HIGHLIGHT
|
คนที่มาใหม่เข้ากับบริษัทไม่ได้ พวกเขาไม่สามารถแสดงความสามารถได้ดีพอ ทำงานได้ไม่กี่วันก็ลาออกซะแล้ว
เชื่อว่าฝ่ายบุคคลหลายๆ คนคงมีปัญหาที่แก้ไม่ตกเหล่านี้กวนใจอยู่ไม่น้อยเลย
เพราะอะไรพนักงานที่เข้ามาใหม่ถึงมาทำงานได้ไม่นานก็ลาออกไป เพราะอะไรพวกเขาถึงเข้ากับที่ทำงานใหม่ไม่ได้ คำตอบคือ เพราะพวกเขารู้สึกไม่ประทับใจในการทำงานวันแรก นั้นเอง
บริษัทหลายๆ แห่งพยายามที่จะค้นหาบุคลากรที่เข้ากับองค์กรเสียทั้งเวลาและค่าใช้จ่าย แต่เมื่อได้บุคลากรคนนั้นมา ก็ดูแลเขาได้ไม่ดี แต่ไม่ใช่ว่าจะไม่มีแนวทางในการดูแลพวกเขาเลย
วันนี้เราจึงอยากแนะนำให้รู้จักกับ On-boarding กันครับ
Contents
ความหมายของ On-boarding
On-boarding คือ
On-boarding คือ หนึ่งในโปรแกรมอบรมและพัฒนาพนักงาน โดยจะเป็นโปรแกรมที่ช่วยดูแลพนักงานใหม่ ให้ปรับตัวเข้ากับสภาพแวดล้อมของที่ทำงานใหม่ ทำความรู้จักกับวัฒนธรรมขององค์กร การทำงาน ตลอดจนหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ทำให้พวกเขาสามารถปรับตัวเข้ากับองค์กรได้เร็วขึ้น และทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพพร้อมมีส่วนร่วม และทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กร และพัฒนาศักยภาพได้อย่างยั่งยืน
หลายๆ คนอาจมีความสับสนระหว่าง On-boarding และ Orientation ทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกัน ดังนี้
Orientation หรือ การปฐมนิเทศพนักงานใหม่ มีความจำเป็นต้องทำเป็นงานเอกสาร โดยที่ต้องจัดการโปรแกรมให้เสร็จตามเวลาที่กำหนด หรือก่อนการรับพนักงานใหม่
ส่วน On-boarding เป็นกระบวนการที่ครอบคลุมเกี่ยวข้องกับการจัดการเรื่องของพนักงาน นอกเหนือจากการปฐมนิเทศ และส่วนใหญ่มีระยะเวลา 12 เดือน ในการทำงาน หรืออาจไม่มีรูปแบบที่ตายตัวว่าต้องทำอย่างไรบ้าง และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ แต่เน้นไปที่ความเหมาะสมของแต่ละองค์กรมากกว่า
ซึ่งองค์กรส่วนใหญ่คงได้เริ่มนำ On-boarding เข้าไปปรับใช้กันบ้างแล้ว และหลายๆ คนคงคุ้นเคยกับ On-boarding ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันไปตามแนวทางของแต่ละองค์กร เช่น การปฐมนิเทศของเข้าทำงานในองค์กรใหญ่ การแนะนำสั้นๆ ที่อาจไม่เป็นทางการนักหากองค์กรนั้นมีสมาชิกไม่กี่คน เป็นต้น
วัตถุประสงค์ของ On-boarding
คือการเป็นโปรแกรมที่ทำให้ผู้รับผิดชอบได้ทำความเข้าใจความสำคัญของการดูแลและพัฒนาพนักงานใหม่ได้เติบโตไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าขององค์กร สรรหาแนวทางในการเตรียมความพร้อมให้พนักงาน ก่อนที่จะเริ่มงานใหม่ และสามารถดำเนินการต่างๆ ไปได้อย่างเป็นระบบ และมีประสิทธิภาพ เพื่อจูงใจและแก้ปัญหาการลาออกของพนักงาน
ข้อดีของ On-boarding
ข้อดีของ On-boarding สามารถแบ่งได้ดังนี้
ข้อดีสำหรับองค์กร
ในประเทศไทยอัตราการลาออกของคนไทยสูงมากในแต่ละปี จากข้อมูลผู้ประกันตนปี 2560 พบคนไทยลาออกจากงานเดือนละมากกว่าหนึ่งแสนคน ซึ่งสาเหตุนั้นมีหลากหลายแตกต่างกันไป แต่ไม่ว่าจะมีสาเหตุอะไร ก็ส่งผลเสียให้องค์กรอยู่ดี
ด้วยการนำโปรแกรม On-boarding เข้ามาปรับใช้ จะทำให้องค์กรสามารถหาวิธีการที่จะทำให้บุคลากรในองค์กรเรียนรู้งาน เข้าใจบทบาทหน้าที่ กระบวนการทำงานที่ตนต้องรับผิดชอบได้เร็วขึ้น ลดปัญหาการลาออกของพนักงาน
และยังทำให้สามารถรักษาพนักงานให้อยู่กับองค์กรได้นานมากขึ้น เพราะทำให้พวกเขามองเห็นเส้นทางในสายงานที่สามารถเติบโตก้าวหน้าไปได้ภายใต้การทำงานอยู่ในองค์กรนี้ นอกจากนั้นยังสามารถลดค่าใช้จ่ายในการสรรหาบุคลากรคนใหม่ได้อีกด้วย
ข้อดีสำหรับพนักงาน
ข้อดีของ On-boarding ต่อพนักงานคือ ทำให้พนักงานที่เพิ่งเข้ามาทำงานในวันแรก ไม่รู้สึกกระวนกระวาย การได้รับการต้อนรับเป็นอย่างดีทำให้พนักงานสามารถไว้วางใจในทีม ไม่เกิดอาการประหม่า เมื่อต้องอยู่กับเพื่อนร่ววมงานและหัวหน้าคนใหม่
ส่วนการพัฒนา ฝึกอบรม การเตรียมความพร้อมให้กับพนักงาน และการสอนงานที่มีความชัดเจนและมีประสิทธิภาพ จะทำให้พนักงานรู้สึกว่าได้รับการดูแล พนักงานจะรู้ว่าตนเองต้องทำงานอะไรบ้าง และควรทำอย่างไร
พวกเขาจะได้เรียนรู้วิธีการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กร รู้สึกเป็นหนึ่งเดียวับองค์กรมากขึ้น รับรู้ได้ว่าศักยภาพของตัวเองเป็นที่ต้องการ และสามารถที่จะแสดงฝีมือ ทุ่มเททำงานให้กับองค์กรนี้ได้ ทำให้เขาอยากจะทำงานให้ดีขึ้น สร้างแรงจูงใจในการทำงาน เพิ่ม Engagement ให้มากขึ้น
อุปสรรคทั้งห้าอย่างของ On-boarding
ก่อนที่ฝ่ายบุคคลจะเริ่มหาแนวทางสำหรับ On-boarding ต้องรู้ก่อนว่ามีอุปสรรคอะไรบ้างที่คุณต้องแก้ไขและผ่านมันไปให้ได้
และอุปสรรคที่เราจะพูดถึงต่อไปนี้ หากคุณสามารถก้าวผ่านไปได้ จะทำให้คุณสร้างแนวทางสำหรับ On-boarding ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
การเตรียมความพร้อม
การเตรียมความพร้อม เป็นขั้นตอนสำคัญไม่ว่าคุณจะลงมือทำอะไร
ในการทำงานก็เช่นกัน จากผลแบบสอบถามของบริษัทหนึ่ง พบว่าพนักงานใหม่ที่มี Performance ในการทำงานสูง มากกว่า 80% มักจะพูดคุยกับฝ่ายบุคคลตั้งแต่ก่อนเข้ามาเริ่มงานที่บริษัท ในขณะที่พนักงานที่มี Performance ระดับปานกลางลงไปเกือบครึ่ง ไม่เคยมีการพูดคุยกับฝ่ายบุคคลเลย
และจากการสำรวจภายในองค์กรของ Google พบว่า หากมีการเตรียมพร้อมต้อนรับพนักงานใหม่ให้ดีตั้งแต่วันเริ่มงาน ผลที่ได้คือ Performance ของสามเดือนหลังจากการเข้าทำงานดีขึ้น 30%
เพราะฉะนั้นการเตรียมความพร้อมตั้งแต่ก่อนพนักงานเข้ามาเริ่มงานในบริษัท ทั้งการเตรียมเอกสารที่จำเป็น, E-mail หรือนามบัตร ให้พร้อมจะทำให้บริษัทดูดีขึ้น
และถ้าสามารถแนะนำพนักงานคนใหม่ให้พบกับเพื่อนร่วมงาน รุ่นพี่และหัวหน้าของเขาก่อนเริ่มงานได้ จะทำให้คนที่มาใหม่ลดอาการประหม่าลง การทำงานจะมีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะเขารู้สึกว่ามีคนคุ้นหน้าคุ้นตาอยู่ด้วยนั้นเอง
ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงาน
ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานคงเป็นอีกหนึ่งสาเหตุหลักที่ทำให้พนักงานลาออกจากองค์กรไป
โดยเฉพาะกับพนักงานที่เพิ่งเข้ามาใหม่ พวกเขาจะมีความกังวลในเรื่องความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานมากที่สุด
การจะทำให้พวกเขาคลายความกังวลเหล่านี้ออกไปได้นั้น องค์กรสามารถทำได้โดยการจัดโปรแกรมให้มีพี่รหัส หรือมีคนที่จะคอยเป็นที่ปรึกษาให้คำแนะนำกับพนักงานใหม่ได้
โปรแกรมเช่นนี้จะทำให้ผู้ที่มาใหม่ ที่ยังไม่รู้ว่าจะวางตัวอย่างไรดี มีปัญหาและคำถามมากมาย ได้อุ่นใจเพราะมีคนที่เขาจะพึ่งพาได้ เมื่อมีปัญหา เขาก็สามารถถามเพื่อคลายข้อสงสัยได้ เช่น ไม่รู้ว่าผู้ที่เกี่ยวข้องกับงานเป็นใคร ชื่ออะไรบ้าง เขาก็ถามพี่รหัสได้
นอกจากการหาที่ปรึกษาให้พนักงานที่มาใหม่แล้ว การจัดอีเวนท์หรือเรื่องสนุกสนานก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างพนักงานดีขึ้นได้ อย่างเช่น การไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกัน หรือจัดปาร์ตี้เล็กๆ ในวันศุกร์ หรือให้ของขวัญเล็กๆ น้อยๆ แก่กัน เป็นต้น
ความคาดหวัง
การมอบหมายงานที่ชัดเจนตั้งแต่วันแรกให้กับพนักงานที่มาใหม่ หรือการให้เขาได้มีส่วนร่วมในโครงการสำคัญๆ ต่างๆ ตั้งแต่ต้น เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการสร้างความร่วมมือ และให้ความสำคัญกับคนใหม่ในทีม ซึ่งจะทำให้เขาเข้าใจงาน และสามารถทำหน้าที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และกล่าวได้ว่า หัวหน้าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญที่สุด หัวหน้างานควรดูแลพนักงานใหม่โดยใส่ใจคุย ใส่ใจถาม ว่างานตรงกับสิ่งที่เขาคาดหวังไว้รึเปล่า พบอุปสรรคอะไรหรือไม่ ต้องการความช่วยเหลือใดบ้าง
ด้วยการทำเช่นนี้ จะทำให้พนักงานที่มาใหม่ รู้ว่างานที่เขากำลังทำตรงตามความคาดหวังของเขาแค่ไหน และตรงกับความคาดหวังของทีมหรือขององค์กรหรือไม่ ซึ่งจะช่วยนำไปสู่การมอบหมายงานให้เหมาะสมกับความสามารถ ความถนัดและนิสัยของพนักงานแต่ละคน
การเรียนรู้
เมื่อพนักงานใหม่เข้ามา แน่นอนว่าพวกเขามีเรื่องที่ต้องเรียนรู้มากมาย ทั้งเรื่องวัฒนธรรม ค่านิยมขององค์กร หรือจะเป็นเรื่องโครงสร้าง และขั้นตอนการทำงานต่างๆ
ดังนั้นการส่งเสริมให้พนักงานได้มีการเรียนรู้จึงเป็นอีกเรื่องที่มีความจำเป็น ซึ่งการเรียนรู้และฝึกอบรมที่เรารู้สึกคุ้นเคยหลักๆ จะมีอยู่สองแบบ นั่นคือ
แบบ Off-JT (Off The Job Training) คือ การฝึกอบรมนอกงาน จะเป็นการฝึกอบรมที่เน้นไปที่ความรู้ ความเข้าใจ โดยการจัดฝึกอบรมอย่างเป็นทางการ ไม่ใช่การเรียนรู้แบบปฏิบัติงานจริง แต่เพื่อสนับสนุนการทำงานในอนาคต เช่น การฝึกอบรม การสัมมนา หรือการฝึกปฏิบัติและสังเกต เป็นต้น
และ แบบ OJT (On The Job Training) คือ การฝึกอบรมในงาน เป็นการฝึกปฏิบัติงานจริง โดยมีผู้ชำนาญงานนั้นๆ เป็นครูฝึกคอยดูแล ซึ่งจะไม่เน้นการเรียนทางด้านทฤษฎี แต่จะเน้นไปในทางฝึกปฏิบัติ ที่ต้องตรงกับงานที่ทำ เช่น การฝึกของฝ่ายผลิต หรือการฝึกแบบตัวต่อตัว โดยเป็นการสอนงานระหว่างการปฏิบัติงานจริง เป็นต้น
และเพราะการอบรมแต่ละแบบจะมีความแตกต่างกัน การเลือกจัดอบรมให้ตรงตามแนวทางขององค์กรจึงมีความสำคัญ รวมไปถึงผู้ที่ทำหน้าที่เป็นผู้สอน ควรมีความเข้าใจในเรื่องที่จะสอนอย่างชัดเจน แม่นยำ เพื่อให้การอบรมนั้นมีประสิทธิภาพสูงสุด และควรปรับปรุงเนื้อหาของการอบรมเป็นประจำ เพื่อให้เนื้อหาเหมาะสมกับยุคสมัยมากขึ้น
ผลลัพธ์
On-boarding จะประสบความสำเร็จได้มากแค่ไหน ไม่ได้ขึ้นอยู่กับคนๆ เดียวหรือฝ่ายเดียว แต่ขึ้นอยู่กับทุกคน หากทุกคนในองค์กรร่วมมือกัน ผลลัพธ์ที่ได้ออกมาก็คือ การที่พนักงานที่เข้ามาใหม่คนหนึ่ง มีผลการปฏิบัติงานที่ดี และสามารถทำงานอยู่ในองค์กรต่อไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
และนอกจากการวางแผน On-boarding ให้มีประสิทธิภาพจะส่งผลให้พนักงาน เข้าใจระบบการทำงานและ ปรับตัวให้คุ้นกับวัฒนธรรมองค์กรได้อย่างรวดเร็วแล้ว การใส่ใจ สอบถามพนักงานอย่างต่อเนื่องของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงาน ก็จะช่วยให้พนักงานคนนั้นสามารถทำงานและเติบโตอยู่ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
ตัวอย่างของ On-boarding
เราได้พูดถึง ความหมาย วัตถุประสงค์ และข้อดีของ On-boarding กันไปแล้ว ต่อไปเราจะขอยกตัวอย่าง องค์กรที่ได้มีการนำ On-boarding เข้าไปปรับใช้กันครับ
ตัวอย่างที่หนึ่ง
บริษัทยักษ์ใหญ่แห่งหนึ่ง ได้นำ On-boarding เข้าไปปรับใช้กับทั้งบริษัท โดยมีแนวทางดังนี้
・ฝ่ายบุคคลจัด Meeting ให้พนักงานใหม่ก่อนเริ่มทำงานในบริษัท
・อธิบายโครงสร้างขององค์กรและรายละเอียดของงานให้แก่พนักงานใหม่
・แสดงการทำงานให้เห็นแต่ละขั้นตอน
・จัดงานเลี้ยงต้อนรับพนักงานใหม่ให้ได้ทำความรู้จักกับคนในทีม
・หลังจากทำงานได้ 1 เดือน ให้กำหนดเป้าหมายและกำหนดหารต่อไป
・จัดให้มีการพูดคุยกับฝ่ายบุคคลอยู่เสมอ (เป็นระยะเวลาครึ่งปีหลังจากเข้าทำงาน)
・ให้เข้าร่วม Meeting ของแผนกอื่นๆ ในฐานะผู้สังเกตการณ์
・จัดงานเลี้ยงต้อนรับ (เช่น ทานอาหารกลางวันร่วมกัน หรืองานเลี้ยงหลังเลิกงาน)
・ปรึกษาพูดคุยกับหัวหน้าอยู่เรื่อยๆ
・เริ่มทำจากงานเล็กๆ งานที่เข้าใจง่าย และใช้เวลาน้อย
・ให้ Feedback พนักงานใหม่
・จัดให้มีที่ปรึกษาหรือพี่เลี้ยงแก่พนักงานใหม่
การจะนำ On-boarding เข้ามาปรับใช้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุดนั้น ต้องเริ่มนำไปใช้ตั้งแต่การรับสมัครพนักงานใหม่
เพราะต่อให้พนักงานที่เข้ามาใหม่จะมีความสามาถแค่ไหนแต่ถ้า ความคิดหรือค่านิยมไม่ตรงกับองค์กรก็ยากที่จะทำให้เขาอยู่กับองค์กรไปนานๆ ได้
ดังนั้นการให้พนักงานใหม่ได้แสดงความคิดหรือ วิสัยทัศน์ตั้งแต่ก่อนเข้าทำงาน จะสามารถช่วยองค์กรให้สามารถค้นหาพนักงานที่เหมาะสมกับองค์กรของตนเองได้ สำหรับพนักงานเองก็ไม่ต้องเสียเวลาหากองค์กรนั้นไม่ใช่องค์กรตามอุดมคติของตนเอง
หากพนักงานคนนั้นคือคนที่เหมาะสมแล้วล่ะก็ การใส่ใจ ดูแลเขาหลังจากรับเข้าทำงานก็เป็นเรื่องสำคัญ ให้เขาได้มีส่วนร่วมกับคนในองค์กร หรือทีมของตนเองตั้งแต่วันแรก จะทำให้คนใหม่ที่เข้ามารู้สึกลดความประหม่า ความตื่นที่ใหม่ลงไป
เขาจะรู้สึกว่าตัวเองสามารถอยู่ที่นี่ได้ นอกจากนั้นยังเป็นการละลายพฤติกรรมของเขาให้สามารถเปิดรับค่านิยม หรือวัฒนธรรมใหม่ๆ ขององค์กรได้อีกด้วย
สิ่งสำคัญอีกอย่างคือ การพูดคุยกันของคนในทีม อย่างที่ได้กล่าวมาข้างต้นว่า หนึ่งในปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานลาออกคือ ความสัมพันธ์กับคนในที่ทำงานไม่ดี
ดังนั้นเมื่อพนักงานเข้ามาทำงานแล้วการพูดคุย ถามไถ่ถึงงานที่ทำว่ามีอุปสรรคไหม มีเรื่องไม่เข้าใจรึเปล่า เป็นอีกเรื่องที่มีความสำคัญ หรือการให้ Feedback ในงานที่เขาทำบ้างบางครั้ง จะทำให้พนักงานใหม่รู้สึกมีความกระตือรือร้นในการทำงานมากขึ้น
ตัวอย่างที่สอง
องค์กรอีกแห่งหนึ่ง มีการรับพนักงานแต่ละครั้งในจำนวนที่ค่อนข้างมาก ดังนั้นฝ่ายบุคคลจึงมีโปรแกรมปฐมนิเทศพนักงานใหม่แบบรวม โดยเนื้อหาจะเป็นเรื่องของการใช้ชีวิตอยู่ในองค์กรแห่งนี้ และมีการแชร์ประสบการณ์การทำงานต่างๆ หรือ เรื่องที่สำคัญอื่นๆ จากผู้ที่ทำงานอยู่ในองค์กรมานานหรือผู้บริหาร
นอกจากนี้ ยังมีการวางแผนเพื่อการพัฒนาและฝึกอบรม ที่พนักงานทุกคนจะได้ตั้งแต่เข้าทำงานจนเกษียณ เมื่อจบการปฐมนิเทศ จึงมีการพาไปเยี่ยมชมกิจการขององค์กรตามสถานที่ต่างๆ เมื่อจบจากโปรแกรมนี้แล้ว พนักงานแต่ละคนจะแยกไปตามแต่ละทีมที่ตัวเองสังกัดอยู่ เพื่อให้ทำความรู้จักกับคนที่อยู่ในสายงานเดียวกัน
จากนั้นจะมีโปรแกรมอบรมสัมมนา เพื่อพัฒนาและส่งเสริมศักยภาพด้านต่างๆ ให้กับพนักงานทั้ง การแก้ไขปัญหาและการตัดสินใจ, การสื่อสารและเจรจาต่อรอง, เทคนิคในการนำเสนอผลงานเป็นต้น
เมื่อจบโปรแกรมนี้ จะมีการประเมินผลและแยกพนักงานออกเป็นกลุ่มต่างๆ ซึ่งแต่ละกลุ่มจะไปเข้าโปรแกรมเฉพาะด้านตามทักษะ นอกจากนี้ ยังมีโปรแกรมให้พนักงานไปเรียนรู้ Core Business ขององค์กร เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รู้และเข้าใจว่าองค์กรทำอะไรบ้าง
สิ่งสำคัญที่สุดสำหรับองค์กรนี้คือ ฝ่ายบุคคลที่เป็นผู้คิดค้นโปรเจคออกมา ทำได้ดีขนาดไหน และในการทำงานจริง การ Coaching ของหัวหน้าและเพื่อนร่วมงานมีประสิทธิภาพหรือไม่ นอกจากนี้แล้วปัจจัยอื่นๆ เช่น Generation Gap เป็นอย่างไร หากไม่ควบคุมปัจัยเหล่านี้ให้ดี การสร้าง On-boarding ขึ้นมาสักโปรแกรมคงเป็นเรื่องยาก
สรุป
On-boarding ถือเป็นโปรแกรมที่ทำให้องค์กรสามารถดูแลสร้างความประทับใจให้แกพนักงานได้ตั้งแต่วันแรกที่เข้ามา ด้วย On-boarding ที่ดีและมีประสิทธิภาพจะทำให้พนักงานที่มาใหม่ ปรับตัวเข้ากับองค์กรได้เร็วขึ้น เข้าใจการทำงานและวัฒนธรรมขององค์กรได้เร็วขึ้น
ซึ่งการที่ทำให้คนที่มาใหม่เข้าใจงานได้เร็ว ยิ่งทำให้เขาสามารถทำงานและมีผลงานได้เร็วตามไปด้วย เรียกได้ว่า ทั้งองค์กรและตัวพนักงานเองต่างก็ได้รับประโยชน์ร่วมกัน
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมที่จะดูแลพนักงานเก่าที่อยู่กับคุณมานานด้วย เพราะการดูแลพวกเขาอย่างสม่ำเสมอ จะเป็นการเพิ่ม Engagement และช่วยรักษาพนักงานที่มีความสามารถให้อยู่กับองค์กรไปได้อย่างยาวนาน