลัพธ์ของงาน
และที่สำคัญที่สุด หน้าที่หลักของโค้ชคือต้องสนับสนุนพนักงานในสิ่งที่เป็นความสามารถเฉพาะตัว หรือในเรื่องที่พนักงานมี Passion ให้ได้มากที่สุด เพื่อให้ศักยภาพที่แต่ละคนมีพัฒนาไปได้ถึงขีดสุด และในส่วนที่เป็นอุปสรรคหรือปัญหาต่าง ๆ ผู้โค้ชก็ควรที่จะทำความเข้าใจ ให้กำลังใจ และรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา คอยเป็นที่ปรึกษาเพื่อให้พนักงานผ่านพ้นอุปสรรคไปได้
บทสรุป
ในปัจจุบันนี้ โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นกว่าแต่ก่อนมากจนหลายคนอาจตั้งตัวไม่ทัน ทั้งในเรื่องของจำนวนผู้คน เทคโนโลยี สภาพปัญหา รวมถึงวิธีคิดของคนในปัจจุบัน จึงส่งผลให้กระบวนการทำงานต้องมีการเปลี่ยนแปลงให้เข้ากับสภาวการณ์ในปัจจุบันมากขึ้น ซึ่งงานด้าน HR หรือการบริหารทรัพยากรบุคคลก็ต้องมีทักษะหลายอย่างมากขึ้นด้วยเหมือนกัน โดยเฉพาะในเรื่องของการโค้ช เราจำเป็นต้องโค้ชให้เป็นเพื่อดึงศักยภาพของพนักงานออกมา ประเมินความสามารถของพนักงาน หรือสร้างวิธีการบริหารทรัพยากรมนุษย์ให้มีศักยภาพอย่างสูงสุด
หลักการ 3A คือวิธีหนึ่งที่สามารถนำมาประกอบกระบวนการ Coaching ได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการพัฒนาทั้งบุคคล องค์กร รวมถึงสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทักษะการ Coaching คือสิ่งสำคัญสำหรับยุคนี้ เพื่อให้องค์กรพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืนและไม่ด้อยไปกว่าใคร
ที่มา |