HIGHLIGHT
|
วันจันทร์อีกแล้ว! ถ้าวันศุกร์เป็นวันที่ใคร ๆ ก็รัก วันจันทร์ก็คงเป็นวันที่ตรงข้าม เพราะไม่ว่าใครก็รุมเกลียดวันจันทร์
แค่พูดคำว่าวันจันทร์ก็ท้อ เหมือนเป็นคำต้องห้ามสำหรับพนักงานออฟฟิศและนักเรียนนักศึกษาอย่างไรอย่างนั้น และไม่ใช่ว่าทุกคนจะทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพในช่วงเวลาสากล คือตั้งแต่แปดโมงเช้าจนถึงสี่โมงเย็น แต่ละคนก็มีช่วงเวลาโปรดักทีฟต่างกัน พอต้องมาทำงานวันจันทร์เวลาเดิม ๆ ที่รู้สึกว่าเราก็ยังไม่แอคทีฟมากพอ ก็เลยยิ่งทำให้เบื่อมากขึ้นไปอีก
ในบทความนี้ HREX จะพาไปไขข้อข้องใจถึงอาการเกลียดวันจันทร์ หรือ Monday Blues ซึ่งสิ่งนี้มีวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาอยู่เบื้องหลัง หากเมื่อเราได้ทำความเข้าใจอาการเกลียดวันจันทร์แล้ว เราอาจจะรักวันจันทร์มากขึ้นก็ได้
Contents
การเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues) มีจริงไหม?
อาการเกลียดวันจันทร์มีอยู่จริง และสามารถเกิดขึ้นได้ในทุกเพศ ทุกวัย โดยการศึกษาจาก Lehigh University’s College of Business สหรัฐอเมริกา ในปี 2021 ที่ผ่านมานี้ ได้ตีพิมพ์ลงในวารสาร Information System Research ว่า อาการเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues) คือความรู้สึกผิดหวัง ท้อแท้ กับการกลับมาทำงานหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์
อันที่จริงแล้วการทำงาน 5 วัน หยุด 2 วันนั้นเริ่มมาจากพวกชนชั้นแรงงานในยุค 1920s ที่ในโรงงานมีทั้งคนยิวและคนคริสต์ ซึ่งต้องสลับกันไปทำพิธีทางศาสนาน ของคนยิวเป็นวันเสาร์ ของคนคริสต์เป็นวันอาทิตย์ นายจ้างเลยให้หยุดไปเลย 2 วันจะได้มีความเท่าเทียม ซึ่งนโยบายแบบนี้ก็ส่งผลมาถึงปัจจุบันจนกลายเป็นสากลไปแล้ว ซึ่งเมื่อเร็ว ๆ นี้ก็มีงานวิจัยศึกษาศักยภาพคนทำงานและองค์กรและเห็นตรงกันว่า การลดวันทำงานให้น้อยลงทำให้พนักงานมีประสิทธิภาพดีกว่า สุขภาพร่างกายดีขึ้น เพราะการทำงาน 5 วันรวดมีแต่ทำให้ Productivity หดหาย
งานวิจัยจาก American Journal of Epidemiology ยังพบว่าคนที่ทำงาน 55 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ มีการตระหนักรู้ถดถอยลงเมื่อเทียบกับคนที่ทำงานเพียง 40 ชั่วโมง และการทำงานต่อเนื่องส่งผลให้เกิดการหมดไฟเร็วกว่าเวลาอันควร
การเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues) มีวิทยาศาสตร์อยู่เบื้องหลังจริงหรือ?
มีผลการวิจัยพบว่า พวกพนักงานที่ต้องมาทำงานในเช้าวันจันทร์นั้นมีอัตราความดันโลหิตสูงขึ้น ในขณะที่คนว่างงานหรือพวกฟรีแลนซ์ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของความดันโลหิตในเช้าวันจันทร์ และมีบทความของ CNBC ได้กล่าวไว้ว่า พนักงานจะรู้สึกไม่มีความสุขมากที่สุดในเวลา 11:17 นาทีของเช้าวันจันทร์ กลับกันพวกเขาจะรู้สึกแฮปปี้ที่สุดในเวลา 15:47 ของวันศุกร์ ดังนั้นอาการเกลียดวันจันทร์จึงสามารถอธิบายได้ด้วยหลักจิตวิทยาและวิทยาศาสตร์ได้
- การรู้สึกเกลียดวันจันทร์อาจย้อนไปตั้งแต่ธรรมชาติของบรรพบุรุษเราที่ยังอาศัยอยู่ในถ้ำ เพราะมนุษย์เป็นสัตว์สังคมที่ผูกพันกับสถานะในเผ่า การที่เรามีครอบครัวและสภาพแวดล้อมในบ้านที่คุ้นเคยทำให้เรารู้สึกอาลัยอาวรณ์ แม้จะเป็นเพียงแค่วันหยุดเสาร์อาทิตย์ก็ตาม
- วันจันทร์เป็นวันที่ทำให้มนุษย์เรารู้สึกถึงการเปลี่ยนแปลงอย่างกระทันหัน ทำให้เกิด Emotional Shift จากวันหยุดที่รื่นรมย์ก็ต้องเปลี่ยนเป็นวันทำงานที่เคร่งเครียด สมองของเราปรับตามไม่ทัน จึงเกิดอาการเกลียดวันจันทร์ขึ้นมา
- นักวิทยาศาสตร์พบว่าผู้คนมักน้ำหนักขึ้นและความดันสูงในช่วงต้นสัปดาห์ และสถิติการตายด้วยโรคหัวใจและเส้นเลือดในสมองแตกมักสูงที่สุดในวันจันทร์เช่นกัน
- ธรรมชาติของมนุษย์รักการเป็นอิสระ พอมีวันจันทร์ขึ้นมาหลังจากวันหยุดสุดสัปดาห์ที่ใช้ชีวิตอย่างตามใจตัวเองสุดเหวี่ยง ก็เลยรู้สึกสูญเสียอิสระไป
ทำไมคนเราต้องเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues)
นอกจากหลักการทางวิทยาศาสตร์และจิตวิทยาแล้ว เหตุผลที่คนเราเกลียดวันจันทร์มีอีกมากมาย มาดูความเห็นพนักงานออฟฟิศกันดีกว่า ว่าทำไมพวกเขาถึงเกลียดวันจันทร์เข้าไส้
“เหนื่อย จากการหยุดยาวมาสองวัน รู้สึกยังพักไม่เต็มที่ก็ต้องมาทำงานอีกแล้ว ร่างกายล้า”
– คุณแฟนต้า (Senior Specialist Performance)
“เพราะวันจันทร์เป็นวันแรกของสัปดาห์ แล้วทุกคนแห่กันออกจากบ้านทั้งนักเรียนทั้งคนทำงาน รถมันติด คนเยอะ มัน drain energy มากกว่าวันอื่น”
– คุณดา (Product Operation Associate)
หลัก ๆ แล้ว เพราะวันจันทร์เป็นวันที่ทุกคนรู้สึกเหนื่อยที่สุดในสัปดาห์หลังจากได้พักผ่อนสบาย ๆ ก็จะต้องมารับมือกับความเหนื่อยล้าจากการเดินทาง ปัญหาในการทำงาน ต่อสู้กับลูกค้าหรือไม่ก็เพื่อนร่วมงาน และยิ่งต้องใช้ความอดทนมากกว่าวันอื่น ๆ เพราะเพิ่งผ่านวันหยุดมา ในจะต้องรับมือกับอาการ Emotional Shift อีก
หลอกตัวเองยังไง? ให้ไม่เกลียดวันจันทร์ (Monday Blues)
อ่อนโยนกับตัวเองให้มาก
ลองเปลี่ยนจากการตั้งนาฬิกาปลุกเสียงแสบแก้วหูเพื่อให้เราตื่นแบบตาตั้ง เป็นเสียงเพลงเพราะ ๆ สบายหูดูบ้าง เพื่อให้รู้สึกสบายใจและผ่อนคลายในเช้าวันใหม่ ถ้าเรานอนดีหลับอย่างมีคุณภาพ พลังงานก็จะเหลือล้นอย่างเต็มเปี่ยม และตื่นเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ อย่าให้เสียงปลุกน่ารำคาญมาทำลายเช้าวันจันทร์ที่แสนสดใสเลยดีกว่า
สร้างความตื่นเต้นให้ตัวเอง
เตรียมวางแผนไว้ตั้งแต่เย็นวันอาทิตย์เลยดีกว่าว่าพรุ่งนี้เช้าจะแต่งตัวยังไง แต่งหน้าแบบไหน ถือกระเป๋าใบไหน หรือจะไปกินข้าวร้านอร่อยที่อยากกิน อาจจะช่วยเปลี่ยนมู้ดแย่ ๆ ในวันจันทร์ให้น่าตื่นเต้นขึ้นได้
ยอมรับและคิดว่าวันจันทร์ก็เป็นเพียงวันธรรมดาวันหนึ่ง
อย่าไปตั้งแง่ว่าวันนี้คือวันจันทร์ คิดซะว่าเป็นวันทำงานวันหนึ่ง เดี๋ยวก็หมดวันและผ่านไปเหมือนที่เคยผ่านมา นึกถึงเรื่องสนุก ๆ ที่จะเกิดขึ้นหรือมีแพลนจะทำในอนาคต จะได้มีแรงกายแรงใจในการใช้ชีวิตต่อไป
HR จะแก้ยังไงดีเมื่อพนักงานเกลียดวันจันทร์ (Monday Blues)
HR ก็อาจจะเกลียดวันจันทร์เหมือนกัน เพราะใคร ๆ ก็เกลียดวันจันทร์กันทั้งนั้น แต่ถ้าทุกคนเกลียดวันจันทร์แล้วพาให้งานเสีย องค์กรแย่ลง คงไม่ดีแน่ HR อาจต้องมีกลยุทธ์หรือกำหนดนโยบายแก้ไขปัญหาเกลียดวันจันทร์ อาจดูเป็นปัญหาขี้ปะติ๋ว แต่ถ้าพนักงานในองค์กรคิดเหมือนกันหมด ศักยภาพในการทำงานลดลงแน่นอน ภาพรวมบริษัทก็อาจจะแย่ลงด้วย
HR สามารถเสนอผู้บริหารให้กำหนดนโยบาย Work From Home วันจันทร์ ก็ได้ เหมือนเป็นการให้พนักงานเตรียมพร้อมสำหรับการมาทำงานทั้งออฟฟิศ คือไม่ได้ให้หยุดงาน แต่อนุโลมให้ทำงานที่บ้านได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดีมาก หรือหากไม่มีการ Work From Home ในวันจันทร์ ก็อาจจะเป็นการเปลี่ยนเวลาเข้างานเป็น 10 โมง พนักงานได้นอนพักผ่อนเพิ่มอีกหน่อย และไม่ต้องเผชิญกับปัญหารถติด คนเยอะ ที่ยิ่งบั่นทอนพลังใจในการทำงานเพิ่มขึ้นไปอีก
ทั้งนี้ทั้งนั้น HR และผู้บริหารสามารถร่วมกันคิดและปรับนโยบายให้เข้ากับวัฒนธรรมองค์กรและพนักงานได้ตามที่แต่ละองค์กรเห็นว่าเหมาะสม เพราะพนักงานต้องมาก่อน หากพนักงานมีแรงกายแรงใจพร้อมที่จะทำงาน ผลประกอบการดี ๆ ก็จะตามมาสู่องค์กรแน่นอน
บทสรุป
อาการเกลียดวันจันทร์จะลดลงและค่อย ๆ หายไป หากเรารู้จักสำรวจว่าปัญหาที่เกิดขึ้น มีต้นเหตุที่แท้จริงมาจากอะไร และแก้ปัญหาด้วยความคิดเชิงบวกอยู่เสมอ
ที่มา |