HIGHLIGHT
|
ถ้าอยากรู้ว่าคน ๆ นั้นเป็นอย่างไร ให้ดูจากเพลงที่เขาฟัง ประโยคสวยหรูแบบนี้แสดงให้เห็นถึงอิทธิพลของเสียงเพลงต่อมนุษย์ในฐานะตัวแทนของอารมณ์ความรู้สึกที่ประกอบร่างออกมาเป็นนิสัยใจคอของแต่ละคน เสียงเพลงหลากหลายแนวสามารถเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์ทุกรูปแบบไม่ว่าจะสุขหรือทุกข์ นั่นหมายความว่าหากเรารู้วิธีนำเสียงเพลงมาใช้เพื่อสร้างความรู้สึกในแง่บวก เสียงเพลงก็จะกลายเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้พนักงานมีความพร้อมในการทำงานมากขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
อย่างไรก็ตามแม้บางคนจะชอบฟังเพลงในชีวิตประจำวัน แต่การฟังเพลงในที่ทำงานนั้นเป็นอีกเรื่องหนึ่งเพราะพนักงานแต่ละคนมีรสนิยมต่างกัน แถมมีความหลากหลายในรูปแบบการทำงาน ดังนั้นเสียงเพลงที่เหมาะกับแผนกหนึ่ง อาจกลายเป็นอุปสรรคต่อแผนกอื่น ๆ ก็ได้ จึงเป็นหน้าที่ของ HR ในการออกแบบกฎระเบียบให้เหมาะสมกับองค์กรต่อไปตามสมควร
Contents
วิทยาศาสตร์อธิบายอิทธิพลของเสียงเพลงต่อมนุษย์อย่างไร
เสียงเพลงไม่ได้ช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพขึ้นอย่างเดียว แต่ยังมีประโยชน์ในแง่อื่น ๆ อีกมากโดยการค้นคว้าวิจัยทางวิทยาศาสตร์ได้ให้คำอธิบายเพิ่มเติม ดังนี้
เสียงเพลงทำให้มนุษย์อารมณ์ดีขึ้น
การวิจัยจาก Trends in Cognitive รายงานว่าเสียงเพลงมีประสิทธิภาพในการรักษาโรควิตกกังวลได้ดีกว่าการใช้ยารักษาด้วยซ้ำ
การวิจัยจัดทำขึ้นด้วยการแบ่งผู้ป่วยที่กำลังเตรียมตัวผ่าตัดออกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มแรกช่วยลดการวิตกกังวลด้วยการใช้ยา กลุ่มที่สองช่วยลดการวิตกกังวลด้วยการฟังเพลง ผลที่ได้คือผู้ป่วยกลุ่มที่สองมีอัตราการหลั่งฮอร์โมนความเครียด (Cortisol) น้อยกว่าอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งแน่นอนว่าหากเราไม่เครียด ศักยภาพในการทำงานของเราก็จะเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย
เสียงเพลงทำให้มนุษย์ทนทำงานแบบเดิม ๆ ได้มากขึ้น
JAMA Network ทำการสำรวจกับศัลยแพทย์ที่ต้องทำงานซ้ำ ๆ ในห้องตรวจนอกเหนือจากการผ่าตัด เช่นการค้นคว้าวิจัย, งานเอกสาร เป็นต้น และผลวิจัยได้ข้อสรุปออกมาว่าศัลยแพทย์ที่ฟังเพลงไปทำงานไปมีผลงานที่ดีขึ้นจริง ซึ่งผู้วิจัยให้เหตุผลว่าเสียงเพลงจะช่วยลดความน่าเบื่อระหว่าง ซึ่งเป็นปัญหาหลักของงานประจำที่ไม่มีความน่าตื่นเต้นหลงเหลืออีกต่อไป
คุณดาเนียล เลวิทีน (Daniel Levitin) ผู้เขียนหนังสือเรื่อง This Is Your Brain on Music และได้ศึกษาเรื่องอิทธิพลของเสียงกับสมองของมนุษย์มานานก็เน้นย้ำถึงข้อสรุปนี้ โดยกล่าวว่าเสียงเพลงทำให้บรรยากาศสนุกสนานขึ้น และถือเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับคนที่ต้องอยู่กับงานในรูปแบบเดิมทุกวัน อนึ่งรูปแบบเพลงแต่ละแบบก็ให้ความรู้สึกต่างกัน ดังนั้น HR ต้องหาคำตอบให้ได้ว่าพนักงานในองค์กรเหมาะกับเสียงเพลงแบบใด
การฟังเพลงในช่วงพักช่วยให้เราจดจ่อกับงานต่อไปได้ดีขึ้น
วารสาร Psychology of Music ได้ทำการสำรวจกับกลุ่มนักเรียนและพบว่าผู้ที่ฟังเพลงระหว่างพักเบรกจะมีความพร้อมในการรับเนื้อหาต่อไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จดจ่ออยู่การเรียนได้นานขึ้น อย่างไรก็ตามผลสำรวจจาก Applied Cognitive Psychology Journal ในปี 1997 ได้เสริมต่อว่าผลของการฟังเพลงจะเปลี่ยนไปตามลักษณะนิสัยของแต่ละคน เช่นคนที่เป็น Extroverts จะมีความจำทั้งแบบระยะสั้นและระยะยาวดีขึ้น แต่สำหรับคนที่เป็น Introverts เสียงเพลงจะเข้าไปทำลายความจำของเจ้าตัวทันที คนแบบนี้เหมาะกับการทำงานอยู่เงียบ ๆ คนเดียวมากกว่า
ทั้งนี้ต้องเข้าใจก่อนว่ามีผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์เกี่ยวกับเรื่องนี้มากมายทั่วโลก ซึ่งบางครั้งให้ข้อสรุปที่ขัดแย้งกัน ดังนั้น HR ต้องทำการสำรวจกับพนักงานในบริษัทโดยตรงอีกครั้งว่าพวกเขาคิดอย่างไรกับเรื่องนี้ อย่างไรก็ตามภายใต้ความขัดแย้งมีสิ่งที่ทุกการวิจัยให้ผลลัพธ์ในลักษณะเดียวกัน ประกอบไปด้วย
เลือกเพลงที่จะไม่ทำให้คุณเสียสมาธิ
เพลงบรรเลงจะข่วยให้จิตใจคุณนิ่งและจดจ่อกับงานได้มากขึ้น ถ้าอยากฟังเพลงแบบมีเนื้อร้อง ให้เลือกเพลงต่างประเทศ หรือใช้ภาษาที่เราไม่สามารถเข้าใจทันที เพื่อป้องกันไม่ให้สมองไปอยู่กับเพลงมากเกินไป (สังเกตได้ว่าเพลงไหนที่เราคุ้นเคย เราจะเผลอร้องตามโดยไม่รู้ตัว สิ่งนี้จะไปดึงความสนใจของเราออกจากงาน)
อย่าคิดว่าเพลงเร็วจะทำให้คุณตื่นตัว หันไปสนใจเนื้อร้องซะก่อน !
เรื่องที่คนเข้าใจผิดกันมากที่สุดก็คือเพลงช้าจะทำให้เราเศร้า และเพลงเร็วจะทำให้เราตื่นตัว แต่รู้ไหมว่าสิ่งที่มีอิทธิพลกับการทำงานมากกว่าจังหวะของเพลงก็คือเนื้อร้อง เพราะเนื้อร้องที่เป็นแง่ลบจะทำให้จิตใจของผู้ฟังหมองลงตามไปด้วย และที่สำคัญเพลงเร็วมากมายก็มักมีเนื้อหาที่เศร้าสวนทางกับจังหวะสนุก ๆ ดังนั้นก่อนจะเลือกเพลงมาเปิดในที่ทำงานสักเพลง ต้องมองให้รอบด้านที่สุด
ปรับความดังของเพลงให้เหมาะสม
ผลวิจัยจาก University of Illinois ระบุว่าความดังมีผลอย่างยิ่งต่อประสิทธิภาพในการทำงาน เพลงบรรเลงที่เปิดดังเกินไป ก็จะไม่ได้ทำหน้าที่ช่วยให้ผ่อนคลายแต่กลายเป็นน่ารำคาญ ขณะที่เพลงร็อคบางเพลงที่ดูวุ่นวายหนวกหู แต่หากเปิดดัง ๆ ในสถานการณ์ที่เหมาะสม ก็อาจช่วยกลบเสียงอื่น ๆ ที่น่ารำคาญกว่าได้เช่นกัน ไม่มีกฎตายตัว
นอกจากนี้ผลวิจัยยังมีข้อมูลที่น่าสนใจบอกว่าการเปิดเพลงคลอเบา ๆ จะช่วยให้คนโฟกับงานได้ดีขึ้น แต่ถ้าเปิดเพลงให้ดังขึ้นมาในระดับกลาง ไม่ดังเกินไป ก็จะช่วยให้ความคิดสร้างสรรค์ดีขึ้น แต่ท้ายสุดก็ขึ้นอยู่กับแต่ละองค์กรว่าเมื่อนำวิธีเหล่านี้ไปใช้แล้วเกิดผลดีตามมาหรือไม่ หากไม่ก็ควรหาทางเลือกอื่นมาช่วยพัฒนาการทำงานดีกว่า
เสียงเพลงมีผลต่อการทำงานอย่างไร
สิ่งที่ดนตรีทำงานกับมนุษย์และมีผลต่อการทำงานอย่างเป็นรูปธรรมก็คือเสียงเพลงช่วยเพิ่มอัตราการหลังสารโดพามีน (Dopamine) ในสมอง ซึ่งสารนี้จะไปกระตุ้นการทำงานของสมองส่วนหน้า (Prefrontal Cortex) ที่มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการวางแผนบริหารจัดการ, การควบคุมอารมณ์ และการแก้ไขปัญหา ซึ่งถือเป็นองค์ประกอบสำคัญในการทำงาน นอกจากนี้ดนตรียังช่วยสร้างประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ได้ดังนี้
– เสียงเพลงช่วยให้เราเรียกสมาธิกลับมาง่ายขึ้น : ออฟฟิศคือศูนย์รวมของความวุ่นวาย แต่ด็อกเตอร์ เอมิท ซูด (Dr.Amit Sood) จาก Mayo Clinic กล่าวว่าการฟังเพลงจะช่วยดึงสมาธิของเรากลับมาได้ โดยใช้เวลาเพียง 15-30 นาทีเท่านั้น
– เสียงเพลงช่วยให้เราทำงานได้เร็วขึ้น : เปรียบง่าย ๆ ว่าการฟังเพลงจะทำให้เราตกอยู่ในภวังค์ เคยไหมที่คุณฟังเพลงโปรดแล้วร้องตามไปเรื่อยจนเวลาผ่านไปโดยไม่รู้ตัว ซึ่งการวิจัยของคุณ J.G. Fox และ E.D. Embrey ได้พิสูจน์แล้วว่าเสียงเพลงช่วยให้การทำงานซ้ำ ๆ มีประสิทธิภาพขึ้นจริง เพราะจะทำให้ร่างกายเปิดโหมด auto-pilot ขยับไปอย่างอัตโนมัติ
– เสียงเพลงมีผลกับพฤติกรรมของมนุษย์ : เคยสังเกตไหมว่าเสียงเพลงในร้านอาหารอย่างเคเอฟซีหรือแม็คโดนัลด์จะเป็นเพลงที่มีจังหวะสนุก ๆ และเสียงเพลงในห้างสรรพสินค้าจะเป็นเพลงสบาย ๆ ฟังได้ต่อเนื่อง เหตุผลก็คือมีการวิจัยที่พบว่าเสียงเพลงสนุก ๆ จะช่วยให้คนซื้อของกินมากขึ้น ขณะที่เพลงจังหวะกลาง ๆ จะช่วยให้คนเดินเลือกสินค้านานขึ้น สอดคล้องกับทฤษฎีที่บอกว่ายิ่งคนใช้เวลาในห้างสรรพสินค้ามากเท่าไหร่ ก็มีโอกาสที่จะใช้เงินมากขึ้นเท่านั้น ปัจจุบันจึงมีบริษัทมากมายที่รับผลิตเพลงให้เหมาะกับสไตล์ของแต่ละบริษัทเพื่อช่วยให้พนักงานมีวิสัยทัศน์ตรงกับวัฒนธรรมขององค์กรมากยิ่งขึ้น
เสียงเพลงมีผลต่อการทำงานทำงานแบบไฮบริด (Work From Home) อย่างไร
ปัญหาของการทำงานอยู่ที่บ้านคือการเสียสมาธิจากบรรยากาศที่ไม่ได้มีไว้สำหรับทำงานตั้งแต่ต้น ดังนั้นคนมากมายจึงไม่สามารถจดต่ออยู่กับงานได้อย่างที่ควรจะเป็น ส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพในการทำงาน หน้าที่ของเสียงเพลงสำหรับผู้ที่ Work From Home จึงเป็นการใช้เพื่อช่วยให้จดจ่ออยู่กับงานได้ดีและนานขึ้น โดยมีผลวิจัยที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงจนได้คำตอบดังต่อไปนี้
การฟังเพลงคลาสสิคจะช่วยให้ทำงานได้ดีขึ้น
มีการวิจัยจากประเทศฝรั่งเศสที่ระบุว่านักเรียนที่ฟังเพลงคลาสสิคระหว่างเรียนในคลาสความยาว 1 ชั่วโมงสามารถทำคะแนนสอบได้ดีกว่านักเรียนกลุ่มที่เรียนท่ามกลางความเงียบ นอกจากนี้ดนตรีคลาสสิคยังมีผลกับอารมณ์ของผู้ฟังโดยตรง อย่างไรก็ตามไม่ใช่เพลงคลาสสิคทุกชนิดจะมีประโยชน์ ควรเป็นเพลงที่ฟังแล้วผ่อนคลาย ไม่มีความซับซ้อนของดนตรีมากเดินไป เพราะจะกลายเป็นการรบกวนไปเสียแทน
จังหวะเพลงดี สมาธิก็ดีตาม
มีการวิจัยจากนักจิตวิทยาคลินิกและ Spotify ที่ระบุว่าสิ่งสำคัญของเพลงต่อการทำงานไม่ใช่เรื่องประเภทของเพลง แต่เป็นเรื่องจังหวะต่างหาก โดยบีทที่เหมาะกับการทำงานอยู่ที่ 60-70 บีทต่อวินาที เพราะจะช่วยให้ผู้ฟังมีความตื่นตัวและจดจ่อกับงานได้ดีขึ้น แต่ถ้าไม่รู้ว่าจะไปหาเพลงที่มีความเร็วระดับที่ว่าได้อย่างไร สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำก็คือการเปิดเสียงธรรมชาติทดแทนไปเลย เพราะการนึกถึงเสียงของสถานที่สุดโปรดจะทำให้จิตใจสงบ ทำให้เกิดสมาธิได้เช่นกัน
เพลงแจ๊สช่วยลดความเครียดจากการจ้องหน้าจอนาน ๆ ได้
เพลงแจ๊สมักถูกคนบอกว่า “ฟังไม่รู้เรื่อง” แต่รู้ไหมว่ามีผลสำรวจที่ระบุว่ามันช่วยลดความเครียดได้เป็นอย่างดี แถมยังช่วยในเรื่องความจำกับช่วยหลั่งสารแห่งความสุขอีกด้วย ดังนั้นหากเรารู้สึกว่าการทำงานอยู่บ้านนั้นน่าเบื่อ ซ้ำซากจำเจ บางทีเพลงแจ๊สก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีของคุณ แต่สิ่งที่เหนือไปกว่าผลวิจัยก็คือการทดลองกับตัวเองว่าเพลงแบบไหนที่ชอบที่สุด เปิดฟังแล้วกระตุ้นต่อมทำงานได้ดีที่สุด โดยอ้างอิงกับผลลัพธ์ไม่ใช่การคิดไปเอง เพราะบางครั้งหลังจากตรวจสอบอย่างละเอียดแล้ว การอยู่เงียบ ๆ คนเดียวก็อาจเหมาะกับรูปแบบการทำงานของเรามากกว่าด้วยซ้ำ
จะเห็นว่าการวิจัยต่าง ๆ ทำขึ้นโดยตั้งธงว่าการ Work From Home จะนำไปสู่ความเครียดอันเกิดจากสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แตกต่างออกไป ดังนั้นคงตอบไม่ได้ว่าเพลงแบบไหนที่จะช่วยให้การทำงานแบบไฮบริดมีประสิทธิภาพแบบเบ็ดเสร็จเด็ดขาด แต่เป็นการเลือกใช้เสียงเพลงตามรสนิยมและวัตถุประสงค์ที่ต้องการต่างหาก
ท้ายสุดนี้เราขอแนะนำวิธีที่เรียกว่า Iso Princicle ซึ่งเป็นวิธีที่นักจิตบำบัดใช้เพื่อปรับอารมณ์ของคนไข้ด้วยการเปลี่ยนเพลงไปเรื่อย ๆ ใช้อิทธิพลของเสียงมาปลุกเร้าให้คนไข้รู้สึกตามที่ต้องการ โดยมีหลักการง่าย ๆ ว่าเราไม่ควรรีบเปิดเพลงโดยมุ่งหวังว่าจะไปกระตุ้นให้คนทำงานหนักทันที กลับกันเราควรเริ่มแค่การปรับอารมณ์แบบสบาย ๆ ให้ผู้ฟังพร้อมทำงานมากกว่า ยกตัวอย่างเช่นหากเราตื่นเช้ามาอย่างอารมณ์เสีย เราก็ควรคิดเรื่องการเปลี่ยนตัวเองให้อารมณ์ดีก่อน ไม่ใช่ดันทุรังให้ทำงานด้วยอารมณ์ที่ขุ่นมัวแบบนั้น
ตัวอย่างเพลงที่ผู้เชี่ยวชาญพิสูจน์ว่าช่วยให้การทำงานดีขึ้นได้จริง
ดร. เดวิด ลูอิส ฮอดจ์สัน (Dr.David Lewis Hodgson) จาก MindLab International ได้ทำการวิจัยโดยให้กลุ่มตัวอย่างแก้โจทย์ของตัวต่อพัซเซิลและเปลี่ยนเพลงไปเรื่อย ๆ จากนั้นค่อยวัดผลว่าเสียงเพลงช่วยลดความเครียดและวิตกกังวลได้อย่างไร อ้างอิงจากอัตราการหายใจ, อัตราการเต้นของหัวใจ และความดันโลหิต
เพลงที่นักประสาทวิทยาแนะนำให้ฟังก็คือเพลง Weightless ของ Marconi Union ที่ผู้แต่งร่วมมือกับนักบำบัดทางจิตเพื่อเลือกใช้เสียงที่มีประโยชน์ที่สุด เพลงนี้มีเป้าหมายเพื่อลดความเครียดและทำให้ร่างกายกลับมาสู่ภาวะสมดุลอีกครั้ง โดยมีข้อสรุปว่าเพลงนี้ช่วยลดระดับความวิตกกังวลของผู้ฟังลงได้ถึง 65% ซึ่งถือเป็นเรื่องที่วิเศษมาก ๆ เพราะผลวิจัยจากมหาวิทยาลัยชื่อดังของโลกอย่าง Harvard และ Stanford University ได้ข้อสรุปอย่างชัดเจนว่าความเครียดจากการทำงานส่งผลเสียต่อชีวิตมากกว่าโรคอัลไซเมอร์, เบาหวาน หรือไข้หวัดใหญ่ทุก ๆ สายพันธุ์ด้วยซ้ำ
ดังนั้นสรุปได้ว่าหากเราอยากให้ร่างกายพร้อมสำหรับการทำงานหนัก สิ่งแรกที่ต้องนึกถึงคือการพักผ่อน และคงไม่มีการพักผ่อนแบบไหนที่ทำได้ง่ายและได้ผลลัพธ์ดีเท่ากับการฟังเพลงอีกแล้ว
และนี่คือ 10 เพลงที่ผู้เชี่ยวชาญแนะนำให้ฟัง
- We Can Fly โดย Rue du Soleil (Café Del Mar)
- Canzonetta Sull’aria โดย Mozart
- Someone Like You โดย Adele
- Pure Shores โดย All Saints
- Please Don’t Go โดย Barcelona
- Strawberry Swing โดย Coldplay
- Watermark โดย Enya
- Mellomaniac (Chill Out Mix) โดย DJ Shah
- Electra โดย Airstream
- Weightless โดย Marconi Union
ต้องเน้นย้ำว่ารายชื่อข้างต้นเป็นไปตามการวิเคราะห์ตามทฤษฎีของนักประสาทวิทยาที่ศึกษาเรื่องนี้โดยตรงเท่านั้น ผู้อ่านสามารถพิจารณาเองว่าเพลงเหล่านี้ตรงกับรสนิยมของตนหรือไม่ และค่อย ๆ ปรับปรุงให้ได้เพลย์ลิสต์ในฝันของตนเองสำหรับการทำงานโดยเร็วที่สุด
HR ควรบริหารจัดการเรื่องเสียงเพลงในออฟฟิศอย่างไร
แม้จะมีผู้เชี่ยวชาญมาให้คำแนะนำในแง่บวกต่อการฟังเพลงในที่ทำงานมากแค่ไหน แต่ HR ไม่ควรด่วนตัดสินใจโดยปราศจากความเข้าใจต่อโครงสร้างในองค์กรของตน เพราะเป็นธรรมดาที่เมื่อมีคนขอบฟังเพลง ก็ต้องมีคนที่อยากทำงานแบบเงียบ ๆ มากกว่า ซึ่งมีการวิจัยจาก Robert Half กับพนักงานในสหรัฐอเมริกาจำนวน 1,000 คนและพบว่ามีพนักงานราว 15% ที่ปฏิเสธการฟังเพลงในที่ทำงาน และแม้คนที่เห็นด้วยจะสูงถึง 85% แต่อย่าลืมว่าคนที่ไม่เห็นด้วยก็เป็นสมาชิกของบริษัทที่ต้องให้ความสำคัญแบบเดียวกัน
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: อยากทราบวิธีสำรวจบรรยากาศในที่ทำงานแบบง่าย ๆ แต่ได้ผล
องค์กรมีความเปลี่ยนแปลงบางอย่างในช่วง 5-6 เดือนที่ผ่านมา ผู้บริหารจึงอยากทราบว่าพนักงานรู้สึกอย่างไร มีความสุขกับงานหรือไม่ โดยมีระยะเวลาสำรวจ 1 เดือนแบบไม่มีงบประมาณให้
A: วิธีแก้ไขเรื่องนี้แบบง่ายที่สุดคือการทำ Stay Interview
หมายถึงการพูดคุยกับพนักงานแบบส่วนตัวโดยหัวหน้างาน แต่เป็นการพูดคุยที่เน้นสำหรับการรับฟังปัญหา ฟังคำแนะนำ และแสดงความห่วงใยกลับไปหาพนักงานโดยตรง ไม่จำเป็นต้องใช้งบประมาณ สามารถทำได้ในบรรยากาศสบาย ๆ เช่นระหว่างเดินซื้อของ, นั่งดื่มกาแฟ ฯลฯ ทั้งนี้ไม่ควรใช้การพูดคุยแบบจริงจังอย่างการพูดในที่ประชุม เพราะจะทำให้พนักงานรู้สึกกดดันจนไม่กล้าพูดความจริงออกมา
,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)
ผลวิจัยของนักจิตวิทยาจาก University College London กล่าวว่าเสียงเพลงเป็นปฏิปักษ์กับคนที่ชอบเก็บตัว คนกลุ่มนี้มองว่าเสียงเพลงคือตัวทำลายสมาธิและทำให้ประสิทธิภาพในการทำงานของตนลดลง ดังนั้นหาก HR มองข้ามข้อเท็จจริงตรงนี้ ก็ไม่มีทางที่สร้างองค์กรในฝันของพนักงานได้เลย
ในช่วงเริ่มต้น HR ควรค่อย ๆ เพิ่มเสียงเพลงเข้ามาในระหว่างวันทีละนิด เช่นเริ่มใช้เพลงเมื่อมีการเฉลิมฉลองในเทศกาลสำคัญ (เช่นช่วงคริสมาสต์ก็เปิดเพลงสร้างบรรยากาศควบคู่กับการตกแต่งสถานที่เพื่อไม่ให้แปลกแยก) หรือเปิดเฉพาะในเวลาพักแล้วเอาเสียงตอบรับจากพนักงานมาเป็นแนวทางพัฒนานโยบายให้ดีขึ้นโดยใช้วิธีการดังนี้
เขียนกฎให้ชัดเจน
กฎที่ครอบคลุมเป็นสิ่งสำคัญมากที่ HR ต้องเข้ามาบริหารจัดการ เพราะไม่ใช่แค่จังหวะทำนองที่มีผลต่อการทำงาน แต่เนื้อเพลงมากมายในปัจจุบันมักมีเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่องเพศ, ศาสนา, การเมือง, ชาติพันธุ์ หรืออีกมากมายที่อาจสร้างความไม่สบายใจให้กับพนักงานบางท่าน ดังนั้นบริษัทต้องระบุเลยว่าเนื้อหาแบบใดบ้างที่ต้องห้ามในบริษัท
แน่นอนว่าองค์กรไม่สามารถควบคุมได้ทั้งหมด แต่อย่างน้อยหากเกิดการโต้เถียงหรือลงโทษ กฎที่รับรู้ร่วมกันนี้เองที่จะเป็นศูนย์รวมในการตัดสินใจ วิธีคิดง่าย ๆ ก็คือหากเรารู้สึกว่าเนื้อหาในเพลงอาจทำให้คนรู้สึกไม่ดี ก็ตีไปเลยว่าเพลงนั้นไม่ควรเปิด ให้เลือกเพลงที่เราเองก็รู้สึกสบายใจเท่านั้น
ข้อบังคับเรื่องการใช้หูฟัง
ปัญหาของการฟังเพลงไม่ใช่แค่เสียงรบกวนเท่านั้น แต่ในเชิงสถาปัตยกรรมแล้ว เสียงเพลงที่ดังเกินกำหนดจะมีผลต่อโครงสร้างอาคาร ดังนั้นการใส่หูฟังจึงเป็นทางเลือกที่น่าสนใจที่สุดสำหรับคนที่อยากฟังเพลงในที่ทำงาน แต่การใส่หูฟังก็มีโทษเช่นกันเพราะเป็นสัญลักษณ์ของการปฏิเสธสถานการณ์รอบตัว และอาจทำให้ไม่ได้ยินสัญญาณเตือนภัยในเวลาฉุกเฉิน ทั้งนี้ HR สามารถแบ่งกฎให้พนักงานแต่ละแผนกก็ได้ เช่นแผนกที่ต้องมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นบ่อย ๆ แต่กับบางสายงานเช่นครีเอทีฟที่ต้องใช้ความคิดและหาไอเดียตลอดเวลา บริษัทก็สามารถผ่อนปรนได้ตามความเหมาะสม เป็นต้น
ให้ความสำคัญกับทุกคำวิพากษ์วิจารณ์
HR มักคิดว่าเมื่อพนักงานมาอยู่ร่วมกันมากหน้าหลายตาแล้วก็จำเป็นต้องมีความอดทนอดกลั้นมากกว่าปกติ ทั้งที่จริง ๆ ทุกคนมีสิทธิ์ขั้นพื้นฐานในการทำงานอย่างสบายใจด้วยกันทั้งสิ้น HR ต้องไม่มองว่าพนักงานจริงจังเกินไปกับเรื่องไม่เป็นเรื่อง เพราะเสียงเพลงทำหน้าที่กับจิตใจของคนในบริบทที่แตกต่างกันเสมอ และเมื่อแก้ไขปัญหาแล้ว HR ควรนำเหตุการณ์นั้นไปเป็นบรรทัดฐานเพื่อบังคับใช้ต่อไป ห้ามปล่อยให้เกิดเหตุการณ์ลักษณะเดียวกันบ่อย ๆ เด็ดขาด
ผู้นำต้องเป็นแบบอย่างที่ดี
พนักงานทั่วไปมักมองหัวหน้าหรือผู้คุมกฎเป็นตัวอ้างอิงว่าสิ่งใดถูก สิ่งใดผิด ดังนั้นหากบริษัทที่ตั้งใจวางนโยบายด้านเสียงเพลงแทบตายมีหัวหน้าที่เปิดเพลงหยาบคายและเสียงดังจนรบกวนคนอื่น ก็ไม่มีทางที่พนักงานจะทำตามกฎที่ HR ตั้งไว้ ผู้นำต้องคิดว่าความชอบและรสนิยมเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การทำหน้าที่เป็นตัวอย่างที่ดีของทุกคนก็เป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
นโยบายด้านการฟังเพลงไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ยากเกินกว่าที่ HR จะให้ความสำคัญ เพราะเสียงเพลงเป็นสิ่งที่อยู่คู่กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ทุกคน การเข้ามาบริหารจัดการให้เป็นระบบขึ้นก็จะช่วยให้เราก้าวข้ามความผิดพลาดและสามารถใช้ประโยชน์จากมันได้อย่างแท้จริง
บทสรุป
เสียงเพลงถูกใช้ในหลากหลายธุรกิจ เช่น ร้านอาหาร, ละคร, ภาพยนตร์ ฯลฯ ความหลากหลายตรงนี้เองที่เป็นข้อพิสูจน์ว่าดนตรีมีผลกับความรู้สึกของคนได้จริง ซึ่งหากองค์กรนำมาใช้อย่างถูกวิธีภายใต้การบริหารจัดการที่เหมาะสม เสียงเพลงก็จะเป็นอีกองค์ประกอบหนึ่งที่สร้างประโยชน์ให้กับการทำงานได้อย่างแท้จริง
การออกนโยบายเรื่องเสียงเพลงยังสะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารเป็นปัจจัยสำคัญสำหรับ HR และคนที่เป็นผู้นำ เพราะจะช่วยให้เรารู้ว่าพนักงานต้องการอะไรหรือต่อต้านแนวทางแบบใด นอกจากนี้เสียงเพลงยังแสดงถึงวัฒนธรรมองค์กรและบรรยากาศในภาพรวมที่ส่งผลต่อกระบวนการ HR Recruitment ขณะเดียวกันหากพบว่าเสียงเพลงช่วยให้การทำงานในองค์กรดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ HR ก็สามารถนำไปคิดสวัสดิการสนุก ๆ เช่นให้หูฟังเป็นของขวัญ, ดูคอนเสิร์ตยกแผนก, ห้องคาราโอเกะ ฯลฯ
ทั้งนี้หากคุณไม่รู้ว่าควรออกนโยบายหรือนำข้อมูลที่ได้ไปประยุกต์ให้เกิดประโยชน์อย่างไร เราแนะนำให้ใช้บริการ HREX แพลตฟอร์มรวบรวมข้อมูลผลิตภัณฑ์และบริการ HR ที่ดีที่สุดในไทย จะมีวิสัยทัศน์แบบไหนก็จัดการได้ในคลิกเดียว