Search
Close this search box.

คุยกับ ภัทรเสฏฐ หนุนภักดี จาก LinkedIn Thailand แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่ไม่ใช่แค่ช่วยคนหางาน

คุยกับ ภัทรเสฏฐ หนุนภักดี จาก LinkedIn Thailand แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่ไม่ใช่แค่ช่วยคนหางาน

เชื่อได้ว่า ไม่มี HR คนไหนไม่ไม่รู้จัก LinkedIn แพลตฟอร์มออนไลน์ที่เต็มไปด้วยผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายวงการ และเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างเครือข่ายอาชีพ ทั้งพื้นที่หางานหรือการรับสมัครพนักงาน 

ทว่าสิ่งที่หลายไม่รู้ก็คือ แท้จริงแล้ว LinkedIn เป็นมากกว่านั้น นำมาถึงคำถามสำคัญว่าเราใช้งานมันอย่างเต็มที่และมีประสิทธิภาพแล้วหรือยัง ?

“หลายคนอาจจะรู้จัก LinkedIn แต่ไม่เข้าใจทุกมุม บางคนคิดว่าใช้ LinkedIn แค่ตอนหางาน แต่จริง ๆ แล้ว LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสสำหรับทุกคน”

เช่นเดียวกับบทสัมภาษณ์ครั้งนี้ ที่ HREX มีโอกาสพูดคุยกับ คุณ น็อตตี้ – ภัทรเสฏฐ หนุนภักดี Thailand Country Team Lead @ LinkedIn จากการส่งข้อความไปชักชวนผ่าน LinkedIn

บทสัมภาษณ์นี้ไม่เพียงแสดงถึงประสบการณ์การทำงานของเขา แต่รวมถึงเส้นทางชีวิต และความคิดในฐานะ Leader ที่ต้องนำทีมให้ Linkedin ประสบความสำเร็จในไทย พร้อมคำแนะนำสำหรับผู้ที่ต้องการใช้งาน LinkedIn ให้เกิดประโยชน์สูงสุด

อย่ารอช้า อ่านรายละเอียดจากบทสัมภาษณ์นี้ได้เลย !

ทราบมาว่าคุณเริ่มทำงาน LinkedIn ในตำแหน่ง Relationship Manager และค่อย ๆ เติบโตจนกลายเป็น Country Head เล่าให้ฟังหน่อยว่าเส้นทางการทำงานของคุณเป็นอย่างไรบ้าง​ ?

ภัทรเสฏฐ: ต้องบอกว่าก่อนหน้าทำงานที่นี่ ผมทำงานองค์กรขนาดใหญ่ (Corporate) มาโดยตลอด ซึ่งประมาณ 10 ปีที่แล้ว ผมตั้งเป้าหมายด้วยความทะเยอทะยาน (Ambitious) ว่า อยากทำงานในองค์กรท็อป ๆ ระดับโลกในกลุ่มเทคโนโลยี ผมจึงมองไปที่บริษัทเทคโนโลยีที่มีชื่อเสียงหลาย ๆ ที่รวมถึง LinkedIn

ช่วงนั้นผมทำงานที่เว็บไซต์หางานเจ้าหนึ่ง ทำงานอยู่หลายปีเหมือนนะ ก่อนที่จะเริ่มสนใจด้าน AdTech ก็เลยลาออกไปทำงานกับ AdTech สตาร์ทอัปจากแคนาดา ตอนนั้นนายเก่าผมยังสงสัยว่า ผมจะลาออกไปทำไม เพราะทำงานที่เว็บไซต์หางานก็มั่นคงมากในเมืองไทยนะ แต่ผมต้องการได้ความรู้ทักษะเพิ่มเติมครับ

ผมทำงานที่บริษัท AdTech นั้นอยู่ประมาณสามถึงสี่ปี เริ่มตั้งต้นใหม่จากศูนย์ หลังจากได้ประสบการณ์ด้าน Business Development มาแล้วก็เริ่มคุมทีม Sales ที่นั่นด้วย ทำงานประมาณ 3-4 ปีก็รู้สึกว่า ถึงเวลาแล้วที่ผมจะไปต่อ ตอนนั้นอายุก็ประมาณ 30 กลาง ๆ แล้ว ก็มีความฝันอยากทำงานในต่างประเทศ

ผมเริ่มโฟกัสในการสมัครงานที่สิงคโปร์ เพราะไม่อยากไปไกลครอบครัวมากเกินไป ก็มีเพื่อน ๆ พี่ ๆ หลายคนคอยซัพพอร์ตเราในการส่งใบสมัครไปยังที่ต่าง ๆ แต่สุดท้ายก็เหมือนว่าดวงเราเหมาะกับ LinkedIn (หัวเราะ)

จำได้ว่าตอนที่ LinkedIn ประกาศเปิดตำแหน่งงานสำหรับ Thai Speaker มีคนสมัครเยอะมาก ผมก็เลยตัดสินใจส่งข้อความไปหาคนที่โพสต์ตำแหน่งงานนั้น บอกเขาว่าให้ช่วยดูโปรไฟล์เราหน่อย ถ้าคิดว่าเราเหมาะสม ผมก็จะกดสมัครงาน แล้วเขาก็ติดต่อกลับมาทันทีจากสิงคโปร์ให้เราสมัคร และให้เราเข้าสู่กระบวนการสัมภาษณ์ทันที จนผมได้เข้ามาทำงานกับ LinkedIn ครับ

มันง่ายแค่ส่งข้อความไปหาคนประกาศหางานใน LinkedIn อย่างนั้นเลยเหรอ ?

ภัทรเสฏฐ: จุดเริ่มต้นมันเป็นแบบนั้นจริง ๆ เวลาเราสมัครงานสิ่งสำคัญคือเราจะทำยังไงให้เราโดดเด่นจากผู้สมัครคนอื่น ๆ ในกรณีนี้คือคนทั่วไปจะกดสมัครปกติ แต่น้อยคนที่ดูว่าใครเป็นคนโพสต์ตำแหน่งงานนั้น แล้วกล้าที่จะส่งข้อความไปหาเขา

คือแพลตฟอร์ม LinkedIn มีความพิเศษตรงที่เราไม่จำเป็นต้องเป็นเพื่อนกันเหมือนโซเชียลมีเดียอื่น ทำให้เราสามารถคุยกับคนบน Platform ที่ไม่รู้จัก ถ้าการสนทนานั้นมีความหมายและสุภาพ แม้ว่าเราจะยังไม่ได้มีโปรเจกต์อะไรร่วมกันตอนนั้น แต่ก็สามารถ  Keep in Touch กันไว้ได้ 

พอได้เข้ามา LinkedIn เป็นอย่างไรบ้าง เหมือนฝันที่เราคิดไหม ​?

ภัทรเสฏฐ: ตอนเข้ามา LinkedIn วันแรก ผมเข้ามาในตำแหน่งเล็ก ๆ อย่าง Relationship Manager ซึ่งก็คือเซลล์คนหนึ่ง ผมเข้ามาพร้อมกับความกดดัน เพราะเราย้ายข้ามประเทศมา จากที่เคยทำงานในบริษัทที่มีคนไทยทั้งหมด มาอยู่ที่ LinkedIn ในสิงคโปร์ ซึ่งตอนนั้นมีพนักงานคนไทยประมาณ 4 คน และทั่วโลกก็น่าจะไม่เกิน 10 คน ในตอนแรกผมก็ต้องปรับตัวเยอะ แต่ผมรู้สึกว่ามันท้าทายและสนุกไปพร้อมกัน ได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองในหลาย ๆ ด้าน และก็ทำให้ผมเติบโตมาจนถึงตำแหน่งปัจจุบันครับ

ส่วนตัวผมมองว่า การได้ทำงานที่นี่คือเป้าหมายของเราอยู่แล้ว แต่ผมชอบพูดกับรุ่นน้องบ่อยๆ ว่า ‘เรามาไกลกว่าฝันแล้ว’ เพราะการได้ทำงานในบริษัทเทคต่างชาติมันเหมือนเป็นความฝัน แต่พอมองวันนี้ มันกลายเป็นโบนัสของเราในทุก ๆ วัน เราอยากทำให้มันดีขึ้นไปเรื่อย ๆ และความฝันมันก็ขยายไปเป็นเราอยากให้ LinkedIn สามารถช่วยเหลือคนไทยได้ ทำให้ผมรู้สึกว่ามันท้าทายมากขึ้นในแต่ละวัน

คุยกับ ภัทรเสฏฐ หนุนภักดี จาก LinkedIn Thailand แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่ไม่ใช่แค่ช่วยคนหางาน

การทำงานต่างประเทศมีกำแพงด้านภาษาไหม ?

ภัทรเสฏฐ: ข้อดีของ LinkedIn คือบริษัทมีคนหลายเชื้อชาติค่อนข้างหลากหลาย (Diverse) มาก ๆ เช่น อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม เวลาประชุมแต่ละครั้งจะเป็นประสบการณ์ใหม่ ใช้ภาษาอังกฤษล้วน ซึ่งผมสื่อสารได้แต่ก็มีความกดดันเพราะต้องสื่อสารกับคนเก่ง ๆ 

แต่ว่าทุกคนมีความ Open-minded ครับ ยอมรับความแตกต่าง ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา คำพูด หรือบุคลิกภาพ แรก ๆ อาจจะมี Culture Shock บ้าง แต่ไม่นานก็ปรับตัวเข้าหากันได้

จากวันแรกจนถึงวันนี้ คุณก้าวขึ้นมาเป็น  Thailand Country Team Lead ได้อย่างไร ?

ภัทรเสฏฐ: Journey ของผมใน LinkedIn มีช่วงขึ้น-ลงเยอะนะ ไม่ได้สวยหรูเหมือนที่มองจากโปรไฟล์ LinkedIn หรอก (หัวเราะ) จริง ๆ แล้วสำหรับผมมันเหมือนรถไฟเหาะ เช่น 6 เดือนแรกผมได้เป็น Rookie of the Year ทำให้ทุกอย่างดูง่ายไปหมด แต่ผมก็รู้ว่า วันหนึ่งจะมีวันแย่ ๆ เข้ามา เหมือนที่หัวหน้าเคยบอกผมว่า “One day I will have a bad day, one day is coming, but please trust me that I will do my best no matter what.”

ฉะนั้นตลอดการทำงาน 6 ปี ผมมีช่วงที่ขึ้นและลงครับ แต่สิ่งสำคัญคือเราต้องโฟกัสในสิ่งที่เราควบคุมได้ และยอมรับความเปลี่ยนแปลง เหมือนตอนแรกที่ LinkedIn ขายเฉพาะ Recruitment Product ต่อมาก็เริ่มขายเป็น Online Learning Platform ผมจึงต้องเรียนรู้เพิ่มขึ้น แถมยังยังเจอช่วงโควิดด้วย ทำให้มีการเปลี่ยนแปลงหลายครั้งใน 6 ปีนี้

ผมพยายามโฟกัสในสิ่งที่ควบคุมได้ และพยายามไม่ลงพลังงานกับในสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ เช่น การบ่นว่า “ทำไมบริษัทเป็นอย่างนี้” “ทำไมผลิตภัณฑฺ์เป็นอย่างนั้น” มันไม่ช่วยอะไร แถมทำให้เราเจ็บพร้อม ๆ กับเสียพลังงานอีกด้วย เราควรไปโฟกัสสิ่งที่ควบคุมได้มากกว่า นี่ทำให้เราสามารถโฟกัสถูกจุด และมีมุมมองในการทำงานที่ดีขึ้น

ซึ่ง Bad Day เกิดขึ้นได้ทั้งจากสิ่งที่เราควบคุมไม่ได้และจากความผิดพลาดของเราเอง บางครั้งเรามองย้อนกลับไปแล้วรู้สึกว่า เราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ เราต้องมีสติในการวิเคราะห์ว่าเกิดจากอะไร ถ้าเกิดจากเราเอง เราก็ควรเรียนรู้จากมัน เพราะความผิดพลาดเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่ถ้าเราทำผิดพลาดซ้ำ ๆ เราต้องเริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า “ทำไมถึงเป็นเช่นนั้น”

ในฐานะ Country Team Lead คุณคิดว่า Leader ที่ดีควรมีคุณสมบัติอย่างไร ?

ภัทรเสฏฐ: Leader ที่ดีควรมีคุณสมบัติหลัก ๆ 2 ข้อครับ

ข้อแรกคือต้องเป็นแรงบันดาลใจให้คนอื่นได้ หมายถึงว่าทำให้พวกเขาเห็นในสิ่งที่เขาอาจไม่เคยเห็น หรือทำให้เขามองตัวเองดีขึ้นและพัฒนาขึ้นจากตัวเขาเอง อย่างที่ LinkedIn ผมเชื่อว่าคนที่ทำงานที่นี่เก่งกันอยู่แล้ว มีโปรไฟล์ดี ๆ ทั้งนั้น แต่สิ่งที่สำคัญคือการที่ Leader ต้องทำให้เขารู้ว่าเขาต้องทำอะไร และพัฒนาทัศนคติให้ไม่ยอมแพ้เมื่อเจอสิ่งที่ยากหรือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้

ข้อที่สองคือ Leader ต้องทำในสิ่งที่ถูกต้อง ไม่จำเป็นต้องถูกใจใคร ความท้าทายของ Leader ใหม่ ๆ คือพวกเขามักอยากให้ทุกคนชอบ แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ การสนทนาที่ควรจะเป็น อาจไม่เกิดขึ้น

ดังนั้น Leader จึงต้องสร้างแรงบันดาลใจได้ และทำในสิ่งที่ถูกต้องโดยไม่กลัวที่จะถูกเกลียดครับ

ในเมื่อ LinkedIn มี Leader เก่ง ๆ มากมาย คุณได้เรียนรู้อะไรจาก Leader ของ LinkedIn บ้าง​ ?

ภัทรเสฏฐ: นอกเหนือจากเรื่อง Inspiration อีกสิ่งที่สำคัญมาก ๆ ที่ผมเรียนรู้คือการเชื่อใจ (Trust) คนที่ทำงานกับเรา และการเคารพ (Respect) คนอื่นครับ

Trust หมายถึงการเชื่อว่าทุกคนมีทักษะและประสบการณ์ที่เหมาะสมกับการทำงานที่ LinkedIn ครับ แต่เมื่อมีเรื่องไม่ดีเกิดขึ้น เราจะรักษาความเชื่อใจนั้นได้อย่างไร เพราะการรักษา Trust ได้นั้น ต้องมีความสามารถทางจิต (Mental) ที่แข็งแรงระดับหนึ่งครับ

ส่วนเรื่อง Respect คือ LinkedIn เป็นองค์กรที่เคารพเรื่อง Personal Life และ Work Life มาก ๆ นี่เป็นเหตุผลที่ทำให้ผมอยู่ที่นี่ได้นานครับ เพราะส่วนตัว Personal Life ผมเพิ่งมีลูกเล็กครับ ซึ่งก่อนมีลูก Leader ของ LinkedIn ก็ลงมาพูดคุยและถามเรื่อง Personal Life ของผมอย่างเป็นกันเเอง และพร้อมซัพพอร์ตให้ผมใช้เวลากับครอบครัวมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่แค่กับผมคนเดียวนะ แต่กับหลาย ๆ คนใน LinkedIn ด้วยครับ

ดังนั้นผมได้เรียนรู้เรื่อง Trust และ Respect ว่าต้องอยู่ในระดับสูงเลย โดยเฉพาะในช่วงเวลาที่ไม่ดี เราต้องเชื่อมั่น และเคารพคนที่ทำงานกับเราอย่างจริงใจ

LinkedIn Thailand ตอนนี้ทิศทางอย่างไร ?

ภัทรเสฏฐ: ทิศทางธุรกิจในบ้านเรา LinkedIn มีการเติบโตแบบสองหลัก (Double-Digit) ทุกปีครับ ทั้งในเรื่องรายได้และสมาชิก ซึ่งผมเชื่อว่า LinkedIn จะโตไปเรื่อย ๆ แต่ต้องโตในทางที่ถูกต้องด้วย

หนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ LinkedIn โตได้ คือเรื่องข้อมูล (Data) ครับ ซึ่งจริงๆ แล้วหลายคนอาจจะสับสนว่า LinkedIn เป็นบริษัทอะไรกันแน่ บางคนคิดว่าเป็น Staffing, Headhunter, Job Board หรือ Online Learning กันแน่ ? 

แต่จริงๆ แล้วหัวใจของ LinkedIn คือเป็น Data Company ครับ เราเริ่มเก็บข้อมูลมาตั้งแต่ 21 ปีที่ก่อน และใช้ข้อมูลเหล่านี้ช่วยองค์กรในการหาคนเข้ามาทำงาน

ส่วนในเมืองไทยเราต้องโตในทิศทางที่ถูกต้อง ข้อแรกคือ Data ต้องถูกต้อง โดยเรามีระบบและทีมที่โฟกัสในการ Cleansing Data และปกป้องข้อมูลอย่างรวดเร็ว รวมทั้งยังมีระบบที่สามารถรายงานและตรวจสอบโปรไฟล์ที่น่าสงสัยได้

จำนวนสมาชิกในไทยตอนที่ผมเริ่มทำงานเมื่อปี 2018 มีประมาณ 1.6 ล้านคน ตอนนี้เพิ่มเป็น 4 ล้านคนแล้ว เป็นการเติบโตแบบ Organic Growth ด้วย เราต้องขอบคุณองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นลูกค้าของเราที่ช่วยแนะนำให้นักศึกษาและคนทำงานรุ่นใหม่สร้างโปรไฟล์ใน LinkedIn

อีกปัจจัยหนึ่งคือความเข้าใจในการใช้แพลตฟอร์ม LinkedIn หลายคนอาจจะรู้จัก LinkedIn แต่ไม่เข้าใจทุกมุม บางคนคิดว่าใช้ LinkedIn แค่ตอนหางาน แต่จริง ๆ แล้ว LinkedIn เป็นแพลตฟอร์มที่สร้างโอกาสสำหรับทุกคน ไม่ใช่แค่โอกาสในการหางานนะ แต่รวมถึงโอกาสในการสร้างโปรเจกต์ร่วมกัน โอกาสทางเศรษฐกิจ หรือสร้างโอกาสอื่น ๆ ได้เสมอ 

ตอนนี้บริการของ LinkedIn มีอะไรบ้าง ?

ภัทรเสฏฐ: บริการหลักคือแพลตฟอร์มออนไลน์และ Data อีกบริการหนึ่งคือ Recruiting และทิศทางหลังจากนี้คือการพัฒนาคนผ่านแพลตฟอร์ม Online Learning ที่เราได้พัฒนาขึ้น 

หมายความว่า เราไม่ได้หยุดที่การหาคน แต่เราจะโฟกัสในการพัฒนาทักษะ  Re-skill Up-skill พนักงาน เพื่อให้พวกเขาพร้อมกับงานในอนาคต โดยเฉพาะในยุคของ AI

LinkedIn จะเข้ามาช่วยองค์กรในการพัฒนาคนในด้านทักษะ Future Job, Future Skill ผ่านคอร์สออนไลน์ที่เหมือนกับสตรีมิงวิดีโอเลยครับ แต่ LinkedIn เราผลิตเองเกือบทั้งหมด โดยเราจะดูข้อมูลจาก LinkedIn ว่ามีคนสนใจเรื่องอะไรบ้าง แล้วจะพัฒนาคอร์สที่เกี่ยวข้อง เช่น AI, Green Skills, และอื่น ๆ

แสดงว่าบริการ Online Learning กำลังจะเป็นตัวชูโรงใหม่ของ LinkedIn ในอนาคต

ภัทรเสฏฐ:  ใช่ครับ และน่าจะเป็นในอนาคต แต่บริการด้าน Recruiting ก็ยังคงมีอยู่เสมอนะ เพราะว่า Data คนทำงานเพิ่มขึ้นตลอดเวลา ซึ่งในปีนี้เรามีการใช้งาน AI Feature ไปแล้ว

ตอนนี้ LinkedIn ใช้เทคโนโลยีของ Microsoft ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของเรา แม้ว่าเราจะทำงานแยกกัน ซึ่ง Microsoft ถือหุ้นบริษัท OpenAI ถึง 49% ดังนั้นเราจึงได้นำเทคโนโลยีของ ChatGPT มาใช้ในทั้ง Microsoft Solution และ LinkedIn ด้วยครับ

ยกตัวอย่างด้าน Learning เรามี AI Coach ที่สามารถช่วยแนะนำการเรียนรู้ให้กับผู้ใช้งานได้ สมมติว่าเราไม่รู้ว่าจะเริ่มเรียนจากตรงไหน เราสามารถพิมพ์คุยกับ AI ว่า “อยากเป็น Data Scientist” แล้ว AI จะส่งคอร์สที่เหมาะสมมาให้ หรือถามเพิ่มเติมเพื่อเข้าใจความต้องการของเราให้ดียิ่งขึ้น

ตอนนี้เรามีคอร์สทั้งหมดประมาณ 18,000 คอร์สแล้วครับ ทั้ง Hard Skill และ Soft Skill ตั้งแต่การเขียนโปรแกรมเบื้องต้นไปจนถึง Advanced Python เลย หรือในด้าน Soft Skill ก็จะมี Leadership หรือธีการทำงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

เรียกว่าเรามีคอร์สที่ครอบคลุมหลายด้าน เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ใช้งานครับ

ความที่ Linkedin เติบโตมากขึ้นเรื่อย ๆ อยากรู้ว่าทิศทางหรือแนวโน้มในอนาคตของการใช้เครือข่ายใน LinkedIn จะเป็นอย่างไร ?

ภัทรเสฏฐ: ผมมองว่าการเชื่อมโอกาสจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ครับ คนไทยเราเองสามารถใช้ LinkedIn เป็นการสร้างเครือข่ายที่เพิ่มโอกาสการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น 

ทั้งนี้ จากสถิติของเราพบว่า ผู้ใช้ส่วนใหญ่ของไทยจะเป็น White Collar ทำงานในองค์กร หรือเป็นเจ้าของธุรกิจ แต่ยังมีคนในกลุ่ม Blue Collar เช่น เด็กเสิร์ฟร้านอาหาร คนขายของหน้าร้าน หรือคนทำงานโรงงานที่ยังไม่ค่อยมีโปรไฟล์ LinkedIn เท่าไร แต่ถ้าเรามองสหรัฐอเมริกา พนักงาน Blue Collar ใช้ LinkedIn กันหมดเลยครับ 

ดังนั้นถ้าเรามองย้อนกลับมาในบ้านเรา ผมเห็นโอกาสที่จะเติบโตอีกเยอะ และมันเป็นโอกาสที่สร้างความหมาย (Meaningful) สำหรับการขยายตลาด และให้คนเข้าถึงโอกาสต่าง ๆ มากขึ้น

คุยกับ ภัทรเสฏฐ หนุนภักดี จาก LinkedIn Thailand แพลตฟอร์มแห่งโอกาส ที่ไม่ใช่แค่ช่วยคนหางาน

มีข้อแนะนำในการใช้ LinkedIn ให้เกิดประโยชน์สูงสุดไหม ?

ภัทรเสฏฐ: ผมว่าข้อแรกเลยคือการสร้างโปรไฟล์ให้ถูกต้องและสมบูรณ์ก่อน เพราะว่า LinkedIn ไม่ใช่แค่เรซูเม่ที่เห็นเฉพาะเวลาคนจะจ้างเรา 

LinkedIn เป็นเหมือน Digital Public Profile ที่คนสามารถเข้ามาดูได้ตลอดเวลา สมมติว่า CEO ของ LinkedIn อาจจะเดินเข้ามาดูโปรไฟล์เราก็ได้ ดังนั้นเราต้องสร้างโปรไฟล์ให้ดูดีและสมบูรณ์ มีข้อมูลที่ครบถ้วน รูปภาพที่ชัดเจน ไม่ใช่มีแค่ชื่อและตำแหน่งงานเท่านั้น

ข้อที่สองคือความเข้าใจในการใช้งาน LinkedIn ไม่ว่าจะเป็นการโพสต์คอนเทนต์ หรือการเข้าหาคนอื่น เราต้องใช้แพลตฟอร์มอย่างมีประโยชน์และสร้างสรรค์ อย่าให้โปรไฟล์ของเราดูเป็นสแปมครับ

อยากบอกอะไรกับคนไทยที่ใช้ LinkedIn อยู่บ้าง ?

ภัทรเสฏฐ: โอกาสอยู่ที่ตัวเราเองครับ วันนี้ทุก ๆ คนมีทางเลือกที่ดีอยู่แล้ว LinkedIn ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่มาเพิ่มโอกาสให้กับเรา อยากให้ใครที่ยังไม่เข้าใจ LinkedIn หรือยังไม่มีโปรไฟล์ มาลองใช้ดูครับ เราไม่รู้หรอกว่าในอนาคตจะเป็นประโยชน์มากน้อยยังไง แต่ผมเชื่อว่า LinkedIn พร้อมที่จะหาโอกาสให้เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือการพัฒนาทักษะความรู้

ผมอยากให้ทุกคนใช้ LinkedIn อย่างถูกต้องและระมัดระวัง เพราะมันคือเครดิตทางอาชีพที่สำคัญของเรา

สุดท้ายในฐานะ Country team lead มองเส้นทางของตัวเองอย่างไรต่อไป ?

ภัทรเสฏฐ: ตอนนี้ Journey ของผมคือการขยายตลาดในเมืองไทยครับ และอยากให้มันขยายอย่างถูกต้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของ Data หรือการใช้งาน ผมมองว่าการทำให้คนไทยใช้งาน LinkedIn มากขึ้นแบบถูกต้อง จะมีประโยชน์ต่อประเทศไทยมาก ๆ 

ท้ายที่สุดแล้ว ผมเชื่อว่า ถ้าแก่นถูกต้อง ธุรกิจมันจะมาเอง วันนี้ทิศทาง Linkedin ในไทยดีขึ้นเยอะแล้ว ความเข้าใจของผู้ใช้งานดีขึ้น แต่มันยังไปได้อีกเยอะ ทั้งในเรื่องของข้อมูลและความเข้าใจของคนเกี่ยวกับแพลตฟอร์ม รวมถึงรูปแบบการใช้งาน

หน้าที่ของเราคือต้องคอยสร้างความรู้ความเข้าใจและเล่าให้ฟังเรื่อย ๆ ว่า LinkedIn คืออะไร ใช้อย่างไร ให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับผู้ใช้งานและประเทศไทยโดยรวมครับ เพราะถ้าทุกคน Win เราก็จะ Win เองครับ

ผู้เขียน

Picture of Sahatorn Petvirojchai

Sahatorn Petvirojchai

Manager of HREX.asia who works in media platforms for a long time. Interested in Global Culture, Marketing, and Self Development.

บทความที่เกี่ยวข้อง