HIGHLIGHT
|
Contents
การฝึกอบรมพนักงาน คือรากฐานความสำเร็จของบริษัทชั้นนำทั่วโลก เพราะจะช่วยเพิ่มทักษะให้พนักงานและช่วยให้วัฒนธรรมองค์กรแข็งแรงขึ้นซึ่งส่งผลดีต่อประสิทธิภาพการทำงานของบริษัทโดยตรง
โดยเฉพาะโลกยุคหลังโควิด-19 ที่มนุษย์ให้คุณค่ากับความเป็นมนุษย์ (Human Value) มากกว่าที่เคย การทำให้พนักงานเก่งและมีเป้าหมายในชีวิตมากขึ้นจะช่วยให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรต่อไป กลับกันหากพนักงานรู้สึกว่าตนไม่มีคุณค่า ก็มีโอกาสที่จะลาออกเพื่อเปลี่ยนไปหางานที่คิดว่าเหมาะกับตัวเองมากกว่า ดังนั้นการฝึกอบรมพนักงานจึงมีผลต่อเสถียรภาพขององค์กรอย่างมีนัยสำคัญ
การฝึกอบรมพนักงานต้องให้ความสำคัญกับเรื่องใดบ้าง หาคำตอบได้ในบทความนี้
การฝึกอบรมพนักงานมีข้อดีต่อบริษัทอย่างไร
ช่วงที่สถานการณ์ปกติ เราอาจไม่ได้นึกถึงการเรียนรู้เพิ่มเติมเท่าไรนักเพราะเชื่อว่าสิ่งที่ตนทำอยู่เพียงพอต่อการทำงานแล้ว โดย Forbes ได้รายงานผลสำรวจจาก London School of Economics ที่ระบุว่าองค์กรให้ความสำคัญกับการฝึกอบรมพนักงานน้อยลงเรื่อย ๆ และมีแนวคิดว่า เอาเวลาไปหาพนักงานใหม่ดีกว่าการเสียเวลาฝึกพนักงาน ซึ่งความคิดนี้ถูกเปลี่ยนอย่างสิ้นเชิงเมื่อเกิดโควิด-19 เพราะเมื่อรูปแบบการทำงานเปลี่ยนไป คนที่ไม่ชำนาญเรื่องเทคโนโลยีก็จะมีปัญหากับการทำงานแบบไฮบริด, คนที่ไม่มีวินัยแต่เคยอยู่ได้ด้วยระบบข้อบังคับในออฟฟิศก็กลายเป็นคนที่มีผลงานตกลงเพราะบริหารจัดการเวลาไม่ได้, การจ้างพนักงานใหม่ก็มีค่าใช้จ่ายแฝงกว่าจะปรับตัวเข้าระบบได้อย่างสมบูรณ์ ดังนั้นการฝึกฝนพนักงานเป็นระยะคือสิ่งที่จะช่วยให้องค์กรมีความยืดหยุ่น พร้อมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงไม่ว่าจะในระยะสั้นหรือระยะยาวก็ตาม
การศึกษากับบริษัทในสหรัฐอเมริกาพบว่าพนักงานมีอัตราลาออกลดลงจาก 89.6% เหลือเพียง 56.7% เท่านั้นหลังการฝึกอบรมเพียงปีเดียว และยังมีการวิจัยจากประเทศเบลเยี่ยมที่ระบุว่าการฝึกอบรมที่ดีจะช่วยให้งานมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นถึง 23% เป็นอย่างน้อย
หากยังไม่เห็นภาพ เราขออธิบายประโยชน์ของการฝึกอบรมพนักงานเพิ่มเติมดังนี้
1. ช่วยรักษาพนักงานไว้กับองค์กร (Employee Retention) : การทำให้พนักงานอยากอยู่กับองค์กรของเราไปนาน ๆ เกิดขึ้นได้จากการที่พวกเขารู้สึกว่าตัวเองเก่งขึ้นและมีคุณค่าขึ้น HR สามารถนำเรื่องนี้ไปพูดได้ตั้งแต่วันที่สัมภาษณ์งานเลยว่าบริษัทมีนโยบายสนับสนุนเรื่องการฝึกอบรมพนักงานอย่างไร อยากพูดคุยหรือต่อรองอย่างไรเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยมีรายงานว่าการฝึกอบรมพนักงานที่ดีจะช่วยลดอัตราการลาออกได้มาถึง 59%
2. การฝึกอบรมพนักงานช่วยสร้างผู้นำได้ในอนาคต : การเป็นผู้นำที่ดีในปัจจุบันไม่ใช่แค่เรื่องของการออกคำสั่งอีกต่อไป แต่คำจำกัดความว่าผู้นำที่ดีคือคนที่สามารถถ่ายทอดความเป็นผู้นำไปให้กับคนรุ่นต่อไปได้ต่างหาก
อย่างไรก็ตามปัญหาที่แทบทุกองค์กรต้องเจอเมื่อพูดถึงผู้นำรุ่นใหม่ก็คือการเลื่อนตำแหน่งโดยมองจากความสามารถในการทำงานเป็นหลัก ไม่ใช่ความสามารถในการเป็นผู้นำ ดังนั้นผู้นำรุ่นใหม่หลายคนจึงไม่สามารถทำหน้าที่ได้ดีอย่างที่หวัง ทำให้องค์กรต้องไปว่าจ้างผู้นำจากที่อื่นเข้ามาแทน เหตุนี้การฝึกอบรมพนักงานเพื่อเตรียมพร้อมจึงเป็นสิ่งสำคัญ เริ่มตั้งแต่การฝึกอบรมคนที่อยู่ระหว่างการพิจารณาเลื่อนขั้นก็ได้ วิธีนี้แม้จะทำให้บริษัทมีต้นทุนมากขึ้น แต่ก็จะได้พนักงานที่เข้าใจวัฒนธรรมองค์กรอยู่แล้วและพร้อมทำงานได้ไวกว่าการจ้างพนักงานใหม่จากที่อื่นแน่นอน
3. ช่วยให้พนักงานมีอำนาจตัดสินใจมากขึ้น (Employee Empowerment) : เป็นที่ยอมรับกันว่าเมื่อองค์กรให้พนักงานมีอำนาจในการตัดสินใจและทำสิ่งต่าง ๆ มากขึ้น พวกเขาจะทำงานได้ดี มีความสุข และทำให้ความอยากเปลี่ยนงานลดน้อยลงอย่างมีนัยสำคัญ การฝึกอบรมพนักงานจะทำให้เกิดความมั่นใจ รวมถึงรู้สึกว่าตัวเองมีความรู้มากกว่าที่เคย HR ต้องคิดว่าหากเราอยากให้คนกล้าตัดสินใจหรือให้ทีมเชื่อมั่นว่าการตัดสินใจนั้นไว้ใจได้ ก็ต้องเริ่มจากการแสดงให้คนอื่นเห็นว่าเรามีเก่งมากพอสำหรับการทำงานดังกล่าวนั่นเอง
4. ช่วยเพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานในองค์กร (Workplace Engagement) : การที่พนักงานรู้สึกว่าแค่มาถึงออฟฟิศตามกฎและกลับบ้านในตอนเย็นเป็นประจำทุกวันไม่ใช่เรื่องดี เพราะจะทำให้เกิดพลังลบจนส่งผลกระทบต่อพนักงานคนอื่น ๆ ดังนั้นการฝึกอบรมพนักงานคือวิธีที่ดีในการเพิ่มความรู้, สร้างพลังบวก และตอกย้ำวัฒนธรรมองค์กรให้พนักงานรู้ว่าตนกำลังทำอะไร เพื่ออะไร นอกจากนี้ยังช่วยให้ผู้นำได้เห็นภาพอย่างชัดเจนว่าลูกทีมของตนมีจุดเด่น จุดด้อยอย่างไร มี Hidden Area อะไรที่ไม่เคยเห็นในชีวิตการทำงานตามปกติหรือไม่ และหาทางพัฒนาต่อไปให้ตรงจุดที่สุด
Forbes รายงานว่าพนักงานที่รู้สึกว่าตนไม่มีความสามารถและไม่มีคุณค่ามากพอจะมีส่วนร่วมกับองค์กรน้อยมาก ต่างจากคนที่รู้สึกว่าตนมีคุณค่าที่มีเปอร์เซ็นต์การมีส่วนร่วม (Engagement) สูงถึง 79% ดังนั้นหากเราอยากให้บริษัทเติบโตอย่างแข็งแรงพร้อมรับมือกับทุกสถานการณ์แล้ว การพัฒนาบุคลากรถือเป็นรากฐานที่จะมองข้ามไปไม่ได้เด็ดขาด
5. ทำให้ความสัมพันธ์ของพนักงานดีขึ้น (Workplace Relationship) : การฝึกอบรมพนักงานจะทำให้พวกเขามีความรู้สึกที่ดีต่อคนอื่นมากขึ้น และสิ่งที่จะตามมาก็คือการแลกเปลี่ยนความรู้ภายในทีม ไม่ว่าจะเป็นเนื้อหาการทำงานที่น่าสนใจ, ทักษะใหม่ ๆ, นวัตกรรมที่น่าจะนำมาใช้ในองค์กร ฯลฯ บทสนทนาเหล่านี้อาจนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่เราไม่เคยรู้มาก่อน เป็นพลังของการมีส่วนร่วมที่สามารถยกระดับองค์กรให้กล้าคิดถึงเป้าหมายที่ใหญ่ขึ้นตามไปด้วย
HR มีวิธีเลือกการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับพนักงานอย่างไร
โมเดลด้านการเรียนรู้และพัฒนาที่ได้รับการยอมรับมากที่สุดก็คือโมเดล 70:20:10 (Model for Learning and Development) ประกอบไปด้วย Experimental Learning หรือการลงมือทำจริง 70%, Mentoring and Coaching หรือการศึกษาข้อมูลจากหัวหน้า พี่เลี้ยง หรือโค้ช 20% และ Formal Training หรือการฝึกอบรมอย่างเป็นทางการที่บริษัทจัดขึ้น 10% โดยโมเดลนี้สามารถนำไปประยุกต์ใช้กับการอบรมในประเด็นอื่น ๆ ได้เช่นกัน
การเลือกรูปแบบการอบรมพนักงานที่ผิดพลาดนอกจากจะเสียเวลาแล้ว ยังเสียงบประมาณอย่างสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ ดังนั้นเราจะมาอธิบายให้เห็นกันว่าการเลือกหลักสูตรให้กับพนักงานต้องคำนึงถึงปัจจัยใดบ้าง
1. HR ต้องเริ่มต้นด้วยการหาคำตอบว่าสิ่งที่พนักงานต้องการคืออะไร : HR สามารถหาข้อมูลด้วยการสอบถามโดยตรงทั้งแบบส่วนตัวและในที่ประชุมด้วยการใช้คำถามกว้าง ๆ เช่น “เป้าหมายในการทำงานของคุณคืออะไร”, “คุณกำลังสนใจอะไรเป็นพิเศษ”, “คิดว่าตัวเองถนัดเรื่องอะไรมากที่สุด” เพื่อให้เราเห็นภาพกว้าง ๆ ว่าควรเพิ่มเติมหรือปรับปรุงทักษะในส่วนใด การเข้าใจพนักงานมากขึ้นยังทำให้เราไม่ตั้งมาตรฐานการประเมินไว้สูงเกินจำเป็น เพราะเรามีข้อมูลแล้วว่าพนักงานมีพื้นฐานความเข้าใจแค่ไหน และมีทัศนคติอย่างไรต่อการทำงาน ความเข้าใจตรงนี้จะทำให้พนักงานได้ประโยชน์จากการฝึกอบรมมากขึ้น
2. HR ต้องนำข้อมูลที่ได้มาต่อยอด : หลังจากที่ HR ทราบแล้วว่าสิ่งที่พนักงานต้องการคืออะไร ก็ต้องเอาข้อมูลนั้นมาเลือกคอร์สที่เหมาะสมที่สุด อนึ่งห้ามสนใจเฉพาะแค่หัวข้อเท่านั้น แต่ให้ดูรายละเอียดลึกไปจนถึงเนื้อหาที่จะสอน, รีวิวจากคนที่เคยปฏิบัติจริง, วิธีการปฏิบัติเพื่อดูว่าเหมาะสมกับพฤติกรรมของพนักงานตามข้อมูลที่เรามีหรือไม่
3. HR ต้องไม่เลือกหลักสูตรเพียงเพราะมาจากสถาบันที่มีชื่อเสียง : นี่คือจุดที่หลาย ๆ องค์กรทำผิดพลาด เพราะคิดว่าสถาบันที่มีชื่อเสียงและราคาแพงย่อมมีประสิทธิภาพในการเข้าถึงพนักงานมากกว่า แต่จริง ๆ แล้วคอร์สที่มีชื่อเสียงจะไม่ตอบโจทย์อะไรเลยหากไม่ใช่หัวข้อที่ตรงกับความต้องการของพนักงาน หรือมีวิธีการปฏิบัติที่ขัดแย้งกับพฤติกรรมโดยรวมขององค์กร ดังนั้นแม้จะมาจากสถาบันที่ไม่มีชื่อเสียง ดังนั้นเป็นหน้าที่ของ HR ที่จะต้องตรวจสอบหลักสูตรให้ละเอียดก่อนนำเสนอผู้บริหารและนำมาใช้กับพนักงาน
การฝึกอบรมพนักงานในปัจจุบันแตกต่างจากช่วงก่อนเกิดโควิด-19 อย่างไร
โควิด-19 ทำให้รูปแบบการทำงานของเราเปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง ทั้งในแง่ของนวัตกรรมใหม่ ๆ ที่เกิดขึ้นเพื่อตอบสนองการทำงานแบบไฮบริด โดยเฉพาะปัญหาด้านการสื่อสาร เพราะการทำงานแบบไฮบริดทำให้พฤติกรรมการทำงานของมนุษย์เปลี่ยนไป คนเริ่มเห็นคุณค่าของตัวเองมากขึ้นและเชื่อมั่นว่าความคิดของตนไม่ด้อยไปกว่าใคร จุดนี้เองที่องค์กรต้องหาแนวทางมาปรับทัศนคติของพนักงานเพื่อหลอมรวมทุกความแตกต่างให้กลายเป็นพลังขับเคลื่อนองค์กรต่อไป
โควิด-19 เปลี่ยนรูปแบบการฝึกฝนพนักงานในด้านในบ้าง
1. ด้านความคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) : รูปแบบการคิดหลังเกิดโควิด-19 แตกต่างจากเดิมอย่างสิ้นเชิง เพราะผู้คนเปลี่ยนไปใช้ชีวิตบนหน้าจอมากขึ้น ดังนั้นการสร้างสรรค์งานก็ต้องเปลี่ยนไปอ้างอิงกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเป็นหลัก รูปแบบการฝึกฝนพนักงานจึงเน้นไปที่การทำแบบออนไลน์ ภายใต้เงื่อนไขคือจะทำอย่างไรให้คนมีปฏิสัมพันธ์กับการอบรม องค์กรต้องทำให้พนักงานเข้าใจว่าทำไมถึงต้องมีการเปลี่ยนแปลง เพราะพนักงานบางท่านโดยเฉพาะคนที่อาวุโสอาจมีความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ตนเคยทำมาตลอดและไม่คิดว่าจำเป็นต้องเปลี่ยน เราต้องพยายามสร้างวัฒนธรรมการทำงานแบบใหม่ที่ทำให้ทุกคนพร้อมปรับตัวกับการเปลี่ยนแปลงของโลกได้จริง
2. ด้านข้อจำกัดเรื่องสถานที่ (Location Restriction) : นโยบาย Social Distancing ทำให้การเผชิญหน้ากันโดยตรงเป็นเรื่องยาก ซึ่งเป็นอุปสรรคสำคัญของการฝึกอบรมที่มักมีวัตถุประสงค์เพื่อให้พนักงานได้ลงมือทำร่วมกัน ปัจจัยนี้ส่งผลให้เทคโนโลยีด้าน HR Tech จำพวก eLearning Software เติบโตขึ้น
การเปลี่ยนแปลงตรงนี้ทำให้ผู้นำต้องมีทักษะเพิ่มขึ้น นั่นคือการเป็นตัวกลางเพื่อเชื่อมโยงพนักงานแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกันเมื่อต้องกลับมาทำงานในออฟฟิศอีกครั้ง ให้คิดเสมอว่าโลกหลังโควิด-19 จะแบ่งคนทำงานออกเป็นหลายแบบ เช่นคนที่เหมาะกับการทำงานแบบไฮบริด, คนที่เหมาะกับการที่ออฟฟิศ และคนที่เหมาะกับการทำงานทั้งสองแบบ ผู้นำต้องศึกษาจนรู้ว่าพนักงานของตนเหมาะกับการทำงานแบบใด
3. ด้านรูปแบบการฝึกอบรม (Virtual Training Normalization) : การเกิดโควิด-19 ยิ่งทำให้การฝึกอบรมออนไลน์มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะเป็นช่องทางเดียวที่ช่วยให้องค์กรสามารถจัดฝึกอบรมได้ บางสายงานที่มีการฝึกอบรมออนไลน์อยู่แล้วก็พยายามหาวิธีการใหม่ ๆ มาแข่งขันกับผู้จัดอบรมเจ้าอื่น ขณะที่องค์กรอื่นที่ปกติแล้วไม่เคยจัดการอบรมพนักงานแบบออนไลน์มาก่อน ก็ต้องหาวิธีการจัดอบรมพนักงานแบบออนไลน์ให้ได้ หมายความว่าเรามีรูปแบบการสอนเกิดขึ้นอีกมากมาย ซึ่งแม้มาตรการโควิด-19 จะคลี่ลคลายและเริ่มมีการฝึกอบรมพนักงานแบบเจอหน้าตามปกติ แต่ก็ต้องยอมรับว่าการฝึกอบรมออนไลน์ได้กลายเป็นบรรทัดฐานใหม่ของโลกการทำงานไปแล้ว
4. ด้านการรวมทีมให้ได้อีกครั้ง (Reinforced Teamwork and Community) : เป็นที่ชัดเจนมากว่าโลกการทำงานหลังเกิดโควิด-19 ให้ความสำคัญกับการบริหารทักษะของมนุษย์เป็นหลัก (Upskill, Reskill, Unlearned) โดยเฉพาะทักษะการเป็นผู้นำ, การถ่ายทอดความรู้ให้กับผู้อื่น และการบริหารความแตกต่างให้ทุกคนรู้สึกมีคุณค่า (Human Value) เพื่อรักษาความสัมพันธ์ของทีมให้คงอยู่เหมือนกับช่วงที่ยังไม่เกิดโควิด-19 ดังนั้นการฝึกอบรมพนักงานหลังโควิด-19 จึงต้องเน้นในเรื่องของการมีส่วนร่วม (Engagement) ให้พนักงานรู้สึกว่าการทำงานร่วมกับผู้อื่นนั้นช่วยให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าได้จริง
ต้องเข้าใจก่อนว่าปัจจุบันไม่ใช่ยุคที่พนักงานหนึ่งคนจะทำได้ทุกอย่างอีกแล้ว แต่เป็นยุคที่เราต้องเอาจุดเด่นของแต่ละคนมารวมกันอย่างมีประสิทธิภาพที่สุด ซึ่งบางครั้งการจะทำเรื่องนี้ให้สำเร็จก็ต้องเริ่มจากการมีวิสัยทัศน์ตรงกัน หรือมีตัวกลาง (Coordinator) อย่าง HR ที่คอยต่อจุดเชื่อมพนักงานแต่ละคนเข้าไว้ด้วยกัน นี่คือเรื่องที่บริษัทต้องทำเป็นอย่างแรกก่อนที่จะไปสนเรื่องผลประกอบการด้วยซ้ำ เพราะทรัพยากรมนุษย์คือรากฐานสำคัญที่สุดในการขับเคลื่อนองค์กร
การฝึกอบรมพนักงานที่ดีมีองค์ประกอบอะไรบ้าง
การฝึกอบรมที่ดีไม่ได้อยู่บนหน้ากระดาษ แต่เป็นการลงมือปฏิบัติจริง ดังนั้นเป็นหน้าที่ขององค์กรที่จะศึกษาพนักงานในบริษัทและวัดผลว่าคนเหล่านี้มีความเข้าใจหรือมีแง่มุมไหนที่สามารถเพิ่มเติม, แก้ไขหรือไม่ และเมื่อตรวจพบแล้ว หน้าที่ของผู้นำและ HR ก็ไม่ใช่แค่การบอกว่าพวกเขาควรปรับปรุงหรือพัฒนาอะไร แต่ควรบอกว่ามันมีขั้นตอนอย่างไรต่างหาก
ผู้เชี่ยวชาญ 15 ท่านจาก Forbes HR Council ได้ให้คำแนะนำเรื่องเทคนิคและองค์ประกอบสำคัญของการฝึกอบรมพนักงานที่ครอบคลุมสำหรับทุกองค์กรเอาไว้ ผู้อ่านสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้เลย ดังนี้
1. Cross-Cultural Social Skills : องค์กรในช่วงหลังโควิด-19 มีอัตราเร่งและการเปลี่ยนแปลงมากกว่าที่เคย ทำให้ความเข้าใจเรื่องเทคโนโลยี, สังคม และจิตใจกลายเป็นเรื่องพื้นฐานที่ทุกองค์กรต้องรู้หากต้องการประสบความสำเร็จ นั่นแปลว่าองค์กรต้องมีทักษะบริหารความแตกต่างและใช้ประโยชน์จากความแตกต่างเหล่านี้ให้ได้มากที่สุด เพราะคงไม่มีประโยชน์เลยหากองค์กรรวมคนที่หลากหลายเอาไว้ แต่ไม่สามารถโน้มน้าวให้พนักงานทำงานร่วมกันเมื่อผู้นำได้ข้อสรุปในทิศทางที่แตกต่างจากความเชื่อของแต่ละคน
2. Coaching : การสอนหรือให้คำแนะนำคือปัจจัยสำคัญขององค์กรแต่เป็นสิ่งที่เรามักจะมองข้ามไปโดยไม่รู้ตัว อาจเพราะคิดว่าเรารู้จักพนักงานและวัฒนธรรมองค์กรดีแล้ว แต่แท้จริงทักษะ Coaching คือทักษะการสื่อสารที่สำคัญมากในการโน้มน้าวหรือเยียวยาจิตใจที่จะส่งผลโดยตรงต่อการแก้ไขสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพ นี่คือหัวข้อที่ผู้จัดการ, ผู้บริหาร, หัวหน้า HR ต้องเข้าร่วมอย่างเลี่ยงไม่ได้ มิฉะนั้นอาจทำให้เราพลาดโอกาสในการทำงานอย่างน่าเสียดาย
3. Performance Management : คือการบริหารผลการปฏิบัติงาน ซึ่งเป็นผลสืบเนื่องมาจากเรื่องการลาออกครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Resignation) ซึ่งบางบริษัทอาจแก้ปัญหาโดยการจ้างพนักงานใหม่เข้ามาทดแทน แต่แท้จริงแล้วนี่ไม่ใช่คำตอบเพราะการจ้างพนักงานใหม่มีต้นทุนแฝงทั้งด้านงบประมาณและเวลา ดังนั้นวิธีที่ควรทำคือการฝึกอบรมพนักงานทั้งหมดให้เห็นถึงความจำเป็นของการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการทำงาน และเข้าใจว่าวิธีวัดผลหรือการทำงานบางส่วนจะต้องเปลี่ยนไปเช่นกัน
บริษัทสามารถจัดการฝึกอบรมพนักงานเพื่อให้เข้าใจว่าจากนี้จะมีการประเมินผลบ่อยขึ้น อาจเป็นทุก ๆ 30 / 60 / 90 วัน เป็นต้น จากนั้นก็คอยสังเกตว่าปัญหาในการทำงานโดยระบบนี้คืออะไร เพื่อจะได้รีบแก้ไขปัญหาและปิดจุดอ่อนของบริษัทให้ทันเวลา ทั้งนี้แม้สถานการณ์โควิด-19 ในปัจจุบันจะดีขึ้น แต่การวัดผลแบบนี้ก็ยังเป็นเรื่องสำคัญอยู่ เพราะพนักงานบางส่วนได้เคยชินกับพฤติกรรมในช่วงที่เกิดโรคระบาดไปแล้ว
4. Company Culture : วัฒนธรรมองค์กรคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานทุกคนมีเป้าหมายเดียวกัน อย่างไรก็ตามปัญหาที่องค์กรส่วนใหญ่ทำพลาดก็คือการสนใจในคำถามว่า “วัฒนธรรมองค์กรคืออะไร” มากกว่า “จะทำอย่างไรให้เราเข้าใจวัฒนธรรมองค์กรนั้น” คำถามที่ถูกต้องนี้จะยิ่งทวีความสำคัญเมื่อมีการรับพนักงานใหม่เข้ามาขณะที่ใช้รูปแบบการทำงานแบบไฮบริด เพราะหากองค์กรไม่ให้ความสำคัญกับการอธิบายตรงนี้เลย ก็เป็นเรื่องยากมากที่พนักงานใหม่จะมีมุมมองสอดคล้องกับเพื่อนร่วมงานคนอื่น ๆ เพราะไม่เคยได้สัมผัสการทำงานแบบเผชิญหน้ากันจริง ๆ
5. Accountability : ความรับผิดชอบคือสิ่งที่ HR ต้องนำมาเป็นพูดคุยเสมอ องค์กรต้องสอนผู้นำให้มีความรับผิดชอบ และถ่ายทอดออกไปให้พนักงานรับรู้ เพื่อต่อยอดให้คนอื่น ๆ เป็นมืออาชีพมากขึ้น หัวข้อนี้จึงเป็นสิ่งแรก ๆ ที่องค์กรต้องนำมาพิจารณา
6. Adaptability : คือการปรับตัว เราจะเห็นถึงความสำคัญตรงนี้มากขึ้นในปัจจุบันที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เพราะไม่ใช่แค่การฝึกอบรมเพื่อเพิ่มพูนทักษะเท่านั้นที่สำคัญ แต่องค์กรต้องนึกถึงการล้มเลิกวิธีการทำงานบางอย่าง (Unlearn) ออกไปด้วย ความหมายคือปัจจุบันรูปแบบการทำงานได้เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิงจนสิ่งที่เราเคยคุ้นเคยอาจใช้ไม่ได้ผลอีกต่อไป หากเราไม่สามารถโน้มน้าวให้พนักงานปรับตัวเข้าหานวัตกรรมใหม่ ๆ ก็จะทำให้พนักงานคนนั้นตกยุคและถูกทิ้งไว้ข้างหลังทันที
7. Organization Alignment : คือการทำให้พนักงานเห็นว่าโครงสร้างของบริษัทเป็นอย่างไร แต่จะแตกต่างจากการอธิบายเรื่อง Organize Chart ตรงนี้เราต้องทำให้พนักงานเห็นว่าหน่วยย่อยต่าง ๆ ในบริษัทสามารถทำงานส่งเสริมกันได้อย่างไร อาจมีเวิร์คช็อปด้านความร่วมมือเพื่อเน้นย้ำให้พนักงานเห็นชัดเจนขึ้นก็ได้
8. Employee Burnout Prevention : แม้เราจะมีการฝึกอบรมพนักงานอย่างไร แต่การต่อสู้กับความเปลี่ยนแปลงของโลกและเนื้องานที่หนักหน่วงจะทำให้พนักงาน “หมดไฟ” (Burnout) โดยง่าย ดังนั้น HR ต้องจัดการอบรมที่ช่วยแก้ปัญหาตรงนี้โดยตรง อย่างเช่นการสร้างความเข้าใจกับคนที่ยังทำงานแบบไฮบริดว่าควรแยกพื้นที่ทำงานกับพื้นที่ส่วนตัวในบ้านอย่างไร, ปรับทัศนคติอย่างไรเมื่อต้องกลับมาทำงานที่ออฟฟิศ นอกจากนี้ยังต้องฝึกผู้นำเป็นกรณีพิเศษเพื่อให้เป็นคนช่างสังเกตและรู้วิธีรับมือหากเห็นว่าลูกทีมเริ่มหมดไฟ
9. Human Connection : เมื่อพัฒนาทักษะของพนักงานจนอยู่ในระดับที่น่าพอใจแล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อมาทันทีก็คือเราจะผสานการทำงานของพนักงานกับเทคโนโลยีสมัยใหม่อย่างไร เพราะบางคนอาจกลัวว่า AI จะเข้ามาแย่งงาน แต่ผู้เชี่ยวชาญทั้งหลายกลับมองว่าการฝึกอบรมให้มนุษย์ทำงานกับ AI ได้เป็นสิ่งที่เกิดประโยชน์มากกว่า
10. Business Communication : เรื่องที่ HR และองค์กรละเลยมากที่สุดก็คือเรื่องการสื่อสารภายในองค์กร ไม่ว่าจะเป็นการสื่อสารแบบตัวต่อตัว, การสื่อสารทางอีเมลล์, การสื่อสารทางโทรศัพท์ รวมถึงการสื่อสารในสถานการณ์ต่าง ๆ เป็นต้น
สรุปได้ว่าการเลือกองค์ประกอบในการฝึกอบรบพนักงานนั้น ควรเริ่มจากการสังเกตอย่างจริงใจว่าสิ่งที่พนักงานตั้งแต่ระดับล่างไปจนถึงระดับผู้บริหารมีสิ่งใดและขาดสิ่งใด ให้คิดว่าทุกการตัดสินใจเกิดขึ้นโดยมีผลประโยชน์ขององค์กรเป็นที่ตั้ง แค่นี้เราก็จะยกระดับทุกคนไปพร้อมกันได้แน่นอน
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: เราควรตั้ง KPI สำหรับงานอบรมสัมมนาอย่างไร ?
บริษัทกำลังทำเทรนนิ่งพนักงานทั้งบริษัทในหัวข้อเกี่ยวกับภาวะผู้นำเพื่อยกระดับความสามารถของพนักงาน ดังนั้นเราจะตั้ง KPI สำหรับงานอบรมนี้อย่างไรดี ?
A: แนะนำให้ตั้ง KPIs เชิงปริมาณ
1. แบบวัดความรู้ความเข้าใจหลังการอบรมไม่น้อยกว่า 80 %
2. ความพึงพอใจในภาพรวมของผู้เข้ารับการอบรมไม่น้อยกว่า 85 %
3. ผู้เข้ารับการอบรมมีภาวะผู้นำดีขึ้น หลังจากอบรมในระยะ 1-3 เดือน ไม่น้อยกว่า 30 % โดยทาง HR ร่วมกับต้นสังกัดในการติดตามและประเมินพฤติกรรมด้าน Leadership Competency,,, (คลิกดูคำตอบทั้งหมด👇)
การฝึกอบรมพนักงานมีวิธีวัดผลอย่างไร
มีคำกล่าวว่าสิ่งใดที่วัดผลไม่ได้ หรือไม่รู้ว่าจะวัดผลอย่างไร สิ่งนั้นไม่ควรทำ และการฝึกอบรมพนักงานก็ไม่ต่างกัน ดังนั้น HR ควรหาคำตอบให้ได้ว่าการอบรมแต่ละครั้งทำให้พนักงานได้เรียนรู้ตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งใจไว้หรือไม่ หากใช่จะต่อยอดอย่างไร และหากไม่ใช่ เราจะหาหลักสูตรใดมาทดแทน
ในทีนี้เราแนะนำวิธีการเมินผลแบบ Kirkpatrick Model ออกแบบโดย ดร.โดนัลด์ เคิร์กแพททริค (Donald L. Kirkpatrick) จาก University of Wisconsin ในปีค.ศ.1950 เป็นวิธีการประเมินผลที่ได้รับการยอมรับและนำมาใช้อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน แบ่งออกเป็น 4 ระดับ ประกอบด้วย
ระดับที่ 1 : Reaction (การตอบสนอง) : ประเมินจากการมีส่วนร่วมระหว่างการฝึกอบรม เช่นการตอบคำถาม การตั้งคำถาม และการทำกิจกรรมที่ได้รับมอบหมาย เป็นต้น โดย HR สามารถหาคำตอบได้จากการตั้งคำถามเช่น “หลักสูตรการฝึกอบรมตรงกับความต้องการหรือไม่”, “สิ่งที่ยากและง่ายสำหรับการฝึกอบรมครั้งนี้คืออะไร”, “สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการฝึกอบรมครั้งนี้คืออะไร” ซึ่ง HR ต้องหาคำตอบเบื้องต้นให้ได้ว่าพนักงานรู้สึกอย่างไรกับการฝึกอบรมนี้ ไม่ว่าจะเป็นด้านบวกหรือด้านลบก็ตาม
ระดับที่ 2 : Leaning (การเรียนรู้) : ประเมินจากการทดสอบความรู้ ความเข้าใจ เปรียบเทียบระหว่างก่อน – หลัง การฝึกอบรม เป็นต้น โดย HR สามารถตรวจสอบได้จากการดูว่าพนักงานทำงานได้ดีขึ้นไหม หรือให้หัวหน้าทีมคอยสังเกตและรายงานผลในภายหลังก็ได้ โดยการวัดผลในขั้นตอนนี้ HR ต้องรู้แล้วว่าสิ่งที่พนักงานได้รับจากการฝึกอบรมคืออะไร และควรเพิ่มเติมองค์ประกอบใดเข้าไปให้เห็นผลลัพธ์ที่ดีขึ้นกว่าเดิม
ระดับที่ 3 : Behavior (พฤติกรรม) : ประเมินได้จากการนำความรู้ที่ได้ไปปฏิบัติจริง ซึ่ง HR สามารถประเมินได้ด้วยการสังเกตหรือถามว่าผู้เข้ารน่วมการฝึกอบรมมีความมั่นใจที่จะถ่ายทอดความรู้ที่เพิ่งได้รับมาออกไปไหม หากใช่ก็แปลว่าการฝึกอบรมเกิดประโยชน์จริง
ระดับที่ 4 : Result (ผลลัพธ์) : ประเมินผลจากการมองภาพรวมของบริษัทว่ามีสิ่งใดดีขึ้นบ้าง เช่นควบคุมค่าใช้จ่ายได้ดีขึ้น, ผลงานดีขึ้น, งานเสร็จเร็วขึ้น, พนักงานมีความสุขขึ้น เป็นต้น เรียกว่าการประเมินผลที่ดีต้องอาศัยการเก็บสถิติของ HR อย่างเป็นระเบียบเช่นกัน
บทสรุป
การฝึกอบรมพนักงานคือสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้ทั้งองค์กรเล็กและองค์กรใหญ่เติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีนวัตกรรมใหม่ ๆ เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา หากองค์กรของเราไม่มีศักยภาพมากพอในการปรับตัวเข้าหาเทคโนโลยีและไม่มีความเข้าใจมากพอว่าจะใช้วิธีใดมาตอบสนองความต้องการทางธุรกิจ ก็มีโอกาสสูงมากที่องค์กรของเราจะถูกคู่แข่งแซงไปโดยไม่รู้ตัว
ดังนั้นเพื่อให้เราเลือกหลักสูตรการฝึกอบรมได้อย่างถูกต้อง และไม่กระทบกับค่าใช้จ่ายจนเกินความจำเป็น เราขอแนะนำบริการจาก HREX แพล็ตฟอร์มใหม่แห่งแรกของเมืองไทยที่รวบรวมข้อมูลบริการและผลิตภัณฑ์ HR เอาไว้มากที่สุด คุณสามารถเลือกดูข้อมูลการฝึกอบรมจากบริษัทชั้นนำพร้อมค่าใช้จ่ายอย่างละเอียดเพื่อช่วยในการตัดสินใจ แถมยังมีตัวช่วยในด้านอื่น ๆ ของ HR อย่างครบวงจร ไม่ว่าจะเป็นการบริหารจัดการเงินเดือน, การดูแลสวัสดิการ, การจัดการเอกสาร เป็นต้น เรียกได้ว่าปัญหาที่คุณเคยกลุ้มใจ จะถูกแก้ได้ง่าย ๆ ด้วยคลิกเดียว