ในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา VR เริ่มได้รับความสนใจอย่างมาก โดยเฉพาะในวงการเกมส์และภาพยนตร์ แต่คุณทราบหรือไม่ว่าในวงการธุรกิจเองก็มีการนำ VR เข้ามาปรับใช้ในการอบรมเหมือนกัน
บทความในครั้งนี้ เราขอเสนอ ประโยชน์จาก VR ในการนำมาใช้กับวงการธุรกิจ รวมไปถึงวิธีที่จะนำ VR ไปใช้กับการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการจัดการองค์กรให้ได้ประสิทธิภาพสูงสุด
VR AR และ MR คืออะไร
ก่อนอื่นถ้าเอ่ยชื่อ VR, AR และ MR พร้อมกันเชื่อว่าหลายๆคนคงคุ้นเคยกับ VR มากที่สุดเพราะพบเจอได้บ่อยตามสถานที่ต่างๆหรือในโทรศัพท์สมาร์ทโฟน แล้ว AR และ MR ล่ะ คืออะไร มีความแตกต่างจาก VR อย่างไร เราจะมาแนะนำทั้งสามสิ่งนี้ให้ทุกคนได้รู้จักกัน
VR คือ
VR หรือ Virtual Realty คือ การใช้เทคโนโลยีจำลองภาพดิจิทัลกราฟิกเสมือนจริงขึ้นมา โดยที่โลกเสมือนจริงนี้จะไม่มีความเกี่ยวข้องกับโลกแห่งความเป็นจริงแต่อย่างใด สิ่งที่ทำให้เรารู้สึกเหมือนอยู่ในนั้นคือแว่นตาที่สามารถช่วยให้ได้สัมผัสกับโลกแห่งจินตนาการ เปรียบเสมือนอยู่ในโลกแห่งความเป็นจริง ซึ่งเทคโนโลยีนี้ยังมีความสามารถในการโต้ตอบ และมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานได้อีกด้วย
AR คือ
AR หรือ Augmented Reality คือ การใช้เทคโนโลยีสร้างภาพดิจิทัลกราฟิกให้ทับซ้อนอยู่บนสภาพแวดล้อมของโลกจริง แต่ไม่ได้มีการตอบสนองซึ่งกันและกัน ถ้ามีก็อยู่ในระดับที่น้อยมาก เช่น เราอยู่ในห้อง มีสิ่งของวางอยู่ เมื่อเราใช้อุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยี AR สิ่งของต่างๆ ในภายห้องจะยังคงอยู่เหมือนเดิม แต่อาจจะมีภาพจำลอง 3 มิติขึ้นมาให้เราได้ชม
เทคโนโลยีตัวนี้จริงๆ แล้วมีให้เห็นทั่วๆ ไปพอๆ กับ VR เพียงแค่เราอาจจะไม่ได้สังเกต เช่น อยู่ใน Application ของสมาร์ทโฟน หรือเกมส์ที่ใครๆ ก็รู้จักอย่าง Pokemon GO ก็ใช้ AR ทำให้ผู้เล่นได้เพลิดเพลินไปกับการตามล่าโปเกม่อนตามสถานที่ต่างๆ
MR คือ
MR หรือ Mixed reality คือ การนำเทคนิคการนำภาพดิจิทัลกราฟิกมาซ้อนทับกับสภาพแวดล้อมรอบข้างได้อย่างสมจริง สามารถตอบสนองซึ่งกันและกันได้อย่างสมบูรณ์แบบและยังสามารถมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้งานได้ สามารถพูดได้ว่าถ้า AR คือการซ้อนทับกันระหว่างสองโลก MR ก็คือการรวมกันระหว่างสองโลกนั่นเอง
ในปัจจุบันเทคโนโลยี MR ถูกนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลายเช่น การฝึกบินในวงการการบิน การซ้อมผ่าตัดในวงการแพทย์ ระหว่างผ่าตัดแพทย์สามารถรู้ขั้นตอนการผ่าตัดเพียงหยิบเครื่องมือขึ้นมาหรือข้อมูลการเต้นของหัวใจคนไข้แบบเรียลไทม์ได้ และการออกแบบรูปทรง 3 มิติแบบต่างๆ เป็นต้น
การนำ VR มาใช้ในงาน HR
ทุกวันนี้ในต่างประเทศได้เริ่มมีการนำเทคโนโลยีต่างๆเข้ามาปรับใช้กับงานของ HR มากขึ้น VR ก็เป็นหนึ่งในนั้น เรามาดูกันว่า VR สามารถนำมาใช้กับงาน HR ด้านใดได้บ้าง
การสรรหาและการจ้างงาน
การสรรหาบุคลากรที่ดีและเหมาะสมตรงกับตำแหน่งเป็นหน้าที่สำคัญของฝ่าย HR
และด้วยความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีในสมัยนี้ ทำให้การหาบุคลากรที่ตรงตามความต้องการเป็นเรื่องที่ง่าย
ในต่างประเทศมีบริษัทหลายแห่งที่เริ่มนำเทคโนโลยี VR เข้ามาปรับใช้กับการสรรหาพนักงานใหม่
โดยการสรรหาจะเริ่มที่ฝ่าย HR จะใช้ VR ในการสัมภาษณ์ ซึ่งโดยปกติเราจะพูดคุยหรือสอบถามผู้สมัครถึงเหตุผลในการสมัครงานนี้ ดูแนวคิด หรือทัศนคติ รวมไปถึงความสามารถของเขาว่าเหมาะสมกับการทำงานในตำแหน่งนี้หรือไม่ แต่บางทีแค่การถามตอบอาจจะไม่เพียงพอให้ตัดสินใจ ฝ่าย HR จึงใช้ VR มาช่วยให้ผู้สมัครได้ทดลองทำงานผ่านโลกเสมือนจริง เพื่อจะได้รู้ว่าในการทำงานจริง เขาจะทำงานเป็นอย่างไร คนๆนี้มีคุณสมบัติเหมาะที่จะทำในตำแหน่งนี้จริงๆ นอกจากนี้ยังทำให้ผู้สมัครมีความรู้สึกสนุกและเข้าใจการทำงานมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การนำ VR เข้ามาใช้ ยังไม่ค่อยเป็นที่แพร่หลายมากนักเพราะราคาและอาจจะยังไม่ตอบความต้องการมากเท่าที่ควร เป็นไปได้ที่ความนิยมการนำ VR เข้ามาใช้กับการสรรหาบุคลากรจะลดลงและถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยี AR
การฝึกอบรม
นอกจากการสรรหาบุคลากรแล้วอีกงานหนึ่งที่สำคัญของฝ่าย HR คือ การฝึกอบรมและพัฒนา
การนำเทคโนโลยี VR เข้ามาใช้ในการฝึกอบรมมีความแพร่หลายมากขึ้นในปัจจุบันนี้ เช่น การฝึกบินของนักบิน การฝึกผ่าตัดของแพทย์ หรือการฝึกอบรมนักดับเพลิง เป็นต้น
เหตุผลที่หลายๆ บริษัทมีการนำเข้ามาใช้นั้นก็เพราะว่า เทคโนโลยี VR เป็นเครื่องมือที่เหมาะสมที่จะทำให้พนักงานได้เจอกับสถานการณ์เสมือนจริงในการทำงาน ทำให้พวกเขาได้เรียนรู้ที่จะปรับตัวเมื่อเจอสถานการณ์ที่ไม่คาดคิดอย่าง การติดต่อลูกค้า หรือ สถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ที่อาจจะเจอได้ในการทำงาน เป็นต้น
นอกจากนั้นการฝึกเหล่านี้จะช่วยพัฒนาทักษะในการทำงานของพนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น และยังทำให้พนักงานมีความพอใจและสนใจในงานมากขึ้นด้วย
VR จะเป็นกุญแจสำคัญในการเปลี่ยนแปลงการฝึกอบรมขององค์กร
จากการใช้เทคโนโลยี VR ในการฝึกอบรมทำให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างประสิทธิภาพมากขึ้น บริษัทต่างๆจึงเริ่มให้ความสนใจกับเทคโนโลยีนี้
Derek Belch, CEO ของ STRIVR ผู้ให้บริการระบบการฝึกอบรมและการเรียนรู้โดยใช้ VR กล่าวว่า การใช้ VR สามารถทำให้การฝึกอบรมมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์เพิ่มขึ้นได้
ผลของการฝึกอบรมจาก ‘ปัญหาของ Starbuck’
เหตุการณ์เกิดขึ้นที่สตาร์บัคส์ในฟิลาเดลเฟีย สหรัฐอเมริกา เมื่อมีลูกค้าผิวสีถูกแจ้งจับในข้อหาบุกรุกจากพนักงานเนื่องจากเขามานั่งรอเพื่อนในร้านและขอเข้าห้องน้ำโดยไม่ได้สั่งเครื่องดื่ม
เหตุการณ์นี้ทำให้เกิดความไม่พอใจและเกิดการแบนสตาร์บัคส์ทั่วสหรัฐอเมริกา จนนาย Kevin Johnson CEO ของสตาร์บัคส์ต้องออกมาขอโทษและแสดงความรับผิดชอบต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยการปิดร้านสตาร์บัคส์ทั่วสหรัฐอเมริกาในวันที่ 29 พฤษภาคม เพื่อจัดอบรมพนักงานเกี่ยวกับอคติทางเชื้อชาติ โดยมีเป้าหมายเพื่อให้พนักงานเรียนรู้ว่าการกระทำแบบไหนที่ถือว่ามีอคติด้านสีผิว รวมถึงวิธีแก้ปัญหาเฉพาะหน้าอย่างมีสติ เพื่อให้ลูกค้าร้านสตาร์บัคส์ได้รับการต้อนรับที่ดีขึ้น
แต่ก็เกิดข้อสงสัยว่าการฝึกอบรมดังกล่าวมีประสิทธิภาพจริงหรือไม่
การฝึกอบรมของบริษัทหลายแห่ง ไม่ใช่การฝึกอบรมจริง
สตาร์บัคส์ มีการฝึกอบรมพนักงานที่เข้มงวดมากตั้งแต่รับพนักงานเข้ามา
แต่ถึงอย่างนั้นก็ยังมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้น ทำให้ไม่สามารถรู้ได้เลยว่าการฝึกอบรมที่จัดขึ้นจะได้ผลตามเป้าหมายที่ตั้งไว้หรือไม่
Derek จึงกล่าวว่าในหลายๆ บริษัท ‘มีการอบรมที่ไม่ใช่การอบรม’ บริษัทหลายๆ แห่งใช้แค่คลิปวิดีโอบรรยายในการอบรม และอีกหลายๆ วิธีที่ไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่านี้ควร
ดังนั้น VR จึงอาจจะเป็นอีกหนึ่งวิธีที่ทำให้การอบรมมีประสิทธิภาพมากขึ้น และทำให้ผู้รับการอบรมได้แสดงความสามารถของตัวเองออกมามากขึ้น
การจำลอง ฝึกฝน และทำซ้ำ
Derek ได้กล่าวไว้ว่า การจำลอง ฝึกฝน และทำซ้ำ เป็นเรื่องสำคัญ
การฝึกอบรมด้วย VR เป็นการฝึกที่ทำให้สามารถใช้การฝึกอบรมแบบนี้ได้ทุกที่ทุกเวลาในคุณภาพเดียวกัน และยังเป็นการฝึกที่ทำให้พนักงานมีความมั่นใจตอนเริ่มทำงานจริงและทำงานได้เร็วยิ่งขึ้น
ประสิทธิภาพของ VR โดยอิงคําพูดจาก เล่าจื๊อ
เล่าจื๊อ นักปราชญ์ชาวจีนได้กล่าวไว้ว่า :
ฉันได้ยินแล้วลืม
ฉันเห็นและจำได้
ฉันทำและเข้าใจ
เมื่อคนเราเรียนรู้บางสิ่ง ถ้าเราเพียงแค่ฟัง เราก็จะลืมเรื่องนั้นไปในเวลาไม่นาน ถ้าเพียงแค่ดูก็แค่จำได้แต่ไม่ได้เข้าใจ การจะเข้าใจถึงวัตถุประสงค์ของเรื่องนั้นจริงๆ เราต้องเริ่มด้วยการลงมือทำและเราจะเข้าใจเรื่องนั้นอย่างถ่องแท้
ในการฝึกอบรมก็เช่นเดียวกัน ไม่ใช่แค่ฟัง หรือดูอย่างเดียว ควรลงมือปฏิบัติด้วยตนเองเพื่อให้เข้าใจกระบวนการของงานได้มากยิ่งขึ้นด้วย
ผลลัพธ์ที่ได้จากการฝึกอบรม
การฝึกอบรมพนักงานนั้นมีหลายวิธี ไม่ว่าจะเป็น การสัมมนา การอบรมผ่านวิดีโอ หรือการอบรมแบบตัวต่อตัว
ถ้าอบรมด้วยการบรรยายหรือผ่านวิดีโอ เมื่อไปปฏิบัติงานจริง ผลลัพธ์ที่ได้อาจจะไม่ได้มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร อาจจะยังมีบางเรื่องที่พนักงานไม่เข้าใจและไม่สามารถแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้
อีกด้านหนึ่ง หากอบรมด้วย OJT (On The Job Training) หรือฝึกแบบตัวต่อตัว ประสิทธิภาพในการทำงานจริงอาจจะสูงแต่ต้องเสียค่าใช้จ่ายและเวลามาก
ในบางครั้ง บริษัทจำเป็นต้องตัดสินใจว่าจะเลือกลดค่าใช้จ่ายในการอบรม หรือเลือกที่จะจัดอบรมพนักงานให้ดีที่สุดแทน หากตัดสินใจได้แล้วก็นำวิธีที่ได้ไปกำหนดวิธีฝึกอบรมที่เหมาะสมกับบริษัทของตัวเองต่อไป
VR เหมาะสมกับการฝึกอบรมในปัจจุบันนี้
Derek บอกว่า VR จะเข้ามามีบทบาทในการฝึกอบรมพนักงานมากขึ้น เพราะเชื่อว่าการอบรมที่ดี ต้องมีค่าใช้จ่ายน้อยแต่ได้ผลลัพธ์ดี
ดังนั้น VR จึงเป็นสิ่งที่ตอบโจทย์ที่สุดในการจัดการฝึกอบรมที่สามารถกำหนดค่าใช้จ่ายและให้ผลลัพธ์แก่พนักงานจำนวนมากในเวลาเดียวกันได้
เหมือนกับคำกล่าวของเล่าจื๊อ ที่ให้เน้นการปฏิบัติจริงมากกว่าฟัง หรือดูจากทฤษฎี เพียงอย่างเดียว
ตัวอย่างของบริษัทที่ใช้ VR
เมื่ออ่านมาถึงตรงนี้หลายๆ คนคงได้เห็นข้อดีของการใช้ VR ในการอบรมพนักงานมากขึ้น เราจึงอยากแนะนำบริษัทที่ในปัจจุบันได้เริ่มนำ VR เข้ามาใช้จริงกันบ้างแล้ว
Walmart
Walmart บริษัทค้าปลีกขนาดใหญ่ในสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกได้ติดตั้ง แว่น VR Oculus Go กว่า 17,000 ตัวเพื่อใช้ในการฝึกอบรมพนักงานใหม่ หรือฝึกให้พนักงานสามารถรับมือกับลูกค้าในสถานการณ์ฉุกเฉินได้ เป็นต้น
การจำลองสถานการณ์ต่างๆให้พนักงานได้เรียนรู้วิธีทำงาน จะทำให้เมื่อถึงเวลาจริง พนักงานจะสามารถแก้ไขปัญหาตรงหน้าได้รวดเร็วขึ้น เช่น หากเจอสถานการณ์ที่มีลูกค้าเยอะ ควรจะแก้ไขปัญหาตรงหน้าอย่างไร เป็นต้น
KFC
KFC ได้มีการทำเนื้อหาที่ใช้ใน VR สำหรับการฝึกอบรมพนักงานโดยเฉพาะ เพื่อให้พนักงานที่เข้ามาใหม่ได้เรียนรู้สูตรและวิธีทอดไก่ของ KFC ได้อย่างถูกต้อง
นอกจากนั้นยังใช้เกมส์ให้พนักงานได้เล่นในการฝึกอบรมอีกด้วย โดยในเกมส์ ถ้าพนักงานคนไหนทอดไก่ออกมาไม่ตรงตามสูตรก็จะไม่ได้ออกจากห้อง โดยที่ภายในห้องจะตกแต่งด้วยรูปภาพของผู้พันแซนเดอส์ (ผู้ก่อตั้ง KFC) และมีบรรยากาศที่น่าขนลุก จนอาจจะทำให้พนักงานที่ยังทอดไก่ตามสูตรไม่ได้ สติลอยกันเลยทีเดียว
เรียกได้ว่าเป็นการฝึกที่เต็มไปด้วยการเอนเตอร์เทนและมีความกดดันพอสมควร
JetBlue
สายการบินราคาประหยัดเจ็ตบลู แอร์เวย์ก็เป็นอีกหนึ่งบริษัทที่ได้นำเทคโนโลยี VR เข้ามาปรับใช้ในการฝึกอบรม
โดยปกติงานในสายการบินจะต้องมีการฝึกซ้อมจริงอยู่แล้ว แต่บางครั้งในการฝึกช่างซ่อมบำรุงอากาศยานก็เน้นไปที่การฝึกด้วยทฤษฏีมากจนเกินไป จนเหมือนเป็นการฝึกอบรมที่ให้ผู้อบรมได้แต่นั่งฟังเพียงอย่างเดียว
ดังนั้นทางสายการบินจึงได้นำ VR เข้ามาปรับใช้เพื่อทำให้ผู้เข้ารับการฝึกได้เข้าใจถึงการทำงานและหน้าที่ของตนเองมากขึ้น
East Japan Railway Company
East Japan Railway Company เองก็มีการนำเทคโนโลยี VR เข้ามาใช้กับฝึกอบรมของพนักงาน
โดยให้พนักงานได้ลองฝึกรับมือกับสถานการณ์ฉุกเฉินต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นในการทำงานได้ อย่างเช่น อุบัติเหตุหรือผลกระทบจากภัยพิบัติต่างๆ เป็นต้น
เมื่อได้ลองฝึกผ่านโลกเสมือนจริงแล้ว ถึงเวลาไปเจอเหตุการณ์จริง จะทำให้พนักงานมีสติและสามารถหาทางรับมือแก้ไขปัญหาได้เร็วยิ่งขึ้น
Human Life Care
บริษัท Human Life Care เองก็ได้นำเทคโนโลยี VR เข้ามาใช้ในการฝึกอบรมเพื่อดูแลคนไข้
โดยเฉพาะในการฝึกรับมือกับสถานการณ์เสี่ยงที่จะเกิดในผู้สูงอายุ เพื่อให้ผู้ดูแลได้สามารถแก้ไขปัญหาได้อย่างทันท่วงทีและเป็นไปอย่างราบรื่น
ฝึกฝนจริงด้วย VR
การนำ VR เข้ามาปรับใช้กับการทำงาน จะทำให้ได้ผลลัพท์ที่แตกต่างจากการฝึกอบรมแบบอื่นแน่นอน
โดยเฉพาะเมื่อนำมาใช้กับการทำงานที่มักจะเกิดเหตุการณ์ไม่คาดคิดขึ้น เพราะในการทำงานจริง คงไม่มีใครสามารถฝึกฝนซ้ำๆ จนเข้าใจได้ แต่ด้วยเทคโนโลยี VR จะมาแก้ปัญหานั้น และทำให้พนักงานสามารถฝึกฝนรับมือกับเหตุการณ์ต่างๆได้ดียิ่งขึ้นไม่มากก็น้อย