HIGHLIGHT
|
ทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดต่อการพัฒนาองค์กรไปจนถึงการพัฒนาประเทศและโลกใบนี้ การที่จะสร้างทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพขึ้นมาในสังคมได้นั้นหนึ่งในปัจจัยสำคัญก็คือ การศึกษา (Education) นั่นเอง การศึกษานอกจากจะทำให้มนุษย์เกิดความรู้และพัฒนาตนได้แล้ว สิ่งนี้ยังสามารถเป็นตัวกำหนดทิศทางของประเทศได้อีกด้วย เพราะหากประเทศไหนมีการส่งเสริมการศึกษาที่ถูกทิศทาง ตลอดจนวางแผนการผลิตทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพ ย่อมทำให้ประเทศนั้นมีต้นทุนที่เป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีศัยกภาพในการร่วมกันสร้างประเทศให้ก้าวไกล นั่นรวมถึงหน่วยย่อยอย่างองค์กรด้วยที่หากคัดสรรทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพเข้ามาทำงานก็ย่อมส่งผลให้องค์กรพัฒนาได้อย่างก้าวไกลเช่นกัน ขณะเดียวกันองค์กรก็ควรไม่หยุดที่จะพัฒนาองค์ความรู้ให้กับบุคลากรด้วย เพราะการศึกษานั้นไม่มีวันจบ ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ไปตลอดได้ และพัฒนาตนเองได้ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน
Contents
- ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
- 1.Creativity Skill – ทักษะการสร้างสรรค์ :
- 2.Computers Technology Skill – ทักษะทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ :
- 3.Cross-cultural Relationship – ทักษะทางด้านความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม :
- 4.Communication – ทักษะทางด้านการสื่อสาร :
- 5.Collaboration – ทักษะในการสร้างความร่วมมือ :
- 6.Critical Thinking – ทักษะในการเผชิญวิกฤตและการแก้ปัญหา :
- 7.Continuous Learning – ทักษะการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง :
- 8.Career in Deep Skill – ทักษะวิชาชีพเชิงลึก :
- เหตุใดการศึกษาถึงสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- รูปแบบของการศึกษาที่เป็นพื้นฐาน และการส่งเสริมการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
- บทสรุป
ทำไมต้องมีการศึกษา? แล้วการศึกษามีไว้ทำอะไร? … คำถามนี้มักถูกหยิบยกขึ้นมาถามกันเสมอ แน่นอนว่ามีคำตอบเกิดขึ้นตามมามากมาย แต่หนึ่งในแนวความคิดน่าสนใจที่ดูจะตอบคำถามข้างต้นได้อย่างง่ายดายและชัดเจนก็คือแนวคิดเรื่องหน้าที่ของการศึกษาซึ่งมีความสำคัญที่ควบคู่กันไปดังนี้
- 1.หน้าที่เชิงอนุรักษ์ (Conservative Function) : การศึกษามีหน้าที่ในการบำรุงรักษาข้อมูลตลอดจนองค์ความรู้ต่างๆ ไว้ ตั้งแต่เรื่องค่านิยม ความเชื่อ ศิลปะ วัฒนธรรม วิทยาศาสตร์ มนุษยศาสตร์ สังคมศาสตร์ ไปจนถึงวิทยาการต่างๆ อาจมีการเผยแพร่ ถ่ายทอด สืบทอด องค์ความรู้ให้แก่กันได้ และเก็บรักษาไว้ได้ด้วยเช่นกัน
- 2.หน้าที่เชิงสร้างสรรค์และสรรสร้างนวัตกรรม (Creative & Innovative Function) : การศึกษามีหน้าที่เปรียบเสมือนเครื่องมือสำคัญในการเปลี่ยนแปลงสังคมตลอดจนวัฒนธรรมให้เจริญก้าวไปข้างหน้า อีกมุมหนึ่งของการศึกษาก็คือการค้นคว้าหาสิ่งใหม่ สร้างสรรค์สิ่งที่ยังไม่เคยเกิดขึ้น เพื่อเป็นนวัตกรรมแห่งอนาคต และกลายเป็นวัฒนธรรมใหม่ขึ้นได้ด้วย ซึ่งการศึกษาถือเป็นปัจจัยสำคัญของการพัฒนา และยังเป็นเครื่องมือที่ใช้เผยแพร่องค์ความรู้ใหม่ๆ ได้อีกด้วย
ทั้งสองหน้าที่ต่างก็มีความสำคัญและต้องทำหน้าที่ควบคู่กันไปเสมอ องค์ความรู้เก่าเชิงอนุรักษ์จะเป็นฐานข้อมูลที่ดีในการสร้างสรรค์ความรู้ตลอดจนนวัตกรรมใหม่เช่นกัน ในขณะที่นวัตกรรมใหม่ก็อาจทำให้องค์ความรู้ยุคเก่ากระจ่างขึ้น รู้ถึงข้อดีข้อเสียที่ควรปรับเปลี่ยนได้ด้วยเช่นกัน และมีการเกี่ยวโยงกันอีกมากมายหลายมิติที่บ่งบอกว่าสองหน้าที่ของการศึกษานี้มีความสำคัญต่อการก้าวไปข้างหน้าของโลกใบนี้เป็นอย่างมาก
HR ที่มีข้อสงสัยหรือมีคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q. คุณคิดว่าวิธีการพัฒนาบุคคลแบบไหนที่จะไม่เวิร์คอีกต่อไปแล้วในปี 2021
A. การพัฒนาในรูปแบบเดิม กล่าวคือ HRD จัดให้มีแผนการอบรมประจำปี โดยในฐานะที่ผมทำงานด้าน HR ในองค์กรมาหลายปี และปัจจุบันเป็นที่ปรึกษา ก็ได้มีโอกาสไปพัฒนาคนในหลายองค์กร ประสบการณ์ที่เจอ คือ จัดอบรมตามแผน แต่ไม่ได้มีการนำผลการเรียนการสอนนั้นไปพัฒนาต่อ เช่น การติดตามประเมินผล ถ้าอยากจะให้เห็นผล HR….
ทักษะแห่งศตวรรษที่ 21
นับตั้งแต่การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 เป็นต้นมา โลกมีการเปลี่ยนแปลงหลายสิ่งหลายอย่างอย่างรวดเร็วมาก ตั้งแต่เรื่องของการปฎิวัติเทคโนโลยีดิจิตอล (Digital Disruption) ไปจนถึงเรื่องของการปฎิวัติอาชีพ (Career Disruption) หลายสิ่งหลายอย่างทำให้วิถีชีวิตของมนุษย์เปลี่ยนไปเพื่อก้าวให้ทันโลกที่เปลี่ยนแปลง รวมไปถึงเรื่องการศึกษาที่เริ่มปรับเปลี่ยนรูปแบบตลอดจนมีสาขาวิชาใหม่ๆ ที่น่าสนใจผุดขึ้นมามากมาย การก้าวเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 นั้นแม้แต่องค์กรเองก็ต้องปรับตัวให้ทันการเปลี่ยนแปลง รวมไปถึงแรงงานทั้งหลายที่ก็ต้องพัฒนาตัวเองให้ก้าวทันความก้าวหน้าด้วย หลายประเทศเริ่มมีการส่งเสริมการศึกษาในการเตรียมความพร้อมเพื่อพัฒนาประชากรให้เหมาะสำหรับโลกในยุคใหม่ ไปจนถึงพัฒนาศักยภาพประชากรและแรงงานให้ก้าวทันการเปลี่ยนแปลงนี้ด้วย ซึ่งว่ากันว่าทักษะแห่งศตวรรษที่ 21 ที่มีความจำเป็นและเป็นแนวทางในการพัฒนาบุคลากรชาติในทุกระดับนั้นก็คือทักษะ 8C ที่ประกอบไปด้วยรายละเอียดดังต่อไปนี้
1.Creativity Skill – ทักษะการสร้างสรรค์ :
การสร้างสรรค์นั้นหมายถึงตั้งแต่การสร้างสิ่งใหม่ๆ ไปจนถึงสร้างสิ่งที่มีอยู่แล้วให้น่าสนใจในรูปแบบใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันความคิดสร้างสรรค์เริ่มถูกนำมาใช้กับแทบทุกศาสตร์ที่ไม่ใช่แค่ด้านศิลปะและการออกแบบเหมือนแต่ก่อน ทุกอย่างสามารถใส่ความคิดสร้างสรรค์ให้เกิดมูลค่าและประสิทธิภาพขึ้นได้ ที่สำคัญความคิดสร้างสรรค์นี่แหละเป็นจุดกำเนิดของการเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ ด้วยนั่นเอง
2.Computers Technology Skill – ทักษะทางด้านเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์ :
ทักษะด้านนี้ถือเป็นพื้นฐานสำคัญของเทคโนโลยีไปจนถึงนวัตกรรมต่างๆ ที่เกิดขึ้น โดยเฉพาะระบบอินเตอร์เน็ตที่เป็นเสมือนกุญแจสำคัญในการพลิกโฉมโลกใบนี้สู่โลกยุคดิจิตอล (Digital Age) ที่มีการเปลี่ยนแปลงทางด้านต่างๆ มากมาย วิถีชีวิตมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีอยู่ตลอดเวลาตั้งแต่วิถีชีวิตประจำวันไปจนถึงการทำงานเลยทีเดียว การเรียนรู้ทักษะคอมพิวเตอร์นี้จึงถือเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นรากฐานในการพัฒนาตนเอง พัฒนาวิชาชีพ พัฒนาชาติ และพัฒนาโลก
3.Cross-cultural Relationship – ทักษะทางด้านความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม :
ศตวรรษที่ 21 ไม่เพียงแต่เป็นยุคของการผสมผสานหลากวัฒนธรรม (Multi Culture) เท่านั้น แต่ยุคนี้ยังเป็นยุคของความสัมพันธ์ข้ามวัฒนธรรม (Cross Cultural) ที่ทั้งโลกเชื่อมถึงกันได้อย่างง่ายดายอีกด้วย รวมไปถึงโลกทั้งใบต่างก็มีวัฒนธรรมใหญ่ร่วมกันมากขึ้นทุกที การเรียนรู้สังคมต่างวัฒนธรรมนั้นทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ การช่วยเหลือด้านการสร้างสรรค์ไปจนถึงร่วมกันสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการเกิดธุรกิจการค้าระหว่างกัน การมีทักษะในด้านนี้จะทำให้วัฒนธรรมย่อยเกิดความเข้าใจระหว่างกัน สามารถทำงานตอบสนองกันได้ รวมถึงผลิตสินค้าและนวัตกรรมเพื่อตอบสนองความต้องการของแต่ละวัฒนธรรมได้ด้วยนั่นเอง
4.Communication – ทักษะทางด้านการสื่อสาร :
ทักษะนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญมากในโลกยุคที่ไร้พรมแดนขึ้นทุกวัน นอกจากการฟัง พูด อ่าน เขียน แล้วปัจจุบันยังต้องใส่ใจในสื่อ ตลอดจนช่องทางการสื่อสารต่างๆ ด้วย ยุคนี้มนุษย์มีสื่อและช่องทางการสื่อสารกันมากมาย ทั้งเพื่อประโยชน์ส่วนตัวและประโยชน์ทางธุรกิจ ตลอดจนประโยชน์ด้านอื่นๆ การเข้าใจการสื่อสารกันที่ถูกต้องและถูกวิธีจะทำให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน เกิดความเข้าใจอันดี และการสื่อสารต่างวัฒนธรรมก็จะช่วยให้เชื่อมต่อถึงกันได้ด้วย การสื่อสารนั้นยังรวมไปถึงสื่อต่างๆ ด้วย ยุคนี้ต้องรู้จักการใช้สื่อให้เป็น เสพสื่อให้เหมาะสมและมีวิจารณญาณ ในขณะเดียวกันก็ต้องใช้สื่อช่วยให้เกิดประโยชน์ด้วย อย่างเช่น ใช้สื่อในการเรียน การสอน หรือใช้สื่อเป็นช่องทางในการทำธุรกิจ ตลอดจนเผยแพร่ความรู้ต่างๆ เป็นต้น
5.Collaboration – ทักษะในการสร้างความร่วมมือ :
จะเห็นได้ว่าปัจจุบันนี้มีการร่วมมือกันระหว่างประเทศหรือข้ามกลุ่มข้ามองค์กร ข้ามวัฒนธรรมกันมากมาย ในขณะที่สงครามการแข่งขันทางธุรกิจยิ่งทำให้แต่ละฝ่ายต่างแย่ ยุคนี้ก็เลยเกิดการร่วมมือจับมือกันพัฒนาธุรกิจที่ได้ประโยชน์ด้วยกันทุกฝ่าย การร่วมมือกันนั้นก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และช่วยพัฒนานวัตกรรมหรือประโยชน์ต่างๆ ได้มากมาย การร่วมมือกันนี้ยังหมายถึงการทำงานเป็นทีม การร่วมแรงร่วมใจกัน สามัคคีกัน และสร้างประโยชน์ร่วมกันทุกฝ่าย เป็นยุคที่ไม่ใช่มุ่งแข่งขันกันโดยไม่ใส่ใจปัญหาที่สร้างขึ้น แต่เป็นยุคที่ต้องผนึกกำลังกันเพื่อต่อสู้กับอุปสรรค์หรือสร้างประโยชน์เสียมากกว่า
6.Critical Thinking – ทักษะในการเผชิญวิกฤตและการแก้ปัญหา :
ไม่ว่าจะยุคไหนๆ หรือการทำอะไรก็ตาม ย่อมมีโอกาสเจอปัญหา เจอความผิดพลาด หรือเจอวิกฤติที่คาดไม่ถึงมากมาย สิ่งสำคัญคือต้องเตรียมรับมืออย่างไร มีการเผชิญกับวิกฤติอย่างไร และมีทักษะในการแก้ปัญหาที่ดีอย่างไร ไม่ใช่วิ่งหนีปัญหา หรือหวั่นกลัววิกฤติ แต่ต้องรู้จักลุกขึ้นเผชิญกับปัญหา มีสติในการเผชิญหน้ากับวิกฤต และต้องมีความรอบคอบในการแก้ปัญหาด้วย ปัญหานี้ยังรวมไปถึงอุปสรรค์ต่างๆ ในการทดลอง การคิดค้นนวัตกรรม หากสามารถหาวิธีการแก้ปัญหา (Problem Solution) ได้ก็คือหนทางในการเกิดสิ่งประดิษฐ์หรือนวัตกรรมใหม่ๆ ขึ้นมาได้ด้วยนั่นเอง หรือแม่แต่การเผชิญกับวิกฤติด้านสังคมไปจนปัญหาด้านมนุษยชาติ การยุติปัญหา หาทางแก้ไข หาทางออกที่ดีที่สุด ก็คือทักษะที่ดีที่โลกยุคใหม่ต้องการ
7.Continuous Learning – ทักษะการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง :
โลกในยุคศตวรรษที่ 21 นี้มีการส่งเสริมสังคมทั่วโลกให้เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ (Learning Society) เพราะการเรียนรู้นั้นไม่มีวันสิ้นสุด เราสามารถเรียนรู้ได้ทุกอย่าง เรียนรู้ได้เสมอ และเรียนรู้ได้ตลอดเวลา การเรียนรู้ไม่ได้มีข้อจำกัดเรื่องอายุ วัย เพศ การศึกษา หรือแม้แต่เชื้อชาติ ทุกคนสามารถที่จะเรียนรู้ได้ตั้งแต่เรื่องใกล้ตัวไปจนถึงเรื่องต่างวัฒนธรรม สังคมแห่งการเรียนรู้นั้นถือเป็นต้นทุนที่ดีในการพัฒนาชาติและโลก บุคลากรที่มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาและนำการเรียนรู้นั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ก็ย่อมทำให้องค์กรหรือสังคมนั้นเจริญก้าวหน้ายิ่งๆ ขึ้นไปด้วย ซึ่งเราควรส่งเสริมการเรียนรู้ให้กลายเป็นปกติวิสัยของมนุษย์เพื่อที่จะทำให้กลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่าและมีศักยภาพนั่นเอง
8.Career in Deep Skill – ทักษะวิชาชีพเชิงลึก :
เมื่อโลกมีความหลากหลายด้านอาชีพขึ้น ในขณะที่ศาสตร์อาชีพเดิมก็เริ่มมีความลึกขึ้นเช่นกัน ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ทุกคนแข่งขันกันพัฒนาศักยะภาพตนเองในสาขาวิชาชีพตน ศึกษาให้ลึกซึ้ง และเพิ่มทักษะความชำนาญทางวิชาชีพให้ลึกขึ้นเรื่อยๆ จนกลายเป็นผู้เชี่ยวชาญ ไม่ว่าจะสาขาวิชาชีพใดในโลกยุคนี้ล้วนต้องการผู้เชี่ยวชาญ ผู้รู้จริง ดังนั้นเทรนด์ในการพัฒนาบุคลากรจึงเป็นการพัฒนาวิชาชีพเชิงลึก และเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานสากล ในขณะที่สาขาวิชาชีพใหม่ๆ ต่างก็แข่งขันกันพัฒนาในเชิงลึกด้วยเช่นกัน ใครที่ยิ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญก็ยิ่งมีโอกาสได้งานสูง และสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ชัดเจน
นอกจากทักษะที่จำเป็นในศตวรรษที่ 21 แล้ว นี่คือลักษณะของบุคคลแห่งศตวรรษที่ 21 ที่ยอดเยี่ยมที่สังคมแห่งการพัฒนาต้องการ
- Learner – ผู้รักการเรียนรู้ : รักที่จะเรียนรู้อยู่เสมอตั้งแต่สิ่งเล็กๆ รอบตัวไปจนถึงสิ่งใหญ่ๆ ระดับโลก การเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และอยู่กับตัวเราตลอดเวลา การมีนิสัยการเรียนรู้คือคุณสมบัติที่ดีเบื้องต้นของมนุษย์ที่มีศักยภาพต่อการพัฒนาใดๆ ก็ตาม
- Leader – ผู้นำ : การเป็นผู้นำในที่นี้ไม่ได้หมายถึงตำแหน่ง หรืออำนาจเท่านั้น แต่คือการเป็นผู้ที่สามารถนำกลุ่ม ควบคุมการทำงาน กล้าเสนอแนะ กล้าต่อสู้กับสิ่งต่างๆ มีความคิดก้าวไกล คิดรอบคอบ มีภาวะการตัดสินใจดีเยี่ยม เป็นต้น ภาวะผู้นำจะเป็นเสมือนตัวเร่งปฎิกิริยาที่ดีในการปฎิบัติงานตลอดจนสร้างการเปลี่ยนแปลงต่างๆ
- Innovator – นวัตกร : ผู้สร้างนวัตกรรม สิ่งประดิษฐ์ใหม่ๆ เพื่อแก้ปัญหาหรืออำนวยความสะดวกในทางที่ดีขึ้น การเกิดนวัตกรรมใหม่ๆ เป็นปัจจัยหนึ่งที่สามารถชี้วัดการพัฒนาขององค์กรหรือแม้แต่โลกใบนี้ได้
- Developer – นักพัฒนา : นักพัฒนานั้นบางครั้งก็เป็นนวัตกรในตัวเอง หรือเป็นผู้ที่นำนวัตกรรมมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในวงกว้าง ประยุกต์ใช้ให้เกิดประโยชน์หลายด้าน หรือพัฒนาในสิ่งที่มีอยู่แล้วให้เกิดประโยชน์มากมายหลายด้านด้วยเช่นกัน นักพัฒนานี้มีส่วนช่วยขยายประโยชน์ให้สู่องค์กว้างมากขึ้น และมีเป้าหมายในการทำทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้น ซึ่งนั่นถือเป็นคุณสมบัติที่ดีของประชากรโลกเลยทีเดียว
- Creator – นักสร้างสรรค์ : บางครั้งเรื่องของการสร้างสรรค์ก็ไม่ใช่เรื่องของศิลปะหรือนักประดิษฐ์ แต่คุณสมบัติของนักสร้างสรรค์นั้นสามารถมีอยู่ได้ในตัวทุกคน และสามารถนำไปใช้ได้กับทุกสาขาอาชีพ การคิดหาวิธีการใหม่ๆ การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ หรือแม้แต่การปรับปรุงสิ่งเดิมให้น่าสนใจขึ้นก็คือเป็นวิสัยแห่งการสร้างสรรค์ที่ดี ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของนวัตกรในอนาคตได้เช่นกัน หากมนุษย์มีความเป็นนักสร้างสรรค์อยู่ในตัวเยอะ ก็จะจะเป็นคนที่อยากแก้ไขสิ่งต่างๆ ให้ดีขึ้นไปโดยปริยาย
- Coordinator – นักประสานงาน : นักประสานงานนี้คือตัวเชื่อมที่ดี การที่แต่ละคนมีความโดดเด่นในปัจเจกบุคคลนั้นก็อาจไม่เกิดประโยชน์ หรืออาจทำให้เกิดการต่อสู้แข่งขันที่สร้างปัญหาได้ นักประสานงานที่ดีมักจะยึดถือการเชื่อมความสามัคคี การสร้างความปรองดอง การสร้างความร่วมมือเป็นหลัก บางครั้งนวัตกร นักสร้างสรรค์ หรือแม้แต่นักพัฒนา อาจใส่ใจในปัจเจกของตัวเอง แต่นักประสานงานจะช่วยทำให้เกิดพลังร่วมในการสร้างสรรค์ร่วมกันที่ก่อให้เกิดความสามัคคีขึ้นในโลกได้ และช่วยลดปัญหาความขัดแย้งแห่งโลกอนาคตได้ดีทีเดียว
ที่กล่าวไปนั้นไม่ใช่แค่การเป็นตัวบุคคลเพียงอย่างเดียว แต่ยังหมายถึงบุคลิกลักษณะของบุคคลด้วย และไม่จำเป็นว่าในบุคคลเดียวนั้นจะต้องมีลักษณะเดียว ทุกลักษณะสามารถผสมผสานให้สอดคล้องภายในบุคคลเดียวกันได้ด้วยเช่นกัน ซึ่งย่อก่อให้เกิดประโยชน์แก่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยิ่ง
เหตุใดการศึกษาถึงสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
กระบวนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource Development) ถือเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาองค์กรตลอดจนประเทศชาติ หนึ่งในแรงขับเคลื่อนสำคัญของการพัฒนานั้นก็คือการศึกษา (Education) นั่นเอง เรื่องของการศึกษาไม่ใช่เรื่องของเด็กหรือวัยเรียนเพียงเท่านั้น นอกจากพื้นฐานที่ถูกปลูกฝังมาแล้วการพัฒนาการศึกษาในวัยทำงานก็ถือเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน
การศึกษาทำให้มนุษย์มีองค์ความรู้ในเรื่องต่างๆ อยู่ในตัว และทำให้กลายเป็นทรัพยากรบุคคลที่มีความสามารถตลอดจนมีศักยภาพในการปฎิบัติงานใดๆ ซึ่งจะทำให้การทำงานราบรื่นไม่มีปัญหา และในขณะเดียวกันหากพัฒนาการศึกษาให้เพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ก็จะช่วยพัฒนาการทำงานให้ดีขึ้นได้ หรือเกิดการปรับเปลี่ยน เปลี่ยนแปลง หรือปรับปรุงแก้ไขปัญหาให้หมดไป ทำให้การทำงานดียิ่งขึ้น หรือกลายเป็นระบบทำงานใหม่ที่อุดรอยรั่วของข้อบกพร่องได้ เป็นต้น ดังนั้นการศึกษาจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำให้ทรัพยากรมนุษย์เพิ่มขีดความสามารถของตนขึ้นได้ และกลายเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่มีประสิทธิภาพทั้งต่อการทำงาน ต่อสังคม และต่อประเทศชาติ
รูปแบบของการศึกษาที่เป็นพื้นฐาน และการส่งเสริมการศึกษาในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์
รูปแบบของการศึกษาตามหลักสากลที่ยึดถือกันมานานนั้นมี 3 รูปแบบใหญ่ๆ สำหรับเมืองไทยเองก็มีการกำหนดรูปแบบของการศึกษาไว้ในพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 มาตราที่ 15 ด้วย ซึ่งรายละเอียดของรูปแบบการศึกษาตามกฎหมายไทยนั้นมีดังนี้
1.การศึกษาในระบบ (Formal Education)
หมายถึงการศึกษาที่มีการกำหนดจุดมุ่งหมาย สร้างหลักสูตรชัดเจน มีวิธีการศึกษาที่เป็นบรรทัดฐาน มีกรอบระยะเวลาของการศึกษา ตลอดจนมีการประเมินผลการศึกษาด้วย ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษาที่มีมาตรฐานแน่นอน การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ก็ได้แก่ การศึกษาขั้นพื้นฐาน, การศึกษาภาคบังคับ, การศึกษาในสถานศึกษาสังกัดกระทรวง ทบวง กรมต่างๆ เป็นต้น
2.การศึกษานอกระบบ (Non-formal Education)
หมายถึงการศึกษาที่มีการยืดหยุ่นในการกำหนดจุดมุ่งหมาย รูปแบบ วิธีการจัดการศึกษา ตลอดจนระยะเวลาของการศึกษา ไปจนถึงการวัดและประเมินผล ซึ่งนั่นเป็นเงื่อนไขในการสำเร็จการศึกษาที่มีมาตรฐานแน่นอน สำหรับเนื้อหาและหลักสูตรนั้นจะต้องเหมาะสมและสอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของบุคคลแต่ละกลุ่ม หรือให้ผู้เรียนสามารถบริหารจัดการการศึกษาตลอดจนเวลาเรียนเองได้ แต่ก็มีการรับรองมาตรฐานเช่นเดียวกันกับการศึกษาในระบบ การจัดการศึกษาในลักษณะนี้ก็ได้แก่ การศึกษานอกระบบโรงเรียน, การศึกษาผู้ใหญ่, การศึกษาทางไกล, มหาวิทยาลัยเปิด, การศึกษาแบบโฮมสคูล, ศูนย์การศึกษาท้องถิ่นที่มีการจัดมาตรฐานการศึกษาของตนเอง เป็นต้น
3.การศึกษาตามอัธยาศัย (Informal Education)
หมายถึงการศึกษาที่ผู้เรียนสามารถเลือกเรียนรู้ได้ตามความสนใจของตัวเอง เรียนรู้เพื่อพัฒนาศักยภาพ เรียนตามความพร้อมและโอกาส ไม่มีการกำหนดเวลา ไม่มีข้อจำกัดเรื่องใดๆ มีหรือไม่มีการรับรองมาตรฐานการศึกษาก็ได้ เรียนรู้ได้ตลอดเวลา ศึกษาเพิ่มเติมได้ด้วยตนเอง การศึกษาตามอัธยาศัยนี้ยังรวมไปถึงประสบการณ์การทำงานที่สั่งสมจนเกิดเป็นความรู้, การแลกเปลี่ยนประสบการณ์, การพูดคุย, การศึกษาอย่างไม่เป็นทางการ, การศึกษาตลอดชีวิต, การเรียนพิเศษ, การเรียนคอร์สออนไลน์ตามความสนใจ, การเข้าเวิร์คชอปต่างๆ เป็นต้น
การศึกษาไม่ว่าจะรูปแบบใดก็ตามล้วนแต่มีความสำคัญต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยิ่ง ทั้งในระดับวัยเรียนและวัยทำงาน โดยเฉพาะฝ่ายบุคคลหากใส่ใจในเรื่องการศึกษากับบุคลากรในองค์กรก็จะยิ่งส่งเสริมให้พนักงานพัฒนาศักยภาพตนเองขึ้นได้ด้วย ปัจจุบันในองค์กรหลายองค์กร โดยเฉพาะองค์กรขนาดใหญ่ต่างก็มีการส่งเสริมการศึกษาให้กับบุคลากรอย่างจริงจัง ตั้งแต่ในเรื่องของการศึกษาในระบบระดับที่สูงขึ้น มีทุนให้ศึกษาต่ออย่างจริงจัง หรือส่งไปศึกษาต่อเพื่อเพิ่มพูนทักษะที่มีประโยชน์ต่อการทำงาน เป็นต้น
อีกการส่งเสริมที่องค์กรยุคนี้มักให้ความสำคัญมากๆ ก็คือการศึกษาตามอัธยาศัย หลายองค์กรต่างก็จัดสรรคอร์สการเรียนรู้ต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาศักยภาพบุคคลากรของตนอย่างสม่ำเสมอด้วย ตัวอย่างเช่น คอร์สเรียนภาษาต่างประเทศ, คอร์สเรียนออนไลน์ต่างๆ, ไปจนถึงการสร้างห้องสมุดให้ค้นคว้าความรู้ด้วยตนเอง เป็นต้น นอกจากนี้ก็ยังมีการจัดฝึกอบรมต่างๆ เพื่อช่วยพัฒนาทักษะตลอดจนพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้เพิ่มสูงขึ้น และรวมไปถึงการส่งไปฝึกงานยังบริษัทแม่ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการฝึกฝนพัฒนาฝีมือตนเองให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นด้วยนั่นเอง
หลายคนคงสงสัยความแตกต่างระหว่าง การเรียน (Studying), การฝึกอบรม (Training) และ การเรียนรู้ (Learning) ว่ามีความแตกต่างกันอย่างไร อันที่จริงแล้วทั้งสามคำนี้ทั้งมีความเหมือนและแตกต่างกันอยู่ในตัว แต่ก็มีการนิยมทั้งสามคำที่ชัดเจนขึ้นเพื่อแยกลักษณะการศึกษา
+ การเรียน / การศึกษา (Studying) : หมายถึงการศึกษาหาความรู้อย่างเป็นทางการ มีหลักสูตร องค์ความรู้ การเรียนการสอนชัดเจน เพิ่มพูนความรู้และพัฒนาทักษะให้กับผู้เรียน
+ การฝึกอบรม (Training) : หมายถึงการปฎิบัติการในเชิงฝึกทักษะที่จะช่วยพัฒนาความสามารถของผู้เข้ารับการฝึกอบรมให้ดีขึ้น การฝึกอบรมมีมักมีเป้าหมายที่แคบ เฉพาะเจาะจง ชัดเจน และเอื้อประโยชน์ต่ออาชีพตลอดจนหน้าที่ที่ผู้เข้ารับการอบรมรัรบผิดชอบอยู่ เป็นส่วนเสริมทักษะตลอดจนองค์ความรู้ให้เพิ่มขึ้น
+ การเรียนรู้ (Learning) : หมายถึงการเพิ่มเติมองค์ความรู้ สั่งสมประสบการณ์ ตลอดจนพัฒนาทักษะจากประสบการณ์ชีวิตตั้งแต่การทำงานไปจนถึงการใช้ชีวิต มีทั้งแบบเป็นทางการและไม่เป็นทางการ มีทั้งแบบลงเรียนและซึมซับมาโดยไม่ตั้งใจ การเรียนรู้นั้นบางครั้งก็อาจไม่เกิดประโยชน์ แต่บางครั้งก็สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้มหาศาล การเรียนรู้มักไม่ได้เกิดจากการถูกบังคับหรือจำเป็นจะต้องรู้ต้องเรียน แต่มักเกิดจากความสนใจส่วนตัวของแต่ละคนที่จะเรียนรู้ในสิ่งนั้นๆ
ทุกอย่างล้วนมีความสำคัญ และส่งเสริมการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์อย่างยิ่ง ประเทศชาติควรมีการวางแผนการศึกษาที่ดีเพื่อให้ประชากรได้ศึกษาและมีความรู้ในด้านต่างๆ ตลอดจนพัฒนาคุณภาพตนเองที่จะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในหลากหลายด้าน ขณะเดียวกันก็ควรส่งเสริมให้เกิดการฝึกฝนเพิ่มเติมทักษะขึ้นเรื่อยๆ อย่างสม่ำเสมอด้วย แต่เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของยุคนี้ก็คือการพัฒนาสังคมให้เป็น “สังคมแห่งการเรียนรู้” รักที่จะเรียนรู้เพิ่มมากขึ้น เพราะความรู้ไม่ได้มาจากเพียงตำราหรือการนั่งในห้องเรียนเท่านั้นแต่ทุกสิ่งทุกอย่างรอบตัวนั้นเป็นความรู้ให้เราได้ และเมื่อเราอยู่ในสังคมแห่งการเรียนรู้ก็จะทำให้ทุกคนเปิดโลกที่จะเรียนรู้ได้อย่างไม่มีที่สิ้นสุด
บทสรุป
การศึกษาช่วยบ่มเพาะทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ และนี่คือต้นทุนสำคัญขององค์กร หรือแม้แต่ของโลกเลยทีเดียว บุคลากรที่มีการศึกษานั้นหากส่งเสริมพัฒนาการศึกษาอยู่เสมอไม่ว่าจะเป็นรูปแบบใดก็ตาม ก็ย่อมจะเกิดการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและไม่มีที่สิ้นสุด ทำให้เกิดการพัฒนาประสิทธิภาพ ขณะเดียวกันทรัพยากรมนุษย์ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ก็ควรมีการพัฒนาที่ผสมผสานหลากรูปแบบในตัว มีความสามารถหลากหลาย และมีการพัฒนาทางด้านศาสตร์และศิลป์ไปพร้อมๆ กัน เพื่อสร้างสมดุลให้กับทรัพยากรมนุษย์นั่นเอง
องค์กรที่เต็มไปด้วยทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณภาพนั้นย่อมเกิดการปฎิบัติงานที่มีประสิทธิภาพ และส่งผลให้องค์กรมีการพัฒนาก้าวไปข้างหน้าอย่างยอดเยี่ยมอีกด้วย ดังนั้นการพัฒนาการศึกษาให้กับบุคลากรจึงถือเป็นภาระกิจสำคัญขององค์กรด้วยเช่นกัน เพราะองค์กรมีส่วนในการสร้างบุคลากรที่มีประสิทธิภาพเพื่อส่งผลดีต่อการประกอบกิจการของตน และส่งผลดีต่อประเทศชาติและโลกด้วยเช่นกัน