HIGHLIGHT
|
ในบทความนี้ HREX อยากจะนำเสนอเรื่องของความหลากหลาย เพื่อเฉลิมฉลองเรื่องในโอกาสที่เดือนมิถุนายนของทุกปีเป็นเดือน Pride Month เราจึงหยิบยกเรื่องกระแสความหลากหลายมาเล่าในบทความนี้ หลาย ๆ คนอาจะเคยได้ยินมาก่อนแล้ว แต่สำหรับคนส่วนมาก กระแส DEI&B ยังเป็นเรื่องใหม่ คนที่มีความรู้ในเรื่องนี้ในสังคมและองค์กรควรช่วยกันเสริมสร้างความเข้าใจและต้องกระตุ้นให้คนเกิด Awareness ในเรื่องนี้กันมากขึ้น
หรือหากใครที่ต้องการจะศึกษาเรื่องของกระแส DEI&B และโดยเฉพาะ HR ที่จำเป็นต้องนำนโยบายความหลากหลายมาปรับเพื่อพัฒนาองค์กรให้เป็นองค์กรยุคใหม่ที่ก้าวหน้าขึ้นไปอีกขั้น เรามีคำตอบให้ในบทความนี้
Contents
DEI คืออะไร แล้วทำไมต้อง &B
กว่าจะมาเป็น DEI&B
วิวัฒนาการของ Diversity และการจัดการความหลากหลายในสังคมนั้นมีจุดเริ่มต้นเมื่อประมาณสามสิบกว่าปีที่ผ่านมา คือเมื่อช่วงประมาณกลาง ๆ ของยุค 80s ซึ่งตรงกับช่วงสมัยของประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน แห่งสหรัฐอเมริกา โดยมีการโต้เถียงกันระหว่างกลุ่มองค์กรที่สนับสนุนให้มีการจ้างงานบุคลากรโดยปราศจากอคติเรื่องความแตกต่างทางเพศ อายุ ศาสนา เชื้อชาติ ฯลฯ ขณะที่อีกกลุ่มไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้ ซึ่งในเวลานั้นก็ยังหาข้อยุติไม่ได้ ได้แต่เป็นเพียงข้อสรุปคร่าว ๆ ทางเชิงปฏิบัติว่าจะเป็นการดีกว่าหากไม่นำเรื่องนี้ยกขึ้นมาเป็นประเด็นถกเถียง
เพราะในทางกฎหมายก็ยังไม่มีข้อกฎหมายใดออกมารองรับเรื่องนี้ ยิ่งไปกว่านั้นคือพวกนักกฎหมายและนักการเมืองของฝ่ายพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นรัฐบาลอยู่ในขณะนั้นก็เป็นพวกอนุรักษ์นิยมเป็นส่วนใหญ่ จึงปัดตกข้อเสนอนี้ไป แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีที่ทำให้คนเริ่มมีการสร้าง Awareness เกี่ยวกับ Diversity มากขึ้นจนถึงปัจจุบัน
นิยามของ DEI&B
- Diversity (ความหลากหลาย)
หมายถึงการยอมรับความหลากหลายของผู้คนสังคมโลก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศ รสนิยมทางเพศ ภูมิหลังทางชาติพันธุ์ ศาสนา ฐานะทางเศรษฐกิจ แนวคิด มุมมอง ทัศนคติ ความสนใจ ฯลฯ ล้วนแล้วแต่เป็นมนุษย์ที่อยู่ร่วมโลก ร่วมสังคมเดียวกับเรา หากเปิดใจยอมรับ เห็นอกเห็นใจ และให้โอกาส สังคมก็จะอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและพัฒนาต่อไปได้อย่างยั่งยืน
- Equity (ความเสมอภาค)
หมายถึงความเท่าเทียมกันในมนุษย์ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นใครก็มีโอกาสเท่ากันในการประสบความสำเร็จ การเติบโตในหน้าที่การงาน และสิทธิในการออกเสียงต่าง ๆ เท่าเทียมกัน
- Inclusion (การผนวกรวม)
Inclusion มาจากคำว่า Include ซึ่งแปลว่า การรวมกัน หรือการผนวกรวมเข้าด้วยกัน นั่นหมายความว่า ไม่ว่าความแตกต่างใด ๆ ที่ถูกทำให้แปลกแยก ต่อจากนี้จะถูกผนวกรวมเข้ากับสิ่งเดิมที่มีจนกลายเป็นกลุ่มใหม่ที่รวมไว้ซึ่งความหลากหลาย ยกตัวอย่างเช่น หากองค์กรที่มีมานานและมีแต่ผู้ชายซึ่งอยู่ในระดับบริหาร แต่ปัจจุบันมีการให้โอกาสกับผู้หญิงโดยไม่แบ่งแยกความแตกต่างทางเพศอีกต่อไป จึ่งทำให้มีผู้หญิงได้ดำรงตำแหน่งบริหารในบริษัทมากขึ้นจนเท่าเทียมกับผู้ชาย
แล้วทำไม DEI ต้องมี B?
อย่างที่กล่าวไปแล้วว่า DEI คือความหลากหลาย ความเสมอภาค และการรวมกลุ่มกัน ยังมี B อีกตัว ซึ่งมาจากคำว่า Belonging (ความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน) หรือพูดง่าย ๆ คือ ถ้าคนในองค์กรรวมกันอยู่ในห้องห้องหนึ่ง แล้วบางคนไม่รู้สึกว่าตัวเองอยู่ในห้องนั้นด้วย นั่นหมายความว่า DEI ล้มเหลวอย่างสิ้นเชิง เมื่อยอมรับความแตกต่างแล้ว คุณต้องทำให้ทุกคนรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันด้วย สิ่งที่ HR ทำได้คือการพูดคุยอย่างเปิดใจกับพนักงาน ให้พนักงานได้มีการพูดอย่างเปิดใจเกี่ยวกับประสบการณ์ที่แตกต่าง และทำให้พวกเขารู้สึกว่าตัวเองกำลังอยู่ในพื้นที่ปลอดภัย รู้สึกสบายใจที่จะเป็นตัวของตัวเองได้
เมื่อผู้คนในสังคมเริ่มเปิดกว้าง มีความเสมอภาค ไม่แบ่งแยก ทั้งสังคม องค์กร และกลุ่มต่าง ๆ ก็จะมีความหลากหลาย มีโอกาส และปฏิบัติต่อกันอย่างเท่าเทียม ไม่ถูกกีดกันออกจากบทสนทนาไม่ว่าคนคนนั้นจะเป็นใครหรืออะไรก็ตาม
DEI&B ในที่ทำงาน: ทำไมถึงสำคัญ?
เมื่อคนหมู่มากมารวมตัวกันย่อมเป็นศูนย์รวมแห่งความหลากหลายไปโดยปริยาย เพราะเป็นไปไม่ได้ที่มนุษย์เราจะเหมือนกันไปทั้งหมด อย่างน้อยคงเป็นเรื่องเพศและวัยที่เกิดความแตกต่างกันได้ง่ายที่สุด ดังนั้นสิ่งแรกที่เราควรทำคือยอมรับความแตกต่างอย่างปราศจากอคติ รู้จักใจเขาใจเรา เพราะบางอย่างคนเราก็เลือกไม่ได้ การเห็นอกเห็นใจและให้โอกาสจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากพวกเราที่เป็นคนในองค์กรเดียวกัน สามารถก้าวข้ามผ่านจุดนี้ไปได้ อาจนำไปสู่การพัฒนาที่ยิ่งใหญ่สำหรับพนักงานและองค์กรก็เป็นได้
ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว หากคิดกันดี ๆ การมีคนหลากหลายประเภท แตกต่างกันในเรื่องต่าง ๆ ที่จริงแล้วส่งผลดีต่อองค์กรด้วยซ้ำไป ผู้บริหารและพนักงานควรมองความหลากหลายเป็นโอกาสในการสร้างประโยชน์ที่สามารถนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จขององค์กร เพราะความแตกต่างนำไปสู่การเกิดความคิดสร้างสรรค์ นวัตกรรมใหม่ ๆ และ ไอเดียที่อาจพลิกการทำงานของทั้งองค์กรให้ดีขึ้นได้
รวมถึงการตัดสินใจที่ดีขึ้นเมื่อได้ผ่านการกลั่นกรองจากหลายมุมมองของคนหลากหลายประเภท นอกจากนี้ยังมีเรื่องของการมีส่วนร่วมต่อการทำงานของพนักงานที่เพิ่มสูงขึ้น และยังทำให้ภาพลักษณ์ขององค์กรเปลี่ยนไปในทางดีที่
HR จะรณรงค์กระแส DEI&B ในองค์กรอย่างไร ให้ผู้บริหารและพนักงานเห็นถึงความจำเป็นของ DEI&B
ก่อนอื่น HR ต้องทำให้ผู้บริหารและพนักงานเข้าใจถึงความจำเป็นของการยอมรับความหลากหลายในสังคม และข้อดีอีกหลาย ๆ ข้อที่ตามมาหากองค์กรสร้างนโยบายการยอมรับความแตกต่างตามกระแส DEI&B อย่างที่ได้กล่าวไปแล้วในย่อหน้าแรก ๆ ว่าในโลกใบนี้ ความแตกต่างล้วนเป็นของธรรมดา ความเหมือนกันอาจหาได้ยากกว่าด้วยซ้ำไป
การที่คนเราเกิดมามีหน้าตา เพศ เชื้อชาติ ถิ่นกำเนิด ความสามารถ ฐานะ รสนิยม ศาสนา ฯลฯ ไม่เหมือนกันเป็นเรื่องปกติของมนุษย์โลก ไม่ว่าจะเดินไปทางไหนเราย่อมไม่เห็นว่าใครจะเหมือนเราไปหมดซะทุกกระเบียดนิ้ว ซึ่งความแตกต่างนี้เองที่ทำให้โลกน่าอยู่ เป็นเสน่ห์ให้เราได้ค้นหาสิ่งแปลกใหม่และพัฒนาตัวเองไปเรื่อย ๆ ได้
การที่องค์กรจะเปิดรับและริเริ่มสร้างนโยบายความหลากหลายและการอยู่ร่วมกันอย่างเท่าเทียมนั้นมีจุดเริ่มต้นสำคัญอยู่ที่ process ของการสรรหาบุคลากร เปรียบเสมือนด่านแรกที่จะเปิดโอกาสให้ผู้คนที่มีความหลากหลายในหลาย ๆ แง่มุมเข้ามามีส่วนรวมในองค์กร ดังนั้น HR จึงมีส่วนสำคัญในการรณรงค์และทำความเข้าใจให้กับผู้บริหารและพนักงานในองค์กรถึงความแตกต่างได้หลายวิธี รวมถึงการสร้างหลักปฏิบัติเพื่อเป็นบรรทัดฐานให้กับองค์กรต่อไปในอนาคตได้โดย
- สร้างความเข้าใจและเห็นคุณค่าในความหลากหลายที่มีในสังคม เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วมอย่างเต็มที่ภายในองค์กร เกิดวัฒนธรรมองค์กรใหม่ ๆ ที่สร้างความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
- สร้างความมั่นใจในเรื่องของการเลือกปฏิบัติโดยไม่มีเหตุผลอันสมควรในการจ้างงาน การคัดเลือกคนเข้าทำงาน และขั้นตอนอื่น ๆ ในการรับคนเข้าทำงาน
- ส่งเสริมความเสมอภาคทางโอกาส
- ปฏิบัติกับผู้ร่วมงานอย่างเท่าเทียม ให้เกียรติ และเคารพ
- สร้างความสมดุลและเสมอภาคในองค์กร
นอกจากนี้ การทำให้ผู้บริหารและพนักงานเห็นถึงข้อดีของการสร้างนโยบายองค์กรให้สอดรับกับกระแส DEI&B ก็ยิ่งเป็นการกระตุ้นให้คนมองความแตกต่างในเชิงบวกขึ้นเรื่อย ๆ จนยอมรับทุกข้อแตกต่างของคนในสังคมได้ การพัฒนาองค์กรให้มีความหลากหลายในทุกแง่มุมนั้นมีผลดีต่อองค์กรในหลายด้าน
- ขยายแหล่งรวมคนมีความสามารถให้กว้างขึ้น: หากองค์กรมีการขับเคลื่อนในเรื่องของการจ้างบุคคลที่หลากหลายและมาจากภูมิหลังที่แตกต่างกัน จะทำให้ตัวองค์กรเองสามารถเข้าถึงแหล่งรวมคนมีความสามารถที่กว้างขึ้น
- เพิ่มการมีส่วนร่วมของพนักงานให้มากขึ้น: DEI&B มีบทบาทสำคัญในที่ทำให้พนักงานเกิดความความพึงพอใจ แรงจูงใจ และประสิทธิภาพการทำงานของพนักงาน ถ้าพนักงานไม่มีทั้งสามสิ่งนี้อาจทำให้องค์กรเกิดความล้มเหลวได้
- มีวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งขึ้น: เมื่อในองค์กรมีความหลากหลายมากขึ้น การที่พนักงานได้แชร์หรือมีส่วนร่วมในประสบการณ์ของแต่ละคนที่แตกต่างกันก็จะทำให้ทุกคนในบริษัทรู้สึกดีกับที่ทำงานมากขึ้นและสร้างความรู้สึกเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันมากขึ้น
- สร้างนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ให้เพิ่มมากขึ้น: การนำคนหลากหลายแบบ มีภูมิหลังต่างกัน ประสบการณ์ต่างกัน มาอยู่รวมกันย่อมสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้เกิดขึ้นในองค์กร
- สร้างความสัมพันธ์ที่ดีขึ้นกับลูกค้า: กลยุทธ์ทางการตลาดที่สะท้อนให้เห็นถึงภูมิหลังที่หลากหลายของพนักงานในบริษัท จะช่วยให้ธุรกิจสร้างความสัมพันธ์ที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นกับลูกค้าและเข้าใจความต้องการของลูกค้าได้ดีมากขึ้น
- การสร้างแบรนด์ที่แข็งแกร่งขึ้น: ด้วยตลาดความสามารถที่มีการแข่งขันสูง องค์กรต่าง ๆ จึงต้องมองหาวิธีปรับปรุง DEI&B เพื่อดึงดูดและรักษาผู้มีความสามารถระดับสูงเอาไว้ โดยการนำนโยบายความหลากหลายเข้ามาใช้เพื่อขยายตลาดแรงงานคุณภาพสูงให้กว้างขึ้น
บทสรุป
ในอนาคต กระแส DEI&B จะยิ่งมาแรงขึ้นเรื่อย ๆ และเข้มข้นขึ้นมากกว่าเดิม ซึ่งเป็นโจทย์ใหญ่สำหรับ HR ที่ต้องร่วมมือผู้บริหารและพนักงานเพื่อพาองค์กรก้าวข้ามไปสู่เป้าหมายที่ใหญ่ขึ้น คือการข้ามผ่านอคติในความแตกต่าง เพิ่ม Awareness ให้พนักงานเข้าใจและยอมรับในความหลากหลาย และทำให้องค์กรมีการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดในเรื่อง Diversity Management
เพราะสังคมโลกของเราในยุคปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม สิ่งใหม่ ๆ เกิดขึ้นทุกวัน วินาทีต่อวินาที และทั้งหมดนั้นเกิดจากมันสมองของพวกเรามวลมนุษยชาติที่มีความแตกต่างกัน แต่กลับรังสรรค์หลายสิ่งหลายอย่างเพื่อพัฒนาโลกใบนี้ร่วมกัน จงอย่าให้ความแตกต่างมาเป็นตัวกีดขวางโอกาสและวิวัฒนาการใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นในโลกของเรา เพียงเพราะแค่ ‘รู้สึก’ ว่าเขาไม่เหมือนเรา
Sources |