Search
Close this search box.

อุปสรรค 9 อย่างของการทำงานระบบทีมและการบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในทีม (Team Conflict Management)

HIGHLIGHT
  • เข้าใจความต่างระหว่างบุคคล ยอมรับความคิดเห็นระหว่างกัน ลดความขัดแย้งลงได้
  • มีทัศนคติที่ดีในการมองปัญหา บริหารจัดการความขัดแย้งด้วยสติ
  • ให้ความสำคัญกับสมาชิกทุกคนในทีมอย่างเท่าเทียม ยุติธรรมในการตัดสินใจ
  • ร่วมแรงร่วมใจกันต่อสู้กับอุปสรรค์ ร่วมมือกันแก้ปัญหาให้ดีที่สุด
  • ขจัดความขัดแย้งในทีมด้วยความรอบคอบและว่องไวที่สุด

การบริหารความขัดแย้งที่เกิดขึ้นภายในทีม

มนุษย์นั้นไม่ใช่เครื่องจักรกล แน่นอนว่าเมื่อคนหลายคนมาทำงานร่วมกันย่อมเกิดความเห็นที่แตกต่าง รวมไปถึงมีวิธีการทำงานที่ต่างกันไป บางครั้งความแตกต่างของแต่ละคนต่างก็ผสมกลมกลืนเป็นการทำงานได้อย่างลงตัวไม่เกิดปัญหา แต่บางครั้งความแตกต่างนี่ล่ะที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในการทำงานระบบทีมได้ ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่การทำงานระบบทีมนั้นจะเกิดความขัดแย้งขึ้น

สิ่งที่องค์กรตลอดจนหัวหน้าทีมควรคำนึงถึงมากกว่าก็คือการบริหารจัดการความขัดแย้งให้เหมาะสมเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว และขจัดอุปสรรค์ต่างๆ ในการทำงานระบบทีมให้มีความราบรื่นขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถทำงานร่วมกันได้เช่นเดิม และสามารถจับมือร่วมกันสู่ความสำเร็จได้ในที่สุด

Contents

อุปสรรค 9 ประการ ในการทำงานเป็นทีม

การบริหารความขัดแย้ง Conflict Management

ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการทำงานเป็นทีมนั้นมีหลายปัจจัย อุปสรรคต่างๆ นั้นสามารถแบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ 9 ประการ ซึ่งบทสรุปนี้หยิบยกมาจาก The Nine Barriers to Teamwork ที่เผยแพร่ในวารสาร Personal Journal ฉบับเดือนมกราคม ค.ศ.1988 ที่ถึงแม้เวลาจะผ่านมานานแล้วแต่หลักการนี้ยังคงได้รับความน่าเชื่อถือและใช้อ้างอิงกันอย่างแพร่หลายจนถึงปัจจุบัน ซึ่งตัวชี้วัดอุปสรรคในการทำงานเป็นทีมทั้ง 9 ประการนั้นมีดังนี้

1.ความแตกต่างระหว่างบุคลิกภาพของแต่ละบุคคล (Personality Differences)

ไม่มีใครสักคนบนโลกนี้ที่เหมือนกัน แต่ละคนย่อมมีความแตกต่าง และความแตกต่างนี้เองมักนำมาซึ่งปัญหาในการทำงานร่วมกัน ทุกคนล้วนมีอคติ (Bias) ส่วนตัวต่อบุคคลอื่นในเหตุผลที่ต่างกัน บุคลิกบางอย่างก็อาจไม่เป็นที่ยอมรับของคนบางคน ทำให้เกิดปัญหาในการสื่อสารระหว่างกัน และเกิดปัญหาในการทำงานได้ บุคลิกบางอย่างเราปรับได้ แต่บุคลิกส่วนบุคคลบางอย่างก็ปรับได้ยาก แต่ถึงอย่างนั้นทุกคนก็ควรเข้าใจและยอมรับในความเป็นส่วนบุคคลของตนเองและคนอื่นได้ด้วย

2.ความไม่เท่าเทียมกันในการมีส่วนร่วม (Unequal Contributions)

ความไม่เท่าเทียมกันเป็นบ่อเกิดของปัญหาเสมอ โดยเฉพาะเรื่องของการทำงานที่หากมีการแบ่งงานให้ทำอย่างไม่เสมอภาคแล้วก็ย่อมเกิดความไม่เท่าเทียมและนำมาซึ่งปัญหาได้ บางคนอาจได้ทำงานเยอะเพราะมีศักยภาพ แต่บางคนได้ทำงานน้อยเพราะขี้เกียจ ตรงจุดนี้ผู้นำทีมอาจจะเป็นตัวแปรสำคัญในการบริหารจัดการแบ่งงานให้เกิดความเท่าเทียมและประเมินผลตามศักยภาพของแต่ละบุคคลให้เหมาะสมด้วยเช่นกัน รวมถึงจัดสรรความรับผิดชอบให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมด้วย

3.การขาดความรู้สึกมีส่วนร่วม (No Sense of Belonging)

ปัจจัยสำคัญมากที่จะทำให้การทำงานระบบทีมประสบความสำเร็จนั้นก็คือการรู้สึกถึงความมีส่วนร่วมของทีมหรือองค์กร รู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของทีม สิ่งที่จะสร้างความมีส่วนร่วมได้ดีนั้นก็คือการได้ทำงานที่ตนเองรัก ทำได้ดี มีศักยภาพ แต่อีกสิ่งที่สำคัญไม่แพ้กันก็คือความสัมพันธ์ของสมาชิกในทีม เพราะถ้าสมาชิกในทีมมีความสัมพันธ์กันที่แย่ หรือมีความสัมพันธ์ต่ำ ความสามัคคีในการทำงานก็จะเกิดขึ้นได้ยาก และเมื่อสมาชิกไม่มีความรู้สึกร่วมในการทำงานระบบทีมแล้วก็จะขาดความทุ่มเท มุ่งมั่นอย่างเต็มที่ ทำให้การทำงานระบบทีมมีปัญหาได้

4.ความล้มเหลวในการประเมิน (Failure of Evaluation)

การทำงานที่ดีควรมีการประเมิลเพื่อนำผลมาวิเคราะห์ว่าการทำงานประสบความสำเร็จหรือล้มเหลว ควรปรับวิธีการ แก้ไขสิ่งไหน หรือควรพัฒนาสิ่งไหนให้ดียิ่งขึ้นไป หากการประเมินผลไร้ประสิทธิภาพก็อาจทำให้เกิดการแก้ไขที่ผิดทิศทางได้ การประเมินผลที่ดีควรยึดหลักความถูกต้องตามความเป็นจริงเป็นหลัก อย่าประเมินผลเพื่อให้ผลงานสวยหรูโดยปิดบังข้อเท็จจริงไว้ การประเมินผลที่ดีนั้นควรจะต้องติดตามและตรวจสอบรายละเอียดการทำงานอย่างสม่ำเสมอ วิเคราะห์อย่างตรงไปตรงมา และสามารถเสนอแนะวิธีการจัดการกับปัญหาได้อย่างเหมาะสมด้วย หากการประเมินมีประสิทธิภาพ จะเป็นผลประโยชน์ต่อทีมและองค์กรในระยะยาว

5.อำนาจของผู้นำ (Power of the Leader)

หัวใจสำคัญของการทำงานเป็นทีมอีกอย่างหนึ่งก็คือการมีผู้นำที่ดี ผู้นำเปรียบเสมือนกัปตันเรือที่จะคอยบังคับเรือไปในทิศทางที่ถูกต้อง การให้อำนาจผู้นำในการบริหารตลอดจนการตัดสินใจนั้นเป็นสิ่งสำคัญ และหากผู้นำใช้อำนาจนี้อย่างมีประสิทธิภาพก็จะเกิดการทำงานที่มีศักยภาพเช่นกัน ตรงกันข้ามหากผู้นำใช้อำนาจที่ผิดก็อาจสร้างปัญหาตามมาได้อีกหลายประการ อีกมุมหนึ่งในเรื่องอำนาจของผู้นำที่จำเป็นต่อการทำงานระบบทีมนี้ก็คือการที่ผู้นำมีศักยภาพจนได้รับการยอมรับจากสมาชิกในทีม หากผู้นำไม่มีศักยภาพพอจนสมาชิกไม่ยอมรับ การทำงานระบบทีมก็จะไม่แข็งแกร่ง เกิดปัญหาในที่สุด ขณะเดียวกันผู้ที่เป็นหัวหน้าทีมก็จะต้องรู้จัการใช้อำนาจในการบริหารงานตลอดจนบริหารบุคคลในทีมอย่างเหมาะสมด้วย

6.การขาดแคลนทางเลือก (Lack of Alternative)

ปัญหาในการขาดแคลนทางเลือกนี้มักเกิดขึ้นกับทีมที่มีจำนวนสมาชิกน้อย หรือทีมที่มีสมาชิกมีความเป็นเอกภาพส่วนตัวสูงจนเกินไป สิ่งเหล่านี้ทำให้งานไม่เกิดความหลากหลาย หรือสมาชิกมีอัตตาในการทำงานที่ยึดถือตนเป็นหลัก แต่ไม่ได้มองสภาพตามสถานการณ์ที่เป็นจริง ก็อาจจะขาดทางเลือกที่เหมาะสมและถูกต้อง ทำให้เกิดการตัดสินใจผิด ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงได้ การขาดแคลนทางเลือกนี้ยังรวมไปถึงการขาดคนที่มีศักยภาพมาร่วมทีม นั่นทำให้โอกาสที่จะประสบความสำเร็จมีน้อยลงตามไปด้วย

7.การปิดบัง (Concealment)

การทำงานระบบทีมจะล้มเหลวทันทีหากเกิดการปิดบังข้อเท็จจริงกัน ทั้งการไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงระหว่างสมาชิกในทีม ไปจนถึงการปิดบังข้อเท็จจริงต่อองค์กร บางคนปิดบังข้อเท็จจริงไว้เพราะไม่อยากให้ผลงานของตนดูแย่ หรือบางคนไม่ยอมเปิดเผยข้อมูลอย่างตรงไปตรงมาให้คนอื่นรู้เพราะอยากให้ผลงานของตนเองโดดเด่นที่สุด ไม่ว่าจะเป็นการปิดบังในรูปแบบนั้นย่อมก่อให้เกิดผลเสียต่อการทำงานระบบทีมทั้งนั้น และก่อให้เกิดความเสียหายกับองค์กรในที่สุด

8.การวินิจฉัยทีมต่ำ (Short of Teamwork Diagnosis)

ทีมที่มุ่งปฎิบัติงานให้บรรลุเป้าหมายโดยเร็วที่สุดโดยละเลยการตรวจสอบให้ชัดเจนตลอดจนเพิกเฉยในการตรวจสอบระบบการทำงานของทีมตนเอง อาจทำให้ทีมไม่พบจุดบกพร่องที่ควรจะแก้ไข หรือละเลยที่จะแก้ปัญหาที่ควรจะทำ ปัญหาเหล่านี้อาจถูกซ่อนเร้น ค่อยๆ ก่อตัวจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ในที่สุด และอาจจะสายเกินแก้ในภายหลัง การทำงานระบบทีมที่ดีนั้นนอกจากจะตรวจสอบผลงานแล้วก็ควรตรวจสอบตนเองด้วย วินิจฉัยทีมให้ได้ว่ามีจุดบกพร่องอะไรหรือเปล่า มีสิ่งผิดพลาดอะไรเกิดขึ้นหรือไม่ หรืออะไรควรแก้ไขอย่างเร่งด่วน เป็นต้น

9.ขาดการกระจ่ายข่าวสู่ระดับล่าง (Lack of Spreading News to Lower Level)

การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญ การกระจายข่าวสารและข้อมูลระหว่างคนในทีมก็ควรให้ความสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะการกระจายข่าวสารจากระดับบริหารสู่ระดับล่าง บางครั้งหัวหน้างานอาจได้รับข้อมูลข่าวสารมาแต่ไม่กระจายสู่สมาชิกทีมระดับล่าง ก็อาจเกิดการไม่รู้ข้อมูลได้ เมื่อไม่รู้ข้อมูลที่แท้จริงก็อาจทำให้การทำงานผิดพลาดได้เช่นกัน การกระจายข่าวสารไม่ครบถ้วนนั้นก็เกิดปัญหาได้ ทำให้การทำงานระบบทีมติดขัด ผู้นำทีมจึงควรตระหนักในการกระจายข่าวสารสู่ระดับล่างให้ดีด้วย

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: เพิ่งได้เป็นผู้จัดการตั้งแต่อายุยังน้อย ลูกน้องไม่รัก ไม่เปิดใจ ไม่เคารพ ทำยังไงดีครับ

ผมเป็นผู้จัดการตั้งแต่ อายุ 26 ผมเคยแต่ทำตัวเลขทำยอด ปิดเป้าบริษัท ตลอด ผมกลับบริหารให้ลูกน้องรักไม่ได้ ผมควรทำไงให้ลูกน้องเข้าใจ และไว้วางใจเราครับ

A: เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างคลาสสิกเรื่องหนึ่งของการบริหารจัดการคน

เราอาจเคยได้ยินผู้บริหารหลายท่านพูดว่า เราเสียนักขายมือทองไป เพื่อไปเป็นผู้จัดการที่เฮงซวย ซึ่งเรื่องนี้มีข้อแนะนำให้ผู้จัดการมือใหม่ สามข้อ ดังนี้ครับ

1) เข้าใจบทบาทของ พนักงาน และ ผู้จัดการ

2) ชนะใจด้วยสมการความเชื่อใจ Credit (น่าเชื่อถือ)

3) มอบหมายให้ชัด ติดตามงานให้บ่อย และให้ Feedback สม่ำเสมอ..

วิธีการบริหารจัดการความขัดแย้ง (Conflict Management)

Manager Burnout ถ้าผู้นำหมดไฟแล้วใครจะดูแลองค์กร

การบริหารจัดการความขัดแย้งอย่างมีประสิทธิภาพนั้นสามารถทำได้ทั้งก่อนและหลังเกิดความขัดแย้ง บางครั้งเมื่อคาดการณ์ว่าจะเกิดความขัดแย้งได้ก็สามารถที่จะหาวิธีป้องกันไว้ก่อนได้เช่นกัน ขณะเดียวกันเมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้วก็ต้องรีบหาวิธีแก้ไขเพื่อลดความขัดแย้งลงโดยเร็ว เพราะหากปล่อยไว้อาจกลายเป็นไฟลามทุ่ง สร้างความเสียหายอันใหญ่หลวงให้กับองค์กรได้เช่นกัน

การหลีกเลี่ยง

วิธีนี้เป็นการตัดไฟแต่ต้นลมหรือป้องกันก่อนเกิดเหตุ โดยเป็นวิธีการที่ทีมงานตลอดจนหัวหน้าทีมหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมใดๆ ก็ตามที่จะทำให้เกิดความขัดแย้งภายในทีมขึ้นได้ พยายามหลีกเลี่ยงเพื่อไม่ให้เกิดผลเสียต่อการทำงานระบบทีม แต่หากเกิดความขัดแย้งขึ้นจริงๆ แล้วทีมก็ไม่ควรหลีกเลี่ยงปัญหา ควรตั้งรับและพร้อมที่จะแก้ไข

การประณีประนอม

วิธีการนี้นี้เป็นการบริหารความขัดแย้งในรูปแบบ Win-Win Situation ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ทั้งสองฝ่ายต่างก็ได้ประโยชน์ และเกิดความประณีประนอมกันขึ้น เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นแล้วก็ควรที่จะหันหน้าหารือ คุยกัน หรือยอมถอยหลังกันคนละก้าว เพื่อมานั่งตกลงร่วมกันหาข้อสรุปที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่าย หากประณีประนอมกันได้ก็อาจไม่เกิดความขัดแย้งที่หนักขึ้น และสามารถทำงานร่วมกันต่อไปได้ แต่การประณีประนอมนี้ก็ต้องขึ้นอยู่บนพื้นฐานการตกลงเห็นพ้องต้องกันทั้งสองฝ่ายที่ขัดแย้งกัน ไม่ใช่การเจราให้อีกฝ่ายประณีประนอมเพื่ออีกฝ่าย ซึ่งนั่นอาจสร้างความขัดแย้งในระดับต่อไปได้อีก และก็ไม่ใช่การบังคับให้ทั้งสองฝ่ายต้องเห็นพ้องต้องกัน ควรเกิดจากความสมัครใจ เพราะถ้าเกิดจากการบังคับ วันหนึ่งอาจจะเกิดการระเบิดที่ก่อปัญหาหนักขึ้นก็เป็นได้

การยอมเสียสละ

การยอมเสียสละในที่นี้ต้องมีอยู่บนพื้นฐานการเสียผลประโยชน์หรือเสียเปรียบที่ร้ายแรง เมื่อเกิดความขัดแย้งขึ้นจะต้องมีการเจรจากัน หากอีกฝ่ายยอมเสียสละได้ ยอมถอยแต่ฝ่ายเดียว ก็จะเป็นการดี แต่ไม่ใช่การยอมเสียสละแล้วฝ่ายนั้นโกรธแค้น หรือไม่ยินดี การเสียสละเป็นสปิริตที่ดี แต่หัวหน้างานเองก็ต้องควรพิจารณาความเหมาะสมด้วย เพราะบางครั้งเหตุผลของการเสียสละอาจไม่ได้เกิดผลลัพธ์ที่ดีก็ได้ การเสียสละควรเกิดจากความเต็มใจ และไม่เดือนร้อน บาดหมางกัน บางครั้งการเสียสละก็เพื่อที่จะสร้างความผิดพลาดให้เกิดขึ้นน้อยที่สุดกับองค์กร ซึ่งหัวหน้างานควรพิจารณาเป็นกรณีให้ดี

การร่วมมือกัน

บางครั้งความขัดแย้งอาจเกิดขึ้นคนละทิศทาง แต่ทิศทางต่างๆ ต่างก็ดีกับการทำงานทั้งสองทาง การหาทางออกร่วมกันที่ดีที่สุดอีกวิธีหนึ่งก็คือการดึงมาทำงานร่วมกัน อาจหารือให้ทุกอย่างลงตัวกลายเป็นข้อสรุปเพียงหนึ่งเดียวสำหรับการทำงานร่วมกัน การทำงานร่วมกันนี้อันที่จริงยิ่งส่งผลดีต่อระบบทีมเข้าไปอีก แต่ก็ต้องดูกรณีความขัดแย้งที่เกิดขึ้นด้วยว่าสามารถนำมารวมกันแล้วทำงานร่วมกันได้จริงหรือไม่ หากดันทุรังทำสิ่งที่ไม่สามารถทำงานร่วมกันได้จริง อาจยิ่งเกิดปัญหาเข้าไปอีก แต่หากทำงานร่วมกันได้ก็จะขจัดปัญหาความขัดแย้งในทีมได้เป็นอย่างดี

การแข่งขัน

ในเมื่อไม่สามารถหาทางออกในการทำงานร่วมกันได้ก็ปรับเปลี่ยนเป็นการแข่งขันกันเสียเลย นั่นเป็นอีกทางออกหนึ่งของการขจัดความขัดแย้งในการทำงานระบบทีม แต่การแข่งขันนี้จะต้องมีการปรับรูปแบบให้เหมาะสม แข่งขันกันทำงานในทีม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายร่วมกัน ไม่ใช่แข่งขันกันเพื่อที่จะหาผู้ชนะ หรือชิงดีชิงเด่นกัน ทีมต้องปรับการแข่งขันให้เป็นเชิงบวก เป็นแรงผลักดันในการทำงานที่ดี และต้องยอมรับในความสามารถของกันและกันด้วย การแข่งขันนั้นย่อมต้องมีผู้ชนะ แต่ผู้ชนะสำหรับการแข่งขันภายในทีมควรมีการตัดสินอย่างยุติธรรมและรัดกุม และไม่ส่งเสริมจนให้เกิดความเกลียดชัง แต่ส่งเสริมให้ทุกคนร่วมยินดีกับชัยชนะและกระตุ้นให้อยากชนะบ้างในวันข้างหน้า เพื่อทำผลงานให้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่เพื่อที่จะเอาชนะเพื่อนร่วมทีม หากปรับเปลี่ยนการแข่งขันให้เป็นประโยชน์ จะทำให้การทำงานระบบทีมมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เลยทีเดียว

HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้

Q: จะออกแบบให้การเมืองในบริษัทเบาบางลงได้อย่างไรคะ

รู้สึกว่าที่ Office การเมืองแรงมาก เกิดการดราม่า แบ่งฝักแบ่งฝ่าย พูดคุยนินทากันลับหลังข้ามแผนก มันทำให้การทำงานขาดคามร่วมมือ มีมวลความเครียดบางอย่างในที่ทำงาน เราจะจะออกแบบให้การเมืองในบริษัทเบาบางลงได้อย่างไรคะ

A: เป็นปัญหา classic ในที่ทำงานนะคะ

การทำงานแบบแบ่งฝักแบ่งฝ่าย การเมืองในบริษัท ถ้าให้แก้ไขหมดไปเลยคงยาก แต่ให้ลดลงแบบค่อยเป็นค่อยไป น่าจะเห็นภาพที่จะเกิดขึ้นได้มากกว่าค่ะ แนะนำ guideline ทั้งระดับองค์กรและระดับ HR ดังนี้ค่ะ

บทบาทของผู้นำในการบริหารจัดการความขัดแย้งของทีมงาน (Team Conflict Management)

พี่เลี้ยง (Mentor) HR

การทำงานระบบทีมนั้นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่งก็คือผู้นำทีมนั่นเอง กรณีเกิดความขัดแย้งภายในทีมนั้นผู้นำทีมอาจจะเหมาะสมในการเป็นผู้บรรเทาตลอดจนจัดการปัญหาได้ดีที่สุดเช่นกัน รวมถึงการมองการไกลในการป้องกันที่จะไม่ให้ความขัดแย้งเกิดขึ้นกับการทำงานระบบทีมด้วย บทบาทของผู้นำที่ดีนั้นควรมีดังนี้

1.เข้าใจบทบาท หน้าที่ ตลอดจนศักยภาพของสมาชิกในทีมทุกคน : หัวหน้าทีมควรรู้ศักยภาพ จุดอ่อน จุดแข็ง ตลอดจนบทบาท และหน้าที่ของแต่ละคน และวางแผนให้แต่ละคนทำงานให้ถูกต้องเหมาะสมกับศักยภาพของตนเองให้มากที่สุด รู้จุดอ่อน จุดแข็งของสมาชิกในทีมให้ได้ ทุกอย่างจะสามารถนำมาวิเคราะห์เพื่อแก้ไขปัญหาในยามเกิดความขัดแย้งได้ รวมถึงป้องกันความขัดแย้งที่จะเกิดขึ้นได้ด้วย

2.บริหารโดยให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมในการทำงานที่เท่าเทียม : การให้สมาชิกทุกคนมีส่วนร่วมและรู้สึกเป็นส่วนหนึ่งของงานนั้นจะทำให้ระบบการทำงานเป็นทีมมีประสิทธิภาพ เพราะทุกคนมีส่วนสำคัญต่อการทำงานเป็นทีมหมด บางครั้งหัวหน้างานอาจคิดเอาเองว่าเรื่องบางเรื่องสมาชิกบางคนไม่จำเป็นต้องรู้ก็ได้ นั่นอาจหมายถึงการกีดกันหรือปกปิดข้อมูลที่ทำให้การทำงานในระบบทีมเกิดปัญหา ฉะนั้นหัวหน้างานต้องบริหารตรงจุดนี้ให้ดี

ชี้แจง … ให้ชัดเจน
แน่นอนว่าคนเราทุกคนมีความสามารถและศักยภาพที่ไม่เหมือนกัน กรณีที่จำเป็นต้องแบ่งงานกันตามศักยภาพของแต่ละคนจนอาจเกิดความไม่เท่าเทียมในการทำงานนี้อาจแก้ปัญหาได้ด้วยการชี้แจงสมาชิกทุกคนในทีมให้ชัดเจนถึงหน้าที่ขอบข่ายความรับผิดชอบของแต่ละคน ตลอดจนกำหนดหลักเกณฑ์ของงานที่จะเข้ามาให้ทำของแต่ละคนด้วย และหากเกิดการทำงานที่ไม่เท่าเทียมกันจริงๆ หัวหน้างานก็ควรประเมินอัตราจ้างให้เหมาะสมกับศักยภาพของแต่ละคนด้วย ก็สามารถช่วยแก้ปัญหานี้ได้เช่นกัน

3.เคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคล : คนที่จะบริหารจัดการความแตกต่างของคนในทีมได้ดีที่สุดก็คือหัวหน้าทีมนั่นเอง หัวหน้าทีมควรรู้และเคารพในความแตกต่างระหว่างบุคคลของคนในทีมทุกคน ไม่ลำเอียงต่อคนใดคนหนึ่ง และจัดการความแตกต่างให้เหมาะสมกับการทำงาน รวมถึงประสานความแตกต่างให้อยู่รวมกันได้ ตลอดจนสามารถช่วยปรับความแตกต่างของสมาชิกแต่ละคนให้ดีขึ้น หรือทำงานร่วมกันได้

4.มีทัศนคติที่ดีกับ “ปัญหา” และ “อุปสรรค” : ปัญหามักเกิดขึ้นเสมอ ผู้นำที่ดีไม่ควรหนีปัญหา ควรเตรียมตัวรับมือตลอดเวลา และเป็นหลักในการช่วยสมาชิกแก้ปัญหาด้วย และควรมีทัศนคติที่ดีกับปัญหาและอุปสรรค์ เพราะบางอย่างเกิดขึ้นเพื่อให้เราแก้ไขให้การทำงานดีขึ้น หรือเป็นบทเรียนสำคัญที่จะทำให้เราไม่ประมาท เป็นต้น หากมองปัญหาเป็นเรื่องแย่ หรือหัวเสียกับมัน นอกจากจะทำให้จิตใจย่ำแย่แล้วก็อาจทำให้มีศักยภาพในการแก้ปัญหาได้ต่ำลงด้วย

5.มีความเป็นธรรม : ผู้บริหารควรมีความเป็นธรรมในการบริหารงานบุคคล ไม่โอนเอียงไปฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ควรให้ความสำคัญต่อสมาชิกทุกคนในทีมเท่าๆ กัน และมีความยุติธรรมในการตัดสิน ประเมินผล ตลอดจนแก้ไขปัญหาต่างๆ

6.รับฟังความคิดเห็น : การเปิดรับฟังผู้อื่นอย่างบริสุทธิ์ใจ ไม่มีอคติ รับฟังทุกมิติ ก่อนที่จะนำมาตัดสินเรื่องใดๆ นั้น เป็นสิ่งที่ผู้นำทีมควรมีอย่างยิ่ง ควรรับฟังสมาชิกในทีมอย่างเปิดใจในทุกๆ เรื่อง ตั้งแต่การเสนอแนะของทุกคน ไปจนถึงการรายงานปัญหาของแต่ละคนด้วย

7.สื่อสารสมาชิกในทีมให้ถูกต้อง ชัดเจน และเข้าใจตรงกัน : การสื่อสารเป็นสิ่งสำคัญต่อการะบวนการทำงานเป็นทีม และต้องสื่อสารอย่างชัดเจน ถูกต้อง เข้าใจตรงกันด้วย หากผู้นำขาดการสื่อสารแล้วบางครั้งก็อาจทำให้เกิดความไม่เข้าใจ ทำงานผิดพลาดได้ หรือการสื่อสารไม่ครบถ้วนก็อาจทำให้เกิดการกระจายข้อมูลที่ผิด สิ่งสำคัญคือเมื่อสื่อสารไปแล้วก็ควรเช็คความเข้าใจของทุกคนด้วยว่าเข้าใจตรงกันหรือเปล่า เพราะบางครั้งสารเดียวกันแต่เข้าใจไม่ตรงกันก็ทำให้เกิดปัญหาได้ ซึ่งการเข้าใจตรงกันนั้นจำเป็นต่อการทำงานระบบทีมอย่างยิ่ง

8.มีทักษะในการแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็ว : ทุกปัญหาที่เกิดขึ้นนั้นต้องการการแก้ไขที่รวดเร็วที่สุดเสมอ แต่การแก้ไขที่รวดเร็วโดยทำแบบลวกๆ อยากให้จบไวๆ ไม่มีการหาข้อมูลที่ถูกต้อง ขาดการวิเคราะห์ที่ถ้วนถี่ ก็ทำให้เกิดปัญหาได้เช่นกัน ผู้นำที่ดีควรวิเคราะห์ได้อย่างถี่ถ้วน และบริหารจัดการเวลาในการแก้ปัญหาได้อย่างเหมาะสมและรวดเร็วที่สุด

9.รู้จักวิธีส่งเสริมกำลังใจทีม และกระตุ้นให้เกิดความมุ่งมั่นอยู่เสมอ : ผู้นำทีมที่ดีควรรู้จักวิธีส่งเสริมกำลังใจทีม ทั้งในส่วนบุคคลและภาพรวมของทีม สร้างเสริมให้ทุกคนมีกำลังใจที่จะสู้ต่อไปในยามท้อ หรือยามที่ถดถอย ในขณะเดียวกันก็สามารถสร้างความมุ่งมั่น กระตุ้นให้เกิดความฮึกเฮิมในการเอาชนะเป้าหมายเพื่อบรรลุความสำเร็จ

บทสรุป

ปัญหาและอุปสรรค์มักเกิดขึ้นกับการทำงานเสมอไม่ว่าจะเป็นการทำงานประเภทใดก็ตาม การทำงานเป็นระบบทีมนั้นประกอบไปด้วยคนหลายคนที่มีความแตกต่างกัน เป็นธรรมดาที่จะเกิดปัญหาขึ้นอยู่แล้ว ดังนั้นทีมควรตั้งมือในการรับปัญหาและร่วมมือกันแก้ไขปัญหาร่วมกันด้วย ทำความเข้าใจเรื่องความแตกต่าง และเคารพความคิดเห็นของคนอื่นอย่างเท่าเทียมกัน ขณะเดียวกันก็มีทัศนคติที่ดีกับปัญหาและอุปสรรค์ที่เข้ามา คิดวิเคราะห์อย่างถ้วนถี่เพื่อหาทางออกที่เหมาะสม และจัดการอย่างรวดเร็วรอบคอบที่สุด เมื่อทีมสามารถจัดการกับความขัดแย้งหรือปัญหาได้ดี การทำงานก็จะราบรื่น ทีมก็จะมีศักยภาพขึ้น และโอกาสในการบรรลุเป้าหมายสู่ความสำเร็จก็จะเพิ่มขึ้นเช่นกัน

ผู้เขียน

Picture of HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง