HIGHLIGHT
|
มนุษยสัมพันธ์ในองค์กรถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้บุคลากรในองค์กรนั้นทำงานร่วมกันได้อย่างไม่มีปัญหา ส่งผลให้การทำงานมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมให้องค์กรมีศักยภาพ และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในที่สุด มนุษยสัมพันธ์นั้นเป็นเรื่องของทั้งศาสตร์และศิลป์ในคราวเดียวกันที่มีการศึกษาตลอดจนสร้างกระบวนการอย่างจริงจังเพื่อให้บุคลากรเกิดมนุษยสัมพันธ์กันให้มากที่สุด เพราะทรัพยากรมนุษย์ถือเป็นกุญแจสำคัญที่สามารถส่งผลต่อความสำเร็จขององค์กรได้มากที่สุดนั่นเอง ปัจจัยสำคัญในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรนั้นมีอะไรบ้างลองมาดูกัน
ทรัพยากรมนุษย์ (Human Resource)
คนถือเป็นปัจจัยสำคัญหลักในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ โดยมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้นจะเกิดขึ้นได้นั้นก็ต้องขึ้นอยู่กับคนนี่ล่ะ ในองค์กรก็เช่นกัน บุคลากรเป็นหัวใจสำคัญขององค์กรและต้องการสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดขึ้น เพื่อให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด
1.เข้าใจตนเอง : ทุกคนต้องรู้จักตัวเราเองให้มากที่สุด รู้ว่าอะไรคือจุดอ่อน จุดแข็ง ควรจะปรับแก้จุดอ่อนอย่างไรให้ดีขึ้น ควรจะใช้จุดแข็งของตนให้เป็นประโยชน์อย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ของตนเองคืออะไร อะไรที่จะทำให้การทำงานไม่เกิดปัญหา อะไรที่เราโดดเด่นที่จะช่วยเพิ่มความสำเร็จของงานได้ดี เมื่อเรารู้จักตนเองดีอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็จะสามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ อะไรที่เกิดประโยชน์ อะไรที่ทำแล้วจะสร้างผลกระทบ เป็นต้น
2.เข้าใจผู้อื่น : เมื่อเรารู้จักตนเองอย่างดีแล้วเราก็ควรที่จะเรียนรู้การรู้จักผู้อื่นด้วยเช่นกัน การเรียนรู้นี้ยังหมายถึงการใส่ใจ ให้ความสำคัญระหว่างกัน รวมไปถึงการเคารพซึ่งกันและกันด้วย การรู้จักความสามารถ จุดอ่อน จุดแข็งของผู้อื่น ทำให้เราสามารถปรับตัวในการทำงานร่วมกันได้ดี หรือช่วยสนับสนุนเกื้อกูลกันได้ ช่วยอุดช่องโหว่ให้แก่กัน ตลอดจนรู้ข้อบกพร่องที่นำไปสู่การช่วยกันแก้ปัญหาได้ดี เป็นต้น
3.ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล : เมื่อรู้เขารู้เราแล้ว ก็ควรที่จะเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่มีใครในโลกนี้ที่เหมือนกัน ทุกคนย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน การยอมรับความแตกต่างไม่ใช่การที่จะต้องปรับความคิดให้เหมือนกันหรือไปในทิศทางเดียวกันเสียหมด การเห็นต่างนั้นไม่ใช่สิ่งผิด แต่การยอมรับฟังจะทำให้เราสามารถเห็นข้อมูลได้รอบด้านขึ้น วิเคราะห์ได้หลายมิติขึ้น และอาจได้หนทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็ได้ แล้วก็ต้องเข้าใจว่าความแตกต่างไม่ใช่การแบ่งพวก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผลคนละรูปแบบ เห็นต่างได้ แต่ก็ต้องยอมรับความเห็นต่างระหว่างกัน และท้ายที่สุดต้องยอมรับข้อสรุปสุดท้ายร่วมกันให้ได้ เพื่อที่จะดำเนินร่วมกันในทิศทางเดียวกัน
การสื่อสาร (Communication)
มนุษยสัมพันธ์ไม่ได้เกิดขึ้นจากคนคนเดียว แต่เป็นการเกิดขึ้นจากการปฎิสัมพันธ์กันของคนหลายคนในสังคมหรือองค์กรเดียวกัน ฉะนั้นเมื่อคนมีการปฎิสัมพันธ์กันก็ย่อมต้องมีการสื่อสารซึ่งกันและกัน ซึ่งการสื่อสารนี่ล่ะที่จะทำให้ก่อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดี หรือจะทำลายมนุษยสัมพันธ์ให้สิ้นไป ดังนั้นองค์กรที่ต้องการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีจึงควรใส่ใจในเรื่องการสื่อสารนี้เป็นอย่างมาก
1.การสื่อสารจากบนลงล่าง (Downward Communication) เป็นการสื่อสารภายในองค์กรที่ส่งผ่านจากลำดับชั้นบังคับบัญชาในระดับสูงลงไปยังผู้ใต้บังคับบัญชาที่อยู่ในระดับที่ต่ำกว่า รวมถึงนโยบายในการบริหารจัดการ การบังคับการสั่งงาน การสื่อสารจากระดับบนลงล่างเป็นอีกหนึ่งหัวใจสำคัญ หัวหน้าต้องรู้จักสั่งงานและบริหารลูกน้องให้เป็น
2.การสื่อสารจากล่างขึ้นบน (Upward Communication) เป็นการสื่อสารภายในองค์กรที่ส่งผ่านจากผู้ที่ปฏิบัติหน้าที่ในระดับบังคับบัญชาที่ต่ำกว่า ขึ้นไปสู่ระดับที่สูงกว่า การสื่อสารรูปแบบนี้ควรคำนึงถึงความอาวุโสด้วย สื่อสารให้เหมาะสมกับกาละเทศะ และควรมีความเป็นทางการมากกว่าในระดับเดียวกัน
3.การสื่อสารในแนวนอน (Horizontal Communication) เป็นการสื่อสารภายในองค์กรที่ส่งผ่านกันในระดับเดียวกัน ทั้งกับบุคคล หรือกับต่างหน่วยงานกัน การสื่อสารในระดับเดียวกันนี้ควรให้เกียรติซึ่งกันและกัน รับฟังความคิดเห็นของแต่ละฝ่าย และมีไมตรีที่ดีในการสื่อสารกัน
ทัศนคติ (Attitude)
ทัศนคติของผู้ร่วมงานถือเป็นปัจจัยสำคัญในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นระหว่างกัน หากบุคลากรในองค์กรมีทัศนคติที่สวนทางกัน ไม่ยอมรับทัศนคติกันและกัน ก็ย่อมยากที่จะเกิดมนุษยสัมพันธ์อันดี หากทัศนคติไปในทิศทางเดียวกันแล้วก็ย่อมทำให้สามารถกำหนดทิศทางร่วมกันได้ง่ายและชัดเจนขึ้นได้ด้วย ทัศนคตินั้นตั้งแต่เรื่องของทัศนคติในการทำงาน ไปจนถึงทัศนคติเกี่ยวกับคนด้วยนั่นเอง
สภาพแวดล้อมในการทำงานและวัฒนธรรมองค์กร (Working Environmental & Organization Culture)
ปัจจัยที่เอื้อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ได้ง่ายขึ้นก็คือเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน ทั้งในเรื่องของกายภาพที่เป็นเรื่องของสถานที่และสิ่งแวดล้อมโดยรอบ ไปจนถึงเรื่องของมนุษยสัมพันธ์ที่เป็นสภาพแวดล้อมการทำงานที่ดี มีความสุข ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่แก่งแย่งชิงดี หรือทะเลาะเบาะแว้งกันจนทำให้งานและองค์กรเสียหาย นอกจากนี้วัฒนธรรมองค์กรที่ดีก็ยังเป็นสิ่งสำคัญเพราะมันเอื้อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันได้ง่ายขึ้น หากวัฒนธรรมองค์กรที่ไม่เอื้อต่อการสร้างมนุษยสัมพันธ์ อย่างเช่นองค์กรที่มีวัฒนธรรมของการแข่งขันส่วนบุคคลที่สูง ก็ยากที่จะทำให้องค์กรเกิดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันได้
Good Workplace – สถานที่ทำงานต้องเอื้อให้เกิดความสุขสบายในการทำงาน สะอาด เป็นระเบียบ เป็นสัดส่วน มีสุขภาวะที่ดี และไม่ก่อให้เกิดปัญหาในการทำงานใดๆ
Good People – บุคลากรที่ดีย่อมทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดีตามไปด้วย หากองค์กรมีแต่คนเก่งและดีที่มีทัศนคติที่ดี ไปในทิศทางเดียวกัน ก็ย่อมทำให้สภาพแวดล้อมในการทำงานดีขึ้นได้ด้วย
Good Working System – นอกจากสถานที่และคนแล้วระบบการทำงานที่ดี ปรับเปลี่ยนให้เข้ากับยุคสมัยอยู่เสมอ หรือแม้แต่ Update เทคโนโลยีให้ก้าวตามทันโลก ก็ย่อมทำให้เกิดการทำงานที่ราบรื่น ไม่ติดขัด เอื้อประโยชน์ต่อการทำงาน ซึ่งการมีระบบที่ดีจะทำให้เกิดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่ดีกับองค์กรได้
การเคารพและเชื่อถือซึ่งกันและกัน (Respect)
การเคารพซึ่งความต่างของกันและกันจะทำให้เราให้เกียรติผู้อื่น ยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่น ยอมรับความแตกต่างที่มีอยู่ในตัวทุกคนซึ่งไม่มีใครเหมือนกัน และนั่นจะส่งผลให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ที่ดีขึ้นได้ในองค์กร หากเราเห็นแก่ตัว เอาตนเป็นใหญ่ ไม่ยอมรับฟังความคิดเห็นของผู้อื่น ก็ย่อมต้องทำให้เกิดความขัดแย้งกันได้ง่าย มนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันก็จะมีปัญหาตามมาเช่นกัน
การทำงานเป็นทีม (Teamwork)
หากองค์กรมีปัจจัยที่เอื้อต่อการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในทุกรูปแบบแล้ว แต่ลืมใส่ใจเรื่องระบบทำงานที่ดี หรือไม่ส่งเสริมระบบการทำงานเป็นทีม ก็อาจทำให้มนุษยสัมพันธ์ในองค์กรเกิดความสั่นคลอนได้ องค์กรควรใส่ใจและฝึกการทำงานเป็นระบบทีมจนกลายเป็นวิถีปกติ เพราะระบบการทำงานเป็นทีมนี่แหละที่เป็นพื้นฐานสำคัญของการสร้างมนุษยสัมพันธ์และพัฒนาต่อไปให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นนั่นเอง
อะไรที่เป็นต้นเหตุให้มนุษยสัมพันธ์ในองค์กรล้มเหลวลงได้
มนุษยสัมพันธ์ในองค์กรนั้นไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นกันได้ง่ายๆ แต่ในขณะเดียวกันก็เป็นสิ่งที่ถูกทำลายลงได้ง่ายเช่นกัน ดังนั้นองค์กรควรใส่ใจและเฝ้าระหว่างในเรื่องมนุษยสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์กรนี้ให้ดี เพราะมันอาจเป็นสาเหตุสร้างความเสียหายที่อาจบานปลายได้อย่างไม่น่าเชื่อ
1.การขาดความไว้เนื้อเชื่อใจกัน
หากบุคลากรให้องค์กรไม่มอบความจริงใจให้แก่กันแล้วก็ย่อมทำให้เกิดความไม่ไว้เนื้อเชื่อใจกันได้ และเมื่อแต่ละคนไม่ไว้ใจหรือเคารพซึ่งกันและกันก็จะทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างกันเหินห่างขึ้นเรื่อยๆ และอาจส่งผลกระทบต่อการทำงานได้ ความสามัคคีลดลง และเป็นบ่อเกิดให้องค์กรล่มสลายได้ในที่สุด
2.ขาดการช่วยเหลือเกื้อกูล
การร่วมแรงร่วมใจกันอย่างดีนั้นย่อมเป็นการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่สุด แต่หากองค์กรขาดความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เห็นแก่ตัว หรือแม้แต่ไม่ช่วยแก้ไขปัญหาเมื่อยามเกิดวกฤต นั่นย่อมทำให้ระบบมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรเสื่อมเสียลงได้ การร่วมมือกันขับเคลื่อนองค์กรก็เป็นไปได้ยาก และเกิดปัญหาในที่สุด
3.ขาดผู้นำที่ดี
บางครั้งผู้นำถือเป็นกุญแจสำคัญในการที่จะกระตุ้นให้เกิดการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรระหว่างกัน ตลอดจนควบคุมดูแลไม่ให้เสียความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่หากมีผู้นำที่ไม่ดี ไม่แข็งแกร่ง หรือควบคุมสถานการณ์ไม่เป็น ตลอดจนเห็นแก่ตัว ย่อมทำให้ลูกน้องขาดความสามัคคี แตกแยก และทำให้องค์กรเสียหายในที่สุด
4.ขาดแรงจูงใจที่ดี
แรงจูงใจในการทำงานนั้นเป็นสิ่งสำคัญ หากไม่มีแรงจูงใจก็อาจทำให้พลังในการทำงานลดลงได้ หากองค์กรไม่ใส่ใจในเรื่องแรงจูงใจในการทำงานด้านต่างๆ แล้ว ก็ย่อมทำให้การทำงานในองค์กรนั้นเกิดความเบื่อหน่าย ล่าช้า ขับเคลื่อนช้า และอาจทำให้การงานเสียหายได้เช่นกัน
5.ทะเลาะเบาะแว้ง
หากบุคลากรมีความเห็นที่ไม่ลงรอยกันจนเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกันขึ้นก็อาจเป็นเหตุให้ทำลายความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันลงได้ การควบคุมไม่ให้เกิดการทะเลาะเบาะแว้งจึงเป็นสิ่งที่ต้องระวังให้มากที่สุด การทะเลาะเบาะแว้งกันนี้ย่อมทำให้มนุษยสัมพันธ์ในองค์กรสั่นคลอน เกิดผลเสียต่อบุคคลและองค์กรได้
6.สภาพแวดล้อมในการทำงานย่ำแย่
อย่างที่เคยบอกไปว่าปัจจัยสำคัญหนึ่งที่จะทำให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ในการทำงานที่ดีในองค์กรนั้นก็คือเรื่องของสภาพแวดล้อมในการทำงาน หากสภาพแวดล้อมย่ำแย่ก็ย่อมก่อให้เกิดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันที่ไม่ดีได้ โดยเฉพาะสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เกี่ยวข้องกับบุคคลซึ่งสามารถทำลายมนุษยสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรลงได้เพราะไม่มีใครอยากทำงานอยู่ท่ามกลางสภาวะที่ไม่มีความสุข หรือเกิดการทะเลาะเบาะแว้งกัน ตลอดจนสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เต็มไปด้วยปัญหามากมายรายล้อมอยู่รอบตัว
7.เชื่อความเท็จ รับสารโดยไม่กลั่นกรอง
ข้อมูลที่ไม่เป็นความจริง ตลอดจนข่าวลือ หรือการนินทาที่ไม่มีมูล บางครั้งก็เป็นเหตุให้เกิดความบาดหมางที่นำไปสู่การแตกแยกกันได้ มนุษยสัมพันธ์ก็จะพังทลายในที่สุด ดังนั้นหากบุคลากรไม่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน รับสารโดยไม่กลั่นกรอง ไม่หาข้อมูลข้อเท็จจริงก่อนตัดสินใจเชื่อ หรือแม้แต่มีการใส่ร้าย ให้ความเท็จระหว่างกัน นอกจากจะเป็นสภาพแวดล้อมในการทำงานที่แย่แล้วยังเป็นบ่อเกิดของการระแวง ไม่ไว้ใจ และไม่สร้างมนุษยสัมพันธ์อันดี หรือเป็นต้นเหตุให้มนุษยสัมพันธ์อันดีเสียหายลงในที่สุด ดังนั้นควรฟังหูไว้หู หาข้อมูลที่แท้จริงเพื่อพิจารณาประกอบการตัดสินใจ ยึดหลักความถูกต้องเป็นเกณฑ์
8.ปัจจัยอื่นๆ
ปัจจัยอื่นๆ ทั้งภายในและภายนอกองค์กรที่อาจไม่ได้เกิดขึ้นจากมนุษย์ หรือเป็นเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ อย่างเช่นสภาวะเศรษฐกิจที่ย่ำแย่, คู่แข่งที่เก่งฉกาจจนทำให้รายได้เราลดลง, หรือแม้แต่การปรับเปลี่ยนนโยบายรัฐบาลที่ส่งผลกระทบต่อธุรกิจ เหล่านี้อาจเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมา ไม่แว้แม้แต่ปัญหาด้านมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรในมิติต่างๆ
บทสรุป
ปัจจัยในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ให้เกิดขึ้นในองค์กรนั้นมีหลากหลายปัจจัยที่ต้องให้ความสำคัญเพราะนั่นจะทำให้เกิดสายสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้น เกิดมนุษยสัมพันธ์ระหว่างคนในองค์กรที่ดีขึ้น และเกิดประสิทธิภาพการทำงานที่ดีขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้องค์กรประสบความสำเร็จ เพราะมนุษย์ถือเป็นตัวแปรสำคัญขององค์กรตลอดจนผลผลิตของธุรกิจ และการหันมาใส่ใจความสำคัญของมนุษย์ก็เป็นสิ่งที่องค์กรต้องตระหนักเรื่องนี้อย่างจริงจัง เพื่อสร้างการทำงานที่มีประสิทธิภาพ