HIGHLIGHT
|
การพัฒนานั้นสะท้อนถึงการก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ อย่างไม่หยุดนิ่ง การพัฒนาด้านอาชีพก็เช่นกันสะท้อนถึงความก้าวหน้าในการทำงานที่แสดงถึงความเติบโตในสายอาชีพของตน การที่เราพัฒนาอาชีพอยู่เรื่อยๆ นั้นจะทำให้เราสนุกและอยากที่จะเรียนรู้การทำงานอยู่เรื่อย ๆ ในขณะเดียวกันก็หาเลี้ยงชีพได้ด้วย และใครที่มีการพัฒนาอาชีพอยู่เสมอก็จะกลายเป็นคนที่มีศักยภาพ ใคร ๆ ก็อยากให้ร่วมงานด้วย โอกาสไม่มีงานทำจะน้อย ตรงกันข้ามใครหรือองค์กรใดที่ไม่มีแผนพัฒนาอาชีพให้กับบุคลากรที่ชัดเจน ก็อาจทำให้บุคลากรไม่อยากร่วมงานกับองค์กรนั้นต่อไป และเป็นเหตุให้เกิดการลาออกเพื่อเปลี่ยนงานได้เช่นกัน
การพัฒนาอาชีพ (Career Development) คืออะไร
การพัฒนาอาชีพ (Career Development) หมายถึง ความก้าวหน้าหรือการเติบโตของพนักงานในการทำงานใดงานหนึ่ง การพัฒนาอาชีพที่ประสบความสำเร็จนั้นจะต้องมีปัจจัยสำคัญคือ การกำหนดเป้าหหมายของอาชีพ (Career Goal) ตลอดจนมีการวางแผนทางด้านอาชีพ (Career Planning) เพื่อให้ดำเนินไปตามเส้นทางอาชีพ (Career Path) ที่วางทิศทางไปสู่เป้าหมายไว้ การที่จะดำเนินไปตามแผนที่วางไว้ได้ด้วยดีนั้นย่อมจะต้องมีการบริหารอาชีพ (Career Management) ที่ดีด้วย ซึ่งทุกกระบวนการควรใส่ใจอย่างเกี่ยวเนื่องกันด้วยดี เพื่อที่จะทำให้เส้นทางอาชีพของแต่ละคนก้าวสู่ความสำเร็จนั่นเอง
วัตถุประสงค์ของการพัฒนาอาชีพ (Career Development)
1.เพื่อให้พนักงานมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนในทางเดินชีวิต และมุ่งมั่นพัฒนาให้เกิดความก้าวหน้า
2.เพื่อพัฒนาทักษะ เพิ่มศักยภาพของการทำงานให้ดียิ่งขึ้นเรื่อยๆ
3.เพื่อพัฒนาองค์กรให้มีความก้าวหน้าด้วยซึ่งมาจากพื้นฐานพนักงานที่เกิดการพัฒนาอยู่ตลอดเวลา
4.เพื่อปรับปรุงให้ผลผลิตหรือผลิตภัณฑ์ขององค์กรดีขึ้น
5.เพื่อเพิ่มฐานเงินเดือนของพนักงานแต่ละคนให้สูงขึ้นตามความสามารถที่เพิ่มขึ้น
6.เพื่อรักษาให้พนักงานอยากทำงานอยู่กับองค์กร เพราะได้พัฒนาตัวเองตลอดเวลา
7.เพื่อสร้างอนาคตที่ดีให้กับพนักงานและองค์กร
หลักสำคัญที่องค์กรต้องบริหารจัดการการพัฒนาอาชีพ (Career Management) ให้กับพนักงาน
การพัฒนาอาชีพถือเป็นภาระกิจสำคัญหนึ่งที่องค์กรควรใส่ใจดูแลพนักงานของตนเพื่อให้เกิดความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพ องค์กรที่ดีจะมีการวางแผนและจัดการเรื่องนี้อย่างจริงจัง รวมถึงสามารถทำให้พนักงานเห็นถึงเส้นทางตลอดจนทิศทางความก้าวหน้าของตนเองได้อย่างชัดเจน โดยควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังต่อไปนี้
1.การวางโครงสร้างตำแหน่งงานให้เหมาะสม (Organization Structure)
องค์กรควรจะต้องมีการวางตำแหน่งโครงสร้างงานทั้งหมดให้ชัดเจน ตำแหน่งแต่ละตำแหน่งต้องเหมาะสมกับแต่ละงาน ไม่ควรขาด ไม่ควรเกิน เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ควรประเมินโครงสร้างใหม่อยู่เรื่อยๆ เพื่อให้รู้ว่าขณะปัจจุบันโครงสร้างองค์กรเหมาะสมอยู่หรือไม่ ควรปรับโครงสร้างองค์กรใหม่หรือเปล่า ต้องการเพิ่มหรือลดคน และโครงสร้างองค์กรที่ดีควรแสดงถึงเส้นทางการพัฒนาอาชีพที่ก้าวหน้าได้ด้วย
2.วางแผนการสืบทอดตำแหน่ง (Success Plan)
ทุกองค์กรมักเกิดการเปลี่ยนแปลงพนักงานเสมอ พนักงานบางคนอาจหมดวาระ หรือลาออก ไม่ก็ขยับตำแหน่ง องค์กรจะต้องบริหารจัดการคนให้ครบตำแหน่งเพื่อให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นเดิม การวางแผนสืบทอดตำแหน่งนี้ก็เพื่อที่จะทำให้เกิดการย้ายหรือเลื่อนตำแหน่งด้วย เป็นการสร้างความก้าวหน้าในอาชีพอีกวิธีหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ต้องเตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่คาดเดาไม่ได้ เช่นการลาออกหรือมีเหตุให้ต้องหาพนักงานมาทดแทนอย่างกระทันหัน ก็ต้องจัดหาคนมาแทนให้ดีให้ได้ ซึ่งหากมีการวางแผนสืบทอดตำแหน่งจะช่วยทำให้จัดการเรื่องนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงที รวมถึงสร้างเส้นทางการพัฒนาอาชีพได้ชัดเจนขึ้นด้วย
3.จัดทำเส้นทางอาชีพ (Career Path) ให้เห็นอย่างชัดเจน
เมื่อมีการวางโครงสร้างการทำงานที่ดีจะทำให้เราเห็นเส้นทางอาชีพได้ชัดเจนขึ้น เมื่อพนักงานมองเห็นเส้นทางอาชีพของตนที่ชัดเจนในตำแหน่งหรือสายงานนั้นๆ ก็จะทำให้เขามุ่งมั่นที่จะพัฒนาอาชีพสู่เป้าหมายที่เขาได้วางไว้ได้เป็นอย่างดี มนุษย์ทุกคนต้องการความก้าวหน้า และถ้าเขาสามารถมองเห็นเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจนก็จะทำให้เขามุ่งตรงไปในเส้นทางที่วางไว้
4.ประเมินผล (Evaluation) ตามความเป็นจริงอย่างถูกต้องและยุติธรรม
กระบวนการสำคัญหนี่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพเป็นอย่างมากก็คือกระบวนการของการประเมินผลนี่เอง องค์กรควรประเมินผลพนักงานอย่างจริงจัง ถูกต้องตามความเป็นจริง และมีความยุติธรรมในการประเมินผล การประเมินผลที่ดีนั้นจะทำให้เราเห็นศักยภาพที่ชัดเจนของพนักงานคนนั้นๆ และรู้วิธีการพัฒนาปรับปรุงอาชีพให้สำหรับเขา หากผลประเมินออกมาต่ำกว่าเกณฑ์ที่ตั้งไว้ก็ต้องปฎิบัติตามเนื้อผ้า พัฒนาให้เหมาะสมกับศักยภาพ หรือใครที่มีผลประเมินที่สูงกว่าที่คาดก็อาจส่งเสริมพัฒนาอาชีพให้ก้าวได้ไวขึ้นก็ได้เช่นกัน
- บ่อยครั้งที่หลายองค์กรขาดการวางแผนและบริหารในการพัฒนาอาชีพที่ดีทำให้เกิดการส่งเสริมพนักงานให้ก้าวหน้าได้ไม่ทันหรือไม่เหมาะสม อย่างเช่นพนักงานควรจะขยับตำแหน่งขึ้น แต่ถึงทางตัน หรือไม่มีตำแหน่งว่างสำหรับพนักงานในตอนนี้ ทางแก้หนึ่งนอกจากการเพิ่มตำแหน่ง (ที่อาจทำได้ยากกว่า) ก็คือการให้รางวัลและผลตอบแทนในศักยภาพที่พัฒนาขึ้นนั่นเอง
- รางวัลนี้อาจเป็นเกียรติบัตรชมเชย หรือแม้แต่การให้โบนัสพิเศษ ซึ่งอาจเป็นการแก้ปัญหาเฉพาะหน้าที่ดีสำหรับกรณีที่ถึงเวลาที่ตำแหน่งดังกล่าวต้องพัฒนาแต่แผนที่วางไว้ไม่สามารถรองรับได้ หรือไม่ก็เป็นการเพิ่งกำลังใจให้พนักงานมีแรงฮึดในการทำงานต่อไปได้ด้วยนั่นเอง
ปัจจัยของการพัฒนาอาชีพ (Career Development) ในองค์กร
การเติบโตในอาชีพเป็นเป้าหมายของพนักงานทุกคนอยู่แล้ว ในจุดนี้องค์กรก็สามารถมีส่วนในการร่วมพัฒนาอาชีพให้กับบุคลากรของตนได้ ทั้งนี้เพื่อความก้าวหน้าของพนักงานในองค์กร ตลอดจนทำให้องค์กรเกิดความก้าวหน้าได้ด้วยนั่นเอง ถึงอย่างไรก็ดีการพัฒนาอาชีพนั้นก็ประกอบไปด้วยหลายปัจจัย ตั้งแต่ปัจจัยส่วนบุคคล ปัจจัยขององค์กร ไปจนถึงปัจจัยภายนอกระดับประเทศ (หรือระดับโลก) ที่ต่างก็มีผลต่อการพัฒนาอาชีพของแต่ละบุคคลได้เช่นกัน แล้วฝ่ายที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการพัฒนาอาชีพของบุคลากรในองค์กรเป็นอย่างมากก็คือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) นั่นเอง ซึ่งฝ่าย HR จะต้องวางแผนตลอดจนดูปัจจัยแวดล้อมต่างๆ ให้ถี่ถ้วนด้วย ทั้งนี้เพื่อทำให้การพัฒนาอาชีพนั้นประสบความสำเร็จมากที่สุดสำหรับทุกฝ่าย
1.ปัจจัยส่วนบุคคล (Personal Factor)
บุคคลคือหน่วยงที่เล็กที่สุดขององค์กร แต่กลับกลายเป็นฟันเฟืองที่สำคัญที่สุดขององค์กรเช่นกัน ปัจจัยส่วนบุคคลนี้มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาอาชีพ และการพัฒนาองค์กรในอนาคต
1.1 การศึกษา (Education)
การศึกษาเป็นปัจจัยค่อนข้างสำคัญในการพัฒนาอาชีพ เพราะนี่คือสิ่งที่บ่งบอกทักษะตลอดจนสิ่งที่เรียนรู้ฝึกฝนมา และเป็นสิ่งแรกที่จะการันตีได้ว่าจะเหมาะสมกับการพัฒนาอาชีพนั้นๆ ต่อไปหรือไม่ ระดับการศึกษาก็เป็นส่วนสำคัญอย่างหนึ่งเพราะนั่นเป็นอีกสิ่งที่บ่งบอกถึงการพัฒนาศักยภาพของตนเองตลอดจนพัฒนาทักษะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งสิ่งนี้เป็นปัจจัยหลักอย่างหนึ่งของการพัฒนาอาชีพของแต่ละบุคคลด้วยนั่นเอง
1.2 ศักยภาพในการปฎิบัติงาน (Job Performance)
ปัจจัยสำคัญอีกอย่างของการพัฒนาอาชีพในแต่ละบุคคลก็คือศักยภาพในการทำงานนั่นเอง หลังจากที่ทุกคนถูกรับเข้าทำงานแล้วไม่ว่าจะมีพื้นฐานการศึกษามาจากที่ไหนก็จะถูกรีเซตให้เริ่มต้นที่ศูนย์เหมือนกันหมด หลักงจากนี้ทุกคนก็ต้องแข่งขันกันที่ศักยภาพในการทำงานของแต่ละคน ในโลกของการทำงานจริงนั้นหากใครมีศักยภาพมากกว่า ทำงานได้มีประสิทธิภาพมากกว่า ก็ย่อมมีโอกาสก้าวหน้าได้ไกลและไวกว่า มีโอกาสในการพัฒนาอาชีพได้มากกว่าด้วย
1.3 พฤติกรรมและบุคลิกภาพ (Behavior & Personality)
อีกปัจจัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการทำงานโดยตรง (แต่บางสาขาอาชีพก็ถือเป็นสิ่งสำคัญ) แต่ปัจจัยนี้ก็สำคัญต่อการพัฒนาวิชาชีพและความก้าวหน้าในอาชีพเช่นกัน หากมีประสิทธิภาพในการทำงานที่ดีแต่กลับมีพฤติกรรมส่วนตัวที่แย่ ตลอดจนมีบุคลิกภาพที่อาจมีผลต่อการทำงาน ก็อาจทำให้โอกาสก้าวหน้าในงานลดลงได้ หรือไม่ได้รับการส่งเสริมในการพัฒนาอาชีพที่ดีได้เช่นกัน แต่ถึงอย่างไรก็ขึ้นอยู่กับเกณฑ์การพิจารณาของแต่ละที่ด้วย เพราะบางครั้งพฤติกรรมส่วนตัวที่ไม่ส่งผลเสียหรือกระทบต่องาน บางบริษัทก็มองข้ามเรื่องนี้ไปได้เหมือนกัน
1.4 การวางเป้าหมายในวิชาชีพและความปรารถนาที่จะพัฒนาตนเอง (Career Goal & Willingness of Development)
บางคนมีคุณสมบัติตลอดจนศักยภาพดีทุกอย่าง องค์กรต้องการพัฒนาหรือผลักดันให้ก้าวหน้า แต่พนักงานคนนั้นกลับไม่ยอมรับหรือกลัวการพัฒนา อยากอยู่ในจุดเดิมเพื่อทำงานอย่างสบายใจ ก็อาจทำให้เกิดอุปสรรค์ต่อการพัฒนาวิชาชีพได้ ในขณะที่พนักงานที่มีเป้าหมายในวิชาชีพชัดเจน ต้องการพัฒนาตนเองให้เก่งยิ่งๆ ขึ้น หรือมีความปรารถนาที่จะทำทุกวิถีทางให้ตัวเองประสบความสำเร็จ คนที่มีความต้องการชัดเจน ตลอดจนพัฒนาตนเองอย่างเป็นรูปธรรมนี้ องค์กรก็อาจเห็นค่าและอยากสนับสนุนมากกว่าคนที่ไม่มีแรงผลักดันอะไรเลย หรือนิ่งเงียบเฉยๆ ซึ่งปัจจัยนี้เป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพเป็นอย่างมากเช่นกัน
1.5 ความชื่นชอบในการทำงานและรักในงานที่ทำ (Favorite Job)
ในยุคปัจจุบันสังคมเริ่มสนับสนุนให้คนเลือกทำงานที่รักมากกว่าที่จะเลือกทำงานที่ไม่ชอบเพื่อเลี้ยงชีพ เพราะเมื่อเรามีความรักในสิ่งที่ทำแล้วจะทำให้เราตั้งใจทำงาน มีแรงบันดาลใจในการทำงาน ทำงานอย่างมีความสุข มีแรงผลักดันในการพัฒนาตนเอง ตลอดจนมีพลังในการทำงสิ่งที่รักนั้นให้ดีที่สุด ซึ่งหลายคนที่เลือกทำงานที่ไม่รักไม่ชอบ ก็อาจทำงานไปแบบขอไปที ทำงานไปวันๆ ไม่ได้อยากพัฒนาตนเอง ซึ่งปัจจัยนี้ค่อนข้างมีความสำคัญกับคนยุคใหม่เป็นอย่างมาก เพราะเมื่อเราได้ทำงานที่รักที่ชอบแล้ว การพัฒนาตนเองจะก้าวกระโดด และประสบความสำเร็จเกิดคาดได้ด้วยซ้ำ ในขณะเดียวกันหากทำงานที่ไม่รัก ไม่ชอบ การพัฒนาในวิชาชีพอาจสูญเปล่า หรือน้อยลง ศักยภาพบุคคลหรือองค์กรจะลดลงตาม
2.ปัจจัยขององค์กร (Organization Factor)
บางครั้งปัจจัยในการพัฒนาอาชีพนั้นอาจไม่ได้ขึ้นอยู่กับส่วนบุคคลเสมอไป ปัจจัยภายนอกอื่นๆ ก็มีส่วนสำคัญไม่น้อยเช่นกัน โดยเฉพาะปัจจัยของหน่วยงานหรือองค์กรนั้นๆ ที่เอื้อต่อการพัฒนาอาชีพหรือไม่ หรือสถานการณ์ขององค์กรที่มีผลอย่างไร
2.1 ขนาดของธุรกิจ (Business Scale)
ขนาดของธุรกิจไม่ใช่ขึ้นอยู่กับจำนวนคนในบริษัทเสมอไป แต่หมายถึงขนาดของธุรกิจในการแข่งขันในตลาดจริง ขนาดของเงินทุน ตลอดจนการแข่งขันในธุรกิจองค์รวม บริษัทที่มีขนาดธุรกิจใหญ่อาจมีโอกาสในการพัฒนาอาชีพมากกว่าบริษัทขนาดเล็ก มีตำแหน่งงานที่หลากหลายกว่า ตลอดจนมีแผนการส่งเสริมการพัฒนาอาชีพอย่างจริงจัง ขณะที่องค์กรเล็กก็อาจมีปัญหาด้านเพดานด้านเงินเดือนหรือตำแหน่งมากกว่า อาจเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้การพัฒนาอาชีพไม่ก้าวหน้าได้เช่นกัน แต่สำหรับยุคปัจจุบันที่ขนาดของธุรกิจอาจเล็ก แต่เป็นการรุกตลาดใหม่ หรือตลาดที่กำลังเติบโต อาชีพใหม่ๆ ตลอดจนการเป็นผู้นำตลาดก็อาจส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพที่ไวและดีกว่าองค์กรที่มีขนาดใหญ่อยู่ในตลาดเดิมๆ เช่นกัน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ตลอดจนตลาดที่ธุรกิจนั้นประกอบการด้วย
2.2 นโยบายองค์กร (Organization Policy)
อันที่จริงสิ่งที่สำคัญมากยิ่งกว่าก็คือนโยบายองค์กรต่างหาก หากองค์กรที่มีขนาดธุรกิจใหญ่แต่ไม่มีนโยบายพัฒนาอาชีพ เพราะเห็นว่าเปลืองงบประมาณ หรือธุรกิจของตนเองอยู่ตัวแล้ว ก็อาจกลายเป็นการปิดโอกาสในการพัฒนาอาชีพของพนักงานได้เช่นกัน ในขณะที่องค์กรเล็กแต่มีนโยบายที่จะพัฒนาองค์กรตลอดจนพัฒนาอาชีพของพนักงานให้ก้าวหน้าขึ้นเรื่อยๆ หากสิ่งที่มาพัฒนาศักยภาพพนักงานอยู่เสมอ ก็อาจกลายเป็นข้อดีหรือข้อได้เปรียบกว่าองค์กรใหญ่แต่เคลื่อนตัวช้าได้เช่นกัน ทั้งนี้นโยบายองค์กรก็ไม่ได้ขึ้นอยู่กับขนาดหรืออายุของบริษัท แต่ขึ้นอยู่กับวิสัยทัศนย์ของผู้บริหารเสียมากกว่า
2.3 โครงสร้างขององค์กรและแผนการพัฒนาบุคลากร (Organization Structure & HR Development Planning)
การวางโครงสร้างขององค์กรที่ดีจะทำให้เราเห็นเส้นทางของการพัฒนาอาชีพที่ดีเช่นกัน ซึ่งเป็นแรงจูงใยในการพัฒนาอาชีพของพนักงานได้ดี มีเส้นทางความก้าวหน้าที่ชัดเจน มีพัฒนาการที่เป็นรูปธรรม ในขณะเดียวกันสิ่งที่จะช่วยทำให้สำเร็จและเป็นประโยชน์ต่อองค์กรมากขึ้นก็คือแผนการพัฒนาบุคลากรนั่นเอง บ่อยครั้งที่เราเห็นการวางโครงสร้างองค์กรที่ดีมาก มีโครงสร้างตำแหน่งและเส้นทางการเติบโตที่ชัดเจน แต่กลับดูแลโดยฝ่ายบุคคลที่ไม่มีประสิทธิภาพ ตลอดจนผู้บริหารองค์กรที่ไม่ใส่ใจในพนักงาน ก็อาจทำให้ไม่มีแผนพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน ไม่มีการพัฒนาอาชีพให้บุคลากร ไม่มีการวางแผนเพื่อให้บุคลากรเกิดความก้าวหน้า ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดความล้มเหลวได้เช่นกัน
2.4 หัวหน้างานและฝ่ายบริหาร (Management Sector)
บุคคลคือปัจจัยและตัวแปรสำคัญของการพัฒนาอาชีพอย่างยิ่งไม่ว่าจะองค์กรไหนก็ตาม โดยเฉพาะบุคคลที่มีอำนาจในการตัดสินใจที่เริ่มตั้งแต่ระดับหัวหน้าไปจนถึงฝ่ายบริหาร หากคนที่มีศักยภาพครบถ้วนทุกประการ แต่ไม่ได้รับการเห็นด้วยจากหัวหน้า หรือไม่ถูกฝ่ายบริหารสนับสนุน ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม ก็ย่อมทำให้บุคลากรไม่เกิดการพัฒนาในอาชีพได้ ในทางตรงกันข้ามหัวหน้าที่สนับสนันลูกน้องที่มีความสามารถ หรือองค์กรที่พยามผลักดันพนักงานที่มีศักยภาพก็จะทำให้บุคลากรเกิดความก้าวหน้าในอาชีพได้ดีกว่า มีโอกาสที่ดีและสดใสกว่า
2.5 สถานการณ์องค์กร (Company Situation)
ปัจจัยที่สำคัญมากๆ อีกอย่างก็คือเรื่องสถานการณ์องค์กร โดยเฉพาะสถานการด้านเศรษฐกิจและการเงิน บางทีองค์กรอาจพร้อมสนับสนุนพนักงานให้ก้าวหน้าในทุกทาง ตลอดจนมีแผนพัฒนาบุคลากรที่ชัดเจน แต่สภาพเศรษฐกิจย่ำแย่ สถานการณ์องค์กรร่อแร่ หรือองค์กรประสบปัญหาทางการเงินอย่างหนัก ก็อาจทำให้การพัฒนาบุคคลากรล่าช้าหรือต้องหยุดลง หรือบางครั้งสภาพเศรษฐกิจดี องค์กรประกอบธุรกิจได้ประสบความสำเร็จ แต่อาจเจอสถานการณ์กระทันหันที่ทำให้องค์กรต้องประสบปัญหา อย่างเช่นสินค้าไม่ได้มาตรฐานจนเกิดความไม่น่าเชื่อถือ หรือถูกเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติกระทันหันที่ทำให้ธุรกิจเสียหาย ก็อาจส่งผลให้การพัฒนาอาชีพหยุดชะงักกระทันหันได้เช่นกัน
3.ปัจจัยภายนอกอื่นๆ (Other Factor)
บางครั้งปัจจัยที่มีผลต่อการพัฒนาอาชีพนั้นก็อาจไม่ใช่เป็นปัจจัยภายในองค์กร แต่กลับเกิดขึ้นจากปัจจัยภายนอกที่เราไม่ได้สร้างขึ้น หรือควบคุมไม่ได้ ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวทางการพัฒนาอาชีพให้กับบุคลากรได้เช่นกัน
3.1 นโยบายเศรษฐกิจ (Economic Policy)
นโยบายเศรษฐกิจในที่นี้พูดถึงทั้งระดับประเทศและระดับมหภาค ซึ่งมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะทำผลประกอบการขององค์กรตลอดจนการบริหารองค์กรประสบความสำเร็จหรือไม่ อย่างนโยบายลดหย่อนภาษีสำหรับสินค้าบางประเภท ก็อาจทำให้ผลประกอบการธุรกิจดี องค์กรเติบโต สามารถนำมาพัฒนาอาชีพของบุคลากรได้ หรือนโยบายกีดกันทางการค้าระดับประเทศ ที่อาจทำให้การประกอบธุรกิจประสบปัญหา ก็อาจส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพในองค์กรได้เช่นกัน อีกนโยบายที่น่าสนใจก็คือนโยบายการส่งเสริมอุตสาหกรรมตลอดจนอาชีพต่างๆ ที่อาจทำให้ธุรกิจมีโอกาสเติบโต หรือแม้แต่นโยบายทางการเงินของสถาบันการเงินต่างๆ ที่สนับสนุนอุตสหากรรมประเภทไหนเป็นพิเศษ ก็มีผลทำให้อุตสาหกรรมนั้นเติบโต มีความก้าวหน้าทางอาชีพได้สูง และโอกาสพัฒนาศักยภาพที่สูงเช่นกัน
3.2 การปฎิวัติทางอาชีพ (Career Disruption)
สิ่งที่ส่งผลอย่างมากในทุกธุรกิจและอุตสาหกรรมของโลกในยุคนี้ก็คือการปฎิวัติทางอาชีพที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็วและวงกว้าง การปรับเปลี่ยนอย่างรวดเร็วนี้อาจส่งผลกระทบต่อวิชาชีพทุกวิชาชีพที่กระตุ้นให้ต้องเกิดการปรับตัวและเปลี่ยนแปลง หลายอาชีพอาจหมดไป ในขณะที่อาจมีหลายอาชีพใหม่เกิดขึ้น ขณะเดียวกันอาชีพเดิมที่ยังอยู่ก็ต้องหาทางพัฒนาและปรับปรุงตัวเองตลอดเวลาเพื่อให้ก้าวทันโลกเช่นกัน
3.3 การบริโภคและผู้บริโภค (Consumption & Consumer)
แน่นอนว่าทุกธุรกิจไม่ว่าจะระดับใดก็ตามจะเติบโตได้ต้องมีการบริโภคและผู้บริโภคของตน หากผลิตสินค้าหรือบริการขึ้นมาแล้วไม่มีผู้บริโภค หรือผู้บริโภคลดลง หันไปสนใจสินค้าและบริการอื่นมากกว่า ก็จะทำให้เกิดปัญหาทางธุรกิจและส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพในองค์กรได้ พฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนี้มีความหลากหลายมากและเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาส่งผลต่อองค์กรเป็นอย่างมาก หากองค์กรประสบปัญหาทางธุรกิจก็อาจส่งผลต่อการพัฒนาอาชีพตลอดจนองค์กรได้เช่นกัน
3.4 ปัจจัยที่คาดไม่ถึง (Unexpected Factor)
ปัจจัยที่คาดไม่ถึงนี้มักจะเกิดขึ้นอย่างกระทันหันโดยที่เราควบรุมไม่ได้และส่งผลเสียหายต่อธุรกิจอย่างมาก อย่างเช่นภัยพิบัติทางธรรมชาติ, นโยบายแทรกแซงเศรษฐกิจแบบกระทันหัน, การแบนสินค้าหรือการบริโภคอย่างกระทันหัน, หรือแม้แต่การเสียชีวิตอย่างกระทันหันของผู้บริหารที่มีความสามารถ เป็นต้น สิ่งเหล่านี้สามารถกระทบต่อองค์กรและการพัฒนาอาชีพในองค์กรได้ทั้งสิ้น
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: อาชีพ HR สามารถเติบโตไปทำงานสายไหนได้บ้าง ?
อยากรู้ว่าเส้นทาง HR career path สามารถเติบโตไปทำงานสายไหนในองค์กรได้บ้างคะ
A: สายอาชีพ HR สามารถเติบโตได้หลากหลายรูปแบบ ขอแบ่งเป็น 2 แบบใหญ่
1) เติบโตทำงาน HR หรืออาจจะเป็นงานอื่นๆ ในองค์กรหรือสถาบัน (เป็นพนักงานขององค์กร)
2) เติบโตทำงานอิสระภายนอกองค์กร (ที่ปรึกษา, Freelance, เปิดบริษัทของตนเอง)
การพัฒนาอาชีพก่อให้เกิดประโยชน์ใดบ้าง
การพัฒนาอาชีพให้เกิดความก้าวหน้านั้นส่งผลดีในหลายๆ ด้านทั้งต่อตัวบุคลากรแล้วก็องค์กรเอง หลายองค์กรต่างวางแผนพัฒนาอาชีพของบุคลากรไว้เป็นอย่างดีเพื่อให้บุคลากรเติบโตไปพร้อมกับองค์กรเรื่อยไป มาลองดูกันดีกว่าว่าเมื่อเกิดการพัฒนาอาชีพแล้วจะเกิดประโยชน์ใดได้บ้าง
ประโยชน์ของการพัฒนาอาชีพ
1.พนักงานมีศักยภาพในการทำงานที่ดีขึ้น เก่งขึ้น ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
2.องค์กรมีศักยภาพมากขึ้น และสามารถสร้างผลประกอบการที่ดีขึ้นได้ด้วย
3.พนักงานเกิดความตื่นตัวในการทำงาน และมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง มีเป้าหมายในชีวิต
4.พนักงานได้รับผลตอบแทนที่คุ้มค่าขึ้น ประกอบอาชีพเลี้ยงชีพได้ในระยะยาว
5.องค์กรสามารถรักษาพนักงานที่มีศักยภาพให้ทำงานร่วมกับองค์กรต่อไปได้
6.ทำให้องค์กรสามารถเห็นและประเมินศักยภาพของพนักงานแต่ละคนได้ดี สามารถพัฒนาศักยภาพได้ตรงจุด
8.องค์กรประสบความสำเร็จ มีภาพลักษณ์ที่ดี มีผลประกอบการที่ได้กำไร
9.องค์กรและพนักงานไม่หยุดที่จะพัฒนาตัวเอง
บทสรุป
การพัฒนาอาชีพจะช่วยให้บุคลากรมีความก้าวหน้าในการทำงานตลอดจนสามารถพัฒนาตนเองให้มีศักยภาพมากขึ้น ทั้งยังทำให้องค์กรเพิ่มศักยภาพขึ้นได้ด้วย แล้วการวางแผนพัฒนาอาชีพที่ดีจะทำให้พนักงานมีทิศทางในการประกอบอาชีพที่ชัดเจน เห็นเส้นทางอาชีพและอนาคตของตน เพื่อเป็นทิศทางตลอดจนเป้าหมายในการก้าวไปข้างหน้า ที่สำคัญยังสามารถสร้างความภักดีให้กับองค์กรได้ในระยะยาวอีกด้วย