HIGHLIGHT
|
สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดสำหรับคนทำงานในปัจจุบันคือการรู้ว่าทักษะบางอย่างที่เคยทำให้เราประสบความสำเร็จ อาจกลายเป็นทักษะที่ไร้ประโยชน์เมื่อกระแสโลกเปลี่ยนไป ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงเสนอทางออกว่าหากเราต้องการเอาชนะในตลาดแรงงาน และยัง “คงคุณค่า” ที่ภูมิใจเอาไว้ เราต้องหาวิธีเพิ่มทักษะที่มีให้กลายเป็นคน Multi Skills ที่ทำได้หลายอย่างและสามารถบูรณาการความรู้เหล่านั้นให้เกิดประโยชน์สูงสุด
เราสามารถเปลี่ยนองค์กรให้ส่งเสริมการสร้างทักษะที่หลากหลายมากขึ้นได้อย่างไร บทความนี้มีคำตอบ
Multi Skills สำคัญกับการทำงานในปัจจุบันอย่างไร
ในโลกปัจจุบันที่รูปแบบการทำงาน ทัศนคติ ตลอดจนสภาพแวดล้อมโดยรวมเปลี่ยนไปอย่างก้าวกระโดด เราต่างคุ้นเคยกับการอธิบายว่าทักษะการทำงานแบบเดียวนั้นไม่เพียงพออีกต่อไป แม้จะเป็นวิธีทำงานที่เคยช่วยให้เราประสบความสำเร็จมาแล้วก็ตาม ดังนั้นสิ่งสำคัญของคนทำงานยุคนี้คือการเรียนรู้ทักษะให้หลากหลาย ซึ่งอาจอยู่ในสภาวะของ “เป็ด” ที่ไม่จำเป็นต้องชำนาญ (Master) เป็นพิเศษก็ได้ แต่ต้องมีความเข้าใจมากพอให้สามารถนำความรู้นั้น ๆ ไปประยุกต์ใช้ตามสถานการณ์อย่างมีประสิทธิภาพก็พอ
บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกอย่าง WTW ได้เผยผลวิจัยที่ระบุว่า Multi Skills มีความสำคัญสูงขึ้นถึง 85% ในระยะเวลา 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้องค์กรต้องเร่งหาพนักงานรุ่นใหม่ที่พร้อมปรับตัวและหาความรู้เพิ่มเติมเพื่อให้งานประสบความสำเร็จ โดยคุณฮาเซล ลีซ์ (Hazel Rees) ผู้นำของ WTW ประจำทวีปยุโรปให้ความเห็นว่า “บริษัทในทุกสายงานกำลังเผชิญกับความกดดันในการปรับตัวเข้าหาสภาพแวดล้อมใหม่ ๆ ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อการรักษา (Retention) และสรรหาพนักงาน (Recruiting) โดยปัญหานี้ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะดีขึ้นในอนาคตอันใกล้” ด้วยเหตุผลนี้ องค์กรที่ก้าวไม่ทันกระแสโลก ก็มีโอกาสถูกทิ้งไว้ข้างหลังโดยไม่ทันตั้งตัว
รายงานเดียวกันนี้ยังได้ยกตัวอย่างผลสำรวจจากประเทศอังกฤษที่กล่าวว่า ปี 2022 มีบริษัทถึง 58% ที่เจอปัญหาในการหาพนักงานใหม่ เพิ่มขึ้นจากปี 2021 (39%) และปี 2020 (17%) ถึงกว่าเท่าตัว เช่นเดียวกับความต้องการลาออกในปัจจุบันที่พุ่งสูงขึ้นถึง 60% เลยทีเดียว
สถิติดังกล่าวสอดคล้องกับการมีทักษะหลากหลาย (Multi Skills) อย่างไร ?
คำตอบคือเมื่อพนักงานมีแนวโน้มลดลง องค์กรย่อมมองหาพนักงานที่สามารถทำงานได้หลายอย่าง เช่น หากพนักงานที่มีอยู่เดิมสามารถทำหน้าที่ของคนที่ลาออกไปได้ หรือพนักงานที่เซ็นสัญญาเข้ามาใหม่สามารถปิดช่องโหว่ของคนได้มากกว่าหนึ่ง ก็แปลว่าองค์กรสามารถลดค่าใช้จ่ายไปได้มาก อย่างไรก็ตามการใช้พนักงานในบริบทนี้ต้องมีการพูดคุยเรื่องผลตอบแทนอย่างเหมาะสม ซึ่งไม่ใช่แค่เรื่องเงินเดือน แต่หมายรวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนให้เกิดความคล่องตัวมากขึ้น
WTW ได้สรุปว่าหลักการเพิ่มทักษะพนักงานในยุค The Great Resignation ให้เป็นคน Multi Skills นอกจากเหนือจากการ Reskills และ Upskills ก็คือการจัดลำดับสิ่งรอบตัวใหม่ (Reshuffle) และเลือกให้ความสำคัญกับสิ่งที่สร้างคุณค่า (Reprioritisation) ให้กับการทำงานได้จริง ๆ เท่านั้น
Multi Tasking เกี่ยวข้องกับ Multi Skills อย่างไร ?
สองคำนี้มีความหมายต่างกัน โดยเราสามารถอธิบายตามคำแปลแบบตรงตัวได้เลยว่า Multi Tasking หมายถึงการทำงานหลายอย่างพร้อมกันในเวลาเดียว ขณะที่ Multi Skills หมายถึงการที่พนักงานคนหนึ่งทำอะไรได้หลายอย่าง ประเด็นทั้งสองนี้ควรถูกพัฒนาไปพร้อมกัน ซึ่งผู้เชี่ยวชาญจาก Harvard Business Review อธิบายว่าคนที่ทำงานหลายอย่างแต่ไม่มีทักษะมากพอ จะทำให้ประสิทธิภาพงานลดลงถึง 40% ขณะเดียวกันคนที่มีทักษะหลายอย่างแต่ไม่รู้วิธีบริหารจัดการ ก็จะไม่สามารถนำความสามารถไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดได้เช่นกัน
Multi Skills มีประโยชน์กับการทำงานอย่างไร
สภาพแวดล้อมของการทำงานที่เปลี่ยนไปทำให้ความคาดหวัง (Expectation) ของพนักงานและองค์กรเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย โดยบริษัท Nettur Technical Training Foundation (NTTF) ได้กล่าวในการเสวนาหัวข้อ “ทักษะที่จำเป็นกับการทำงานแบบยืดหยุ่นและเน้นผลลัพธ์แห่งอนาคต” ว่า เราอาจถูกว่าจ้างมาด้วยกลุ่มทักษะอย่างหนึ่ง แต่การยกระดับตัวเองขึ้นมาเป็นพนักงานที่ดีขึ้นจำเป็นต้องมีทักษะหลากหลายกว่านั้น คนที่ทำได้หลายอย่างแต่ไม่ชำนาญสักอย่างจะสามารถแข่งขันในตลาดแรงงานได้ดีกว่าคนที่ชำนาญเพียงเรื่องเดียวอย่างมีนัยสำคัญ
Multi Skills ไม่ได้เป็นแค่เรื่องการทำงานอย่างเดียวเท่านั้น เพราะมันได้กลายมาเป็นวิถีชีวิต (Way of Life) อย่างหนึ่งไปแล้ว เพราะวิวัฒนาการของเทคโนโลยีได้ทำให้การบูรณาการทางความรู้เกิดได้ง่ายขึ้น เช่น คนทั่วไปก็สามารถซ่อมเครื่องใช้ไฟฟ้าได้เองผ่านการดูขั้นตอนทางคลิปออนไลน์ หรือแม้แต่มุมมองด้านจิตใจที่เรามีโอกาสได้เรียนรู้ผ่านประสบการณ์ของคนอื่นที่มาแลกเปลี่ยนกันในสื่อโซเชียลมากกว่าที่เคย ดังนั้นไม่ว่าผลลัพธ์จะออกมาเป็นอย่างไร เราก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าคนในยุคนี้ให้ค่ากับการทำได้หลายอย่างมาก ๆ และคนที่ไม่คิดจะหาทักษะเพิ่มเติมจะถูกมองว่าเป็นปัญหา เพราะเรามีแหล่งความรู้ (Sources of Knowledge) ที่เข้าถึงได้ง่ายเพียงแค่ปลายนิ้ว
ผู้เชี่ยวชาญกล่าวว่าการให้คุณค่าต่อ Multi Skills ทำให้เกิดทัศนคติที่เป็นประโยชน์กับการทำงานใน 2 แง่มุม คือ 1.) ทำให้คนอยากพัฒนาตัวเอง และ 2.) ทำให้องค์กรพยายามยกระดับการอบรมพนักงานให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ซึ่งถ้าองค์ประกอบทั้งสองนี้เดินไปในทิศทางเดียวกัน ก็จะช่วยให้ธุรกิจเติบโตขึ้นอย่างก้าวกระโดด
ประโยชน์ของ Multi Skills ต่อบุคลากร
- คนที่มีทักษะหลายอย่างจะมีโอกาสในหน้าที่การงานและร่วมมือกับผู้อื่นได้ยืดหยุ่นกว่าเดิม
- คนที่มีทักษะหลายอย่างจะสามารถบรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้ได้ง่ายและรวดเร็วขึ้น เพราะนำทักษะแต่ละอย่างมาส่งเสริมกัน
- คนที่มีทักษะหลายอย่างจะมีความมั่นคงในอาชีพ (Job Security) มากกว่า
- คนที่มีทักษะหลายอย่างจะเข้าใจธุรกิจในองค์รวมมากขึ้น
- คนที่มีทักษะหลายอย่างจะมีพัฒนาการ และปรับตัวกับสถานการณ์ได้ดีขึ้น
ประโยชน์ของ Multi Skills ต่อองค์กร
- องค์กรที่มีพนักงาน Multi Skills จำนวนมากจะสามารถวางแผนงานได้ดีขึ้น
- องค์กรที่มีพนักงาน Multi Skills จำนวนมากจะสามารถสลับหน้าที่ (Transition) และประสานงาน (Collaboration) ได้ดีขึ้น
- องค์กรที่มีพนักงาน Multi Skills จำนวนมากจะให้ผลประกอบการที่ดีขึ้น และมีวิธีทำงานแบบใหม่ที่ให้ผลลัพธ์ดีขึ้น
- องค์กรที่มีพนักงาน Multi Skills จำนวนมากจะแก้ไขสถานการณ์เฉพาะหน้าได้ดีขึ้น
- องค์กรที่มีพนักงาน Multi Skills จำนวนมากจะไม่เจอปัญหาเรื่องการสร้างผู้นำ ซึ่งถือเป็นปัญหาใหญ่ที่ขัดขวางการเติบโตของหลาย ๆ องค์กรในปัจจุบัน
Multi Skills มีรูปแบบอย่างไรบ้าง
หากเราเข้าร่วมงานสัมมนาในปัจจุบัน ก็จะพบว่านักวิชาการส่วนใหญ่ต่างโน้มน้าวให้เราหาความรู้ให้มากที่สุด, หลายหัวข้อที่สุด และนำไปใช้ให้มากที่สุด แต่แท้จริงเราต้องกลับมาโฟกัสก่อนว่าองค์กรของเรามีวัฒนธรรมของการเรียนรู้หรือไม่ มีการให้คุณค่ากับคนที่มีทักษะโดดเด่นหรือไม่ องค์ประกอบเหล่านี้จะเป็นรากฐานให้ผู้ที่พบเห็นเข้าใจว่าการพัฒนาตัวเองเป็นปัจจัยที่ “ต้องทำ” ถ้าอยากอยู่รอดในสายงานนั้น ๆ เหตุนี้แทนที่จะเริ่มด้วยการจัดอบรมแบบโหมกระหน่ำ องค์กรก็สามารถเริ่มด้วยการจัดอบรมเล็ก ๆ น้อย ๆ ให้พนักงานเห็นว่าการมีความรู้เริ่มจากเดิมจะช่วยให้ทำงานง่ายขึ้นอย่างไรบ้าง เมื่อค่านิยมตรงนี้แข็งแรงขึ้น จึงค่อย ๆ เพิ่มความเข้มข้นตามรูปแบบของการพัฒนาทักษะที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ขององค์กร โดยเราสามารถแบ่งรูปแบบของ Multi Skills ได้ดังนี้
ทักษะเพิ่มเติมในแนวตั้ง (Vertical Multi Skills)
ทักษะนี้คือการเรียนรู้ทักษะจากคนที่มีตำแหน่งงานเหนือกว่า เช่นการให้พนักงานทั่วไปได้ศึกษาทักษะการเป็นผู้นำ, การบริหารงาน, งานควบคุมคุณภาพ หรืองานอื่น ๆ ที่เดิมเราเป็นแค่คนรับคำสั่งเท่านั้น
ทักษะเพิ่มเติมในแนวนอน (Horizontal Multi Skills)
ทักษะนี้คือการเรียนรู้ทักษะในสายงานที่ทำอยู่ให้ครอบคลุมมากขึ้น เช่นพนักงานที่เคยทำฝ่ายผลิต ก็ควรเรียนรู้เรื่องวิธีติดตั้ง และวิธีซ่อมแซมเพื่อให้ทำงานได้ครบวงจรมากขึ้น หรือคนที่เป็นฝ่ายขายผลิตภัณฑ์อย่างหนึ่ง ก็สามารถหาแนวทางใช้งานผลิตภัณฑ์นั้น ๆ ให้หลากหลายขึ้นเพื่อเพิ่มมิติให้ผู้ใช้มีข้อมูลตัดสินใจมากขึ้น เป็นต้น
ทักษะเพิ่มเติมในแนวลึก (Depth Multi Skills)
ทักษะนี้คือการเรียนรู้ในหัวข้อเดิมให้ลึกซึ้งขึ้น พยายามหาว่าสิ่งที่เรารู้อยู่แล้วในสายงานที่ทำอยู่สามารถลงรายละเอียด หรือเพิ่มเติมส่วนใดให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นหรือไม่ เช่นเราเคยทำงานสำเร็จด้วยการใช้กำลังคนกลุ่มหนึ่ง บางทีหากเราศึกษาให้มากขึ้นก็อาจพบว่ามีเทคโนโลยีหรือกลยุทธ์ที่ช่วยให้งานเสร็จโดยใช้ทรัพยากรน้อยกว่านั้น การเพิ่มทักษะในด้านนี้ยังหมายรวมถึงการเข้าใจ “องค์รวม” ของงานมากขึ้นด้วย
มารู้จักโมเดลพัฒนาทักษะที่น่าสนใจกันเถอะ !
- T-SHAPED MODEL : หมายถึงคนที่มีความรู้รอบด้านเปรียบดั่งเส้นแนวนอนของตัว T และมีความรู้เชิงลึกที่ชำนาญเป็นพิเศษเปรียบเหมือนเส้นแนวตั้งของตัว T
- X-SHAPED MODEL : หมายถึงคนที่บริหารจัดการได้ดี ทั้งด้วยประสบการณ์และทักษะผู้นำ สามารถวางแผนและนำคนจากหลายสายงานมาผสานกันได้เหมือนกับจุดตัดของตัว X
- M-SHAPED MODEL : หมายถึงคนที่มีความรู้รอบด้าน เปรียบเป็นเส้นแนวนอน แต่มีความชำนาญในหลายทักษะ เปรียบเหมือนเส้นแนวตั้งที่มาประกอบเป็นตัว M นั่นเอง
- K-SHAPED MODEL : เป็นศัพท์ใหม่ที่เพิ่งนำมาใช้ตอนเกิดโควิด-19 หมายถึงคนในสายงานเดียวกันอาจมีทักษะรับมือกับสถานการณ์ต่างกัน บ้างประสบความสำเร็จ บ้างล้มเหลว เปรียบเหมือนเส้นในตัวอักษร K ดังนั้นเราต้องถามตัวเองเสมอว่ามีทักษะเพียงพอต่อการเป็นเส้นที่เฉียงขึ้นหรือยัง
โมเดลการทำงานแบบนี้สะท้อนให้เห็นว่าโลกของเราเปลี่ยนไปตลอดเวลา การเพิ่มทักษะให้มากที่สุดและเลือกหยิบใช้ในเวลาที่เหมาะสมจึงเป็นกลไกที่จะช่วยให้เราก้าวผ่านทุกสถานการณ์ได้อย่างแข็งแรง
เราสามารถยกระดับพนักงานและสร้าง Multi Skills Workforce ได้อย่างไร
McKinsey เผยผลสำรวจว่าการเพิ่มทักษะให้พนักงานมีความสำคัญมากขึ้นกว่าในช่วงก่อนโควิด-19 ถึง 58% เพราะสิ่งที่มนุษย์สนใจมีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วขึ้นมาก ผู้เชี่ยวชาญมองว่าการสร้างทักษะที่ถูกต้องนั้นจำเป็นต้องมาจากรากฐานที่แข็งแรง เนื่องจากพนักงานแต่ละคนล้วนมีความรู้และศักยภาพในการรับข้อมูลแตกต่างกัน องค์กรไม่สามารถคิดหลักการที่คิดว่าดีขึ้นมาและคาดหวังว่าจะใช้ได้กับทุกคนตามแนวคิด “One-Size-Fits-All” ดังนั้นหากต้องการสร้างทีมที่พร้อมยกระดับตัวเองตลอดเวลา ให้ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้
องค์กรต้องระบุให้ได้ว่าอะไรคือสิ่งที่ต้องการที่สุด
ยิ่งองค์กรนำเทคโนโลยีและกลยุทธ์ใหม่ ๆ เข้ามาใช้มากเท่าไหร่ ความจำเป็นในการเพิ่มทักษะของพนักงานก็ยิ่งเพิ่มขึ้นเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่นหากเราต้องการย้ายฐานข้อมูลทั้งหมดของบริษัทเข้าไปสู่ระบบคลาวด์ แต่พนักงานส่วนใหญ่เป็นคนสูงอายุที่คุ้นเคยกับการทำงานเอกสารแบบดั้งเดิมมากกว่า องค์กรก็ต้องหาแนวทางอบรมให้เข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงนี้ทำให้เกิดข้อดีอย่างไร เพื่อโน้มน้าวให้พนักงานเห็นความสำคัญของการพัฒนาตัวเองยิ่งขึ้น อย่างไรก็ตามเนื่องจากเวลาทำงานในแต่ละวันมีจำกัด องค์กรไม่สามารถจับพนักงานไปเรียนรู้ทักษะทุกอย่างที่ขาดได้ ผู้นำทีมจึงต้องมีทักษะในการเลือกว่าประเด็นใดสมควรใส่ใจมากที่สุดในเวลาที่จำกัด อนึ่งผู้บริหารต้องเข้าใจว่า “ทักษะที่ขาด” กับ “ตำแหน่งที่ขาด” ไม่เหมือนกัน
องค์กรต้องให้ความสำคัญกับการเพิ่มทักษะให้พนักงาน (Upskills / Reskills)
การเพิ่มทักษะด้วยขั้นตอนเหล่านี้เป็นสิ่งที่ HR ได้ฟังจนชินตลอดระยะเวลา 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่สิ่งที่ผู้เชี่ยวชาญเน้นย้ำก็คือการเพิ่มทักษะตรงนี้ต้องมาคู่กับทักษะในการบริหารจัดการ กล่าวคือทักษะที่เพิ่มขึ้นจะไม่มีประโยชน์เลยหากพนักงานไม่รู้จักวิธีสื่อสารให้เพื่อนร่วมงานเข้าใจ อีกกรณีคือพนักงานเข้าอบรมจนมีทักษะบางอย่างเพิ่มขึ้นจริง แต่ทักษะนั้น ๆ ไม่จำเป็นกับสายงานที่ทำอยู่ หากเป็นแบบนี้ก็ถือว่าไร้ประโยชน์เช่นกัน
ดังนั้นก่อนที่จะทำการจัดอบรมทุกครั้ง ผู้ที่รับหน้าที่ต้องสำรวจจนแน่ใจว่าสิ่งที่เหมาะสมของพนักงานแต่ละคนคืออะไร เน้นการวางแผนแบบเฉพาะเจาะจง (Personalise) ที่ถือเป็นอีกหนึ่งวิธีพัฒนาบุคลากรที่ได้รับความนิยมและได้ผลจริง
องค์กรต้องพิจารณาเรื่องการขอความช่วยเหลือจากภายนอก
เป็นเรื่องธรรมดาที่เราจะมองมาที่องค์กรและคิดว่าการพัฒนาศักยภาพพนักงานนั้น แม้จะทำได้ แต่ก็ต้องใช้เวลานานกว่าจะพร้อมตามที่ตั้งใจไว้ ดังนั้นองค์กรไม่ควรจดจ่อเพียงแค่การ “รอ” คนในองค์กร แต่สามารถมองหาตัวช่วย ไม่ว่าจะเป็นการใช้บริการและผลิตภัณฑ์ HR ที่มีอยู่มากมายตามท้องตลาด หรือแม้แต่การจับมือเป็นพันธมิตรกับบริษัทอื่น ๆ ที่ชำนาญในสายงานที่เราหาอยู่
ให้คิดว่าการหาคน ๆ หนึ่งที่ทำหลายอย่างได้ดีพร้อมกันสามารถมาจากบริบทใดก็ได้ ไม่จำเป็นต้องเกิดจากพนักงานของเราเท่านั้น
องค์กรต้องลองใช้วิธีสลับหน้าที่ชั่วคราว (Job Rotation)
การสลับหน้าที่ชั่วคราวไม่ใช่การเลื่อนตำแหน่ง (Promotion) แต่เป็นการให้พนักงานทดลองทำหน้าที่อื่น ๆ ในระดับเดียวกัน ซึ่งผู้บริหารพิจารณาแล้วว่าพนักงานคนดังกล่าวมีศักยภาพที่จะ “ไปต่อ” ในหน้าที่ใหม่ได้จริง กลยุทธ์นี้จะทำให้พนักงานได้เรียนรู้ทักษะที่ไม่เคยสัมผัสมาก่อน และยังอาจนำไปสู่วิธีแก้ปัญหาที่แปลกใหม่และมีประสิทธิภาพขึ้นก็ได้ เช่นพนักงานในแผนก IT ประจำสาขาลาดพร้าว อาจย้ายไปทำงานในแผนกเดียวกันที่สาขาโตเกียว (ในกรณีที่พนักงานมีทักษะภาษาญี่ปุ่น) กรณีนี้แม้จะทำหน้าที่เหมือนกัน แต่พนักงานก็จะได้รู้วัฒนธรรมองค์กรใหม่ ๆ ซึ่งสามารถนำมาประยุกต์ใช้เมื่อกลับมาทำงานที่ไทยได้เลย
บทสรุป
จะเห็นว่าปัญหาสำคัญของการสร้างองค์กรยุคใหม่คือความสับสนระหว่างการเพิ่มตำแหน่งงานกับการเพิ่มทักษะที่จำเป็น สองอย่างนี้มีความแตกต่างกันอย่างชัดเจน องค์กรบางแห่งอาจมีตำแหน่งงานน้อย แต่พนักงานที่มีสามารถบรรลุเป้าหมายขององค์กรอย่างง่ายดาย ขณะที่บางองค์กรมีพนักงานเต็มไปหมด แต่ไม่สามารถทำตามสิ่งที่ผู้บริหารตั้งเป้าเอาไว้ได้เลย นั่นหมายความว่าคำตอบของการทำงานไม่ใช่เรื่องของจำนวนคน แต่เป็นการมีความรู้ที่เหมาะสม รู้จักนำไปใช้อย่างมีกลยุทธ์และวางแผนอย่างรัดกุมต่างหาก
หากคุณไม่รู้ว่าจะหารูปแบบการอบรมที่เหมาะกับองค์กรอย่างไร หรือไม่รู้ว่าตัวช่วยต่าง ๆ ที่เห็นตามท้องตลาดนั้นมีความคุ้มค่ากับธุรกิจหรือไม่ คุณสามารถหาคำตอบด้วยตัวเองได้ที่ HREX แพลตฟอร์มที่รวบรวมบริการและผลิตภัณฑ์ HR ไว้มากกว่า 100 อย่าง ใหญ่ที่สุดในเมืองไทย ! ไม่ว่าคุณจะหาตัวช่วยในด้านไหน ที่นี่มีให้ครบแบบเว็บเดียวจบ !