HIGHLIGHT หัวใจสำคัญของการทำงานระบบทีม (Teamwork) คือการมีสิ่งเหล่านี้
|
การร่วมแรงร่วมใจกันก่อให้เกิดพลังที่จะก้าวไปสู่ความสำเร็จได้ดีกว่าการแยกกันทำแบบสะเปะสะปะไร้ทิศทาง นั่นเลยทำให้หลายองค์กรหันมาให้ความสำคัญกับการทำงานระบบทีมเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมุ่งมั่นฝึกฝนและพัฒนาทักษะการทำงานเป็นทีมอย่างเป็นจริงเป็นจัง เพื่อให้ก่อประโยชน์สูงสุดแก่องค์กรในที่สุด
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: อะไรคือสิ่งที่ ‘ยากที่สุด’ ในการบริหารทีมครับ
ตรงนี้ความท้าทายสำหรับผมครับ ลยอยากปรึกษาคนอื่นๆ ที่มีเส้นทางชีวิตและการทำงานที่ผ่านมาคล้ายๆ กันว่า “ก้าวข้ามและปลดล๊อค” ตัวเองตรงนี้ได้อย่างไรครับ
A: เป็นความท้าทายที่พนักงานที่มีศักยภาพหลายคนอาจจะเคยมีประสบการณ์กับสถานการณ์แบบนี้มาก่อนนะคะ
อยากจะแชร์ประสบการณ์ที่เคยลองทำ และคิดว่าเป็นหลักที่เข้าใจได้ง่ายๆ สั้นๆ ประมาณนี้ค่ะ เวลาพูดถึงศักยภาพ/ความสามารถทำอะไรได้ จะแบ่งได้เป็น 3 ก้อนใหญ่ๆ จะมี Skillset / Mindset / Toolset ดังนี้..
การทำงานที่เป็นระบบทีม (Teamwork) คืออะไร
การทำงานเป็นทีม (Teamwork) นั้นหมายถึงการทำงานร่วมกันของสมาชิกหรือพนักงานในองค์กรมากกว่า 1 คนขึ้นไป โดยหัวใจสำคัญก็คือทุกคนนั้นจะต้องมีเป้าหมายเดียวกัน และเต็มใจร่วมกันปฎิบัติภาระกิจต่างๆ เพื่อให้บรรลุเป้าหมายจนไปสู่ความสำเร็จ แต่การที่ทุกคนจะรวมตัวกันเพื่อทำงานเป็นระบบทีมที่มีประสิทธิภาพนั้นก็ไม่ใช่เรื่องง่ายเสียทีเดียว เพราะการทำงานระบบนี้มีปัจจัยสำคัญมากมายที่ต้องใส่ใจและจริงจัง แต่ก็ไม่ใช่เรื่องยากจนเกินไปหากทุกคนมีใจที่จะทำความสำเร็จร่วมกัน
Team VS Group
คำสองคำนี้ดูผิวเผินแล้วมีลักษณะคล้ายกัน แต่หากลงรายละเอียดแล้วสองคำนี้มีลักษณะต่างกัน โดยเฉพาะการนิยามความหมายกับการทำงานในระบบองค์กรที่หลายคนอาจไม่เข้าใจอย่างลึกซึ้งและเกิดการตีความไปสู่การปฎิบัติที่ไม่ถูกต้องนัก นั่นอาจทำให้ไม่เกิดประสิทธิภาพในการทำงานก็เป็นได้
- การทำงานแบบกลุ่ม (Group) : ก็คือการทำงานที่มีสมาชิกมากกว่า 1 คน มารวมตัวทำงานร่วมกัน อาจมีการวางระบบการทำงานหรือไม่มีก็ได้ แต่มักมีวัตถุประสงค์เดียวกัน และมักไม่มีทิศทางชัดเจน โดยทุกคนสามารถขับเคลื่อนงานของตนได้อย่างอิสระ
- การทำงานระบบทีม (Team) : ก็คือการทำงานที่มีสมาชิกมากกว่า 1 คน มารวมตัวทำงานร่วมกัน แต่หัวใจสำคัญก็คือจะต้องมีการกำหนดเป้าหมายร่วมกันอย่างชัดเจน มีการวางแผนงาน ตลอดจนวางระบบการทำงานที่ดี ทุกคนรู้ภาระหน้าที่ของตนเอง มีแรงผลักดันร่วมกัน มุ่งมั่นที่จะทำภาระกิจให้สำเร็จเพื่อบรรลุเป้าหมาย มีการร่วมมือกัน ช่วยเหลือกัน ส่งเสริมกัน ตลอดจนมีการประเมินผล แก้ไขปัญหา อุดรอยรั่ว เพื่อทำให้การทำงานผิดพลาดน้อยที่สุด ท้ายที่สุดแล้วทุกคนทำเพื่อผลสำเร็จเดียวกันที่เป็นภาพรวมของทีม
อย่างไรก็ดีการทำงานของสองระบบนี้ก็เป็นสิ่งดีทั้งคู่ เพียงแต่ว่ามีประสิทธิภาพต่างกัน ที่สำคัญการทำงานแบบกลุ่มนั้นเป็นพื้นฐานเริ่มต้นที่ดีของการทำงานระบบทีมด้วย หากองค์กรเข้าใจการทำงานในระบบทีมได้ดียิ่งขึ้น ก็อาจพัฒนาศักยภาพของพนักงานให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้เช่นกัน
นอกจากคำว่า Team กับ Group แล้ว ยังมีภาษาอังกฤษอีก 2 คำที่มีลักษณะคล้ายกัน แต่ก็แตกต่างกันในรายละเอียดเล็กน้อย อันที่จริงแล้วทุกคำนั้นเกี่ยวโยงกัน และมีความสัมพันธ์ร่วมกันที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงานระบบทีม คำนั้นก็คือ Team Work กับ Teamwork นั่นเอง
ทีมงาน (Team Work) : หมายถึงกลุ่มบุคคลที่มีความมุ่งมั่นในการทำงานเป็นระบบทีม คำนี้จะมุ่งเน้นไปยังทรัพยากรบุคคลมากกว่า ซึ่งนี่คือฟันเฟืองสำคัญของการทำงานระบบทีมเลยทีเดียว หากทีมงานประกอบไปด้วยบุคลากรที่ไม่ดี ระบบทีมก็อาจพังได้เช่นกัน ในทางตรงกันข้ามหากบุคลากรเกิดการรวมตัวเป็นทีมงานที่ทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ นั่นย่อมทำให้องค์กรประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง องค์กรในยุคนี้จึงให้ความสำคัญกับการทำงานแบบทีมเป็นอยากมาก และการที่จะพัฒนาทีมงานที่ดีได้นั้นจะต้องมีการวางแผนการสร้างทีม (Team Building) ให้ดีและมีประสิทธิภาพด้วย เพื่อให้การทำงานระบบทีมยอดเยี่ยมที่สุด
การทำงานระบบทีม (Teamwork) : หมายถึงการทำงานแบบร่วมแรงร่วมใจกันในระบบทีม คำนี้จะมุ่งเน้นไปยังระบบตลอดจนกระบวนการทำงานมากกว่าที่จะพูดถึงในส่วนของบุคคล ซึ่งการทำงานระบบทีมนี้นอกจากการร่วมมือกันแล้ว สิ่งสำคัญของการทำงานระบบทีมก็คือการวางเป้าหมายร่วมกัน และร่วมแรงเพื่อให้บรรลุเป้าหมาย อย่างไรการทำงานระบบทีมที่ดีนั้นก็ต้องอาศัยทีมงานที่ดีด้วย ทั้งสองสิ่งนี้เกี่ยวเนื่องกันและก่อให้เกิดความสำเร็จได้ในที่สุด
องค์ประกอบของทีมงาน (Teamwork Structure)
ทีมงานจะเป็นรูปเป็นร่างขึ้นมาได้ควรจะประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่างๆ เหล่านี้
1.ผู้นำทีม
ผู้นำทีมเปรียบเสมือนกัปตันเรือที่จะคอยควบคุมดูแลให้เรือขับเคลื่อนอย่างถูกทิศทางและพุ่งตรงไปสู่เป้าหมายให้ได้ ผู้นำทีมที่ดีนั้นต้องไม่ใช่เพียงผู้สั่งการเพียงอย่างเดียว แต่ต้องรู้จักการบริหารงานและบริหารบุคคลซึ่งเป็นสมาชิกในทีมให้ดีด้วย โดยผู้นำที่ดีมีคุณสมบัติสำคัญมากมายดังนี้
- เป็นคนมีวิสัยทัศน์ : ผู้นำที่ดีควรมองกาลไกล มีวิสัยทัศน์ สามารถมองไปข้างหน้า เข้าใจทิศทาง และรู้จักวิธีขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมายได้เป็นอย่างดีที่สุด ผู้นำที่ไม่มีวิสัยทัศน์ก็เหมือนกับกัปตันเรือที่ไม่รู้ว่าจะเดินหน้าไปทางไหนเพื่ออะไร บางทีอาจทำให้การขับเคลื่อนองค์กรเสมือนพายเรือวนอยู่ในอ่างได้
- เป็นคนที่มีความคิดริเริ่มที่ดี : ผู้นำที่ดีควรเป็นคนที่หมั่นคิดริเริ่มอะไรใหม่ๆ อยู่เสมอ หาวิธีการตลอดจนกระบวนการใหม่ๆ พัฒนาตัวเองอยู่เสมอ และต้องรู้จักจุดประกายอะไรใหม่ๆ ให้กับทีมด้วย
- เป็นผู้ที่วางแผนได้ดี อุดรูรั่วได้เก่ง : เมื่อผู้นำมีทิศทางการทำงานที่ชัดเจนแล้วย่อมต้องวางแผนการทำงานได้ดี รวมถึงแบ่งงาน จัดการหน้าที่ บริหารการทำงานสมาชิกในทีมให้ดีได้ด้วย เพื่อการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด และยามที่เกิดรูรั่ว ผู้นำต้องเห็นก่อน และสามารถหาวิธีตลอดจนแนะนำการแก้ไขได้รวดเร็วและทันท่วงทีได้ด้วย
- เป็นคนที่มีวินัยและความรับผิดชอบ : ผู้นำที่ดีต้องทำงานอย่างมีความรับผิดชอบ มีวินัย และควบคุมการปฎิบัติงานให้เป็นไปตามที่ได้วางแผนไว้ให้ดีที่สุด หากผู้นำขาดความรับผิดชอบแล้ว ไม่ทำงานตามแผน การทำงานระบบทีมก็ก่อให้เกิดผลเสียหายได้
- มีทักษะในการสร้างแรงจูงใจและสร้างความเชื่อมั่นที่ดี : ยามเกิดปัญหา หรือองค์กรเคลื่อนที่ช้าจากอุปสรรค์ใดๆ ก็ตาม ผู้นำที่ดีควรควบคุมสถานการณ์ได้ ขณะเดียวกันก็ควรสร้างแรงจูงใจส่งเสริมการทำงานระบบทีมให้มีพลังในการก้าวต่อไปได้ รวมถึงสร้างความเชื่อมั่นให้กับทุกคนในทีมได้ เป็นจุดศูนย์รวมของทีมที่ทุกคนไว้ใช้ และพร้อมจะก้าวไปด้วยกัน
- เป็นนักสื่อสารที่ยอดเยี่ยม และเป็นผู้ฟังที่ดี : การสื่อสารที่ดีจะทำให้การทำงานระบบทีมราบรื่น และทำให้องค์กรก้าวหน้าได้ไว การสื่อสารกับคนในทีมที่ดีนั้นย่อมสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจได้ดีด้วย ขณะเดียวกันผู้น้ำก็ต้องรู้จักการเป็นผู้ฟังที่ดี รับฟังความคิดเห็นของสมาชิกในทีมทุกคนอย่างเท่าเทียม และแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกจุด
- เป็นนักคิดวิเคราะห์ที่ดี และมีทักษะในการตัดสินใจที่เฉียบแหลม : คุณลักษณะสำคัญอีกอย่างของผู้นำที่ดีคือการต้องเป็นคนที่ตัดสินใจได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม กล้าตัดสินใจ ตัดสินใจได้อย่างรวดเร็ว และรอบคอบ ซึ่งการที่จะทำอย่างนั้นได้นั้นก็ย่อมต้องเป็นผู้ที่วิเคราะห์เรื่องราวต่างๆ ได้ดีด้วย มีทักษะในการเสพข้อมูล และประมวลผลอย่างละเอียดรอบคอบ แต่ก็ไม่เชื่องช้าจนเกินไป
2.สมาชิกทีม
เมื่อมีผู้นำที่ดีแล้ว หากขาดผู้ตามที่ดีการทำงานในระบบทีมนั้นก็ไร้ค่า การที่ผู้นำได้ผู้ตามที่ร่วมแรงร่วมใจทำงานอย่างดีนั้นก็ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพ และทำให้องค์กรประสบความสำเร็จในที่สุด สมาชิกในทีมทุกคนจึงมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในระบบการทำงานเป็นทีม ซึ่งคุณลักษณะสำคัญมีดังนี้
- เป็นคนที่รับผิดชอบในการทำงาน : สมาชิกที่เป็นผู้ตามที่ดีหากมีความรับผิดชอบในการทำงานตามหน้าที่และภาระกิจที่ได้รับมอบหมายได้เป็นอย่างดีแล้ว นั่นย่อมทำให้แผนที่วางไว้มีโอกาสประสบความสำเร็จสูงตามไปด้วย และเมื่อสมาชิกไม่มีความรับผิดชอบ งานก็จะเสีย ระบบงานก็จะล่ม องค์กรก็จะพังทลายได้
- เคารพกฎและกติการ่วมกัน : กฎและกติกาต่างๆ จำเป็นต่อการทำงานในระบบทีมมาก เพราะทุกคนไม่ได้ทำงานคนเดียว และทุกคนมีลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน แต่สิ่งที่จะทำให้ทุกคนอยู่ร่วมกันได้ก็คือการเคารพและยอมรับปฎิบัติตามในกฎระเบียบเดียวกัน เพื่อให้เกิดปัญหาในการทำงานน้อยที่สุด และทุกคนอยู่ภายใต้กรอบที่ยุติธรรมกับทุกฝ่าย
- ให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่ : อย่างที่กล่าวไปว่าระบบการเป็นทีมนั้นก็คือการทำงานร่วมกัน หากไม่เกิดความร่วมมือกันก็ย่อมทำให้การทำงานเกิดปัญหาได้ เมื่อไม่มีความร่วมมือกันระบบการทำงานเป็นทีมก็จะพัง ทุกอย่างก็เกิดผลเสียตามมา
- ยอมรับความแตกต่าง เปิดใจรับความคิดเห็นใหม่ๆ : บนโลกนี้ไม่มีใครที่เหมือนกัน และมีความคิดเห็นตรงกันไปเสียทุกเรื่อง การเห็นต่างกันนั้นไม่ใช่สิ่งที่ผิด แต่สิ่งที่ควรทำก็คือการยอมรับความคิดเห็นที่แตกต่างกัน ไม่ใช่ความคิดเห็นฝ่ายหนึ่งต้องถูกเสมอ และอีกฝ่ายต้องผิดเสมอ ตรงกันข้ามความคิดเห็นแต่ละความคิดเห็นนั้นต่างก็ดีทุกอย่าง เพียงแต่เหมาะกันคนละสถานการณ์เท่านั้น การไม่ยอมรับความคิดเห็นของคนอื่นนั้นก็สร้างปัญหาในการทำงานระบบทีมได้เช่นกัน
- คิดถึงประโยชน์ส่วนรวมมากกว่าประโยชน์ส่วนตน : การทำงานระบบทีมคือการยึดถือเอาประโยชน์ส่วนรวมเป็นหลัก องค์กรควรมาก่อนส่วนตน และยินดีกับความสำเร็จร่วมกัน เพราะความสำเร็จไม่ได้เป็นของใครคนใดคนหนึ่ง หรือเกิดจากคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความสำเร็จที่เกิดจากการร่วมมือร่วมแรงกัน
3.ระบบการทำงานและกติกา
สิ่งที่จะยึดโยงให้สมาชิกแต่ละคนในแต่ละบทบาททำงานร่วมกันในระบบทีมได้ก็คือเรื่องของระบบการทำงานแบบทีมและกติกาที่ทุกคนต้องเคารพร่วมกันนั่นเอง เพราะนี่คือกรอบสำคัญที่จะทำให้ทุกคนทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเช่นกัน
- ระบบการทำงานต้องแบ่งหน้าที่ชัดเจนไม่ทับซ้อน : การทำงานที่มีประสิทธิภาพนั้นไม่ควรจะทำหน้าที่ทับซ้อนกัน แต่ละคนควรมีหน้าที่ชัดเจนของตัวเอง มีภาระกิจของตัวเอง เพื่อให้ทุกคนทำหน้าที่ให้ดีที่สุดในการบรรลุเป้าหมาย
- กติกาต้องยุติธรรมกับทุกฝ่าย และเห็นพ้องต้องกัน : กติกาในการทำงานทุกฝ่ายควรเห็นพ้องต้องกัน เพื่อยึดถือและปฎิบัติในกรอบเดียวกัน ที่สำคัญกติกานี้ต้องยุติธรรมสำหรับทุกฝ่าย ไม่เอาเปรียบฝ่ายใดจนเกินไป ไม่เอื่อประโยชน์ต่อฝ่ายได้จนเกินพอดี หรือไม่เอนเอียงเข้าข้างผู้ที่มีอำนาจอยู่เหนือกว่า ถ้าทุกคนไม่เคารพกติกา หรือกติกาไม่เป็นธรรม การทำงานก็จะเริ่มแย่ตั้งแต่เริ่มต้น
- ระบบการทำงานต้องปฎิบัติได้ง่าย ไม่เป็นอุปสรรค์ต่อการทำงาน : หลายองค์กรสร้างระบบการทำงานที่ดีและยอดเยี่ยม แต่กลับยากต่อการทำงานของคนในองค์กร หรือคัดคนมีความสามารถไม่พอมาทำงาน ต่อให้ระบบดีเพียงไรก็ส่งผลให้งานไม่มีประสิทธิภาพได้ ฉะนั้นระบบการทำงานที่ดีควรปฎิบัติตามได้ง่าย ไม่ก่อให้เกิดปัญหา ไม่ทำให้ระบบการทำงานสะดุด หากทำงานได้ราบรื่น ก็ย่อมทำให้เกิดความสำเร็จได้ง่ายขึ้น
- สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ที่เหมาะสม : องค์กรที่ดีควรรู้จักที่จะยืดหยุ่นและปรับตัวเองให้ไวตามสถานการณ์ ซึ่งระบบและกติกาต่างๆ ก็ควรจะปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสถานการณ์ต่างๆ ด้วย เพื่อที่จะทำให้เกิดการทำงานที่มีประสิทธิภาพมากที่สุด
คุณลักษณะสำคัญของทีมงานและการทำงานระบบทีม (Teamwork) / การทำงานเป็นทีม
1.การปฎิสัมพันธ์กันของคนในทีม
การทำงานระบบทีมที่ดีต้องมีการปฎิสัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกัน พูดคุย ปรึกษา ช่วยเหลือ สื่อสารการทำงานระหว่างกัน หากการทำงานระบบทีมเป็นแบบทำใครทำมัน ไม่มีการปฎิสัมพันธ์ระหว่างกัน นั่นไม่เรียกว่าการทำงานเป็นทีม และก่อให้เกิดผลเสียหายได้ง่าย
2.มีเป้าหมายที่จะบรรลุร่วมกัน
นั่นถือเป็นหัวใจสำคัญของระบบการทำงานเป็นทีมเลยก็ว่าได้ หากการทำงานในระบบทีมถึงแม้จะดีเพียงไรก็ตาม หากไม่มีเป้าหมายชัดเจน ก็จะไม่มีทิศทางของการทำงานที่แน่ชัด และจะไม่มีการร่วมแรงร่วมใจกันที่มีพลัง ไม่มีแรงผลักดันให้ปฎิบัติภาระกิจหน้าที่การงานให้สำเร็จ ซึ่งสิ่งนี้ที่ทำให้การทำงานแบบทีมต่างจากการทำงานแบบกลุ่ม
3.มีโครงสร้างและระบบการทำงานที่ชัดเจน
เมื่อเกิดการทำงานแบบทีมแล้วสิ่งที่จะช่วยทำให้การทำงานระบบนี้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้นก็คือการวางโครงสร้างของการทำงานตลอดจนหน้าที่การทำงานของแต่ละคนให้ชัดเจน มีภาระกิจที่เข้าใจได้ง่าย และปฎิบัติได้ตามความสามารถ การวางโครงสร้างนั้นอาจหมายถึงการวางตำแหน่งการทำงานด้วย นั่นรวมถึงการวางโครงสร้างอำนาจ มีระบบหัวหน้าทีมและลูกน้อง เพื่อการบริหารงานที่มีประสิทธิภาพด้วย รวมถึงการเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตนเองอย่างดี และเข้าใจบทบาทหน้าที่ของคนอื่นให้ทีมให้ถี่ถ้วน
4.มีความรู้สึกร่วมกันและมีทัศนคติในทิศทางเดียวกัน
สิ่งสำคัญอย่างยิ่งอีกอย่างของการทำงานเป็นทีมก็คือทุกคนในทีมต้องมีความรู้สึกร่วม มุ่งมั่นที่จะทำงานร่วมกัน ตลอดจนมีทัศนคติในการทำงานไปในทางเดียวกัน หากทีมที่มีทัศนคติสวนทางกัน หรือไม่มีความรู้สึกร่วมกัน ก็ย่อมเหมือนเรือที่ฝีพายพายอย่างสะเปะสะปะ ไม่พร้อมเพรียง พายแบบตัวใครตัวมัน หรือคนนึงพายไปข้างหน้า อีกคนพายถอยหลัง อีกคนขี้เกียจและไม่พายเลย เรือก็ย่อมไม่พุ่งไปข้างหน้าแน่นอน ที่สำคัญความรู้สึกร่วมและทัศนติในทิศทางเดียวกันนั้นก่อให้เกิดความสามัคคีได้ง่ายอีกด้วย
5.เปิดเผย ตรงไปตรงมา จริงใจต่อกัน และไว้เนื้อเชื่อใจ
การเปิดใจกันเป็นส่วนสำคัญของการทำงานระบบทีมเช่นกัน เพราะการทำงานระบบทีมนั้นวัดความสำเร็จที่องค์รวม ฉะนั้นทุกคนจึงควรเปิดใจกัน ยอมรับกัน พูดกันอย่างตรงไปตรงมาไม่อ้อมค้อม ทำงานแบบช่วยเหลือกันแทนที่จะแข่งขันกัน ไว้เนื้อเชื่อใจกัน ไม่ปิดบังข้อมูลกัน หากแต่ละคนเห็นแก่ตัว เอาแต่ประโยชน์ส่วนตน ไม่ร่วมมือร่วมแรง ไม่เปิดเผยข้อมูลต่อกัน กันให้อีกฝ่ายไม่ได้ประโยชน์ที่เหนือกว่าตน ความไม่จริงใจต่อกันนี้ย่อมทำให้ระบบทีมล่มสลายได้เช่นกัน
HR มีข้อสงสัยหรือคำถามเกี่ยวกับประเด็นนี้
Q: เวลามีการจัดอบรมเกี่ยวกับ ทีมบิวดิ้ง สามารถวัดการยกระดับการทำงานด้วยวิธีใด
เวลามีการจัดอบรมเกี่ยวกับ ทีมบิวดิ้ง สามารถวัดการยกระดับการทำงานด้วยวิธีใด เพราะเห็นอบรมเรื่องการทำทีมบิ้วดิ้งที่ไร นอกจากความสนุก เวลาพนักงานกลับสู่โหมดการทำงานก็ยังไม่สามารถการทำงานเป็นทีมได้ แล้วอย่างนี้ควรจัดให้มีกิจกรรมอย่างนี้ไหมครับ
A: team building เป็นเป็นกิจกรรมที่ดีนะครับแต่ความสำคัญจะอยู่ที่ที่มาของกิจกรรมเหล่านั้นว่า..
1.สะท้อนการทำงานเป็นทีมอย่างไร
2.ทีมได้เรียนรู้อะไรบ้างจากกิจกรรมที่เกิดขึ้นและทำร่วมกัน..
ประโยชน์ของการพัฒนาทีมงานให้มีประสิทธิภาพ
1.สร้างกำลังใจในการทำงานให้กับสมาชิกตลอดจนองค์กร
เมื่อการทำงานระบบทีมสามารถบรรลุความสำเร็จได้ ย่อมเกิดความภาคภูมิใจกลับมาต่อองค์กรและสมาชิกทุกคน สิ่งนี้จะช่วยสร้างกำลังใจในการทำงานให้ทำงานได้ดีเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก่อให้เกิดขวัญและกำลังใจในการทำงาน ทำให้การทำงานมีประสิทธิภาพอย่างต่อเนื่อง และก่อให้เกิดผลสำเร็จอยู่เรื่อยๆ
2.สร้างความมั่นคงในอาชีพ
เมื่อการทำงานระบบทีมทำให้องค์กรมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น แน่นอนว่าย่อมก่อให้เกิดผลสำเร็จกับองค์กรได้อย่างงดงาม ผลประกอบการดี องค์กรมีกำไร และผลประโยชน์จะตอบกลับมาที่พนักงานด้วย และเมื่อพนักงานทำงานระบบทีมได้ดี องค์กรก็ต้องย่อมอยากรักษาทีมงานไว้ นั่นส่งผลให้เกิดความมั่นคงในการทำงานในระยะยาวได้ในที่สุดเช่นกัน
3.สร้างระบบการทำงานที่ดี
การทำงานระบบทีมที่มีประสิทธิภาพนั้นเกิดจากการวางแผนและระบบงานที่ดี ซึ่งทำให้การทำงานราบรื่น ก่อให้เกิดปัญหาน้อยที่สุด หากการทำงานระบบทีมแข็งแกร่ง การทำงานขององค์กรในภาพรวมก็จะยิ่งสะดวก ไม่ติดขัด ไม่ก่อให้เกิดข้อผิดพลาด หรือหากเกิดข้อผิดพลาดก็จะแก้ไขได้เร็ว ทำให้ระบบการทำงานในองค์รวมเป็นไปด้วยดีและมีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ
4.สร้างความสัมพันธ์ที่ดีของการทำงานและสมาชิกในทีม
หลักหนึ่งในการทำงานระบบทีมที่ทุกคนจะต้องยึดถือร่วมกันให้ดีก็คือการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างกัน ทั้งในระดับบุคคลไปจนถึงระดับแผนกและองค์กร เพราะหากความสัมพันธ์แย่นั้นย่อมส่งผลกระทบโดยตรงต่อการทำงานระบบทีมแน่นอน การเชื่อมสัมพันธ์ที่ดีจึงเป็นสิ่งจำเป็น และเมื่อทุกคนเชื่อมสัมพันธ์กันอย่างสม่ำเสมอแล้วก็ย่อมสร้างความสัมพันธ์ที่ดี ทำให้องค์กรมีสภาพแวดล้อมในการทำงานและบรรยากาศในการปฎิบัติงานที่ดี องค์กรที่มีความสัมพันธ์ที่ดีย่อมมีพลังในการทำงานที่ดี นั่นทำให้องค์กรบรรลุเป้าหมายได้ง่ายขึ้นด้วย
5.ทำให้องค์กรและบุคลากรเกิดการพัฒนาตลอดเวลา
องค์กรที่ดีนั้นย่อมไม่หยุดพัฒนา และหากระบบการทำงานที่ดีทำให้องค์กรสำเร็จแล้ว พนักงานในองค์กรทุกคนย่อมอยากที่จะพัฒนาตัวเองมากขึ้นเรื่อยๆ เพื่อที่จะให้บรรลุผลสำเร็จต่อไป นั่นทำให้องค์กรจะพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ พนักงานทุกคนมุ่งมั่นที่จะพัฒนาตัวเองให้ดีขึ้นเรื่อยๆ องค์กรก็จะเติบโตไปเรื่อยๆ อย่างยอดเยี่ยม
บทสรุป
การทำงานแบบระบบทีม (Teamwork) ที่ดีได้นั้นย่อมเกิดจากทีมงาน (Team Work) ที่ดี ซึ่งทีมงานที่ทำงานระบบทีมได้อย่างมีประสิทธิภาพย่อมทำให้องค์กรมีประสิทธิผลและเกิดความสำเร็จ บรรลุเป้าหมายที่วางไว้ได้ องค์กรที่ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพก็ย่อมสร้างผลสำเร็จได้อย่างยอดเยี่ยมเช่นกัน และนั่นก่อให้เกิดการพัฒนาองค์กรตลอดจนบุคลากรที่จะก้าวหน้าต่อไปเรื่อยๆ อย่างไม่มีที่สิ้นสุด