Search
Close this search box.

Sephora ร้านเครื่องสำอางระดับโลกที่เปลี่ยนความงามเป็นประสบการณ์ที่ดีของทุกคน

HIGHLIGHT

  • Sephora คือร้านเครื่องสำอางระดับโลกที่มีสาขาในกว่า 35 ประเทศ พวกเขาขึ้นชื่อเรื่องคุณภาพการบริหารจัดการคน ไม่ว่าจะเป็นพนักงานหรือแม้แต่ลูกค้าก็ตาม
  • Sephora เชื่อว่าพนักงานจะถ่ายทอดการบริการที่ดีออกไปได้ก็ต่อเมื่อตนได้รับการปฏิบัติแบบเดียวกันก่อน ดังนั้นพวกเขาจะให้ความสำคัญกับการพัฒนาทักษะของพนักงาน และให้การสนับสนุนเรื่องความหลากหลายภายใต้แนวคิดว่าทุกคนมีความงดงามในแบบของตัวเอง หากยังไม่พบ เราก็ต้องช่วยกันหาให้เจอ
  • Sephora ยังให้ความสำคัญกับการทำแบบสอบถามเพื่อหาแนวทางที่เหมาะกับพนักงานและลูกค้าที่สุด โดยอาจเป็นการทำแบบสำรวจออนไลน์ การเข้าเยี่ยมสาขา หรือการพูดคุยแบบตัวต่อตัวจากประสบการณ์ของพนักงานแต่ละคนก็ได้
  • Sephora มีระบบ Sephora University ให้พนักงานลงเรียนวิชาที่สนใจได้เลย โดยผู้นำสามารถเข้าไปเช็คความคืบหน้าหรือตรวจดูหัวข้อที่พนักงานสนใจได้ด้วย ข้อมูลตรงนี้จะช่วยให้ผู้นำเห็นตัวตนของลูกทีม และช่วยให้การตัดสินใจมอบหมายงานหรือเลื่อนตำแหน่งมีประสิทธิภาพขึ้น
  • หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ Sephora บอกว่า HR ต้องไม่กลัวที่จะถูกมองเป็นผู้ร้ายตราบใดที่เราตัดสินใจทุกอย่างโดยอ้างอิงอยู่บนพื้นฐานของมนุษยธรรม ทั้งนี้ก่อนที่จะขยายองค์กรให้ใหญ่ขึ้น เราควรให้ความสำคัญกับการจ้างที่ปรึกษาธุรกิจก่อนเพื่อช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรงที่สุด เพราะหากองค์กรเติบโตเร็วไปโดยมีรากฐานที่ไม่แข็งแรง ก็จะกลายเป็นดาบสองคมที่อาจทำให้ธุรกิจพังลงในท้ายที่สุด

เมื่อพูดถึงร้านเครื่องสำอางสักแห่ง เราเชื่อว่าร้าน Sephora ต้องเป็นชื่อแรก ๆ ที่ผู้อ่านนึกถึงแน่นอน เพราะนอกจากจะมีหลายสาขา เข้าถึงง่ายแล้ว ยังได้รวบรวมสินค้าหลายรูปแบบให้ได้เลือกแบบร้านเดียวจบ ความครบเครื่องแบบนี้เองที่ทำให้เราอยากรู้ว่าการบริหารจัดการคนของแบรนด์ระดับโลกนี้เป็นอย่างไร ดังนั้นเราจะพาทุกคนไปเจาะวิสัยทัศน์, วัฒนธรรมองค์กร ตลอดจนคำแนะนำดี ๆ ที่นำมาประยุกต์ใช้ได้กับทุกสายงาน

ภายใต้แบรนด์ที่ดูสดใส สวยงามและคล่องตัวนั้น มีระบบบริหารจัดการคนที่ยอดเยี่ยมคอยขับเคลื่อนอยู่ทั้งสิ้น เราจะเรียนรู้อะไรจากร้านเครื่องสำอางระดับโลกได้บ้าง หาคำตอบไปพร้อมกันที่นี่

Contents

Sephora ร้านเครื่องสำอางระดับโลกคืออะไร มีจุดเด่นอย่างไร

Sephora ร้านเครื่องสำอางชั้นนำของโลก เปิดตัวครั้งแรกที่ประเทศฝรั่งเศสในปี ค.ศ. 1970 ด้วยเอกลักษณ์และรูปแบบการจำหน่ายสินค้าที่มีทั้งแบรนด์ของตัวเองและแบรนด์ดัง ครอบคลุมผลิตภัณฑ์ตั้งแต่สกินแคร์, เครื่องสำอาง, น้ำหอม และอีกมากมาย

ปัจจุบัน Sephora มีสาขาอยู่มากกว่า 35 ประเทศทั่วโลก ซึ่งกว่า 200 ร้านนั้นตั้งอยู่ในแถบเอเชียแปซิฟิก เช่นในประเทศออสเตรเลีย จีน สิงคโปร์ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย และอินเดีย โดยมีวิสัยทัศน์หลักขององค์กรว่า “ความงามจะเกิดขึ้นต่อเมื่อมีความหลากหลายและความน่าค้นหา ดังนั้น Sephora จะเป็นช่องทางให้คนได้รู้ว่าความสวยของมนุษย์แต่ละคนเป็นอย่างไร”

แนวคิดตั้งต้นนี้ทำให้ Sephora กลายเป็นองค์กรที่ได้รับรางวัลด้านการบริหารคนอยู่บ่อยครั้ง และค่อย ๆ เปลี่ยนจากร้านขายเครื่องสำอางทั่วไปมาเป็น “ร้านต้นแบบ” ของคนที่ทำธุรกิจโดยไม่หวังผลกำไรเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการสร้างประสบการณ์อันล้ำค่า (Valuable Experiences) ให้กับทั้งพนักงานและลูกค้าที่มีโอกาสได้ใช้บริการ

Sephora ร้านเครื่องสำอางระดับโลกมีแนวทางพัฒนาองค์กรอย่างไร 

ถ้าเราอ้างอิงเฉพาะในสหรัฐอเมริกาพวกเขามีพนักงานมากกว่า 16,000 คนใน 500 สาขาและมีออฟฟิศครอบคลุมอยู่ในสามเมืองหลักได้แก่ลอสแองเจลีส, ซานฟรานซิสโก และมหานครนิวยอร์ก ดังนั้นพวกเขาจึงให้ความสำคัญกับสวัสดิภาพของพนักงานมากเป็นพิเศษ โดยเราสามารถอธิบายหัวข้อที่น่าสนใจได้ดังนี้

DIVERSITY, EQUITY & INCLUSION

Sephora ต้องการพิสูจน์ให้เห็นว่าความสวยงามเป็นเรื่องของปัจเจกบุคคล ทุกคนมีสิทธิ์ชอบในสิ่งที่ตนเลือกโดยไม่กระทบกับความรู้สึกของผู้อื่น และไม่ว่าคุณจะมีเพศสภาพอย่างไร มีสีผิวอย่างไร มีความบกพร่องทางร่างกายหรือไม่ ออฟฟิศที่นี่ก็พร้อมจะช่วยเหลือให้ทุกคนอยู่ร่วมกันอย่างมีความสุข ซึ่งประเด็นนี้เป็นรากฐานสำคัญที่จะช่วยให้พนักงานสามารถบริการลูกค้าทุกรูปแบบได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

หากวัดจากสถิติจนถึงปี 2022 Sephora มีผู้นำผิวสีอยู่ในตำแหน่ง 45% , มีผู้นำเพศหญิง 75% , มีคนที่เป็น LGBTQIA+ 9% ตัวเลขเหล่านี้ วัดผลจากความสบายใจของพนักงานที่กล้าเปิดเผยตัวตนเท่านั้น อาจมีพนักงานที่ยังไม่เปิดเผยทัศนคติหรือค่านิยมของตัวเองออกมาก็ได้ ซึ่งทาง Sephora เองก็พยายามสร้างองค์กรเป็นพื้นที่ปลอดภัยเพื่อให้ทุกคนรู้สึกสบายใจไม่ว่าจะมีความคิดแบบใดก็ตาม ทั้งนี้พวกเขาจะจัดอบรมเรื่องความเท่าเทียมอยู่เป็นระยะ รวมถึงเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานชั้นนำมาให้ความรู้และร่วมสร้างสรรค์นโยบายโดยตรง

จากความตั้งใจของ Sephora ทำให้พวกเขาได้รับรางวัล Forbes America’s Best Employers for Women, Diversity, New Grads ประจำปี 2022 และ Human Rights Campaign 100% Corporate Equality Index : One of the best place to work for LGBTQ ในปี 2020

SUSTAINABILITY

ปัจจุบันโลกของเรากำลังอยู่ในขั้นวิกฤตจากปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม ดังนั้น Sephora ในฐานะร้านเครื่องสำอางระดับโลกก็อยากทำอะไรซักอย่างเพื่อช่วยให้โลกใบนี้สวยงามยิ่งขึ้น  โดยพวกเขาออกนโยบายให้สาขาในอเมริกาทั้งหมดเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน (Renewable Energy) และได้เข้าร่วมแผนควบคุมพลังงาน (Energy Management System – EMS) ทั้งในอเมริกาและแคนาดา

นอกจากนี้ Sephora ยังได้ร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญในการให้คำแนะนำต่อพันธมิตรทางธุรกิจ หรือแบรนด์สินค้าที่นำมาขายภายในร้านถึงตัวเลือกอื่น ๆ ที่ช่วยให้สินค้าเป็นมิตรต่อโลกมากขึ้น เช่นเรื่องบรรจุภัณฑ์ หรือการรีไซเคิลเครื่องสำอางที่ใช้แล้ว เป็นต้น

COMMUNITY ENGAGEMENT & GIVING

การทำธุรกิจไม่ใช่การสนใจแต่เรื่องของเม็ดเงินเพียงอย่างเดียว เพราะ Sephora เป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ให้ความสำคัญกับการตอบแทนสังคม พวกเขาจึงทำกิจกรรมการกุศลอยู่บ่อย ๆ เช่น การเป็นอาสาสมัคร หรือการพัฒนาชุมชนต่างให้แข็งแรงยิ่งขึ้น เพื่อถ่ายทอดความงดงามของมนุษย์ออกไปให้ไกลกว่าเดิม

Sephora ได้สร้าง Class of Confidence ขึ้นมาเพื่อให้ความรู้กับคนที่จำเป็นต้องใช้ความสวยงามเพื่อสร้างความมั่นใจโดยไม่มีค่าใช้จ่าย เช่นคนที่กำลังจะไปทำงานที่ใหม่วันแรก, คนที่เพิ่งรู้เพศสภาพและอยากจะลองแต่งตัวข้ามเพศ หรือแม้แต่ผู้ป่วยมะเร็งที่สภาพร่างกายไม่เหมือนเดิม

พวกเขาได้บริจาคเงินรวมกว่าสิบล้านดอลลาร์นับตั้งแต่ปี ค.ศ. 2019 และมีผู้ที่ได้รับบริจาคไปแล้วรวมกว่า 123 ล้านคน

Sephora ร้านเครื่องสำอางระดับโลกมีวิธีสร้างประสบการณ์ที่ดีกับพนักงานและลูกค้าอย่างไร ?

แม้ภายนอกร้าน Sephora จะเป็นร้านขายเครื่องสำอางที่เน้นเรื่องผลกำไรเหมือนธุรกิจค้าขายตามปกติ แต่แท้จริงการทำงานของ Sephora มีการวางแผนอย่างรัดกุมมากเพื่อหากลยุทธ์ที่สามารถนำมาตอบสนองความต้องการของลูกค้า และดูแลพนักงานหลายพันคนที่กระจายตัวอยู่ทั่วโลกให้ดีที่สุด ในที่นี้ คุณคาราลิน สมิธ (Karalyn Smith) หัวหน้าฝ่ายบุคคลของบริษัท กล่าวว่า Sephora จะให้ความสำคัญกับการเก็บข้อมูล (Data Collection) เป็นพิเศษ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลทั่วไปหรือข้อมูลเชิงลึก (Insight) ก่อนที่จะนำสิ่งที่ได้ไปวิเคราะห์ (Data Analysis) เพื่อสร้างสวัสดิการและนโยบายที่เหมาะสมในลำดับต่อไป

Sephora จะมีการทำแบบสอบหรือหรือแบบสำรวจความพึงพอใจเป็นระยะ ทั้งกับพนักงานและกับลูกค้าที่แวะมาซื้อของ แนวคิดของเรื่องนี้คือองค์ต้องการให้พนักงานมีวัฒนธรรม “ใจเขา ใจเรา” คือนอกจากรู้ว่าเพื่อนร่วมงานต้องการอะไรแล้ว ก็ต้องรู้ว่าสิ่งที่ลูกค้าต้องการคืออะไร สังเกตได้จากการดูว่าพนักงานและลูกค้ามีความต้องการหรือทัศนคติส่วนใดตรงกันหรือไม่ หากมี ก็แปลว่ามันคือสิ่งที่พนักงานสามารถทุ่มเทและมอบให้กับลูกค้าอย่างสบายใจ HR สามารถออกนโยบายโดยอ้างอิงจากข้อมูลดังกล่าวได้เลย 

Sephora มองว่าสิ่งที่พนักงานและลูกค้าส่วนใหญ่เห็นตรงกันก็คือแนวคิดว่า “ความสวยของแต่ละคนแตกต่างกัน ทุกคนสามารถชอบความงามแบบใดก็ได้” แนวทางทำงานที่เกิดขึ้นจึงเป็นการเน้นย้ำค่านิยม (Value) ออกไปสู่สังคมให้มากขึ้น เพราะยิ่งเราตอบสนองความต้องการของคนได้มากขึ้น เราก็จะยิ่งได้คนที่จงรักภักดี (Loyal) กับแบรนด์มากกว่าเดิม

เพื่อดูแลพนักงาน 38,000 คนในกว่า 35 ประเทศทั่วโลก Sephora ได้ออก “กลยุทธ์ 5 ขั้นของเซโฟร่า” (Sephora’s 5-Stage Strategy) มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ทุกคนที่เกี่ยวข้องรักและชื่นชมแบรนด์โดยตั้งอยู่บนรากฐานของการมีมนุษยธรรม (Humanity) ซึ่งอ้างอิงจากความต้องการพื้นฐาน 5 ข้อของพนักงาน ประกอบด้วย

1. รู้จักกันให้มากขึ้น (Get to Know Me)

องค์กรต้องทำแบบสอบถามหรือพูดคุยกับพนักงานเพื่อหาสิ่งที่อยู่ในใจทุกแง่มุมไม่ว่าจะดีหรือร้าย ก่อนที่จะนำมาวิเคราะห์เพื่อออกแบบประสบการณ์แบบเฉพาะเจาะจง (Personalized) วิธีนี้จะช่วยให้เราตอบสนองความต้องการของพนักงานได้ตรงจุดยิ่งขึ้น

2. ทำทุกอย่างให้ง่ายขึ้น (Make it Easy)

องค์กรส่วนใหญ่มักพยายามสร้างลำดับขั้น (Hierachy) ให้เกิดขึ้นอย่างชัดเจนเพื่อแยกคนออกจากกันตามยศถาบรรดาศักดิ์ เหตุการณ์แบบนี้จะนำไปสู่สภาวะ “คุยคนละภาษา” เพราะคนที่ตำแหน่งสูงกว่ามักใช้คำที่ยากหรือศัพท์เฉพาะเพื่ออวดสรรพคุณของตัวเอง จนลืมคิดไปว่าเป้าหมายของการสื่อสารในองค์กรคือการแน่ใจว่าอีกฝ่ายจะรับข้อมูลได้อย่างถูกต้องครบถ้วนที่สุด หรืออาจเกิดความคาดหวังว่าคนที่อยู่ในแผนกเดียวกับตนจะมีความรู้ความเข้าใจเท่ากัน เป็นต้น การทำให้ทุกอย่างยากจึงมีแต่ผลเสีย เราจึงควรให้ความสำคัญกับการใช้ภาษากลาง (Inclusive Language) เพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนสามารถแสดงความคิดเห็นที่เป็นประโยชน์ได้เลย

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: มีกลยุทธ์ใดบ้างที่จะช่วยเพิ่มอัตรา Employee Engagement ในองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม

เนื่องจากองค์กรมี Turnover Rate ค่อนข้างสูง เลยคิดว่าแนวทางนี้สามารถช่วยแก้ไขปัญหาได้ เพราะที่ผ่านมาที่ทำงานเงียบมาก ต่างคนต่างทำงาน ไม่มีความเป็นทีมหรือคำนึงถึงส่วนรวม

A: ถ้าคิดแต่สวัสดิการอย่างเดียวก็ไม่มีทางแก้ได้ เพราะเราทำงานกับคนที่มีความสุขด้วยวิธีแตกต่างกัน

ผมอยากแบ่งปันประสบการณ์จากการเคยอยู่องค์กรที่มี Engagement Score สูงถึง 85 สิ่งที่ชัดเจนที่สุดคือ CEO จริงใจใส่ใจกับความเป็นอยู่ของพนักงานมาก ซึ่งความรู้สึกนี้ถูกส่งต่อมายังผู้บริหารระดับรองลงมาอย่างชัดเจน สวัสดิการที่บริษัทให้ไม่มีอะไรมากกว่าที่อื่น  แต่ทุกครั้งที่มีวิกฤตใดๆ พนักงานจะได้รับข้อความหรือกำลังใจเล็ก ๆ น้อย ๆ จาก CEO ในทันที ดังนั้นความจริงใจคือรากฐานที่ทำให้พนักงานเกิดความเชื่อมั่น และอยากทุ่มเทให้องค์กรต่อไป

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

3. การชื่นชมยินดี และรู้สึกขอบคุณให้มากขึ้น (Appreciate Me)

คนทำงานทุกคนล้วนอยากมีประโยชน์ พวกเขาอยากรู้ว่าสิ่งที่ตนทำอย่างเต็มที่มีความหมายกับองค์กร ขณะเดียวกันลูกค้าขาประจำก็อาจต้องการคำขอบคุณสำหรับความจงรักภักดีกับแบรนด์ ซึ่งไม่ได้หมายถึงการพูดคำว่าขอบคุณ (Say Thanks) เท่านั้น แต่หมายถึงการไม่ทำให้เขารู้สึกว่าถูกมองข้าม เช่น หากเรามีฐานลูกค้าที่เคยซื้อผลิตภัณฑ์ของเราตั้งแต่เป็นแบรนด์เล็ก ๆ เราก็ไม่ควรเปลี่ยนรูปแบบสินค้าไปอย่างก้าวกระโดดเมื่อแบรนด์เติบโตขึ้นโดยไม่สนเลยว่าจิตใจของคนที่สนับสนุนเรามาเป็นอย่างไร 

4. การเพิ่มความสนุกเข้าไปเรื่อย ๆ (Make Me Fun)

รากฐานของการมีส่วนร่วม (Employee Engagement) คือการที่พนักงานมีความสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนร่วมงาน และสนใจในธุรกิจที่ทำอยู่อย่างเต็มที่ ดังนั้นเราต้องทำให้พนักงานรู้สึกสนุกอยู่ตลอดเวลา หรืออย่างน้อยก็ต้องมีความเชื่อว่าขณะที่เจอเรื่องร้าย ๆ องค์กรก็จะมีแผนมาช่วยให้เรารู้สึกดีขึ้นได้แน่นอน 

ตัวอย่างกิจกรรมที่ Sephora เช่นกิจกรรม “Surprise and Delight” คือการติดสติ๊กเกอร์ไว้ใต้เก้าอี้ของพนักงาน และสุ่มผู้โชคดี 5 ท่านเพื่อรับของรางวัลพิเศษ โดยจะเปลี่ยนกิจกรรมไปเรื่อย ๆ ให้รู้สึกตื่นเต้น คาดเดาไม่ได้ เพื่อคงความสนุกเป็นสีสันภายในองค์กร แนวคิดนี้นำไปใช้กับการทำกิจกรรมลูกค้าสัมพันธ์ได้เช่นกัน

5. การสนใจเรื่องอื่นมากกว่าผลกำไร (Purpose beyond Profit)

ผลกำไรเป็นเรื่องขององค์กร แต่การมีภาพลักษณ์ที่ดีรวมถึงการสร้างความเปลี่ยนแปลงให้สังคมจะทำให้เกิดความภูมิใจฐานะลูกค้าและพนักงานขององค์กร ในที่นี่ Sephora ได้จัดทำกิจกรรมเพื่อตอบแทนสังคมมากมาย เช่นการเปิดคลาสเรียนแต่งหน้าสำหรับ LGBTQ ซึ่งนอกจากจะเป็นพื้นที่สร้างความรู้ สร้างอาชีพแล้ว ยังเป็น “พื้นที่ปลอดภัย” (Safe Space) ที่เปิดโอกาสให้คนเหล่านั้นถามในสิ่งที่สงสัยโดยไม่ถูกตำหนิ อีกตัวอย่างคือการเปิดคลาสอบรมให้ผู้ป่วยมะเร็ง เพื่อให้พวกเขาดูดี มั่นใจ และมีความสุขขณะรักษาตัว 

อีกหนี่งสวัสดิการที่น่าสนใจของ Sephora คือการทำแพลตฟอร์มการเรียนรู้เพื่อเพิ่มทักษะให้พนักงานโดยไม่มีค่าใข้จ่าย เรียกว่า Sephora University พนักงานสามารถเข้าเรียนในคลาสที่สนใจได้ทั้งแบบเทปและแบบสด ผ่านระบบคอมพิวเตอร์และโทรศัพท์มือถือ โดยผู้เรียนจะได้รับตราประทับ (Badge) ซึ่งแบ่งเป็น 3 หัวข้อ ได้แก่

  • Classroom Badge : ให้กับผู้ที่เข้าเรียน
  • Success Badge : ให้กับผู้ที่ผ่านข้อสอบในหัวข้อที่ลงเรียน
  • Validation Badge : ให้กับผู้ที่ผ่านข้อสอบโดยได้คะแนนมากกว่า 80%

ทั้งนี้หัวหน้าทีมสามารถตรวจดูพัฒนาการของพนักงานได้ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งข้อมูลสำคัญในการพิจารณาเรื่องการมีส่วนร่วมกับกิจกรรมขององค์กร (Employee Engagement) ตลอดจนความกระตือรือร้นในการยกระดับตัวเอง รากฐานตรงนี้จะช่วยให้องค์กร “เลือกคน” ได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นในลำดับต่อไป

เมื่อได้กลยุทธ์แล้ว Sephora นำไปบังคับใช้อย่างไร

เมื่อได้แนวทางที่เหมาะสมแล้ว พวกเขาจะเอาข้อมูลทั้งหมดไปพูดคุยกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องตั้งแต่พนักงาน, ลูกค้า, แม่บ้าน ฯลฯ เพื่อหาวิธีนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้ให้ตรงความต้องการที่สุด ซึ่งอาจเป็นการแวะไปเยี่ยมถึงสาขาหรือการติดต่อพูดคุยกับพนักงานเป็นรายบุคคลก็ได้

คำถามที่พวกเขาใช้จะเป็นการถามถึงทัศนคติและมุมมองในอนาคตเช่น “หากคุณได้มีโอกาสเป็นผู้บริหาร คุณจะเปลี่ยนแปลงบริษัทของเราอย่างไร” ควบคู่ไปกับการฝึกอบรมและสร้างทัศนคติว่าแม้การวางแผนงานจะเป็นเรื่องของผู้บริหารก็จริง แต่การทำให้ทุกอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องอาศัยการมีส่วนร่วมและความรู้สึกเป็นเจ้าของ (Ownership) จากพนักงานด้วยเช่นกัน 

แผนงานทุกอย่างควรเริ่มจากการโฟกัสสิ่งง่าย ๆ แล้วค่อยก้าวไปสู่ลำดับต่อไปเมื่อเป้าหมายแรกสำเร็จ หรือพนักงานมีความพร้อมในการรับมือกับความรับผิดชอบที่มากขึ้น ทั้งนี้พวกเขาได้ข้อสรุปว่าวิธีที่จะทำให้พนักงานเชื่อมั่นในคำพูดและนโยบายของเรามากที่สุดคือการทำให้พวกเขาเห็นว่าองค์กรพร้อมนำปัญหาที่พนักงานเจอมาแก้ไขและปรับปรุงให้ดีขึ้นจริง

ผู้บริหารยังมีแนวคิดว่าการปรับตัวเข้าหาพนักงานไม่ใช่แค่การเป็นฝ่ายเสนอสิ่งที่คิดว่าดีที่สุดให้กับทีมเท่านั้น  แต่เป็นการกล้ารับฟังความเห็นว่าสิ่งใดบ้างที่ผิดพลาด หรือมีแนวทางไหนอีกบ้างที่พนักงานเชื่อว่าจะทำให้ตนอยากมีส่วนร่วมกับองค์กรมากกว่าที่เคย โดยวิธีที่ Sephora ทำควบคู่กันไปก็คือการสร้างภาพลักษณ์ (Employer Branding) ให้แข็งแรงยิ่งขึ้น อย่างน้อยก็เพื่อให้พนักงานรู้สึกภูมิใจที่ได้ทำงานอยู่ในองค์กรระดับโลก 

หัวหน้าฝ่ายบุคคลของ Sephora ร้านเครื่องสำอางระดับโลก มีคำแนะนำต่อ HR อย่างไร ?

คนที่ทำงานฝ่ายบุคคลต้องมีความกระตือรือร้นที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ เพื่อรับมือกับความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอยู่เสมอ และต้องเข้าใจว่าการตอบสนองความต้องการของมนุษย์คือสิ่งสำคัญที่สุดทั้งกับพนักงานในองค์กรหรือลูกค้าที่เป็นเหมือนกลุ่มเป้าหมายหลักของธุรกิจ หากเราสามารถหาแก่นที่ผู้เกี่ยวข้องทุกคนมีร่วมกันได้เราก็จะมองเห็นถึงความเชื่อมโยง (Connection) ที่ช่วยให้ออกนโยบายง่ายขึ้น

สิ่งแรกที่ต้องทำคือการปรับทัศนคติว่าฝ่ายบุคคลคือคนที่ทำงานธุรกรรมและตอบสนองด้านธุรกิจเป็นหลัก มาเป็นคนที่พร้อมทำทุกอย่างเพื่อเพื่อนมนุษย์ (People) เราจึงต้องวางกลยุทธ์องค์กรด้วยการตั้งเป้าไปที่การสร้างแรงบันดาลใจและการสร้างคุณค่า

โดยวิธีที่ดีที่สุดคือการอธิบายให้ชัดเจนว่าสิ่งที่องค์กรกำลังทำอยู่หรือได้มอบให้กับอีกฝ่ายนั้นมีวัตถุประสงค์เพื่ออะไร และจะช่วยให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นได้มากแค่ไหน การวัดผลความพอใจจึงเป็นอีกหนึ่งแนวทางสำคัญที่จะช่วยให้รู้ว่ากลยุทธ์ใดบ้างที่ควรตัดทิ้ง และกลยุทธ์ใดบ้างที่ประสบความสำเร็จ ควรต่อยอดพัฒนาให้กลายเป็นนโยบายที่ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นในลำดับต่อไป

ในส่วนของการทำธุรกิจ เธอแนะนำว่าองค์กรขนาดเล็กควรเริ่มต้นด้วยการจ้างพนักงานแบบฟรีแลนซ์ โดยมุ่งเน้นไปที่ตำแหน่งที่ปรึกษาทางธุรกิจก่อน จากนั้นเมื่อบริษัทใหญ่ขึ้นก็ค่อยจ้างเป็นพนักงานประจำควบคู่ไปกับคนที่ทำเรื่องเอกสารหรือเงินเดือนเบื้องต้น ในขั้นตอนนี้ควรให้ความสำคัญกับตำแหน่งที่ปรึกษาด้านการสร้างผู้นำเพื่อถ่ายทอดทัศนคติและมุมมองธุรกิจให้ฝังเป็นวัฒนธรรมองค์กร นี่คือจุดตัดสินที่หลายองค์กรทำพลาดจนเติบโตขึ้นโดยไม่มีแก่นที่สมบูรณ์

ในส่วนของคนที่ทำงาน HR หรือคนที่เตรียมจะมาทำงานสายนี้ ต้องเข้าใจก่อนเลยว่างานเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคลเป็นงานที่โดดเดี่ยวและมักถูกกล่าวโทษเสมอเมื่อมีข้อผิดพลาด เปรียบได้ว่าเราเป็นตัวร้ายภายในองค์กร ดังนั้นเราต้องจำให้ขึ้นใจว่าเป้าหมายในการทำงานของเราคืออะไร และทำทุกอย่างโดยมีมนุษยธรรมเสมอ ที่สำคัญที่สุดคือต้องมีความกล้าในการพูดต่อต้านเรื่องที่ไม่ถูกต้องและพร้อมพัฒนาตัวเองให้ทันทุกความเปลี่ยนแปลง

การสร้าง Employee Experiences ให้คนมีประสบการณ์ที่ดี ทำได้อย่างไร

จากเนื้อหาที่กล่าวในบทความนี้ทำให้เราเห็นว่าประสบการณ์ที่ดีเป็นสิ่งสำคัญต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการพัฒนาทักษะบุคลากรที่จำเป็นต้องให้ประสบการณ์เรียนรู้ที่ดีเพื่อโน้มน้าวให้อยากศึกษามากขึ้น, ด้านสวัสดิการที่หมายถึงผลตอบแทนให้พนักงานมีคุณภาพชีวิตที่เหมาะสม ไม่ต้องกังวลในเรื่องอื่น และสามารถโฟกัสกับการทำงานให้ดีที่สุด

การสร้างประสบการณ์ที่ดียังสะท้อนถึงความเป็นมืออาชีพ ช่วยให้พนักงานเดิมยังอยู่กับองค์กรต่อไป และยังช่วยดึงดูดพนักงานใหม่ให้เข้ามาสู่องค์กรมากขึ้น ช่วยลดขั้นตอนการค้นหา (Recruitment Process) ซึ่งเป็นอีกหนึ่งปัญหาหลักในการทำงาน HR นอกจากนี้การที่ทุกคนอยู่ในองค์กรอย่างมีความสุขยังทำให้เกิดการสื่อสารที่ดี ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบหลักในการสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ให้ธุรกิจเติบโตไปได้อย่างแข็งแรง มีศักยภาพแข่งขันในตลาด  นี่คือประเด็นสำคัญจนกล่าวได้ว่าองค์กรที่ความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรมีปัญหา จะไม่สามารถประสบความสำเร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้เลย

ไม่จำเป็นต้องรอให้บริษัทใหญ่ก่อนถึงจะเริ่มให้ความสำคัญในเรื่องนี้ เพราะไม่ว่าจะเป็นองค์กรแบบใดก็ตาม การสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ที่ดีคือจุดเริ่มต้นที่จะต่อยอดไปสู่สิ่งที่เป็นประโยชน์ยิ่งขึ้น ดังนั้สเราแนะนำให้ใช้บริการ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ไว้มากกว่า 100 อย่าง มากที่สุดในเมืองไทย !

จะเป็นสายงานไหน ขนาดเล็กหรือใหญ่ ใช้เพื่อตอบสนองกลยุทธ์แบบใดก็หาตัวช่วยได้ที่นี่ ครบเครื่องแบบเว็บเดียวจบ ! คลิกเลย

CTA Employee Engagement

บทสรุป

ไม่ว่าเราจะทำธุรกิจอะไรก็ตาม การสนใจแต่สิ่งที่อยู่ในกรอบของสายงานนั้น แม้จะทำให้ได้นวัตกรรมใหม่ที่ดีต่อยอดขาย แต่ก็ไม่เพียงพอให้เราสามารถโน้มน้าวลูกค้าซึ่งมีความต้องการเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่ใช่แค่เรื่องคุณภาพสินค้าเท่านั้น แต่ยังเป็นเรื่องของค่านิยมที่อยากให้การทำธุรกรรมครั้งหนึ่งสามารถสร้างคุณค่าในแง่มุมที่เป็นประโยชน์มากกว่าที่เคย 

จากเรื่องราวที่กล่าวไปทั้งหมด  Sephora ได้ทำให้พนักงานรู้จักพัฒนาตัวเองและอยากตอบแทนลูกค้าให้ได้รับความรู้สึกแบบเดียวกันกลับไป กลยุทธ์นี้จะช่วยสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้กับองค์กรได้อย่างเป็นรูปธรรม

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง