โลกของการทำงานไปมากในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เมื่อการทำงานจากที่บ้าน (Work from Home) กลายเป็นวิถีชีวิตที่พนักงานหลายคนคุ้นเคย เพราะมีทั้งความยืดหยุ่นและความสะดวกสบาย พอหลายองค์กรต้องการให้พนักงานกลับมาทำงานอย่างพร้อมหน้า ก็ต้องเผชิญความท้าทายว่า ทำอย่างไร จึงจะจูงใจให้คนอยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศอย่างเต็มรูปแบบอีกครั้ง
สิ่งที่หลายองค์กรตกผลึกเจอก็คือ หากต้องการให้พนักงานกลับมาออฟฟิศ ก็ต้องทำออฟฟิศให้เป็นมากกว่าแค่สถานที่ทำงาน ทำให้พนักงานรู้สึกสบายใจที่จะนั่งอยู่ท่ามกลางคนจำนวนมาก แต่รู้สึกมีความสุข รู้สึกปลอดภัย และรู้สึกสบายใจที่จะกลับคืนสู่สำนักงานใหญ่อีกครั้ง
สำนักงานของ Carl Zeiss ผู้นำเทคโนโลยีระดับโลกที่ดำเนินงานในอุตสาหกรรมด้านออปติคอล และออปโตอิเล็กทรอนิกส์ในประเทศไทย จึงถือโอกาสนี้ออกแบบออฟฟิศโฉมใหม่ เพื่อรองรับการกลับมาทำงานของพนักงานโดยเฉพาะ และพวกเขาได้เลือกให้คุณ แดเนียล ดู (Daniel Du) ดีไซเนอร์ชาวสิงคโปร์จาก Unispace ผู้มีประสบการณ์ยาวนานกว่า 20 ปี นำความรู้และความเชี่ยวชาญมาสร้างสรรค์พื้นที่ทำงานที่ทั้งเป็นมิตร เปิดกว้าง และผสานวัฒนธรรมท้องถิ่นเข้ากับหลักฮวงจุ้ยได้อย่างลงตัว
HREX มีโอกาสพูดคุยกับคุณแดเนียลถึงแนวคิดในการออกแบบออฟฟิศใหม่ของ Carl Zeiss Thailand และได้ไปเยี่ยมชมความน่าตื่นตาตื่นใจนี้ถึงที่ แนวคิดในการทำงานของเขาไปจนถึงเส้นทางอาชีพของเขามีความน่าสนใจ ส่งผลให้ออฟฟิศของ Carl Zeiss ออกมาน่าตื่นตาอย่างไรบ้าง ติดตามได้เลยจากในบทสัมภาษณ์ฉบับนี้
ก่อนอื่นอยากสอบถามว่า คุณเริ่มต้นอาชีพดีไซเนอร์อย่างไร
แดเนียล ดู: ปัจจุบันงานของผมอาจเน้นไปที่การออกแบบสำนักงานเป็นหลัก แต่จริงๆ แล้วผมเริ่มต้นจากการเป็นนักออกแบบด้านการโรงแรมมาก่อน
หนึ่งในผลงานที่ผมมีส่วนร่วมออกแบบ Marina Bay Sands โรงแรมสุดหรู แลนด์มาร์คแห่งสำคัญประจำประเทศสิงคโปร์ครับ งานนี้ถือเป็นโปรเจ็คต์แรก ๆ ในชีวิตของผมเลย และเป็นผลงานที่น่าภาคภูมิใจมาก แต่หลังจากทำงานออกแบบโรงแรมได้ประมาณ 5 ปี ผมก็เริ่มมองหาความท้าทายรูปแบบใหม่บ้าง แล้วตัดสินใจหันมาเน้นงานออกแบบสำนักงานมากขึ้น เพราะรู้สึกว่ามันมีความท้าทายและต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ในการแก้ปัญหามากกว่าครับ
ปัจจุบัน ผมทำงานร่วมกับ UniSpace บริษัทออกแบบระดับโลกที่มีสำนักงานอยู่ทั่วทุกมุมโลก โดยรับผิดชอบตลาดในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผมมีทีมงานที่สตูดิโอในสิงคโปร์ และมีดีไซเนอร์ที่ทำงานในพื้นที่ต่าง ๆ เช่น มาเลเซีย ฮ่องกง และไทย บริษัทของเรามีแนวคิดการทำงานว่า จะให้ความสำคัญกับการออกแบบและสร้างพื้นที่เพื่อความยั่งยืน และเน้นเรื่องความเท่าเทียมและความเป็นอยู่ที่ดีของพนักงานเป็นหลักครับ
การออกแบบโรงแรมและการออกแบบสำนักงานมีความเชื่อมโยงกันอย่างไร?
แดเนียล ดู: ในมุมมองของผม ทั้งสองอย่างมีจุดเชื่อมโยงกันเรื่องของการสร้างบรรยากาศและประสบการณ์ที่ดีให้กับผู้ใช้งานครับ
การออกแบบโรงแรมต้องทำให้แขกรู้สึกผ่อนคลาย ได้รับการบริการที่ดีเยี่ยม การออกแบบออฟฟิศก็เช่นเดียวกัน หากเราต้องการทำให้พนักงานทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและรู้สึกสบายใจ เราก็ต้องช่วยให้เขารู้สึกว่ามาทำงานที่นี่แล้วมีความผ่อนคลาย ผมคิดว่าประสบการณ์ที่ได้จากการออกแบบโรงแรมมาก่อน ช่วยให้ผมเข้าใจความสำคัญของการสร้างบรรยากาศ แล้วสามารถนำมาปรับใช้กับการออกแบบสำนักงานได้ดีขึ้นครับ
สำหรับการออกแบบออฟฟิศใหม่ให้กับ Carl Zeiss ในประเทศไทย มีความท้าทายอย่างไรบ้าง
แดเนียล ดู: โปรเจ็คต์นี้ ความท้าทายประการสำคัญเลย คือการออกแบบพื้นที่ให้พนักงานรู้สึกอยากกลับมาทำงานที่ออฟฟิศด้วยตัวเอง โดยไม่รู้สึกถูกบังคับ นั่นคือเป้าหมายหลักที่ทีม HR ของ Carl Zeiss บอกกับเราครับ พวกเขาไม่อยากบังคับให้พนักงานกลับมาออฟฟิศ แต่ต้องการทำให้พนักงานทุกคนรู้สึกว่า อยากมาทำงานด้วยตัวเอง
เราเริ่มจากการออกแบบจุดรับแขก (Reception Area) ที่เปิดโล่งและเชื่อมต่อกับโซนพักผ่อน (Breakout Area) ตรงนี้จะแตกต่างจากออฟฟิศทั่ว ๆ ไปที่มักจะแยกพื้นที่เหล่านี้ออกจากกัน Carl Zeiss ต้องการให้พื้นที่ตรงนี้แสดงถึงวัฒนธรรมองค์กรที่ภาคภูมิใจในตัวพนักงาน เราเลือกที่จะไม่ซ่อนพื้นที่พักผ่อนหรือทำให้ดูเรียบง่ายเกินไป เพราะเราต้องการให้ตรงนี้เป็นจุดที่พนักงานสามารถพบปะพูดคุยหรือพักผ่อนในบรรยากาศที่ผ่อนคลายได้เสมอ
และเพราะ Carl Zeiss เป็นบริษัทจากประเทศเยอรมัน ทุกคนน่าจะรู้ดีว่าเยอรมันขึ้นชื่อเรื่องรายละเอียด และความสะอาดสะอ้าน เรียบง่าย ดังนั้นการออกแบบออฟฟิศจึงต้องสะท้อนถึงคุณลักษณะเหล่านี้ด้วย เราเริ่มจากการใช้สีขาว ช่วยให้ออฟฟิศดูสะอาดตา และยังเป็นสไตล์ที่สะท้อนถึงเอกลักษณ์ของแบรนด์ด้วย
แต่ปัญหาที่ผมเจอก็คือ ถ้าเราใช้แต่สีขาวล้วน บรรยากาศการทำงานมันจะดูเย็น ๆ เหมือนอยู่ในโรงพยาบาล ซึ่งไม่เหมาะกับการทำงานในระยะยาวครับ เราจึงพยายามนำองค์ประกอบอื่น ๆ มาใช้เพื่อทำให้พื้นที่แห่งนี้ดูอบอุ่นขึ้น เช่น ใช้วัสดุไม้และเพิ่มพื้นที่สีเขียวเข้ามา เป็นต้นครับ
นอกจากนั้น เรายังต้องเอาความอบอุ่นและความเป็นไทยมาใช้ในการออกแบบสำนักงานด้วย เราอยากสร้างบรรยากาศที่เหมาะกับวัฒนธรรมของคนไทยที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตรและเปิดกว้าง เราจึงออกแบบพื้นที่ต้อนรับที่เชื่อมต่อกับพื้นที่พักผ่อน เพื่อให้แขกหรือพนักงานสามารถพบปะ พูดคุย หรือดื่มกาแฟในบรรยากาศที่เป็นกันเองครับ
Office สมัยนี้ตอบโจทย์กับ Lifestyle ของคนรุ่นใหม่รึยัง ? |
ได้ยินว่าคุณทำงานนี้อย่างใกล้ชิดกับทีม HR ของ Carl Zeiss ช่วยเล่ารายละเอียดให้ฟังเพิ่มเติมได้ไหม
แดเนียล ดู: คุณอร Head of HR ของ Carl Zeiss Thailand มีบทบาทสำคัญมากครับในการให้ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการของพนักงาน เธอช่วยสะท้อนให้เราเห็นว่าอะไรที่พนักงานไม่ชอบในออฟฟิศเดิม ไม่ว่าจะเป็นที่นั่งทำงานอยู่คนละชั้นกับพื้นที่พักผ่อน ต้องเดินมาไกล หรือบริเวณไหนขาดความเป็นส่วนตัวบ้าง เป็นข้อมูลสำคัญที่เรานำมาพิจารณาในการออกแบบ
ยกตัวอย่างเช่น เมื่อคุณอรบอกว่าพนักงานบางคนชอบทำงานในมุมเงียบ ในขณะที่บางคนไม่ถนัดกับพื้นที่เปิดโล่ง เราจึงออกแบบให้มีพื้นที่หลากหลายให้เลือก ทั้งมุมเงียบสงบ มุมพักผ่อน และพื้นที่ทำงานร่วมกัน เพื่อให้พนักงานสามารถเลือกพื้นที่ทำงานที่เหมาะกับสไตล์ของตัวเองได้
คุณอรน่ารักมาก เธอจะบอกผมเสมอว่า พนักงานไม่ชอบแบบนั้น ไม่ชอบแบบนี้ ในฐานะที่เธอเป็น Head of HR เธอจะมีความรู้เรื่องความต้องการของคนในองค์กรเยอะที่สุด ซึ่งสำคัญกับการทำงานนี้มากเพราะเราไม่มีทางได้ข้อมูลเหล่านี้มาจากคนอื่นเลย เธอสังเกตเห็นเสมอว่าพนักงานบางคนมีลักษณะแตกต่างกันไป
เช่น บางคนชอบทำงานตรงมุมเงียบ ๆ ไม่ชอบทำงานในพื้นที่เปิดโล่ง บางคนต้องการความเป็นส่วนตัวมากกว่า ขณะที่บางคนมีความสุขเมื่อได้ทำงานกับเพื่อน ดังนั้น เมื่อเราออกแบบพื้นที่ส่วนหลังของสำนักงาน เราจึงจัดให้มีทั้งพื้นที่ที่เงียบ ๆ มีทั้งโต๊ะทำงานแบบ Workstation และแบบ Hot Desk เพื่อให้พนักงานสามารถเลือกทำงานในพื้นที่ที่เหมาะกับตนเองได้ และเนื่องจากไม่มีโต๊ะประจำตัว พนักงานจึงสามารถเคลื่อนย้ายและเลือกพื้นที่ทำงานได้ตามความต้องการครับ
ได้ยินว่า คุณออกแบบโดยให้ความสำคัญกับเรื่อง ฮวงจุ้ย (Feng Shui) ด้วย ฮวงจุ้ยมีบทบาทในการออกแบบครั้งนี้อย่างไรบ้างครับ
แดเนียล ดู: Carl Zeiss ให้ความสำคัญกับฮวงจุ้ยมาก โดยส่วนตัวผมมองว่าฮวงจุ้ยไม่ใช่แค่เรื่องความเชื่อหรือไสยศาสตร์ แต่เป็นเรื่องของการจัดการพลังงานและพื้นที่ให้เหมาะกับการใช้งานจริง หลักการหลายอย่างของฮวงจุ้ยสามารถอธิบายได้ด้วยเหตุผลเชิงฟังก์ชันการใช้งานครับ
กฎข้อหนึ่งของหลักฮวงจุ้ยคืออย่าวางกระจกไว้อยู่ตรงหน้าเตียง เพราะอะไร ลองคิดภาพว่าคุณนอนอยู่ดี ๆ แล้วตื่นขึ้นมากลางดึก คุณจะตกใจเงาที่สะท้อนออกมาเสมอ เรื่องแบบนี้สัมพันธ์กับเวลาอยู่ในออฟฟิศครับ เราจะไม่วางกระจกไว้หน้าโต๊ะทำงาน หรือหลีกเลี่ยงมุมแหลม ๆ นอกจากจะถูกต้องตามหลักฮวงจุ้ยแล้ว ยังช่วยเพิ่มความปลอดภัยในที่ทำงานด้วย
อย่างการออกแบบออฟฟิศนี้ เราใช้เส้นโค้งในหลายส่วน อย่างเคาน์เตอร์ต้อนรับ ซึ่งช่วยให้พื้นที่ดูนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง และยังช่วยเสริมพลังงานที่ดีให้กับพื้นที่ การผสมผสานหลักฮวงจุ้ยเข้ากับการออกแบบสมัยใหม่ไม่ใช่เรื่องขัดแย้ง แต่สามารถเติมเต็มซึ่งกันและกันได้อย่างลงตัว
ตอนที่ซินแสมาตรวจ เขาก็ไม่ได้ให้คำแนะนำมากมายว่าต้องเปลี่ยนแปลงอะไรมากมาย เขาบอกแค่ว่า แผนกการเงินและผู้บริหารควรจะอยู่ที่มุมใดมุมหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมที่ดีที่สุดตามทิศเหนือ ตะวันออกเฉียงใต้ และทิศตะวันตกเท่านั้น
ซินแสจะบอกว่า มุมไหนที่ดีสำหรับการเงินหรือธุรกิจ ดังนั้น ผู้บริหารของคุณควรอยู่ที่มุมนั้น และแผนกการเงินก็ต้องอยู่ที่นั่นด้วยเช่นกัน นอกจากนี้ ยังมีข้อห้ามบางอย่าง เช่น สีที่ไม่ควรใช้ หรือบางตำแหน่งที่ไม่ควรวางของที่รกหรือสกปรก เป็นต้น
เมื่อไหร่ที่คุณออกแบบสำนักงาน ไม่ว่าจะที่ไหนก็ตาม คุณควรรับฟังซินแสด้วย และเขาจะมาดูแลบอกคุณได้ว่า ควรจัดวางผู้บริหารหรือแผนกที่เกี่ยวข้องกับการเงินให้อยู่ในมุมไหนจึงจะเหมาะสม เพราะในแต่ละสถานที่จะมีมุมที่ดีและไม่ดีแตกต่างกันไป
หลังออกแบบสำนักงานเสร็จแล้ว อะไรคือปัจจัยที่วัดความสำเร็จของโปรเจ็คต์นี้
แดเนียล ดู: ปัจจัยความสำเร็จหลักที่สำนักงาน Carl Zeiss ต้องการคือ พวกเขาต้องการให้พนักงานทุกคนภูมิใจในออฟฟิศของตัวเอง พวกเขาอยากให้มีพื้นที่ที่พนักงานสามารถบอกได้อย่างภาคภูมิใจว่า “ฉันทำงานที่ Carl Zeiss”
อีกปัจจัยหนึ่งคือ ออฟฟิศใหม่นี้ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าสำนักงานเดิม ต้องพัฒนาสิ่งที่มีอยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น
และปัจจัยที่สำคัญที่สุดคือ พวกเขาต้องการให้พนักงานมีความสุขและเพลิดเพลินกับการทำงานที่นี่ ซึ่งเป็นสิ่งที่เราให้ความสำคัญในการออกแบบสำนักงาน ผมได้ยินจากคุณจู ซึ่งเป็น Head of Finance พนักงานหลายคนชอบออฟฟิศนี้มาก โดยเฉพาะพื้นที่ Breakout Area พนักงานมักใช้เวลาอยู่ตรงนั้นมากกว่าในห้องประชุมเสียอีก ซึ่งแสดงให้เห็นว่าการตัดสินใจลดจำนวนห้องประชุมและเพิ่มพื้นที่พักผ่อนให้ใหญ่ขึ้นถือเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องครับ
เพราะในออฟฟิศเดิม พื้นที่พักผ่อนมีขนาดเล็กและอยู่ในมุมอับ ไม่เหมือนกับการจัดพื้นที่ให้เป็นคาเฟ่อย่างที่เราออกแบบในครั้งนี้ และพนักงานชอบบรรยากาศแบบนี้มากกว่า พวกเขาสามารถเพลิดเพลินกับทิวทัศน์ อาหาร กาแฟไปพร้อมกับการทำงานได้
ในฐานะนักออกแบบมากประสบการณ์ คุณมีคำแนะนำอะไรอยากบอกนักออกแบบรุ่นใหม่ที่เพิ่งเข้าสู่แวดวงการทำงานบ้างครับ
แดเนียล ดู: สิ่งสำคัญที่สุดคือ จงให้ความสำคัญกับพฤติกรรมและความรู้สึกของผู้ใช้งานจริง ในยุคนี้ AI สามารถทำงานแทนมนุษย์ได้หลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นการเลือกสี วัสดุ หรือสร้างภาพที่สวยงาม แต่สิ่งที่ AI ทำไม่ได้คือการเข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของคน อย่าลืมว่าการออกแบบที่ยอดเยี่ยมต้องสามารถเชื่อมโยงกับความรู้สึกของผู้ใช้งานได้
ผมมักจะแนะนำให้นักออกแบบรุ่นใหม่ศึกษาเรื่องจิตวิทยาของมนุษย์เสมอ พร้อมเรียนรู้วิธีสร้างบรรยากาศที่ดีในพื้นที่ สิ่งเหล่านี้สำคัญมากกว่าแค่การออกแบบให้สวยงาม อย่าลืมว่าการออกแบบที่ดีคือการสร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้คนรู้สึกดีและอยากใช้ชีวิตในพื้นที่นั้นครับ
คุณพูดถึง AI พอดี ขอถามเพิ่มเติมปิดท้ายว่า มีคนจำนวนมากมองว่าการเอา AI มาใช้งาน โดยเฉพาะด้านการออกแบบ เป็นเรื่องที่ไม่ดี ไม่เหมาะสม เพราะทำให้กระบวนการออกแบบสูญเสียคุณค่า? คุณเห็นด้วยไหมกับความเห็นเหล่านี้หรือไม่
แดเนียล ดู: ผมไม่เห็นด้วยทั้งหมด แต่อาจไม่ปฏิเสธ 100% ผมมองว่ามันเป็นพื้นที่สีเทา เพราะในบางด้าน AI ก็เข้ามาทำงานบางอย่างที่มนุษย์เคยทำในอดีต อย่างไรก็ตาม ถ้าคุณมอง AI เป็นคู่แข่ง คุณก็จะแพ้ แต่ถ้าคุณมองว่า AI เป็นผู้ช่วยและเครื่องมือที่จะช่วยคุณ คุณก็จะชนะ
มันเหมือนเมื่อย้อนกลับไปเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ตอนที่เรายังไม่มีคอมพิวเตอร์ นักออกแบบและสถาปนิกสมัยก่อนต้องใช้มือวาดภาพ ใช้ปากกา ใช้ดินสอ แต่ตอนนี้เรามีคอมพิวเตอร์แล้ว เรามีซอฟต์แวร์อย่าง 3D Max, SketchUp ที่ช่วยสร้างภาพเรนเดอร์ที่สวยงาม ซึ่งเราไม่สามารถทำได้ในอดีต คุณจะบอกว่าคอมพิวเตอร์เป็นสิ่งเลวร้ายไหม? ไม่เลย คอมพิวเตอร์ช่วยให้ชีวิตคุณง่ายขึ้น
ดังนั้นมุมมองของผมต่อ AI ก็เหมือนกัน ผมเลือกที่จะมอง AI เป็นผู้ช่วย ไม่ใช่คู่แข่ง นั่นเป็นเหตุผลที่ผมให้คำแนะนำแก่นักออกแบบรุ่นใหม่ว่าพวกเขาควรให้ความสำคัญกับการออกแบบที่มุ่งเน้นมนุษย์เป็นศูนย์กลาง นี่คือสิ่งที่ AI ไม่สามารถทำได้
ดังนั้นคุณต้องหาวิธีพัฒนาตัวเองเพื่อให้โลกนี้ไม่สามารถอยู่ได้โดยไม่มีคุณ โลกต้องการคุณ แต่ AI ก็เป็นเพียงผู้ช่วย เป็นเพียงเครื่องมือของเรา นี่คือนิยามของผมครับ