9 อาชีพ ‘ผุดใหม่’ มาแรงประจำปี 2020 [อ้างอิงจาก Emerging Jobs Reports โดย Linkedin]

Emerging Jobs Reports

ในโลกที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทต่อรูปแบบการทำงานที่เปลี่ยนแปลงไป บางอาชีพที่เคยโด่งดังอาจค่อยๆ เสื่อมค่าลงไป ในขณะที่บางอาชีพที่เคยจำกัดอยู่ในวงแคบมีความเฉพาะทางสูง กลับเริ่มขยายกลายเป็นตำแหน่งงานที่แทบทุกองค์กรต้องการ

เราในฐานะ HR จะมีวิธีการอย่างไรในการคาดการณ์การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เพื่อเตรียมกลยุทธ์ในการสรรหาคนได้สอดคล้องกับเทรนด์โลกที่ไม่เหมือนเดิม

และวันนี้ทาง HREX.asia อยากจะนำข้อมูล Report จากหนึ่งในแพล็ตฟอร์มรวมคนทำงานที่ใหญ่ที่สุดในโลกมาฝากเพื่อนๆ ให้ได้อัพเดทกัน
โดยตำแหน่งงานเหล่านี้อาจจะไม่ได้เป็นตำแหน่งงานใหม่ถอดด้ามที่เพิ่งเกิดขึ้นมาบนโลก แต่เป็นตำแหน่งงานที่ค่อยๆ ได้รับความสำคัญและกำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นเรื่อยๆ มาลองดูไปพร้อมๆ กันเลยดีกว่า.

ปล.ลิ้งค์ของตัว Report เต็มอยู่ท้ายบทความ ซึ่งสามารถดูแยกเป็นแนวโน้มรายประเทศ นอกจากนี้ยังมีข้อมูล Skills ของแต่ละตำแหน่งที่ HR  สามารถใช้ในการวางแผนการ  Reskills ของคนในองค์กร รวมถึงอุตสาหกรรมที่ต้องการคนในตำแหน่งนั้นๆ ที่ HR สามารถใช้เพื่อวางแผนกำลังคนขององค์กรตัวเองได้

1. AI Specialist

 

สำหรับข้อนี้คงไม่น่าแปลกใจเท่าไหร่เนื่องจาก ไม่ว่าจะเป็นผู้เชี่ยวชาญทั่วโลก หนังสือ หรือ Podcast ต่างพูดกันไม่หยุดไม่หย่อนถึงหนึ่งในเทคโนโลยีที่กำลังจะเปลี่ยนโลกไปทุกมิติในอนาคตอันใกล้อย่าง AI Technology
.
ไม่น่าเชื่อนะครับว่าอนาคตจะมาถึงไวอย่างรวดเร็วขนาดนี้ สำหรับคนที่กำลังเรียนหรือทำงานอยู่ในสายเทคโนโลยีหรือสายคอมพิวเตอร์ ถ้าสามารถจับเทรนด์นี้เอาไว้ได้ ก็มีโอกาสที่ตำแหน่งหน้าที่การงานจะเป็นที่ต้องการและได้รับค่าตอบแทนสูงงามแน่นอน

2. Robotics Engineer (Software)

อย่างที่เราพอจะทราบกันว่าเมื่อ AI Technology มีการพัฒนามากขึ้น ผนวกรวมกับ Machine learning ทำให้เครื่องจักรกลสามารถเรียนรู้งานจากระบบฐานข้อมูลได้ เมื่อนั้นระบบต่างๆ จะสามารถมีการทำงานได้อย่างอัตโนมัติโดยอาศัยการควบคุมจากมนุษย์น้อยลงเรื่อยๆ
.
หนึ่งในตำแหน่งงานที่คอยเชื่อมโยงตัวเทคโนโลยีเข้ากับเครื่องจักรที่จับต้องได้ก็คือคนที่ทำงานในตำแหน่งงานนี้นั่นเอง ซึ่งในอนาคตเครื่องจักรเหล่านี้เองที่จะค่อยๆ ย่างกรายเข้ามาทำงานแทนที่คนโดยเฉพาะงานที่มีลักษณซ้ำๆ และไม่ต้องการความคิดสร้างสรรค์มากนัก
.
ทำให้หนึ่งข้อคิดของการบูมขึ้นในตำแหน่งงานนี้ก็คือ การที่มันเป็นเหมือนเครื่องเตือนใจให้เราตระหนักว่าควรปรับตัวอย่างไรในวันที่โลกการงานในวันข้างหน้าต้องการทักษะในการคิดวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นมากขึ้นกว่าที่เคย และใครที่รู้ตัวว่างานตัวเองมีโอกาสถูกแทนที่สูงโดยระบบอัติโนมัติและหุ่นยนต์ก็ควรมีการวางแผนรับมือไว้ได้แล้ว
.

3. Full Stack Engineer

 

ข้อนี้อาจจะโดนใจสายโปรแกรมเมอร์เลยทีเดียว ถือว่าคุณโชคดีในระดับหนึ่งที่ทักษะที่คุณมีกำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงานพอดิบพอดี
.
แต่ถ้าสังเกตุจากชื่อตำแหน่งจะรู้ได้เลยทันทีว่าไม่ง่ายอย่างที่คิดเพราะโดยปกติแล้วโปรแกรมเมอร์จะมีความรู้ความเชี่ยวชาญที่ตัวเองถนัดโดยอาจแบ่งหยาบๆ เป็น Front-end ดูแลหน้าบ้านของเว็บไซต์หรือซอฟแวร์ กับอีกประเภทคือคนที่เป็น Back-end ซึ่งจะดูหลังบ้านของเว็บไซต์ที่เป็นตัวระบบต่างๆ
.
เหตุผลที่ Full Stack Engineer เป็นที่ต้องการก็เพราะว่ามันเป็นเหมือนการควบรวมทักษะของทั้ง Front และ Back เข้าด้วยกัน ซึ่งมีข้อดีคือบุคคลนี้จะสามารถจบงานได้ด้วยตัวคนเดียวทำให้เป็นคนสามารถดูแลโครงการตั้งแต่ต้นจนจบได้เป็นอย่างดีนั่นเอง
.

4. Data Scientist

 

ข้อมูลในโลกถูกสร้างและบันทึกมากขึ้นอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน ลองนึกดูว่าในแต่ละวันมีเว็บไซต์เกิดใหม่จำนวนเท่าไหร่ มีสเตตัสเกิดใหม่ไม่รู้กี่ล้านข้อความ ยังไม่นับรวมไปถึงข้อมูลจำเพาะของลูกค้าที่มีปฎิสัมพันธ์โดยตรงกับบริษัทผ่านการซื้อขายสินค้าและบริการ
.
ใครที่สามารถหยิบฉวยโอกาสในการสกัดเอา ‘Insight’ ของลูกค้าออกมาได้ก็เหมือนกับมี ‘แว่นตาวิเศษ’ ที่ใช้มองเห็นโอกาสที่ไม่มีใครมองเห็น ทำให้องค์กรที่มีคนที่มีความสามารถด้านข้อมูลเกิดการได้เปรียบทางธุรกิจอย่างมาก
.
บางสำนักข่าวในต่างประเทศถึงกับมีการกล่าวว่าอาชีพ Data scientist คือ ‘sexiest job of the 21st century’ เลยทีเดียว
.
.

5. DevOps Engineer

สำหรับคนที่ต้องการรู้จักตำแหน่งงานนี้อย่างละเอียดจริงๆ ขอแนะนำให้อ่านบทความนี้ที่จัดทำโดย LINE Developers ครับ (https://bit.ly/2RaoHMb)
.
ตำแหน่งนี้ต้องบอกว่ามีลักษณะเป็น Hybrid engineer เพราะมีการผสานรวมของความรู้ทางวิศวกรรมเชิงลึกเข้ากับการทำโปรเจกหน้างานเพื่อใช้ Open source technology ต่างๆ มาเชื่อมโยงกันเพื่อสร้างซอฟแวร์ บริการ หรือแอพพลิเคชันใหม่ๆ
.

6. Data Engineer

 

มาแรงจริงๆ นะครับกับงานที่เกี่ยวข้องในการดีลกับข้อมูลปริมาณมหาศาล
.
สำหรับ Data engineer (DE) จะแตกต่างจาก Data Scientist (DS) ตรงที่ DS จะเน้นไปที่การรวบรวมข้อมูลมาจากแหล่งต่างๆ เพื่อวิเคราะห์ สังเคราะห์เพื่อหามุมมองและคำตอบใหม่ๆ ออกมาผ่านวิธีการต่างๆ เช่น Data Mining, Machine Learning, Optimization
.
ในขณะที่ DE จะเน้นไปที่การออกแบบระบบข้อมูลเพื่อจัดเก็บ เรียบเรียง และเรียกใช้งานข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ

7. Cybersecurity Specialist

จากเมื่อก่อนที่ฐานข้อมูลสำคัญต่างๆจะอยู่ในรูปเอกสารที่เก็บอยู่กับเฉพาะหน่วยงานที่เรียกว่า ‘เอกสารลับ’ ทุกวันนี้ข้อมูลสำคัญทางการค้าต่างๆ ได้ถูกโยกย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ เช่น ข้อมูลส่วนบุคคลของโซเชียลมีเดียต่างๆ, ฐานข้อมูล transaction ทางการเงินต่างๆ, ข้อมูลการซื้อของลูกค้า

.
ตำแหน่งนี้เองที่จะคอยดูแลความปลอดภัยระบบฐานข้อมูลคอมพิวเตอร์ให้กับองค์กรจากการโจมตีของผู้ไม่หวังดีต่างๆ.
.

8. Community Specialist

 

ก่อนหน้าการเกิดของโลกอินเตอร์เน็ตและโซเชียลมีเดีย คำว่า Comminity หรือกลุ่มสังคมหมายถึงกลุ่มคนที่เชื่อ ชอบ รัก และสนใจในบางสิ่งร่วมกัน
.
กลุ่มคนเหล่านี้จะมีปฏิสัมพันธ์และแลกเปลี่ยนข้อมูลกันภายในอย่างเหนียวแน่น ซึ่งโดยปกติใน Community ก็จะผู้นำกลุ่มที่มีความสามารถในการโน้มน้าว เปลี่ยนแปลงความคิด และส่งผลต่อการตัดสินใจของผู้ติดตาม
.
ซึ่งหลายๆ ครั้งองค์กรฝั่งธุรกิจจะมีการพาร์ทเนอร์กับผู้นำกลุ่มเหล่านี้โดยปัจจุบันในแวดวงการตลาดเราจะมีคำเรียกผู้นำกลุ่มเหล่านี้ว่าเป็น Online influencer
.
ตัวอย่างของ Community เช่น กลุ่มคนรักสุขภาพ กลุ่มชอบเครื่องลางของขลัง กลุ่มคนรักแมว กลุ่มคนรักรองเท้าสนีกเกอร์
.
เมื่อโซเชียลมีเดียกลายเป็นเรื่องปกติในการสื่อสารของคนในปัจจุบัน Community จึงได้เกิดการเคลื่อนย้ายเข้ามาอยู่บนโลกสมมุติบนแพลตฟอร์มต่างๆ เช่น Facebook Fanpage, YouTube channel หรือเว็บบอร์ดต่างๆ เป็นต้น
.
ซึ่งตำแหน่ง Community specialist นี้เองจะเป็นคนในองค์กรที่มีหน้าที่คอยจัดการความเป็นไปต่างๆ เพื่ออำนวยให้กิจกรรมต่างๆ ทั้งจาก Offline comminity และ Online comminity ของค์กรหลอมรวมเป็นเนื้อเดียวกัน เพื่อสร้าง ‘พื้นที่’ ให้คนใน Community สื่อสารแลกเปลี่ยนคุณค่าและความสนใจได้อย่างลื่นไหล เป็นธรรมชาติ เพื่อทำให้แบรนด์ขององค์กรหลายเป็นที่หนึ่งในใจของกลุ่มคนเหล่านั้น
.
.

9. Partnership Specialist

 

หนึ่งในทักษะที่ขาดไม่ได้ของ ‘องค์กรที่เป็นผู้นำ’ ในปัจจุบันคือคำที่ได้ยินบนเวทีสัมมนาระดับโลกบ่อยมากๆ ในช่วงหลายปีหลังมานี้นั่นก็คือคำว่า ‘Collaboration’
.
ในวันที่โลกเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและรุนแรงเทรนด์ใหม่ที่เกิดขึ้นเป็นเรื่องปกติไปแล้วคือการ ‘เปลี่ยนแปลงมุมมอง’ ที่เรามีต่อบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันว่าไม่ใช่คู่แข่งอีกต่อไป
.
เพราะองค์กรสามารถที่จะเชื่อมโยงคุณค่าบางอย่างในตัวเข้ากับคุณค่าใหม่ของอีกองค์กรหนึ่งที่เราเรียกว่า ‘พาร์ทเนอร์’ หรือคู่หูทางธุรกิจ โดยที่เราสามารถแบ่งปันความสามารถ ความถนัด หรือกลุ่มลูกค้าระหว่างกันได้
.
ตัวอย่างที่ชัดเจนและพบได้บ่อย เช่น การสร้าง Campaign การตลาดร่วมกันระหว่างสองแบรนด์ (ลองนึกถึงส่วนลดร้านอาหารต่างๆ ที่เชื่อมโยงกับบริษัทโทรคมนาคมใหญ่ๆ ในบ้านเรา) หรือในโลกของ Consumer product ที่ชอบออกโปรดักที่มีการผสานรวมการออกแบบของทั้งสองแบรนด์เข้าด้วยกัน
.
ซึ่งทั้งหมดที่กล่าวมาล้วนเป็นงานหลักที่สำคัญของคนที่ทำงานในตำแหน่ง Partnership specialist ที่ต้องคอยบริหารจัดการความสัมพันธ์เหล่านี้ให้เป็นไปได้อย่างราบรื่นเพื่อเสริมคุณค่าและจุดแข็งของแบรนด์ตัวเองให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น.

Ability to change

ผ่านไปแล้วกับอาชีพสุดฮอทมาแรงสุดๆ ในปีนี้ สำหรับคนที่ต้องการอ่าน ‘Emerging jobs reports’ ฉบับเต็มของ Linkedin สามารถเข้าไปดูได้ที่ลิงค์นี้ https://bit.ly/2RwcxvX
.
ซึ่งจากทั้ง 9 ลำดับนี้ก็คงพอจะเห็นแล้วว่าทักษะด้านเทคโนโลยี ทักษะด้านดิจิตอล ทักษะด้านข้อมูล และทักษะการสื่อสารในโลกออนไลน์กำลังมาแรงในปี 2020 นี้ และคาดว่าจะทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในปีต่อไปๆ
.
เมื่อเรารู้แล้วว่าโลกกำลัง ‘หมุน’ ไปในทิศทางไหน การเริ่มต้นวางแผนเส้นทางอาชีพและลงมือเรียนรู้ทักษะใหม่ๆที่จำเป็นก็จำให้เราสามารถเข้าถึงโอกาสดีๆ ที่พัดพาเข้ามาเหล่านี้ได้
.
ในท้ายที่สุดแล้วเราอาจจะไม่ถึงกับต้องเปลี่ยนสายงาน ลงมือฝึกเขียน Code หรือนั่งอ่าน AI algorithm
.
ทว่าสำหรับคนปัจเจกตัวเล็กๆ เราควรเข้าใจว่ามันคืออะไร ทำอะไรได้บ้าง จะส่งผลกระทบกับเราอย่างไร และเราสามารถประยุกต์สิ่งเหล่านี้เข้ากับการงานที่ทำอยู่ในปัจจุบันได้มากน้อยแค่ไหน เพื่อปรับตัวและหาโอกาสจากมัน
.
อย่างที่อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์เคยกล่าวไว้ว่า
“The measure of intelligence is the ability to change.”
“มาตรวัดความฉลาดที่จริงแท้ หาใช่อื่นใด นอกเสียจากความสามารถในปรับตัวเปลี่ยนแปลงตัวเอง”
.
ขอทุกท่านมีความกล้าที่เปลี่ยนแปลงเพื่อมุ่งไปสู่ในอนาคตที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป

ผู้เขียน

HREX.asia

HREX.asia

Connect People to the Best HR Solution เพื่อสนับสนุนการเติบโตขององค์กรผ่านผู้คน

บทความที่เกี่ยวข้อง