Search
Close this search box.

การฝึกอบรมแบบระบบห้องเรียน (Classroom Training)

HIGHLIGHT
  • การฝึกอบรมแบบระบบห้องเรียน (Classroom Training) ควรมีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ เรื่องราวที่จะถ่ายทอดความรู้ชัดเจน เป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพบุคลากร และเพิ่มประสิทธิภาพขององค์กรได้
  • วิทยากรหรือผู้ที่มาให้ความรู้นั้นเป็นปัจจัยสำคัญอย่างยิ่ง ต้องมีทักษะในการสื่อสารที่ดี มีกลยุทธ์ในการพูดที่น่าฟัง มีองค์ความรู้ที่แน่น และมีวิธีการพูดที่ดึงดูดผู้ฟังให้อยากรับสาร
  • การฝึกอบรมกับคนหมู่มากนั้นสิ่งที่ควรเช็คให้ดีคืออุปกรณ์ประกอบการอบรมต่างๆ โดยเฉพาะอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการสื่อสาร อย่างไมค์ ลำโพง เป็นต้น ตลอดจนสถานที่ในการจัดงานให้พร้อมและเหมาะสม

การฝึกอบรมแบบระบบห้องเรียน Classroom Training

การฝึกอบรมให้กับพนักงานนั้นมีหลากหลายรูปแบบ หนึ่งในกระบวนการพื้นฐานของการฝึกอบรมที่นิยมทำกันนั้นก็คือ การฝึกอบรมแบบระบบห้องเรียน (Classroom Training) นี่เอง การฝึกอบรมโดยวิธีนี้จะเสมือนกับครูที่สอนนักเรียนในห้องเรียน ผู้อบรมจะมีเป้าหมายในการสอนที่ชัดเจน มีวัตถุประสงค์ในการเรียนรู้ มีกระบวนการถ่ายทอดองค์ความรู้ ในขณะที่ผู้รับการอบรมก็จะได้รับความรู้ตลอดจนประโยชน์ต่างๆ ไปในคราวเดียวกันด้วย

การอบรมรูปแบบนี้เหมาะกับ

  • การให้ความรู้เรื่องเดียวกันกับคนจำนวนมาก
  • ผู้สอน/ผู้ให้ความรู้มีทักษะในการสื่อสารที่ยอดเยี่ยมและจูงใจคนฟังได้ดี
  • การอบรมที่มีค่าใช้จ่ายจำกัด
  • การเรียนรู้ทั่วไปที่ไม่ใช่เชิงลึกมากนัก
  • การอบรมเชิงทฤษฎี
  • การอบรมที่มีระยะเวลาไม่มากนัก
  • การเพิ่มเติมความรู้จากที่มีพื้นฐานความรู้เดิมอยู่แล้ว
  • วิทยากรที่มีความน่าเชื่อถือ มีชื่อเสียง เพราะจะทำให้ทุกคนสนใจและตั้งใจฟัง

การอบรมรูปแบบนี้ไม่เหมาะกับ

  • การฝึกอบรมที่เน้นภาคปฎิบัติการ
  • การอบรวมที่ต้องการทดสอบศักยภาพการทำงานรายบุคคล
  • การอบรมที่ต้องการฝึกฝนทักษะเฉพาะตัว
  • วิทยากรที่ไม่มีศักยภาพในการสื่อสาร หรือมีเนื้อหาที่ไม่น่าสนใจ

การฝึกอบรมระบบห้องเรียน (Classroom Training) นั้นสามารถจัดทำได้ทั้งในองค์กรและนอกองค์กรทั้งนี้ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ตลอดจนงบประมาณที่เหมาะสมสำหรับการจัดฝึกอบรมในแต่ละครั้ง ในส่วนของผู้ที่จะถ่ายทอดความรู้หรือวิทยากรในการฝึกอบรมนั้นอาจเป็นคนในองค์กรหรือผู้เชี่ยวชาญนอกองค์กรที่ถูกเชิญมาให้ความรู้ก็ได้ ทั้งนี้ก็เพื่อต้องการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรทุกคนให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง

สิ่งที่ต้องคำนึงถึงสำหรับการฝึกอบรมระบบห้องเรียน (Classroom Training)

การฝึกอบรมระบบห้องเรียนนี้มีทั้งข้อดีและข้อเสียมากมาย ผู้ที่จะจัดฝึกอบรมรูปแบบนี้ควรคำนึงให้รอบด้านด้วย เพื่อที่จะให้การอบรมเกิดประโยชน์กับทุกฝ่ายให้มากที่สุดนั่นเอง โดยสิ่งที่ควรคำนึงถึงนั้นมีดังนี้

1.มีเป้าหมาย วัตถุประสงค์ และเรื่องที่จะอบรมชัดเจน

การอบรมแบบระบบห้องเรียนนี้เสมือนการเรียนการสอน ฉะนั้นผู้จัดการอบรมตลอดจนวิทยากรที่อบรมนั้นจะต้องมีการวางเป้าหมายให้ชัดเจนว่าจะพูดหรือให้ความรู้เรื่องอะไร อย่างไร เพื่ออะไร ทั้งนี้จะทำให้ผู้สอนสามารถโฟกัสสิ่งที่ตัวเองต้องการจะถ่ายทอดได้ดี และผู้จัดการอบรมทราบถึงวัตถุประสงค์อย่างชัดเจน ทั้งยังมีผลต่อการประเมินผลการอบรมอีกด้วย แล้วหากไม่มีเป้าหมายชัดเจน ทิศทางการอบรมก็จะไม่ชัดเจนตามไปด้วย

2.สถานที่สะดวกสบาย ต้องรองรับผู้อบรมได้

การอบรมในรูปแบบห้องเรียนนี้มักมีคนเป็นจำนวนมากเข้าร่วมการฝึกอบรม เพราะฉะนั้นสถานที่ในการอบรมต้องพร้อม ควรรองรับจำนวนผู้อบรมได้หมด สถานที่มีความสะดวกสบาย เหมาะแก่การอบรม หากสถานที่คับแคบ ไม่เพียงพอต่อการรองรับก็จะทำให้เกิดความอึดอัดได้ หรือไม่เกิดความสบาย ทำให้การอบรมไม่สัมฤทธิ์ผลได้

3.อุปกรณ์ต่างๆ ต้องพร้อม

ทีมที่ทำการอบรมควรต้องเช็คอุปกรณ์ที่ใช้ประกอบการอบรมให้พร้อมด้วย เพราะการอบรมในลักษณะนี้ต้องมีการสื่อสารที่ดี อุปกรณ์ที่ดีจะช่วยให้การสื่อสารมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อุปกรณ์ที่สำคัญที่ควรเช็คให้ดีก็ได้แก่ ไมโครโฟน, ลำโพง, เครื่องฉายภาพและจอ, ไปจนถึงอุปกรณ์ประกอบต่างๆ ที่สำคัญควรมีการทดสอบการใช้อุปกรณ์ให้คล่องก่อนการอบรมด้วย เพื่อป้องกันการผิดพลาด สะดุด หรือทำความคุ้นเคยกับอุปกรณ์ให้ดี เพื่อให้การอบรมราบรื่น ในขณะเดียวกันก็เป็นการเช็คความพร้อมของอุปกรณ์ต่างๆ ไปในตัวได้ด้วยเช่นกัน

4.เอกสารประกอบการอบรมต้องพร้อม

การอบรมคนเป็นจำนวนมากนี้ควรจัดเตรียมเอกสารประกอบการอบรมให้พร้อม ถูกต้อง ครบถ้วน รวมไปถึงมีจำนวนเพียงพอสำหรับผู้เข้ารับการอบรมทุกคนด้วย เอกสารประกอบการอบรมจะทำให้ผู้รับการอบรมสามารถรู้เนื้อหาได้ดี ตามการอบรมได้ทัน เข้าใจในเนื้อหาที่ฝึกอบรมได้ง่ายขึ้น รวมถึงนำไปทบทวนหลังการฝึกอบรมได้อีกด้วย

5.จัดลำดับการนำเสนอให้ดี ใช้ระยะเวลาให้เหมาะสม

ผู้ที่จัดการฝึกอบรวมควรวางแผนการอบรมให้ดี เริ่มตั้งแต่การคัดกรองเนื้อหาที่จะนำเสนอ การจัดลำดับนำเสนอให้เหมาะสม เพื่อให้เกิดความเข้าใจในสิ่งที่กำลังเรียนรู้ได้ดีขึ้น ลำดับเรื่องราวให้ชัดเจน การจัดลำดับการนำเสนอที่ดีนั้นจะทำให้ทั้งผู้ให้ความรู้และผู้รับการอบรมเข้าใจเรื่องราวที่จะสื่อสารได้ดียิ่งขึ้นด้วย และสามารถแทรกเรื่องราวอื่นๆ ตลอดจนการผ่อนคลายเพื่อให้การอบรมไม่น่าเบื่อจนเกินไปได้ด้วย ที่สำคัญควรใช้ระยะเวลาให้เหมาะสม ไม่นานจนเกินไปซึ่งจะทำให้ผู้รับการอบรมเบื่อหน่าย สมองไม่เปิดรับความรู้ได้ หรือหากต้องใช้เวลาในการอบรมนานจริงๆ ก็ต้องแบ่งช่วงการอบรมให้น่าสนใจ มีการพักเบรก ตลอดจนมีหาวิธีที่จะทำให้การอบรมไม่เกิดความน่าเบื่อหน่าย

6.ผู้อบรมควรมีทักษะการสื่อสารที่ดี

ทักษะการสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะทักษะในการพูดต่อที่สาธารณะ ใช้นำเสียงอย่างไรให้มีพลัง น่าฟัง และน่าเชื่อถือ ตลอดจนสามารถจูงใจให้ทุกคนอยากฟังได้ ถึงแม้ว่าการอบรมจะมีเนื้อหาที่ดีเพียงไร หากวิทยากรหรือผู้ถ่ายทอดความรู้ไม่มีทักษะการสื่อสารที่ชวนฟัง ไม่ฝึกการพูดในที่สาธารณะที่จูงใจ ก็อาจทำให้การอบรมน่าเบื่อ และผู้ฟังไม่รับสาร การอบรมนั้นก็ถือว่าไร้ประสิทธิภาพได้เช่นกัน ฉะนั้นควรเรียนรู้เทคนิคการสื่อสารที่ดีไปพร้อมกันด้วย

7.ผู้เข้าอบรมควรมีพื้นความรู้ในเรื่องนั้น และสนใจที่จะเข้ารับการอบรม

ผู้เข้าอบรมเองก็ควรมีพื้นในเรื่องที่จะเข้าไปอบรม หรือศึกษาหาความรู้เพิ่มเติมไว้ก่อนเพื่อที่จะต่อยอดกับการอบรมนั้นๆ ได้ หากไม่มีพื้นความรู้ หรือพื้นความรู้ไม่ได้จำเป็นกับการอบรมมากนัก ผู้เข้ารับการอบรมก็ควรมีความอยากที่จะเข้ารับการอบรมในเรื่องที่ตนเองสนใจ มุ่งมั่นที่จะรับความรู้ และจดจ่อในการฟัง หากผู้เข้ารับการอบรมไม่ได้สนใจเรื่องที่อบรม หรือการอบรมไม่ก่อประโยชน์ใดๆ กับตนเอง ก็อาจทำให้การอบรมนั้นไร้ค่าได้เช่นกัน

8.เปิดให้มีการซักถาม

การอบรมในระบบห้องเรียนนี้มักจะมีคนเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก การสอนหรือการดูแลอาจจะไม่ทั่วถึงนัก หนึ่งในกระบวนการสำคัญของการอบรมรูปแบบนี้ก็คือการเปิดให้ซักถาม ถาม-ตอบ ข้อสงสัย หรือสิ่งที่อยากรู้ รวมไปถึงสิ่งที่อธิบายผ่านมาว่าเข้าใจหรือไม่เข้าใจตรงจุดไหน หากไม่มีการเปิดช่วงซักถาม ก็อาจทำให้ผู้ที่สงสัยไม่สามารถแก้ปัญหาที่ตนติดค้างได้ หรือบางครั้งวิทยากรอาจจะไม่รู้เลยว่าสิ่งที่ตนเองพูดไปนั้นทำให้ผู้ฟังหรือผู้เข้ารับการอบรมเกิดความเข้าใจได้หรือไม่ การเปิดการซักถามนี้จึงถือเป็นการประเมินผลการอบรมเบื้องต้นวิธีหนึ่ง รวมถึงเปิดโอกาสให้เติมเต็มการเรียนรู้ที่ขาดหายไปได้ด้วย

9.ประเมินผลหลังจบการอบรม

ทุกครั้งหลังการจัดการฝึกอบรมแบบห้องเรียนนั้นควรมีการประเมินผล ตั้งแต่ประเมินผลผู้สอน ประเมินผลวิทยากร ประเมินผลผู้เรียน ประเมินผลการเรียนรู้ ตลอดจนประเมินผลด้านอื่นๆ การประเมินผลจะทำให้เราทราบว่าการจัดการอบรมนั้นประสบผลสำเร็จหรือไม่ หรือเกิดข้อผิดพลาดตรงจุดไหน ต้องแก้ไขอะไร มีข้อบกพร่องอะไรควรปรับปรุง หรือพัฒนาให้ดีขึ้น ทั้งนี้อาจเป็นประโยชน์ในการปรับปรุงการอบรมครั้งต่อๆ ไปได้

บทสรุป

การจัดการฝึกอบรมในแต่ละครั้งนั้นองค์กรมักจะมีเป้าหมายในการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรให้เพิ่มมากยิ่งขึ้น การจัดการฝึกอบรมระบบห้องเรียน (Classroom Training) นั้นมักจะทำกับคนหมู่มากที่องค์กรต้องการให้ความรู้ในเรื่องเดียวกัน การจัดการฝึกอบรมวิธีนี้วิทยากรหรือผู้ที่มาให้ความรู้นั้นมีส่วนสำคัญอย่างยิ่ง เขาต้องสามารถถ่ายทอดองค์ความรู้ได้ มีทักษะการสื่อสารที่ดี มีกลยุทธ์ในการพูดที่ทำให้คนอยากฟัง รวมไปถึงมีความรู้รอบด้านเพียงพอที่จะตอบข้อซักถามของผู้ที่เข้าอบรมได้ชัดเจน อีกด้าน ผู้ที่เข้าร่วมรับการอบรมก็จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสนใจในเรื่องที่ตนเองจะเข้าร่วมอบรม และองค์กรก็ควรดูให้ดีว่าเรื่องที่จะทำการฝึกอบรมในระบบนี้นั้นเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาศักยภาพของบุคคลตลอดจนองค์กรได้หรือไม่ ไม่งั้นจะทำให้การจัดการฝึกอบรมศูนย์เปล่า และเสียเวลาในที่สุด

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง