HIGHLIGHT
|
Contents
- วิธีสร้างประสิทธิภาพให้กับ LinkedIn ขององค์กร
- 1.ทำความเข้าใจกับโครงสร้างและหน้าตาของ LinkedIn เพื่อเตรียมอาร์เวิร์คที่เหมาะสม
- 2.ใส่ใจกับรายละเอียดองค์กร
- 3.ใส่ใจกับการประกาศรับสมัครงาน
- 5.โพสท์หน้า Home ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
- 6.Follow องค์กรหรือบุคคลที่น่าสนใจ สร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์
- 7.เสาะหาบุคลากรที่มีศักยภาพ
- 8.แชร์องค์ความรู้สู่ภายนอก ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
- 9.เลือกเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้บริการ Premium Service
- บทสรุป
หาก Facebook คือเครือข่ายสังคมออนไลน์ Social Media ที่ใหญ่ที่สุดในโลก LinkedIn ก็คือเครือข่ายสังคมออนไลน์ที่ได้รับการยกย่องว่าเป็น Social Media ของมืออาชีพในโลกของการทำงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกเช่นกัน แล้วในยุคปัจจุบันนี้ LinkedIn ก็กลายมาเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือสำคัญขององค์กรตลอดจนฝ่ายทรัพยากรบุคคล (Human Resource Department) ที่นิยมไปทั่วโลก ใช้ประโยชน์ตั้งแต่การประกาศรับสมัครงาน, การทำ Recruitment Marketing, การคัดสรรบุคลากรเชิงรุกที่ติดต่อไปยังคนมีศักยภาพแต่ละคนโดยตรง, ไปจนถึงการสร้างแบรนด์ตลอดจนภาพลักษณ์ (Image & Branding for Organization) ที่ดีให้กับองค์กรได้อีกด้วย นั่นยังไม่นับประโยชน์ที่เกิดขึ้นอีกมากมายจากการใช้เครื่องมือ LinkedIn เพื่อองค์กรที่เราสามารถเพิ่มศักยภาพหลากหลายด้านได้เป็นอย่างดีทีเดียว เราลองมาดูกันดีกว่าว่าจะทำอย่างไรที่เราจะใช้ LinkedIn สร้างประโยชน์ให้กับองค์กรมากที่สุด
ดูรายละเอียดน่าสนใจเพิ่มเติมเกี่ยวกับ LinkedIn ได้ที่ลิงค์ด้านล่างนี้
LinkedIn คือสื่อสังคมออนไลน์ที่ที่มีความพิเศษในด้านธุรกิจ |
วิธีสร้างประสิทธิภาพให้กับ LinkedIn ขององค์กร
โดยโครงสร้างทั่วไปการใช้งาน Social Media สำหรับ LinkedIn นั้นอาจไม่แตกต่างอะไรกับ Facebook มากนัก แต่หากลงลึกในรายละเอียดลงไป พฤติกรรมขององค์กรต่างๆ ในการใช้งาน LinkedIn นั้นค่อนข้างจะมีความเป็นทางการและมีวัตถุประสงค์เพื่องานตลอดจนธุรกิจที่มีความชัดเจนกว่า ทั้งยังสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรได้อย่างเป็นทางการกว่าด้วย ตลอดจนคนที่เข้ามาเสิร์ชหาข้อมูลต่างๆ นั้นต่างก็เป็นคนทำงานที่มีศักยภาพเป็นส่วนใหญ่ ดังนั้นการสร้างความประทับใจด้วยภาพลักษณ์และความน่าเชื่อถือจึงเป็นสิ่งสำคัญสำหรับการทำโปรไฟล์องค์กรใน LinkedIn เลยทีเดียว สำหรับผู้ที่ใช้งาน LinkedIn อย่างมีประสิทธิภาพแล้วก็น่าจะเห็นศักยภาพของ Social Media ด้านนี้ไปแล้ว ส่วนองค์กรที่ยังเพิ่งเริมหรือสนใจอยากจะใช้ศักยภาพจาก LinkedIn ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุดบ้าง ลองทำตามคำแนะนำกันดูได้
1.ทำความเข้าใจกับโครงสร้างและหน้าตาของ LinkedIn เพื่อเตรียมอาร์เวิร์คที่เหมาะสม
การใช้ Social Media อะไรก็ตามในยุคนี้มักต้องเริ่มด้วยการทำความรู้จักโครงสร้างหน้าตากันไปพร้อมๆ กับวิธีการใช้งานด้วยซ้ำ เพราะนี่จะทำให้เราเห็นภาพรวม และจินตนาการตลอดจนวางแผนที่จะออกแบบหน้าตาของเพจ LinkedIn องค์กรของเราให้มีความน่าสนใจเบื้องต้นได้ ซึ่งตรงจุดนี้อาจทำงานร่วมกับฝ่ายที่ดูแลเรื่องศิลปกรรมที่จะช่วยใส่ใจรายละเอียดในการออกแบบที่ดึงดูดสายตาตลอดจนสร้างภาพลักษณ์ของแบรนด์ที่ดีได้ด้วยเช่นกัน
CR : CS Agents
เคล็ดลับของการเริ่มต้นก็คือการเสิร์ชหาขนาดของรูปภาพที่อยู่ในส่วนต่างๆ ของโครงสร้าง Social Media โดยอาจใช้คำง่ายๆ ว่า Picture Size LinkedIn 2019 ซึ่งให้ตบท้ายด้วย ค.ศ. ล่าสุด เพราะทุก Social Media จะมีการอัพเดทไซส์ที่เปลี่ยนใหม่ไปทุกปี และมีคนทำข้อมูลอัพเดทเรื่องนี้กันตลอดเวลาอีกด้วย (บางที่ก็ทำรวมทุก Social Media ให้เลย) ทีนี้เราก็จะเห็นโครงสร้างโดยรวมของหน้าตาและขนาดของภาพในแต่ละส่วนของหน้าเพจ (หน่วยขนาดของภาพมักจะเป็น Pixel) ซึ่งนี่เป็นสิ่งสำคัญที่ควรต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก เพื่อที่เราจะได้เตรียมขนาดรูปภาพให้ถูกต้องตรงตามไซน์ที่แนะนำ เพื่อให้ภาพขึ้นได้พอดี ไม่ตกหล่วน ไม่ถูกตัด เป็นภาพที่สมบูรณ์สวยงามนั่นเอง ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้ก็คือการสร้างภาพลักษณ์องค์กรอย่างหนึ่งเช่นกัน แถมยังเป็น “ภาพแรก” ตลอดจน “ภาพจำ” ที่คนทั่วไปจะจดจำองค์กรได้อีกด้วย
Profile Photo ควรใส่รูปอะไรดี?
- หากเป็น Social Media ส่วนบุคคล แน่นอนว่าสิ่งที่นิยมใส่ตรงนี้มากที่สุดก็คือรูปถ่ายบุคคลของแต่ละคนนั่นเอง แต่สำหรับองค์กรแล้วสิ่งที่ควรใส่ใน Profile Photo ของ LinkedIn มากที่สุดก็คือ “โลโก้ขององค์กร” ที่ต้องชัดเจน ไม่ถูกตัด และยิ่งเป็นโลโก้ที่ทุกคนคุ้นเคยจะยิ่งดี ซึ่งตรงนี้ไม่ใช่ข้อบังคับแต่เป็นธรรมเนียมปฎิบัติที่สร้างศักยภาพให้กับองค์กรได้ดีที่สุด โดยตัวโลโก้นี้นอกจากจะปรากฎบนหน้าโปรไฟล์หลักขององค์กรแล้ว มันจะยังไปปรากฎในหน้าประกาศรับสมัครงานในตอนที่ผู้สมัครแต่ละคนเสิร์ชเพื่อหางานด้วย ตลอดจนโลโก้องค์กรทึ่คุ้นเคยและดูน่าเชื่อถือก็มีส่วนดึงดูดให้ผู้สมัครเลือกที่จะคลิ๊กเข้าไปดูตำแหน่งงาน ตลอดจนทำความรู้จักองค์กรได้มากเช่นกัน
Profile Banner ควรทำอย่างไร?
- Profile Banner ของ LinkedIn ก็เหมือนกับ Page Cover ของ Facebook นั่นเอง แต่สำหรับใน LinkedIn องค์กรมักจะสร้างสรรค์ Profile Banner ที่เป็นประโยชน์กับธุรกิจ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับองค์กรไปในคราวเดียวกัน มักจะทำอาร์ตเวิร์คในรูปแบบ Corporate Design มากกว่าใช้เพื่อการทำ Marketing หรือซัพพอร์ท Event ต่างๆ เสมือนเป็นหน้าตาด่านแรกที่จะทำให้คนรู้จักและประทับใจองค์กรได้ หรือไม่ก็อาจแค่เป็นการใส่โลโก้ขององค์กรให้รับรู้ถึงแบรนด์องค์กรแบบธรรมดาไปเลย แต่ว่าเป็นความเรียบง่ายที่เป็นประโยชน์ได้ดีทีเดียว
2.ใส่ใจกับรายละเอียดองค์กร
สิ่งที่แนะนำให้ใส่ใจมากๆ จุดต่อมาก็คือโปรไฟล์ขององค์กรที่เป็น “ตัวหนังสือ” นั่นเอง แต่ตัวหนังสือที่ควรใส่ใจเป็นอับแรกก็คือในส่วนของ About ที่เกี่ยวกับบริษัท ซึ่งเป็นส่วนที่คนหางานตลอดจนคนใช้ LinkedIn ทั้งหลายจะกดเข้าไปดูมากที่สุด และกดเข้าไปดูเป็นอันดับแรกๆ ไม่ว่าจะเป็นเพจแบบบุคคลหรือเพจขององค์กรก็ตาม เพราะนี่คือส่วนที่จะทำให้ทุกคนรู้จักองค์กรหรือบุคคลนั้นได้เพิ่มมากขึ้น และเป็นสิ่งที่องค์กรหรือบุคคลนั้นจะอธิบายตัวตนให้คนอื่นได้รู้จัก
- เขียนให้ดึงดูด สั้น ได้ใจความ : จุดนี้เป็นจุดที่ควรใส่ใจอันดับต้นๆ ของ LinkedIn เลยทีเดียว ถึงขนาดมีการทำข้อมูลแนะนำวิธีการเขียนที่ดีกันมากมาย หัวใจสำคัญตรงส่วนนี้ไม่ใช่แค่บอกว่าองค์กรของคุณทำอะไรบ้าง มีประวัติอย่างไร เหมือนกับ About ในเว็บไซต์ (ที่มีเพื้นที่ให้นำเสนอมากกว่า) แต่สำหรับ About ใน LinkedIn (ที่ต้องดึงดูดใจโดยใช้เวลาสั้นที่สุด) ควรเป็นประโยคที่สร้างภาพลักษณ์ที่ดีไปในตัวด้วย สั้น กระชับ ได้ใจความ และมีการใช้ภาษาที่ดี ดึงดูดใจ รวมถึงควรเบลนวิสัยทัศน์ใส่ไปในส่วนนี้ได้ด้วยจะดีอย่างยิ่ง เรียกได้ว่าให้คนอ่านได้รู้อะไรมากกว่าข้อมูล แต่ให้รู้ถึงความมุ่งมั่นขององค์กรไปพร้อมกับธุรกิจที่องค์กรทำอยู่ด้วย (หากเขาสนใจข้อมูลมากขึ้นเข้าจะเข้าลิงค์ไปที่บริษัทของคุณเอง หรือเสิร์ชหาใน Wikipedia ตลอดจนสื่ออื่นๆ ตอ่ไปเอง) ดังนั้นควรสร้างให้เกิดความประทับใจในอารอ่านให้ได้มากที่สุดโดยบรรยายสรุปความแบบไม่ต้องเยิ่นเย้อ
- ใส่ข้อมูลให้ครบทุกช่อง : ในส่วนของ About นั้นมีโครงสร้างการกรอกข้อมูลอัตโนมัติอยู่ด้วยเช่นกัน ตรงส่วนนี้ควรกรอกให้ครบถ้วย เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับเพจองค์กรด้วย ตั้งแต่ประเภทธุรกิจ, ขนาดของบริษัท ตลอดจนปีที่ก่อตั้ง รวมถึงที่อยู่และที่ตั้งของบริษัทด้วย ซึ่งทุกสิ่งทุกอย่างล้วนเป็น Data ขององค์กรที่ทาง LinkedIn จะนำไปใช้ในการประมวลข้อมูลต่างๆ นานาอีกด้วย ซึ่งหากกรอกครบถ้วยก็จะเป็นประโยชน์ต่อบริษัทเอง
- ใช้ภาษาที่เป็นทางการ สร้างสรรค์ และไม่น่าเบื่อ : ถึงแม้ในส่วนของ About ใน LinkedIn จะมีตัวหนังสือไม่มากนัก มีประโยคเพียงไม่กี่ประโยค แต่กลับเป็นการกลั่นกรองและคัดสรรที่ยากที่สุดอย่างหนึ่งเลยทีเดียว องค์กรส่วนใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับ LinkedIn จะใส่ใจส่วนนี้เป็นอย่างมาก เขียนอย่างไรให้ดีและโดนใจที่สุด ให้โดนใจกลุ่มเป้าหมาย และให้เข้ากับลักษณะของ Social Media ให้มากที่สุดด้วย การใช้ภาษามักจะเป็นแบบทางการ แต่สร้างสรรค์แบบสมัยใหม่ อาจไม่ใช้คำที่เล่นจนเกินไป หรือคำในเชิงโฆษณาการค้า ที่อ่านแล้วอาจรู้สึกเหมือนกำลังอวยตัวเอง แต่มักจะใช้คำที่มีระดับ เป็นทางการ แต่เข้าใจง่าย อ่านแล้วไม่น่าเบื่อเหมือนอ่านจดหมายหรือเอกสารราชการ แต่ก็ไม่เล่นจนเกินไป ควรเลือกใช้ภาษาให้ถูกระดับ และสร้างภาพลักษณ์ที่ดี
- ควรใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก : คนที่ใช้งาน LinkedIn ส่วนใหญ่ไม่ว่าจะเป็นคนไทยหรือคนต่างชาติมักเป็นคนที่มีระดับการศึกษาที่ดี และเป็นคนรุ่นใหม่ สื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี ในส่วนของ About นี้ถ้าเป็นไปได้ควรใช้ภาษาอังกฤษเป็นหลัก เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีใน LinkedIn ด้วย และเพื่อสื่อสารกับคนสากลได้กว้างขึ้น เพื่อประโยชน์ต่อธุรกิจและแรงงานสากลในอนาคตได้ด้วย หากอยากมีภาษาไทย หรือจำเป็นต้องมีภาษาไทย ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่ควรใส่ทั้ง 2 ภาษา ควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษจะมีประสิทธิภาพในการสื่อสารได้ดียิ่งกว่า และสากลกว่า
3.ใส่ใจกับการประกาศรับสมัครงาน
อย่างที่ทราบกันแล้วว่า LinkedIn คือ Social Media ในเรื่องเครือข่ายของมืออาชีพและการหางาน ดังนั้นสิ่งที่ทุกคนสนใจเข้า LinkedIn เป็นอันดับแรกๆ ก็คือเข้ามาเพื่อหางานนั่นเอง แน่นอนว่าทางองค์กรสามารถประกาศรับสมัครงานผ่าน LinkedIn ได้ ซึ่งมีการวางระบบไว้ค่อนข้างดีทีเดียว ดังนั้นส่วนสำคัญที่ต้องใส่ใจเป็นอย่างมากต่อมาก็คือในส่วน “Jobs” นั่นเอง เพราะนอกจากจะใช้เป็นที่ประกาศรับสมัครงานขององค์กรแล้ว ส่วนนี้ยังเป็นส่วนที่ใช้สร้างแบรนด์ตลอดจนภาพลักษณ์ขององค์กรอีกด้วยเช่นกัน
- ตำแหน่งงานน่าสนใจ ท้าทาย ดึงดูด : หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญของการประกาศรับสมัครงานใน LinkedIn ก็คือการตั้งตำแหน่งงานให้มีความน่าสนใจ และดึงดูดให้คนอยากเข้าไปอ่านหรือติดตามมากที่สุด หลายองค์กรเลือกที่จะสร้างสรรค์ตำแหน่งใหม่ขึ้นมา ถึงแม้บางทีจะมีขอบข่ายงานในลักษณะเดิม แต่การสร้างสรรค์การเรียกชื่อตำแหน่งใหม่ก็สามารถจูงใจคนรุ่นใหม่ได้ดีกว่าเช่นกัน โดยเฉพาะคนที่มีศักยภาพ ตัวอย่างเช่น ตำแหน่ง Marketing เราอาจจะปรับให้เป็น Digital Marketing Specialist ที่ดูแลงานเฉพาะทางด้วยและดูเป็นตำแหน่งที่ถูกให้ความสำคัญ เป็นต้น
- คุณสมบัติต้องชัดเจน : สิ่งที่คนสมัครงานจะดูต่อมาก็คือคุณสมบัติที่ทางองค์กรต้องการนั้นตรงกับที่ตนเองมีมากน้อยเพียงไร องค์กรควรใส่ให้ชัดเจนและละเอียดที่สุด เพื่อไม่ให้เสียเวลาทั้งสองฝ่าย คนสมัครก็จะได้ประเมินเบื้องต้นว่าเหมาะสมหรือไม่ อย่างไร
- ความรับผิดชอบต้องระบุให้ครบ : ส่วนสำคัญของการประกาศรับสมัครงานที่ทุกคนสนใจอ่านอีกจุดก็คือ Job Responsibilities หรือหน้าที่ความรับผิดชอบของตนเองนั่นเอง องค์กรต้องบอกหน้าที่ตรงจุดนี้ให้เคลียร์ เพราะนี่คือ Job Description ที่ต้องทำความเข้าใจกันเบื้องต้น จะได้ไม่ต้องมานั่งทะเลาะกันภายหลัง และอีกส่วนที่สำคัญมากๆ ของเรื่องนี้ก็คือผู้สมัครจะได้ประเมินความสามารถของตน ตลอดจนนำ Job Description ไปประเมินอัตราเงินเดือนที่จะเจรจากันกับองค์กรด้วย
- ภาษา (ถ้าจำเป็น) : อีกส่วนที่ต้องระบุให้ชัดเจนก็คือเรื่องความสามารถทางภาษา โดยเฉพาะภาษาอื่นๆ เช่น ภาษาอังกฤษ, จีน, ญี่ปุ่น เป็นต้น ว่าต้องการความสามารถด้านภาษาหรือไม่เพียงไร เพราะนี่คืออีกหนึ่งส่วนที่สำคัญของการใส่คุณสมบัติลงไป และเป็นอีกหนึ่งปัจจัยในการพิจารณาอัตราเงินเดือนของผู้สมัครด้วยเช่นกัน
- เคลื่อนไหวอยู่สม่ำเสมอ : ถ้าเป็นไปได้องค์กรควรเคลื่อนไหวในส่วน Jobs นี้อย่างสม่ำเสมอ เพราะนี่จะดึงดูดให้คนเข้ามาดูข้อมูลรวมถึงสมัครงานในองค์กร และเป็นตัว alert ให้กับสมาชิกได้รู้ตำแหน่งงานและความเคลื่อนไหวขององค์กรอย่างสม่ำเสมออีกด้วย หากเป็นองค์กรใหญ่ก็ให้พยายามเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา เพื่อสร้างให้เกิด Content Traffic รวมไปถึง User Traffic ที่ดีให้กับองค์กรด้วย
5.โพสท์หน้า Home ของตนเองอย่างสม่ำเสมอ
หนึ่งในฟังก์ชั่นหลักของ Social Media ก็คือหน้าหลักของตนเองที่ควรเคลื่อนไหวตลอดเวลา สำหรับ LinkedIn แล้วหลายองค์กรใช้หน้า Home ซึ่งเป็นหน้าเพจหลัก (ที่คล้ายกับ Facebook) ในการโพสท์ความเคลื่อนไหวขององค์กรเพื่อสร้างภาพลักษณ์ขององค์กร ตลอดจนสร้าง engagement ให้กับองค์กรไปในตัวด้วย โดยมากจะเป็นข่าวสารการประกาศรับสมัครงาน (ตามธรรมชาติพื้นฐานของ LinkedIn), ต่อมาก็คือความเคลื่อนไหวของกิจกรรมในองค์กรต่างๆ, กิจกรรมเชิง CSR ที่รับผิดชอบต่อสังคม, ตลอดจนการเคลื่อนไหวของผู้บริหารที่กำลังเป็นเทรนด์นิยมของ LinkedIn ไปทั่วโลกเลยทีเดียว ซึ่งมักนิยมใช้ LinkedIn เป็นช่องทางสำหรับสร้าง Content Branding ให้กับผู้บริหารนั่นเอง
ฟีดข้อมูลส่วนใหญ่ที่ปรากฎใน LinkedIn จึงมักเป็นเรื่องขององค์กร เป็นเรื่องที่เป็นทางการ ต่างจาก Facebook ที่เป็นเรื่องไม่จำกัดรูปแบบและมักจะมีเรื่องไร้สาระเป็นจำนวนมาก นั่นเลยทำให้ LinkedIn เหมาะสำหรับใช้เป็นเครื่องมือในการสื่อสารองค์กรมากที่สุดอีกด้วย
การเป็น Influencer ใน LinkedIn นั้นที่นิยมและประสบความสำเร็จเป็นอย่างมากก็คือการเป็นช่องทางการสื่อสารของผู้บริหารองค์กรต่างๆ ที่มีตั้งแต่เรื่อง Lifestyle ไปจนถึงเรื่องงาน แต่จะมีการวางแผนในรูปแบบ PR ตลอดจนการสร้าง Brand อย่างชัดเจน แต่กลับเป็นจุดแข็งและข้อดีในการสื่อสารผ่าน LinkedIn เลยทีเดียว เพราะนั่นคือช่องทางในการแสดงวิสัยทัศน์ได้ยอดเยี่ยมที่สุดทางหนึ่ง ตัวอย่างของนักบริหารคนดังระดับโลกที่เป็นผู้ที่ใช้ LinkedIn ในรูปแบบ Executive Influencer ได้ประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพมากๆ นั้นก็ได้แก่คนที่น่าสนใจเหล่านี้
- Richard Branson : ผู้บริหารที่ใช้ LinkedIn ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดคนหนึ่งในโลกธุรกิจก็คือเจ้าพ่ออาณาจักร Virgin ที่ทุกคนรู้จักกันดีนั่นเอง โดย Richard นั้นใช้ LinkedIn ในการสื่อสารตัวเองไปพร้อมกับสื่อสารแบรนด์รวมไปถึงองค์กรที่ผสมผสานกันได้อย่างกลมกลืน Richard นั้นเล่าแม้กระทั่ง Lifestyle ในชีวิตประจำวันของเขา (แต่คัดเลือกมาเฉพาะที่น่าสนใจ), วันพักผ่อนที่ดูมีอะไร, แนวความคิดและไอเดียของคนสร้างสรรรค์ระดับชั้นนำของโลก, ไปจนถึงการโพสท์เกี่ยวกับธุรกิจที่เขาดูแล ทุกอย่างมีความน่าสนใจ มีพลังที่ช่วยสร้างแบรนด์ และช่วยให้คนเชื่อมั่นและหลงใหลใน Richard Branson รวมถึง Virgin มากขึ้นด้วย
- Bill Gates : อีกคนที่จะไม่พูดถึงไม่ได้เลยก็คือ Bill Gates เจ้าพ่ออาณาจักร Microsoft ที่ทุกคนทั่วโลกรู้จักกันดีอีกคนนั่นเอง ที่ระยะหลังทาง Bill Gates หันมาใช้ช่องทาง LinkedIn ในการสื่อสารตัวตนของเขามากขึ้นเรื่อยๆ อย่างเห็นได้ชัด และเห็นได้ชัดเจนว่ามีการวางแผนมาเป็นอย่างดี แต่สิ่งที่ Bill Gates ใช้ LinkedIn อย่างชาญฉลาดนั้นก็คือการใช้เป็นกระบอกเสียงในการสร้างภาพลักษณ์ (Image) ของเขาในการเป็น Creator + Innovator ที่ไม่ใช่ภาพลักษณ์ของนักบริหารแบบเดิมๆ กับแบรนด์ Microsoft แล้ว (ซึ่งนั่นเป็นเรื่องที่ทุกคนคุ้นเคยกันดีมานานแล้ว) การสื่อสารครั้งใหม่ของ Bill Gates ในวัยที่วางตนที่ดูเหมือนจะเป็นการเกษียณอายุที่อยากหาอะไรใหม่ๆ ทำเพื่อสร้างประโยชน์ใหม่ๆ ให้กับโลกนี้บ้าง ซึ่งหากติดตาม LinkedIn ของ Bill Gates ในระยะหลังนี้ก็จะพบว่าเขามักมีโปรเจกต์อะไรใหม่ๆ น่าสนใจมานำเสนอเสมอ ซึ่งหลายโปรเจกต์นั้นเป็นการสนับสนุนโครงการของคนรุ่นใหม่ความคิดล้ำหน้านั่นเอง และนั่นเป็นการสื่อสารทาง LinkedIn ที่ต้องการสร้างภาพลักษณ์ใหม่ของ Bill Gates ให้รับรู้ว่าเขาคือผู้ที่หันไปสนใจสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ รวมถึงสนับสนุนนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์ต่ออนาคตนั่นเอง รวมถึงสร้างภาพ Bill Gates ให้เป็นคนสนใจเรื่องราวอะไรใหม่ๆ ที่ต่างไปจากเรื่องเทคโนโลยีแบบเดิมๆ ที่เขาสร้างมาตลอดชีวิต
- Justin Trudeau : หากจะพูดถึงผู้นำประเทศที่มีการใช้ LinkedIn ได้อย่างประสบความสำเร็จและมีประสิทธิภาพนั้นคงต้องยกให้นายกรัฐมนตรีแห่งแคนาดาท่านนี้ ด้วยภาพลักษณ์ที่เป็นนายกรัฐมนตรีคนรุ่นใหม่เลยทำให้การสื่อสารใน LinkedIn ของเขาดูธรรมชาติและมีประสิทธิภาพมากๆ ซึ่ง Justin Trudeau ใช้ LinkedIn ในการสื่อสารการทำงานของเขา การเคลื่อนไหวของเขา ไปจนถึงนโยบายประเทศที่น่าสนใจ นั่นทำให้คนรุ่นใหม่ โดยเฉพาะคนวัยทำงานรับรู้ตัวตน ชื่นชอบ และร่วมสนับสนุนตลอดจนรับรู้การทำงานของรัฐบาลในแบบการสื่อสารยุคใหม่ด้วย
6.Follow องค์กรหรือบุคคลที่น่าสนใจ สร้างเครือข่ายที่เป็นประโยชน์
สิ่งที่เครือข่าย Social Media สร้างประโยชน์ได้อย่างมากๆ ในโลกยุคปัจจุบันนี้ก็คือการเชื่อมเครือข่ายกับคนอื่นๆ ทั่วโลก องค์กรเมื่อสร้างโปรไฟล์ใน LinkedIn ของตนเองแล้ว ก็ไม่ควรอยู่แต่กับหน้าเพจของตนเองเฉยๆ ซึ่งต่างจากเว็บไซต์ที่เราทำข้อมูลเพื่อให้คนอื่นมาค้นหา แต่การไปติดตามคนอื่น Follow องค์กรที่น่าสนใจ หรือคนที่น่าสนใจ จะทำให้เกิดการสร้างเครือข่ายและทำให้ได้ engagement เพิ่มขึ้นได้ด้วย เพราะบางครั้งเราก็ได้อะไรดีๆ จากเครือข่ายเยอะ นำมาปรับปรุงพัฒนาองค์กรได้ ในขณะเดียวกันบางทีคนที่สนใจเราก็ตามมาจากเครือข่ายอื่นๆ ด้วยเช่นกัน
7.เสาะหาบุคลากรที่มีศักยภาพ
วัตถุประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งที่องค์กรสร้าง LinkedIn ของตนเองขึ้นมานอกจากจะใช้ประกาศรับสมัครงานแล้ว องค์กรเองก็มักจะใช้ LinkedIn เป็นตัวเสาะหาบุคลากรแบบเชิงรุกกันด้วย โดยการเสิร์ชหาบุคคลที่มีโปรไฟล์น่าสนใจต่างๆ ที่อาจมีศักยภาพเหมาะกับองค์กรของตน และทางองค์กรก็สามารถติดต่อเสนองานได้โดยตรงอีกด้วย การสรรหาแบบเชิงรุกนี้บางทีก็เป็นการแสดงความต้องการขององค์กร ซึ่งทางผู้ที่ถูกติดต่อไปอาจรู้สึกดีในการที่องค์กรให้ความสำคัญมาติดต่อโดยตรง หรือเห็นศักยภาพของตน ในอีกทางหนึ่งก็เป็นการให้เกียรติซึ่งกันและกันที่ดี ทำให้มีโอกาสร่วมงานกันได้สูง
โดยมากสมาชิกของ LinkedIn ทุกคนก็มักจะอัพเดทโปรไฟล์ของตนเองเสมอ และส่วนใหญ่นั้นก็จะเป็นไฟล์ที่ดีมีคุณภาพอีกด้วย เราสามารถที่จะเสาะหาโปรไฟล์ที่น่าสนใจที่เราต้องการอยากเสนอให้มาร่วมงานด้วยได้เลย และอาจได้คนที่มีคุณภาพที่ตรงกับความต้องการมากกว่าการประกาศรับสมัครงานแบบหว่านเสียด้วยซ้ำ
8.แชร์องค์ความรู้สู่ภายนอก ให้สิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
หลายองค์กรมีวิธีพัฒนาการใช้ LinkedIn ให้เกิดประโยชน์และมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้นมากมายหลายรูปแบบ หนึ่งในนั้นที่นิยมกันมากก็คือการแชร์องค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ให้กับคนอื่นได้รับรู้กัน ตั้งแต่ความรู้ภายในองค์กรที่สร้างสรรค์ขึ้นเอง, ความรู้อื่นๆ นอกองค์กรที่เป็นประโยชน์, ไปจนถึงการสร้างองค์ความรู้ขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ตลอดจนการสร้างกิจกรรมหรือไม่ก็เวิร์คช็อบ ไปจนถึงการสอนต่างๆ เพื่อให้ทุกคนได้แปลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างกัน
การทำเช่นนี้อาจจะดูเป็นการเสียเวลา หรือสิ้นเปลืองโดยใช่เหตุ แต่การให้อะไรที่เป็นประโยชน์กับสังคมนั้นถือเป็นจิตสาธารณะที่ดีที่องค์กรรุ่นใหม่นิยมกันมากทีเดียว และเมื่อเราได้ให้อะไรกับสังคมก็มักจะได้รับภาพลักษณ์ที่ดีตามมาด้วย ได้รับความเชื่อถือ ตลอดจนสร้างการรับรู้องค์กรในทางอ้อมไปในตัว สร้างชื่อให้กับองค์กร สร้างการจดจำให้กับบริษัท และสร้างความจงรักภักดีในอนาคตได้อีกด้วย ซึ่งเป็นประโยชน์อีกมากมายหลากหลายทางที่องค์กรจะได้รับเช่นกัน
- TED : หนึ่งในองค์กรที่โดดเด่นในเรื่องนี้เป็นอย่างมากบนแพลตฟอร์มของ LinkedIn ก็คือ TED นั่นเอง ซึ่งทาง TED ได้สร้างเพจ TED Conferences โดยเฉพาะ ที่นำเอาการพูดที่น่าสนใจต่างๆ มาแชร์ให้กันอย่างสม่ำเสมอ ตลอดจนการเผยแพร่ความรู้และแรงบันดาลใจที่มีพลังให้กับคนใน LinkedIn ได้รับรู้และแชร์กัน
- LinkedIn : นอกจากจะเป็นเจ้าของ Social Media เองแล้ว ในส่วนของ LinkedIn เองก็มีการสร้างหน้าเพจของตนเองด้วยที่มีการให้ความรู้มากมายหลากหลายเรื่อง รวมไปถึงเรื่อง Digital Marketing ที่เป็นประโยชน์อีกด้วย แล้วบางส่วนถึงแม้ว่าจะเป็นการทำธุรกิจของแบรนด์เองก็ตาม แต่ก็เป็นการส่งเสริมธุรกิจให้กับองค์กรของเราได้ด้วย โดยการสามารถเข้าไปใช้บริการในการทำให้ Recruitment Marketing ของเราประสบความสำเร็จได้มากยิ่งขึ้น
9.เลือกเพิ่มประสิทธิภาพด้วยการใช้บริการ Premium Service
หากองค์กรไหนที่ตัดสินใจใช้ LinkedIn ในการสื่อสารองค์กรอย่างจริงจัง ตลอดจนใช้เป็นเครื่องมือเพื่อสนับสนุนระบบ Recruitment ขององค์กรให้มีประสิทธิภาพนั้น แนะนำให้ขยับไปใช้บริหารแบบ Premium Service ที่มีการเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมาอีกหน่อย แต่องค์กรจะได้รับประโยชน์อีกมากมาย อาทิ การสามารถเข้าไปดูโปรไฟล์ของผู้สมัครที่สนใจได้ด้วยตัวเอง, การวิเคราะห์เชิงลึกต่างๆ, ไปจนถึงบริการดีๆ อีกมากมายที่จะทำให้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงานของฝ่ายบุคคลได้อย่างดีเยี่ยมทีเดียว
บทสรุป
LinkedIn ถือเป็น Social Media เฉพาะทางที่มีประโยชน์อย่างมากสำหรับองค์กรต่างๆ เพราะนี่คือแหล่งชุมชนออนไลน์ของมืออาชีพในสาขาวิชาต่างๆ ตลอดจนชุมชนขององค์กรที่ใหญ่ที่สุดในโลกเลยทีเดียว ในโลกที่เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทกับทุกอย่างบนโลกนี้มากขึ้นเรื่อยๆ เราจึงไม่ควรที่จะปฎิเสธไม่ใช่ประโยชน์จากตรงนี้ แต่อยากให้ลองเรียนรู้ ปรับตัว และนำมาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพกับองค์กรให้มากที่สุดน่าจะเป็นทางออกที่ดีกว่า
สำหรับ LinkedIn แล้วถือว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์ให้กับองค์กรในหลายๆ ด้าน ตลอดจนเป็นเครื่องมือในการสรรหาทรัพยากรบุคคลที่มีประสิทธิภาพให้เข้ามาร่วมงานกับองค์กรได้มีศักยภาพมากที่สุดวิธีการหนึ่งเลยทีเดียว หากเราเรียนรู้ที่จะใช้ LinkedIn ให้เกิดประโยชน์นั้น ก็อาจทำให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จในธุรกิจได้มากขึ้นอีกด้วย ที่สำคัญช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานในส่วนของฝ่ายทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource) ได้เป็นอย่างดีทีเดียว และช่วยเพิมศักยภาพขององค์กร บุคลากร ตลอดจนฝ่าย HR ได้อย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย