เมื่อเวลาเปลี่ยนไป สิ่งที่เราเคยเชื่อก็อาจถูกโต้แย้งด้วยการค้นคว้าทดลองจนได้ผลลัพธ์แบบใหม่ที่ตรงข้ามกับสิ่งที่เคยเข้าใจ อย่างเช่น “การดื่มในออฟฟิศ” ที่บริษัทส่วนใหญ่มองว่าเป็น “สิ่งต้องห้าม” ก็มีผลวิจัยออกมาโต้แย้งแนวคิดดังกล่าว จนมีบริษัทที่เปิดรับวัฒนธรรมการดื่มในออฟฟิศมากขึ้นโดยเฉพาะในธุรกิจขนาดเล็กที่อยู่กันแบบครอบครัวภายใต้เงื่อนไขของความเป็นมืออาชีพ, การวางตัวให้เหมาะสม และการรับผิดชอบต่อหน้าที่ของตนให้ดีที่สุด
ทั้งนี้ Interior Architects บริษัทออกแบบตกแต่งภายในจากซาน ฟรานซิสโก เผยกับ The Wall Street Journal ว่าปัจจุบันมีออฟฟิศมากมายในอเมริกาที่เตรียมติดตั้งบาร์เอาไว้เพื่อเป็นสวัสดิการให้แก่พนักงาน ซึ่งถือเป็นกระแสที่เกิดขึ้นมาพักใหญ่ ๆ แล้ว
การดื่มในออฟฟิศมีข้อดีอย่างไร
ผลวิจัยจาก University of Chicago กับกลุ่มเป้าหมายอายุ 21-30 ปี เผยว่าการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมเป็นผลดีต่อการทำงานสายครีเอทีฟที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ โดยพบว่าพนักงานที่มีอาการ “เมา” สามารถแก้โจทย์ที่กำหนดได้เร็วกว่าพนักงานที่มีสภาพร่างกายปกติ เพราะความเมาจะทำให้เกิดการตัดสินใจที่รวดเร็ว ฉับไว จากการใช้สัญชาตญาณและความชำนาญเฉพาะตน
การวิจัยยังอธิบายเพิ่มเติมว่าปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือด (BAC) ที่เหมาะสมคือประมาณ .075 หรือการ 1-2 แก้วในมื้อกลางวัน เพราะจะทำให้ได้ผลลัพธ์จากการแอลกอฮอล์แต่ก็ยังสามารถควบคุมตัวเองไม่ให้เกิดผลเสียต่อการทำงานในองค์รวม คุณ เจนนี่ ไวลีย์ (Jenny Wiley) หนึ่งในผู้วิจัยได้อธิบายให้เข้าใจง่ายขึ้นว่า “การจดจ่อกับงานมากเกินไปจะไปปิดกั้นจินตนาการ และความเป็นไปได้อื่น ๆ ที่สามารถเกิดขึ้นได้ ซึ่งการดื่มแอลกอฮอล์ในปริมาณที่เหมาะสมจะเข้าไปเพิ่มความยืดหยุ่นที่ทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นนั่นเอง”
ความเมายังช่วยให้พนักงานรู้สึกผ่อนคลายโดยเฉพาะเมื่อต้องเข้าประชุมเป็นเวลานานหรือต้องคิดแคมเปญอย่างเคร่งเครียด ที่สำคัญยังช่วยให้พนักงานกล้านำเสนอไอเดียที่อาจรู้สึกว่า “ไร้สาระ” หรือ “เป็นไปไม่ได้” จนไม่กล้าพูดในสถานการณ์ปกติ หมายความว่าความเมาอาจนำไปสู่การเกิดไอเดียใหม่ ๆ ที่ทุกคนคาดไม่ถึง
การดื่มในออฟฟิศยังช่วยให้พนักงานแต่ละแผนกมีปฏิสัมพันธ์กันง่ายขึ้นผ่านบริบทนอกเหนือจากการทำงาน รวมถึงเป็น “ความแปลกใหม่” ที่ช่วยโน้มน้าวให้คนอยากเข้ามาร่วมงานกับบริษัทมากขึ้น
การดื่มในออฟฟิศมีข้อเสียอย่างไร
แน่นอนว่าทุกเรื่องราวมีมุมมองให้เห็น 2 ด้านเสมอ ผลเสียเหล่านี้จึงเป็นปัจจัยที่แต่ละบริษัทมองข้ามไปไม่ได้เช่นกัน
- ทำให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพของพนักงาน : เมื่อพนักงานสามารถเข้าถึงแอลกอฮอล์ได้ง่ายขึ้น ก็อาจเป็นการโน้มน้าวให้มีความต้องการมากกว่าปกติจนนำไปสู่การเป็นโรคพิษสุราเรื้อรังได้
- ทำให้คนที่ไม่ดื่มแอลกอฮอล์รู้สึกแปลกแยก : เพราะนโยบายนี้ดูเหมือนทำขึ้นเพื่อเอาใจผู้ที่ดื่มโดยเฉพาะ ดังนั้นหากบริษัทไม่มีนโยบายสำหรับคนที่ไม่ดื่มควบคู่ไปด้วยก็อาจทำให้เกิดกระแสต่อต้าน เกิดความกดดันจนกลายเป็นพลังลบที่ทำให้บรรยากาศของการทำงานแย่ลง
- ทำให้การเลิกดื่มแอลกอฮอล์ยากขึ้น : ปฏิเสธไม่ได้ว่าในทุก ๆ บริษัทจะมีพนักงานที่อยู่ระหว่างการบำบัดเพื่อลด ละ เลิกการดื่มแอลกอฮอล์ ดังนั้นหากบริษัทมีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เตรียมพร้อมเอาไว้ตลอดเวลา ก็จะไปกระตุ้นความอยากจนขัดขวางความตั้งใจในการดูแลสุขภาพของพนักงานโดยปริยาย
- ทำให้บริษัทต้องเตรียมพร้อมด้านความปลอดภัยมากขึ้น : อย่าลืมว่าเวลาในออฟฟิศถือเป็นแค่ “ช่วงหนึ่ง” ของวันเท่านั้น เพราะท้ายสุดแล้วพนักงานจะต้องเดินทางกลับบ้าน ซึ่งมีความเป็นไปได้มากว่าความมึนเมาจะทำให้เกิดอันตรายทั้งกับตนเองและผู้อื่นได้ ดังนั้นบริษัทต้องเตรียมรับมือกับเหตุการณ์ไม่คาดฝันให้ได้ ทั้งในแง่ของการรักษาพยาบาลหรือแม้แต่ด้านกฎหมายก็ตาม
- ทำให้เกิดความเสี่ยงต่อการล่วงละเมิดทางเพศ : ผลวิจัยจาก Cornell University ระบุว่าพนักงานที่มีอาการมึนเมาจะเสี่ยงต่อการก่อเหตุล่วงละเมิดทางเพศมากกว่าปกติถึงสองเท่าตัว
บริษัทที่อนุญาตให้พนักงานดื่มในออฟฟิศมีนโยบายอย่างไร
การดื่มในออฟฟิศถือเป็นเรื่องใหม่สำหรับหลาย ๆ คน ดังนั้นเราจะมายกตัวอย่างให้เห็นว่าบริษัทที่มีนโยบายนี้ทำอย่างไร เพื่อเป็นแนวทางสำหรับนำไปใช้ในธุรกิจของคุณ
- Twitter : บริษัทมีไวน์และเบียร์เตรียมไว้ในตู้เย็นของบริษัท พนักงานสามารถหยิบมาดื่มได้เลย
- Yelp : พนักงานสามารถดื่มเบียร์ได้ตามความต้องการ แต่ต้องลงทะเบียนกับแอปพลิเคชั่นของบริษัททุกครั้งว่าดื่มไปเท่าใเ และเวลาใด
- Trello : มีนโยบายฉลองความสำเร็จของพนักงานด้วยการดื่มเหล้าและแชมเปญเป็นปกติ
- Crowdflower : บริษัทจัดเตรียมเบียร์เอาไว้เป็นสวัสดิการให้กับพนักงานที่ต้องทำงานล่วงเวลา
- J. Walter Thompson : มีบาร์เครื่องดื่มแบบเต็มรูปแบบเอาไว้ให้พนักงานทั้งในเวลาทำงาน และนอกเวลาทำงาน
HR ควรออกนโยบายอย่างไรหากผู้บริหารยอมให้มีการดื่มในออฟฟิศ
จอน ไฮแมน (Jon Hyman) ทนายความด้านกฏหมายแรงงานให้ความเห็นกับเรื่องนี้ว่าการดื่มในออฟฟิศถือเป็นเรื่องใหม่ที่จำเป็นต้องมีนโยบายคอยดูแลอย่างครอบคลุมที่สุด ซึ่งแผนกทรัพยากรบุคคล (HR) สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ ดังนี้
- กำหนดเวลาเปิดบาร์ให้ชัดเจน เช่น เปิดทั้งวัน, หลังอาหารกลางวัน, หลังเลิกงาน เป็นต้น โดยอ้างอิงจากพฤติกรรมและแนวทางการทำงานของบริษัท
- ตรวจเช็ครูปแบบประกันภัยที่บริษัทเลือกใช้ ว่าคุ้มครองอุบัติเหตุที่เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์อย่างไร และปรับปรุงให้เรียบร้อยก่อนที่จะประกาศใช้นโยบายดื่มในออฟฟิศ
- หากเป็นไปได้ควรมีเจ้าหน้าที่ดูแลเรื่องเครื่องดื่มแอลกอฮอล์สำหรับพนักงานโดยเฉพาะ เพื่อป้องกันไม่ให้พนักงานดื่มเกินความจำเป็นซึ่งอาจทำให้เกิดอันตรายขณะเดินทางกลับบ้าน โดยบริษัทอาจเพิ่มนโยบายเรียกรถสาธารณะให้พนักงาน, ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ก่อนกลับบ้านและเตรียมห้องพักชั่วคราวเอาไว้ในกรณีที่มีค่าแอลกอฮอล์เกินกว่าที่กฎหมายกำหนด เป็นต้น
บทสรุป
แม้จะมีการพิสูจน์แล้วว่าการดื่มระหว่างงานสามารถส่งผลดีในแง่มุมหนึ่งได้จริง ๆ แต่อย่าลืมว่าวิธีเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานไม่ได้มีเพียงการใช้เครื่องดื่มแอลกอฮอล์เท่านั้น แต่ยังมีปัจจัยอีกหลายอย่างที่ HR สามารถนำมาใช้กับธุรกิจตามบริบทที่เหมาะสม ดังนั้นไม่ว่าจะเป็นวิธีใดก็ตามขอเพียงฝ่าย HR กำกับดูแลอย่างมีแบบแผนและยึดเอาแนวทางตั้งต้นของบริษัทเป็นที่ตั้ง ก็รับรองว่าผลประโยชน์ในท้ายที่สุดจะตกอยู่กับธุรกิจแน่นอน