Search
Close this search box.

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult : บี – อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult : บี - อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN

หลายคนในวงการ HR อาจจะคุ้นเคยกับคุณ บี – อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN กันอยู่แล้ว รวมทั้ง HREX.asia เองก็มีบทสัมภาษณ์เขามาหลายต่อหลายครั้ง ในฐานะที่เขาคือหนึ่งในผู้เชี่ยวชาญด้านทรัพยากรบุคคลที่มีบทบาทโดดเด่นในไทย

ทว่าบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ HREX มิได้ต้องการพูดคุยถึงเทคนิคหรือกลยุทธ์ต่าง ๆ ในการบริหารคนและองค์กร เพราะสิ่งเหล่านั้นคุณบีได้ให้สัมภาษณ์อยู่บ่อยครั้ง ทั้งยังเผยแพร่ความรู้ให้อ่านฟรีเป็นประจำในเพจ HR – The Next Gen

วันนี้เราจะมาเจาะลึกถึงเส้นทางการเดินทางในโลกแห่ง HR Consult ของเขากัน ตั้งแต่ก้าวแรกในเส้นทางอาชีพนี้ จนถึงการเป็นที่ปรึกษาชั้นนำในปัจจุบัน รวมถึงมุมมองที่เขามีต่อวงการ HR Consult ที่กำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในยุคดิจิทัล

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult ของคุณ บี – อภิชาติ ขันธวิธิ จะเป็นอย่างไร ติดตามได้จากบทสัมภาษณ์นี้

Contents

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult : บี - อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN

ทราบมาว่าคุณจบคณะเศรษฐศาสตร์ แต่อยากรู้ HR เป็นอาชีพในฝันของคุณไหม​ ?

อภิชาติ: ไม่เคยคิดเลยครับ (หัวเราะ) ตอนนั้น HR ไม่ใช่อาชีพที่มองไว้เลย เอาจริง ๆ สมัยนั้นไม่มีใครรู้จัก HR อย่างชัดเจนว่าเป็นงานอะไร เราไม่มีภาพในหัวว่าตำแหน่งนี้คืออะไร ผมเรียนเศรษฐศาสตร์มา ซึ่งในหัวก็มีแค่สายการเงิน การธนาคาร หรือการบริหารธุรกิจ อาชีพ HR ไม่เคยอยู่ในลิสต์ของผมเลย

แต่พอจบปริญญาตรีประมาณปี 2547-2548 เป็นช่วงหลังวิกฤตเศรษฐกิจต้มยำกุ้ง ทุกคนกังวลเรื่องหางาน ผมก็เหมือนกัน ตอนนั้นสมัครงานหลายที่ จนสุดท้ายเลือกบริษัทที่ให้เงินเดือนเยอะที่สุด ซึ่งงานแรกก็เป็นงานจัดการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ แทบไม่เกี่ยวกับเศรษฐศาสตร์ที่ผมเรียนมาเลย แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ผมเข้าสู่วงการ HR

 

จากจุดเริ่มต้นตรงนั้น คุณเริ่มเดินทางเข้าสู่เส้นทาง HR Consult ได้อย่างไร ?

อภิชาติ: มันเป็นกระบวนการที่ค่อยเป็นค่อยไปครับ หลังจากทำงานกองทุนสำรองเลี้ยงชีพได้ประมาณสองปี ผมเริ่มได้มีโอกาสทำงานเกี่ยวกับโครงสร้างเงินเดือน (Salary Structure) แล้วก็มาทำเรื่อง Performance Management System ซึ่งเป็นช่วงที่ผมเริ่มรู้จักฟังก์ชั่นของ HR Consult

ตอนนั้นบริษัทจ้าง HR Consult จากภายนอกเข้ามาช่วยจัดทำเรื่องนี้ครับ ทำให้ผมได้ทำงานร่วมกับทีม Consult จากภายนอก แล้วพอเห็นเขาตอบคำถามทุกอย่างได้ ทั้งยังสร้างความเชื่อมั่น (Trust) ให้กับองค์กรได้เป็นอย่างดี ผมเลยเริ่มมองว่างานนี้เท่มาก พวกเขามีภาพลักษณ์เป็นมืออาชีพมาก ๆ ในสายตาผม ผมเลยรู้สึกว่าตำแหน่ง HR Consult นั้นน่าสนใจ

หลังจากนั้นผมก็ยังทำงานในสาย HR Corporate มาอีกสิบปี แต่ก็ยังจำภาพ HR Consult เหล่านั้นได้ จนในที่สุดหลังจากทำงานในองค์กรต่าง ๆ มาประมาณ 13-14 ปีก็ตัดสินใจลาออกมาเริ่มต้นธุรกิจ HR Consult ของตัวเอง ซึ่งก็คือ QGEN นี่แหละครับ

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult : บี - อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN

QGEN เริ่มต้นได้ยังไง ?

อภิชาติ: จริง ๆ แล้ว QGEN เริ่มต้นจากความต้องการของผมที่จะเป็นเจ้าของธุรกิจ อย่างที่บอก ผมไม่ได้คิดว่าอยากจะเป็น HR ตั้งแต่แรก แต่ผมอยากเป็นนักธุรกิจ มีบริษัทของตัวเอง ผมเลยเริ่มมองหาว่า เรามีความสามารถอะไรที่จะใช้สร้างธุรกิจได้ และด้วยประสบการณ์ที่สะสมในสาย HR มันเป็นจังหวะที่เหมาะสมพอดีที่จะแยกออกมาทำบริษัท HR Consult ของตัวเองครับ

ตอนเริ่มต้น QGEN เป้าหมายหลักของเราคืออยากจะสร้าง Consult ที่ไม่ได้แค่ให้คำแนะนำเฉย ๆ ผมอยากเห็นการเปลี่ยนแปลงจริงในองค์กรที่เราเข้าไปช่วย ไม่ใช่แค่ทำคู่มือให้เพียงอย่างเดียว แต่ต้องทำงานจับมือไปด้วยกันจนกว่าผลลัพธ์จะเกิดขึ้นจริง

เพราะระหว่างทางที่ผมทำงานในสาย Consult กับบริษัทต่าง ๆ เราได้เห็นทั้งด้านบวกและด้านลบของงานที่ปรึกษา หนึ่งในปัญหาที่เจอบ่อยคือ HR Consult บางแห่งให้คำแนะนำหรือ Guide Book เพียงแค่รูปเล่มสวยงาม แต่ไม่เข้าใจบริบทจริง ๆ ขององค์กรนั้น ๆ ทำให้หลายครั้งการจ้าง Consult แต่ไม่ประสบความสำเร็จ เพราะสิ่งที่นำเสนอไม่ได้ตรงกับความต้องการที่แท้จริงขององค์กร

 

จากวันนั้นจนมาถึงวันนี้ Vision ของ QGEN เปลี่ยนไปไหม ?

อภิชาติ: จริง ๆ Vision ของเราปรับเปลี่ยนไปตามสถานการณ์ครับ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือเราต้องการสร้างบริษัทให้เกิดขึ้นจริงและสามารถสร้างรายได้ในช่วง 2-3 ปีแรก เพราะมันไม่ง่ายเลยในการเริ่มต้นธุรกิจ 

แต่สิ่งที่สำคัญกว่าคือ Mission ของเรา เราต้องการเป็นบริษัท Consult ที่เข้าไปแล้วองค์กรต้องเกิดการเปลี่ยนแปลง ถ้าไม่มีการเปลี่ยนแปลง เราถือว่างานยังไม่สำเร็จ ซึ่งเราก็ไม่อยากทำงานที่ไม่เกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจนนะครับ

แนวทางของเราจึงไม่ใช่แค่การให้คำแนะนำหรือทำคู่มือให้กับองค์กร แต่เราลงมือทำจริง จับมือกับพนักงานเลยครับ เดินไปด้วยกันจนเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างแท้จริง เราไม่ได้ให้คำแนะนำแบบ “One Size Fits All” เพราะปัญหาและบริบทของแต่ละองค์กรไม่เหมือนกัน การทำงานของเราจึงต้องปรับเปลี่ยนตามความต้องการของลูกค้าในแต่ละสถานการณ์เสมอ

ผมมองว่าการทำ Consult ไม่ต่างอะไรจากหมออายุรกรรมที่ต้องวินิจฉัยก่อนว่าองค์กรป่วยด้วยอะไร บางครั้งเขามาหาเราแล้วบอกว่าต้องการผ่าตัด แต่เมื่อวินิจฉัยแล้วอาจพบว่า เขาแค่ต้องปรับวิธีการทำงานบางอย่าง หรือพักผ่อนบ้างก็พอ สิ่งที่สำคัญคือต้องเข้าใจปัญหาจริง ๆ ก่อนแล้วค่อยแก้

สุดท้ายแล้ว สิ่งที่เราวัดความสำเร็จของบริษัทไม่ได้อยู่ที่การเติบโตของรายได้เพียงอย่างเดียว แต่เราวัดจากการเห็นความเปลี่ยนแปลงในองค์กรที่เราได้มีส่วนร่วม 

นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับ QGEN

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult : บี - อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN

อะไรคือปัญหาที่องค์กรเจอบ่อยที่สุด ?

อภิชาติ: ปัญหาหลักที่เจอเยอะที่สุดคือเรื่อง Performance ที่ไม่ตรงกับสิ่งที่องค์กรต้องการ ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหานี้จะเกิดจาก Middle Management หรือผู้จัดการระดับกลางที่ต้องแบกรับทั้งงานจากข้างบนและความคาดหวังจากทีมข้างล่าง พวกเขาเป็น Key Level ที่สำคัญมาก แต่ก็ต้องทำงานหนักจนบางครั้งก็เกินพลังไป 

Middle management นี่เปรียบเหมือนกัปตันทีมฟุตบอลที่ต้องทั้งเล่นและสั่งการในสนามเอง เขาไม่สามารถพลาดได้ และต้องรับผิดชอบทั้งทีมครับ

 

มีข้อแนะนำสำหรับ Middle Management ที่กำลังเผชิญหน้ากับภาวะนั้นอย่างไรบ้าง​ ?

อภิชาติ: ปกติเราจะเริ่มคุยกับผู้บริหารระดับสูงก่อนครับ ทั้ง CEO และ Director เพราะเราต้องได้รับการสนับสนุนจากพวกเขาก่อน ถ้าผู้บริหารไม่เห็นด้วย การที่เราจะเข้าไปบอกให้ Middle Manager เปลี่ยนแปลงก็ไม่มีทางเกิดขึ้นได้ เราจะอธิบายให้เห็นภาพว่าปัญหาที่เกิดขึ้นคืออะไร ? CEO เห็นด้วยไหม ? หรือผู้บริหารระดับสูงเห็นปัญหานี้เหมือนกันไหม ?

ในบางบริษัท การตัดสินใจอาจไม่ได้มาจาก CEO โดยตรง ซึ่งผมจะขอมี Session หนึ่งเพื่อพูดคุยกับ CEO เสมอ เพราะเราต้องการพลังจากเขาในการสื่อสารสิ่งที่บริษัทกำลังจะทำ และให้เขาเป็นผู้นำในการชี้นำทิศทาง 

หลังจากนั้นเราก็จะเข้าไปคลุกคลีกับ Manager ในแต่ละส่วน คุยแบบละเอียดว่าสิ่งที่เรามาเพื่อช่วยเขาคืออะไร ให้เขา Get Insight ร่วมกับเราโดยตรง

นอกจากนี้ เราจะพยายามไม่เพิ่มภาระให้ Middle Manager โดยไม่จำเป็น เช่น งานที่ต้องทำเอกสารเยอะ ๆ หรืองานที่กินเวลามากเกินไป เราจะหาทางทำให้กระบวนการง่ายขึ้น ใช้เครื่องมือที่ช่วยเขาให้มากที่สุด บางครั้งเราแค่ขอเวลาสั้น ๆ เพื่อบอกภาพรวมให้ชัด แล้วเราก็ลงมือทำให้เขา เพื่อให้กระบวนการเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นอย่างราบรื่น และไม่ติดขัดกับงานประจำของเขา

 

จากการทำงานอยู่ในโลกของ HR Consult มานาน คุณมองเห็นการเปลี่ยนแปลงอะไรในวงการนี้บ้าง ?

อภิชาติ: มีการเปลี่ยนแปลงเยอะมากครับ เมื่อสิบกว่าปีที่แล้ว งาน Consult ยังเน้นเรื่องการให้คำปรึกษาเชิงทฤษฎีเป็นหลัก แล้วบริษัทต่าง ๆ ก็จะจ้าง Consult มาเพื่อให้คำแนะนำและเขียนแผนให้

แต่ปัจจุบันองค์กรต้องการมากกว่านั้น เขาต้องการเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน และอยากได้ Consult ที่สามารถลงมือทำจริง ๆ ด้วย ไม่ใช่แค่การเสนอแผนแล้วจบ แต่ต้องช่วยเขา Implement และขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงในองค์กรไปด้วยกัน

นอกจากนี้ การใช้ข้อมูล (Data) และการวิเคราะห์เชิงลึกก็มีบทบาทมากขึ้นครับ ทุกวันนี้ในงาน HR เราใช้ข้อมูลในการวิเคราะห์ปัญหาขององค์กร เช่น ดู Turnover Rate, Performance Data หรือ Satisfaction Score เพื่อวิเคราะห์ว่าปัญหาอยู่ที่ไหน และพอเรามีข้อมูล มันทำให้การวินิจฉัยปัญหาแม่นยำขึ้น และนำไปสู่การแก้ปัญหาที่ตรงจุดมากกว่าแต่ก่อน

 

คุณคิดว่าอะไรคือสิ่งสำคัญที่สุดที่คนทำงาน HR Consult ควรมี ?

อภิชาติ: สิ่งสำคัญที่สุดที่ HR Consult ต้องมีคือความเข้าใจในบริบทของธุรกิจ 

HR Consult ที่เก่ง ไม่ใช่แค่รู้วิธีแก้ปัญหาในระดับคน แต่ต้องเข้าใจเป้าหมายและกลยุทธ์ของธุรกิจด้วย เราต้องถามตัวเองเสมอว่า งาน HR ที่เราทำมันช่วยให้บริษัทบรรลุเป้าหมายได้อย่างไร ? ฉะนั้นงานของเราต้องไม่ใช่แค่ “แก้ปัญหาคน” แต่ต้องเชื่อมโยงกับความสำเร็จขององค์กรในภาพใหญ่ให้ได้

การเดินทางในโลกแห่ง HR Consult : บี - อภิชาติ ขันธวิธิ QGEN

ทุกวันนี้คุณภูมิใจกับงาน Consult ของตัวเองระดับไหน ?

อภิชาติ: ความภูมิใจในงาน Consult คือการได้เห็นบริษัทที่เราทำงานด้วยพัฒนาและดีขึ้นครับ 

แน่นอนว่าใน 7-8 ปีที่ทำมา เรามีทั้งโครงการที่ประสบความสำเร็จและที่ไม่สำเร็จ ซึ่งสัดส่วนมันก็ปะปนกันไป แต่สิ่งที่ทำให้ผมภูมิใจไม่ใช่แค่ความสำเร็จในทันทีที่ดีลจบ แต่มันเป็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นหลังจากนั้น เมื่อเราส่งมอบเครื่องมือหรือวิธีการให้กับองค์กร 

บางทีผลลัพธ์อาจจะยังไม่ชัดเจนในวันแรก แต่เมื่อเวลาผ่านไป เราจะเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลง นั่นแหละครับที่ทำให้เรารู้สึกว่าความพยายามของเรามีประโยชน์จริง ๆ

อีกจุดหนึ่งที่บอกถึงความสำเร็จคือ การที่ลูกค้ากลับมาจ้างเราอีกครั้งเพื่อทำโปรเจกต์ใหม่หรือปรับปรุงเพิ่มเติม ซึ่งเป็นการยืนยันว่าความร่วมมือของเรากับองค์กรนั้นสร้างประโยชน์ได้จริง 

งาน Consult มักไม่ง่ายครับ เพราะถ้าองค์กรทำได้เอง เขาคงไม่จ้างเรา งานที่เข้ามาจึงเป็นงานที่ท้าทายเสมอ และเมื่อเราสามารถช่วยให้เขาผ่านความท้าทายเหล่านั้นได้ มันก็กลายเป็นความภูมิใจของทั้งทีม QGEN ครับ

 

ปัจจุบันที่มีการเปลี่ยนแปลงเร็วมาก โดยเฉพาะเรื่องเทคโนโลยี AI ที่เข้ามามีบทบาทมากขึ้น คุณคิดว่างาน HR Consult จะพบความท้าทายอะไรบ้าง​ ?

อภิชาติ: AI เป็นสิ่งที่ต้องจับตามองเลยครับ เพราะถ้า HR Consult ยังคงทำงานในบทบาทของ Advisor ที่ให้แค่คำแนะนำอย่างเดียว AI จะเข้ามาทำแทนแล้ว

แต่สิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้คือการเข้าใจบริบทที่ซับซ้อนขององค์กรแต่ละแห่ง เราต้องหาจุดแข็งในตัวเราเองที่ AI ไม่สามารถแทนที่ได้ เช่น การแก้ปัญหาเชิงลึก การสร้างความเชื่อมั่น และการช่วยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในองค์กรอย่างแท้จริง

สิ่งที่ผมเห็นเป็นโอกาสคือ ในทุก ๆ การเปลี่ยนแปลงจะมีความท้าทายใหม่ ๆ เสมอ ถ้าเราสามารถคาดการณ์สิ่งที่จะเกิดขึ้นก่อนและเตรียมพร้อมให้ลูกค้า เราจะสามารถสร้างความแตกต่างและก้าวนำหน้าคู่แข่งได้แน่นอน

 

ในฐานะไอดอลของ HR รุ่นใหม่หลาย ๆ คน คุณมีคำแนะนำอะไรไหมสำหรับคนที่อยากเริ่มต้นธุรกิจ HR Consult ของตัวเอง ?

อภิชาติ: อย่าเลยครับ หาอย่างอื่นทำเถอะ (หัวเราะ) 

ถ้าจะเริ่มต้นธุรกิจ HR Consult สิ่งที่สำคัญมากคือคุณต้องมีความรู้ในเรื่องการบริหารธุรกิจด้วย ไม่ใช่แค่เก่งในด้าน HR เพราะถ้าคุณตั้งบริษัท คุณต้องรู้จักการเงิน รู้จักการตลาด และรู้จักการบริหารทีม ถ้าคุณดูงบการเงินไม่เป็น คุณอาจเจอปัญหาที่ทำให้ธุรกิจไปต่อไม่ได้

นอกจากนั้น คุณต้องรู้วิธีสร้างความเชื่อถือและทำให้ลูกค้ามองเห็นคุณค่าในสิ่งที่คุณทำ เพราะงาน HR Consult ไม่ใช่แค่ทำให้ทุกคนพอใจ แต่ต้องสร้างผลลัพธ์ที่ชัดเจนและยั่งยืนได้ด้วยครับ (ยิ้ม)

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง