Search
Close this search box.

การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร (Human Relation in Organization)

HIGHLIGHT
  • มนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) เป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้อย่างปกติสุข เกิดความร่วมแรงร่วมใจ ทำงานราบรื่นไม่เกิดปัญหา ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ
  • การสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีในองค์กรได้จะต้องอยู่บนองค์ประกอบที่ เข้าใจตนเอง เข้าใจผู้อื่น และยอมรับความแตกต่างระหว่างกันได้
  • องค์กรไหนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี สามารถทำให้บุคลากรเกิดความภักดีต่อองค์กรได้ ลดปัญหาอัตราการลาออก คนภายนอกให้ความเชื่อถือ แล้วยังดึงดูดให้คนมีศักยภาพอยากมาร่วมงานกับองค์กรได้อีกด้วย

การสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร

มนุษย์ถือเป็นสัตว์สังคมที่มีความต้องการพื้นฐานในการอยู่ร่วมกัน สังคมการทำงานก็ถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยสังคมของมนุษย์ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตไม่แพ้สังคมอื่นๆ สิ่งหนึ่งที่จะทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกันได้อย่างปกติสุขก็คือการมี มนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) ที่ดีระหว่างกัน สังคมในการทำงานก็เช่นกันไม่ว่าจะสาขาอาชีพใดก็ตามต่างย่อมต้องการส่งเสริมให้ทุกคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน เพราะนั่นหมายถึงความรักใคร่ปรองดอง ความร่วมแรงร่วมใจ ช่วยเหลือเกื้อกูล สามัคคี และร่วมหัวจมท้ายกันเผชิญกับทุกสถานการณ์ เพื่อให้การทำงานประสบความสำเร็จ ท้ายที่สุดแล้วองค์กรที่มีทีมทำงานที่ทุกคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันย่อมทำให้องค์กรสามารถบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ดีกว่าองค์กรที่บุคลากรมีมนุษยสัมพันธ์ที่แย่ต่อกันแน่นอน

มนุษยสัมพันธ์ (Human Relation) แปลว่า ความสัมพันธ์ในทางสังคมระหว่างมนุษย์ ซึ่งจะก่อให้เกิดความเข้าใจอันดีต่อกัน

*อ้างอิงจาก : พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ.2554

องค์กรส่วนใหญ่ไม่ใช่ระบบการทำงานแบบคนเดียว แต่เป็นการร่วมมือกันทำงานหลายคน ตลอดจนหลายภาคส่วน เมื่อมีคนอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากแน่นอนว่าย่อมเกิดปัญหาตามมามากมาย เพราะบุคคลแต่ละคนนั้นต่างก็มีความแตกต่างกันอยู่แล้ว แต่องค์กรควรจะทำอย่างไรให้ความแตกต่างนั้นอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว การสร้างมนุษย์สัมพันธ์ที่ดีในองค์กรนั้นจึงเปรียบเสมือนกาวที่จะเชื่อมประสานให้ทุกคนทำงานร่วมกันได้อย่างดี มีความเข้าใจอันดีต่อกันตามความหมายของคำนี้ ใช้ความแตกต่างให้เป็นประโยชน์ มากกว่าที่จะส่งเสริมความแตกต่างให้เกิดความแตกแยก ศาสตร์และศิลป์ในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนี้จึงเป็นสิ่งที่ทุกองค์กรควรใส่ใจและให้ความสำคัญที่สุด

องค์ประกอบสำคัญของมนุษยสัมพันธ์

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

มนุษยสัมพันธ์ที่ดีเป็นบ่อเกิดของการทำงานที่มีประสิทธิภาพที่ทำให้องค์กรประสบความสำเร็จ การที่มนุษยสัมพันธ์จะเกิดขึ้นได้นั้นต้องมีองค์ประกอบหลักๆ 3 ประการด้วยกัน นั่นคือ

  • 1.เข้าใจตนเอง : ทุกคนต้องรู้จักตัวเราเองให้มากที่สุด รู้ว่าอะไรคือจุดอ่อน จุดแข็ง ควรจะปรับแก้จุดอ่อนอย่างไรให้ดีขึ้น ควรจะใช้จุดแข็งของตนให้เป็นประโยชน์อย่างไร ข้อดี ข้อเสีย ของตนเองคืออะไร อะไรที่จะทำให้การทำงานไม่เกิดปัญหา อะไรที่เราโดดเด่นที่จะช่วยเพิ่มความสำเร็จของงานได้ดี เมื่อเรารู้จักตนเองดีอย่างถ่องแท้แล้ว เราก็จะสามารถประเมินสถานการณ์ต่างๆ ได้อย่างเหมาะสมว่าอะไรควรหรือไม่ควรทำ อะไรที่เกิดประโยชน์ อะไรที่ทำแล้วจะสร้างผลกระทบ เป็นต้น
  • 2.เข้าใจผู้อื่น : เมื่อเรารู้จักตนเองอย่างดีแล้วเราก็ควรที่จะเรียนรู้การรู้จักผู้อื่นด้วยเช่นกัน การเรียนรู้นี้ยังหมายถึงการใส่ใจ ให้ความสำคัญระหว่างกัน รวมไปถึงการเคารพซึ่งกันและกันด้วย การรู้จักความสามารถ จุดอ่อน จุดแข็งของผู้อื่น ทำให้เราสามารถปรับตัวในการทำงานร่วมกันได้ดี หรือช่วยสนับสนุนเกื้อกูลกันได้ ช่วยอุดช่องโหว่ให้แก่กัน ตลอดจนรู้ข้อบกพร่องที่นำไปสู่การช่วยกันแก้ปัญหาได้ดี เป็นต้น
  • 3.ยอมรับความแตกต่างระหว่างบุคคล : เมื่อรู้เขารู้เราแล้ว ก็ควรที่จะเรียนรู้ความแตกต่างระหว่างบุคคล ไม่มีใครในโลกนี้ที่เหมือนกัน ทุกคนย่อมมีความคิดเป็นของตัวเอง แต่ทุกคนก็ต้องเรียนรู้ที่จะฟังความคิดเห็นของผู้อื่น และยอมรับในความแตกต่างระหว่างกัน การยอมรับความแตกต่างไม่ใช่การที่จะต้องปรับความคิดให้เหมือนกันหรือไปในทิศทางเดียวกันเสียหมด การเห็นต่างนั้นไม่ใช่สิ่งผิด แต่การยอมรับฟังจะทำให้เราสามารถเห็นข้อมูลได้รอบด้านขึ้น วิเคราะห์ได้หลายมิติขึ้น และอาจได้หนทางการแก้ปัญหาที่ดีที่สุดก็ได้ แล้วก็ต้องเข้าใจว่าความแตกต่างไม่ใช่การแบ่งพวก แบ่งฝักแบ่งฝ่าย แต่เป็นการแสดงความคิดเห็นที่มีเหตุผลคนละรูปแบบ เห็นต่างได้ แต่ก็ต้องยอมรับความเห็นต่างระหว่างกัน และท้ายที่สุดต้องยอมรับข้อสรุปสุดท้ายร่วมกันให้ได้ เพื่อที่จะดำเนินร่วมกันในทิศทางเดียวกัน

เคล็ดลับการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร

Dress Code Policy : กฎ ระเบียบ ข้อบังคับ นโยบาย การแต่งกายมีผลกับการทำงานอย่างไร ?

การทำงานในองค์กรหรือหน่วยงานใดก็ตามจะดำเนินไปอย่างราบรื่นได้นั้นบุคลากรในองค์กรจะต้องมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน การมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้นทำให้เกิดความเข้าใจระหว่างกัน ช่วยเหลือเกื้อกูล เกิดความสามัคคีในการทำงาน และเกิดความสำเร็จในการทำงานในที่สุด เคล็ดลับในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กรให้เกิดขึ้นได้นั้นอาจเริ่มต้นดังนี้

1.พูดจาไพเราะ ทักทายด้วยไมตรี

ใครๆ ก็อยากให้ทุกคนพูดดีๆ กับตนเอง นี่เป็นเคล็ดลับแรกสุดที่ง่ายที่สุดที่จะสร้างมนุษยสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน ควรพูดจาไพเราะ พูดจาดี และสื่อสารกันอย่างเป็นมิตร กล่าวทักไทยด้วยไมตรี หรือแม้แต่เพียงแค่มอบรอยยิ้มให้แก่กัน เมื่อเรามอบสิ่งดีๆ ต่อกันด้วยคำพูดที่ดีก็ย่อมเป็นการเริ่มต้นสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีได้ ซึ่งการสื่อสารกันด้วยคำพูดนั้นก็ถือว่าเป็นหัวใจสำคัญของมนุษยสัมพันธ์เลยทีเดียว

2.จริงใจต่อกัน

การมอบความจริงใจต่อกันเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ไม่ใช่ต่อหน้าทำอีกอย่าง ลับหลังทำอีกอย่าง การซื่อสัตย์ต่อการกระทำนั้นจะทำให้เกิดความไว้เนื้อเชื่อใจ การมอบความจริงใจให้แก่กันจะทำให้เกิดความไว้วางใจกัน และเป็นบ่อเกิดมนุษยสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นได้

3.ไม่นินทาว่าร้าย

การนินทาว่าร้ายอาจเป็นการกระทำที่ตรงกันข้ามกับความจริงใจต่อกัน เราไม่ควรนินทาเพื่อนร่วมงาน หากมีอะไรเปิดอกพูดคุยหรือเคลียร์ปัญหากันได้ก็ควรทำ การพูดจานินทาว่าร้ายกันหากอีกฝ่ายรู้ก็อาจทำให้เกิดความไม่พอใจ นำไปสู่การทะเลาะเบาะแว้ง แบ่งฝักแบ่งฝ่าย และอาจทำให้เกิดผลเสียกับการทำงานได้ในที่สุด และสร้างรอยร้าวระหว่างกันจะทำให้มนุษยสัมพันธ์แย่ลง

4.ให้ความร่วมมือ

หลักการทำงานร่วมกันที่ดีก็คือการให้ความร่วมมือกันในการทำงาน ไม่เกี่ยงงานกันทำ ร่วมแรงร่วมใจ รับผิดชอบในสิ่งที่ตัวเองทำให้ดีที่สุด เมื่อมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันแล้วก็ย่อมทำให้เกิดความร่วมมือในการทำงานที่ดีด้วย ในขณะเดียวกันการให้ความร่วมมือที่ดีในการทำงานก็ส่งผลให้สร้างมนุษยสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นได้ด้วย และนำไปสู่ความสำเร็จร่วมกัน

5.ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน

เมื่อทุกคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกันย่อมทำให้อยากช่วยเหลือซึ่งกันและกัน โดยเฉพาะยามที่อีกฝ่ายเกิดปัญหาอีกฝ่ายก็สามารถให้ความช่วยเหลืออย่างเต็มใจได้ หรือยามไม่เกิดปัญหาใดๆ การช่วยเหลือซึ่งกันและกันก็อาจเป็นการช่วยกันอุดรอยรั่วข้อบกพร่องของแต่ละฝ่ายได้ ทำให้การทำงานสำเร็จได้ด้วยดี

6.กล่าวคำชมเชยเมื่อสำเร็จ ปลอบประโลมเมื่อล้มเหลว

มนุษย์มักชอบถูกชมเชย ในองค์กรนั้นหากเกิดการทำดี สร้างผลสำเร็จ ก็ควรชมเชยซึ่งกันและกัน ให้กำลังใจซึ่งกันและกัน รวมถึงสร้างแรงจูงใจในการทำงานได้ด้วย การชมเชยนั้นไม่ใช่การยกยอปอปั้นจนเกิดเหตุ ไม่ชมเชยโดยไม่มีเหตุผล ไม่ชมเชยโดยขัดจากความเป็นจริง ควรชมเชยตามเนื้อผ้าที่ดี และไม่ชมเชยในแบบประชด ควรชมเชยจากการยินดีด้วยใจบริสุทธิ์ คำชมเชยนั้นก็เปรียบได้กับน้ำที่รดต้นไม้ให้เติบโต ทำให้เพื่อนร่วมงานมีกำลังใจในการทำงานต่อไป ในขณะเดียวกันหากเกิดความล้มเหลว ผู้ร่วมงานที่ดีก็ไม่ควรอยู่เฉย ต้องรู้จักกันพูดคุย ปลอบประโลม หรือให้กำลังใจให้เขาลุกขึ้นสู้ต่อได้ด้วย

7.ให้คำปรึกษาช่วยเหลือเมื่อยามแย่

เมื่อยามเกิดปัญหา นอกจากการพูดคุยเพื่อให้กำลังใจแล้ว การที่ผู้ร่วมงานสามารถให้คำปรึกษาในการแก้ไขปัญหาได้ย่อมทำให้เกิดความประทับใจระหว่างกัน และนำมาซึ่งความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นขึ้นได้ การให้คำปรึกษาที่ดีจะทำให้เพื่อนร่วมงานเกิดความไว้วางใจ และก้าวข้ามผ่านปัญหาได้โดยไม่เกิดความทุกข์

8.รับฟังความคิดเห็น

ในขณะเดียวกันก็ต้องรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นให้เป็น เป็นผู้ฟังที่ดี บางสถานการณ์การเป็นผู้ฟังที่ดีอาจดีกว่าการเป็นผู้พูดที่ดีก็ได้ การรับฟังปัญหาให้ถ้วนถี่อาจนำมาซึ่งการหาวิธีแก้ปัญหาได้รอบคอบและถูกต้องมากขึ้น อย่างที่บอกไปแล้วว่าองค์กรที่ประกอบด้วยคนหลายคนย่อมมีความเห็นที่หลากหลายและแตกต่าง เราต้องรู้จักฟังไปจนถึงยอมรับความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย ไม่เอาตนเองเป็นใหญ่ เมื่อเกิดการรับฟังระหว่างกันย่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีได้อีกด้วย

9.มีความรับผิดชอบ

ความรับผิดชอบเป็นสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งในการทำงาน หากเป็นคนที่พูดดี คิดดี ทำดี มีสัมพันธ์ที่ดีกับเพื่อนฝูง แต่ขาดความรับผิดชอบในการทำงาน ท้ายที่สุดแล้วก็ทำให้งานไม่เสร็จ ภาระกิจไม่สำเร็จ และก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กรได้ในที่สุด แล้วก็เป็นบ่อเกิดของความสัมพันธ์ที่แย่ตามมาได้ ฉะนั้นการมีความรับผิดชอบในทุกๆ เรื่องจึงเป็นคุณสมบัติสำคัญของทุกคน เพราะการมีความรับผิดชอบที่ดีจะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายกับผู้อื่น

10.รู้จักการให้อภัย

ทุกคนย่อมมีโอกาสที่จะทำอะไรผิดพลาด แล้วทุกคนก็ย่อมจะมีโอกาสในการแก้ตัวได้เช่นกัน หากเราไม่ให้โอกาส ไม่ให้อภัยในข้อผิดผลาดในอดีต ไม่รู้จักมองข้ามสิ่งที่แย่ที่แก้ไขแล้ว การเชื่อมต่อความสัมพันธ์ก็ย่อมไม่เป็นผล หากเรารู้จักที่จะให้อภัย มองข้ามบางเหตุผลไปได้ เพื่อรักษาผลที่ดีซึ่งมีมากกว่าไว้ ก็จะเป็นการดีสำหรับการทำงานร่วมกันตลอดจนความสัมพันธ์ร่วมกันด้วย เรื่องที่ดีเหมือนง่ายแต่ก็ทำไม่ได้ง่ายนี้ก็สามารถสร้างและทำลายความสัมพันธ์ที่ดีได้ในคราวเดียวกันเหมือนกัน

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: แด่พนักงาน เราอยากให้รู้ว่าเราแคร์คุณจริงๆ นะ

การบอกพนักงานทางอ้อมแบบจริงใจ ว่าเราแคร์ชีวิตคุณนะ เราไม่ได้มองว่าคุณเป็นแค่หุ่นยนต์นะจะทำได้อย่างไร

A: เป็นคำถามที่น่าชื่นชมค่ะ ที่เล็งเห็นปัญหาและอยากหาทางออกอย่างยั่งยืน

อย่างไรก็ตาม อย่างที่ทราบกันว่า แต่ละองค์กรนั้นมีบริบทแตกต่างกัน ดังนั้นการบริหารจัดการในระบบย่อย คงต้องแล้วแต่ความเหมาะสมตามแต่ละองค์กรไป สิ่งสำคัญที่จะทำให้พนักงานรับรู้ได้ ถึงความจริงใจที่บริษัทมีให้ ห่วงใยให้ความสำคัญ รวมถึงมีการออกแบบระบบสวัสดิการอย่างไรเชื่อมความสัมพันธ์แบบจริงใจได้ และฝังรากในวัฒนธรรมขององค์กร จะทำได้อย่างไร ตั้งข้อสังเกตว่าผู้ถามเน้น key word ที่ “แบบจริงใจ”

มิติของการสร้างมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร

การสร้างเสริมประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน (Employee Experience)

ในองค์กรนอกจากจะมีคนหลากหลายแล้วระบบการบริหารงานก็ยังทำให้มีผู้คนหลายระดับด้วยเช่นกัน ดังนั้นมิติการสร้างความสัมพันธ์ก็ย่อมแตกต่างกันไปด้วย เราลองมาดูกันดีกว่าว่าแต่ละมิติควรจะเป็นอย่างไร

  • มิติมนุษยสัมพันธ์กับผู้บังคับบัญชา

การสร้างมนุษยสัมพันกับผู้บังคับบัญชานั้นอาจต่างจากการสร้างความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานในระดับเดียวกัน เราควรให้ความสำคัญในการใช้ภาษาให้ไพเราะ ถูกกาละเทศ การให้ความเป็นกันเองระหว่างเจ้านายและลูกน้องนั้นมีผลดีต่อการสร้างความสัมพันธ์ระหว่างกัน แต่ก็ต้องดูให้ดีด้วยว่าควรมีความเป็นกันเองระดับไหน เพราะเจ้านายแต่ละคนก็ซีเรียสเรื่องนี้ไม่เหมือนกัน หากเจ้านายที่ไม่ต้องการสร้างความเป็นกันเองมากนัก เราก็อาจต้องให้ความเคารพมากเป็นพิเศษ การรู้จักกาละเทศะที่ดีย่อมสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีกับผู้บังคับบัญชาได้ดีกว่าการไม่รู้กาละเทศะ

  •  มิติมนุษยสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงาน

สำหรับผู้ที่ทำงานในระดับเดียวกัน การสร้างมนุษยสัมพันธ์ระหว่างกันนั้นต้องอยู่บนพื้นฐานมอบความจริงใจให้แก่กัน และสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกัน ช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน เป็นที่ปรึกษาให้กับและกัน และสร้างความสนิทสนมให้มากที่สุด

  • มิติมนุษยสัมพันธ์กับผู้ใต้บังคับบัญชา

การบริหารผู้ใต้บังคับบัญชาอาจเป็นเทคนิคของแต่ละคนที่ไม่เหมือนกัน แต่การสร้างความสัมพันธ์กับคนที่อยู่ใต้การบังคับบัญชานั้นผู้ที่บังคับบัญชาควรจะต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจกันให้ได้ แล้วก็ต้องรู้จักการบริหารคนให้เป็น ผู้บังคับบัญชาที่ดีจะต้องรู้จักการสั่งการ ควบคุมการทำงาน ผู้ใต้บังคับบัญชาส่วนใหญ่มักต้องการผู้บังคับบัญชาที่เก่ง เข้าใจงาน เข้าใจลูกน้อง สั่งงานเป็น ตรวจงานได้ และให้ความเป็นธรรมในทุกๆ เรื่อง สื่อสารกันให้เข้าใจ

ข้อดีของการมีมนุษยสัมพันธ์ในองค์กร

Team Building Process

เมื่อองค์กรสามารถสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีให้กับบุคลากรได้สำเร็จ องค์กรนั้นก็มักจะทำงานได้ราบรื่น ไม่ประสบปัญหาใดๆ หรือเมื่อเจอปัญหาก็สามารถแก้ไขได้อย่างรวดเร็ว ก้าวข้ามผ่านปัญหาไปได้ และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในที่สุด ซึ่งการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีนั้นก่อให้เกิดผลดีกับองค์กรดังนี้

1.เกิดความสามัคคีในองค์กร

เมื่อทุกคนมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ย่อมทำให้เกิดความสามัคคีขึ้นในองค์กรได้ง่าย เมื่อองค์กรไหนที่ทำงานด้วยความสามัคคีกันอย่างเหนียวแน่นแล้วย่อมก่อพลังให้เกิดการทำงานที่ประสบความสำเร็จได้ดีเช่นกัน และความสามัคคีนี้เองก็ถือเป็นปัจจัยสำคัญที่สุดอย่างหนึ่งของการทำงานในระบบทีม ตลอดจนการขับเคลื่อนองค์กรให้ก้าวไปข้างหน้าด้วยเช่นกัน

2.องค์กรทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ

การทำงานอย่างราบรื่นไม่เกิดปัญหานั้นย่อมทำให้องค์กรเกิดประสิทธิภาพได้สูง หากความสัมพันธ์ของพนักงานองค์กรไม่ดีแม้จุดใดจุดหนึ่งก็ตามก็ย่อมส่งผลต่อการทำงานไม่มากก็น้อย ก็เหมือนกับเฟืองของเครื่องจักรที่หากมีเฟืองไหนหักไปแม้เพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้เครื่องจักรนั้นเดินมีปัญหาหรือหยุดเดินได้ในที่สุด เมื่อการทำงานมีประสิทธิภาพแน่นอนว่าย่อมทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้อย่างงดงามด้วย

3.บุคลากรเกิดการพัฒนา

เมื่อองค์กรไม่ต้องมานั่งปวดหัวแก้ปัญหาเรื่องความสัมพันธ์ก็ทำให้องค์กรตลอดจนบุคลากรมีเวลาที่จะพัฒนาตนเองได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อทุกคนให้ความช่วยเหลือกัน ย่อมทำให้ทุกคนช่วยกันพัฒนาระหว่างกันไปด้วย เมื่อทุกคนมุ่งผลสำเร็จของงานร่วมกัน ก็ย่อมทำให้เกิดศักยภาพในการทำงานที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เกิดการพัฒนาที่ไม่หยุดยั้ง

4.องค์กรประหยัดงบประมาณ มีผลประกอบการที่ดีขึ้น

หากเกิดปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างบุคลากรในองค์กรหลายคนอาจไม่คาดคิดว่าปัญหาเพียบเล็กๆ น้อยๆ นี้ก็สร้างความเสียหายใหญ่หลวงได้เช่นกัน ตัวอย่างง่ายๆ หากบุคลากรมีปัญหาความสัมพันธ์กันจนทำให้เกิดการลาออก บริษัทก็จะต้องจัดหาพนักงานใหม่ คัดสรรพนักงานใหม่ สอนงานใหม่ และอีกมากมายหลายอย่างเพื่อมาทดแทนคนเดิมให้ได้ ซึ่งนั่นหมายถึงงบประมาณที่งอกมามากมายอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว หรือการมีปัญหาระหว่างกันทำให้การทำงานเสีย แน่นอนว่าย่อมส่งผลมหาศาลต่อองค์กร สร้างความเสียหายได้เช่นกัน หากองค์กรใดที่สามารถจัดการปัญหาต่างๆ เหล่านี้ได้ ก็ย่อมทำให้ประหยัดงบประมาณได้เช่นกัน และทำให้ผลประกอบการดีขึ้นได้อย่างไม่น่าเชื่ออีกด้วย

5.พนักงานเกิดความภักดีในองค์กร

มากคนยิ่งมากความ ประโยคนี้เป็นจริงเสมอ และเป็นจริงกับการทำงานทุกองค์กร ฉะนั้นพนักงานทุกคนอยากทำงานในที่ที่มีปัญหาเรื่องคนน้อยที่สุด เพราะปัญหาเรื่องงานนั้นจัดการได้ไม่ยาก แต่ปัญหาเรื่องคนนั้นอาจสร้างผลกระทบได้อย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว และปัญหานี้ก็เป็นปัญหาหลักอันดับต้นๆ ที่ทำให้เกิดการลาออก เปลี่ยนงาน ได้มากที่สุดด้วย การที่องค์กรสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานได้จะทำให้บุคลากรรักใคร่กลมเกลียวกัน ไม่เกิดปัญหาเรื่องบุคคล ทำงานองค์กรได้ยาวนานขึ้น และมีความจงรักภักดีกับองค์กรขึ้นได้ ทุ่มเทการทำงานให้กับองค์กรขึ้นได้ และช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับองค์กรได้เช่นกัน

6.เกิดการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่ดีระหว่างกัน

เมื่อองค์กรใดมีวัฒนธรรมองค์กรที่ดีและแข็งแกร่ง นั้นย่อมเป็นเสมือนสมบัติล้ำค่าที่ทุกคนในองค์กรมักหวงแหนและฟูมฟักรักษาอย่างดี ในขณะเดียวกันก็ร่วมกันที่จะรักษารวมถึงถ่ายทอดวัฒนธรรมองค์กรที่ดีให้กับคนรุ่นต่อๆ ไป เมื่อสืบทอดสิ่งดีๆ แล้วย่อมทำให้องค์กรแข็งแกร่งยิ่งขึ้นเรื่อยๆ และทำให้ชื่อเสียงขององค์กรดี องค์กรมีความน่าเชื่อถือทั้งทางธุรกิจและด้านอื่นๆ รวมถึงทำให้ผู้คนนอกองค์กรอยากที่จะเข้ามาร่วมงานกับองค์กรที่ดีอีกด้วย

7.เป็นเครื่องดึงดูดใจให้คนเก่งและดีอย่างมาร่วมงานกับองค์กร

คนเก่งและดีส่วนใหญ่ไม่ได้ตัดสินมาร่วมงานกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งด้วยเรื่องเงินเพียงอย่างเดียวเท่านั้น และมีหลายปัจจัยที่เงินไม่สามารถซื้อได้ แต่ใจสามารถซื้อคนได้ดีกว่า องค์กรที่อาจให้ความสำคัญในการสร้างองค์กรในมิติอื่นๆ ให้ดีขึ้น โดยเฉพาะมิติมนุษยสัมพันธ์นั่นย่อมทำให้ใครหลายคนอยากมาร่วมงานกับองค์กรที่มีแต่ความสุข ไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องคนระหว่างกัน ทั้งยังให้ความช่วยเหลือในการทำงานกันอย่างดีอีก หากเป็นเช่นนี้ใครๆ ก็อยากมาร่วมงานด้วย และทำให้องค์กรมีตัวเลือกของพนักงานที่มีคุณภาพมากขึ้นอีกด้วย และแน่นอนว่าเมื่อองค์กรได้คนที่เก่งและดีมาร่วมงานแล้วก็ย่อมจะทำให้องค์กรมีโอกาสประสบความสำเร็จได้สูงเช่นกัน

บทสรุป

การเพิ่มผลิตภาพในการทำงานระบบทีม (Team Productivity)

องค์กรก็สังคมรูปแบบหนึ่งของมนุษย์ การที่มนุษย์จะอยู่ในสังคมนั้นได้อย่างมีความสุขก็ต้องอาศัยการมีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกันด้วย องค์กรในยุคปัจจุบันจึงหันมาให้ความสำคัญและใส่ใจในการสร้างมนุษยสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงแม้ว่าสิ่งเหล่านี้จะไม่ได้เกี่ยวข้องโดยตรงอะไรกับการทำงาน แต่มนุษยสัมพันธ์ที่ดีนี้กลับกลายเป็นตัวช่วยสำคัญที่สามารถทำให้องค์กรประสบความสำเร็จได้งดงามอย่างไม่น่าเชื่อทีเดียว และทายที่สุดองค์กรที่ประกอบไปด้วยคนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดีมาทำงานร่วมกันย่อมทำให้สังคมการทำงานนั้นๆ เกิดความสุข เมื่อคนมีความสุขก็ย่อมทำให้เกิดประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีขึ้น สร้างผลผลิตที่มีประสิทธิผลขึ้น และทำให้องค์กรมีศักยภาพเพิ่มขึ้นด้วย เมื่อองค์กรมีศักยภาพแล้วก็ย่อมทำให้บุคลากรเกิดความภักดีต่องานและองค์กร ในขณะเดียวกันก็เป็นเสมือนแม่เหล็กดึงดูดคนที่มีศักยภาพให้อยากมาร่วมงานกับองค์กรเพิ่มมากขึ้นได้อีกด้วย

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง