งาน HR Hero Summit 2024 ได้ผ่านพ้นไปอย่างน่าประทับใจ ซึ่งทาง HREX ได้สรุปสาระสำคัญจากการเสวนา 6 หัวข้อไปแล้วก่อนหน้านี้ แต่เนื่องจากภายในงานยังมีอีกหลายเวทีที่เต็มไปด้วยข้อมูลเชิงลึกและประเด็นสำคัญที่ HR ไม่ควรพลาด เราจึงได้นำเนื้อหาจากเวทีเหล่านั้นมาสรุปเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วม หรือผู้ที่ต้องการทบทวนข้อมูลสำคัญ สามารถนำแนวคิดไปประยุกต์ใช้ในองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
หากคุณพลาดการเข้าฟังในบางเวที หรืออยากกลับมาย้อนอ่านเนื้อหาที่น่าสนใจ สามารถติดตามได้จากบทความนี้
Contents
- HR Hero Summit 2024 #7 – HR Next Move with Al to Win Workforce Development
- HR Hero Summit 2024 #8 – Employer Branding จุดเริ่มต้นของการสรรหาของทุกองค์กร
- HR Hero Summit 2024 #9 – 7 Steps to Transform Your Organization with Data & Al
- HR Hero Summit 2024 #10 – The Future of Talent Management
- HR Hero Summit 2024 #11 – Design Work Life: Creating a Better Work-Life Experience for Employees
HR Hero Summit 2024 #7 – HR Next Move with Al to Win Workforce Development
คุณ นกรณ์ พฤกษ์พิพัฒน์เมธ CEO & Co-Founder จาก Conicle กล่าวถึงบทบาทสำคัญของ HR ในการพัฒนาคนท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีว่า ถึงแม้ AI จะเข้ามามีบทบาทอย่างมากในองค์กร แต่มนุษย์ยังคงเป็นหัวใจสำคัญ เป็นกลุ่มคนที่ขับเคลื่อนอยู่เบื้องหลังความสำเร็จ
ดังนั้น HR ต้องไม่หยุดพัฒนาบุคลากร เพื่อช่วยให้องค์กรเติบโตและส่งมอบคุณค่าให้กับสังคมได้อย่างยั่งยืน
คุณนกรณ์ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาทักษะของคนไทยว่า ปัจจุบันทักษะแรงงานไทยอยู่อันดับที่ 40 ของโลก ซึ่งดูเหมือนไม่เลวร้าย แต่กลับตามหลังประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซีย อินโดนีเซีย และเวียดนาม เป็นสัญญาณเตือนว่า หากไม่พัฒนาทักษะอย่างเร่งด่วน เศรษฐกิจไทยในอนาคตอาจเผชิญความท้าทายมากขึ้น โดยเฉพาะเมื่อจำนวนแรงงานลดลงเนื่องจากการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ
นอกจากนี้ องค์กรต้องคิดล่วงหน้าถึง 5-10 ปีข้างหน้าว่า ในอนาคตเราจะยังสามารถแข่งขันได้หรือไม่ สิ่งที่เป็นจุดแข็งในปัจจุบันอาจไม่ใช่จุดแข็งอีกต่อไป การพัฒนาทักษะและการเตรียมความพร้อมต่อเทคโนโลยี เช่น AI หรือ ChatGPT กลายเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเทคโนโลยีเหล่านี้จะเปลี่ยนแปลงวิถีการทำงานไปอย่างมาก การใช้ AI และหุ่นยนต์จะลดการใช้แรงงานคนในบางหน้าที่ แต่ในขณะเดียวกันก็จะเกิดงานใหม่ที่ต้องการทักษะแตกต่างไปจากเดิม ความซับซ้อนทางธุรกิจจะเพิ่มขึ้น ดังนั้น HR จึงต้องรีบวางแผนรับมืออย่างเร่งด่วน
อีกสิ่งที่ HR ต้องรู้ก็คือ พฤติกรรมการทำงานของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปแล้ว พนักงานไม่ได้มองว่าต้องทำงานที่เดียวตลอดไป บางคนจะย้ายงานบ่อยขึ้น หรือทำงานหลายอย่างพร้อมกัน การจัดการกับพนักงานที่มีรูปแบบการทำงานที่ยืดหยุ่นเช่นนี้ถือเป็นความท้าทายสำหรับ HR ในอนาคต
เพื่อเอาชนะความท้าทายนี้ เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเรียนรู้ตลอดชีวิต และการสร้างสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ก็สำคัญมาก องค์กรต้องออกแบบกระบวนการเรียนรู้ที่สอดคล้องกับวัฒนธรรม ตั้งแต่การต้อนรับพนักงานใหม่จนถึงวันที่พวกเขาออกจากองค์กร จะเป็นกุญแจสำคัญในการนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จ
HR Hero Summit 2024 #8 – Employer Branding จุดเริ่มต้นของการสรรหาของทุกองค์กร
คุณ ณัฐวุฒิ เกียรติไชยากร Chief Business Resources จาก Siam Piwat อธิบายถึงความสำคัญของการสร้างแบรนด์นายจ้าง (Employer Branding) ว่าเป็นหัวใจสำคัญของการดึงดูดพนักงาน โดยเฉพาะในยุคที่ทรัพยากรมีจำกัด การแข่งขันสูง และการสรรหาพนักงานมีความท้าทายมากขึ้น
แต่การสร้าง Employer Brand ให้แข็งแกร่งนั้นไม่ง่ายเลย ในยุคที่เกิด Talent War ที่รุนแรง องค์กรต้องหาให้เจอว่า “ทำไมคนเก่งถึงอยากเลือกทำงานกับเรา?” และ “อะไรที่ทำให้เราดึงดูดผู้สมัครได้?”
ข้อมูลจากการวิจัยชี้ว่า 57% ขององค์กรต้องทำ Employer Branding อย่างจริงจัง และ 75% ของบริษัทเชื่อว่าภาพลักษณ์องค์กรที่ดีมีผลโดยตรงต่อการจ้างงาน ดังนั้น Siam Piwat จึงพยายามสร้างประสบการณ์ที่แตกต่างให้กับทั้งลูกค้าและกลุ่มแรงงานที่สนใจ โดยมุ่งเน้นการสื่อสารคุณค่าองค์กร (Core Values) วัฒนธรรมการทำงาน (Corporate Culture) และการดูแลสุขภาวะของพนักงาน (Well-Being) ซึ่งทั้งหมดนี้จะส่งผลให้คนอยากทำงานกับองค์กรมากขึ้น
การสร้าง Employer Brand ที่แข็งแกร่งนั้นเริ่มจากภายใน ต้องพนักงานในองค์กรต้องรู้สึก “อิน” กับแบรนด์ก่อน หากพนักงานภายในไม่เชื่อมั่นในองค์กรที่ทำงานอยู่ ก็ยากที่จะสื่อสารให้คนนอกเห็นคุณค่าและอยากมาร่วมทำงาน ร่วมเป็นส่วนหนึ่งขององค์กรได้
ทั้งนี้ คุณณัฐวุฒิยอมรับว่าความท้าทายของ Siam Piwat คือไม่ได้เป็นองค์กรที่มีนโยบายทำงานทางไกล (Remote Work) เนื่องจากธุรกิจหลักคือห้างสรรพสินค้า การทำงานที่นี่ไม่มี Work-Life Balance แบบที่หลายคนคาดหวัง แต่สิ่งที่ Siam Piwat ชูคือการแนวคิด Work-Life Integration หรือการเอางานเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิต มุ่งสร้างสภาพแวดล้อมการทำงานที่ให้ความรู้สึกเหมือนอยู่บ้าน และคุณอาจทำงานหนัก แต่คุณจะได้ทำงานที่สร้างคุณค่าให้กับผู้อื่นและตัวเอง เกิดความภาคภูมิใจในผลงานอย่างแน่นอน
Siam Piwat ยังเปลี่ยนภาพลักษณ์ใหม่ ให้เป็นองค์กรที่เป็นมิตรและทุกคนเข้าถึงได้ เปลี่ยนจากภาพลักษณ์หรูหราเป็นภาพที่เน้นความใกล้ชิดและการทำงานร่วมกัน ถือเป็นอีกปัจจัยสำคัญในการดึงดูดพนักงานใหม่
สุดท้าย ผลของการสร้าง Employer Branding ช่วยเพิ่มจำนวนผู้สมัครงานขึ้นเป็นสองเท่า ลดการใช้บริการ Headhunter จนแทบไม่ต้องเสียเงินล่าค่าหัวพนักงานอีกต่อไป และยังสามารถดึงดูดให้คนสมัครเข้ามาฝึกงานได้กว่า 1,000 คน ซึ่งทั้งหมดนี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลยหากปราศจากการออกแบบการสื่อสารและวางกลยุทธ์อย่างครอบคลุม ทั้งในด้าน Corporate Branding, Employer Branding และ Employee Value Proposition ให้สอดคล้องและสนับสนุนกัน
HR Hero Summit 2024 #9 – 7 Steps to Transform Your Organization with Data & Al
คุณ ธีรกร อานันโทไทย Managing Director จาก The Moment ใช้เวทีนี้สรุป 7 ขั้นตอนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงองค์กรด้วยข้อมูลและ AI ซึ่งเป็นกระบวนการที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและความสำเร็จให้กับองค์กรในยุคดิจิทัล โดยมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
ขั้นที่ 1: การเปลี่ยนแปลงต้องเริ่มจากผู้นำ
การเปลี่ยนแปลงที่ประสบความสำเร็จต้องมีผู้นำเป็นแรงผลักดันหลัก ผู้นำต้องมีวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและสื่อสารให้พนักงานเห็นพ้องกัน พร้อมตรวจสอบว่าพนักงานพร้อมปรับตัวหรือไม่ มีทรัพยากรเพียงพอหรือไม่ หากผู้นำไม่เป็นผู้เริ่มต้นการเปลี่ยนแปลง องค์กรจะเสี่ยงต่อความล้มเหลว
ขั้นที่ 2: กำหนดกลยุทธ์และเป้าหมายที่ชัดเจน
วางแผนและกำหนดเป้าหมายให้ครอบคลุม โดยสื่อสารกับพนักงานถึงประโยชน์ของการนำระบบหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาใช้ ทำให้พนักงานเชื่อมั่นในแนวทางขององค์กร ซึ่งจะลดการต่อต้านและเพิ่มประสิทธิภาพในการใช้งานเทคโนโลยีใหม่ได้
ขั้นที่ 3: บริหารจัดการอย่างเป็นระบบระเบียบ
ทุกคนในองค์กรต้องมีบทบาทหน้าที่ที่ชัดเจน ดังนั้นต้องมีระบบการทำงานเป็นระเบียบ เป็นขั้นเป็นตอน วัฒนธรรมองค์กรต้องสอดคล้องกับการจัดการที่เป็นระบบด้วย จึงจะช่วยให้การเปลี่ยนแปลงเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
ขั้นที่ 4: ใช้เทคโนโลยีและ AI ที่เหมาะสม
เทคโนโลยีแต่ละตัวมีความสามารถไม่เหมือนกัน มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน การนำ AI มาใช้ต้องใช้ให้เหมาะสม ก่อนใช้งานอย่าลืมตรวจสอบก่อนว่าเทคโนโลยีเหล่านี้สามารถช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านใดได้บ้าง เครื่องมือไหนควรใช้กับงานแบบไหนจึงจะเกิดผลดีที่สุด
ขั้นที่ 5: ตัดสินใจด้วยข้อมูล
การตัดสินใจที่มีประสิทธิภาพจะเกิดขึ้นได้ ต้องเกิดจากการมีข้อมูล เราต้องวิเคราะห์ข้อมูลให้เป็น รู้ว่าข้อมูลที่มีอยู่จะนำมาสู่ Insight ด้านใดบ้าง จึงจะเปลี่ยนแปลงองค์กรไปในทิศทางที่ดีขึ้นได้
ขั้นที่ 6: เล่าเรื่องผ่านข้อมูลให้เป็น
เวลาสื่อสารกับคนภายในหรือภายนอกก็ตาม หากต้องการให้การสื่อสารได้ผล ก็ต้องรู้หลักการสื่อสารที่ดี และใช้ข้อมูลในการเล่าเรื่องราวได้อย่างถูกหลักการ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและโน้มน้าวให้ผู้คนเข้าใจ ยอมรับการเปลี่ยนแปลง และมองเห็นความสำคัญขององค์กรนั้น
ขั้นที่ 7: สร้างนวัตกรรมและหา S-Curve ใหม่
องค์กรต้องไม่หยุดนิ่งอยู่กับที่ แต่ต้องสร้างสรรค์นวัตกรรมใหม่ ๆ ตลอดเวลาเพื่อความสำเร็จที่ยั่งยืน โดยนวัตกรรมใหม่อาจมาในรูปแบบของผลิตภัณฑ์ใหม่ หรือตลาดใหม่ ๆ ซึ่งจะช่วยนำพาองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างต่อเนื่องและแข่งขันได้อย่างแข็งแกร่งในอนาคต
การดำเนินการตามขั้นตอนทั้ง 7 นี้ จะช่วยให้องค์กรสามารถปรับตัวเข้ากับการเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลได้อย่างมีประสิทธิภาพแน่นอน
HR Hero Summit 2024 #10 – The Future of Talent Management
คุณ ปิยะนุช ลิมาภรณ์วณิชย์ Group Chief People Officer จาก Bitkub มาบรรยายถึงความสำคัญและความท้าทายของการทำ Talent Management ว่า ในยุคที่การแข่งขันทางธุรกิจสูงขึ้นเรื่อย ๆ องค์กรจำเป็นต้องพัฒนา Productivity และ Efficiency ให้เทียบเท่าหรือเหนือกว่าคู่แข่งให้ได้ และการทำ Talent Management อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้ผลผลิตของพนักงานแต่ละคนเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้มากขึ้นหลายเท่าถึง 8 เท่า
คุณปียะนุชแนะนำว่าการทำ Talent Management ให้ประสบความสำเร็จมี 5 เรื่องสำคัญที่ต้องรู้ ดังนี้
1. การสรรหาคนเก่งเป็นขั้นตอนแรกที่สำคัญ
องค์กรต้องตรวจสอบให้แน่ใจว่า ตอนนี้องค์กรมีพนักงานศักยภาพสูงอยู่แล้วหรือไม่ ดูให้แน่ใจว่าเป็นพนักงานระดับ Talent จริงไหม และถ้าจริง เราก็ต้องรักษาสัญญาหรือข้อเสนอที่ให้ไว้กับเขา เพื่อรักษาพวกเขาไว้ในองค์กร แต่หากสุดท้ายพนักงานลาออกจริง ๆ ก็ควรต้องสอบถามถึงเหตุผลเชิงลึกด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาพนักงานมากความสามารถคนอื่น ๆ ลาออกซ้ำด้วยเหตุผลเดียวกัน
2. ส่งเสริมการเรียนรู้ สร้างทักษะใหม่ ๆ
แต่ก่อนจะให้พนักงานพัฒนาทักษะใหม่ ๆ องค์กรต้องรู้ก่อนว่าพนักงานแต่ละคนมีทักษะอะไรและควรเสริมอะไร โดย 2 เรื่องสำคัญที่จำเป็นมาก ๆ คือทักษะการคิดวิเคราะห์ และการใช้ความคิดสร้างสรรค์ หากพนักงานเก่ง 2 ด้านนี้จะช่วยให้องค์กรแข่งขันและเติบโตในตลาดได้แน่นอน
3. HR ต้องใส่ใจเรื่อง Performance Management
การทำ Performance Management ต้องมีความเป็นธรรม และควรเปิดโอกาสให้พนักงานได้แสดงความคิดเห็นผ่าน Feedback ที่สร้างสรรค์ ทั้งนี้ การฟีดแบ็คควรเป็นกระบวนการที่ทั้งสองฝ่ายมีส่วนร่วมแลกเปลี่ยนกัน เพื่อให้เกิดสิ่งที่ดีกว่าต่อไป
4. อย่าลืมสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีในองค์กร
พนักงานรุ่นใหม่ต้องการทำงานในองค์กรที่สามารถอวดอย่างภาคภูมิใจ และแชร์ประสบการณ์ที่ดีให้คนอื่นรับรู้ได้ ดังนั้น HR ควรตรวจสอบเสมอว่า นโยบายและแนวทางที่วางไว้ตอบโจทย์พนักงานหรือไม่ สิ่งที่ทำอยู่ทุกวันนี้ สร้างสภาพแวดล้อมที่ทำให้พนักงานรู้สึกดีในการทำงานแล้วหรือยัง
5. วางกลยุทธ์ที่ใช้งานได้จริงที่สอดรับกับอนาคตเมื่อองค์กรเติบโต
HR ควรวางแผนที่สอดรับกับการเติบโต เมื่อองค์กรมีพนักงานมากขึ้น ต้องสร้าง Skill Pool หรือฐานข้อมูล Talent ที่มีศักยภาพ HR ต้องตระหนักว่ากลยุทธ์จากเดิมที่เคยใช้กันอย่าง Build, Buy, Borrow นั้นอาจไม่เพียงพออีกแล้ว แต่ต้องปรับให้เป็น Build, Redeploy, Buy, Release, Borrow เพื่อให้เหมาะสมกับความต้องการขององค์กรในปัจจุบัน
การบริหาร Talent อย่างมีประสิทธิภาพจะช่วยให้องค์กรเติบโตอย่างยั่งยืนและแข่งขันได้ในตลาดที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
HR Hero Summit 2024 #11 – Design Work Life: Creating a Better Work-Life Experience for Employees
Session สุดท้าย คุณ บุปผาวดี โอวรารินท์ Chief People and Brand Communication จาก Krungthai AXA เล่าถึงแนวทางการสร้างประสบการณ์การทำงานที่ดีขึ้นให้กับพนักงานขององค์กร โดยเน้นการออกแบบวิถีการทำงานที่สอดคล้องกับเทรนด์ใหม่ที่เรียกว่า Work Life Fit ซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการทำงานและชีวิตส่วนตัวที่มีความยืดหยุ่นและทันสมัย
หนึ่งในหัวใจสำคัญคือ Flexibility is King ความยืดหยุ่นเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้พนักงานสามารถบริหารชีวิตการทำงานและชีวิตส่วนตัวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ขณะเดียวกัน องค์กรควรโฟกัสที่ผลลัพธ์สำคัญมากกว่าเวลาทำงาน (Focus on Results) หรือการเลิกยึดติดกับชั่วโมงการทำงาน เพื่อให้พนักงานมีความคล่องตัวมากขึ้นในการจัดการงานของตัวเอง โดยที่นี่พนักงานสามารถเลือกช่วงเวลาเข้างานที่เหมาะสมกับตัวเองได้เลย
Krungthai AXA ให้ความสำคัญกับการดูแลพนักงานอย่างเท่าเทียม สร้างสภาพแวดล้อมที่ทุกคนรู้สึกว่ามีคุณค่าและได้รับการดูแล ในขณะเดียวกันก็เน้นเรื่อง Well-Being ของพนักงาน ทั้งสุขภาพกาย ใจ และการเงิน องค์กรเชื่อว่าเมื่อพนักงานมีความสุขและสุขภาพดี Productivity ขององค์กรก็จะดีตามไปด้วย ซึ่งเป็นพื้นฐานของแนวคิด Care & Dare ที่บริษัทใช้ในการออกแบบ Work Life Experience ให้พนักงาน
คุณบุปผาวดี บอกว่าอยากให้รับฟังเสียงของพนักงานให้มาก ๆ ที่ Krungthai AXA จะหาเวลาและกิจกรรมให้พนักงาน โดยเฉพาะพนักงานใหม่ ได้พบปะและแสดงความคิดเห็นกับผู้บริหารระดับสูง เช่น CEO และ CPBCO เป็นประจำ เพราะเชื่อว่าพนักงานใหม่จะให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์และอคติน้อยกว่าพนักงานคนอื่น ๆ ซึ่งจะช่วยให้องค์กรสามารถเข้าใจความต้องการของพนักงานได้อย่างแท้จริง
การ Upskill พนักงานก็เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญ โดยปัจจุบันองค์กรเน้นเรื่องการเรียนรู้และการใช้เทคโนโลยี AI ให้เป็น ทั้งในการทำงานและในชีวิตประจำวัน เพื่อให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต
สุดท้าย หนึ่งใน KPI ของที่นี่คือเรื่องการลาหยุด หากใครทำงานติดต่อกันนาน ๆ ไม่เคยลาหยุด จะมีการพูดคุยเพื่อให้ได้หยุดพักบ้าง และยังเพิ่มวันหยุดตามหลักศาสนาหรือความเชื่อส่วนบุคคลได้ด้วย อย่าลืมว่าทุกอย่างล้วนสอดคล้องกับเรื่องการมีสุขภาพกายและใจที่ดีของพนักงาน และเมื่อนั้นพวกเขาจะมีแรง มีพลังไปทำงานที่มีคุณค่าเพื่อช่วยยกระดับองค์กรอย่างเต็มที่