HIGHLIGHT
|
การฝึกอบรบหรือ Training เป็นสิ่งที่ฝ่ายทรัพยากรบุคคลคุ้นชินกันอยู่แล้ว เพียงแต่หลายครั้งที่องค์กรทำฝึกอบรบกันเพียงพอเป็นพิธี หรือเกิดขึ้นเพราะความจำเป็นในการฝึกอบรม (Training Needs) หลังเจอสถานการณ์ที่เป็นปัญหา ไม่ได้ผ่านการวางแผนล่วงหน้าแบบสิ่งที่เรียกว่า Training Roadmap หรือ การจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม
หากการเดินทางหนึ่งเราจำเป็นต้องมีแผนที่เพื่อมุ่งหน้าสู่เป้าหมายที่ถูกต้อง Training Roadmap จึงเปรียบเสมือนแผนที่ที่จะนำพาบุคลากรในองค์กรไปสู่เป้าหมายที่ต้องการเช่นกัน วันนี้ HREX จึงจะมาเน้นย้ำความสำคัญของการจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม (Training Roadmap) เพื่อเสริมสร้างสมรรถนะที่ดีแก่พนักงานของคุณในระยะยาว
Contents
Training Roadmap การจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม คืออะไร
Training Roadmap คือการจัดทำเส้นทางการฝึกอบรมบุคลากรที่กำหนดไว้เป็นระบบแบบแผน ส่วนมากจะระบุบุคลากรในแต่ละตำแหน่งว่า พวกเขาควรได้รับการฝึกอบรมเรื่องอะไรบ้าง ควรจะอบรมเมื่อไหร่ และอบรมอะไรก่อน-หลัง โดยมีรายละเอียดชัดเจนในแต่ละช่วงอาชีพ
Training Road Map จึงเปรียบเสมือนแผนที่ในการเดินทางทางอาชีพของพนักงานคนหนึ่ง ที่จะบอกว่าเขาต้องพัฒนาความรู้ความสามารถอะไรและต้องพัฒนาเมื่อไหร่ ซึ่งพนักงานแต่ละคนก็จะมีแผนที่ที่ไม่เหมือนกัน แปรผันตามสมรรถนะ (Competency) ที่แต่ละคนมีไม่เท่ากัน
ทั้งนี้ ส่วนประกอบของ Training Roadmap สามารถแบ่งได้ 3 กลุ่มคำถามหลัก ดังนี้
- ตำแหน่งงานนี้ต้องอบรมเรื่องอะไรบ้างถึงจะทำงานนี้ได้ (On the Job Training / Job Requirements) ที่ทุกคนจะต้องได้รับการปฐมนิเทศก่อนปฏิบัติงานจริง
- ตำแหน่งงานนี้ควรจะอบรมเรื่องอะไรบ้างจึงจะพัฒนาและปรับปรุงงานได้ (Job Enhancement) โดยจะเป็นการเสริมสร้างสมรรถนะ (Competency) ให้พนักงานต่อไป
- ตำแหน่งงานนี้จะควรจะอบรมเรื่องอะไรบ้างจึงจะสามารถเติบโตขึ้นไปในตำแหน่งหน้าที่การงานที่สูงขึ้นไปได้? (Career Development) นับเป็นการพัฒนาอาชีพให้พนักงานเก่งมากกว่าเดิม
ความสำคัญของการจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม Training Roadmap
เพราะปัจจุบันรูปแบบการบริหารทรัพยากรบุคคลมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม หนำซ้ำการพัฒนาทางเทคโนโลยีทำให้เกิดการ Disruption แทบทุกวินาที องค์กรทุกแห่งจึงจำเป็นต้องมีการทำ Training Roadmap เพื่อพัฒนาพนักงานให้มีทักษะและสมรรถนะที่จำเป็นสำหรับการทำงานยุคปัจจุบัน ที่สำคัญยังต้องทำต่อเนื่องอีกด้วย แม้ว่าพนักงานคนนั้นจะผ่านการสรรหามาแล้วก็ตาม โดยสามารถวางแผนไว้ตั้งแต่เริ่มต้นทำงานไปจนถึงระดับผู้บริหาร นับเป็นการการส่งเสริมแรงจูงใจในการทำงานได้
การจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม (Training Roadmap) จึงเป็นเครื่องมือการบริหารจัดการด้านการพัฒนาบุคลากรที่สำคัญ หากองค์กรใดขาดการวางแผนการพัฒนาบุคลากรก็จะไม่สามารถหาคำตอบได้ว่า บุคลากรที่มีอยู่ต้องพัฒนาองค์ความรู้และพฤติกรรมใด เมื่อใด และด้วยเหตุผลใด
Training Roadmap จึงเป็นการกำหนดเส้นทางในการพัฒนาบุคลากรอย่างมีแบบแผน เพื่อนำไปสู่การเพิ่มขีดความสามารถของบุคลากรตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ โดยมีวัตถุประสงค์หลัก ๆ ดังนี้
- เพื่อสร้างความสามารถของบุคลากรให้สอดคล้องกับทิศทางขององค์กร
- เพื่อจัดการฝึกอบรมให้เหมาะสมกับตำแหน่งงานตามลำดับความสำคัญและความจำเป็น
- เพื่อให้บุคลากรทราบถึงระยะเวลาในการพัฒนาตนเอง
- เพื่อนำไปประเมินความสามารถของบุคลากร
- เพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง (Self Learning)
- เพื่อสนับสนุนให้เกิดความก้าวหน้าทางอาชีพ
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: การทำ Training Roadmap ต้องเริ่มทำอย่างไร และใครมีหน้าที่ต้องทำ
ในแต่ละปีหลายองค์กรจะต้องมีการทำ Training Roadmap เพื่อพัฒนาฝีมือยกระดับการทำงานให้กับพนักงาน ต้องเริ่มทำอย่างไร และใครมีหน้าที่ต้องทำ ถ้าเข้าใจไม่ผิดเป็นหน้าที่ ของ HRD ใช่ไหมครับ
A: โดยหลักการทำ Training Roadmap เป็นหน้าที่ของ HRD ซึ่งเป็นการวางแผนแบบกว้างๆ ให้กับพนักงานแต่ละระดับ ว่าจะได้รับการฝึกฝนอบรมหลักสูตรอะไรบ้าง เพื่อให้พนักงานมีความรู้ความสามารถมากขึ้น
แต่ในความเป็นจริง หัวหน้างานที่มีลูกน้อง หรือแม้ว่ามีลูกน้องเพียงหนึ่งคน หน้าที่หลักของหัวหน้าคือพัฒนาลูกน้องค่ะ หัวหน้าควรจะเป็นผู้วางแผนการพัฒนาร่วมกับ HRD โดยควรมีการวางแผน career path ของพนักงานรายบุคคล,,,,
ทำไมทุกองค์กรต้องทำเส้นทางการฝึกอบรม Training Roadmap
การจัดทำ Training Roadmap เป็นฐานรากที่สำคัญของการพัฒนาบุคลากร โดยเฉพาะการนำไปพัฒนาบุคลากรเป็นรายบุคคลให้สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์ เส้นทางความก้าวหน้าในอาชีพ และข้อกำหนดของมาตรฐานสากลต่าง ๆ ทั้งนี้ความจำเป็นที่องค์กรต้องทำเส้นทางการฝึกอบรมมีดังนี้
- บุคลากรมีความหลากหลาย – คงไม่มีองค์กรไหนที่สามารถหาบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถพร้อมทุกด้านเหมือนกันทุกคน นอกจากนี้เมื่อคัดสรรมาแล้วก็ยังจำเป็นต้องเรียนรู้สิ่งใหม่เสมอ
- ลักษณะงานและวิชาชีพแตกต่างกัน – บุคลากรในองค์กรย่อมมีโอกาสสับเปลี่ยนตำแหน่งหรือภารกิจต่าง ซึ่งขอบเขตหน้าที่รับผิดชอบแต่ละงาน ความรู้ และประสบการณ์ก็มีความแตกต่างกัน จึงต้องมีการวางแผนพัฒนาอย่างเป็นแบบแผนและเป็นขั้นตอน
- การฝึกอบรมพัฒนาและการเรียนรู้ต่าง ๆ มีข้อจำกัด – เพราะองค์กรไม่สามารถจัดการฝึกอบรมพัฒนาต่าง ๆ ให้กับทุกคนได้ในเวลาเดียวกันได้ จึงต้องกำหนดเส้นทางและระยะเวลาให้ชัดเจน
- บุคลากรต้องการความก้าวหน้า – ความต้องการความก้าวหน้าในวิชาชีพต้องใช้ความรู้ความสามารถเพื่อการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และก้าวไปสู่การเลื่อนระดับหรือปรับตำแหน่งให้สูงขึ้นต่อไป
Career Path VS. Traning Roadmap
Career Path คือแนวทางที่แสดงให้เห็นว่า คนทำงานในแต่ละตำแหน่งจะมีโอกาสเติบโตหรือมีความก้าวหน้าในหน้าที่การงานไปไหนได้บ้าง
Training Roadmap คือแนวทางในการฝึกอบรมให้คนทำงานมีความรู้ความสามารถมากเพียงพอที่จะทำงานได้ทำงานดีขึ้น และเตรียมพร้อมสำหรับการทำงานในตำแหน่งที่สูงขึ้นต่อไป
Career Path และ Training Roadmap คือเครื่องมือหรือระบบในการบริหารจัดการบุคลากรให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มมากขึ้นเพื่อเติบโตและก้าวหน้าในหน้าที่การงานได้ ซึ่งเครื่องมือทั้งสองเรื่องนี้ควรจะนำไปใช้ควบคู่กันไป เพื่อรักษาพนักงานคนเก่งและคนดีให้อยู่กับองค์กรไปนาน ๆ
ขั้นตอนการจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม Training Roadmap
ขั้นตอนที่ 1: กำหนดเป้าหมายการฝึกอบรม
เป็นขั้นตอนริเริ่มพื้นฐานในการฝึกอบรมที่จะต้องระบุสิ่งที่ต้องการจากการฝึกอบรม ลิสต์สิ่งที่ต้องการหรือเป้าหมายที่ต้องการจากผู้ฝึกอบรมเมื่อสิ้นสุดการเรียนรู้ ถือเป็นการหาความจำเป็นในการฝึกอบรม ไม่ใช่การฝึกอบรมที่เกิดขึ้นมาเพียงเพราะต้องมี
ขั้นตอนที่ 2: กำหนดหลักสูตรการฝึกอบรม
เป็นการกำหนดหลักสูตรอบรมตามเกณฑ์พิจารณาว่าพนักงานดังกล่าวกำลังทำงานอะไร และต้องการทักษะอะไรเพื่อพัฒนาตัวเอง โดยสามารถใช้ Job Description หรือ คำบรรยายลักษณะงาน มาช่วยในการกำหนดหลักสูตรได้ การทำในขั้นตอนนี้ควรทำเป็นแผนแม่บท (Master Plan) ที่ระบุรายละเอียดถึงวิธีการฝึกอบรม ช่วงเวลาในแต่ละปีว่าจะอบรมอะไร เช่น ปี 1 2 3 4 และ 5 จะมีวิธีการฝึกอบรมที่แตกต่างกัน รวมไปถึงควรแบ่งหลักสูตรตามลำดับชั้นของพนักงาน เช่น หลักสูตรสำหรับระดับพนักงาน และหลักสูตรสำหรับผู้บริหารด้วย
ขั้นตอนที่ 3: ดำเนินการตามแผนการฝึกอบรมพนักงานรายบุคคล
กล่าวคือการดำเนินการตามแผนแม่บท โดยให้ยึดถือ Roadmap ของตำแหน่งงานที่ได้กำหนดขึ้น และหากกรณีที่พนักงานได้รับการเลื่อนตำแหน่ง (Promotion) และการโอนย้าย (Job Rotation) ก็จะยึดถือ Road Map ของตำแหน่งงานใหม่ที่ต้องรับผิดชอบต่อไป
ขั้นตอนที่ 4: ติดตามผลการฝึกอบรม
อย่าลืมติดตามผลลัพธ์และขอความคิดเห็นพนักงาน เพื่อใช้ในการปรับปรุงกระบวนการอบรมอย่างต่อเนื่อง และสร้างแผนงานที่ดีขึ้นในอนาคต
ตัวอย่างการจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม Training Roadmap
ตัวอย่าง Training Roadmap พนักงานขาย
ที่มา: siamhrm
ตัวอย่าง Training Roadmap เจ้าหน้าที่ กยศ.
ที่มา: studentloan
ตัวอย่าง Training Roadmap เจ้าหน้าที่จัดชื้อ
ที่มา: hrcenter
ตัวอย่าง Training Roadmap เจ้าหน้าที่ฝึกอบรม
ที่มา: bangkok
บทสรุป
เพราะทุกองค์กรมีการจัดทำฝึกอบรมเป็นปกติอยู่แล้ว แต่จะดียิ่งกว่า ถ้าหากองค์กรนั้นมีการวางแผน การจัดทำเส้นทางการฝึกอบรม Training Roadmap ด้วย เพราะไม่เพียงทำให้การฝึกอบรมมีทิศทางที่ชัดเจน แต่ยังช่วยให้พนักงานรู้ตัวเองว่าจะต้องพัฒนาอะไร ทั้งยังกระตุ้นให้พวกเขาเรียนรู้ด้วยตัวเองอีกด้วย
และแน่นอน นอกเหนือจากพนักงานจะพัฒนาศักยภาพตัวเองแล้ว ผลพลอยได้ก็คือการกลับมาที่ประสิทธิภาพการทำงานขององค์กรในภาพรวมที่จะเพิ่มขึ้นด้วยเช่นกัน การวาง Training Roadmap จึงเป็นแผนระยะยาวที่น่าสนใจไม่น้อยเลย