Search
Close this search box.

Business Lunch กินข้าวกลางวันอย่างไรให้ได้งาน ?

HIGHLIGHT

  • Business Lunch คือการกินข้าวเชิงธุรกิจ เป็นการเปลี่ยนบรรยากาศการพูดคุย ประชุม หรือสัมภาษณ์งานสำคัญ ๆ จากที่อยู่แค่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น กไปพูดคุยกันในร้านอาหาร, คาเฟ่ หรือแม้แต่ศูนย์อาหารทั่วไปแทน ตราบใดที่ผ่านการเตรียมตัวอย่างมืออาชีพ ก็ไม่มีปัญหา
  • นักวิจัยได้ข้อสรุปว่าการกินข้าวส่งผลให้การทำงานดีขึ้นได้จริง โดยเฉพาะการกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพได้มากกว่ากลุ่มคนที่กินข้าวคนเดียวถึง 12%
  • มารยาทบนโต๊ะอาหารถือเป็นสิ่งที่บริษัทส่วนใหญ่มองข้าม ทั้งที่มีความสำคัญอย่างยิ่งโดยเฉพาะบริษัทที่ต้องเจรจาธุรกิจกับคนหลากหลายเชื้อชาติ การเข้าใช้วัฒนธรรมการกินของอีกฝ่ายคือคะแนนสำคัญที่จะตัดสินว่าองค์กรของเราเหนือกว่าที่อื่นอย่างไร
  • Business Lunch เป็นกลยุทธ์ที่ดีของ HR Recruiter ด้วย เพราะการกินข้าวในบรรยากาศสบาย ๆ มีโอกาสทำให้ผู้สมัครเผยภาษากายที่ปราศจากการประดิษฐ์ ทำให้เราตรวจสอบเบื้องต้นได้ว่าพนักงานดังกล่าวแท้จริงมีทัศนคติอย่างไร และมีข้อมูลเชิงลึกอะไรบ้างที่ส่งผลต่อการทำงาน ช่วยให้สามารถคัดเลือกคนที่เหมาะกับองค์กรมากขึ้น
  • หากต้องการอบรมในเรื่องนี้มากขึ้นแต่ไม่แน่ใจว่าต้องทำอย่างไร ท่านสามารถหาคำตอบและเลือกบริการที่เหมาะสมได้ทาง HR Explore แพลตฟอร์มรวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย

Business Lunch กินข้าวกลางวันอย่างไรให้ได้งาน ?
เคยไหมที่คูณรู้สึกว่าการเจรจาในห้องประชุมมันช่างอึดอัดและบรรยากาศเริ่มจดถดถอยลงไปทุกที ไม่ว่าจะเป็นการวางแผนทางธุรกิจตลอดจนการสัมภาษณ์พนักงานใหม่ หากคำตอบของคุณคือใช่ เราขอแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ Business Lunch หรือการกินข้าวเชิงธุรกิจ ซึ่งแม้จะฟังดูเป็นกลยุทธ์ง่าย ๆ แต่ก็เป็นแนวทางพื้นฐานที่ประเทศสหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น ใช้เป็นวิธีปกติ เพราะนอกจากจะช่วยให้เราลดความเครียดลงแล้ว ยังเปิดโอกาสให้เรารู้จักฝ่ายตรงข้ามมากขึ้นผ่านบริบทที่มีความจริงจังน้อยกว่า เหมาะสำหรับการทำงานที่ต้องตรวจสอบรายละเอียดของอีกฝ่ายผ่านแง่มุมที่ถูกประดิษฐ์น้อยที่สุด

Business Lunch ที่ดีเป็นอย่างไร และโลกการทำงานของคุณจะเปลี่ยนไปได้แค่ไหนจากกลยุทธ์ง่าย ๆ แบบนี้ หาคำตอบได้ที่นี่ที่เดียว

Business Lunch การกินข้าวมีความสำคัญอย่างไร

ก่อนที่จะไปลงรายละเอียดว่าการกินข้าวไปคุยงานไปมีความสำคัญอย่างไร เราต้องอธิบายก่อนว่าหลังจากที่บริษัทส่วนใหญ่ต้องทำงานแบบไฮบริดหรือ Work From Home สิ่งหนึ่งที่มนุษย์ในฐานะ “สัตว์สังคม” ร้องหาก็คือการพบปะกับเพื่อนร่วมงานแบบเห็นหน้า (face-to-face) ซึ่งการกินข้าวถือเป็นช่วงเวลาสบาย ๆ ที่เกิดขึ้นได้ในทุกวันทำงาน ดังนั้นการเปลี่ยนช่วงเวลาที่ร่างกายผ่อนคลายที่สุดให้เกิดประโยชน์มากขึ้นจึงเป็นแนวทางที่ HR รวมถึงวัยทำงานทุกคนควรให้ความสำคัญ 

Business Lunch ที่ดีจะทำให้ผู้ร่วมโต๊ะประทับใจ ซึ่งเป็นรายละเอียดที่ผู้เกี่ยวข้องหลายคนใช้ในการตัดสินใจและสามารถเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันให้องค์กรของเราโดนใจลูกค้าหรือผู้สมัครมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นหากเรานัดเจอลูกค้าจากต่างประเทศ การพาไปปิดร้านอาหารเพื่อพูดคุยท่ามกลางบรรยากาศดี ๆ เพลงเพราะ ๆ และอาหารชั้นยอด ย่อมทำให้ช่วงเวลาดังกล่าวน่าจดจำกว่าการจัดประชุมแบบเคร่งเครียดในห้องสี่เหลี่ยมแม้เนื้อหาการประชุมจะเป็นเรื่องเดียวกันก็ตาม

Business Lunch ยังถือเป็นโอกาสที่ดีในการทำความรู้จักซึ่งกันและกันในแง่มุมที่แตกต่างจากตอนทำงาน ให้เราคิดตามว่าในโลกนี้มีคนทำงานเก่งอยู่มากมาย แต่การได้คนที่ทำงานเก่งด้วยและเข้ากันได้ด้วยเป็นสิ่งที่ดีกว่ามาก แต่เราจะรู้นิสัยลึก ๆ ของคนได้อย่างไร ? การกินข้าวไปคุยงานไปจึงเป็นคำตอบที่ธุรกิจชั้นนำของโลกเลือกใช้ อนึ่งการกินข้าวกับลูกค้าอาจไม่ได้เห็นผลลัพธ์ตั้งแต่ครั้งแรก แต่เมื่อทำไปเรื่อย ๆ จนสนิทสนมก็จะเริ่มเห็นมุมมองระหว่างกันชัดเจนขึ้นเอง

แต่ก่อนที่จะไปพูดถึง Business Lunch กับลูกค้าสำคัญ เราควรเริ่มจากการปรับทัศนคติของพนักงานก่อน เพราะบางคนอาจชอบแยกไปกินข้าวคนเดียวด้วยเหตุผลด้านความเป็นส่วนตัวหรือต้องการแบ่งเวลาว่างกับเวลาทำงานอย่างชัดเจน

อย่างไรก็ตาม ผู้ช่วยศาสตราจารย์เควิน นิฟฟิน (Kevin Kniffin) จาก Cornell University กล่าวว่าการกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานเป็นรากฐานที่สำคัญ เพราะจะช่วยให้เกิดมิตรภาพและความสัมพันธ์ที่ทำให้การปฏิบัติงานราบรื่นขึ้น โดยมีการพิสูจน์กับกลุ่มนักดับเพลิงในสหรัฐอเมริกาเป็นเวลา 15 เดือนจนพบว่าทีมที่สนิทสนมและกินข้าวด้วยกันเป็นประจำสามารถทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า แถมนักดับเพลิงบางสถานียังกินข้าวด้วยกันถึงวันละ 2 มื้อเป็นอย่างน้อยเพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้มากที่สุดเนื่องจากอาชีพนักดับเพลิงต้องเอาชีวิตไปเสี่ยงตลอดเวลา และความผิดพลาดแม้เพียงเล็กน้อยอาจนำไปสู่อันตรายจนถึงชีวิต

การกินข้าวกลางวันร่วมกับพนักงานในโรงอาหารหรือพื้นที่ส่วนกลางยังเปิดโอกาสให้เราพบกับพนักงานจากแผนกอื่น ๆ ซึ่งเมื่อรู้จักกันมากขึ้นแล้ว ก็จะช่วยให้การประสานงานระหว่างแผนกง่ายขึ้นแถมยังช่วยให้เราเข้าใจบริบทของแผนกอื่น ๆ บนพื้นฐานของความเป็นจริงมากขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญ คุณแอนดรูว์ ฮอร์น (Andrew Horn) CEO จากบริษัท Tribute สหรัฐอเมริกายังเสริมว่าการกินข้าวกับเพื่อนร่วมงานจะช่วยให้พนักงานมีความสุขมากขึ้น

เพราะพวกเขาจะได้ระบายความรู้สึกและปรึกษาเรื่องราวที่อยู่ในใจกับคนที่อยู่ภายใต้เงื่อนไขเดียวกันจริง ๆ แต่ก็ต้องมาพร้อมกับการสังเกตของ HR หรือหัวหน้างานว่ามื้อกลางวันของพนักงานได้กลายเป็นแหล่งซุบซิบนินทาโดยเปล่าประโยชน์หรือไม่ หากใช่ ก็ควรนำปัญหาเหล่านั้นมาปรับปรุงหรือหาแนวทางเพื่อสร้างบรรยากาศในแง่บวกให้กับองค์กรโดยเร็ว

ด้วยเหตการกินข้าวกับทีมจึงถูกเรียกว่าเป็นเคล็ดลับการทำงานที่ใช้ทรัพยากรน้อยที่สุด 

Business Lunch การกินข้าวช่วยให้การเจรจามีประสิทธิภาพดีขึ้นได้อย่างไร

Harvard Business Review อธิบายว่าการกินข้าวช่วยให้การเจรจามีประสิทธิภาพขึ้นจริง เพราะการกินข้าวร่วมกันจะทำให้เราได้เห็นคู่ค้า, ทีมงาน ตลอดจนทัศนคติของคนทีกำลังเจรจาอยู่ในแง่มุมอื่น ๆ ที่ไม่เป็นทางการมากนัก ซึ่งเวลาสบาย ๆ แบบนี้เองที่จะทำให้เห็นธาตุแท้ของคนที่สามารถนำไปคิดต่อได้ว่าหากร่วมงานกับบุคคลดังกล่าวในอนาคตจะส่งผลในแง่ดีหรือลบอย่างไร

ผู้วิจัยได้ทดลองกับกลุ่มนักเรียน MBA จำนวน 132 คนและพบว่ากลุ่มที่กินข้าวไปเจรจาไปได้ผลลัพธ์ที่ดีกว่ากลุ่มอื่น 12% ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าการกินข้าวมีประโยชน์จริง ๆ หากต้องการเจรจาในหัวข้อที่เกี่ยวกับผลประโยชน์, กำไร, สวัสดิการ หรือต้องการความเข้มข้นในเนื้องานเป็นพิเศษ

สาเหตุที่ทำให้การกินไปทำงานไปเห็นผลสามารถอธิบายได้ด้วยกลไกทางวิทยาศาสตร์ กล่าวคือการกินข้าวจะไปเพิ่มกลูโคสในร่างกายให้มากขึ้นกว่าเดิม ส่งผลให้สมองมีการตื่นตัว, แก้ไขเรื่องอารมณ์แปรปรวนและทำให้คนมีปฏิสัมพันธ์ต่อกันมากขึ้น ดังนั้นหากเราเคยเจอเจรจากับลูกค้าบางกลุ่มแบบเดิม ๆ จนรู้สึกเบื่อ อ่านบทความนี้จบแล้ว ลองชวนไปเปลี่ยนบรรยากาศกันดูสิ !

Business Lunch การกินข้าวที่ดีมีขั้นตอนอย่างไร

การกินข้าวเพื่อธุรกิจนั้นมีความแตกต่างจากการกินข้าวทั่วไปมาก เราต้องมีความระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะทุกการกระทำของเราล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจของฝ่ายตรงข้ามไม่มากก็น้อย อย่างไรก็ตามต้องยอมรับว่าการพูดคุยเรื่องมารยาทบนโต๊ะอาหารเป็นเรื่องที่ถูกพูดถึงน้อยมาก โดยเฉพาะเมื่อต้องรับแขกจากต่างประเทศที่มีวัฒนธรรมการกินแตกต่างกัน ดังนั้น HR ควรพิจารณาเรื่องการอบรมในหัวข้อนี้หากแนวทางของธุรกิจมีความจำเป็นที่ต้องร่วมงานกับกลุ่มคนอันหลากหลาย  ทั้งนี้ Business Insider ได้ให้คำแนะนำสำหรับผู้ที่เป็นมือใหม่ดังนี้

สิ่งที่ควรทำใน Business Lunch

1. ให้ความสำคัญกับนัดหมาย : หากเราได้รับคำเชิญไปกินข้าวเชิงธุรกิจไม่ว่าจะกับลูกค้าหรือหัวหน้างานก็ตาม เราต้องตอบสนองคำเชิญนั้นอย่างรวดเร็วที่สุด ถ้าเราเมินเฉยจนเวลาผ่านไปประมาณหนึ่ง ผู้เชิญอาจมองว่าเราไม่ให้ความสำคัญมากพอ ทั้งนี้เรามีสิทธิ์ปฏิเสธคำเชิญได้เช่นกันด้วยเหตุผลอย่างชัดเจน ไม่ควรตอบรับแต่ยกเลิกภายหลังเด็ดขาดเพราะอาจทำให้อีกฝ่ายตัดสินใจไม่ชวนเราอีกเลย

2. อย่ากินมากเกินไป : แม้เราจะได้ไปในร้านที่หรูหราหรือมีรสชาติดีเพียงใด เราก็ห้ามสั่งอาหารและกินมากจนเกินควร การสั่งอาหารอย่างเหมาะสมจะทำให้เราดูน่าเชื่อถือในสายตาฝ่ายตรงข้าม นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงอาหารที่กินยาก เช่นอาหารที่มีเส้น, อาหารที่มีเปลือก หรืออาหารที่มีซอสจำนวนมากและเสี่ยงต่อการเปรอะเปื้อน

Business Lunch กินข้าวกลางวันอย่างไรให้ได้งาน ?

3. อย่าพูดขณะที่มีอาหารอยู่ในปากเด็ดขาด : นี่คือมารยาทพื้นฐานที่มนุษย์ทุกคนต้องมี ซึ่งหากเราบังเอิญทำใน Business Lunch จะทำให้ฝ่ายตรงข้ามคิดทันทีว่าเราขาดการฝึกอบรมในระดับพื้นฐาน ทั้งนี้ถ้าเราจำเป็นต้องตอบคำถามในขณะที่มีอาหารอยู่ในปากจริง ๆ ให้เอามือป้องเอาไว้หรือขอเวลาสักครู่และกลืนอาหารนั้น ๆ ไปก่อน

4. ต้องกล้าลองอาหารที่ไม่คุ้นเคย : บางครั้งฝ่ายตรงข้ามอาจสั่งอาหารที่เราไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบเป็นพิเศษ ซึ่งไม่ว่าจะอย่างเราก็ห้ามปฏิเสธตั้งแต่ต้นเด็ดขาดเพราะจะทำให้อีกฝ่ายรู้สึกไม่ดี ทั้งนี้เราควรแจ้งให้ผู้เชิญทราบตั้งแต่ต้นว่าไม่สามารถกินอาหารประเภทใด

5. ใช้กฎ BMW เสมอ : นี่คือหลักการเบื้องต้นเพื่อป้องกันความผิดพลาดบนโต๊ะอาหาร หลัก BMW มีความหมายว่า B = Bread หมายถึงขนมปังจะอยู่ทางซ้ายของจานเสมอ, M = Meal หมายถึงอาหารจานหลักจะอยู่ตรงกลางเสมอ และ W = Water หมายถึงแก้วน้ำจะอยู่ทางด้านขวาเสมอ หากเราจำกฎนี้ได้ เราก็จะไม่พลาดไปกินอาหารของผู้ร่วมโต๊ะท่านอื่น

นี่คือ 5 กฎพื้นฐานที่พนักงานทุกคนต้องรู้ ควบคู่ไปกับการให้เกียรติพนักงานภายในร้าน ไม่ใช่สนใจเฉพาะผู้ร่วมโต๊ะที่เกี่ยวข้องกับตนเพียงอย่างเดียว

สิ่งที่ไม่ควรทำใน Business Lunch

จะเห็นว่าโดยพื้นฐานแล้วสิ่งที่ควรทำใน Business Lunch นั้นเป็นมารยาทขั้นพื้นฐานที่หากบางคนได้รับการฝึกฝนมาบ้างก็จะไม่ใช่เรื่องที่ต้องปรับตัวมากมายนัก อย่างไรก็ตามสิ่งที่ไม่ควรทำบนโต๊ะอาหารกลับแตกต่างออกไป เพราะบางอย่างเป็นสิ่งที่อาจดูปกติธรรมดาในสถานการณ์ทั่วไปแต่กลับไม่ควรทำในมื้ออาหารเชิงธุรกิจ ซึ่ง Forbes ได้สรุปออกมาเป็นหัวข้อหลัก ๆ ดังนี้

1. อย่าชวนคุยเรื่องงานโดยไม่จำเป็น : ปกติแล้วเวลารับประทานอาหารมักมีจำกัด ดังนั้นเราควรเน้นไปที่การทำให้มื้ออาหารเป็นที่จดจำมากกว่าใช้เป็นช่องทางติดตามงานจนเกินควร ผู้เชี่ยวชาญสรุปง่าย ๆ ว่าหากเราอยากคุยธุรกิจอย่างจริงจังกับใครก็ค่อยนัดแยกในช่วงเวลาอื่นแทน

2. อย่าเลือกร้านอาหารที่ไกลจากผู้ถูกเชิญมากเกินไป : การนัดหมายที่ถูกต้องคือการเอาผู้ถูกเชิญเป็นที่ตั้ง ทั้งนี้หากเราไม่สามารถไปไกลถึงบริเวณที่ทำงานของแขกได้ อย่างน้อยก็ควรไปเจอกันครึ่งทาง อนึ่งการนัดหมายจะดูแย่ทันทีหากเราเลือกร้านที่ใกล้กับตัวเองแต่สร้างความยากลำบากให้ผู้ถูกเชิญ

3. อย่าลืมจองโต๊ะเด็ดขาด : การนัดกินข้าวแต่ปล่อยให้แขกยืนรอโต๊ะโดยเปล่าประโยชน์นาน ๆ แสดงถึงความไม่เป็นมืออาชีพ ดังนั้นควรจองโต๊ะให้เรียบร้อย รวมถึงตรวจเช็คว่าแขกของเราต้องการที่นั่งพิเศษหรือมีรายละเอียดใดที่ต้องระวังหรือไม่

4. อย่าต่อว่าพนักงานเรื่องอาหารด้วยความโกรธ : วัตถุประสงค์ของ Business Lunch คือการกระชับความสัมพันธ์และแสดงความเป็นมืออาชีพ แน่นอนว่าเป็นเรื่องดีหากอาหารในมื้อนั้นอร่อย แต่หากเกิดข้อผิดพลาดในมื้ออาหารขึ้น เราต้องชี้แจงกับพนักงานด้วยความใจเย็น ไม่ทำให้คนเห็นว่าเราคุมตัวเองไม่ได้เด็ดขาด

ข้อดีของบริการจ่ายเงินล่วงหน้า บริการที่จะทำให้พนักงานของคุณมีความสุขมากยิ่งขึ้น

5. อย่าคิดว่าคนที่เชิญจะเป็นคนจ่ายค่าอาหารเด็ดขาด : หากไม่ได้มีการระบุอย่างชัดเจนตั้งแต่ต้น เราควรเตรียมเงินสำหรับค่าอาหารเอาไว้ในกรณีฉุกเฉิน ทางที่ดีคือควรเคลียร์เรื่องนี้ให้ชัดเจนก่อนตกลงนัดหมายอย่างเป็นทางการ

6. อย่ายกเลิกนัดกระทันหันเด็ดขาด : การยกเลิกนัดแบบกระทันหันควรทำเมื่อเกิดเหตุจำเป็นเร่งด่วนเท่านั้น เช่นคนในครอบครัวเจ็บป่วยหรือเสียชีวิต การยกเลิกนัดด้วยเหตุผลง่าย ๆ เช่นการทำงานหนักถือเป็นเรื่องต้องห้ามเพราะสะท้อนถึงการไม่รู้จักวางแผน

7. อย่าเล่นโทรศัพท์ ! : เมื่อเราเชิญใครสักคนมาร่วมโต๊ะอาหาร คนเหล่านั้นล้วนคาดหวังถึงการใส่ใจอย่างเป็นมืออาชีพ เราสามารถแจ้งทีมก่อนได้เลยว่าจะมีการนัดหมายนี้และไม่สะดวกรับสายในทุกกรณี

8. อย่าให้คนที่ตำแหน่งต่ำกว่าจ่ายค่าอาหารเด็ดขาด : ให้คิดว่าแม้เราจะเป็นหัวหน้า แต่การให้คนอื่นสละเวลามาร่วมโต๊ะกับเราไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็เป็นการรบกวนเวลาส่วนตัวของคนอื่น เราควรจ่ายเงินให้แม้จะเป็นเงินส่วนตัวก็ตาม

9. อย่านินทาผู้อื่นเด็ดขาด : การร่วมโต๊ะอาหารไม่ว่าจะกับลูกค้าหรือทีมงาน เราควรสร้างบรรยากาศที่ทุกคนรู้สึกปลอดภัย ไม่เอาเรื่องภายในบริษัทมาเผย เพราะผู้ร่วมโต๊ะอาจมองว่าตัวเองอาจถูกนินทาในเวลาที่ไม่รู้ตัวก็ได้

10. อย่าลืมขอบคุณเด็ดขาด : ในการพูดคุยเชิงธุรกิจจะต้องมีผู้เชิญและผู้จ่ายเงินเสมอ ดังนั้นอย่าลืมขอบคุณแม้ว่าอาหารมื้อนั้นจะไม่อร่อยเลยก็ตาม !

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q&A HR Board

Q: HR มือใหม่ขอสอบถามเรื่องการสัมภาษณ์การพนักงานค่ะ

ดิฉันเพิ่งเริ่มงานเป็น HR ครั้งแรกจึงอยากสอบถามรูปแบบการสัมภาษณ์งานว่าเราควรจะสัมภาษณ์พนักงานไปในแนวทางใดหรือถ้าอยากรู้ความต้องการของพนักงาน เราควรทำแบบสำรวจสอบถามหรือไม่ ปกติแล้วบริษัทนี้มีขั้นตอนการอนุมัติยากมากแต่ดิฉันอยากให้พนักงานที่บริษัทมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ

A: หลักการถามของ HR นั้น เราจะมุ่งเน้นการสัมภาษณ์เจาะลึกด้าน Soft Skill

ปกติแล้ว HR จะดูว่าผู้สมัครแต่ละคนเหมาะกับวัฒนธรรมองค์กรหรือมีทัศนคติเป็นอย่างไรต่อหัวหน้าโดยมองพฤติกรรมและบุคลิกภาพ เป็นองค์ประกอบหลักสำคัญเพื่อช่วยให้ข้อมูลแก่ Line Manager ส่วนด้านความรู้ในงานหรือ Hard Skill ให้ Line Manager เป็นผู้ถามเชิงลึกและตัดสินใจจะดีกว่า

,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)

Q&A HR Board

Business Lunch การกินข้าวช่วยในการสัมภาษณ์พนักงานได้อย่างไร

การสัมภาษณ์งานไม่ได้จำกัดอยู่แค่การนั่งคุยในออฟฟิศท่ามกลางบรรยากาศของห้องสี่เหลี่ยมที่เคร่งเครียดอีกต่อไป แต่การสัมภาษณ์งานบนโต๊ะอาหารเริ่มกลายเป็นอีกกลยุทธ์หนึ่งของ HR Recruiter เพราะจะช่วยคลายความกดดันของผู้ถูกสัมภาษณ์ มีโอกาสได้ข้อมูลที่เป็นจริง รวมถึงช่วยหลีกเลี่ยงพฤติกรรมและภาษากายที่มักถูกประดิษฐ์ขณะทำการสัมภาษณ์แบบทั่วไป ซึ่งท้ายสุดแล้ว HR จะมีโอกาสพิจารณาผู้สมัครด้วยแง่มุมที่ลึกซึ้งมากกว่า

อย่างไรก็ตามทั้งตัวผู้สมัครและ HR Recruiter เองต้องเข้าใจตรงกันก่อนว่า Business Lunch Interview นั้นมีความสำคัญไม่ต่างจากการสัมภาษณ์งานทั่วไป ดังนั้นต้องผ่านการเตรียมตัวและวางแผนอย่างจริงจังเช่นเดียวกัน ส่วนข้อควรปฏิบัติมีอะไรบ้าง หาคำตอบได้ที่นี่

1. หาข้อมูลร้านอาหารที่จะไปให้เรียบร้อย : เช่นเดียวกับการหาข้อมูลของผู้สัมภาษณ์และผู้สมัคร การสัมภาษณ์งานที่ร้านอาหารจำเป็นต้องตรวจสอบล่วงหน้าว่าร้านดังกล่าวมีเมนูอะไรน่าสนใจ จอดรถอย่างไร มีโอกาสเสี่ยงรถติดหรือเจออุปสรรคใด ๆ หรือไม่ วิธีนี้จะทำให้คุณลดเวลาในหลาย ๆ ขั้นตอน แสดงถึงความเป็นมืออาชีพได้เลย

2. แต่งตัวให้เหมาะสม : แม้จะนัดหมายกันที่ร้านอาหารทั่วไปแบบสบาย ๆ เราก็ไม่ควรแต่งตัวสบายตามไปด้วย เพราะภาพลักษณ์ที่ดียังคงถูกมองเป็นบริบทสำคัญของการสัมภาษณ์งานเสมอแม้สถานที่จะเปลี่ยนแปลงไปก็ตาม ให้ถามตัวเองเสมอว่าหากเราเป็นฝ่ายตรงข้าม จะประทับใจกับภาพลักษณ์ของเราในวันนั้น ๆ หรือไม่ นอกจากนี้ควรเลือกเสื้อที่ไม่รุ่มร่ามซึ่งอาจเป็นอุปสรรคในการรับประทานอาหาร หรืออาจแก้ปัญหาตั้งแต่ต้นด้วยการเลือกร้านอาหารที่เหมาะกับการแต่งตัวแบบเป็นทางการไปเลย

3. มาถึงก่อนเวลานัดหมายเสมอ : ตามมารยาทพื้นฐานแล้ว เราควรมาถึงสถานที่นัดหมายก่อนเวลาประมาณ 10 นาที และประสานงานกับทางร้านเรื่องการจองโต๊ะให้เรียบร้อยเพื่อให้พร้อมรับมือกับผู้ถูกเชิญทันทีเมื่ออีกฝ่ายเดินทางมาถึง

4. สั่งอาหารที่กินได้ง่าย : ให้หลีกเลี่ยงอาหารที่ต้องใช้มือ เพราะภาษากายบางอย่างเป็นสิ่งที่ฝึกกันไม่ได้ และอาจหลุดรอดกริยาที่ไม่งามขึ้นมาระหว่างกินอาหารที่ต้องใช้ทักษะมากกว่าปกติ ดังนั้นควรเลือกอาการที่ใช้ช้อน ส้อม มีด ซึ่งช่วยให้เรากินอย่างเรียบร้อยได้มากกว่า

5. เตรียมเอกสารให้เรียบร้อย : ไม่ว่าจะเป็นเอกสารจริง หรือเป็นเอกสารอิเล็กทรอนิกส์ก็ตาม เราต้องเตรียมมาให้เรียบร้อยและคิดถึงพื้นที่นำเสนอบนโต๊ะอาหาร ซึ่งจะสอดคล้องกับการเลือกเมนูของเราด้วย ทั้งนี้ให้นำเอกสารทั้งหมดใส่กระเป๋าที่ดูเป็นมืออาชีพ และวางไว้ใต้โต๊ะเสมอจนกว่าจะถึงเวลาที่ต้องนำออกมาใช้งานเท่านั้น

สรุปได้ว่าการสัมภาษณ์ขณะกินข้าวนั้น จะช่วยให้เราตอบคำถามได้ว่าบุคคบดังกล่าวมีนิสัยเข้ากับทีมได้หรือไม่ เหมาะสำหรับการพิจารณาพนักงานในสายที่ต้องประสานงานกับแผนกอื่นบ่อย ๆ หรือในกรณีที่ผู้นำรู้ว่าทีมเหมาะ-ไม่เหมาะกับเพื่อนร่วมงานใหม่แบบใด การสัมภาษณ์จะทำให้เราได้ข้อมูลที่ตรงกับความเป็นจริง ผ่านการประดิษฐ์เพียงเล็กน้อย ซึ่ง HR Recruiter สามารถนำขั้นตอนนี้มาใช้กับผู้สมัครในด่านสุดท้ายก่อนจะพิจารณาเลือกคนก็ได้

Business Lunch กินข้าวกลางวันอย่างไรให้ได้งาน ?

บทสรุป

Business Lunch คืออีกหนึ่งกลยุทธ์ที่คนทำงานต้องตามให้ทัน หากเราคิดว่าอีกฝ่ายแค่ชวนไปกินข้าวโดยไม่มีอะไรแอบแฝง และไปร่วมโต๊ะโดยขาดการระมัดระวัง ก็มีโอกาสสูงที่เราจะพลาดสิ่งสำคัญทางธุรกิจไปมากมาย ทันที ดังนั้นการฝึกอบรมพนักงานทั้งเรื่องการกินข้าวกับทีม รวมถึงมารยาทบนโต๊ะอาหารคือสิ่งที่จะยกระดับการทำงานได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งต้องยอมรับว่าการอบรมในหัวข้อนี้เป็นสิ่งที่แทบทุกบริษัทมองข้ามแต่หันไปเพิ่มทักษะทางวิชาการและธุรกิจมากกว่า

และหากคุณไม่แน่ใจว่าจะหารูปแบบการฝึกที่เหมาะกับองค์กรได้อย่างไร เราขอแนะนำบริการ HREX แพลตฟอร์มแรกของไทยที่รวบรวมข้อมูลบริการและผลิตภัณฑ์ HR ไว้มากที่สุด ไม่ว่าธุรกิจของคุณจะเล็กหรือใหญ่ ที่นี่ก็พร้อมตอบโจทย์ทั้งด้านราคาและรูปแบบการฝึก ไม่ต้องกังวลเรื่องการเสียงงบประมาณโดยเปล่าประโยชน์อีกต่อไป หากสนใจสามารถคลิกที่นี่

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง