HIGHLIGHT 3 ปัญหาหลักที่มักทำให้คนลาออก
|
ปัญหาพนักงานลาออกนั้นเป็นเรื่องน่าปวดหัวสำหรับทุกองค์กรเสมอ บางครั้งการย้ายงานอาจเนื่องมาจากการไปหาข้อเสนอที่ดีกว่า หรือบางทีก็อาจมาจากปัญหาต่างๆ ภายในองค์กรตั้งแต่เรื่องหยุมหยิ๋มไปจนถึงเรื่องใหญ่โต ปัญหาในองค์กรเองก็มีตั้งแต่เรื่องงานไปจนถึงเรื่องคน สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นสาเหตุของการลาออกของพนักงานได้ทั้งสิ้น อย่างไรก็ดีฝ่ายทรัพยากรบุคคล (HR) ควรเตรียมรับมืออยู่เสมอ เพราะวัฎจักรนี้จะเกิดขึ้นตลอดเวลา และฝ่าย HR ควรรู้ให้ได้ว่าสาเหตุที่แท้จริงคืออะไร บางทีอาจจะแก้ปัญหาได้ทันท่วงที รักษาพนักงานไว้ได้ หรือหาทางป้องกันไม่ให้ปัญหาแบบนี้เกิดขึ้นได้ดี ไม่ก็เป็นการช่วยให้การจากลากันจบลงด้วยดีทั้งสองฝ่าย
Contents
- 1. สำรวจอัตราจ้างของพนักงาน ประเมินให้คุ้มค่า
- 2. ประเมินความรับผิดชอบงาน ว่าหนักเกินไป หรือเอาเปรียบแรงงานไปหรือเปล่า
- 3. สร้างทิศทางความก้าวหน้าในอาชีพ เสริมแผนพัฒนาศักยภาพ
- 4. เสริมความสัมพันธ์ระดับบุคคลให้ดี
- 5. อุปกรณ์การทำงานต้องพร้อม แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
- 6. จัดการบริหารความเครียด ลดความกดดัน
- 7. แชร์ความคิดเห็นกันเสมอ สอบถามความคิดเห็นกับตลอด
- 8. สร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน สร้างความหมายในตัวเองให้กับบุคลากร
- 9. เช็คสมดุลชีวิตของพนักงาน
- 10. สร้างความยุติธรรมให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม
- 11. เช็คว่าตัวองค์กรเอง หรือผู้บริหารมีปัญหาหรือไม่
- บทสรุป
1. สำรวจอัตราจ้างของพนักงาน ประเมินให้คุ้มค่า
สาเหตุหลักอันดับต้นๆ ที่พนักงานลาออกกันก็คือเรื่องของเงินเดือนนี่ล่ะ บริษัทอาจลองสำรวจดูเสมอว่าจ่ายอัตราจ้างที่เหมาะสมให้กับพนักงานหรือไม่ ในขณะเดียวกันก็ลองสำรวจคู่แข่งธุรกิจดูด้วยว่าอัตราจ้างอยู่ในระดับไหน เพราะพนักงานอาจลาออกเนื่องมาจากได้ข้อเสนอที่ดีกว่า แล้วกลับมาดูว่าเราให้ข้อเสนอที่ดีพอหรือยัง ต้องประเมินความคุ้มค่าให้รอบด้าน
2. ประเมินความรับผิดชอบงาน ว่าหนักเกินไป หรือเอาเปรียบแรงงานไปหรือเปล่า
หลายบริษัทที่ไม่ใส่ใจเรื่องดูแลบุคคลากรมากนัก มักจะคิดถึงความคุ้มค่าของงานมากกว่าสนใจอัตราจ้าง ประเภทที่ว่าจ้างมาแล้วก็ให้ทำงานให้คุ้มที่สุด บางทีอาจเพิ่มงานจาก JD ที่กำหนดไว้แต่แรก บางครั้งก็อาจอัดงานจนล้นมือ หรือบางคราวก็มอบหลายๆ งานให้ทำพร้อมกันจนยุ่งเหยิง สาเหตุนี้ก็ทำให้พนักงานทนไม่ไหวได้เช่นกัน
3. สร้างทิศทางความก้าวหน้าในอาชีพ เสริมแผนพัฒนาศักยภาพ
ใครๆ ต่างก็ต้องการเติบโตในหน้าที่การงานทั้งนั้น หากมองไม่เห็นทิศทางที่ก้าวหน้าก็อาจเป็นเหตุให้พนักงานลาออกได้ ความก้าวหน้านั้นอาจจะไม่ใช่เรื่องของตำแหน่งหน้าที่เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการมอบโอกาสงานใหม่ๆ ให้ด้วยเหมือนกัน ความก้าวหน้าอีกด้านก็คือการพัฒนาศักยภาพให้สูงขึ้น ตรงจุดนี้องค์กรมีแผนพัฒนาศักยภาพของพนักงานหรือเปล่า อย่างเช่นการอบรมต่างๆ, การดูงาน, หรือแม้แต่การศึกษาต่อที่เป็นประโยชน์ต่อการทำงาน เป็นต้น
4. เสริมความสัมพันธ์ระดับบุคคลให้ดี
บางครั้งปัญหาการลาออกไม่ใช่เรื่องของงานเลยแม้แต่น้อย แต่เป็นเรื่องของสัมพันธ์ระหว่างบุคคลมากกว่า การกระทบกระทั่งจนเกิดความบาดหมางหรือไม่ลงรอยกันอาจเป็นส่วนทำให้การทำงานมีปัญหา บางครั้งฝ่าย HR เองอาจต้องเป็นตัวกลางใจการเจรจาหรือจัดการเรื่องนี้เพื่อป้องกันการลาออกได้ หรืออาจป้องกันไว้ดีกว่าแก้ภายหลัง ด้วยการพยายามหากิจกรรมเสริมสัมพันธ์ระหว่างกัน เพื่อให้เกิดความสนิทสนม กลมเกลียว ทำงานกันอย่างราบรื่น
5. อุปกรณ์การทำงานต้องพร้อม แก้ไขปัญหาได้ทันท่วงที
บางครั้งเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ก็กลายเป็นปัญหาใหญ่ได้ หลายคนที่ทำงานระบบออฟฟิศน่าจะเคยเจอปัญหาเรื่องอุปกรณ์การทำงานมาบ้างไม่มากก็น้อย โดยเฉพาะเรื่องคอมพิวเตอร์ที่ปัจจุบันกลายมาเป็นส่วนหนึ่งของงานทุกอาชีพไปแล้ว หลายบริษัทมักซื้ออุปกรณ์ในระดับมาตรฐาน ราคาถูก โดยที่ไม่ประเมินศักยภาพของอุปกรณ์กับงานของพนักงาน เพราะคนที่ซื้อมักไม่ใช่เป็นคนที่ใช้งาน อย่างพนักงานที่ต้องเสิร์ชหาข้อมูลบ่อยๆ คอมฯ ช้า อินเตอร์เน็ตก็ช้า สร้างความหงุดหงิดในการทำงานแน่นอน และเมื่อร้องขอการแก้ไข ก็ล่าช้า ถูกบริษัทหมางเมิน เรื่องเล็กๆ แค่นี้ทำให้พนักงานโบกมือลาบริษัทมามากมายแล้ว บริษัทอาจลองเช็คเรื่องนี้ ลองหันมาสนใจ ใส่ใจ อาจแก้ปัญหาได้ดีกว่า
6. จัดการบริหารความเครียด ลดความกดดัน
บางครั้งการกดดันการทำงานจนเกินไป หรือสร้างความเครียดให้กับพนักงานจนเกินไป ก็อาจทำให้เกิดผลเสียกับงานได้เช่นกัน องค์กรอาจลองหันมามองตรงจุดนี้ ว่าควรลดการกดดันที่ไม่เหมาะควร กำหนดเป้าหมายให้เหมาะสม หรือแม้แต่ลดความเครียดในการทำงานระหว่างกันลง บางครั้งอาจจะทำให้เกิดประสิทธิภาพในงานมากกว่าก็เป็นได้ ถ้าจัดการได้ดีก็อาจจะลดอัตราการลาออกของพนักงานได้
7. แชร์ความคิดเห็นกันเสมอ สอบถามความคิดเห็นกับตลอด
บางองค์กรที่ไม่มีระบบแชร์ความรู้ความคิดเห็น หรือเปิดโอกาสให้พนักงานได้พูดคุยส่วนตัวกับหัวหน้างาน พนักงานอาจเจอปัญหาแล้วเก็บกด ไม่มีที่ระบาย ทั้งปัญหาส่วนตัว, ปัญหาผู้ร่วมงาน, หรือว่าแม้แต่ปัญหาในการทำงาน ก็อาจจะเครียดจนต้องลาออกได้ องค์กรควรเปิดโอกาสให้ทุกคนได้พูด ร่วมกันแสดงความคิดเห็น ช่วยกันแก้ปัญหา และควรมีการนัดคุยแบบส่วนตัวอย่างเท่าเทียมกันทุกคนและสม่ำเสมอด้วย เพื่อให้พนักงานได้ feedback และไม่รู้สึกผิดในการถูกเรียกไปคุย กล้าพูด ผู้บริหารหรือหัวหน้างานอาจได้ข้อมูลมาปรับปรุงให้ดีขึ้น และควรต้องเก็บความลับให้ได้ด้วย
8. สร้างความเชื่อมั่นให้พนักงาน สร้างความหมายในตัวเองให้กับบุคลากร
หลายคนตัดสินใจออกจากงานเพราะอาจไม่มั่นใจว่าตนเองจะสามารถรับผิดชอบงานได้ดี ทำงานได้บรรลุเป้าหมาย หรือตนมีความสามารถไม่พอ หรือแม้แต่ตัวเองรู้สึกไม่มีความหมายต่อองค์กร สิ่งเหล่านี้หัวหน้างานไปจนถึงฝ่าย HR เองควรรู้วิธีสร้างความเชื่อมั่นให้กับตัวพนักงานเอง ส่งเสริม ให้กำลังใจ ให้โอกาส สร้างความมั่นใจ ยืนเคียงข้างเมื่อล้ม หากพนักงานไม่ได้ต่อสู้คนเดียวก็อาจจะกล้าเดินต่อได้ และเขาอาจจะพบความสำเร็จที่เขาไม่คาดคิดว่าเขาจะทำได้ก็เป็นได้
9. เช็คสมดุลชีวิตของพนักงาน
พนักงานยุคใหม่ส่วนใหญ่เติบโตมาในช่วงที่ทุกคนหันมาใส่ใจตัวเอง ดูแลสุขภาพกันมากขึ้น การสร้างสมดุลชีวิตจึงเป็นสิ่งสำคัญ เรื่องเงินเดือนอาจไม่สำคัญเท่าเวลาส่วนตัวในชีวิต หากเราสามารถช่วยบลาลานซ์ชีวิตของเขาได้ ก็อาจทำให้ไม่ต้องลาจากกัน เพราะบางครั้งก็เป็นสิทธิ์ของพนักงาน อย่างเช่นการเลิกงานตรงเวลา ไม่ล่วงเวลาจนบ่อยเกินไป ให้เขาได้มีเวลาพักผ่อนส่วนตัว
10. สร้างความยุติธรรมให้ทุกฝ่ายอย่างเท่าเทียม
การที่พนักงานรู้สึกไม่ได้รับความยุติธรรม ไม่เท่าเทียมกัน หรือมีการโอนเอียงเข้าหาฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแบบไร้เหตุผล เรื่องที่เหมือนจะเล็กนี้กลับเป็นเรื่องใหญ่สำหรับหลายคนที่ทำให้เกิดการน้อยเนื้อต่ำใจจนลาออกได้ ความยุติธรรมนั้นอาจไม่ได้หมายถึงความเท่าเทียมกันไปเสียทุกกรณี แต่อาจหมายถึงความเหมาะสมด้วย ไม่เลือกปฎิบัติ และให้เกียรติซึ่งกันและกัน องค์กรต้องช่างน้ำหนักแต่ละเรื่องให้ดี
11. เช็คว่าตัวองค์กรเอง หรือผู้บริหารมีปัญหาหรือไม่
หากปัญหาไม่ได้อยู่ที่งาน หรือพนักงาน องค์กรอาจต้องลองย้อนมามองตัวเองว่าแท้ที่จริงแล้วปัญหาที่ทำให้พนักงานลาออกนั้นอยู่ที่ผู้บริหารหรือองค์กรเองหรือไม่ บกพร่องตรงจุดไหน ทำผิดพลาดไปหรือเปล่า หรือควรปรับปรุงเช่นไร องค์กรที่มีอีโก้ไม่ยอมเปลี่ยนแปลงตัวเองอาจทำให้ไม่มีผู้อยากอยู่ร่วมงานด้วย หากพบปัญหาแล้วรีบแก้ไข ก็อาจทำให้ทุกคนร่วมงานกันอย่างมีความสุข
บทสรุป
- การลาออกนั้นเป็นสิทธิ์ของพนักงานทุกคน แต่สิ่งที่ฝ่าย HR หรือแม้แต่ผู้บริหารองค์กรควรทำก็คือควรรู้สาเหตุที่แท้จริงให้ได้ ทั้งนี้เพื่อนำมาปรับปรุงแก้ไขให้ดีขึ้น หรือแม้แต่ไม่ทำให้มันเกิดซ้ำรอย องค์กรที่ดีควรมีการทำ Exit Interview ด้วย เพื่อถามไถ่ ให้กำลังใจ และเก็บข้อมูลไปในตัว ไม่ใช่ทำเพื่อเอาผิด ไล่บี้ หรือเรียกมาประนาม
- การที่พนักงานลาออกนั้นไม่จำเป็นว่าจะเป็นผลเสียเสมอไป บางครั้งการลาออกอาจจะเป็นการตัดเนื้อร้ายทิ้งแล้วทำให้องค์กรดีขึ้นก็เป็นได้ อย่างไรก็ดีองค์กรต้องรู้ข้อมูล และช่างน้ำหนักให้ดี
- หากเกิดการลาออกจริง ก็ควรจบลงด้วยดีทั้งสองฝ่าย ไม่ติดใจอะไรกัน แบบที่สามารถมาร่วมงานกันใหม่อีกในอนาคตได้