LEGO® ของเล่นที่ได้รับความนิยมจากทั่วโลก ที่หลายๆคนคงได้เคยเล่นมาบ้างในวัยเด็ก
มาในวันนี้ตัวต่อ LEGO® ไม่ได้เป็นแค่ของเล่นที่เสริมสร้างความคิดสร้างสรรค์ให้เราอีกต่อไปแต่สามารถนำมาปรับใช้ในธุรกิจได้ด้วย อย่างเช่น เวิร์กชอปการเรียนรู้ LEGO® SERIOUS PLAY® (LSP) ที่จะให้ผู้เข้ารับการเรียนรู้ถ่ายทอดความคิด ไอเดียที่เป็นนามธรรมออกมาให้เป็นรูปร่างผ่านตัวต่อเลโก้
และผู้ที่นำ LSP เข้ามาจุดประกายในแวดวงธุรกิจในเมืองไทยคือ คุณปุ้ม ณฤดี คริสธานินทร์ Director of Inspiration & Strategy Facilitator ของบริษัท Eureka International
ครั้งนี้เราจะมาร่วมพูดคุยกับคุณปุ้มและอีกหนึ่ง Facilitator คุณ Jack Nakamura CEO ของบริษัท Asian Identity ถึงเรื่อง ‘ระบบการศึกษาของไทยและญี่ปุ่นส่งผลต่อการทำงานอย่างไร‘ และ ‘วิธีแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นภายในองค์กรโดยใช้ กระบวนการ LSP‘ ในมุมมองของทั้งคู่กัน
Narudee Kristhanin(Poom) | EUREKA International – Director of Inspiration, Strategy & Transformation Facilitator,
Founder of www.LSPThailand.com
Katsuhiro Nakamura(Jack) | Asian Identity Co,Ltd. CEO&Founder
ประสบการณ์ที่ได้จากต่างประเทศ ความสำคัญของการ Discussion
คุณปุ้ม ผู้สั่งสมประสบการณ์ทำงานกับนานาชาติมาอย่างยาวนาน
ตอนช่วงอายุประมาณ 17 ปุ้มได้มีโอกาสไปเป็นนักเรียนแลกเปลี่ยนที่อเมริกา
หลังจากจบมัธยมศึกษาตอนปลายก็เรียนต่อที่คณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ทำงานในภาคเอกชนระยะหนึ่ง แล้วก็ได้ทุนไปเรียนต่อปริญญาโทที่อเมริกาและกลับมาทำงานด้านการศึกษาก่อนจะมาทำงานด้านที่ปรึกษาค่ะ
ปัจจุบันงานหลักๆของปุ้มก็คือทำงานร่วมกับ partner หลากหลายชาติ ช่วยให้องค์กรก้าวผ่านการเปลี่ยนเแปลงและสร้าง growth ใหม่โดยดึงศักยภาพของผู้นำและคนที่เป็นผู้ขับเคลื่อนองค์กรผ่านการ Consult และ Workshop Facilitation ภายใต้บริษัท EUREKA International และเป็นอาจารย์พิเศษอยู่ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยค่ะ
ปุ้มช่วยองค์กรทำ workshop กลยุทธ์ ค้นหาวิสัยทัศน์ หรือการพัฒนา Leadership เราเป็นผู้ชำนาญในการใช้กระบวนการที่สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกคน LEGO® SERIOUS PLAY® ในภูมิภาคนี้ค่ะ
LEGO® Serious Play® คืออะไร
LEGO® SERIOUS PLAY® Method คือ กระบวนการที่กระบวนกรนำพาผู้เข้าร่วมให้มีส่วนในการคิดโดยใช้ประโยชน์จากความเชื่อมโยงของมือกับสมอง ให้ใช้ตัวต่อเลโก้เป็นเครื่องมือในการวางแผน สร้างกลยุทธ์ ในการแก้ไขปัญหาโดยการผสมผสานการเรียนรู้ การคิด และการเล่นเข้าด้วยกัน จุดเด่นคือกระบวนกรจะสามารถนำให้คนในช่วงวัยต่างกัน หรืออยู่ในสถานะและบทบาทต่างกันในองค์กรได้มีโอกาสคิดร่วมกันได้อย่างอิสระ ก้าวข้ามกำแพงทางความคิด ผู้เข้าร่วมทุกคนจะได้แสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาอย่างตรงไปตรงมา หรือมีการแชร์ความคิดเห็นที่หลากหลายจากคนในทีมและสามารถนำความคิดเห็นนั้นไปต่อยอดให้ตนเองได้
ซึ่งกระบวนการนี้จะทำให้ได้ไอเดียที่แตกต่าง หรือได้เห็นความคิดในหลากหลายแง่มุมมากขึ้น เป็นการบูรณาการและยกระดับความคิดในอีกรูปแบบหนึ่ง
อ้างอิง:http://www.seriousplay.jp/seriousplay/
ความแตกต่างของไทยและอเมริกาที่ได้เผชิญ ‘ยอมรับในความเห็นที่หลากหลายด้วยการ Discussion’
ตอนที่ปุ้มเรียนอยู่โรงเรียนหญิงล้วน เราจะคิดไปเองว่าเราควรต้องทำในสิ่งที่ถูกสอนเกี่ยวกับมารยาทเสมอ แสดงออกถึงความสุภาพอ่อนน้อม ดังนั้นเวลาที่เราจะมีปฏิสัมพันธ์กับคนอื่น ทุกคนมีความคิดเห็นเป็นของตัวเองอยู่แล้ว แต่เวลาพูดคุยกันจะไม่ค่อยกล้าแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาตามตรง จะมีระยะห่าง และบางครั้ง ครูว่าไงเราก็ว่าตามครู ไม่ได้ออกความเห็นหรือแสดงความคิดที่แตกต่างมากนัก
แต่ถ้าเป็นที่อเมริกาจะแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง เพื่อนร่วมคลาสจะพูดคุย Discussion กันเป็นสัดส่วนที่มากกว่ามากในแต่ละชั่วโมงเรียน
บางทีหัวข้อที่นำมาพูดคุยกันก็อาจเป็นเพียงประเด็นเล็ก ๆ แต่ทุกคนก็ร่วมแสดงความคิดเห็นของตนเองออกมาผ่านการ Discussion ต่อยอดความคิดซึ่งกันและกัน หรือเห็นต่างอย่างไรก็พูดคุยกันได้ไม่โกรธกันค่ะ
เวลาที่เราแสดงความคิดเห็นออกไป หรือยืนหยัดในความคิดอะไรสักอย่าง อย่าลืมที่จะรับฟังความคิดเห็นของคนอื่นด้วยความเคารพ เราควรยอมรับว่ามีคำตอบที่หลากหลายจากมุมมองของแต่ละคน ถึงแม้ภายนอกเขาจะอยู่ในบทบาทที่แตกต่าง เช่น คนๆนี้อาจจะเป็นผู้บริหารระดับสูง หรือคนนี้อาจจะดูเป็นคนที่ไม่มั่นใจในตัวเอง แต่พวกเขาก็มีความคิดที่เราสามารถเรียนรู้ได้ด้วยเหมือนกัน
หากเราเคารพในความคิดเห็นของกันและกันได้ จะทำให้เราเข้าใจในความแตกต่างทางความคิดที่แต่ละคนมีมากขึ้นและทำให้เกิดไอเดียใหม่ๆ หรือข้อคิดดีๆขึ้นมาได้ ปุ้มคิดว่าเราได้เรียนรู้ เติบโตจากการทำงานหลายๆแบบ ประสบการณ์ที่ได้รับมาเชื่องโยงกับงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ค่ะ
การศึกษาในอดีตส่งผลต่อค่านิยมในการทำงาน
ระบบการศึกษาของไทยและญี่ปุ่น ‘การศึกษาแบบท่องจำ’
สิ่งที่ปุ้มได้จากการไปเรียนอยู่ที่อเมริกาคือ ที่นั่นเขาให้ความสำคัญกับระบบการเรียนรู้ที่ส่งเสริม ศักยภาพของแต่ละคนมากค่ะ
อย่างปุ้มตอนที่เรียนอยู่ที่ไทยก็ไม่รู้หรอกว่าตัวเองเก่งหรือไม่เก่งด้านไหนบ้าง ตอนที่ไปต่อมัธยมปลายที่เตรียมอุดมศึกษาได้เกรดเฉลี่ย 3.88 – 4.00 ด้วยแต่ก็ยังไม่รู้ว่าตัวเองเก่งอะไรจริงๆ หรือชอบอะไร เป็นเรื่องของความรับผิดชอบต่อหน้าที่มากกว่า แต่พอไปเรียนที่นั่นทำให้ได้รู้ว่าจริงๆเราก็เก่งงานด้านอื่น ๆ ด้วยที่ไม่ได้คิดมาก่อนเช่น ด้านศิลปะ พอครูเห็นว่าเรามีความสามารถทางด้านศิลปะเขาก็มีการสนับสนุนเราเต็มที่ เช่น ในคลาสเรียนเราได้ไต่ระดับไปจนได้เรียนวิชา Studio ในห้องจะมีอุปกรณ์ศิลปะครบเลย ครูจะเหมือนโค้ชช่วยเราให้สร้างสรรค์งานศิลปะของเราได้อย่างเต็มที่ ใช้เวลาได้เต็มที่ จนงานได้ส่งประกวดและรับรางวัลระดับมลรัฐ มีความสุขและความภูมิใจในตัวเอง รู้สึกได้พบตัวเองมุมที่ไม่เคยเจอมาก่อน
ส่วนที่เมืองไทยเมื่อก่อนจะแตกต่างออกไป สมัยก่อนอาจารย์จะเป็นคนสอนทุกอย่างให้นักเรียน อย่างเช่นง่าย ๆ วิชาศิลปะเหมือนกันที่เรียนมาตั้งแต่มัธยมต้น จะมีรูปแบบคำตอบตายตัว สมมติอาทิตย์นี้เรียนเครื่องมือนี้ อาทิตย์หน้าก็ทำงานมาส่ง ส่งแล้วก็เอาเกรด A B C หรือ D ไป เราไม่สามารถเชื่อมโยงกับ passion ของเราได้ ครูเน้นสอนให้นักเรียนรู้ถึงวิธีการใช้อุปกรณ์หรือเทคนิค หรือเรียนเป็นเรื่อง ๆ แต่ไม่ได้จุดประกาย หรือปลดล็อกจินตนาการทางความคิดให้เกิด creative confidence หรือช่วยให้เราเชื่อมโยงความรู้กับวิชาอื่น ๆ ให้เราเป็นได้มากกว่าที่เราเคยเป็นได้
ปัจจุบัน ก็มีการพัฒนา มีการเปลี่ยนแปลงไปเยอะมากพอสมควรค่ะ คนไทยไปเรียนต่างประเทศมากขึ้น ได้แรงบันดาลใจในการเรียนการสอนจากต่างประเทศมากมาย เพราะฉะนั้นการศึกษาไทยก็มีความหลากหลายมากขึ้น เช่นการศึกษาที่เน้น เรียนรู้จากประสบการณ์จริงนอกห้องเรียน (Constructionism)ครูก็เริ่มมีบทบาทเป็นโค้ชมากขึ้น
ในมหาวิทยาลัยก็จะมีระบบ Co-Operative Education คือระบบที่มหาวิทยาลัยเป็นพันธมิตรกับบริษัท บริษัทเอาโจทย์ให้นิสิตไปฝึกงานแล้วได้เป็นเกรดกลับมา ทำให้นิสิตได้ปลดล๊อค Mindset ของตัวเองให้มีจิตสาธารณะ ทำให้นิสิตได้รู้ว่าทำแล้วไม่จบอยู่แค่ในห้องเรียนความรู้ของเขาจะมีประโยชน์ที่สามารถออกไปสร้างคุณค่าได้จริง ๆ
เพราะฉะนั้น พูดได้ว่าการศึกษาไทยเราอยู่ในช่วงที่กำลังพยายามเปลี่ยนแปลง และให้ความสำคัญกับ ‘การเรียนรู้จากประสบการณ์จริง’ มากขึ้นค่ะ
สำหรับผมคิดว่าระบบการศึกษาของไทยกับญี่ปุ่นมีความคล้ายคลึงกันนะครับ เพราะพื้นเพเราได้รับอิทธิพลมาจากประเทศจีนค่อนข้างเยอะอยู่ และผมก็เห็นด้วยกับที่คุณปุ้มพูดเพราะระบบการศึกษาของญี่ปุ่นเองก็เรียนกันแบบ คอยฟังและจดจำคำตอบที่อาจารย์สอน เป็นการเรียนแบบท่องจำและนำไปสอบซะส่วนใหญ่
เราใช้ระบบการศึกษาแบบนี้มาตลอด เลยทำให้คนญี่ปุ่นเป็นคนที่รักษากฎเกณฑ์มาก เวลาเราจะทำอะไรสักอย่างก็ทำให้เหมือนกัน อยู่ในระดับเดียวกันทั้งหมด
แต่ในอีกมุมนึงผมว่าจะทำให้ คนที่กล้าเสี่ยง กล้าออกมาจาก Comfort Zone น้อยลง หรือคนมีความคิดสร้างสรรค์ลดลงไปด้วย
นั่นเลยทำให้ในช่วงยี่สิบปีที่ผ่านมา ญี่ปุ่นพยายามพัฒนาและเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา เพื่อสร้างบุคลากรที่มีความคิดสร้างสรรค์มากขึ้นครับ
‘การอบรมสั่งสอนของพ่อแม่’ ส่งผลต่อการสร้างค่านิยม
นอกจากการเรียนรู้จากที่โรงเรียนแล้ว ตรรกะ ความคิด หรือวิธีอบรมเลี้ยงดูของพ่อแม่ก็มีอิทธิพลต่อความคิดของเด็กๆเช่นกัน
ที่ไทยพ่อแม่มีวิธีการอบรมเลี้ยงดูเด็กๆอย่างไร หรือให้ความสำคัญกับเรื่องไหนเป็นพิเศษครับ?
เรื่องนี้ปุ้มไม่อาจให้ความคิดเห็นได้เพราะแต่ละครอบครัวก็มีวิถีและวิธีคิดที่แตกต่างกัน แต่ถ้าถามในเชิงวัฒธรรรม ปุ้มคิดว่า ด้วยความที่คนไทยเรามีรากวัฒนธรรมให้ความเคารพผู้ใหญ่ ทำให้เราอาจถูกหล่อหลอมว่าผู้ใหญ่เป็นผู้ถ่ายทอดประสบการณ์ ความรู้ต่างๆให้กับคนรุ่นถัดไปในสิ่งที่ตัวเองพบเจอ เพื่อให้เขาสามารถเอาความรู้นี่ไปใช้ต่อในอนาคตได้
เมื่อผู้ใหญ่มีคำตอบให้เด็กๆเสมอ เลยทำให้พวกเขาอาจจะไม่ได้ฝึกที่จะคิดสร้างสรรค์หรือเกรงกลัวที่จะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมา
ปุ้มเคยสังเกตเห็นเพื่อนชาวต่างชาติเลี้ยงลูก เค้าจะพูดกับลูกเสมอว่า เรื่องนี้ I คิดแทน you ไม่ได้ ยูต้องคิด และตัดสินใจด้วยตัวเอง ซึ่งที่ให้เด็ก มีความคิดที่เป็นผู้ใหญ่ และมีความรับผิดชอบสูงค่ะ
ผมคิดว่าที่ญี่ปุ่นนี่แล้วแต่ครอบครัวเหมือนกันนะ แต่โดยส่วนมากพ่อแม่มักจะสอนลูกๆว่า ‘ให้ความร่วมมือกับคนอื่นเสมอ’ ‘อย่าสร้างปัญหาให้กับคนอื่น’ หรือ ‘รักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นเข้าไว้’ คนญี่ปุ่นมักจะถูกสอนให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนอื่นให้มากที่สุด
เพราะอย่างนั้น เมื่อมีการ Discussion หรือให้แสดงความคิดเห็นออกมา คนญี่ปุ่นจะเลี่ยงการแสดงความคิดเห็นตรงๆ แต่จะใช้วิธีการพูดที่ค่อนข้างคลุมเครือ ไม่ชัดเจนแทน
สำหรับคนไทย ปุ้มคิดว่ากฎเกณฑ์ของครอบครัวก็มีผลกระทบต่อการกำหนดค่านิยมและความสุขของเด็กนะคะ
เด็กๆเองก็ต้องการทำให้พ่อแม่มีความสุข แต่สิ่งที่กำหนดความสุขของพ่อแม่จะขึ้นอยู่กับค่านิยมของแต่ละครอบครัวโดยสิ้นเชิง
อย่างเช่น หากครอบครัวไหนให้ความสำคัญกับการศึกษาหรือผลการเรียน เด็กๆส่วนใหญ่ก็จะพยายามเรียนให้ได้เกรดดีๆเพื่อตอบสนองความคาดหวังของพ่อแม่ จนบางทีเด็กก็เรียนไปเพื่อให้ได้เกรดดีๆ เท่านั้น จึงทำให้ demotivated ได้ง่าย
ปุ้มคิดว่านอกจากเรียนเพื่อความรับผิดชอบต่อความคาดหวังของครอบครัวแล้ว เราก็ไม่ควรลืมที่จะสนุกกับการเก็บเกี่ยวทักษะและความรู้ สำหรับไปใช้ในชีวิตประจำวันหรือต่อยอดได้ด้วยค่ะ ให้ทุกวิชา เป็นการค้นหาตัวเองค่ะ
สิ่งสำคัญในการทำงานคือ Thinking Skill
ตอนนี้การเรียนรู้ในห้องเรียน อาจจะยังไม่ได้สอนเรื่อง Thinking Skill ให้มากพอ เมื่อหลายๆคนได้ลองออกไปทำงาน คงจะรู้สึกว่า ไม่รู้จะจัดการตัวเองกับการทำงานที่มีคนที่แตกต่างจากตัวเองได้ยังไง ซึ่งปุ้มคิดว่า Thinking Skill เป็นทักษะสำคัญในชีวิตที่บางครั้งไม่สามารถหาเรียนรู้ได้จากในห้องโรงเรียน เป็นทักษะที่ต้องไปเรียนรู้กันจากทำงานจริง
โดยเฉพาะทักษะการคิดวิเคราะห์แบบ Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) หรือ Systems Thinking (ความคิดเชิงระบบ) และการคิดเชิงสร้างสรรค์ (Creative Thinking)
Critical Thinking (การคิดเชิงวิพากษ์) : เป็นกระบวนการเพื่อวิเคราะห์ หรือ ประเมินข้อมูล ใช้เหตุผล หลักฐานและตรรกะมาวิเคราะห์ให้แน่ชัดก่อนลงความเห็นหรือตัดสิน
Analytical Thinking (การคิดวิเคราะห์) – Wikipedia
Systems Thinking (ความคิดเชิงระบบ) : ความคิดเชิงระบบที่มุ่งเน้นในการมองภาพรวมมองให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ แทนที่จะมองแต่สิ่งใดสิ่งหนึ่ง มองให้เห็นรูปแบบการเปลี่ยนแปลงแทนที่จะมองเฉพาะจุด
Systems Thinking – Minimore
ในการทำงาน การดำเนินการต่างๆจะมีการแลกเปลี่ยนไอเดียหรือข้อคิดเห็นระหว่างคนในทีม หรือการประชุมหารือเพื่อให้โปรเจคต่างๆสามารถดำเนินไปได้
ในการทำงานเป็นกลุ่ม นอกจากรับไอเดียใหม่ๆจากเพื่อนร่วมทีมคนอื่นแล้ว คนที่เสนอไอเดียขึ้นมาจำเป็นต้องมีทักษะที่่เราสามารถฟังเพื่อเข้าใจเรื่องราวหรือที่มาของไอเดีย แล้วจึงนำมาพิจารณาไตร่ตรองอย่างเป็นระบบจากทุกแง่มุม มองให้เห็นความสัมพันธ์ของสิ่งต่าง ๆ และเห็นผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงแต่ละจุดต่อทั้งระบบ ธุรกิจของไทยหลายๆอย่างก็เริ่มมีความเป็นสากลมากขึ้น แต่ปุ้มก็รู้สึกว่าคนไทยเรายังขาดทักษะที่ช่วยในการทำงานตรงนี้ไปเมื่อเทียบกับชาติอื่น บริษัทส่วนใหญ่ในเมืองไทย จึงเริ่มจัดให้มีการอบรมมากขึ้นเพื่อฝึกให้พนักงานมีทักษะนี้ติดตัว ทักษะการคิดอย่างเดียวยังไม่พอ เพราะปัญหาที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่ในองค์กรมีสาเหตุมาจากการสื่อสาร ไม่ใช่การสื่อสารแบบพูดคุยทั้วไป แต่เป็นการสื่อสารจากความฉลาดทางสังคม (Social Intelligence) ซึ่งมีความละเอียดอ่อนและต้องเรียนรู้อยู่เสมอ
การศึกษาของญี่ปุ่นเองก็ส่งผลกับการพัฒนาความเป็นผู้นำของคนญี่ปุ่น
ว่ากันว่าในธุรกิจของญี่ปุ่นมักจะมีเพียงไม่กี่คนที่สามารถแสดงให้เห็นถึงความเป็นผู้นำได้
โดยส่วนตัวผมว่า คนญี่ปุ่นเก่งในเรื่องการบริหารจัดการงานต่างๆนะ แต่พออยู่ในจุดของผู้บริหารระดับสูง เมื่อให้แสดงวิสัยทัศน์แล้ว ส่วนมากมักจะไม่รู้ว่าจะต้องพูด หรือแสดงวิสัยทัศน์อย่างไรดี
ปุ้มคิดว่าคนญี่ปุ่นเป็นคนที่เก่งนะ เพราะเขาเป็นนักคิด มีเป้าหมายและรู้ว่าการจะสร้างสรรค์อะไรสักอย่างต้องทำอย่างไร ใช้วิธีการไหน มีทั้งความเพียร และความรู้
แต่ก็เหมือนที่คุณ Jack พูดค่ะ หลายๆคนคงอยากที่จะสร้างสรรค์อะไรใหม่ๆขึ้นมา แต่ก็ไม่รู้ว่าจะสื่อสารอย่างไรดี ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย
ดึงความคิดจากส่วนลึกออกมาให้เห็นโดย LSP ด้วยตัวต่อ LEGO®
เหมือนที่ได้พูดไปก่อนหน้านี้ครับว่า คนญี่ปุ่นมักจะถูกสอนให้หลีกเลี่ยงความขัดแย้งกับคนอื่นให้มากที่สุด และพยายามรักษาความสัมพันธ์ที่ดีกับคนอื่นไว้
เลยทำให้คนญี่ปุ่นมีแนวโน้มไม่ค่อยแสดงความคิดเห็นออกมาตรงๆครับ
และบางครั้ง ก็ทำให้สารที่ส่งออกไปมีความคลุมเครือ ไม่ชัดเจน จนทำให้การสื่อสารผิดพลาด เกิดความเข้าใจผิดในที่สุด
ซึ่งผมคิดว่า กระบวนการ LEGO® SERIOUS PLAY® (หรือ LSP) สามารถเข้ามาช่วยแก้ไขปัญหาในองค์กรตรงนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอนครับ
สำหรับกระบวนการของ LSP นั้น กระบวนกร จะพาเราต่อตัวเลโก้ไปเพื่อดึงความคิดอยู่ในหัว จะทำให้ความคิดของเราไหลลื่นออกมาได้โดยอัตโนมัติ
ความคิดของเราจะออกมาจากสัญชาตญาณ ทำให้เราสามารถดึงเอาความคิดที่อยู่ภายในใจออกมาได้อย่างง่ายดาย ด้วยตัวต่อเลโก้นี้จะทำให้สามารถแสดงความตั้งใจและความคิดออกมาได้ชัดเจนกว่าในการสนทนาปกติครับ
จริงๆ จากที่ปุ้มได้เข้าไปช่วยทำ workshop กลยุทธ์ หรือ transformation ให้กลุ่มผู้บริหารหลายองค์กร พบว่าคนไทยเองแม้ในระดับบริหาร หากอยู่กับผู้ใหญ่ก็ไม่ค่อยกล้าแสดงออก จนทำให้ไม่สามารถบอกความตั้งใจจริงของตัวเองได้อย่างชัดเจน หรือจะแสดงความคิดเห็นของตัวเองออกมาเวลาต้องมีการตัดสินใจเรื่องสำคัญ ๆ ร่วมกัน อย่างเช่นวิสัยทัศน์องค์กร การสร้าง team alignment หรือการคิดกลยุทธ์เพื่อสร้าง growth ใหม่ขององค์กร ยิ่งเป็นทีมคณะผู้บริหารที่มีหลายชาติ หลายภาษา หลายช่วงวัย ยิ่งมีความท้าทายในการคิดร่วมกัน
บางครั้ง คนเราไม่กล้าแชร์ความคิดเห็นของตนเองเพียงเพราะมีความกลัวอยู่ในใจ กลัวว่าคนอื่นจะคิดอย่างไร กลัวว่าความคิดของตัวเองจะผิด ปุ้มใช้กระบวนการ LSP เพื่อสร้างพื้นที่ให้ผู้เข้าร่วมประชุมสามารถแสดงความคิดเห็นและถกปัญหากันได้อย่างมีอิสระ เป็นระบบ คิดและสื่อสารได้ง่ายขึ้นและเร็วขึ้น สามารถมองเรื่องเดียวกันได้จากทุกแง่มุม และยิ่งตอนนี้ธุรกิจไทยมีความก้าวหน้าไปสู่สากลมากขึ้น ระบบคิด ระบบการสื่อสารที่มีประสิทธิภาพและคุณภาพสูงจะช่วยคนให้พาองค์กรธุรกิจเติบโตได้รวดเร็ว แข่งขันได้ไวขึ้น
ผมลองนำกระบวนการ LSP ไปอบรมให้กับวิศวกรชาวญี่ปุ่น พวกเขาเป็นกลุ่มคนที่ถนัดในเรื่องการวางแผน สร้างสิ่งต่างๆ แต่บางทีก็ยึดติดกับการวางแผนมากเกินไปจนไม่สามารถดำเนินการขั้นต่อไปได้ พูดได้ว่าใช้หัวคิดมากจนเกินไป
อย่างในกระบวนการ LSP ผมบอกให้พวกเขาลองต่อตัวเลโก้โดยที่ไม่ต้องมีการวางแผนใดๆ ส่วนมากเจอปัญหาไม่รู้ว่าจะต่อขึ้นมาอย่างไรดี กระบวนการนี้ทำให้พวกเขารู้สึกได้ว่าบางทีตัวเองก็พึ่งการวางแผนมากจนเกินไปครับ
ถ้าทำตามแผนที่วางไว้ ผลลัพธ์ที่ได้มีเพียงค่าสูงสุดของแผนงานนั้นๆ แต่ถ้าลองลงมือทำโดยที่ไม่มีการวางแผน คุณอาจจะเจอไอเดียใหม่ๆ เพิ่มขึ้นก็ได้ ผมว่ากระบวนการนี้เหมาะกับคนที่ชอบวางแผนมากจนเกินไปแบบคนญี่ปุ่นนะครับ
LSP จะเกี่ยวข้องกับทฤษฎี constructionism (ทฤษฎีการสร้างองค์ความรู้ด้วยตนเอง)
แทนที่จะรับแต่ข้อมูลที่ถูกป้อนเข้ามาในสมองอย่างเดียว เราควรเรียนรู้โดยการสร้างความรู้ขึ้นใหม่ด้วยตัวเอง ใช้สมองทั้งซ้ายและขวา คิดโดยการลงมือทำหรือสร้างอะไรบางอย่าง ด้วยวิธีการนี้จะทำให้เราเกิดความคิดใหม่ๆขึ้นมา
ผลลัพธ์คือเราสร้างสรรค์ไอเดียขึ้นมาใหม่หรือทำให้ความคิดที่เป็นนามธรรมกลายเป็นสิ่งที่สามารถจับต้องได้
เข้าใจความคิดของอีกฝ่ายด้วย กระบวนการ LEGO® SERIOUS PLAY® เพิ่มความสามารถในการคิดวางแผนการทำงานให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
ดึงเอาความรู้ที่ไม่รู้ว่าเรารู้มาก่อน ด้วยการลงมือทำ
สิ่งสำคัญคือ ‘การลงมือทำ’ ค่ะ
ก่อนอื่นคือเริ่มลงมือสร้าง model สะท้อนความคิด เรียนรู้พิจารณาจากความคิดเคยเป็นนามธรรม แต่ตอนนี้มาปรากฎอยู่ชัดเจนต่อหน้าเรา แล้วต่อยอดความคิด ปรับแต่งความคิด เมื่อตาเราเห็นโมเดลความคิดแล้ว วงจรการทำงานของสมองในการคิดและเรียนรู้จะรวดเร็วขึ้น ขยายวงกว้างและลงลึกมากขึ้น
และสาเหตุที่เราใช้ตัวต่อเลโก้ เพราะมันต้องใช้มือช่วยคิด สามารถติดได้ แกะได้ โดยไม่เห็นร่องรอยเดิม ทำให้การเรียนรู้ของคุณมีความยืดหยุ่นขึ้น ว่องไวขึ้น (agile) สามารถปรับตัวเปลี่ยนแปลงได้ง่ายขึ้น กระบวนกรจะช่วยให้คนค่อยๆดึงเอาความคิดที่อยู่ในส่วนลึกของออกมา การใช้มือช่วยคิด ช่วยพาเราออกจาก habitual thinking หลายคนพบว่าตนได้เข้าถึงความรู้ที่ไม่รู้ว่าตัวเองรู้มาก่อน โดยเฉพาะการนำ LSP ไปช่วยวางแผนกลยุทธ์องค์กร ปุ้มสังเกตเห็นว่าในหลายเวิร์คชอปที่ไปทำเรื่องกลยุทธ์ให้ลูกค้า ไอเดียใหม่ๆ มาจากสิ่งที่ผู้บริหารไม่คิดว่าตัวเองรู้ แต่พอใช้มือช่วยคิดและลงมือทำตามโจทย์ สิ่งที่ได้คือกลยุทธ์ที่องค์กรกำลังมองหาโดยเป็นคำตอบขององค์กรโดยคนที่ช่วยกันสร้างองค์กรขึ้นมาจริง ๆ ทำเราสามารถคิดเรื่องยาก ๆ ด้วยความสนุกได้
เปลี่ยนจาก Storytelling เป็น Story making นำไอเดียใหม่ๆออกมา
เป็ดสองตัวหันหน้าไปทางเดียวกันที่คุณ Jack ต่อขึ้นมา มีความหมายอะไรคะ ?
พวกเขาเป็นพี่น้องกันครับ เติบโตมาด้วยกัน มีความฝันและค่านิยมที่คล้ายๆกัน แต่น้องชายมีความทะเยอทะยานมากกว่า พวกเขาต้องการที่จะเดินไปข้างหน้าเสมอ แต่ตัวพี่ชายเองก็คอยเป็นห่วงน้องชายเสมอ
เพราะอย่างนั้น พี่ชายจึงคอยอยู่ข้างหลังน้องชายก้าวนึงเสมอ เพื่อคอยดูแลปกป้องให้น้องชายเดินไปข้างหน้าได้อย่างปลอดภัยครับ
ตอนช่วงต่อเลโก้อย่างเดียวความคิดที่มีอาจเป็นเป็ดที่เป็นพี่น้องกันและมีความสัมพันธ์กัน แต่ข้อมูลความคิดอื่นๆ ค่อยๆออกมาเพิ่มในความคิดของคุณ Jack อย่างเป็นธรรมชาติหลังจากที่เริ่มเล่าเรื่องค่ะ
นี่คือ Story making ที่สมองเชื่อมโยงและสร้างเรื่องขึ้นมาจากการมองดูโมเดลความคิดค่ะ
สิ่งสำคัญในกระบวนการนี้คือ ก่อนที่ผมจะต่อเลโก้ผมไม่ได้จินตนาการถึงสตอรี่เรื่องนี้เลยครับ
แต่ตอนที่กำลังต่อเลโก้อยู่ เรื่องราวต่างๆก็ค่อยๆพรั่งพรูเข้ามาในหัวครับ
Story making จะช่วยให้เราเข้าถึงอีก 95% ของความนึกคิดที่เราไม่รู้ว่าเรารู้ออกมา
โดยปกติไม่ว่าเราจะคิดอะไร สมองของเราจะมีทางลัดสำหรับกระบวนการคิดไว้ค่ะ
แต่ LSP จะช้วยให้เราก้าวข้ามทางลัดในกระบวนการคิด ทำให้เราสามารถคิดอะไรนอกเหนือจากนั้นได้ เกิดไอเดียใหม่ๆขึ้นมาค่ะ
สร้างบรรยากาศที่ทุกคนสามารถคุยกันอย่างใจจริงได้ ผ่าน LSP
LSP สามารถนำมาช่วยในการพัฒนาการสื่อสารและวัฒนธรรมภายในองค์กรได้ ผมมักจะใช้กระบวนการ LSP ในการช่วยให้พนักงานในไทยและเอเชียได้เข้าใจปรัชญาขององค์กรมากขึ้น ซึ่งปรัชญาขององค์กรมองไม่เห็นด้วยตาเปล่า เป็นนามธรรม เราก็ใช้ LSP มาทำให้กลายเป็นรูปธรรม มาช่วยทำให้การสื่อสารระหว่างกันมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ไม่ว่าจะพูดภาษาญี่ปุ่น อังกฤษ หรือไทย เราก็สามารถสื่อสารกันได้ เพราะเราใช้ LEGO® เป็นสื่อกลางในการสื่อสาร และผมก็คิดว่าสิ่งนี้เหมาะที่จะช่วยในการทำธุรกิจข้ามชาติขึ้นมา
และโดยปกติการสื่อสารทำความเข้าใจระหว่างกันเป็นเรื่องที่ค่อนข้างยาก เมื่อนำกระบวนการ LSP เข้ามาปรับใช้ อาจจะทำให้เห็น ความคิดที่ไม่เคยได้เปิดเผยออกมาของอีกฝ่ายก็เป็นได้ครับ
เพราะว่าโลกเรามีการเปลี่ยนแปลงที่เร็วมาก การมีวิธีคิดที่หลากหลายจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
และเราอยากให้กระบวนการ LSP เป็นเครื่องมือในการทำให้คนทุกคนไม่ว่าจะเป็นอย่างไร ได้เห็นและเปิดเผยความคิด หรือคุณค่าในตัวเองออกมา ไม่ว่าเขาจะอยู่ในบริบทแบบไหน อยู่ในสไตล์การสื่อสารแบบไหน หรืออยู่ในอายุช่วงไหน ได้แสดงคุณค่าของตัวเอง ได้เห็นคุณค่าในตัวเอง ได้ไอเดียใหม่ๆในการแก้ไขปัญหาในองค์กร
เพราะถ้า LSP สามารถช่วยให้องค์กรและพนักงานคุยกันได้ง่ายขึ้น เห็นข้อดีของกันและกันมากขึ้น ก็จะทำให้เป็นทีมที่ดี พนักงานมีความสุขในการทำงานมากขึ้น เห็นเป้าหมายในการทำงานของตัวเองชัดขึ้น มีความร่วมมือ collaboration มากขึ้น ในยุคที่ทุกองค์กรต้อง agile ให้ทันกับการเปลี่ยนแปลง โดยเริ่มต้นที่มิติความคิดของคนค่ะ