HIGHLIGHT
|
“ศิลปะยืนยาว ชีวิตสั้น” (Ars Longa, Vita Brevis) คือหนึ่งในประโยคเกี่ยวกับศิลปะที่มีชื่อเสียงที่สุดในไทย ประโยคนี้พยายามเปรียบเปรยให้เห็นว่ามนุษย์แต่ละคนมีเวลาอยู่บนโลกเพียงไม่นาน แต่ศิลปะคือสิ่งที่จะคงอยู่ตลอดไป เพราะทุกแง่มุมของชีวิตหากต้องการให้ดำเนินไปอย่างมีประสิทธิภาพจำเป็นต้องมีศิลปะมาเกี่ยวข้องทั้งสิ้น
ศิลปะจะช่วยเปลี่ยนทุกสถานการณ์ให้มีแง่งาม เกิดความเห็นอกเห็นใจระหว่างกัน ซึ่งคุณค่าเหล่านี้ถือเป็นบริบทสำคัญของการทำงานทุกชนิด
เราสามารถนำศิลปะมาประยุกต์ใช้ในการทำงานได้อย่างไร ? หาคำตอบได้ที่นี่
พลังของศิลปะ (The Power of Art) ทำให้ชีวิตของเราดีขึ้นได้อย่างไร
ก่อนที่เราจะไปเจาะประเด็นเรื่องของศิลปะกับการทำงาน เราต้องอธิบายเรื่องศิลปะกับชีวิตให้เห็นภาพชัดเจนเสียก่อน เนื่องจากคนส่วนใหญ่มักมองว่าศิลปะเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เข้าถึงได้ยากจนตัดสินใจมองข้ามการดูงานศิลปะไปโดยปริยาย ทั้งที่การศึกษาศิลปะไม่จำเป็นต้องอาศัยองค์ความรู้มากมายขนาดนั้น เพราะเป้าหมายของงานศิลปะไม่ได้มีเพียงเรื่องความสวยงาม แต่ยังเป็นการเปิดโอกาสให้คนได้แสดงความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) ดังนั้นขอเพียงเปิดใจดูก็จะได้ประโยชน์บางอย่างกลับไปแน่นอน
ประโยชน์เบื้องต้นของการดูงานศิลปะ
ความสุขจากการดูงานศิลปะ งดงามเหมือนการตกหลุมรัก : ศาสตราจารย์ซาเมียร์ เซกี (Semir Zeki) ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาจาก University College of London กล่าวว่าเมื่อเราดูงานศิลปะดี ๆ สมองของเราจะทำงานแบบเดียวกับตอนที่ตกหลุมรักคือการหลั่งสารสร้างความสุขอย่างโดปามีน (Dopamine) ซึ่งเกิดขึ้นขณะฟังเพลงดี ๆ ได้เช่นกัน
1. ศิลปะช่วยเยียวยาและรักษาจิตใจ : งานศิลปะช่วยลดความเครียดได้โดยตรง และเป็นตัวแทนของ 3 องค์ประกอบสำคัญในชีวิต ได้แก่ความผ่อนคลาย, ความพึงพอใจ และการนำเสนอตัวตน ดังนั้นจึงไม่แปลกหากจะมีการใช้ศิลปะเป็นเครื่องมือเยียวยาจิตใจสำหรับคนที่มีปัญหาทางจิตหรือแม้แต่คนทั่วไปที่อยากพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีความสมบูรณ์ยิ่งขึ้น การรักษาโดยใช้ศิลปะ (Arts Therapy) ถูกใช้อย่างจริงจังตั้งแต่ยุค ’70 เป็นต้นมา
2. ความสวยงามของศิลปะจะช่วยให้มีความสุข : หลักการง่าย ๆ ของความสุขคือการพาตัวเองไปอยู่ในจุดที่มีแต่ความสวยงาม ทั้งนี้รสนิยมความชอบของแต่ละคนแตกต่างกัน รูปแบบของงานศิลปะที่ทำให้อิ่มเอมใจจึงแตกต่างกันตามไปด้วย ดังนั้นเพื่อให้การดูงานศิลปะมีประโยชน์กับชีวิตมากขึ้น เราควรเก็บข้อมูลและหาคำตอบว่างานศิลปะแบบไหนที่ส่งผลต่อหัวใจมากที่สุด วิธีนี้จะช่วยให้เราหาเครื่องประดับ, รูปภาพ รวมถึงองค์ประกอบอื่น ๆ มาใช้ในชีวิตประจำวันได้ง่ายขึ้น ดีกว่าแค่ดูงานและมีความสุขไปวัน ๆ
3. งานศิลปะช่วยยืนยันว่าชีวิตของเรามีคุณค่ามากพอหรือไม่ : ทฤษฎีลําดับขั้นความต้องการมาสโลว์ (Maslow’s Hierarchy of needs) ของอับราฮัม มาสโลว์ (Abraham Maslow) กล่าวว่ามนุษย์จะแบ่งลำดับความต้องการออกเป็นขั้น ๆ ตั้งแต่ความต้องการขั้นพื้นฐาน (Basic Needs) เรื่อยไปจนถึงความต้องการเพื่อความสมบูรณ์ของชีวิต (Self-Actualization) ในรูปแบบของพีระมิด
โดยที่มนุษย์จะยกระดับความต้องการขึ้นไปต่อเมื่อความต้องการในระดับล่าวกว่าถูกเติมเต็มเรียบร้อยแล้วเท่านั้น ซึ่งความพอใจในศิลปะจัดอยู่ในลำดับสูงสุด นี่คือสาเหตุว่าทำไมมนุษย์แต่ละคนจึงมีความพอใจในงานศิลปะแตกต่างกัน ทั้งนี้ความพอใจดังกล่าวจะเปลี่ยนไปตามช่วงอายุหรือขึ้นอยู่กับว่าเราสามารถตอบสนองความต้องการของชีวิตได้มากแค่ไหน
4. ศิลปะทำให้เราเข้าใจตัวเองดีขึ้น : เรื่องบางเรื่องไม่สามารถถ่ายทอดออกมาเป็นตัวหนังสือหรือคำพูด ดังนั้นงานศิลปะจะเปิดโอกาสให้เราตีความสิ่งตรงหน้าให้สอดคล้องกับมุมมองของชีวิตแต่ละช่วง กลายเป็นอีกช่องทางหนึ่งให้เราถ่ายทอดความคิดออกมาได้ง่ายขึ้น การตีความตรงนี้มีลักษณะของความเป็นส่วนตัว (Personal Experiences) ที่ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยกฎเกณฑ์ใด ๆ ทั้งนี้หมายรวมถึงงานศิลปะทุกประเภทไม่ว่าจะเป็นจิตกรรม, ประติมากรรม, บทกวี, นาฏยศิลป์ หรือบทเพลงก็ตาม
ทำไมพนักงานบริษัทถึงควรทำงานศิลปะ แม้จะไม่มีฝีมือก็ตาม
มีวิจัยจากปี ค.ศ. 2014 ที่ตีพิมพ์ลงในวารสาร PLOS ONE กล่าวว่าการทำงานศิลปะส่งผลโดยตรงต่อสมองส่วนเครือข่ายอัตโนมัติที่ทำงานเมื่อมีการพักผ่อน (Default Mode Network) สมองส่วนนี้จะทำงานในลักษณะเหมือนออโต้ไพล็อต (Autopilot) ช่วยให้เราทำงานที่คุ้นเคยได้อย่างคล่องแคล่วไม่มีผิดพลาด
โดยนักวิทยาศาสตร์บอกว่าสมองส่วนนี้จะพัฒนาเมื่อเรากำลังนอนหลับหรือนั่งเหม่อ เฟ้อฝัน (Daydreaming) และตอนที่เรารู้สึกประทับใจกับงานศิลปะ ซึ่งเป็นพิสูจน์ให้เห็นว่างานศิลปะมีอิทธิพลกับจิตใจของมนุษย์ได้จริง ๆ ทั้งนี้แม้การเสพย์งานศิลปะจะให้ประโยชน์มาก แต่การลงมือทำด้วยตนเองแม้จะไม่ได้มีทักษะอะไรเป็นพิเศษกลับให้ผลดียิ่งขึ้นไปอีก
Journal Art Therapy ยืนยันถึงข้อมูลดังกล่าว โดยบอกว่าการลงมือทำงานศิลปะเพียง 45 นาทีจะช่วยให้ร่างกายลดการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอล (Cortisal) ซึ่งเป็นฮอร์โมนจากสมองที่ทำให้เกิดโรคเครียดและวิตกกังวล รวมถึงมีวิจัยที่ให้นักศึกษาปีหนึ่งทำงานศิลปะก่อนเข้าสอบ 30 นาทีและพบว่ามีผลลัพธ์ที่ดีขึ้นจริง
Psychology of Aesthetics, Creativity, and the Arts ยังเผยว่าการทำงานศิลปะจะช่วยคลายความเศร้าของเราได้อย่างมีนัยสำคัญ โดยการวิจัยใช้วิธีเปิดภาพยนตร์ที่มีเนื้อหาเศร้าหมองให้ผู้ร่วมวิจัยดู จากนั้นแบ่งคนออกเป็น 3 กลุ่มได้แก่กลุ่มที่ทำงานศิลปะโดยอ้างอิงจากเนื้อหาที่เพิ่งชม (เพื่อสะท้อนถึงการระบายอารมณ์เมื่อมีความเศร้า), กลุ่มที่ทำงานศิลปะโดยไม่อ้างอิงกับอะไรเลย (เพื่อลดความเกี่ยวเนื่องของศิลปะกับบริบทอื่น) และกลุ่มสุดท้ายที่ให้นั่งเฉย ๆ เพื่อจัดการอารมณ์อย่างเงียบ ๆ
ผลการวิจัยนี้สรุปได้ว่าคนที่ทำงานศิลปะโดยไม่อ้างอิงกับบริบทใดสามารถจัดการความรู้สึกได้ดีที่สุด ดังนั้นเราสามารถนำผลลัพธ์นี้ไปประยุกต์ใช้กับการแก้ปัญหาภายในองค์กรได้เลย
จะเห็นว่าเป้าหมายของการทำงานศิลปะภายในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องความสวยงาม แต่เป็นการใช้ศิลปะเป็นสื่อกลางเพื่อกระตุ้นสมองและความรู้สึกนึกคิดบางอย่างมากกว่า เมื่อรู้แบบนี้แล้ว ก็อาจถึงเวลาที่ HR จะเปลี่ยนการอบรมพนักงานแบบเดิม ๆ มาเป็นการอบรมเชิงศิลปะดูก็ได้ เพราะมันอาจเป็นจุดเริ่มต้นที่จะช่วยยกระดับองค์กรให้พัฒนาไปอีกขั้นโดยไม่ทันรู้ตัว
ศิลปะ (Art) ในที่ทำงานมีประโยชน์อย่างไร
ปัจจุบันองค์กรแทบทุกแห่งพยายามหาสวัสดิการและเครื่องมือต่าง ๆ มาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพให้กับพนักงาน และมีหลายครั้งที่ต้องใช้งบประมาณค่อนข้างสูง ทำให้เกิดคำถามตามมาว่ามีวิธีการอื่น ๆ อีกหรือไม่ที่ทุกบริษัทสามารถทำได้และมีหลักฐานยืนยันว่ามีประโยชน์กับการทำงานจริง ๆ
ซึ่งคำตอบที่ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่แนะนำก็คือการใช้ “ศิลปะ” เพราะเป็นสิ่งที่มีความสมบูรณ์รอบด้าน ทั้งในแง่ของการตกแต่งพื้นที่ให้สวยงาม เรื่อยไปจนถึงการทำงานกับความรู้สึกของมนุษย์ซึ่งถือเป็นรากฐานที่คอยผลักดันให้คนทำตามเป้าหมายอย่างมีพลังใจมากขึ้น
เราสามารถแบ่งประโยชน์ของการใช้ศิลปะในที่ทำงานออกมาได้ดังนี้
1. ศิลปะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ : เมื่อเราต้องสร้างงานขึ้นมาสักชิ้นหนึ่ง องค์ประกอบที่ขาดไปไม่ได้เลยคือแรงบันดาลใจ ดังนั้นการล้อมรอบตัวเองด้วยงานศิลปะที่สวยงาม ลึกซึ้งจะเปิดโอกาสให้พนักงานได้ตีความซึ่งจะกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ได้ดีขึ้นหากเทียบกับภาพทั่วไปที่ไม่มีมิติอะไรเป็นพิเศษ
2. ศิลปะทำให้เกิดความประทับใจตั้งแต่แรกเห็น (First Impression): ลองนึกดูว่าครั้งสุดท้ายที่คุณสนใจกำแพงออฟฟิศเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ? บางคนอาจตอบคำถามนี้ไม่ได้เพราะกำแพงออฟฟิศส่วนใหญ่มักเป็นเพียงผนังสีขาว ๆ สะอาดตาปราศจากการตกแต่งใด ๆ ดังนั้นจะดีกว่าไหมหากเราเปลี่ยนพื้นที่เหล่านั้นให้มีคุณค่ามากขึ้นทั้งกับตัวพนักงานและลูกค้าที่ผ่านเข้ามาเห็น
งานศิลปะที่ดียังช่วยให้บรรยากาศโดยรวมดีขึ้น เช่น หากเราอยู่ในห้องประชุมที่เคร่งเครียด งานศิลปะที่ดูสงบก็จะช่วยปรับอารมณ์ของเรา หรือหากเราติดภาพที่ดุดันในห้องสำหรับพักผ่อน ผู้พบเห็นก็อาจปรับอารมณ์ตามไม่ทันจนรู้สึกสับสน การเลือกงานศิลปะสักอย่างจึงจำเป็นต้องผ่านการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเสมอ
3. ศิลปะทำให้การพักสายตาของคนมีประโยชน์มากขึ้น : การทำงานทุกอย่างจะต้องมีเวลาพักผ่อน หรืออย่างน้อยก็พักสายตาสักระยะ ดังนั้นแทนที่เราจะปล่อยให้เวลาสั้น ๆ ตรงนั้นผ่านไปอย่างสูญเปล่า ถ้าเราเพิ่มงานศิลปะเข้าไปให้มันมีความหมายมากขึ้น ก็จะเป็นเคล็ดลับเล็ก ๆ น้อย ๆ ที่เพิ่มประสิทธิภาพงานอย่างเป็นรูปธรรม และช่วยให้พนักงานจดจ่อกับงานและสร้างความสดใหม่ในหัวสมอง วิธีนี้เรียกอย่างเป็นทางการว่า Necessary Distraction (การถูกหันเหความสนใจที่จำเป็น)
ผลวิจัยจาก ดร.เคร็ก ไนท์ (Dr.Craig Knight) จาก University of Exeter กล่าวว่าการเพิ่มงานศิลปะเข้าไปในที่ทำงานจะช่วยให้พนักงานทำงานเสร็จไวขึ้น 15% และมีศักยภาพมากขึ้นถึง 30% หากเทียบกับการทำงานในออฟฟิศโล่ง ๆ
ทั้งนี้เพราะวัยทำงานส่วนใหญ่ต้องใช้เวลากว่าครึ่งวันในที่ทำงาน และบรรยากาศปกติในออฟฟิศที่เรามักพบเจอก็คือกองเอกสาร, ข้าวของเครื่องใช้ที่เหมือนจะคอยย้ำให้เห็นว่าสถานที่ดังกล่าวคือขั้วตรงข้ามกับคำว่าสะดวกสบายจริง ๆ ดังนั้นงานศิลปะจะเข้ามาปรับอารมณ์ของพนักงานให้รู้สึกถึงความอบอุ่นหัวใจและใกล้เคียงกับการอยู่บ้าน (Feels Like Home) มากกว่าที่เคยเป็น
การเลือกงานศิลปะมาตกแต่งที่ทำงานมีเคล็ดลับอย่างไร ?
การเลือกตกแต่งที่ทำงานด้วยงานศิลปะตามรสนิยมไม่ใช่เรื่องผิด แต่หากเราเลือกได้ทั้งงานที่ถูกจริตและงานที่ทำให้งานดีขึ้นได้จริงก็คงเป็นทางเลือกที่ดีกว่า ซึ่งงานศิลปะที่ใช้ในที่ทำงานส่วนใหญ่จะให้ความสำคัญกับองค์ประกอบด้าน เนื้อหา, ขนาด, การจัดวาง และรูปแบบของงาน
โดยมักเป็นงานที่สร้างความรู้สึกในแง่บวก (Positive-Mood) เช่นภาพของวิวทิวทัศน์สีเขียวขจี, ต้นไม้ใบหญ้าที่ปลอดโปร่งจนผู้พบเห็นรู้สึกอยากจะไปเดินเล่นในสวนนั้นดูบ้าง หรือไม่ก็เป็นภาพของแม่น้ำไหลเชี่ยวไม่หยุดนิ่งที่มักถูกใช้เพื่อความสวยงามและเพื่อให้สอดคล้องกับความเชื่อตามขนบธรรมเนียม
สิ่งเหล่านี้ไม่ใช่เรื่องผิด แต่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าหากต้องการให้มีประโยชน์มากขึ้นก็ควรเพิ่มรายละเอียดเข้าไปอีกสักนิดหนึ่ง เช่นให้เป็นภาพในลักษณะของการมองจากที่สูงไปที่ต่ำ เพราะภาพแบบนี้จะทำให้เรารู้สึกเหมือนการมองย้อนกลับไปสู่อดีต ทำให้สมองคิดว่าเราผ่านเรื่องราวอะไรมาบ้างซึ่งจะกลายเป็นแรงผลักดันให้เราทำงานตรงหน้าได้ดีขึ้น เปรียบได้ว่าภาพลักษณะดังกล่าวไปกระตุ้น “ความมีอายุ” (Old-Timer) ในจิตใต้สำนึกเหมือนคนแก่ที่ชอบย้อนกลับมาตกตะก่อนประสบการณ์ในอดีต
ถ้าคุณไม่อยากให้พนักงานรู้สึกเครียด และมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากขึ้น ก็ควรติดตั้งงานศิลปะที่แสดงถึงความเป็นห่วงเป็นใย เช่น ภาพของคนที่ดูแลประคับประคอง หรือรูปปั้นของคนกอดกัน งานลักษณะนี้จะไปย้ำเตือนให้ผู้พบเห็นย้อนกลับไปนึกถึงตอนที่ตนเป็นที่รักของใครสักคน ซึ่งจำเป็นอย่างยิ่งเมื่อต้องเผชิญกับความเครียดหรือภาวะกดดันทั้งหลายขณะทำงาน
งานศิลปะที่นำมาใช้ต้องไม่วุ่นวายเกินไป ให้คิดว่างานศิลปะบางอย่างอาจเหมาะกับการเอาไว้ที่หอศิลป์มากกว่า แต่ในที่นี้เรากำลังเลือกงานที่นำมาไว้ในที่ทำงานและต้องทำหน้าที่เป็นเหมือนวิวทิวทัศน์ที่คนต้องเห็นทุกวัน ดังนั้นจึงต้องมีการคำนวนถึงความเหมาะสม
ทั้งในแง่ของความสวยงาม รวมถึงความเชื่อทางศาสนา นอกจากนี้องค์กรควรเลือกใช้งานศิลปะที่ทำให้คนดูแล้วมีความสุข ตีความได้หลากหลาย มากกว่างานที่มีเนื้อหาแบบเฉพาะเจาะจงและแสดงถึงความหดหู่ เคร่งเครียด หรือน่ากลัว
เกร็ดเล็กน้อยก็คือองค์กรบางแห่งมักตกแต่งสถานที่โดยอ้างอิงจากโลโก้บริษัท ซึ่งหากมองกันตามตรงจะเห็นว่าวิธีการออกแบบโลโก้ในปัจจุบันมักมีความสุดโต่ง คือไม่มินิมอลไปเลย ก็โดดเด่นสีสันรุนแรงไปเลย ซึ่งถ้าเราเอามาใช้ตกแต่งโดยปราศจากความเข้าใจเรื่องจิตวิทยาการใช้สีก็จะส่งผลเสียต่อประสิทธิภาพการทำงานได้ ดังนั้นหากคุณไม่รู้ว่าควรเลือกงานศิลปะในที่ทำงานแบบใด ควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญจะดีกว่า
พาทีมไปหอศิลป์ ! เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยศิลปะ
เมื่อพูดถึงคำว่า Company Outing คนมักนึกถึงการเดินทางไปเที่ยวต่างจังหวัดเป็นหมู่คณะและการวางแผนของทีม HR ที่ใช้เวลานานกว่าจะออกมาเป็นทริปบริษัทสนุก ๆ สักครั้งหนึ่ง แต่เคยคิดไหมว่าหากเราเป็นแค่บริษัทเล็ก ๆ ที่ไม่มีงบประมาณหรือผลกำไรมากมาย การไปทริปหรูหราเปลี่ยนบรรยากาศคือสิ่งที่แทบเป็นไปไม่ได้ ดังนั้นถ้าอยากมี Company Outing ที่ทั้งสนุกและได้ประโยชน์บ้าง จะต้องทำอย่างไร ?
มีวิจัยที่ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Positive Psychology บอกว่าหากเรามองในแง่คอนเซปต์แล้ว การไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์หรือหอศิลป์ให้ผลลัพธ์ไม่ต่างกันมาก เพราะพนักงานจะได้มีประสบการณ์ใหม่ๆ ทั้งกับตัวเองและเพื่อนร่วมงานเหมือนกัน ดังนั้นถ้าองค์กรหรือแผนกใดต้องการพาพนักงานไปเปลี่ยนบรรยากาศ การรวมกลุ่มไปเที่ยวหอศิลป์ใกล้ ๆ ออฟฟิศก็ถือเป็นทางเลือกที่แหวกแนว ใช้ทุนน้อย และให้ผลลัพธ์ที่ดีในเวลาอันรวดเร็ว
คุณแคทเธอรีน ค็อตเตอร์ (Katherine Cotter) ผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยาจาก University of Pennsylvania กล่าวว่าเราสามารถสรุปข้อดีของการไปเที่ยวหอศิลป์ออกมาเป็น 3 ประเด็นหลัก คือการได้ความรู้และประสบการณ์ที่หาไม่ได้จากการทำงานตามปกติ, การลดความเครียด และสำคัญที่สุดคือการไปหอศิลป์จะช่วยให้เรารู้สึกถึงการมีคุณค่า โดยเฉพาะกับคนที่ชอบปลีกวิเวกอยู่คนเดียว (Isolate) การไปหอศิลป์บ่อย ๆ จะช่วยให้คนแบบนี้เข้าใจความสำคัญของการอยู่ร่วมกับผู้อื่น
เธออธิบายเพิ่มเติมในบทสัมภาษณ์หัวข้อ Is art the answer to our mental health problems? เมื่อเดือนเมษายน ค.ศ. 2022 เอาไว้ว่าการไปหอศิลป์เป็นเหมือนการพาคนหลุดไปสู่อีกโลกหนึ่ง เพราะการไปพิพิธภัณฑ์ไม่ว่าจะเป็นหอศิลป์หรืออะไรก็แล้วแต่เป็นสิ่งที่คนทั่วไปไม่ได้ไปเยี่ยมชมกันบ่อยนัก
ดังนั้นทุกอย่างที่พบเห็นจึงเป็น “ของใหม่” ที่หาไม่ได้จากที่อื่นจนพาลคิดไปว่าเราถูกล้อมรอบด้วยบริบทของสังคมที่แตกต่างไปจากเดิม ความตื่นตาตื่นใจหรือแม้แต่ความสงสัย (ของคนที่ไม่ได้ชอบศิลปะอะไรนัก) จะทำให้เราจมอยู่กับชิ้นงานจนเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งเป็นอาการที่หาได้ยากในชีวิตการทำงานตามปกติ ดังนั้นหากวันไหนที่เราเจอความกดดันหนักจนไม่รู้จะรับมือหรือหลีกหนีไปอย่างไร การไปหอศิลป์สามารถแก้ปัญหาในส่วนนี้ได้
อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการไปหอศิลป์สามารถช่วยให้เราเข้าใจเรื่องความแตกต่างและการเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน (Diversity & Belonging) ได้มากขึ้น เพราะเมื่อพนักงานต้องทำงานอยู่ในสภาพแวดล้อมแบบเดิม การเข้าใจสังคมที่หลากหลายก็ถือเป็นเรื่องยาก ยิ่งหากพนักงานบางคนมีนิสัยไม่ชอบเข้าสังคม การสัมผัสถึงวัฒนธรรมที่แตกต่างก็ยิ่งเป็นไปไม่ได้เลย
ดังนั้นการไปหอศิลป์จะช่วยทำให้คนเห็นว่าโลกของเรามีอีกหลายแง่มุมที่เราไม่รู้จัก ความเข้าใจที่เกิดขึ้นจะส่งผลเชิงจิตวิทยาให้พนักงานพร้อมเปิดใจรับความแตกต่างที่เกิดขึ้นภายในองค์กร
เคล็ดลับสุดท้ายในการไปหอศิลป์ก็คือ “อย่าคิดเยอะไป” เพราะบางคนมักเลือกตีความผลงานจนอาจเข้าใจในแง่มุมที่แตกต่างจากตัวศิลปินด้วยซ้ำ
ดังนั้นเมื่อเราไปหอศิลป์ ให้ดูงานศิลปะและตั้งคำถามง่าย ๆ ว่าเราชอบงานศิลปะตรงหน้าหรือไม่, เพราะอะไร, งานศิลปะดังกล่าวทำให้นึกถึงเรื่องอะไรเป็นพิเศษหรือไม่ และความรู้สึกที่เกิดขึ้นขณะดูมาจากสาเหตุใด ? การตอบคำถามเบื้องต้นเหล่านี้ให้ได้เพียงพอแล้วที่จะพัฒนาจิตวิญญาณและทัศนคติของพนักงานแบบองค์รวม
บทสรุป The Power of Art
“ศิลปะไม่ได้สอนให้วาดรูปเป็น แต่สอนให้รู้จักการใช้ชีวิต” นี่คือประโยคของศาสตราจารย์ ศิลป พีระศรี อาจารย์และผู้ก่อตั้งมหาวิทยาลัยศิลปากรที่สะท้อนให้เห็นว่าการเข้าใจศิลปะนั้นทำให้เรากลายเป็นคนที่ดีขึ้น ซึ่งไม่ได้เป็นประโยชน์แค่กับการทำงาน แต่รวมถึงแง่มุมอื่น ๆ ในชีวิตประจำวัน เราได้ยินคำว่าศิลปะในการพูด, ศิลปะในการฟัง, ศิลปะในการกิน และอีกมากมายอยู่เสมอ
ดังนั้นก่อนที่จะตัดสินใจทำอะไรสักอย่าง ลองถามตัวเองว่าเรากระทำสิ่งนั้นอย่างมีศิลปะดีแล้วหรือยัง
หากต้องการเรียนรู้เกี่ยวกับศิลปะและการทำงานเพิ่มเติม ปัจจุบันมีหน่วยงานมากมายที่จัดอบรมเกี่ยวกับเรื่องนี้ HR สามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมในหัวข้อที่ต้องการ หรือใช้บริการ HREX แพลตฟอร์มแรกของประเทศไทยที่รวบรวมผลิตภัณฑ์และบริการ HR เอาไว้แบบครบวงจร จะองค์กรเล็กหรือใหญ่ ก็เลือกให้เหมาะกับวัตถุประสงค์ได้เลย !